ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

100

[คัดลอกลิงก์]
151#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
49.  บริโภคนิยม  ( consumerism ) บริโภคนิยมเป็นคำที่ใช้กันทั้งทางวิชาการและในทางสังคมทางวิชาการหมายถึงทฤษฎีที่บอกว่า  ยิ่งมีการบริโภคมากขึ้นเพียงใดก็ยิ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
ทางสังคมมีการใช้คำนี้ค่อนไปในทางลบเพื่อบอกถึง  “ ลัทธิบริโภคนิยม ”  หรือที่บางคน เรียกว่า  “ ลัทธิบ้าบริโภค ”  กลุ่มคนที่ใช้คำนี้ในทางลบเป็นขบวนการปกป้องผู้บริโภคจากการเอาเปรียบ  ล่อลวงหลอกลวง  และครอบงำของผู้ผลิตที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง  ใช้เครื่องมือสื่อสารโดยเฉพาะสื่อมวลชนในการโฆษณาชวนเชื่อทำให้ผู้คนหลงใหลอยากได้อยากมีมากขึ้น  โดยไม่เกี่ยวกับการ  “ เป็นคนมากขึ้น ”  ตรงกันข้ามอาจจะน้อยลงเสียอีก  เพราะถลำเข้าไปในวงจรของหนี้สิน  ซึ่งกู้ยืมมาเพื่อการบริโภค  ลงลึกจนถอนตัวไม่ขึ้นเกิดปัญหาชีวิต  ปัญหาครอบครัวและสังคม
ลัทธิบริโภคนิยมตอบสนองกิเลสมนุษย์  ทำให้ผู้คนเห็นว่าการมีบ้านหลังใหญ่  รถยนต์คันโต  แก้วแหวนเพชรนิลจินดา  สิ่งของมีค่าราคาแพง  มียี่ห้อเป็นที่นิยม  เป็นการสร้างสถานภาพทางสังคม ให้ตัวเอง ทำให้ได้รับการยอมรับนับหน้าถือตาว่าเป็นผู้ดีมีเงิน
ลัทธิบริโภคนิยมมาพร้อมกับวัตถุนิยม (materialism) ในความหมายพื้นฐานซึ่งหมายถึงลัทธิคำสอนหรือทฤษฎีที่อ้างว่าความสุขกายภายนอกและการมีข้าวของของโลกเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดและเป็นคุณค่าสูงสุดของชีวิต
152#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
50.  บูรณาการ  ( integration )  ตามรากศัพท์  คำว่า  บูรณะ  แปลว่าทำให้เต็ม  ทำให้สมบูรณ์ การทำให้สิ่งที่ขาดอยู่สมบูรณ์  การนำหน่วยย่อยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันผสานกันเข้าอย่างกลมกลืน สมดุลลงตัว สามารถดำรงอยู่และดำเนินไปได้ในภาวะที่เป็นองค์รวมหนึ่งเดียวที่ครบถ้วนสมบูรณ์ บูรณาการหรือกระบวนการทำให้สมบูรณ์มักเกี่ยวกับการ  พัฒนา  การศึกษา  สาธารณสุข   เพื่อตอบสนองชีวิต  ตอบสนองชุมชนและสังคมซึ่งเป็นองค์รวมที่บ่งแยกมิได้  การเอาชีวิต  เอาคนเอาชุมชนและความเป็นจริงเป็นเป้าหมายหรือเป็นตัวตั้งจึงต้องหาวิธีการที่ตอบสนองแบบบูรณาการจึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริงนั้น
บูรณาการเป็นกระบวนการที่รอบด้าน  ไม่ใช่แต่เพียงด้านหนึ่งด้านเดียวโดยแยกออกจากความ เป็นจริงทั้งหมด  เช่น  การศึกษา  แบบบูรณาการตอบสนองพัฒนาการของคนอย่างรอบด้าน  ทั้งทางกาย  ทางสังคม  ทางอารมณ์  ทางปัญญา  สุขภาพดีไม่ใช่แค่การไม่มีโรค  แต่หมายถึงสุขภาวะทางกาย  จิต  สังคม  และจิตวิญญาณ
ด้วยกระบวนทัศน์แบบบูรณาการทำให้เกิดการจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนแบบบูรณาการ  ซึ่งเอานักเรียนหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  เอาชีวิตของเขาเป็นเป้าหมาย  ให้เขาได้พัฒนาศักยภาพของ ตนเองอย่างเต็มที่  ไม่ใช่เอาวิชาของครู  เอาประเด็นเรื่องเฉพาะเป็นตัวตั้งแล้วสั่งให้เด็กท่องจำ  แม้ว่ายังมีการเลือกประเด็นมาเรียนมาสอน  แต่การเรียนเรื่องข้าวไม่ได้เรียนแบบแยกส่วนที่เน้นแต่เพียงด้านหนึ่งด้านเดียว  แต่รอบด้านเหมือนชีวิตที่   “ รอบด้าน ”   ข้าวในด้านวิทยาศาสตร์  สังคมศาสตร์  มนุษยศาสตร์  ข่าวเกี่ยวกับวัฒนธรรม  ภูมิปัญญา  เกี่ยวกับเศรษฐกิจ  พืชเศรษฐกิจที่ส่งออกเป็นศาสตร์และศิลป์ของ   การดำเนินชีวิตของบรรพบุรุษของไทย  ข้าวแปรรูปได้ร้อยกว่าชนิด  เป็นอาหาร  เป็นขนม  ที่มีส่วนสำคัญในพิธีกรรมและวิถีของชุมชน  ข้าวเป็น   “ แม่โพสพ ”  ที่ให้ชีวิตแก่ผู้คน
การให้บริการสุขภาพแบบบูรณาการก็เป็นการผสานการบริการสุขภาพทั้ง  4  ด้าน  คือ                การส่งเสริมสุขภาพ  การควบคุมป้องกันโรค  การรักษาพยาบาล  และการฟื้นฟูสภาพ
       การพัฒนาแบบบูรณาการก็มิได้เน้นแต่เพียงการพัฒนาเศรษฐกิจ  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน    ( สะพาน  ถนน  บ่อน้ำ )  แต่เอาชีวิตของคนและชุมชนเป็นเป้าหมาย  ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงและแก้ปัญหาได้อย่างรอบด้าน  แผนพัฒนาที่ดีจึงเป็นแผนบูรณาการที่ผสานเอาเรื่องชีวิตความเป็นอยู่  เศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  สุขภาพ  การทำมาหากิน  การอยู่ร่วมกัน  ให้ดำเนินไปอย่างกลมกลืนและสมดุล  การวัดการพัฒนาเช่นนี้จึงวัดที่คุณภาพชีวิต  วัดด้วยความสุขมากกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว
153#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
51.  การวางแผนพัฒนาแบบบูรณาการ  (Integrated  Development  Planning  - IDP) การวางแผนพัฒนาแบบบูรณาการเป็นวิธีการวางแผนพัฒนาท้องถิ่นที่ทุกฝ่าย  โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้เสีย ( stakeholders )  เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนา  เป็นการสร้างกรอบการพัฒนา  ประสานงานต่าง ๆ ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น  ( เช่น  อบต.  เทศบาล )  โดยพิจารณาเงื่อนไขและปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อการพัฒนาแผน ดังกล่าวพิจารณาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้านและเป็นองค์รวม  ไม่แยกส่วน  รวมทั้งสร้างกรอบการใช้ที่ดิน  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  งานบริการ  และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เมื่อได้ IDP   แล้ว  แผนย่อยและโครงการต่างๆ  ต้องเกิดขึ้นภายใต้กรอบนี้  งบประมาณประจำปีของ  อบต.  และเทศบาลก็ต้องใช้ตามกรอบดังกล่าว
       กระบวนการแบบ  IDP   เมื่อได้วางแผนการเตรียมการพัฒนา   IDP  ให้รู้ว่าใครต้องมาร่วมและใครทำอะไรแล้ว  ก็จะดำเนินงานเป็น  5  ขั้นตอน
1.  การวิเคราะห์  มีการรวบรวมข้อมูลสภาพการณ์  เงื่อนไขปัญหาของประชาชน  สาเหตุของปัญหา  การค้นหาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ประเมินสถานภาพการพัฒนาของท้องถิ่นในขณะปัจจุบัน  จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของประเด็น  ของปัญหาและสาเหตุ  ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งในท้องถิ่นและจากภายนอก  ( ที่จะนำมาใช้เพื่อการพัฒนา )
2.  ยุทธศาสตร์  เป็นการหาทางแก้ไขปัญหาจากที่ค้นพบในขั้นตอนที่หนึ่ง  โดยการพัฒนาวิสัยทัศน์  วัตถุประสงค์  ยุทธวิธี  ( วิธีการเพื่อไปถึงเป้าหมาย )  และพัฒนาโครงการ
3.  โครงการ  เป็นการพัฒนาโครงการโดยตั้งอยู่บนฐานของแนวทางที่วางไว้ในขั้นตอนที่สอง  โครงการต่าง ๆ ต้องพัฒนาขึ้นมาภายใต้กรอบและคำถาม  คือ  ใครจะได้ประโยชน์จากโครงการ ใช้งบประมาณเท่าไร  ใช้งบประมาณจากไหน  ใช้เวลานานเท่าไร  ใครเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ
4.  การบูรณาการ  เมื่อได้พัฒนาโครงการแล้วก็ควรตรวจสอบให้ดีอีกครั้งว่าโครงการเหล่านี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในขั้นตอนที่สองหรือไม่  เพราะโครงการเหล่านี้จะเป็นหน้าตาของ แผนพัฒนาทั้งหมด  แล้วก็ถึงขั้นการบูรณาการ  การดำเนินงานเพื่อให้ตอบสนองชีวิตของผู้คน  โดยให้ ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานแม้ว่าจะตั้งประเด็นเฉพาะขึ้นมา  เช่น  สิ่งแวดล้อม  สุขภาพ  เอดส์  ยาเสพติด  เด็ก  คนชรา  การดำเนินงานจะต้องไม่แยกส่วน  แต่พิจารณาจากปัญหาชีวิตของกลุ่มคนเป้าหมายเป็นสำคัญ
154#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
52.  บริบท (context) หมายถึงสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่รายล้อมเหตุการณ์หนึ่ง  เรื่องหนึ่ง  ประเด็นหนึ่ง  เช่น  การศึกษาวรรณกรรมยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ควรศึกษาประวัติศาสตร์  บริบททางสังคมวัฒนธรรมของไทยในยุคนั้นเพื่อจะได้เข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นซึ่งสัมพันธ์กับวรรณกรรมนั้น  หรือการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจหรือประเด็นอะไรก็ได้สมัยหนึ่งก็ควรต้องเข้าใจบริบททางสังคมวัฒนธรรม  ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับเศรษฐกิจและประเด็นนั้น ๆการศึกษาบริบททางสังคมวัฒนธรรมในยุคที่หนังสือเล่มหนึ่งถูกเขียนขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อจะได้เข้าใจสาระสำคัญของหนังสือเล่มนั้น  ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีของสังคม  วิธีคิดวิธีปฏิบัติต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับการตีความหลักธรรมคำสอนทางศาสนาก็ดี  ล้วนต้องเข้าใจบริบทหรือสภาพแวดล้อมของสังคมวัฒนธรรมและเหตุการณ์ต่าง ๆ ของยุคสมัยที่หลักธรรมคำสอนนั้นถูกตราขึ้น  เพราะคำสอนนั้นมีส่วนสัมพันธ์กับโลกทัศน์ชีวทัศน์และวิถีของชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้น ๆ
ในวิชาการสื่อสารและภาษาศาสตร์  บริบทเป็นความหมายของสาร  ( message )  ( เช่น  ประโยคหนึ่ง )  ความสัมพันธ์ของมันกับส่วนอื่น ๆ ของสาร  (เช่น  หนังสือเล่มนั้น )  สิ่งแวดล้อมที่การสื่อสารนั้นเกิดขึ้น  รวมทั้งภาพลักษณ์  ( perceptions )  ต่าง ๆ ที่อาจสัมพันธ์กับการสื่อสาร  การเข้าถึงสารหรือสาระของภาษาจึงต้องการการตีความ  อันเป็นกระบวนการและวิธีการที่ต้องวิเคราะห์บริบทหรือปัจจัยรายล้อมภาษาที่สื่อออกมานั้น

155#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
53.  ประชาพิจารณ์  (public  hearing)  ประชาพิจารณ์เป็นคำที่อธิบายในตัวเองว่าหมายถึงประชาชนเป็นผู้วิจารณ์  การวิพากษ์วิจารณ์โครงการและนโยบายสาธารณะที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตของ ผู้คน  ชุมชนท้องถิ่นและต่อสังคม
การทำประชาพิจารณ์หมายถึงการจัดเวทีสาธารณะเพื่อให้ประชาชน  โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องหรือ  มีส่วนได้เสียโดยตรงมีโอกาสได้รับทราบข้อมูลในรายละเอียด  แสดงความคิดเห็น  และมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและความคิดเห็นต่อโครงการหรือนโยบายนั้น  ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นค้านก็ตาม
การทำประชาพิจารณ์ไม่ใช่การลงประชามติ  ไม่ใช่การจัดฉากเกณฑ์คนไปยกมือเห็นชอบ โครงการแบบพวกมากลากไป  ทำให้ประชาพิจารณ์กลายเป็นประชาสัมพันธ์โครงการมากกว่าการไปฟังความคิดเห็นของประชาชน
ประชาพิจารณ์เป็นกระบวนการของธรรมาภิบาล  คือการดำเนินการที่โปร่งใส  ตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  การดำเนินการประชาพิจารณ์จึงต้องทำอย่างเที่ยงตรง ยุติธรรมและจริงใจ  ไม่มีอคติ  รับฟังด้วยใจเปิดกว้าง

156#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
54. ประชาพิจัย  (PR & D)  แผนแม่บทชุมชน  ประชาพิจัยหรือประชาพิจัยและพัฒนา(People  Research and  Development – PR & D)  เป็นคำที่คิดขึ้นใหม่โดยมูลนิธิหมู่บ้านเพื่อเรียกกระบวนการ  วิธีการ  หรือเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ วิจัยตนเอง  สืบค้นข้อมูลภายในชุมชนและที่เกี่ยวข้องกับชุมชน  ประมวลข้อมูล  วิเคราะห์สังเคราะห์แล้วทำแผนพัฒนา         ชุมชน  ซึ่งถ้าหากเป็นแผนใหญ่ที่ให้กรอบการพัฒนาอย่างรอบด้านก็เรียกว่า   แผนแม่บทชุมชน (community  master plan ,  community  strategic  plan)  
การทำประชาพิจัยจึงเป็นการวิจัยตนเองของประชาชน  โดยประชาชน  เพื่อประชาชน  เพราะ หัวใจของประชาพิจัยคือกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้ชุมชนค้นพบ “ ทุน ”อันหลากหลาย อันเป็นศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง   รวมทั้งพบแนวทางในการพัฒนาทุนดังกล่าวไปสู่การพึ่งตนเองทำให้ ชุมชนหลุดพ้นจากวิธีแบบพึ่งพารอความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก
ประชาพิจัยเป็นการเรียนรู้จักตนเอง  รู้ความต้องการและความจำเป็นที่แท้จริง  รู้จักโลกและผลกระทบต่าง ๆ ของการเปลี่ยนแปลงโลกที่มีต่อวิถีของชุมชน  รู้จักรากเหง้าและเอกลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของตนเอง  เกิดความภูมิใจและเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น  รู้จักศักยภาพ  ทุน  สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน  ทั้งในด้านบวกและด้านลบ  จุดแข็งและจุดอ่อน  ศักยภาพและข้อจำกัด  โดยเฉพาะ การสืบค้นทุนทรัพยากรซึ่งมีอยู่หลากหลายแต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เพราะคนท้องถิ่นไม่เข้าใจและไม่เห็นคุณค่า  รู้รายรับ   รายจ่าย  หนี้สิน  และปัญหาของชุมชนจนเข้าใจสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมของ ตนเองเข้าใจว่าทำไมจึงมีปัญหาหนี้สินมาก  รายได้ไม่พอรายจ่ายกลายเป็นวัวพันหลัก  วงจรอุบาทว์ที่หาทางออกไม่ได้
กระบวนการทำประชาพิจัยยังรวมถึงการไปเรียนรู้จากคนอื่นชุมชนอื่นที่มีประสบการณ์และผ่านขั้นตอนการเรียนรู้และการดำเนินงานจนประสบความสำเร็จมาก่อน  แล้วจึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดแล้วสังเคราะห์เป็นแผนแม่บทชุมชน  ทำประชาพิจารณ์ในชุมชนแล้วหาทางแปรแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล
“ ประชาพิจัย ”   เป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นจากการสังเคราะห์ประสบการณ์ของชุมชนและคนที่ทำงานกับชุมชนนับแต่ประมาณทศวรรษที่   2520  เป็นต้นมา  ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม  ผู้พัฒนาแนวคิดการพึ่งพาตนเองและการทำวนเกษตรประสบการณ์ของอินแปง   เครือข่าย องค์กรชุมชนรอบเขาภูพานประสบการณ์ของชุมชนไม้เรียง  ที่นครศรีธรรมราช  ซึ่งเรียนรู้และพัฒนา   ตนเองอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบ  รวมทั้งประสบการณ์การทำงานวิจัยเศรษฐกิจชาวนาที่ยโสธร โดยใช้แนวคิดและแนวทางของชายานอฟ   นักคิดชาวรัสเซีย
แผนแม่บทชุมชนเป็นผลของการทำประชาพิจัย  เป็น    “  แผนแม่  ”  ที่ให้ชีวิตแก่ชุมชน  เกิดเป็นแผนงาน  โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนแบบบูรณาการหรือรอบด้านเกิดจากการเรียนรู้ของชุมชนและมีเป้าหมายคือการพึ่งพาตนเอง  การช่วยเหลือจากรัฐและภายนอกเป็นการเสริมหรือเติมเต็มให้ชุมชนมากกว่าที่จะรอให้รัฐมาช่วยทำให้สร้างให้ตั้งแต่เริ่มต้น
อีกนัยหนึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ของชุมชน  ซึ่งมีวิสัยทัศน์  พันธกิจ  เป้าหมาย  ยุทธวิธี  แผนงาน  โครงการ  และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและประสานเพื่อตอบสนองความใฝ่ฝันของชุมชนที่จะร่วมมือกันพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเอง

157#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
56. ปราชญ์ชาวบ้าน หมายถึงสามัญชนคนธรรมดาที่   “ ไม่ธรรมดา  ”  อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบท  ได้รับการยอมรับยกย่องจากชาวบ้านทั่วไปว่าเป็นผู้มีภูมิปัญญา  มีความรู้ความสามารถในการอธิบายและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นคนดีมีคุณธรรม  เพราะภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่เป็นองค์รวมของชีวิต  แม้ว่าปราชญ์ชาวบ้านบางคนจะมีความรู้เฉพาะเรื่องอย่างถ่องแท้  แต่ก็เป็นความรู้อันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทั้งหมดเป็นความรู้ที่ทำให้ชีวิตโดยรวมเกิดความมั่นคง  ทำให้อยู่เย็นเป็นสุข
ปราชญ์ชาวบ้านจึงเป็นผู้เข้าใจปรัชญาชีวิตอย่างลึกซึ้ง  ช่วยให้ผู้คนเห็นคุณค่าและความหมาย ของชีวิต  เข้าใจที่มาสาเหตุของปัญหาและเป็นผู้นำในการแสวงหาทางออกด้วยสติปัญญา ปราชญ์ชาวบ้านมองชีวิตอย่างรอบด้าน  เป็นองค์รวม  ไม่แยกส่วน  และยึดมั่นในคุณค่าและคุณธรรม  โดยทั่วไปคนที่เป็นปราชญ์ย่อมไม่ยกย่องตัวเองว่าเป็นปราชญ์  คนอื่นต่างหาก  โดยเฉพาะนักวิชาการ  เอ็นจีโอคนนอกชุมชนที่ยกย่องและให้เกียรติเรียกพวกเขาว่าปราชญ์ชาวบ้าน
158#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
57. ปรัชญา (philosophy)  นิยามทั่วไปบอกว่า  ปรัชญาหมายถึงวิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง  นับเป็นความหมายที่แคบ  เพราะปรัชญาเป็น  “  ปัญญา ”  ที่ส่องทางนำชีวิต  ปรัชญาเป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิตซึ่งรวมเอาโลกทัศน์ชีวทัศน์และกระบวนทัศน์ทั้งหมด  (กระบวนทัศน์อันหมายถึงวิธีคิด  วิธีปฏิบัติ  วิธีให้คุณค่า  ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองความเป็นจริงแบบหนึ่ง)  ปรัชญาเป็นศาสตร์และศิลป์แห่งการดำเนินชีวิต
ปรัชญาเป็นความเข้าใจโลกเข้าใจชีวิต  เข้าใจความเป็นจริงแบ่งกว้าง ๆ เป็นปรัชญาตะวันออก  ปรัชญาตะวันตก  ปรัชญาจีน  ปรัชญาอินเดีย  ปรัชญากรีก  และแคบลงไปเป็นสำนักต่าง ๆ เช่น  จิตนิยม (idealism)  วัตถุนิยม  (materialism)  ประสบการณ์นิยม  (empiricism)  ปฏิบัตินิยม  (pragmatism)  ปฎิฐานนิยม (positivism)  ฯลฯ
ปรัชญาตะวันตกเริ่มต้นเมื่อประมาณ  2,500  ปีที่แล้ว  เมื่อชาวกรีกบางคนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับโลก  เกี่ยวกับชีวิต  เกี่ยวกับความรู้แตกต่างไปจากที่เคยถามเคยตอบกัน  ก่อนหน้านั้นทุกอย่างมีคำตอบหมดแล้วในเทพปกรณัม (mythology)  ปรัชญากรีกก็เช่นเดียวกับปรัชญาอินเดีย  ปรัชญาจีนในยุคเดียวกัน   ซึ่งเชื่อว่าทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กันหมด   พยายามแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับกฏเกณฑ์แห่งชีวิตและความเป็นจริงทั้งมวล  ต้องการทราบว่าอะไรเป็นตัวเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันให้เป็นเอกภาพ มีความสมดุล  เชื่อว่า   “ เด็ดดอกไม้ดอกเดียวกระเทือนถึงดวงดาว ”   
หากค้นหาความหมายลึก ๆ ของคำว่าปรัชญาก็จะพบ    “ ปัญญา ”   และค้นลึกลงไปใน                 
      คำว่า  philosophy  ก็ไม่ใช่เพียง   “ รักในความรู้ ” (philein + sophia)  เพราะรากศัพท์ภาษากรีกเดิมนั้นหมายถึงการค้นหาเอกภาพของทุกอย่าง  ทุกอย่างเป็นหนึ่ง  หนึ่งคือทุกอย่าง  เช่นเดียวกับความหมาย ของพรหม  เต๋า  รวมถึง   “ ขวัญ ”  ในปรัชญาของไทย

159#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
58.  ผู้เกื้อกระบวนการ (facilitator i9)  คือผู้ช่วยกลุ่มคนให้ทำบางอย่างร่วมกันอย่างได้ผล เช่น ให้เรียนรู้ร่วมกัน  ให้บรรลุมติร่วมกัน ให้ประชุมร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจหรือตกลงบางอย่าง ร่วมกัน ช่วยให้กลุ่มคนได้ดำเนินการบางอย่างร่วมกัน ทั้งนี้โดยทำหน้าที่เพียงผู้เกื้อกระบวนการ ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องชี้นำหรือเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ผู้เกื้อกระบวนการมีผู้แปลว่า “ วิทยากรกระบวนการ” บางคนเปรียบเทียบกับ “ หมอตำแย ” ซึ่งช่วยให้สตรีคลอดบุตร โดยหมอไม่ได้เป็นผู้คลอดเอง เป็นผู้ช่วยทำให้คลอดง่าย (รากศัพท์ facilis ภาษาละตินแปลว่า ง่าย)
160#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
59.  ผู้เชื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  (catalyst)  เป็นคำที่ยืมจากวิชาเคมีและชีววิทยา ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ริเริ่มหรือเร่งปฏิกิริยาเคมีโดยที่ตัวมันเองไม่มีผลกระทบ ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น  คำนี้ถูกยืมมาใช้ทางสังคม หมายถึงคนหรือองค์กร หรือสถาบัน (เช่น สื่อมวลชน) ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ สถานการณ์ ทำหน้าที่เชื่อมคน เชื่อมความคิด เชื่อมสถาบัน องค์กร เชื่อมกระบวนการ หรือวิธีการต่าง ๆ ก่อให้เกิดนวัตกรรมการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นโดยที่ตัวมันเองไม่ได้แปรเปลี่ยนไป

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้