ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

100

[คัดลอกลิงก์]
171#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
71. วัตถุนิยม (materialism) วัตถุนิยมมีความหมายหลัก ๆ 2 อย่าง อย่างแรกที่ใช้กันทั่วไปหมายถึง  การให้ความสำคัญกับวัตถุสิ่งของ  เงินทอง  อำนาจเหนือสิ่งอื่นใด  เชื่อว่าเงินกับอำนาจสามารถซื้อหาจัดหาได้ทุกอย่างในชีวิต คนเหล่านี้ยกย่องบูชาเงินทองสิ่งของวัตถุเหนือจิตใจ เหนือคุณธรรม ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน รวมทั้งคดโกง หลอกลวง ไม่ซื่อสัตย์ คนเหล่านี้เชื่อว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง อำนาจเปลี่ยนได้ทุกอย่าง เปลี่ยนผิดให้เป็นถูก  เปลี่ยนชั่วให้เป็นดีก็ได้  เงินและอำนาจเนรมิตได้ทุกอย่าง
วัตถุนิยมในอีกความหมายหนึ่งเป็นปรัชญาสาขาหรือลัทธิหนึ่งซึ่งถือว่าวัตถุและพลังงานเท่านั้น ที่มีอยู่จริงในโลก  อย่างอื่นรวมทั้งเรื่องทางจิตก็อธิบายว่าเป็นระบบจิตประสาท ไม่มีอะไรอื่น
172#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
72.  วิสาหกิจชุมชน  (Small and Micro Community Enterprise - SMCE) วิสาหกิจชุมชน หมายถึง การประกอบการขนาดเล็กขนาดจิ๋ว ที่ชุมชนหรือองค์กรชุมชนร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดการทุน ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์เพื่อการพึ่งตนเอง อาจเป็นการผลิต การแปรรูป การจัดการตลาด ทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการบริการ เช่น  การท่องเที่ยว  สุขภาพ  สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการออมทรัพย์และการจัดสวัสดิการชุมชน
       วิสาหกิจชุมชนมีคุณลักษณะสำคัญอย่างน้อย  7  ประการ  คือ ชุมชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการหลัก ผลผลิตมาจากกระบวนการในชุมชน ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมโดยชุมชนมีฐาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับภูมิปัญญาสากลและอื่น ๆ มีลักษณะบูรณาการ  เชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ แบบเกื้อกูลกัน  มีการเรียนรู้เป็นหัวใจของกระบวนการทั้งหมด และมีการพึ่งตนเองเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการประกอบการ
       วิสาหกิจชุมชนมีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา ชุมชนดำเนินการเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองเป็นอันดับแรก แต่ก็สามารถดำเนินการสัมพันธ์กับตลาดได้ถ้าหากมีเหลือกินเหลือใช้ ได้เรียนรู้การจัดการซึ่งต้องเข้าสู่ระบบตลาดและแข่งขัน ใช้ความเป็นกลุ่มเป็นเครือข่ายของตนให้เป็นประโยชน์ในทางธุรกิจ(competitive advantage)  รวมทั้งการใช้ภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ดังที่ทำกันในนามของ โอทอป  (OTOP  –  One Tambon One Product) หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
วิสาหกิจชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองในครอบครัว  ในชุมชน  ในเครือข่าย  เป็นการประกอบการแบบพื้นฐาน  ขณะที่วิสาหกิจชุมชนที่เข้าสู่ระบบตลาดเรียกว่า วิสาหกิจชุมชนแบบก้าวหน้า
       วิสาหกิจชุมชนแบบพื้นฐานเป็นหลักประกันความมั่นคงของครอบครัวและชุมชน หากว่าเกิดปัญหาในวิสาหกิจชุมชนแบบก้าวหน้าก็จะไม่เสียหายมากนัก เป็นระบบข่ายความปลอดภัย (safety net)  เหมือนตาข่ายในการแสดงกายกรรมเหินเวหา  พลัดตกลงมาก็ไม่ถึงพื้น ไม่เจ็บ  ไม่ตาย แต่อาจจะ  “ ขายหน้า ”   บ้างเท่านั้น
วิสาหกิจชุมชนแตกต่างจากธุรกิจชุมชน เพราะวิสาหกิจชุมชนมีเป้าหมายให้  “ รอด ”  ไม่ใช่ให้  “ รวย ” อีกนัยหนึ่งดำเนินการเพื่อ  “ หวังอยู่ ”  ไม่ใช่ “ หวังรวย ”  มีความพอเพียง ความสุขเป็นเป้าหมายไม่ใช่ความร่ำรวย วัดกันด้วยดัชนีความสุข  ไม่ใช่วัดกันด้วยตัวเลขรายได้และกำไร  เอาชีวิต เอาครอบครัว ชุมชนเป็นตัวตั้ง  ไม่ใช่เอาตลาดเป็นตัวตั้ง ร่วมมือมากกว่าแข่งขัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มากกว่าการเอาชนะคู่แข่งอย่างเอาเป็นเอาตาย  วิสาหกิจชุมชนใช้ทุนของชุมชนเป็นหลัก ทั้งทุนทรัพยากร ความรู้ภูมิปัญญา  คน  แรงงาน  ทุน  ทางสังคมวัฒนธรรม ไม่ได้เน้นที่เงิน  และผลิตเพื่อตลาดท้องถิ่น มากกว่ามุ่งตลาดใหญ่ภายนอก

173#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
73.  วิสัยทัศน์ (vision) วิสัยทัศน์ คือภาพแห่งอนาคตในอุดมคติที่จินตนาการไว้เป็นเป้าหมายให้บรรลุ  วิสัยทัศน์เป็นภาพที่มีองค์ประกอบที่ชัดเจนไม่ใช่ความคิดลอย ๆ หรือความเพ้อฝัน  วิสัยทัศน์ที่ดีเป็นจินตนาการที่บรรจงวาดไว้อย่างประณีตสวยงาม มีพลังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอยากให้เป็นจริง  
       วิสัยทัศน์ที่ดีและมีพลังเกิดจากความรู้ความเข้าใจในอดีตและปัจจุบัน เป็นฐานให้สามารถสร้างและฉายภาพอนาคตที่โดนใจผู้คน ตอบสนองความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณของสังคม ความปรารถนาและความใฝ่ฝัน ความต้องการมีชีวิตที่ดีกว่า
       วิสัยทัศน์ที่ดีขององค์กรก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน วิสัยทัศน์ที่ดีทางการเมือง ทำให้ผู้คนเกิดความเชื่อมั่น เชื่อว่าจะเกิดชุมชนมั่งคั่ง สังคมมั่นคง
       คำว่าวิสัยทัศน์ (vision) มีที่มาจากคัมภีร์ทางศาสนาต่าง ๆ และคำสอนของผีบุญที่ล้วนแต่เสนอภาพสุดท้ายหรือนิมิต  ภาพในจินตนาการแห่งสังคมในอุดมคติที่เรียกว่า สังคม   พระศรีอาริย์ (Messianic Society)  และยุคพระศรีอาริย์  ( Messianic  Age )

174#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
74. ศักยภาพ (potential) หมายถึง ความสามารถที่ยังไม่พัฒนา หรือยังไม่พัฒนาเต็มที่ ศักยภาพเป็นพลังภายใน  พลังที่ซ่อนไว้หรือพลังแฝงที่ยังไม่ได้แสดงออกมาให้ปรากฏ  หรือออกมาบ้างแต่ไม่หมด เช่น  เมล็ดมะม่วง  มีศักยภาพที่จะโตเป็นต้นมะม่วงถ้าหากได้ดินดี  น้ำดี  แดดดี  ปุ๋ยดี  เด็กจำนวนมากมีศักยภาพที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเก่งถ้าหาก  ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี การศึกษาที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี
       ทางปรัชญา ศักยภาพ  (potential-potentiality )  ตรงกันข้ามกับคำว่า กรรตุภาพ หรือภาวะที่เป็นจริง (actual-actuality)  หรือเรียกกันด้วยภาษาง่าย ๆ ว่า ภาวะแฝง  (potential) กับภาวะจริง(actuality) ศักยภาพ  (ภาษาละติน potential)  เป็นภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้ เป็นไปได้ เกิดขึ้นได้ ตรงกันข้ามกับภาวะจริง (actus)  ซึ่งในปรัชญาตะวันตกตั้งแต่อริสโตเติลพูดถึงความสมบูรณ์ (perfection) ว่าเป็นภาวะความเป็นจริงที่บริสุทธิ์  actus  purus (pure action)  เปลี่ยนแปลงไม่ได้

175#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
75. เศรษฐกิจชุมชน หมายถึง ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีลักษณะเป็นองค์รวม คือไม่ได้มีแต่เพียงมิติทางเศรษฐกิจ  ตัวเลขรายได้   การผลิต การบริโภค  แต่เป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม วัฒนธรรม  สัมพันธ์กับวิถีชีวิต  ระบบคุณค่า
       เศรษฐกิจชุมชนไม่เน้นการแข่งขัน แต่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือ ไม่มีการผูกขาด เพราะชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน  ไม่ก่อให้เกิดความรวยกระจุกความจนกระจาย ตัวชี้วัดเศรษฐกิจชุมชน ไม่ใช่เพียงตัวเลข แต่ผสมผสานกับตัวชี้วัดทางสังคม ตัวชี้วัดการอยู่เย็นเป็นสุขของผู้คน
       ที่จริงเศรษฐกิจชุมชนที่มักถูกถือว่าเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ ทั้ง ๆ ที่ควรถือเป็นอีกระบบหนึ่งในตัวมันเอง ระบบนี้มีสัดส่วนแรงงานมากว่าครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ แต่เมื่อคิดเป็นรายได้ คงน้อยกว่าเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม ที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง และศูนย์กลางความเจริญ ซึ่งดึงเอาผู้คนจากชุมชน เข้าไปเป็นแรงงาน
       เศรษฐกิจชุมชนเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญในประเทศกำลังพัฒนา โดยทั่วไปแนวคิดนี้มีที่มาสำคัญอยู่อย่างน้อยสองทาง คือ แนวคิดของมหาตมะคานธีที่สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจหมู่บ้าน ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าหรือซื้อจากตลาด ลดรายจ่ายให้เหลือน้อย ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้  เน้นการพึ่งตนเอง ทำกินทำใช้เอง
       แนวคิดจากรัสเซีย ซึ่งเป็นขบวนการและกลายเป็นพรรคการเมือง (Social Revolutionaryพรรคสังคมปฏิวัติ)มีนักคิดสำคัญชื่อ เอ วี ชายานอฟ (1888-1939)ที่เห็นว่าชุมชนเป็นอีกระบบเศรษฐกิจหนึ่งที่สามารถจัดระบบให้พึ่งพาตนเองและเป็นรากฐานสำคัญให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้
       ในประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดี  พนมยงค์ ได้เสนอเศรษฐกิจสองส่วน  คือเศรษฐกิจรัฐและเศรษฐกิจสหกรณ์  แต่ยังไม่ได้เสนอแนวทางเชื่อมต่อระหว่างสองส่วนนี้ ขณะที่ทุนนิยมและมาร์กซิสต์เห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนเป็นเศรษฐกิจที่รอวันตาย จะค่อย ๆ ถูกผนวกเข้าสู่ระบบทุนในที่สุด  ระบบชุมชนจะสูญสลาย แรงงานครอบครัวจะกลายเป็นแรงงานรับจ้าง มนุษย์จะกลายเป็นแรงงาน เป็นเพียงปัจจัยผลิตหนึ่งของระบบทุน
       ประวัติศาสตร์ในประเทศกำลังพัฒนามิได้ยืนยันหรือพิสูจน์ความคิดนี้  รวมทั้งประเทศอย่างอิตาลีที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจครอบครัวและการประกอบการด้านการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมสามารถเจริญ  และขยายตัวเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้เป็นอย่างดี  จนอิตาลีกลายเป็นต้นแบบหนึ่งของการพัฒนา

176#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
76.  เศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economy) เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมานานกว่า 25 ปี และเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี  2540  พระองค์ก็ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้อยู่รอดและอยู่ได้ อย่างมั่นคงยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
“ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือ ความมีกินมีใช้ ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการ ที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้น มั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ” (พระบรมราโชวาทในพิธี พระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  19  กรกฎาคม   2517 )
“ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนอาคารไว้นั่นเอง  สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มและลืมเสาเข็มไปเสียด้วยซ้ำไป ” ( พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววารสารชัยพัฒนา)
“ การเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน  แบบพอมีพอกินหมายความว่า พอเพียงกับตัวเอง ” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  4   ธันวาคม 2540)
หลักของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางสายกลาง  คือพอประมาณ  ไม่ใช่อดอยากขาดแคลน  เป็นการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน มั่นคง และมีคุณธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปันกัน  ไม่ใช่มีมากเกินไป ไม่อยู่ในความฟุ่มเฟือยและความประมาท มีเหตุมีผลและมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
เศรษฐกิจพอเพียงมิได้หมายความว่าต้องทำกินทำใช้เองทั้งหมด  หากแต่ทำได้เพียงในสี่ก็เพียงพอ แต่มีการจัดการที่ดี เริ่มจากการพึ่งตนเองระดับครอบครัวไปสู่ระดับชุมชนจนเครือข่าย ทำงานเป็นองค์กรชุมชน  เป็นสหกรณ์ และไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงระดับชาติ จากเศรษฐกิจพื้นฐานไปสู่เศรษฐกิจแบบก้าวหน้า ทำธุรกิจการค้าอยู่ในโลกที่มีการแข่งขันได้อย่างมั่นคง เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การถอยหลังกลับไปอยู่ในยุคโบราณไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจยังชีพ (subsistent economy) ซึ่งผู้คนหาอยู่หากินกับธรรมชาติ ไม่มีการสะสม ซึ่งวันนี้เป็นไปไม่ได้เพราะสังคมได้เปลี่ยนไป ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ก็หมดไป  แต่เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นการสืบทอดคุณค่าของอดีต ที่สามารถจัดการชีวิตและพึ่งพาตนเองได้ สืบทอดคุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นการคิดใหม่ และจัดการใหม่ ต้องอาศัยความรอบรู้ ความระมัดระวัง อาศัยวิชาการในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจคุณธรรม เสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ  ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน  ความเพียร  มีสติปัญญาและความรอบคอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับ ให้สำนักในคุณธรรม  ความซื่อสัตย์สุจริต

177#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
77. สหกรณ์  (cooperative)  สหกรณ์ เป็นคำที่แปลจากภาษาอังกฤษว่า cooperation  แปลว่า การร่วมมือกัน หรือการทำงานร่วมกัน สหกรณ์หมายถึงการรวมกลุ่มเพื่อการดำเนินกิจการร่วมกัน เช่น  การผลิต  การบริโภค  การซื้อ  การขาย  การออม  การจัดการตามประเด็นต่าง ๆ โดยสมาชิกเป็น        เจ้าของกิจการ  จัดสรรผลประโยชน์จากกำไร   เพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่สมาชิก
สหกรณ์เกิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19  ขณะที่อุตสาหกรรมกำลังขยายตัว  มีโรงงาน มีแรงงาน มีนายจ้างซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ มีลูกจ้างซึ่งเป็นคนจน  จึงเกิดการรวมตัวกันเพื่อให้เกิดพลังในการจัดการชีวิตของตนเอง  โดยการสร้างระบบที่เป็นหลักประกันความมั่นคงและสร้างสวัสดิการให้ตนเอง และได้พัฒนาหลักการและรูปแบบการดำเนินงานที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ทั่วโลก คือหลัก 6  ประการของสหกรณ์  คือ

          1. การเข้าเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ

          2. การดำเนินงานแบบประชาธิปไตย(หนึ่งเสียงหนึ่งคน)

          3. การจ่ายเงินปันผลต่อหุ้น  ในอัตราจำกัด

          4. การจำแนกเงินส่วนเกิน

          5. การส่งเสริมการศึกษา

          6. ความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์

      สหกรณ์แห่งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 ชื่อว่าสหกรณ์วัดจันทร์ ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้สหกรณ์ตามกฎหมายมีอยู่ 6 ประเภท คือ       1. สหกรณ์การเกษตร

          2. สหกรณ์นิคม

          3. สหกรณ์ประมง

          4. สหกรณ์ร้านค้า

          5. สหกรณ์ออมทรัพย์

          6. สหกรณ์บริการ
      สหกรณ์แต่ละประเภทอาจแยกย่อยลงไปอีกก็ได้ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเกิดขึ้นตามอาชีพ เช่น ครู ทหาร ตำรวจ ข้าราชการต่าง ๆ แยกลงไปตามสถาบัน องค์กร หน่วยงาน มีสหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนียน หรืออย่างเช่นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในลักษณะของสหกรณ์   แต่มีขอบเขตที่จำกัดกว่า

178#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
78.  สวัสดิการชุมชน (community security)  สวัสดิการชุมชน หมายถึง กิจกรรมหรือระบบทีชุมชนร่วมกันคิดขั้นและร่วมกันจัดการ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ วันนี้และวันหน้า ระบบนี้นำเอาทุนของชุมชนมาใช้อย่างชาญฉลาด ก่อให้เกิดผลแบบยั่งยืนสำหรับตนเอง และลูกหลานวันหน้า  ทั้งทรัพยากร  ความรู้ภูมิปัญญา  เงิน  ผลผลิต  รวมทั้งทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรม
      การจัดระบบสวัสดิการเกิดจากการอนุรักษ์ การออมทุนและทรัพยากรของชุมชน แล้วเอาผลจากการออมและการบริหารจัดการมาใช้ตอบสนองความจำเป็นของชีวิต  เช่น  การนำผลกำไรจากการออมทรัพย์ของชุมชน   มาเป็นค่ารักษาพยาบาล ช่วยสมาชิกเมื่อได้รับภัยพิบัติ  เช่น  บ้านเรือนไร่นาเสียหายจากพายุ  น้ำท่วม  ไฟไหม้   เป็นทุนการศึกษาบุตรหลาน  เป็นทุนฉุกเฉิน  เป็นบำเหน็จบำนาญให้สมาชิก โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นกรรมการและทำงานเพื่อส่วนรวม  เป็นต้น
       การจัดระบบสวัสดิการยังรวมความไปถึงการจัดการวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ  แล้วนำผลกำไร ส่วนหนึ่งมาจัดเป็นสวัสดิการให้สมาชิกและชุมชน รวมทั้งการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ  ป่า สิ่งแวดล้อมให้เป็นสวัสดิการ  คือให้ตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานไม่ใช่เพื่อการค้า  การหากำไร  ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากร  อันเป็นทุนพื้นฐานของชุมชน  ดังที่เกิดขึ้นทั่วไปเมื่อทุกฝ่ายไปเอาประโยชน์  นำไปขาย  ไม่ใช่ใช้อย่างพอเพียง   เพื่อความจำเป็นพื้นฐาน จัดการให้เป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ให้เป็นธุรกิจ
       บางชุมชนอย่างบ้านนาหว้า  อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  จัดระบบสวัสดิการชุมชนโดยการ ทำกลุ่มออมทรัพย์และตั้งกองทุนสวัสดิการเกือบ 100  กองทุน เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความจำเป็นของชีวิตให้ชุมชน  กองทุนเหล่านี้มีตั้งแต่กองทุน โต๊ะ  เก้าอี้  ถ้วยชาม  ช้อนส้อม  เครื่องครัว        ไปจนถึงอุปกรณ์ในงานแต่งงาน งานบวช  งานศพ  ร้านค้า โรงสี กองทุนสวัสดิการเด็ก  สตรี  คนชรา ฯลฯ  ให้สมาชิกนำสิ่งของเหล่านี้ไปใช้โดยเสียค่าเช่าแค่เพียงเล็กน้อย เพียงเพื่อบำรุงรักษาและซื้อใหม่ มาทดแทนของเก่า ให้สมาชิกได้รับการอุดหนุน  เพื่อดำเนินกิจกรรมบางอย่าง เช่น อุดหนุนการเกษตรให้คนชราเป็นแรงจูงใจให้ปลูกพริกปลูกผักไว้กินในครอบครัว  เป็นต้น
179#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
79. องค์รวม  (holistic)  เป็นแนวคิดที่อธิบายว่า  ทั้งหมดของสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดจากส่วนต่าง ๆ ที่สัมพันธ์  และขึ้นต่อกัน อย่างไรก็ดี  องค์รวมเป็นอะไรที่ใหญ่กว่า  มากกว่า  และใหม่กว่าแค่การเอา  ส่วนประกอบต่าง ๆ   มารวมกันหรือบวกกัน   ( the whole is more than the sum of all parts )
แนวคิดแบบองค์รวมอธิบายว่า คุณสมบัติของระบบไม่อาจกำหนดได้หรืออธิบายได้โดย   เอาส่วนประกอบทั้งหมดมารวมกัน ชีวิตของคนเป็นองค์รวมที่ไม่อาจอธิบายหรือเข้าใจได้ โดยพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ แบบ    แยกส่วนแล้วเอามารวมกัน ชีวิตเป็นระบบ เป็นสายใย   ที่เชื่อมโยง เป็นข่ายที่สัมพันธ์กันหมด ก่อให้เกิดความเป็นจริงที่เรียกว่าชีวิต องค์รวมเป็นทั้งหมด   ทีแบ่งแยกมิได้ เพราะถ้าหากแบ่งแยกก็ไม่มีความเป็นจริงที่เป็นอะไรที่ใหญ่กว่าส่วนต่าง ๆ  มารวมกัน แยกอวัยวะต่าง ๆ  ออกจากกัน คนก็ตาย  ไม่ใช่คนอีกต่อไป
       ความคิดที่เป็นระบบ ( systems thinking )  จึงประกอบด้วย ความคิดรวบยอด ( concepts )  ที่เป็นองค์รวมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น องคาพยพ  ( organism )  บูรณาการ ( integration )  ผนึกพลัง  ประสานพลัง หรือสังเคราะห์พลัง  ( synergy )  และอื่น ๆ
แนวคิดองค์รวมตรงกันข้ามกับ  แนวคิดแบบลดทอน ( reductionism )  หรือแยกส่วน ซึ่งวิทยาศาสตร์แบบกลไกใช้กันมาหลายร้อยปีและยังมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน  การลดทอนหมายถึงการทำให้ความเป็นจริงลดลงมาเหลือแค่เรื่องเดียวที่อธิบายได้ในตัวมันเอง การแพทย์แผนปัจจุบันกระแสหลักเป็นตัวอย่างของการลดทอน  โดยพิจารณาโรคแบบแยกส่วน  อย่างโดดเดี่ยวเป็นเรื่อง ๆ แล้วรักษา แบบแยกส่วน  ไม่ได้พิจารณา  “ คน ”  แต่พิจารณา  “ โรค ”  พิจารณาอวัยวะส่วนหนึ่งเท่านั้น
       องค์รวมเป็นแนวคิดดั้งเดิมของปรัชญาตะวันตก  และตะวันออก  แต่เมื่อผ่านไปหลายศตวรรษ ตะวันตกค่อย  ๆ  แยกส่วนความคิดและพัฒนามาถึงที่สุดในยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์  ปฏิวัติอุตสาหกรรมในสามร้อยปีที่ผ่านมา  ขณะที่ปรัชญาตะวันออก  ปรัชญาฮินดู  พุทธปรัชญา  ปรัชญาจีน  เต๋า  เซน ล้วนแต่พูดถึงสัจธรรมที่เป็นองค์รวม สอดคล้องกับฟิสิกส์สมัยใหม่  ที่เห็นความสัมพันธ์แบบองค์รวมของ สรรพสิ่ง และเห็นความคล้ายและเหมือน  ระหว่างปรัชญาตะวันออกและฟิสิกส์สมัยใหม่  ซึ่งเข้าใจเหมือนกันว่า   “ เด็ดดอกไม้ดอกเดียวกระเทือนถึงดวงดาว ”

180#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
80. อัตลักษณ์  (identity) อัตลักษณ์ หมายถึง สำนึกว่าเราเป็นใคร และเราแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร มีลักษณะเฉพาะอะไรบ้าง รวมทั้งคนอื่นมองว่าเราเป็นใคร  ซึ่งนักวิชาการบางคนอธิบายว่าเป็นการสร้างขอบเขตของบุคคล เพื่อการแสดงออกถึงอำนาจหรือการได้มาซึ่งอำนาจ
      ความหมายของคำว่าอัตลักษณ์มีมากมาย ขึ้นอยู่กับสำนักปรัชญาหรือสาขาวิชาไหน ปรัชญาเอ็กซิสเทนเชียลิสม์  ( Existentialism )  ที่เกิดขึ้นระยะร้อยปีเศษที่ผ่านมาเน้นการค้นหาตัวตนการเป็นตัวของตัวเอง การเป็นอิสระจากสิ่งที่ประเพณีกำหนด  คนเป็นใครไม่ได้อยู่ในคัมภีร์ ไม่ได้อยู่ที่นิยามของนักปรัชญา  ( “ คนคือสัตว์ที่มีเหตุผล ”  คนคือบุตรของพระเจ้า ” ฯลฯ ) คุณเป็นใครคือการตัดสินใจของคุณ การเลือกของคุณเองต่างหาก   ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะด้านหนึ่งคุณถูกกำหนดและครอบงำจากประเพณีความเชื่อที่สืบทอดกันมาเป็นพัน ๆ ปี อีกด้านหนึ่ง  คุณถูกครอบงำจากโลกยุคใหม่ที่สร้างวัฒนธรรมมวลชนขึ้นมา คุณเป็นตัวของตัวเองยาก คุณเป็นอะไร  ที่สื่อมวลชนกำหนดตลาดและผู้ผลิต  สินค้ากำหนด  ชีวิตคุณถูกสังคมสมัยใหม่กำหนด  คุณกลายเป็นเหมือนสินค้า  ที่ถูกส่งไปตามสายพานโรงงานอุตสาหกรรม  ( “ สายพานชีวิต ”  โดยผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม )
      นิทเช่  ( 1944-1900 )  นักปรัชญาชาวเยอรมันประกาศว่า “พระเจ้าตายแล้ว” นักปรัชญายุคหลังทันสมัย   หรือที่เรียกกันว่าโพสต์โมเดิร์นบางคนพูดถึงคน  ตัวตน อัตลักษณ์ ว่าไม่มีจริง  ในตัวมันเอง คล้ายจะประกาศว่า  “ มนุษย์ตายแล้ว ”    “ ตัวตนตายแล้ว ”   อัตลักษณ์เป็นความสัมพันธ์กับคนอื่น          คุณเป็นใครไม่ได้อยู่ในตัวคุณ  แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์กับคนอื่น  อยู่ที่ว่าคุณเป็นลูกใครหลานใคร  มาจากบ้านไหนเมืองไหน  เชื้อสายอะไร  สัญชาติอะไร  เรียนที่ไหน  รุ่นไหน  มีลูกกี่คน ทำงานที่ไหน บ้านอยู่แถวไหน  ไปวัดทำบุญที่ไหน  สังกัดศาสนาไหน
     ปรัชญาแนวนี้ถือว่าอัตลักษณ์ไม่ใช่อะไรที่เกิดมาพร้อมกับคน แต่เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมา    สร้างภาษา   ให้คนพูด  “ ฉัน ”   ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ใช่ภาววิสัย  ( objective )  เป็นอะไรที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรม  ไม่มีบุคคล  ไม่มีปัจเจกบุคคล หรือตัวตน มีแต่อัตลักษณ์หลากหลายของคนซึ่งสัมพันธ์กับ บทบาททางสังคม  เช่น  “ ผมเป็นอาจารย์ เป็นพ่อ เป็นแฟนฟุตบอล ”  แต่ละบทบาทเป็อัตลักษณ์แตกต่างกันที่สังคมกำหนดให้ผมเป็นผมที่แตกต่างกันในแต่ละบทบาท

      นิยามเหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกันระหว่างนักคิด  นักปรัชญา  นักวิชาการ  เป็นเสรีภาพที่แต่ละคนสามารถค้นหาคำตอบที่ตนเองพอใจ  และเห็นว่านำมาอธิบายหรือสร้างความเข้าใจในชีวิตแก่ผู้คนในยุคสมัยนี้ที่มีความสับสน  ที่ผู้คนต่างก็ค้นหา   “ ตัวตน ”  หรือ  อัตลักษณ์ ”   ไม่ว่าจะรับหรือปฏิเสธว่ามันมีอยู่หรือไม่มี  มีอยู่อย่างไร  และทำไม
      ในทางสังคมวัฒนธรรม  อัตลักษณ์เป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของคน และชุมชน ซึ่งสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมกระแสหลัก และของผู้มีอำนาจมากกว่า การพัฒนาแนววัฒนธรรมชุมชน  หรือท้องถิ่นนิยมพูดถึงการพัฒนาว่าเป็นกระบวนการ  “ คืนสู่รากเหง้า ” สืบค้นหาตัวตนและอัตลักษณ์ที่ถูกลืม   ถูกครอบงำ ให้ฟื้นคืนมาเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งตนเอง  ให้คืนความเชื่อมั่นและการเคารพตนเอง  ความรู้ภูมิปัญญาและจารีตประเพณีอันดีงาม

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้