ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก
เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด
เข้าสู่ระบบ
บ้านหลวงปู่
คศช.
ข่าวสารล่าสุด
ประสบการณ์
โชว์วัตถุมงคล
สอบถาม
นานาสาระ
นครนาคราช
ร่วมประมูล
บูชาวัตถุมงคล
เพื่อน
กระทู้แนะนำ
บุ๊คมาร์ก
ไอเท็ม
เหรียญ
ภารกิจ
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
ดูบริการทั้งหมด
เว็บบอร์ด
BBS
บูชาวัตถุมงคลหลวงปู่ชื่น
ศรีสุทธรรมนาคราช
ร้านจอมพระ
ศูนย์พระเครื่องจอมพระ
ค้นหา
ค้นหา
HOT TAG:
พระศรีราม
ขุนแผนแสนตรีเวทย์
พระเจ้าชัยวรมัน
บอร์ดนี้
บทความ
เนื้อหา
สมาชิก
Baan Jompra
›
คณะศิษย์หลวงปู่ชื่น ติคญาโณ (คศช.)
›
พูดคุยตามประสา คศช.
»
100
1 ...
14
15
16
17
18
19
20
21
22
... 40
/ 40 หน้า
ถัดไป
กลับไป
ตั้งกระทู้ใหม่
เจ้าของ: Metha
100
[คัดลอกลิงก์]
Metha
Metha
ออฟไลน์
เครดิต
54527
171
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-12-15 08:37
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
71. วัตถุนิยม (materialism) วัตถุนิยมมีความหมายหลัก ๆ 2 อย่าง อย่างแรกที่ใช้กันทั่วไปหมายถึง การให้ความสำคัญกับวัตถุสิ่งของ เงินทอง อำนาจเหนือสิ่งอื่นใด เชื่อว่าเงินกับอำนาจสามารถซื้อหาจัดหาได้ทุกอย่างในชีวิต คนเหล่านี้ยกย่องบูชาเงินทองสิ่งของวัตถุเหนือจิตใจ เหนือคุณธรรม ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน รวมทั้งคดโกง หลอกลวง ไม่ซื่อสัตย์ คนเหล่านี้เชื่อว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง อำนาจเปลี่ยนได้ทุกอย่าง เปลี่ยนผิดให้เป็นถูก เปลี่ยนชั่วให้เป็นดีก็ได้ เงินและอำนาจเนรมิตได้ทุกอย่าง
วัตถุนิยมในอีกความหมายหนึ่งเป็นปรัชญาสาขาหรือลัทธิหนึ่งซึ่งถือว่าวัตถุและพลังงานเท่านั้น ที่มีอยู่จริงในโลก อย่างอื่นรวมทั้งเรื่องทางจิตก็อธิบายว่าเป็นระบบจิตประสาท ไม่มีอะไรอื่น
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
Metha
Metha
ออฟไลน์
เครดิต
54527
172
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-12-15 08:38
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
72. วิสาหกิจชุมชน (Small and Micro Community Enterprise - SMCE) วิสาหกิจชุมชน หมายถึง การประกอบการขนาดเล็กขนาดจิ๋ว ที่ชุมชนหรือองค์กรชุมชนร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดการทุน ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์เพื่อการพึ่งตนเอง อาจเป็นการผลิต การแปรรูป การจัดการตลาด ทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการบริการ เช่น การท่องเที่ยว สุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการออมทรัพย์และการจัดสวัสดิการชุมชน
วิสาหกิจชุมชนมีคุณลักษณะสำคัญอย่างน้อย 7 ประการ คือ ชุมชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการหลัก ผลผลิตมาจากกระบวนการในชุมชน ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมโดยชุมชนมีฐาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับภูมิปัญญาสากลและอื่น ๆ มีลักษณะบูรณาการ เชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ แบบเกื้อกูลกัน มีการเรียนรู้เป็นหัวใจของกระบวนการทั้งหมด และมีการพึ่งตนเองเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการประกอบการ
วิสาหกิจชุมชนมีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา ชุมชนดำเนินการเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองเป็นอันดับแรก แต่ก็สามารถดำเนินการสัมพันธ์กับตลาดได้ถ้าหากมีเหลือกินเหลือใช้ ได้เรียนรู้การจัดการซึ่งต้องเข้าสู่ระบบตลาดและแข่งขัน ใช้ความเป็นกลุ่มเป็นเครือข่ายของตนให้เป็นประโยชน์ในทางธุรกิจ(competitive advantage) รวมทั้งการใช้ภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ดังที่ทำกันในนามของ โอทอป (OTOP – One Tambon One Product) หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
วิสาหกิจชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองในครอบครัว ในชุมชน ในเครือข่าย เป็นการประกอบการแบบพื้นฐาน ขณะที่วิสาหกิจชุมชนที่เข้าสู่ระบบตลาดเรียกว่า วิสาหกิจชุมชนแบบก้าวหน้า
วิสาหกิจชุมชนแบบพื้นฐานเป็นหลักประกันความมั่นคงของครอบครัวและชุมชน หากว่าเกิดปัญหาในวิสาหกิจชุมชนแบบก้าวหน้าก็จะไม่เสียหายมากนัก เป็นระบบข่ายความปลอดภัย (safety net) เหมือนตาข่ายในการแสดงกายกรรมเหินเวหา พลัดตกลงมาก็ไม่ถึงพื้น ไม่เจ็บ ไม่ตาย แต่อาจจะ “ ขายหน้า ” บ้างเท่านั้น
วิสาหกิจชุมชนแตกต่างจากธุรกิจชุมชน เพราะวิสาหกิจชุมชนมีเป้าหมายให้ “ รอด ” ไม่ใช่ให้ “ รวย ” อีกนัยหนึ่งดำเนินการเพื่อ “ หวังอยู่ ” ไม่ใช่ “ หวังรวย ” มีความพอเพียง ความสุขเป็นเป้าหมายไม่ใช่ความร่ำรวย วัดกันด้วยดัชนีความสุข ไม่ใช่วัดกันด้วยตัวเลขรายได้และกำไร เอาชีวิต เอาครอบครัว ชุมชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาตลาดเป็นตัวตั้ง ร่วมมือมากกว่าแข่งขัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มากกว่าการเอาชนะคู่แข่งอย่างเอาเป็นเอาตาย วิสาหกิจชุมชนใช้ทุนของชุมชนเป็นหลัก ทั้งทุนทรัพยากร ความรู้ภูมิปัญญา คน แรงงาน ทุน ทางสังคมวัฒนธรรม ไม่ได้เน้นที่เงิน และผลิตเพื่อตลาดท้องถิ่น มากกว่ามุ่งตลาดใหญ่ภายนอก
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
Metha
Metha
ออฟไลน์
เครดิต
54527
173
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-12-15 08:38
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
73. วิสัยทัศน์ (vision) วิสัยทัศน์ คือภาพแห่งอนาคตในอุดมคติที่จินตนาการไว้เป็นเป้าหมายให้บรรลุ วิสัยทัศน์เป็นภาพที่มีองค์ประกอบที่ชัดเจนไม่ใช่ความคิดลอย ๆ หรือความเพ้อฝัน วิสัยทัศน์ที่ดีเป็นจินตนาการที่บรรจงวาดไว้อย่างประณีตสวยงาม มีพลังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอยากให้เป็นจริง
วิสัยทัศน์ที่ดีและมีพลังเกิดจากความรู้ความเข้าใจในอดีตและปัจจุบัน เป็นฐานให้สามารถสร้างและฉายภาพอนาคตที่โดนใจผู้คน ตอบสนองความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณของสังคม ความปรารถนาและความใฝ่ฝัน ความต้องการมีชีวิตที่ดีกว่า
วิสัยทัศน์ที่ดีขององค์กรก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน วิสัยทัศน์ที่ดีทางการเมือง ทำให้ผู้คนเกิดความเชื่อมั่น เชื่อว่าจะเกิดชุมชนมั่งคั่ง สังคมมั่นคง
คำว่าวิสัยทัศน์ (vision) มีที่มาจากคัมภีร์ทางศาสนาต่าง ๆ และคำสอนของผีบุญที่ล้วนแต่เสนอภาพสุดท้ายหรือนิมิต ภาพในจินตนาการแห่งสังคมในอุดมคติที่เรียกว่า สังคม พระศรีอาริย์ (Messianic Society) และยุคพระศรีอาริย์ ( Messianic Age )
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
Metha
Metha
ออฟไลน์
เครดิต
54527
174
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-12-15 08:38
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
74. ศักยภาพ (potential) หมายถึง ความสามารถที่ยังไม่พัฒนา หรือยังไม่พัฒนาเต็มที่ ศักยภาพเป็นพลังภายใน พลังที่ซ่อนไว้หรือพลังแฝงที่ยังไม่ได้แสดงออกมาให้ปรากฏ หรือออกมาบ้างแต่ไม่หมด เช่น เมล็ดมะม่วง มีศักยภาพที่จะโตเป็นต้นมะม่วงถ้าหากได้ดินดี น้ำดี แดดดี ปุ๋ยดี เด็กจำนวนมากมีศักยภาพที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเก่งถ้าหาก ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี การศึกษาที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี
ทางปรัชญา ศักยภาพ (potential-potentiality ) ตรงกันข้ามกับคำว่า กรรตุภาพ หรือภาวะที่เป็นจริง (actual-actuality) หรือเรียกกันด้วยภาษาง่าย ๆ ว่า ภาวะแฝง (potential) กับภาวะจริง(actuality) ศักยภาพ (ภาษาละติน potential) เป็นภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้ เป็นไปได้ เกิดขึ้นได้ ตรงกันข้ามกับภาวะจริง (actus) ซึ่งในปรัชญาตะวันตกตั้งแต่อริสโตเติลพูดถึงความสมบูรณ์ (perfection) ว่าเป็นภาวะความเป็นจริงที่บริสุทธิ์ actus purus (pure action) เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
Metha
Metha
ออฟไลน์
เครดิต
54527
175
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-12-15 08:39
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
75. เศรษฐกิจชุมชน หมายถึง ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีลักษณะเป็นองค์รวม คือไม่ได้มีแต่เพียงมิติทางเศรษฐกิจ ตัวเลขรายได้ การผลิต การบริโภค แต่เป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม วัฒนธรรม สัมพันธ์กับวิถีชีวิต ระบบคุณค่า
เศรษฐกิจชุมชนไม่เน้นการแข่งขัน แต่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือ ไม่มีการผูกขาด เพราะชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ก่อให้เกิดความรวยกระจุกความจนกระจาย ตัวชี้วัดเศรษฐกิจชุมชน ไม่ใช่เพียงตัวเลข แต่ผสมผสานกับตัวชี้วัดทางสังคม ตัวชี้วัดการอยู่เย็นเป็นสุขของผู้คน
ที่จริงเศรษฐกิจชุมชนที่มักถูกถือว่าเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ ทั้ง ๆ ที่ควรถือเป็นอีกระบบหนึ่งในตัวมันเอง ระบบนี้มีสัดส่วนแรงงานมากว่าครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ แต่เมื่อคิดเป็นรายได้ คงน้อยกว่าเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม ที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง และศูนย์กลางความเจริญ ซึ่งดึงเอาผู้คนจากชุมชน เข้าไปเป็นแรงงาน
เศรษฐกิจชุมชนเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญในประเทศกำลังพัฒนา โดยทั่วไปแนวคิดนี้มีที่มาสำคัญอยู่อย่างน้อยสองทาง คือ แนวคิดของมหาตมะคานธีที่สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจหมู่บ้าน ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าหรือซื้อจากตลาด ลดรายจ่ายให้เหลือน้อย ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้ เน้นการพึ่งตนเอง ทำกินทำใช้เอง
แนวคิดจากรัสเซีย ซึ่งเป็นขบวนการและกลายเป็นพรรคการเมือง (Social Revolutionaryพรรคสังคมปฏิวัติ)มีนักคิดสำคัญชื่อ เอ วี ชายานอฟ (1888-1939)ที่เห็นว่าชุมชนเป็นอีกระบบเศรษฐกิจหนึ่งที่สามารถจัดระบบให้พึ่งพาตนเองและเป็นรากฐานสำคัญให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้
ในประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอเศรษฐกิจสองส่วน คือเศรษฐกิจรัฐและเศรษฐกิจสหกรณ์ แต่ยังไม่ได้เสนอแนวทางเชื่อมต่อระหว่างสองส่วนนี้ ขณะที่ทุนนิยมและมาร์กซิสต์เห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนเป็นเศรษฐกิจที่รอวันตาย จะค่อย ๆ ถูกผนวกเข้าสู่ระบบทุนในที่สุด ระบบชุมชนจะสูญสลาย แรงงานครอบครัวจะกลายเป็นแรงงานรับจ้าง มนุษย์จะกลายเป็นแรงงาน เป็นเพียงปัจจัยผลิตหนึ่งของระบบทุน
ประวัติศาสตร์ในประเทศกำลังพัฒนามิได้ยืนยันหรือพิสูจน์ความคิดนี้ รวมทั้งประเทศอย่างอิตาลีที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจครอบครัวและการประกอบการด้านการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมสามารถเจริญ และขยายตัวเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้เป็นอย่างดี จนอิตาลีกลายเป็นต้นแบบหนึ่งของการพัฒนา
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
Metha
Metha
ออฟไลน์
เครดิต
54527
176
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-12-15 08:39
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
76. เศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economy) เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมานานกว่า 25 ปี และเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 พระองค์ก็ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้อยู่รอดและอยู่ได้ อย่างมั่นคงยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
“ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือ ความมีกินมีใช้ ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการ ที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้น มั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ” (พระบรมราโชวาทในพิธี พระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 19 กรกฎาคม 2517 )
“ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มและลืมเสาเข็มไปเสียด้วยซ้ำไป ” ( พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววารสารชัยพัฒนา)
“ การเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน แบบพอมีพอกินหมายความว่า พอเพียงกับตัวเอง ” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 ธันวาคม 2540)
หลักของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางสายกลาง คือพอประมาณ ไม่ใช่อดอยากขาดแคลน เป็นการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน มั่นคง และมีคุณธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปันกัน ไม่ใช่มีมากเกินไป ไม่อยู่ในความฟุ่มเฟือยและความประมาท มีเหตุมีผลและมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
เศรษฐกิจพอเพียงมิได้หมายความว่าต้องทำกินทำใช้เองทั้งหมด หากแต่ทำได้เพียงในสี่ก็เพียงพอ แต่มีการจัดการที่ดี เริ่มจากการพึ่งตนเองระดับครอบครัวไปสู่ระดับชุมชนจนเครือข่าย ทำงานเป็นองค์กรชุมชน เป็นสหกรณ์ และไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงระดับชาติ จากเศรษฐกิจพื้นฐานไปสู่เศรษฐกิจแบบก้าวหน้า ทำธุรกิจการค้าอยู่ในโลกที่มีการแข่งขันได้อย่างมั่นคง เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การถอยหลังกลับไปอยู่ในยุคโบราณไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจยังชีพ (subsistent economy) ซึ่งผู้คนหาอยู่หากินกับธรรมชาติ ไม่มีการสะสม ซึ่งวันนี้เป็นไปไม่ได้เพราะสังคมได้เปลี่ยนไป ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ก็หมดไป แต่เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นการสืบทอดคุณค่าของอดีต ที่สามารถจัดการชีวิตและพึ่งพาตนเองได้ สืบทอดคุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นการคิดใหม่ และจัดการใหม่ ต้องอาศัยความรอบรู้ ความระมัดระวัง อาศัยวิชาการในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจคุณธรรม เสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับ ให้สำนักในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
Metha
Metha
ออฟไลน์
เครดิต
54527
177
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-12-15 08:39
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
77. สหกรณ์ (cooperative) สหกรณ์ เป็นคำที่แปลจากภาษาอังกฤษว่า cooperation แปลว่า การร่วมมือกัน หรือการทำงานร่วมกัน สหกรณ์หมายถึงการรวมกลุ่มเพื่อการดำเนินกิจการร่วมกัน เช่น การผลิต การบริโภค การซื้อ การขาย การออม การจัดการตามประเด็นต่าง ๆ โดยสมาชิกเป็น เจ้าของกิจการ จัดสรรผลประโยชน์จากกำไร เพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่สมาชิก
สหกรณ์เกิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 ขณะที่อุตสาหกรรมกำลังขยายตัว มีโรงงาน มีแรงงาน มีนายจ้างซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ มีลูกจ้างซึ่งเป็นคนจน จึงเกิดการรวมตัวกันเพื่อให้เกิดพลังในการจัดการชีวิตของตนเอง โดยการสร้างระบบที่เป็นหลักประกันความมั่นคงและสร้างสวัสดิการให้ตนเอง และได้พัฒนาหลักการและรูปแบบการดำเนินงานที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ทั่วโลก คือหลัก 6 ประการของสหกรณ์ คือ
1. การเข้าเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ
2. การดำเนินงานแบบประชาธิปไตย(หนึ่งเสียงหนึ่งคน)
3. การจ่ายเงินปันผลต่อหุ้น ในอัตราจำกัด
4. การจำแนกเงินส่วนเกิน
5. การส่งเสริมการศึกษา
6. ความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์
สหกรณ์แห่งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 ชื่อว่าสหกรณ์วัดจันทร์ ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้สหกรณ์ตามกฎหมายมีอยู่ 6 ประเภท คือ 1. สหกรณ์การเกษตร
2. สหกรณ์นิคม
3. สหกรณ์ประมง
4. สหกรณ์ร้านค้า
5. สหกรณ์ออมทรัพย์
6. สหกรณ์บริการ
สหกรณ์แต่ละประเภทอาจแยกย่อยลงไปอีกก็ได้ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเกิดขึ้นตามอาชีพ เช่น ครู ทหาร ตำรวจ ข้าราชการต่าง ๆ แยกลงไปตามสถาบัน องค์กร หน่วยงาน มีสหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนียน หรืออย่างเช่นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในลักษณะของสหกรณ์ แต่มีขอบเขตที่จำกัดกว่า
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
Metha
Metha
ออฟไลน์
เครดิต
54527
178
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-12-15 08:40
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
78. สวัสดิการชุมชน (community security) สวัสดิการชุมชน หมายถึง กิจกรรมหรือระบบทีชุมชนร่วมกันคิดขั้นและร่วมกันจัดการ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ วันนี้และวันหน้า ระบบนี้นำเอาทุนของชุมชนมาใช้อย่างชาญฉลาด ก่อให้เกิดผลแบบยั่งยืนสำหรับตนเอง และลูกหลานวันหน้า ทั้งทรัพยากร ความรู้ภูมิปัญญา เงิน ผลผลิต รวมทั้งทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรม
การจัดระบบสวัสดิการเกิดจากการอนุรักษ์ การออมทุนและทรัพยากรของชุมชน แล้วเอาผลจากการออมและการบริหารจัดการมาใช้ตอบสนองความจำเป็นของชีวิต เช่น การนำผลกำไรจากการออมทรัพย์ของชุมชน มาเป็นค่ารักษาพยาบาล ช่วยสมาชิกเมื่อได้รับภัยพิบัติ เช่น บ้านเรือนไร่นาเสียหายจากพายุ น้ำท่วม ไฟไหม้ เป็นทุนการศึกษาบุตรหลาน เป็นทุนฉุกเฉิน เป็นบำเหน็จบำนาญให้สมาชิก โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นกรรมการและทำงานเพื่อส่วนรวม เป็นต้น
การจัดระบบสวัสดิการยังรวมความไปถึงการจัดการวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ แล้วนำผลกำไร ส่วนหนึ่งมาจัดเป็นสวัสดิการให้สมาชิกและชุมชน รวมทั้งการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อมให้เป็นสวัสดิการ คือให้ตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานไม่ใช่เพื่อการค้า การหากำไร ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากร อันเป็นทุนพื้นฐานของชุมชน ดังที่เกิดขึ้นทั่วไปเมื่อทุกฝ่ายไปเอาประโยชน์ นำไปขาย ไม่ใช่ใช้อย่างพอเพียง เพื่อความจำเป็นพื้นฐาน จัดการให้เป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ให้เป็นธุรกิจ
บางชุมชนอย่างบ้านนาหว้า อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จัดระบบสวัสดิการชุมชนโดยการ ทำกลุ่มออมทรัพย์และตั้งกองทุนสวัสดิการเกือบ 100 กองทุน เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความจำเป็นของชีวิตให้ชุมชน กองทุนเหล่านี้มีตั้งแต่กองทุน โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วยชาม ช้อนส้อม เครื่องครัว ไปจนถึงอุปกรณ์ในงานแต่งงาน งานบวช งานศพ ร้านค้า โรงสี กองทุนสวัสดิการเด็ก สตรี คนชรา ฯลฯ ให้สมาชิกนำสิ่งของเหล่านี้ไปใช้โดยเสียค่าเช่าแค่เพียงเล็กน้อย เพียงเพื่อบำรุงรักษาและซื้อใหม่ มาทดแทนของเก่า ให้สมาชิกได้รับการอุดหนุน เพื่อดำเนินกิจกรรมบางอย่าง เช่น อุดหนุนการเกษตรให้คนชราเป็นแรงจูงใจให้ปลูกพริกปลูกผักไว้กินในครอบครัว เป็นต้น
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
Metha
Metha
ออฟไลน์
เครดิต
54527
179
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-12-15 08:40
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
79. องค์รวม (holistic) เป็นแนวคิดที่อธิบายว่า ทั้งหมดของสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดจากส่วนต่าง ๆ ที่สัมพันธ์ และขึ้นต่อกัน อย่างไรก็ดี องค์รวมเป็นอะไรที่ใหญ่กว่า มากกว่า และใหม่กว่าแค่การเอา ส่วนประกอบต่าง ๆ มารวมกันหรือบวกกัน ( the whole is more than the sum of all parts )
แนวคิดแบบองค์รวมอธิบายว่า คุณสมบัติของระบบไม่อาจกำหนดได้หรืออธิบายได้โดย เอาส่วนประกอบทั้งหมดมารวมกัน ชีวิตของคนเป็นองค์รวมที่ไม่อาจอธิบายหรือเข้าใจได้ โดยพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ แบบ แยกส่วนแล้วเอามารวมกัน ชีวิตเป็นระบบ เป็นสายใย ที่เชื่อมโยง เป็นข่ายที่สัมพันธ์กันหมด ก่อให้เกิดความเป็นจริงที่เรียกว่าชีวิต องค์รวมเป็นทั้งหมด ทีแบ่งแยกมิได้ เพราะถ้าหากแบ่งแยกก็ไม่มีความเป็นจริงที่เป็นอะไรที่ใหญ่กว่าส่วนต่าง ๆ มารวมกัน แยกอวัยวะต่าง ๆ ออกจากกัน คนก็ตาย ไม่ใช่คนอีกต่อไป
ความคิดที่เป็นระบบ ( systems thinking ) จึงประกอบด้วย ความคิดรวบยอด ( concepts ) ที่เป็นองค์รวมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น องคาพยพ ( organism ) บูรณาการ ( integration ) ผนึกพลัง ประสานพลัง หรือสังเคราะห์พลัง ( synergy ) และอื่น ๆ
แนวคิดองค์รวมตรงกันข้ามกับ แนวคิดแบบลดทอน ( reductionism ) หรือแยกส่วน ซึ่งวิทยาศาสตร์แบบกลไกใช้กันมาหลายร้อยปีและยังมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน การลดทอนหมายถึงการทำให้ความเป็นจริงลดลงมาเหลือแค่เรื่องเดียวที่อธิบายได้ในตัวมันเอง การแพทย์แผนปัจจุบันกระแสหลักเป็นตัวอย่างของการลดทอน โดยพิจารณาโรคแบบแยกส่วน อย่างโดดเดี่ยวเป็นเรื่อง ๆ แล้วรักษา แบบแยกส่วน ไม่ได้พิจารณา “ คน ” แต่พิจารณา “ โรค ” พิจารณาอวัยวะส่วนหนึ่งเท่านั้น
องค์รวมเป็นแนวคิดดั้งเดิมของปรัชญาตะวันตก และตะวันออก แต่เมื่อผ่านไปหลายศตวรรษ ตะวันตกค่อย ๆ แยกส่วนความคิดและพัฒนามาถึงที่สุดในยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ปฏิวัติอุตสาหกรรมในสามร้อยปีที่ผ่านมา ขณะที่ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาฮินดู พุทธปรัชญา ปรัชญาจีน เต๋า เซน ล้วนแต่พูดถึงสัจธรรมที่เป็นองค์รวม สอดคล้องกับฟิสิกส์สมัยใหม่ ที่เห็นความสัมพันธ์แบบองค์รวมของ สรรพสิ่ง และเห็นความคล้ายและเหมือน ระหว่างปรัชญาตะวันออกและฟิสิกส์สมัยใหม่ ซึ่งเข้าใจเหมือนกันว่า “ เด็ดดอกไม้ดอกเดียวกระเทือนถึงดวงดาว ”
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
Metha
Metha
ออฟไลน์
เครดิต
54527
180
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-12-15 08:41
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
80. อัตลักษณ์ (identity) อัตลักษณ์ หมายถึง สำนึกว่าเราเป็นใคร และเราแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร มีลักษณะเฉพาะอะไรบ้าง รวมทั้งคนอื่นมองว่าเราเป็นใคร ซึ่งนักวิชาการบางคนอธิบายว่าเป็นการสร้างขอบเขตของบุคคล เพื่อการแสดงออกถึงอำนาจหรือการได้มาซึ่งอำนาจ
ความหมายของคำว่าอัตลักษณ์มีมากมาย ขึ้นอยู่กับสำนักปรัชญาหรือสาขาวิชาไหน ปรัชญาเอ็กซิสเทนเชียลิสม์ ( Existentialism ) ที่เกิดขึ้นระยะร้อยปีเศษที่ผ่านมาเน้นการค้นหาตัวตนการเป็นตัวของตัวเอง การเป็นอิสระจากสิ่งที่ประเพณีกำหนด คนเป็นใครไม่ได้อยู่ในคัมภีร์ ไม่ได้อยู่ที่นิยามของนักปรัชญา ( “ คนคือสัตว์ที่มีเหตุผล ” คนคือบุตรของพระเจ้า ” ฯลฯ ) คุณเป็นใครคือการตัดสินใจของคุณ การเลือกของคุณเองต่างหาก ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะด้านหนึ่งคุณถูกกำหนดและครอบงำจากประเพณีความเชื่อที่สืบทอดกันมาเป็นพัน ๆ ปี อีกด้านหนึ่ง คุณถูกครอบงำจากโลกยุคใหม่ที่สร้างวัฒนธรรมมวลชนขึ้นมา คุณเป็นตัวของตัวเองยาก คุณเป็นอะไร ที่สื่อมวลชนกำหนดตลาดและผู้ผลิต สินค้ากำหนด ชีวิตคุณถูกสังคมสมัยใหม่กำหนด คุณกลายเป็นเหมือนสินค้า ที่ถูกส่งไปตามสายพานโรงงานอุตสาหกรรม ( “ สายพานชีวิต ” โดยผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม )
นิทเช่ ( 1944-1900 ) นักปรัชญาชาวเยอรมันประกาศว่า “พระเจ้าตายแล้ว” นักปรัชญายุคหลังทันสมัย หรือที่เรียกกันว่าโพสต์โมเดิร์นบางคนพูดถึงคน ตัวตน อัตลักษณ์ ว่าไม่มีจริง ในตัวมันเอง คล้ายจะประกาศว่า “ มนุษย์ตายแล้ว ” “ ตัวตนตายแล้ว ” อัตลักษณ์เป็นความสัมพันธ์กับคนอื่น คุณเป็นใครไม่ได้อยู่ในตัวคุณ แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์กับคนอื่น อยู่ที่ว่าคุณเป็นลูกใครหลานใคร มาจากบ้านไหนเมืองไหน เชื้อสายอะไร สัญชาติอะไร เรียนที่ไหน รุ่นไหน มีลูกกี่คน ทำงานที่ไหน บ้านอยู่แถวไหน ไปวัดทำบุญที่ไหน สังกัดศาสนาไหน
ปรัชญาแนวนี้ถือว่าอัตลักษณ์ไม่ใช่อะไรที่เกิดมาพร้อมกับคน แต่เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมา สร้างภาษา ให้คนพูด “ ฉัน ” ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ใช่ภาววิสัย ( objective ) เป็นอะไรที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรม ไม่มีบุคคล ไม่มีปัจเจกบุคคล หรือตัวตน มีแต่อัตลักษณ์หลากหลายของคนซึ่งสัมพันธ์กับ บทบาททางสังคม เช่น “ ผมเป็นอาจารย์ เป็นพ่อ เป็นแฟนฟุตบอล ” แต่ละบทบาทเป็อัตลักษณ์แตกต่างกันที่สังคมกำหนดให้ผมเป็นผมที่แตกต่างกันในแต่ละบทบาท
นิยามเหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกันระหว่างนักคิด นักปรัชญา นักวิชาการ เป็นเสรีภาพที่แต่ละคนสามารถค้นหาคำตอบที่ตนเองพอใจ และเห็นว่านำมาอธิบายหรือสร้างความเข้าใจในชีวิตแก่ผู้คนในยุคสมัยนี้ที่มีความสับสน ที่ผู้คนต่างก็ค้นหา “ ตัวตน ” หรือ อัตลักษณ์ ” ไม่ว่าจะรับหรือปฏิเสธว่ามันมีอยู่หรือไม่มี มีอยู่อย่างไร และทำไม
ในทางสังคมวัฒนธรรม อัตลักษณ์เป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของคน และชุมชน ซึ่งสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมกระแสหลัก และของผู้มีอำนาจมากกว่า การพัฒนาแนววัฒนธรรมชุมชน หรือท้องถิ่นนิยมพูดถึงการพัฒนาว่าเป็นกระบวนการ “ คืนสู่รากเหง้า ” สืบค้นหาตัวตนและอัตลักษณ์ที่ถูกลืม ถูกครอบงำ ให้ฟื้นคืนมาเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งตนเอง ให้คืนความเชื่อมั่นและการเคารพตนเอง ความรู้ภูมิปัญญาและจารีตประเพณีอันดีงาม
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
หน้าถัดไป »
1 ...
14
15
16
17
18
19
20
21
22
... 40
/ 40 หน้า
ถัดไป
กลับไป
ตั้งกระทู้ใหม่
โหมดขั้นสูง
B
Color
Image
Link
Quote
Code
Smilies
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ลงชื่อเข้าใช้
|
ลงทะเบียน
รายละเอียดเครดิต
ตอบกระทู้
ข้ามไปยังโพสต์ล่าสุด
ตอบกระทู้
ขึ้นไปด้านบน
ไปที่หน้ารายการกระทู้
Share To Facebook
Share To Twitter
Share To Google+
Share To ...