ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

100

[คัดลอกลิงก์]
161#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
60.  ผู้ประสานเครือข่าย  (networker)  เครือข่ายทางสังคมเกิดจากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่มีความสนใจร่วมกันมีปัญหาร่วมกัน และต้องการสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็น และช่วยเหลือกันทางใดทางหนึ่ง แต่สมาชิกเครือข่ายดังกล่าวมีความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อเครือข่ายเหมือนที่แต่ละคนสังกัดในองค์กรหรือหน่วยงานของตนเอง ผู้ประสานเครือข่ายหมายถึงบุคคลที่ประสานงาน  ให้ผู้คนสัมพันธ์กัน อาจเป็นคนที่พูดอยู่ที่สถานีวิทยุในรายการ จส.100 เป็นเอ็นจีโอที่ประสานเครือข่ายชาวบ้านหรือองค์กรชุมชนในพื้นที่
การเชื่อมเครือข่ายอาจหมายถึงเครือข่ายองค์กรก็ได้ เช่น เครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เดียวกันหรือต่างพื้นที่ แต่มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์คล้ายกัน
162#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
61. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นแผนที่เกิดจากคำแนะนำของธนาคารโลกที่เข้ามาศึกษาสภาพการณ์ต่าง ๆ เมื่อปี 2500 และรัฐบาลไทยออกพระราชบัญญัติพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและตั้งสำนักงานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติเมื่อปี 2502 เพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และได้ประกาศใช้แผนที่ 1 (2504-2506-2509) และกำหนดเป็นแผน 5 ปี เรื่อยมาจนถึงแผนที่ 9 (2545-2549) ในแผนแรก  ไม่มีคำว่า “สังคม” มาเพิ่มเติมคำนี้ในแผนที่ 2
แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติแผนที่ 1 นั้นเร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนเป็นพิเศษ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคมขนส่ง การพลังงาน และชลประทาน ฯลฯ เช่น มีเขียนไว้ในแผนชัดเจนว่าจะสร้างเขื่อนภูมิพลให้เสร็จภายในปี 2506 การขยายโทรศัพท์ การสร้างโรงพยาบาล และการพัฒนาสถานีอนามัย การส่งเสริมการศึกษาอาชีวะ เป็นต้น
แผนที่ 2 (2510-2514) ยังเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปและเริ่มให้ความสำคัญ   ต่อการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะการศึกษาและสาธารณสุข และพยายามให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนา ด้านสังคม การเพิ่มคุณภาพชีวิต การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค
แผนที่ 3 (2515-2519) พยายามรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกแทนการนำเข้า ยกระดับรายได้ของประชาชน สนับสนุนการมีงานทำ ลดอัตราการเพิ่มของประชากรจากร้อยละ 3.2 ให้เหลือ 2.5 ต่อปี โดยการวางแผนครอบครัว
แผนที่ 4  (2520-2524) เกิดปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจวิกฤติน้ำมันทั่วโลก   ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว  ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย  เกิดวิกฤติธนาคารพาณิชย์  สถาบันการเงิน นอกนั้นก็ปรากฏความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลพวงของการพัฒนา แผนนี้พยายามให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้และทางสังคม ลดอัตราการเพิ่มของประชากรให้เหลือ  ร้อยละ 2.1
แผนที่ 5 (2525-2529) แผนนี้ยึดพื้นที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนา เน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงินการคลังของประเทศ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ควบคุมไม่ให้ขยายตัวสูงนัก เน้นความสมดุลในการพัฒนา เน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท   ปัญหาที่ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ คนจากชนบทอพยพเข้าเมือง  และย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า   การใช้จ่ายเกินตัวของภาครัฐและเอกชนส่งผลให้เกิดความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ   การพัฒนารวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ  มีการเร่งพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก เร่งพัฒนาเกษตรในเขตก้าวหน้า  และเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและกระจายไปสู่ภูมิภาค

แผนที่ 6 (2530-2534)  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกประกอบกับการแก้ไขปัญหาโดยรวมของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ การเงินการคลังได้ผลในทางปฏิบัติ ทำให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 9.5 ในปี 2530 เป็นร้อยละ 13.3 ในปี 2531 การพัฒนาในช่วงนี้พยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงคุณภาพ  ของสินค้า ขยายตลาด เร่งผลิต กำลังคนเพื่อตอบสนองตลาดแรงงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แผนที่ 7 (2535-2539)  การพัฒนามีอัตราการขยายตัวสูงและต่อเนื่อง รายได้ต่อหัวในปี 2539 คือ 76,650 บาท มีโครงสร้างพื้นฐานกระจายไปทั่วประเทศ ครัวเรือนที่มีไฟฟ้าใช้มีอยู่ ร้อยละ 97.7 น้ำประปาเริ่มออกไปสู่ชนบทถึงร้อยละ 32 ของหมู่บ้าน อัตราเด็กเข้าเรียนมีถึง 97.7อายุเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันก็เกิดปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาสังคม เกิดการระบาดของโรคเอดส์อย่างรุนแรง มีผู้ติดเชื้อถึงเกือบ 1 ล้านคน ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม     ป่าไม้ถูกตัดไปตั้งแต่เริ่มแผนที่ 1 จนถึงแผนที่ 7 นี้เกือบสี่สิบปี ปีละประมาณ  1 ล้านไร่
แผนที่ 8 (2540-2544) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในแผนนี้ที่ไม่ได้เน้นที่ประเด็นเศรษฐกิจเหมือนที่ผ่านมา แต่เปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต เน้นการพัฒนาคน การพัฒนาสังคม โดยการพัฒนาเศรษฐกิจมิได้เป็นเป้าหมายหลัก เป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ได้มีการระดมความคิดจากตัวแทนทุกสาขาอาชีพเพื่อร่วมมือกันกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศว่าจะให้ไปทางไหน เพื่อใคร และอย่างไร เป็นการเริ่มต้นการพัฒนาที่เริ่มเข้าใจว่า การ “มี” มากขึ้นไม่ได้หมายความว่า “เป็น” คนมากขึ้น อยู่ดีมีสุขมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนได้พัฒนา อย่างบูรณาการ ทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาไปพร้อมกัน รู้จักตัวเอง รู้เท่าทันโลก อยู่อย่าง มีคุณค่า พัฒนาศักยภาพของตนเอง
แผนที่ 9 (2545-2549) แผนนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบองค์รวม การดำเนินงานแบบบูรณาการ  มีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเช่นเดียวกับแผนที่ 8 มุ่งการพัฒนาสู่ “สังคมที่เข้มแข็ง และมีดุลยภาพ” ใน 3 ด้าน คือ สังคมคุณภาพ สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน แผนนี้มีวิสัยทัศน์ว่าประชาชนทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิ์และเข้าถึงระบบการคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง เสมอภาคและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรี คุณธรรม ความโปร่งใส ภูมิปัญญาท้องถิ่น การมีส่วนร่วม การบูรณาการทางสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

163#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
62. พลวัต  (dynamic) พลวัตหมายถึงพลังที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นพลังที่มี กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวโยงกันหลายด้าน  พลวัตเป็นคำที่ใช้กันบ่อยเพื่อบอกถึงพลังทางการเมือง  ทางสังคม ทางจิตวิทยา  เช่น พลวัตทั้งหมดเบื้องหลังการปฏิวัติ
       พลวัตเป็นระบบหรือกระบวนการแบบปฏิสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงถึงพลังการแข่งขัน  ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับปรัชญาแนวพลวัตนิยม  (dynamism) ซึ่งเป็นคำสอนหรือระบบปรัชญาที่พยายาม ใช้เรื่องพลังภายใน หรือพลังฝังใน หรือพลังแฝงเร้น (immanent force or energy) อธิบายปรากฏการณ์ของเอกภพความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ

      ในภาษาอังกฤษ  คำนามว่า  dynamic   มีรากศัพท์จากภาษากรีกว่า dunamis , dunamikos ซึ่งแปลว่าพลัง (power)  ถ้าเป็นคำคุณศัพท์มักใช้กับบุคคล dynamic person หมายถึงคนที่มีพลังเต็มไปด้วยพลังไม่หยุดนิ่ง ไม่เฉื่อยชา   มีกิจกรรม  มีการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา  มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน บุคคลประเภทนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมีพลังการเปลี่ยนแปลงในตัวเองสูง
       คำที่เกี่ยวข้องกับพลวัตหรือพลังที่ภาษาไทยเรียกทับศัพท์เช่น ไดนาโม (เครื่องเปลี่ยนกำลังกลเป็นกำลังไฟฟ้า) ไดนาไมต์ (ดินระเบิด) ในวิชาฟิสิกส์มีวิชาพลศาสตร์  (dynamics) วิชาที่ว่าด้วยการเคลื่อนที่ของ  เทหวัตถุ ในทางดนตรีมีการใช้คำว่า dynamics ซึ่งเมื่อแปลว่าพลวัตมักไม่ค่อยสื่อความหมาย ต้องทับศัพท์หรือต้องอธิบายว่าเป็นเรื่องความดังความค่อยของดนตรี  (volume)
       ธุรกิจพูดถึง dynamic market หมายถึงตลาดที่มีพลังสูง พลังทางบวกที่เป็นความเข้มแข็ง พลังการเปลี่ยนแปลง  การมีความเชื่อมโยงแบบปฏิสัมพันธ์กับสังคมและตลาดอื่น ๆ
164#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
63. พลังร่วม (synergy) พลังร่วม หรือพลังสังเคราะห์ หรือการผนึกพลัง หมายถึงปรากฏการณ์ที่พลังหรือของสองอย่างหรือมากกว่ามีปฏิสัมพันธ์กัน (interact) ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง และมากกว่าผลที่เกิดจาก  แต่ละอย่างที่แยกกันเกิดขึ้นแล้วนำมารวมกัน
อีกนัยหนึ่ง พลังร่วมเป็นกระบวนการที่ทำให้  “ องค์รวมใหญ่กว่าส่วนประกอบทั้งหมดรวมกัน”  (the whole is greater than the sum of the parts)
เดิมคำนี้ใช้ในวิชาเทววิทยา ( theology) เพื่อหมายถึงความร่วมมือระหว่างมนุษย์  กับพระเจ้า ระหว่างความพยายามของมนุษย์  (human efforts)  กับพระประสงค์ของพระเจ้า (divine  will) มีการนำมาประยุกต์กับปรากฏการณ์ทั้งทางฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และทางเศรษฐกิจสังคม เช่น การศึกษาเรื่องพลังหรือพลังงาน (energy) เป็นการแยกส่วน  สิ่งที่ศึกษาออกมาจากเอกภพ แยกส่วนประกอบออกมาจากระบบองค์รวม ในขณะที่พลังร่วมหรือพลังสังเคราะห์ศึกษาเอกภพในฐานะระบบที่ทุกส่วนล้วนสัมพันธ์กันและให้ผลการศึกษาแตกต่างไปจากการศึกษาแยกส่วน หรือการศึกษาอะตอม โมเลกุล อย่างโดดเดี่ยวไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมที่เกิดจากระบบองค์รวมได้ ต้องศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้ ศึกษาตัวระบบ ซึ่งส่วนประกอบ   มีปฏิสัมพันธ์กัน  (interaction)
ทางสังคม พลังร่วมหรือพลังสังเคราะห์เป็นความร่วมมืออย่างมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างหลายกลุ่ม หรือส่วนประกอบต่าง ๆ ขององค์กรหรือของบริษัท ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าต่างฝ่ายต่างแยกกันทำ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการหลอมรวม  (merging) บริษัทหลายบริษัทเข้าด้วยกัน  เพราะจะให้ผลการดำเนินงานมากกว่าที่ต่างฝ่ายต่างทำหรือแข่งขันกัน   เพราะเมื่อร่วมกันทำจะเกิดผลลัพธ์ที่นำมาหารแล้วก็จะมากกว่าผลลัพธ์ที่แต่ละองค์กรหรือบริษัทแยกกันทำ
พลังร่วมหรือพลังสังเคราะห์เป็นคำที่ใช้ร่วมกับคำว่าบูรณาการองค์รวม เพราะพลังร่วมเป็น คำอธิบายกระบวนการหรือปรากฏการณ์ของการบูรณาการและผลที่เกิดจากการดำเนินการหรือจัดการอย่างเป็นองค์รวม

165#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
64.  ภาคี พันธมิตร หุ้นส่วน ภาคี พันธมิตร หุ้นส่วน เป็นคำที่เริ่มใช้กันแพร่หลายในการทำงานด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อแสดงออกถึงฐานคิดที่ว่าด้วยความเสมอภาค เท่าเทียม การยอมรับกันและกัน ยอมรับในศักยภาพและความสามารถ เกียรติและศักดิ์ศรีของกันและกัน ไม่ได้มองว่าอีกฝ่ายหนึ่งต่ำกว่า ด้อยกว่า แต่ก็ยอมรับว่าทุกฝ่าย มีทั้งข้อเด่นและข้อด้อย ข้อจำกัดและสมรรถนะ   ถ้าหากทำงานร่วมกันก็จะเสริมกัน เกื้อกูลกัน และทำให้เกิดการพัฒนาได้
ในแวดวงการพัฒนา   สามคำนี้ถูกใช้เพื่อแทนวิธีคิดเดิมที่มักมองว่า  ชาวบ้าน  คนยากจน ในชนบทและในเมืองเป็นคน  “โง่  จน  เจ็บ ”   ที่ต้องการความช่วยเหลือ จึงมีหน่วยงานและโครงการ  ต่าง ๆ  เกิดขึ้นเพื่อทำงานดังกล่าว   เมื่อเอาอะไรไปให้ชาวบ้านก็ถือว่าสิ่งที่นำไปให้นั้นเป็นส่วนสำคัญ หรือเป็นปัจจัยหลัก (contribution) เพื่อการแก้ไขปัญหา และเรียกร้องให้ท้องถิ่นมีส่วนสมทบใน โครงการนั้น ๆ (counterpart ) เช่น ถ้าโครงการนั้นต้องการงบประมาณ 100 บาท  องค์กรจากภายนอก  นำไปให้  90  บาท  หรือ  95 แล้วขอให้ท้องถิ่น  สมทบ  10  หรือ   5  บาท
นี่เป็นกระแสใหม่ในการพัฒนาทั่วโลก สิ่งที่เปลี่ยนไปวันนี้อาจจะไม่ใช่ตัวเลข แต่เปลี่ยนท่าที เปลี่ยนวิธีคิด  การจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างคนที่ไปทำงานกับชาวบ้าน ถือว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (stakeholders)   เป็น “ หุ้นส่วน ” หรือ  “ หุ้นส่วนชีวิต ”  หุ้นส่วนการพัฒนา ”  ( partnership) ไม่ใช่สัมพันธ์กันแบบ  “ ผู้ให้ – ผู้รับ ”  (donor recipient ) แบบเดิม ๆ อีกต่อไป แต่ก็ยังมีรัฐบาลและหน่วยงานในหลายประเทศยังคิดและทำแบบเดิม ๆ
เริ่มจากในแวดวงธุรกิจแล้วแพร่ไปในวงการบริหารจัดการอื่น ๆ มีการใช้คำว่า พันธมิตรทาง ยุทธศาสตร์  ( strategic partner , strategic alliance ) เพื่อหมายถึงบุคคล องค์กร หน่วยงานที่มีความสนใจ เป้าหมาย  ผลประโยชน์และวิธีการดำเนินงานบางอย่างคล้ายกันหรือเหมือนกัน  เกิดความร่วมมือกัน โดยข้อตกลงเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ
166#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
65.  ภูมิปัญญาชาวบ้าน   คำว่าภูมิปัญญา  ถ้าแปลตามคำอาจหมายถึง  “ ที่ตั้งของปัญญา ” ถ้าแปลความลึกลงไปก็ได้ความหมายว่าเป็นปรัชญาชีวิตของชาวบ้านปรัชญาอันเป็นที่ตั้ง  ที่มาของ วิถีชีวิต  วิธีคิด  วิธีปฏิบัติ  อันอยู่ภายใต้การมองโลกมองชีวิตแบบหนึ่ง
       ภูมิปัญญาเป็นปรัชญาอันเป็นที่มาของความรู้ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงมักกล่าวด้วยว่า  ภูมิปัญญา หมายถึงความรู้ต่าง ๆ ที่สืบทอด  ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  ที่คนรุ่นต่อ  ๆ  มาจนถึงปัจจุบันได้อนุรักษ์   ฟื้นฟู   ประยุกต์  รวมถึงสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ในสังคมที่ผสมผสานกันระหว่างความรู้ที่มาจากที่อื่น ๆ ทั่วโลก
       แม้ว่าคำว่าภูมิปัญญาอาจหมายถึงเพียงความรู้เฉพาะเรื่องเฉพาะอย่างของท้องถิ่นที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ  แต่ความรู้นี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาทั้งหมด  หรือบริบททั้งหมด  คือส่วนหนึ่งของปรัชญาชีวิตนั่นเอง แยกออกมาจากบริบทเมื่อไรก็จะขาดชีวิต เหมือนคนตาบอด  คลำช้าง คลำที่ขาก็ทึกทักเอาว่าช้างเป็นเสา คลำที่หางก็ว่าช้างเป็นเชือก เพราะมองไม่เห็นช้างทั้งตัว
       ภูมิปัญญาเป็นปรัชญาชีวิต เป็นศาสตร์และศิลป์ของการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน เป็นฐานคิดและหลักเกณฑ์การกำหนดคุณค่าและจริยธรรมที่มีการสั่งสมสืบทอดกันมาช้านาน จากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย สู่ลูกหลาน จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากอดีตถึงปัจจุบัน
       ภูมิปัญญาเป็นศาสตร์ คือความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตปัจจัยสี่ การทำมาหากิน การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกันในสังคม ภูมิปัญญาเป็นศิลป์ คือเป็นความรู้ที่มีคุณค่าดีและงาม ที่ผู้คนได้ค้นคิดขึ้นมาไม่ใช่ด้วยสมองเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ทัศนะและจิตวิญญาณ
       ภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่เชื่อมโยงทุกอย่างทุกด้านทุกมิติเข้าด้วยกัน จึงเป็นความรู้ที่มีคุณธรรม ความรู้ที่เป็นรอบด้านและเป็นองค์รวม  เพราะเป็นความรู้ที่มาจากชีวิตและสัมพันธ์กับชีวิต การเรียนรู้ในอดีตจึงเป็นการเรียนรู้   มิเพียงเพื่อให้เกิดความรู้ แต่ให้เกิด  “ ปัญญา ”  อันเป็นที่มาของชีวิตพอเพียง ไม่โลภ   อยู่เย็นเป็นสุข

167#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
66. ภูมิปัญญาไทย  หมายถึงรากฐานปรัชญาชีวิตของคนไทย  อันเป็นที่มาของความรู้ ความสามารถต่าง ๆ ที่แสดงออกในวิถีชีวิตของคนไทย  ในจารีตประเพณี  วัฒนธรรมความเป็นอยู่ อาหาร  บ้านเรือน เสื้อผ้า ยารักษาโรค เครื่องมือในการทำมาหากิน ศิลปะการแสดงเครื่องประดับตกแต่ง  เป็นฐานความคิด ความฝัน ความใฝ่ฝัน และความเป็นคนไท
      แต่ก็มีคำถามว่า อะไรคือเอกลักษณ์ไทย หรือความเป็นไทยของภูมิปัญญา ไม่ใช่ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานกับภูมิปัญญาอื่น ๆ และภูมิปัญญาสากลจนกลายเป็นภูมิปัญญาไทยหรือ ก็คงเป็นเช่นนั้นเพราะ คำถามที่ว่าคนไทย คือใคร มาจากไหน สายเลือดไทยแท้มีหรือไม่ก็ไม่มีข้อยุติ  เพราะคนไทยมีหลาย เผ่าพันธุ์หลายเชื้อชาติที่หลอมรวมเป็นสัญชาติไทยในรัฐชาติที่เรียกว่าประเทศไทย


67.  ระบบอุปถัมภ์  (Patron-client System)  ระบบอุปถัมภ์เป็นกรอบคิดหนึ่งเพื่ออธิบายปรากฏการณ์  ในสังคมไทย  ว่าเป็นสังคมที่มีโครงสร้างที่เน้นความแตกต่างระหว่างฐานะตำแหน่ง  คนที่มีตำแหน่งและสถานภาพทางสังคมสูงกว่า   คนที่มีเงินทองมากกว่า มีอำนาจอิทธิพลมากกว่าซึ่งเรียกว่า ผู้อุปถัมภ์กับคนที่มีน้อยกว่าที่เรียกว่า ผู้รับการอุปถัมภ์ ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยและขึ้นต่อผู้อุปถัมภ์ในรูปแบบใดแบบหนึ่ง
       ผู้อุปถัมภ์ในสังคมไทยแต่เดิมเป็นเจ้าเป็นนายซึ่งมีไพร่มีบ่าวข้าทาสบริวาร  ต่อมาเกิดเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติ  ผู้ถือครองที่ดิน  ผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อ  พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง  นักการเมือง  นักธุรกิจ  ข้าราชการ ซึ่งทำตัวเป็นเจ้านาย เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองผู้ที่ด้อยกว่า น้อยกว่า ต่ำกว่า ซึ่งก็เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง เป็นลูกน้องที่สัมพันธ์กับลูกพี่  เป็นบริวารของเจ้าพ่อ  เป็นหัวคะแนนให้นักการเมือง  เป็นต้น
       ระบบอุปถัมภ์เป็นความสัมพันธ์แนวดิ่ง  มาจากความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม เป็นความสัมพันธ์ เชิงอำนาจ ซึ่งมีประเพณีในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน  เช่น  อิตาลี   สเปน โปรตุเกส และแพร่ไปในประเทศภายใต้อาณานิคมของประเทศเหล่านี้ เช่น ในฟิลิปปินส์ และละตินอเมริกา  ( ที่เรียกระบบแบบนี้ว่า patron and client )แต่ความจริงก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น  ในที่อื่น ๆ เช่นที่ประเทศไทยก็สามารถนำมาอธิบายได้
       ระบบอุปถัมภ์วันนี้มีลักษณะที่เป็นลบมากกว่าบวกเพราะเกี่ยวกับการใช้อำนาจ อิทธิพลในทางมิชอบได้ง่าย ทำผิดกฎหมายแสวงผลประโยชน์ที่ขัดต่อกฎหมาย เป็นระบบที่ใช้อำนาจและผลประโยชน์เป็นใหญ่ ดังที่มีอยู่ในสังคมไทยแต่เดิมเป็นระบบเจ้าขุนมูลนาย กลายมาเป็นระบบราชการที่สืบทอดค่านิยมดังกล่าวในรูปแบบที่แตกต่างออกไป
       สมัยหนึ่งพ่อแม่อยากให้ลูกเรียนสูง ๆ ไปรับราชการเพื่อจะได้เป็น  “ เจ้าคนนายคน ” ผู้คนพยายามหาเงินเพื่อจะได้มีฐานะทางสังคม  โดยแสดงออกเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่ามีฐานะด้วยการ สวมใส่เครื่องประดับมีค่า  เสื้อผ้ากระเป๋าราคาแพง  บ้านหลังใหญ่รถยนต์คันโต  จัดงานหรูหราฟุ่มเฟือย มีระบบเส้นสาย  เส้นใหญ่เส้นเล็ก สังกัด  “ ค่ายไหนคอกไหน”  พ่อแม่อยากให้ลูก เรียนสูง ๆ  และผู้ใหญ่หลายคนก็พยายามขวนขวายเรียนให้ได้ใบปริญญาและรูปถ่ายมาติดข้างฝา เป็นสถานภาพและฐานะทางสังคม จะได้รับการยอมรับมากกว่าคนเรียนจบเพียงชั้น ป.4
       ระบบอุปถัมภ์ถ่ายทอดกันในระบบและอย่างเป็นระบบ เช่น ระบบการศึกษาที่ทำให้คนเชื่อว่า เด็กดีเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เด็กที่แสดงความคิดเห็นต่างจากผู้ใหญ่เรียกว่า  “ เถียง ”  ซึ่งถือว่าไม่ดี ผู้น้อยวิจารณ์ผู้ใหญ่ก็ไม่ดี   ถือว่าไม่เคารพผู้ใหญ่   การวิจารณ์มักจะถือว่าเป็นการด่า  ลูกศิษย์วัดรอยเท้าครู  เด็กวัดรอยเท้าผู้ใหญ่ถือว่าไม่ดี  เหล่านี้สะท้อนระบบอำนาจและอุปถัมภ์ที่ครอบงำสังคมไทย
ความเชื่อเรื่องเวรกรรมก็ตอกย้ำให้ยอมรับระบบอุปถัมภ์  ให้ยอมรับว่าฐานะสูงต่ำวันนี้เป็น ผลกรรมแต่ปางก่อน  มีคำกล่าวว่าแข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้  ถ้าหากได้ดิบได้ดีขึ้นมาก็อธิบายว่า  “ บุญพาวาสนาส่ง ”

168#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
68.  โลกาภิวัตน์  (globalization)  โลกาภิวัตน์เป็นคำที่ใช้เพื่อบอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ววันนี้ที่เชื่อมโยงโลกที่กว้างใหญ่ให้กลายเป็นโลกใบเล็ก  (global village)  ที่ทุกอย่างถึงกันและสัมพันธ์กัน ทั้งการผลิต การบริโภค การสื่อสารและเทคโนโลยี   ก่อให้เกิดผล  ต่อสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม
       ความจริงปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาหลายร้อยปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อผู้คนเดินทางไปมาหาสู่ ค้าขายและครอบครอง วันนี้ที่แตกต่างคือความเร็ว ขนาดและความซับซ้อนของความสัมพันธ์และเครือข่ายต่าง ๆ ปริมาณ  ของการค้า  ขอบข่ายและความรุนแรงของการครอบงำปฏิสัมพันธ์และความเสี่ยงส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั้งโลก   เมื่อเกิดวิกฤติที่หนึ่งจึงกระเทือนไปทั้งโลก
       โลกาภิวัตน์เป็นกระแสโลกที่ทำให้ประเทศที่มีอำนาจมากกว่าทางเศรษฐกิจ  วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสามารถแพร่ขยายอำนาจอิทธิพลเหนือประเทศอื่น ๆ ที่ยากจนกว่าที่กำลังพัฒนา ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้อง  “ ขึ้นต่อ ”   มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา   ญี่ปุ่น  และสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะขยายธุรกิจข้ามชาติไปครอบคลุมทั้งโลกได้ ก็ยังสามารถขยายความคิด ความรู้ เทคโนโลยีผ่านระบบเศรษฐกิจ การค้า การศึกษา การสื่อสาร และอื่น ๆ ไปทั่วโลกอีกด้วย
       โลกาภิวัตน์เป็นโลกไร้พรมแดนที่เป็นอะไรมากกว่าการเข้าสู่สากล  (internationalization  หรือ universalization) เพราะมันก้าวข้ามความเป็นรัฐชาติ และมีมิติทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมอย่างชัดเจน   ดังที่ปรากฏในการค้าสากล การไหลเวียนระหว่างประเทศของทุน  การลงทุนระหว่างประเทศ  การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร การใช้อินเทอร์เน็ต  ดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ การเดินทางและการท่องเที่ยว  การเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ระบบสื่อสารที่ครอบคลุมทั้งโลก (สถานีและรายการข่าวสารบันเทิงทางโทรทัศน์) ระบบการเงินโลก การครอบครองและครอบงำเศรษฐกิจโลก   ของบรรษัทข้ามชาติซึ่งขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ
       จากผลกระทบต่าง ๆ ของโลกาภิวัตน์ได้เกิดมี  กระแสต้านโลกาภิวัตน์ (anti-globalization) ขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะขัดขวางโลกาภิวัตน์ทุกรูปแบบ เน้นโลกาภิวัตน์  ที่นำโดยรัฐบาลของบางประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศบางองค์กรอย่างธนาคารโลกไอเอ็มเอฟ องค์การค้าโลก (WTO) เป็นต้น ซึ่งผู้ต่อต้านเห็นว่าไม่ได้รับผิดชอบต่อประชาชนและประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศยากจนเพราะเน้นการให้ประโยชน์แก่ประเทศร่ำรวยและธุรกิจภาคเอกชนมากกว่า
       นอกจากนั้นวิชาการหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่าโลกาภิวัตน์ และไม่ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนั้นจริง  เพราะรัฐชาติเองก็ยังมีความสำคัญ พรมแดนระหว่างประเทศก็ มิได้ลบเลือนหายไปเพราะ สิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์แต่อย่างใด นักวิชาการเหล่านี้จึงเลือกใช้คำว่า กระแสสู่สากล  (internationalization) มากกว่าโลกาภิวัตน์

169#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
69.  ท้องถิ่นนิยม  (localism) ท้องถิ่นนิยมเป็นกระแสที่รวมเอาทั้งแนวคิด อุดมการณ์ และปรากฏการณ์ทางสังคมที่ชี้ให้เห็นคุณค่า ศักยภาพ และพลังของท้องถิ่นว่ามีอยู่อย่างเพียงพอ  เพื่อต่อสู้ยืนหยัดเป็นตัวของตัวเองในกระแสโลกาภิวัตน์ที่ครอบงำทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ทั้งโดยรัฐจากส่วนกลางและโดยประเทศมหาอำนาจผ่านทางบรรษัทข้ามชาติ  ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมที่เข้าไปถึงทุกชุมชนโดยไม่มีข้อยกเว้น
       ท้องถิ่นนิยมเป็นปรากฏการณ์ที่มีมานาน จะโดยรัฐเป็นผู้ก่อให้เกิดเพื่อการครอบงำ หรือท้องถิ่นเองเพื่อการปลดปล่อย  ( เช่น ขบถผีบุญ )  และยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้โดยเปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น  รัฐเองก็ใช้ท้องถิ่นนิยมในการปกครอง   เห็นด้วยกับเศรษฐกิจชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงนโยบายประชานิยมของรัฐอย่างกองทุนหมู่บ้าน  ธนาคารชุมชน ในนามของการส่งเสริมการเข้มแข็งของท้องถิ่นโดยรัฐลงไปดำเนินการเองโดยตรง  (ไม่ผ่านคนกลาง)
       ขณะที่กระแสการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในประเทศไทยค่อย ๆ ก่อตัวตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520  อย่างเป็นรูปธรรมในนามของวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาชาวบ้าน ความรู้ท้องถิ่น องค์กรและเครือข่ายชุมชน ซึ่งล้วนแต่เน้นกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง และชี้ให้เห็นศักยภาพของท้องถิ่น ซึ่งหากได้เรียนรู้และค้นพบทุนท้องถิ่นที่เป็นทั้งทรัพยากร ความรู้ภูมิปัญญา ทุนทางสังคมวัฒนธรรมแล้ว ก็จะสามารถลุกขึ้นมาจัดการชีวิตของตนเองโดยไม่ต้องนั่งรอ รัฐช่วย ถ้าจะช่วยก็ให้ไปเติมเต็มให้ชาวบ้านเท่านั้น
       ท้องถิ่นนิยมไม่ใช่การสร้างโลกแคบที่ปิดกั้นตนเองและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง  ไม่ใช่การหวนคืนสู่อดีต  แต่เป็นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น โดยการค้นหารากเหง้าและอัตลักษณ์ของ ตนเอง เรียกความมั่นใจให้กลับคืนมา และพัฒนาระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง อยู่อย่างพอเพียงและไม่วิ่งไล่ตามกระแสแบบไม่รู้เท่าทัน  ถูกครอบงำ  เป็นหนี้เป็นสิน  บ้านแตก  ชุมชนล่มสลาย
       กระบวนการรู้ตัวเองและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นกระบวนการที่เรียกกันวันนี้ ในภาษาอังกฤษว่า glocalization  (โลกาเทศาภิวัตน์ ) ซึ่งรวมเอาคำว่า global  (โลก)  และ  local  (ท้องถิ่น) เข้าด้วยกัน หรือหมายถึงการคิดให้ครอบคลุมเชื่อมโยงในกรอบใหญ่ทั้งหมด ทั้งโลก ( think globally )  และปฏิบัติให้เหมาะสมกับท้องถิ่น ( act locally )
       ที่จริงความหมายของคำว่า glocalization มักใช้หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่คิดสำหรับตลาดโลก แต่ทำให้เหมาะกับวัฒนธรรมท้องถิ่น  และหมายถึงการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างอินเทอร์เน็ต เพื่อเชื่อมโยงท้องถิ่นไปสู่โลกและโลกสู่ท้องถิ่น

170#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
70. ชุมชนนิยม (communitarianism)  ชุมชนนิยมเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก ในช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมา  ไม่กี่สิบปีมานี่เอง  ซึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อต้านแนวคิดแบบปัจเจกชนนิยม (individualism) รากฐานของเสรีนิยม และทุนนิยมแบบสุดขั้วที่เน้นการแข่งขัน กำไรสูงสุด ละเลยคุณธรรม ความเป็นมนุษย์   ที่ร่วมมือกัน  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  และอยู่ร่วมกัน  เป็นครอบครัวเป็นชุมชน
ชุมชนนิยมเป็นแนวคิดที่ช่วยให้ผู้คนหันหน้าเข้าหากัน มีเมตตาและสัมพันธ์อันดีต่อกันอย่างเป็นระบบและรูปธรรม  โดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ  ร่วมกันในแบบของสมาชิกชุมชน ทำให้มีครอบครัวอบอุ่น  เพื่อนบ้านช่วยเหลือกัน ไม่ใช่อยู่แบบตัวใครตัวมัน  ปัญหาความขัดแย้งลดลง ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา  ไม่ต้องรีบวิ่งหาทนายความขึ้นโรงขึ้นศาล หรือรีบไปหาจิตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างที่คุ้นเคย
แนวคิดชุมชนนิยมได้กลายเป็นนโยบายของพรรคการเมืองในสหรัฐฯ  และในสหราชอาณาจักร เกิดการส่งเสริมการก่อตั้ง  “ ชุมชน ”   ขึ้นทั่วไปโดยอาศัยองค์กรมืออาชีพ และเกิดเครือข่ายชุมชนขึ้นมาหลายรูปแบบ   ส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายทางอินเทอร์เน็ต  เกิดเป็นชุมชนเสมือนจริง (virtual community ) ขึ้นมาซ้อน  เชื่อมโยงสมาชิกชุมชนและระหว่างชุมชน  ที่มีลักษณะคล้ายกัน มีความสนใจ มีปัญหาและวัตถุประสงค์เดียวกัน  หรือคล้ายกัน
คำว่า  ชุมชนนิยมไม่นิยมใช้ในประเทศไทยเท่าใดนัก  มักใช้คำว่าท้องถิ่นนิยม หรือ วัฒนธรรมชุมชน  เพื่อบอกแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่น

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้