ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

100

[คัดลอกลิงก์]
131#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
30. จิตสำนึก (awareness) ในความหมายทางชีวจิตวิทยา  จิตสำนึกหมายถึง การรับรู้  การรู้ตัว รู้สึกตัว เป็นระดับที่รู้สึกตัวดี ในทางจิตวิทยาหมายถึงสภาวะที่ตื่นอยู่  รู้ได้ เข้าใจ ได้สั่งการได้ เจตนาอันเป็นปัจจุบัน ส่วนคำว่า จิตใต้สำนึก  (subconsciousness)  ทางจิตวิเคราะห์อธิบายว่า  เป็น “ ตัวเราที่เราไม่รู้ตัว ”  เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในตัวเรา อีกภาคหนึ่งซึ่งผลักดันให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งปกติและไม่ปกติ  ซึ่งบ่อยครั้ง แม้แต่เราเองก็ยังงงว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำได้อย่างไร ทำไปทำไม
       ในความหมายทางสังคม หมายถึง การรับรู้ในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อผู้อื่น ต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม เป็นความหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าหรือศีลธรรม  เช่น วันนี้มีการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บ้านเมืองเรามีการโกงกินอย่างไร้จิตสำนึก ตัวอย่างการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ  คงทำได้ยากถ้าหากไม่ช่วยกันสร้างจิตสำนึก การเคารพกฎหมายและการมีวินัย ไม่ใช่เคารพกฎแต่เฉพาะเมื่อเห็นตำรวจยืนอยู่ตามสี่แยก  หรือใส่หมวกกันน็อกเมื่อรู้ว่าข้างหน้ามีตำรวจ กลายเป็น  “ หมวกกันตำรวจ ”  มากกว่า
       ในประเทศฟิลิปปินส์มีการใช้คำภาษาอังกฤษคิดขึ้นใหม่ว่า conscientization เพื่อบอกถึงกระบวนการปลุกจิตสำนึก หรือสร้างมโนสำนึกให้ชุมชนและสังคมในประเด็นความรับผิดชอบทางศีลธรรม ความร่วมมือในการพัฒนา เป็นประเด็นเฉพาะหรือกระบวนการทั้งหมด
132#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
31. ในประเทศไทยเริ่มมีการใช้คำว่า “จิตสาธารณะ”  “ผู้มีจิตสาธารณะ” (public minded, spirited person) เพื่อหมายถึงบุคคลที่มีจิตสำนึกทางสังคม มีความรับผิดชอบและเสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นคนใจกว้างเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
133#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
32. จีดีพี (GDP ตัวชี้วัดเศรษฐกิจ) จีดีพี (GDP – Gross Domestic Product) แปลเป็นไทยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งหมายถึงมูลค่าตลาดทั้งหมดของสินค้าและการบริการในประเทศในหนึ่งปี ตัวเลขดังกล่าวได้มาจากตัวเลขการบริโภค, การลงทุน, การใช้จ่ายของรัฐบาล บวกตัวเลขการส่งออกลบด้วยตัวเลขการนำเข้า
       GDP รวมมูลค่าตลาดทั้งหมดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหรือดำเนินการโดยบริษัทของประเทศใด ขณะที่ GNP (Gross National Product) วัดโดยใช้มูลค่าตลาดของสัญชาติตนเองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน จึงนิยมใช้ GDP มากกว่า
วันนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลกว่า การวัดความเจริญด้วยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบนี้ไม่ได้แสดงการเติบโต  “ จริงๆ ”    หรือเติบโตในคุณภาพชีวิต   มีชีวิตดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เพราะได้มีหลักฐานทั่วโลกที่ชี้ให้เห็นว่า  การเติบโตทางเศรษฐกิจ   การมีทรัพย์สินเงินทองมากไม่ได้แปลว่ามีคุณภาพชีวิตและมีความสุขมากขึ้นตามไปด้วยเสมอไป มีหลายประเทศที่มีจีดีพีอยู่ระดับเดียวกัน แต่ แตกต่างกันอย่างมากในเรื่องสุขภาพและการศึกษาแห่งชาติ  ประเทศยากจนบางประเทศมีตัวเลขคุณภาพชีวิตดีกว่าประเทศร่ำรวยกว่าบางประเทศ  เช่น  อายุยืนกว่า เด็กตายน้อยกว่า  คนมีสุขภาพจิตดีกว่า ความเครียดน้อยกว่า และมีตัวชี้วัดการอยู่ดีมีสุขอีกหลายตัวดีกว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์เกณฑ์การวัดจีดีพีเองด้วยว่าไม่สมบูรณ์ และไม่ตรงกับความเป็นจริง  แม้การทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมยังถูกรวมเข้าไปอยู่ในจีดีพี   แทนที่จะลบออก จีดีพีไม่ได้แยกระหว่างอะไรเป็นที่พึงปรารถนา อะไรไม่พึงปรารถนา   นักวิจารณ์บางคนเปรียบจีดีพีเหมือนคนทำบัญชีที่รู้จักบวกอย่างเดียวลบไม่เป็น สายตาสั้น  มองเห็นแค่ปลายจมูกตัวเอง จีดีพีจึงเป็นเพียงการบวกตัวเลขการใช้จ่ายของประชาชน แล้วเรียกมันว่าการเติบโต แล้วอ้างว่าการเติบโตนี่ดี โดยไม่เคยสนใจว่าเงินไปไหนและทำไม ยิ่งจ่ายค่ายาค่าหมอ จ่ายค่าอาหารขยะ  นั่งอยู่ในรถติดเป็นชั่วโมงๆ ค่าธรรมเนียมแบบซ่อนเร้น ที่สถาบันการเงินเจ้าของบัตรเครดิตเขาเก็บสูงเท่าไรก็ยิ่งดี ทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจดี   ตัวเลขโตขึ้น
       วันนี้ปรากฏชัดแล้วว่า ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงๆ  นั้นมีปัญหาความเครียด การทำงานหนัก มีความกลัวความไม่มั่นคงของชีวิตมากขึ้น แล้วยิ่งไล่ล่าหาเงินให้มากขึ้นๆ โดยที่ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นจริง   นักวิชาการวิจัยพบว่า   ระหว่างปี 1975-1995 จีดีพีของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43  แต่คนอเมริกันไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นเลย
       มีงานวิจัยที่พบว่า ปัจจัยที่ทำให้คนมีความสุขมี 7 อย่าง คือ สุขภาพจิตที่ดี, มีความพอใจและการงานที่มั่นคง,  ชีวิตส่วนตัวที่มั่นคงและมีความรัก, ชุมชนที่ปลอดภัย,  คุณค่าทางศีลธรรมและเสรีภาพ ผู้คนเริ่มให้ความสนใจประเทศเล็กๆ ซึ่งมีพลเมืองเพียงประมาณ 1 ล้านคน  คือ ภูฐาน ซึ่งยังปกครอง ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช   มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข   ประเทศนี้วัดความเจริญของประเทศด้วย ความสุข
134#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
33. GNH หรือ Gross National Happiness วัดกันด้วยความสุข

      ผู้นำภูฐานปฏิเสธที่จะเอาตัวเลขเศรษฐกิจเพื่อวัดความเจริญคุณภาพชีวิตและความสุข พวกเขาเชื่อว่ามีสิ่งดีๆ มากมายที่วัดได้ ความสุขก็เป็นอะไรที่วัดได้ พวกเขาต้องการสร้างสมดุลระหว่างวัตถุนิยม (materialism) และจิตวิญาณนิยม (spiritualism) และใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีสติ วันนี้รายได้ประชาชาติต่อหัวของชาวภูฐานประมาณว่าอยู่ที่คนละ 300-500 เหรียญต่อปี (ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรซึ่งไม่ได้สำรวจมาตั้งแต่ปี 1969) ประเทศนี้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวปีหนึ่งแค่ 5,000 กว่าคนเท่านั้น
       ตัวชี้วัดความสุขเป็นตัวชี้วัดที่ครอบคลุม บูรณาการรอบด้าน รวมเอาการพัฒนาเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวัฒนธรรมและธรรมาภิบาลเข้าด้วยกัน มีฐานคิดจากหลักพุทธศาสนา ทางสายกลาง ความพอดี พอเพียง พอใจ ความรู้จักพอจึงเป็นความร่ำรวยที่แท้จริง คนจนที่แท้จริงคือคนไม่รู้จักพอ จิตใจวุ่นวายไล่ล่าหาเงินซึ่งมากเท่าไรก็ไม่เคยพอ เงินกลายเป็นเป้าหมายของชีวิต ไม่ใช่เครื่องมืออย่างที่ควรเป็น

135#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
34. ชุมชน  (Community) ชุมชนมีหลายความหมาย หมายถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ดังที่เรียกกันว่าหมู่บ้าน (ในชนบท) ชุมชนแออัด (ในเมือง) หรือหมายถึงกลุ่มคนที่อยู่ในที่เดียวกันหรือห่างไกลกัน แต่สัมพันธ์กันด้วยความสนใจ ผลประโยชน์หรือความเชื่อ เผ่าพันธุ์ อาชีพ ปัญหาเดียวกัน คล้ายกัน ร่วมกัน เช่น ชุมชนชาวคริสต์ ชุมชนชาวจีน ชุมชนชาวประมง ชุมชนชาวเกย์ การรวมกลุ่มเป็นสมาคมต่างๆ ของคนอาชีพเดียวกันหรือมีความสนใจร่วมกัน ชุมชนต่างๆ มีความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์ต่อกันแบบไม่เป็นทางการหรือตามธรรมชาติ
       สิ่งที่ทำให้เกิดชุมชนคือความสัมพันธ์และเครือข่ายทางสังคมของสมาชิก การสื่อสาร การไปมาหาสู่ หรือการสัมพันธ์กันทางเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่จนเกิดชุมชนเสมือนจริง
136#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
35. ชุมชนเสมือนจริง (virtual community) ที่สัมพันธ์กันทางอินเตอร์เน็ต (online community, mediated community)  หรือชุมชนทางอากาศอย่าง จส. 100 เป็นต้น
     ชุมชนเป็นกลุ่มคนที่สัมพันธ์กันในหลายๆ ลักษณะ เป็น “ทุนทางสังคม” (social capital) เพราะเป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันเปิดเผย ยอมรับนับถือกัน มีความสมานฉันท์ ร่วมมือร่วมใจกัน มีความไว้ใจกัน นับเป็น “ต้นทุน” สำคัญในการดำเนินกิจการต่างๆ

137#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
36. ชุมชน (community) อาจเรียกว่า “ประชาคม” ซึ่งแปลจากภาษาอังกฤษว่า community เช่นเดียวกัน  เพื่อบอกถึงกลุ่มรัฐประเทศ กลุ่มทางการเมือง กลุ่มกิจกรรมสาธารณะ เช่น ประชาคมยุโรป (European Community)  ประชาคมนานาชาติ (international community) มีการนำมาใช้ในภาษาไทยในความหมายประยุกต์ ซึ่งหมายถึง กลุ่มคน รวมถึงการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องราวหรือประเด็นสาธารณะ เช่น ประชาคมหมู่บ้าน ประชาคมตำบล การทำประชาคม
138#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
37. ประชาสังคม (civil society) เป็นองค์กรทางสังคมของพลเมือง (คำว่า civis เป็นภาษาละตินแปลว่า พลเมือง)  ซึ่งแตกต่างจากส่วนที่เป็นรัฐ ธุรกิจ และครอบครัว มีการให้ความหมายคำว่าประชาสังคมแคบบ้าง กว้างบ้าง ครอบคลุมมากบ้างน้อยบ้าง ที่กว้างที่สุด คือ ประชาสังคมหมายถึงองค์รวมของภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบุคคลหรือองค์กรในลักษณะต่างๆ เช่น องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน องค์กรชุมชน สโมสร ชมรม สมาคม  สหภาพแรงงาน กลุ่มทางสังคม วัฒนธรรม สหกรณ์ สื่อมวลชน ลูกเสือ เนตรนารี รวมไปถึงสถาบันการศึกษา และองค์กรทางศาสนาต่างๆ
ในขณะที่บางคนถือว่าประชาสังคมไม่ได้รวมความถึงสถาบันต่างๆ ที่มีการจัดตั้งจัดการอย่าง เป็นระบบ  เช่น สถาบันทางศาสนา  สถาบันการศึกษา  แต่หมายถึงเพียงองค์กรภาคประชาชน เพื่อสาธารณประโยชน์และไม่หวังผลกำไรเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการเพื่อคานอำนาจรัฐและ ภาคธุรกิจ  ทำการรณรงค์เพื่อให้เกิดนโยบายใหม่ในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชน
139#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
38. องค์กรพัฒนาเอกชน (Non-government Organizations, NGOs) บางครั้งเรียกสั้นๆ ว่า องค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอ หรือที่สหรัฐอเมริกา เรียกกันว่า Public Voluntary Organizations  ( PVOs ) และที่เรียกรวมๆ กันว่า องค์กรสาธารณประโยชน์ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานเพื่อส่วนรวมในประเด็นเฉพาะบางประเด็นหรือหลายประเด็น เช่น การพัฒนาชนบท การพัฒนาชุมชนเมือง การพัฒนาเด็ก การพัฒนาสตรี สิทธิเด็ก สิทธิสตรี อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การทำงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ เป็นต้น
คนทำงานในองค์กรเหล่านี้ปกติเป็นคนที่ต้องการเห็นความยุติธรรมในสังคม หรือต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคม ส่วนใหญ่เคยร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา บางคนทำงานเต็มเวลาและเป็นอาชีพหรือทำตลอดชีวิต บางคนมีอาชีพหลักอยู่แล้วมาร่วมงานแบบอาสาสมัคร เช่น อาจารย์ ครู แพทย์ นักกฎหมาย นักธุรกิจ เป็นต้น
      เอ็นจีโอมักจะทำงานในเรื่องและประเด็นที่หน่วยงานของรัฐมักจะทำได้ยากเนื่องเพราะข้อจำกัดของระบบ สถาบัน รวมทั้งเป็นงานที่ต้องทำด้วยชีวิตจิตใจ ด้วยความเสียสละ เช่น งานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน เด็กที่ถูกละเมิด ผู้ด้อยโอกาส ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้อพยพแรงงานต่างชาติ ฯลฯ
องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่จดทะเบียนเป็นสมาคม มูลนิธิแล้วแต่กฎหมายในแต่ละประเทศ  ในบางประเทศหลายกลุ่มไม่ได้จดทะเบียนก็ดำเนินงานได้ ทำงานเล็ก ๆเป็นโครงการพัฒนาหรือ โครงการเฉพาะประเด็น  องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่ไม่แสวงกำไร (non-profit organization )
เอ็นจีโอวันนี้มีอยู่ทุกประเทศ ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งมีองค์กรเหล่านี้มาก ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการมี ส่วนร่วมในการดำเนินการทางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง  เป็นกลไกของการเมืองภาคประชาชน  เพื่อคานอำนาจรัฐและภาคธุรกิจ เพื่อธรรมาภิบาล (good governance) ความโปร่งใสตรวจสอบได้และกระจายอำนาจ
เอ็นจีโอรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในประเทศและระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่รวมตัวกันตามประเด็นเฉพาะต่างๆ เช่น สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เด็ก สตรี เป็นต้น เมื่อมีเรื่องที่ต้องการแรงสนับสนุนก็จะร่วมกันรณรงค์พร้อมเพรียงกันทั่วโลก (solidarity) กดดันรัฐบาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ บางครั้งก็ไปช่วยเหลือโดยตรงในประเทศนั้นๆ เช่น กรณีสิ่งแวดล้อม
140#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
39. ซีอีโอ (CEO) ย่อมาจาก Chief Executive Officer เป็นชื่อหรือตำแหน่งสูงสุดของผู้บริหารจัดการในองค์กรหรือบริษัทหนึ่งคำคำนี้ใช้ในสหรัฐอเมริกาและบริษัทของอเมริกันในขณะที่สหราชอาณาจักรและประเทศในเครือจักรภพใช้คำว่าซีอีโอเพื่อหมายถึงหัวหน้าผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานสาธารณะหรือของรัฐ ขณะที่ในบริษัทส่วนบุคคลมักใช้คำว่า “Managing Director” “ผู้จัดการใหญ่” หรือ “ผู้อำนวยการ” มากกว่า
วัฒนธรรมองค์กรอเมริกันใช้คำซีอีโอในทุกองค์กรไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก  โดยต้องขึ้นตรงต่อ คณะกรรมการหรือคณะผู้บริหาร (บอร์ด)  ซึ่งซีอีโอมักจะเป็นสมาชิกอยู่ด้วย  ในบริษัทเล็กๆ ซีอีโอมักจะเป็นประธานของคณะผู้บริหารไปด้วย ในองค์กรใหญ่ๆ มักจะแยกบทบาทประธานและซีอีโอออกจากกัน เพื่อป้องกันมิให้ถูกครอบงำ โดยบุคคลคนเดียว และเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
      ซีอีโอเป็นผู้บริหารเชิงยุทธศาสตร์ (strategic management) เพื่อนำองค์กรไปสู่เป้าหมายซึ่งวาดไว้ด้วยวิสัยทัศน์ (vision) ทำให้เป็นจริงโดยการปฏิบัติตามพันธกิจ (mission) นโยบาย (policy) วัตถุประสงค์ (objectives) รวมทั้งแผนงานต่างๆ โดยละเอียดอย่างมีประสิทธิภาพ (efficiently) และมีประสิทธิผล (effectively)  ทั้งนี้โดยซีอีโอเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนายุทธศาสตร์ (strategy formulation) ซึ่งผ่านการเห็นชอบของบอร์ดและเป็นผู้นำไปสู่การปฏิบัติ (strategy implementation)
      ประเทศไทยใช้คำว่าซีอีโออย่างแพร่หลายภายใต้รัฐบาล “ทักษิณ” ตั้งแต่ปี 2544 โดยประยุกต์คำนี้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและต่อมากับทูตไทยในประเทศต่างๆ คำว่า “ผู้ว่าฯ ซีอีโอ” จึงได้แพร่หลาย โดยปรัชญาเบื้องต้นคือให้หน่วยงานราชการในจังหวัดมีการบริหารจัดการอย่างมียุทธศาสตร์ โดย  “ ผู้ว่า ฯ   ซีอีโอ ”  หัวหน้าสูงสุดและคณะผู้บริหารจังหวัดต้องพัฒนายุทธศาสตร์ขึ้นมาเอง  และบริหารจัดการ         อย่างมียุทธศาสตร์ ไม่ใช่รอรับนโยบายจากมหาดไทยหรือกรุงเทพฯ อย่างเดียวอีกต่อไป

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้