ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

100

[คัดลอกลิงก์]
141#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
40. ทุนชุมชน  ทุนทางสังคม  (social  capital) ทุนชุมชน  เป็นคำที่ยืมคำว่า  “ ทุน ”  มาจากเศรษฐศาสตร์  เพื่อบอกถึงทั้งสิ่งที่เป็นมูลค่าที่นับเป็นเงินมิได้  แต่มีความหมายต่อชีวิตของผู้คนเป็นอย่างยิ่ง  หมายถึงทุนทรัพยากรรวมทั้งทรัพยากรที่ชุมชนก่อให้เกิดหรือผลิตขึ้น เช่น  ปัจจัยสี่  รวมถึงเงินและสินทรัพย์อื่น ๆ  ความรู้ภูมิปัญญา  ประสบการณ์ชีวิตของผู้คนทุนทางสังคมและวัฒนธรรม
      ทุนทางสังคม  เป็นคำที่มีคนให้ความหมายหลากหลาย  หมายถึง  “ สถาบัน ความสัมพันธ์ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม ”  (ธนาคารโลก)  หรือหมายถึง  “ กฎเกณฑ์  ระเบียบ  ข้อบังคับ  ความไว้ใจกัน  ซึ่งอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคม  โครงสร้างทางสังคมและสถาบันทางสังคมซึ่งช่วยให้สมาชิกบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเองและของชุมชน ”  (นารายัน)  หรือ  “ ลักษณะขององค์กรทางสังคม เช่น ความไว้ใจกัน  ระเบียบกฏเกณฑ์และเครือข่ายซึ่งช่วยให้สังคมมีประสิทธิภาพและทำให้ประสานการดำเนินงานต่าง ๆ ได้ ”   (พุตนัม)  หรือ  อาจจะกล่าวสั้น ๆ ว่า  ทุนทางสังคมคือระเบียบ  กฏเกณฑ์  วิถีที่ร้อยรัดผู้คนให้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน  เป็นเครือข่าย เป็นสังคม ที่ไว้ใจกัน พึ่งพาอาศัย  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ด้วยวิธีการและรูปแบบทั้งเก่าและประยุกต์สร้างสรรค์ใหม่
142#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
41.  ทุนทางวัฒนธรรม (cultural  capital)  หมายถึง  คุณค่า  ค่านิยมของสังคมที่แสดงออกทางจารีตประเพณี  วิถีชุมชนที่มีรากฐานจากความรู้  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  รวมถึงความรู้และภูมิหลังของบุคคล  ซึ่งมีที่มาจาก   “ ตระกูล ”   “ เผ่าพันธุ์ ”  สถานภาพทางสังคม   (ชนชั้น)  เช่น  นามสกุลของบางคน  ตำแหน่ง  สถานภาพทางสังคม  การมีดีกรีทางการศึกษาก็ทำให้คนนั้นได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป  ตั้งแต่ต้นแล้ว
การเป็นฝรั่งในสายตาของคนไทยหลายคนถือว่าเป็น   “ ทุนทางวัฒนธรรม ”   สตรีไทยจำนวน ไม่น้อยอยากแต่งงานกับฝรั่ง   คนจากต่างจังหวัดเข้ามาหางานทำในกรุงเทพ ฯ  มักจะทำงานที่มีคนบ้านเดียวกันทำงานอยู่ก่อนแล้วอาศัยเป็น  “ ทุน ”  เพื่อให้นายจ้างรับเข้าทำงานคนบ้านเดียวกันแนะนำหรือ        “ รับรอง ”   เช่น  คนขับแท็กซี่มากกว่าครึ่งหนึ่งในกรุงเทพ ฯ  มาจากจังหวัดร้อยเอ็ด  คนจีนไปอยู่ที่ไหนก็ช่วยเหลือกัน  การเป็นคนจีนจึงเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
ความรู้ในการทำอาหารไทย  ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร  การนวดแผนโบราณ  งานหัตถกรรมต่าง ๆ เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ

143#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
42. ทุนเฉพาะบุคคล  ( individual  capital )  คือคุณสมบัติเฉพาะของบุคคล  เช่น  ทักษะ ความคิดสร้างสรรค์  ความกล้าหาญ  คุณธรรมต่าง ๆ บารมี  สติปัญญา  การค้นคิดประดิษฐ์  ความสามารถเฉพาะตัวในการทำงาน  ความเป็นผู้นำ  เหล่านี้เป็นอะไรที่มักจะถ่ายทอดไปสู่คนอื่นโดยตรงไม่ได้ถ้าหากถ่ายทอดได้เป็นรูปธรรมอาจจะเรียกว่า  ทุนทางปัญญา

144#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
43. ทุนทางปัญญา  ( intellectual  capital )  หรือทุนความรู้  (knowledge  capital)  ซึ่งก่อให้เกิดผลงาน  สิ่งสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมต่าง ๆ  กลายเป็น   “ ยี่ห้อ ”   “ แบรนด์ ”  กลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมและทุนหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจ  ทุนทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอาจเรียกโดยรวมว่า ทุนมนุษย์    (human  capital)

145#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
44. สัญญาประชาคม  (social  contract)  หมายถึง  ข้อตกลงภายในรัฐที่ว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของรัฐและพลเมือง  หรือ  ในความหมายทั่วไปหมายถึงข้อตกลงว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบระหว่างกลุ่มและสมาชิก  โดยปกติถือกันว่าสมาชิกทุกคนในสังคมย่อมยอมรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในลักษณะของสัญญาประชาคมโดยปริยายเมื่อตนเองอยู่ในสังคมนั้น ๆ
คำว่าสัญญาประชาคมมาจากปรัญชาตะวันตกในยุคใหม่มีหลายคนที่พูดถึงคำนี้และเป็นพื้นฐานของกฏหมายมหาชน  เช่น  โธมัส  ฮอบส์ ,  จอห์น  ล็อค  ชาวอังกฤษ  และที่มีอิทธิพลมากที่สุด  คือ  ฌอง  ฌัค   รุสโซ   นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง  “ สัญญาประชาคม ”  เมื่อกลางศตวรรษที่  18  ต่อมามีการนำคำว่าสัญญาประชาคมไปใช้อย่างสับสน  โดยมักใช้แทน   “ คำสัญญา ”  ที่นักการเมือง  ผู้บริหารให้ไว้กับประชาชนบ้าง  หรือเป็นพันธกิจที่นักการเมืองประกาศไว้  เป็นต้น

146#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
45. ธรรมาภิบาล  (good  governance)  ธรรมาภิบาลเป็นคำที่นิยมใช้กันมากเมื่อไม่นานมานี้  โดยองค์การสหประชาชาติด้านการพัฒนา  (UNDP)  เริ่มใช้คำนี้อย่างสัมพันธ์กันและเพื่อเป็นเงื่อนไขสำคัญของ   “ การพัฒนายั่งยืน ”   (sustainable  development)  โดยขยายความจากคำว่า   “ อภิบาล ”       (governance)  ซึ่งสัมพันธ์กับคำว่า  รัฐบาล  (government)  และผู้อภิบาล  ผู้ว่าการ  ผู้ว่าราชการ (governor)  ในขณะที่คำว่า  อภิบาล  หมายถึง  กระบวนการและระบบซึ่งรัฐบาลและผู้อภิบาลนำมาใช้
ธรรมาภิบาลเป็นกระบวนการตัดสินใจหรือการกำหนดนโยบาย  และกระบวนการนำการตัดสินใจนั้นหรือนโยบายนั้นไปสู่การปฏิบัติ  โดยเฉพาะสถาบันสาธารณะทั้งหลายที่ดำเนินงานเพื่อสาธารณะ  บริหารทรัพยากรของส่วนรวม  และดูแลให้เกิดความเคารพในสิทธิมนุษยชน  ธรรมาภิบาลเป็นการดำเนินการที่ปลอดการคอร์รัปชั่น  และเคารพต่อกฎหมาย
ธรรมาภิบาลมีอยู่สามฐาน  คือ  เศรษฐกิจ  การเมือง  และการบริหารจัดการ  เกี่ยวข้องกับทุกระดับของรัฐบาลและราชการ  และรวมความถึงประชาสังคมอันเป็นกลไก  กระบวนการและสถาบัน  ซึ่งพลเมืองและกลุ่มต่าง ๆ แสดงออกถึงผลประโยชน์และดำเนินการตามสิทธิ์ของตนเอง
ธรรมาภิบาลด้านเศรษฐกิจเป็นกระบวนการตัดสินใจที่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศและความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจอื่น ๆ ส่งผลต่อความเท่าเทียม  ความยากจน  และคุณภาพชีวิตธรรมาภิบาลด้านการเมือง  คือกระบวนการตัดสินใจในการสร้างนโยบาย  ธรรมาภิบาลด้านการบริหาร จัดการ  คือการดำเนินการตามนโยบายนั้น
ธรรมาภิบาล  หรือการอภิบาลที่เป็นธรรม  มีลักษณะสำคัญ  9  ประการ  คือ
1.การมีส่วนร่วม  ( participation )  ชายและหญิงทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  กำหนดนโยบายโดยตรงหรือผ่านสถาบันที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ของพวกเขา ให้คนมีสิทธิรวมตัวกันและแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี
2.หลักนิติธรรม  (  rule  of  law )  มีกรอบกฎหมายที่ดีและมีการบังคับใช้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง  เคารพสิทธิมนุษยชน  โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย
3.ความโปร่งใส  (  transparency )  ความโปร่งใสในการไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลข่าวสาร  คนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงกระบวนการ  สถาบันและข้อมูลข่าวสาร  มีการให้ข้อมูลข่าวสารเพียงพอเพื่อเข้าใจและติดตามตรวจสอบ
4.การตอบสนอง  ( responsiveness )  สถาบันและกระบวนการรับใช้ผู้มีส่วนได้เสีย( stakeholders )   ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
5.มติร่วม  ( consensus )  ธรรมาภิบาลเป็นตัวกลางประสานความสนใจและผลประโยชน์ที่ แตกต่างหลากหลายให้บรรลุจุดร่วมเป็นมติร่วม  ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
6.ความเท่าเทียม  ความเสมอภาค  ความเป็นธรรม  ( equity )  ทุกคนมีส่วนไม่มีใครถูกกีดกันออกไปจากสังคม  โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในสภาวะลำบากยากแค้นและอันตราย  ให้พวกเขามีโอกาสพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง
7.ประสิทธิผล ( effectiveness )  และประสิทธิภาพ  ( efficiency )  กระบวนการและสถาบันตอบสนองความต้องการของสังคมโดยการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างดีที่สุด  รวมไปถึงการใช้อย่างยั่งยืนและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
8.ความรับผิดชอบ  (accountability)  มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะและผู้มีส่วนได้เสียที่ เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจหรือนโยบายและการปฏิบัติงาน
9.วิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์  (strategic  vision)  ผู้นำและสาธารณะมีโลกทัศน์และชีวิทัศน์ที่กว้างไกลเกี่ยวกับการพัฒนาและธรรมาภิบาล  เข้าใจรากเหง้าที่มาทางสังคมวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานของสังคม
147#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
46.  นวัตกรรม  ( innovation )  นวัตกรรมเป็นกระบวนการนำความคิดใหม่  ปัจจัยใหม่  สินค้าใหม่  การบริการใหม่  การปฏิบัติใหม่เข้าสู่ปฎิบัติการของหน่วยงานองค์กร  บริษัท  สถาบัน  เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือการเปลี่ยนแปลงที่ให้คุณแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในสังคมวงกว้าง  ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรใหม่เอี่ยมทั้งหมด  แต่อาจเป็นเพียงบางส่วน  ซึ่งต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนา  หรือเกิดการท้าทายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
คำว่านวัตกรรมยุคนี้มีแนวโน้มไปสู่ความหมายของการเปลี่ยนแปลงในทางบวกมากขึ้น เป็นเรื่องการค้นหาเทคโนโลยีใหม่  วิธีการใหม่  เช่น  นวัตกรรมทางการศึกษา  การเรียนรู้  การอนุรักษ์ พลังงานสิ่งแวดล้อม  การพัฒนายั่งยืน  ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน    ที่ไม่มุ่งแต่เพียงการเติบโตทางตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียว  แต่เน้นคุณภาพชีวิต
นวัตกรรมที่โดดเด่นต่าง ๆ มักเป็นผลของการวิจัยและพัฒนา  (R & D)  แต่ก็มีจำนวนไม่น้อย ที่เกิดจากการปฏิบัติ  การปรับเปลี่ยนที่มาจากการสรุปบทเรียน  การสังเคราะห์ความรู้จากประสบการณ์และนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องทางเทคโนโลยีเสมอไป  อาจเป็นวิธีปฏิบัติ  แนวทางในการบริหารจัดการได้
นวัตกรรมทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นักเศรษฐศาสตร์โจเซฟ  ชุมเปเตอร์ (Joseph   Schumpeter )   เรียกว่า  การทำลายที่สร้างสรรค์

148#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
47.  การทำลายที่สร้างสรรค์  ( creative  destruction )  หมายความว่า  นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นทำให้เทคโนโลยีเก่ากลายเป็นเรื่องล้าสมัย  ตายไป  ตกยุค  หมดยุค  ใช้ไปก็ ไม่คุ้มค่าคุ้มทุนประสิทธิภาพก็น้อยกว่า  เทคโนโลยีใหม่ ๆ  รวมความถึงกระบวนการใหม่  ผลิตภัณฑ์และสินค้าใหม่  การขนส่งใหม่  การจัดองค์กรใหม่  ตลาดใหม่  สถาบันใหม่  เป็นต้น  
ชุมเปเตอร์เป็นเจ้าของแนวคิดที่ว่า หลักสำคัญของทุนนิยมไม่ใช่การแข่งขันซึ่งควบคุมด้วย “ มือที่มองไม่เห็น ”  ( invisible  hand  ตามแนวคิดเรื่องการแข่งขันของอดัม  สมิธ )  แต่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างหาก

149#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
48.  นโยบายสาธารณะ (public  policy)  คำว่านโยบายสาธารณะใช้กันบ่อยขึ้นในสังคมไทยในระยะหลัง  ๆ นี้  แต่ที่จริงก็ใช้กันมาในระดับสากลตั้งแต่ต้นศตวรรษที่  20  เพื่อบอกถึง  “ สิ่งที่รัฐบาล             ตัดสินใจทำหรือไม่ทำ ”  เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของส่วนรวมนโยบายสาธารณะในความหมายดั้งเดิมนี้จึงหมายถึงทั้งกฏหมายยุทธศาสตร์  แผนงานและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏในแผนการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ
นโยบายสาธารณะในระยะหลัง ๆ  นี้มีความหมายที่กว้างออกไปครอบคลุมถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติของรัฐบาล  ของพรรคการเมืองรวมทั้งของประชาสังคมและภาคเอกชนที่มีผลกระทบต่อส่วนรวมหรือต่อสาธารณะ  นโยบายสาธารณะในที่นี้จึงเป็น  “ ทิศทางหรือแนวทางที่สังคมโดยรวมเห็นว่าหรือเชื่อว่าควรดำเนินไป ”
พัฒนาการของความหมายเกิดขึ้นพร้อมกับพัฒนาการของประธิปไตย  การมีส่วนร่วมของ ประชาชนในการกำหนดนโยบายการออกกฎหมาย  การจัดการทรัพยากร  ( ดิน น้ำ  ป่า )  การศึกษา สุขภาพ  เศรษฐกิจ  การพัฒนาในประเด็นและปัญหาเฉพาะต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของ ผู้คนในสังคม

150#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ด้วยเหตุนี้กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะจึงเป็นเรื่องสำคัญ  ถ้าหากทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นก็ควรจะได้นโยบายสาธารณะที่ดี  ที่ตอบสนองประโยชน์ของทุกฝ่าย  ไม่มีใครใช้อำนาจครอบงำเพื่อเอาประโยชน์เป็นส่วนตนมากกว่าส่วนรวม  ไม่ใช่  “ รวบรัด ”    หรือ   “ งุบงิบ  ”  กันทำไม่กี่คนแล้วไปเกณฑ์คนมายกมือ  โดยอ้างว่าเป็นการทำประชาพิจารณ์   แล้วนำเสนอแบบ   “ หมกเม็ด ”   มีผลประโยชน์แอบแฝง    หรือผลประโยชน์ทับซ้อน  ( conflict  of  interest )  นโยบายเหล่านี้มักขาดหลักฐานทางวิชาการให้โอกาสคนบางกลุ่มและละเลยผลประโยชน์ของส่วนรวม  ไม่มีการประเมินผลกระทบและตรวจสอบอย่างเป็นวิชาการก่อนการดำเนินการอาจจะมีก็ต่อเมื่อได้  ดำเนินการไปแล้ว  จึงมักเป็นการดำเนินการที่บิดเบือนเพื่อสนับสนุนมากกว่าคัดค้าน
ในความเป็นจริง นโยบายสาธารณะของสังคมไทยเกือบทั้งหมดออกมาจากฝ่ายการเมือง ฝ่ายรัฐบาล  ฝ่ายราชการ  รัฐธรรมนูญ ฯ  พ.ศ.  2540  เขียนไว้ในมาตรา  76  ว่า  “ รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง  การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการเมืองรวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ  ”

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้