ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

100

[คัดลอกลิงก์]
111#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
10. การคิดแบบสร้างสรรค์  (creative  thinking)  การคิดแบบสร้างสรรค์หมายถึงการคิดแบบเชื่อมโยง (associative) คิดแบบยั่วยุ (provocative)  ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา เป็นการคิดที่ไม่ยึดติดกรอบของการคิดแบบเหตุและผล อันเป็นการคิดแบบเส้นตรง

112#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
11. การคิดแบบเส้นตรง (linear  thinking) เป็นการวิเคราะห์เป็นการหาเหตุหาผล ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่เรียกกันว่าหลักตรรกะการคิดสร้างสรรค์ชอบกระบวนการ (process)ขณะที่การคิดแบบเส้นตรงพยายามแต่จะให้ถึงเป้าหมายและหยุดกระบวนการคิดสร้างสรรค์พบว่าเป้าหมายมิได้อยู่ข้างหน้า แต่กำลังไปถึงทุกขณะที่กำลังก้าวไปสู่เป้าหมายนั้นความเป็นจริงนั้นกำลังก่อตัวทุกขณะการคิดเส้นตรงมักจะมีเป้าหมายเดียวที่คัดเลือกแล้ว  การคิดแบบสร้างสรรค์สร้างความคิด      มากมายแล้วเอาไว้คัดเลือกทีหลัง การคิดสร้างสรรค์จำเป็นต้องมีทางเลือกมากมาย จำเป็นต้องใช้ปริมาณมากเพื่อให้สามารถเลือกสรรได้
ปกติเรามักจะถูกสอนให้คิดถึงเรื่องต่าง ๆ ต่อเมื่อเราได้พบคำตอบที่เกือบจะลงตัวแล้ว (กึ่งสำเร็จรูป) เราทำการค้นหาต่อเพียงเพื่อให้ได้คำตอบที่เหมาะสม แล้วก็หยุดการค้นหา นี่คือการคิดแบบเส้นตรง
แต่ถ้าเราค้นหาไปเรื่อย ๆเราจะพบคำตอบมากมายที่อาจดีกว่าอีก ที่เราสามารถเลือกได้ดีกว่าด้วย   นี่คือการคิดสร้างสรรค์ที่ชอบกระบวนการในการค้นหาทางออกมากกว่าการพบแค่ทางออกเดียวที่เหมาะสม   เนื่องเพราะกระบวนการเป็นเรื่องสำคัญมากในการคิดสร้างสรรค์ บางครั้ง ก็มักเรียกกันว่า กระบวนการสร้างสรรค์
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าการคิดเส้นตรงนั้นไม่ดี เป็นการคิดที่ดีและจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เพียงพอและไม่สมบูรณ์จำเป็นต้องมีการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ เพื่อเสริมการคิดแบบเส้นตรง การคิดแบบตรรกะ แต่ต้องมีการฝึกฝน
การคิดสร้างสรรค์ส่งเสริมให้คนถามมากกว่าตอบ  เพราะการถามเป็นทำให้เกิดคำตอบมากมายหลากหลาย  การคิดสร้างสรรค์ทำให้คนคิดมากกว่าจำ  การคิดสร้างสรรค์ทำให้คนไม่แสวงหาแต่สูตรสำเร็จ แสวงหาแต่เทคนิควิธีการ แต่แสวงหาหลักการเพื่อให้วิธีการที่หลากหลาย
113#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
12. การมีส่วนร่วมของประชาชน   (people’s participation)การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นคำที่เริ่มใช้กันเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาเพื่อแสดงว่าโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่นำไปให้ชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ นั้น ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม บ้างก็บอกว่ามีส่วนร่วมในการดำเนินงานโดยชุมชนมีส่วนสมทบงบประมาณ    5 - 10 %  ถ้าไม่มีเป็นเงินก็คิดจากมูลค่าแรงงาน วัสดุสิ่งของ วัตถุดิบ หรืออะไรก็ได้ที่มาจากชุมชน
งบประมาณเกือบทั้งหมด รวมทั้งการคิดและวางแผน  “ มาจากข้างบน ”  (top down) คือมาจากหน่วยงานภายนอก ทั้งหน่วยงานราชการหรือองค์กรเอกชน
บ้างก็บอกว่ามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน   คือการเก็บข้อมูล  วางแผน  การปฏิบัติ  และประเมินผล  และอ้างว่านี่คือกระบวนการที่  “ มาจากข้างล่าง ”  (bottom up)  รวมทั้งอ้างว่าได้มีการทำประชาพิจารณ์ (public hearing)แล้ว ซึ่งหมายความว่าได้รับการ “ รับรอง ” จากชุมชน
การมีส่วนร่วมของประชาชนวันนี้ที่มีความหมายสำคัญที่การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  ในการกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการทรัพยากร การบริหารจัดการชุมชน คน  ทุนของชุมชน จึงต้องมีการแยกแยะเนื้อหาและรูปแบบของ “  การมีส่วนร่วมของประชาชน ”  ให้เหมาะสมกับ แต่ละเรื่อง พร้อมกับวิธีการและกระบวนการที่เหมาะสม
การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงไม่ใช่แต่เพียงรูปแบบ เช่น การเลือกตั้งในทุกระดับ  แล้วก็ปล่อยให้ผู้ได้รับเลือกตั้งไปดำเนินการทุกอย่างทุกเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนหมายความว่า หลังเลือกตั้งประชาชนมีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไป  ทำหน้าที่แทนประชาชน  
การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงไม่ใช่เพียงไปหา 5  - 10 % มาสมทบโครงการที่องค์กรจาก ภายนอกนำเข้าไปให้ ไม่ใช่แค่การไปช่วยเก็บข้อมูลให้ข้าราชการที่บอกว่าจะเอาไปทำโครงการมาพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่แค่การไปร่วมประชุมรับฟังการเสนอโครงการแล้วยกมือรับรองแล้วอ้างว่าเป็น ประชาพิจารณ์ การมีส่วนร่วมของประชาชนคือการแสดงออกถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชนในการ จัดการทุนชุมชน จัดการชีวิตของตนเอง
114#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
13. การวางแผนยุทธศาสตร์ (strategic planning) การวางแผนยุทธศาสตร์เป็นกระบวนการเตรียมการขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อนำองค์กรมุ่งหน้าสู่เป้าหมายหรือสถานภาพอันพึงปรารถนาแห่งอนาคต  ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
วิธีการวางแผนยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่ใช้วิธีการหรือกระบวนการที่เรียกกันว่า STP ซึ่งย่อมาจากคำว่า Situation (สถานการณ์) หมายถึงการประเมินสถานการณ์ว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน มาถึงนี่ได้อย่างไร Target (เป้าหมาย) ต้องการจะไปไหน และ Path (หนทาง) จะไปถึงที่นั่นได้อย่างไร
นอกจากนั้นยังอาจใช้เครื่องมือหรือวิธีการอื่น ๆ เช่น การประเมินสภาพแวดล้อม การใช้วิธีการ SWOT (Strengths , Weaknesses ,  Opportunities ,  Threats  -จุดแข็ง,จุดอ่อน,โอกาส สิ่งที่อาจเป็นปัญหา อุปสรรค)  GTSM (Goals , Target , Strategies , Measures - เป้าประสงค์ , เป้าหมาย , ยุทธศาสตร์ , มาตรการ)
       คำว่า  “ ยุทธศาสตร์ ”   (strategy)   ยืมมาจากศัพท์ทางการทหารเพื่อใช้ในทางธุรกิจ   ซึ่งก็เป็นการสู้รบทางการค้า การดำเนินงานที่มีการแข่งขัน การพัฒนาแนวปฏิบัติที่จะทำให้องค์กรหรือบริษัทของตนเกิดข้อได้เปรียบคู่แข่ง  (competitive  advantage) ไมเกิล  พอร์เตอร์กูรูทางการบริหารธุรกิจบอกว่า ยุทธศาสตร์การแข่งขัน (competitive  strategy) เป็นเรื่อง “  การทำอะไรให้แตกต่าง ” ( about  being  different )ยุทธศาสตร์ที่ดีจะรวมเอาเป้าหมาย (goals)นโยบาย (policies) และกิจกรรมเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ (tactics) อย่างเป็นองค์รวมที่ลงตัว หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการรวมเอาเป้าหมายและวิธีการเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ผู้นำ  (leader)  ที่ดีเป็นนักยุทธศาสตร์ เป็นผู้มองไกล  กว้างและลึก  มองทะลุเห็นแนวทางที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพเพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย ผู้จัดการ (manager)ที่ดีมีความสามารถในการจัดการอย่างมียุทธวิธี หรือกลยุทธ์ (tactics)
ยุทธวิธีหรือกลยุทธ์เป็นวิธีปฏิบัติตามยุทธศาสตร์  ถ้าเปรียบกับการรบ แม่ทัพนายกองเป็น ผู้นำกองทัพไปรบด้วยยุทธวิธีตามแผนยุทธศาสตร์ที่จอมทัพหรือผู้บัญชาการสูงสุดและคณะเสนาธิการได้วางไว้
115#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
14. แผนยุทธศาสตร์  ( strategic  plan )  แผนยุทธศาสตร์เป็นแผนการดำเนินงานที่ร่างขึ้นมาอย่างเป็นระบบ  โดยองค์ประกอบต่าง ๆ สัมพันธ์สอดคล้องกัน  เป็นแผนที่มีวิสัยทัศน์  ( vision ) หรือภาพฝันที่วาดไว้   เป็น  “ การร่วมจิต ”   มีเป้าประสงค์  ( purpose )  อันแสดงถึงเจตจำนงร่วมของทุกฝ่าย  หรือ  “ การร่วมใจ”  ผนึกพลังใจของทุกฝ่ายเพื่อกระทำพันธกิจ  (mission)  อันถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบ  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์  ( objectives )  ที่ตั้งไว้เป็นรายละเอียด  เพื่อให้เกิดผลกระทบ  ( outcome )  และได้ผลลัพธ์  ( output )  ที่พึงประสงค์
แผนยุทธศาสตร์ที่ดีมาจากการวิเคราะห์อดีต  รู้ปัจจุบัน  เพื่อไล่ให้ทันอนาคต  วิเคราะห์ สถานการณ์ที่ผ่านมา  วิเคราะห์ทรัพยากร   ทุนต่าง  ๆ   อันเป็นศักยภาพหรือความสามารถที่ยังไม่ได้พัฒนาหรือยังไม่ได้พัฒนาเต็มที่   หรือที่ยังซ่อนเร้นอยู่
แผนยุทธศาสตร์ที่ดีเป็นผลที่เกิดจากกระบวนการวางแผนที่ดีบริหารจัดการแผนอย่างมี ประสิทธิภาพ  ( efficiently )  เกิดประสิทธิผล  ( effectiveness )  ที่ปรากฏจริง  เป็นแผนที่มีเป้าประสงค์ดี  ( purpose )  ก่อให้เกิดการร่วมใจ  มีหลักการดี  ( principles )  ก่อให้เกิดการร่วมคิดมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ( participation )  ก่อให้เกิดการร่วมทำและมีการแบ่งบทบาทหน้าที่จัดการดี  ( organization ) ก่อให้เกิดการร่วมแรง   ในภาษาไทยก็พูดกันเป็นวลีว่า  “ ร่วมแรงร่วมใจ  ร่วมคิด  ร่วมทำ ”
แผนยุทธศาสตร์ที่ดีมีแผนการจัดการความรู้ที่ดี  ทั้งความรู้  ภูมิปัญญาและความรู้ที่เรียนรู้จาก   การปฏิบัติ  การซึมซับจากคนใกล้ชิด  ส่วนหนึ่งเป็น  “ ความรู้เงียบ ”  ( tacit  knowledge มาจาก  tacere     ภาษาละตินแปลว่าเงียบ ) ซึ่งอยู่ในตัวคน  การจัดการความรู้ที่ดีจะหาทางทำให้ความรู้เงียบกลายเป็นความรู้ที่อธิบายได้  ถ่ายทอดได้และบันทึกไว้  ( explicit  knowledge  มาจากภาษาลาติน  explicare  แปลว่าอธิบายอย่างได้ความแจ่มแจ้ง )   ความรู้ที่มีการพูดออกมาและบันทึกไว้เป็นความรู้ทางการ
การนำแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติมักจะมีพันธมิตรทางยุทธศาสตร์  ( strategic  partners ,  strategic alliance )  ซึ่งหมายถึงบุคคล  องค์กร  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ที่มีความสนใจและเป้าหมาย       บางอย่างร่วมกัน  จึงตกลงร่วมมือกัน  อาจจะโดยการลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการที่เรียกกันว่า  บันทึกช่วยจำ  หรือเอ็มโอยู   ( MOU – Memorandum  of  Understanding )
116#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
15. เกษตรผสมผสาน  ( integrated  agriculture )เกษตรผสมผสานเป็นชื่อกลางเพื่อพูดถึงการทำการเกษตรที่ปลูกหลายอย่าง เลี้ยงหลายอย่าง         ทำกิจกรรมทางการเกษตรหลายอย่าง ผสมผสานกัน เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน เช่น การปลูกพืช  ไม้ใหญ่ไม้เล็ก  ไม้ผล  ไม้ใช้สอย  ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่  เลี้ยงหมู  เลี้ยงวัว  ควาย  รวมทั้งการนำผลผลิตมาแปรรูป  ทั้งนี้เพื่อทำไว้กินไว้ใช้ ที่เหลือก็เอาไปขายเพื่อนำเงินมาซื้อสิ่งที่ผลิตเองไม่ได้รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ความจริงเกษตรผสมผสานมีมานานแล้ว เช่น  สวนผสมในภาคใต้  ซึ่งปลูกไม้ผล  พืชผักเอาไว้กิน  มีหลาย ๆ อย่างตามที่ครอบครัวต้องการ  หลายอย่างเกิดเองตามธรรมชาติ  และปล่อยไว้โดยไม่มี   การจัดการอะไรเป็นพิเศษ บางแห่งปลูกแซมไว้ในป่า เป็นสวนในป่าธรรมชาติ
แต่เดิมวิถีของชุมชนในระบบเศรษฐกิจยังชีพในทุกภาคก็มีการทำเกษตรคล้าย ๆ กันนี้  ต่างกันที่ รูปแบบและการจัดการ  ก่อนนี้ไม่ได้ทำเพื่อขาย  ปลูกอย่างละเล็กน้อยเพื่อกินและแบ่งให้ญาติพี่น้อง    ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นระบบและมีรูปแบบหลากหลายเมื่อประมาณ  20  ปีเศษที่ผ่านมา  ทั้งนี้เกิดจากการแสวงหาทางเลือกจากการทำเกษตรแบบการปลูกพืชเดี่ยว  หรือการทำกิจกรรมเดี่ยว  เช่น  การเลี้ยงหมู  ไก่  วัว  ในลักษณะอุตสาหกรรม  ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่คุ้นเคยและไม่มีประสบการณ์ ทำให้ขาดทุนและเป็นหนี้สิน
หลักคิดสำคัญของการทำเกษตรผสมผสาน  คือ  การทำเพื่ออยู่เพื่อกินเป็นหลัก  ไม่ได้มุ่งทำ  เพื่อขาย   ไม่ทำแบบเอาเป็นเอาตาย  หรือ  เน้นการลงทุนมาก  ไม่เน้นการผลิตให้มาก ๆ  เพื่อจะได้ขายและได้เงินมาก  ๆ  อย่างที่เคยคิดในการปลูกพืชเดี่ยว
การทำเกษตรผสมผสานมีเป้าหมายที่การพึ่งตนเองเป็นหลัก  โดยเฉพาะด้านอาหาร  รวมทั้งสมุนไพร  ของใช้  ไม้ใช้สอย  และพอมีรายได้บ้าง  อยู่อย่างพอเพียง
เกษตรผสมผสานมีการจัดการ  มีระบบ  โดยสิ่งที่ปลูกที่เลี้ยงจะเกื้อกูลกัน  เสริมกัน  ช่วยกัน  สัตว์ได้พืชผักเป็นอาหาร  พืชผักก็ได้มูลสัตว์เป็นปุ๋ย  ได้น้ำในบ่อปลาไปให้พืชผัก  เอาไม้ใช้สอยที่ปลูกมาทำประโยชน์ในครัวเรือนและในสวน  เป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนไปมา
เกษตรผสมผสานมีหลายรูปแบบ  ไร่นาสวนผสม  เป็นรูปแบบการทำเกษตรผสมผสานที่ปลูกพืช  เลี้ยงสัตว์  เลี้ยงปลา  และทำนาไปพร้อมกัน  มักจะมีการขุดบ่อปลาที่เชื่อมลงไปในนาข้าวด้วยคูคลอง  ระหว่างฤดูการทำนา  ปลาก็จะออกไปหากินในนาข้าว  ขี้ปลาเป็นปุ๋ย  ปลาช่วยกินแมลงต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน  เมื่อน้ำในนาแห้งลงปลาก็ไปรวมกันอยู่ในหนอง คลองและบ่อปลา
บางครั้งมีการใช้คำว่า  พุทธเกษตร  เพื่อบ่งบอกถึงพุทธปรัชญาเบื้องหลังการทำการเกษตรแบบผสมผสาน  ซึ่งเน้นการทำเพื่อกินเพื่อใช้  เพื่อการเป็นอยู่แบบพอเพียง  สันโดษ  และส่วนหนึ่งมักปลูกพืชผักผสมผสานเป็นหลัก   มักไม่มีการเลี้ยงสัตว์และไม่บริโภคเนื้อสัตว์

117#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
16. เกษตรธรรมชาติ  ( Natural  farming )   ชื่อเกษตรธรรมชาติมักหมายถึงการเกษตรตามแนวคิดของมาซาโนบุ  ฟูกูโอกะ  ผู้เขียนหนังสือ  “ ปฏิวัติฟางเส้นเดียว ”  (1978)  และ “  การทำฟาร์มด้วย   วิธีธรรมชาติ  ทฤษฎีและปฏิบัติของปรัชญาสีเขียว ”   (1985)  ชาวนาญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก    ผู้นี้เรียกเกษตรแบบนี้ว่าเป็นการทำเกษตร  “ แบบไม่ทำอะไรเลย ”   ไม่มีการตัดหญ้า  ไถดิน  ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฆ่าหญ้า  ฆ่าแมลง  แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลยก็ว่าได้  แต่เป็นการเกษตรที่ได้ผลดีโดยการวางแผนที่ดี  ปลูกหลายอย่างผสมผสานกัน  เป็นศิลปะของการทำงานร่วมกับธรรมชาติอย่างหนึ่ง  
โดยทั่วไป  คำว่าเกษตรธรรมชาติหมายถึงการทำการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี  ปุ๋ยเคมีทาง การเกษตรทุกชนิด ให้ความสำคัญกับดินเป็นอันดันแรก  ด้วยการปรับปรุงดินให้มีพลังในการเพาะปลูกเหมือนดินในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ  โดยการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม  ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค  สามารถให้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพเป็นการเกษตรที่มีความยั่งยืน  มั่นคง  ถาวร
เกษตรธรรมชาติเป็นการเลียนแบบธรรมชาติซึ่งมีความสมดุลในระบบของตัวเอง มีไม้เล็กไม้ใหญ่หลากหลายชนิดและหลายระดับขึ้นปะปนกัน  ตั้งแต่ที่คลุมดินให้เกิดความชุ่มชื้นไปจนถึงต้นไม้ใหญ่สุดที่กันแดดที่ร้อนแรงเกินไปสำหรับไม้หลายชนิด  มีใบไม้ซากพืชสัตว์ มูลสัตว์ มีจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินที่ช่วยย่อยสลายจนกลายเป็นฮิวมัส  ซึ่งเป็นแหล่งธาตุอาหารพืชและใช้ใน การเจริญเติบโตของไม้ในป่า  ซึ่งแข็งแรงโดยไม่มีใครเอายาฆ่าแมลงไปใช้  ต้นไม้ก็อยู่ได้ธรรมชาติมีความสมบูรณ์และ หลากหลายทางชีวภาพที่สร้างความสมดุลให้ตัวเอง

118#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
17. เกษตรยั่งยืน  ( sustainable  agriculture )  การเกษตรผสมผสานรูปแบบต่าง ๆ ข้างต้น มักเรียกด้วยว่าเป็นการเกษตรยั่งยืน  เพราะเป็นการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายดิน  น้ำ  ป่า  อากาศ  ชีวิตสัตว์และผู้คน  ไม่ทำลายทรัพยากร  แต่รักษาความสมดุลของธรรมชาติให้คงอยู่สำหรับลูกหลานในอนาคตด้วย
เกษตรยั่งยืนเป็นรูปแบบหนึ่งขององค์กรทางสังคมและเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานของ การมอง การพัฒนาที่ยอมรับว่าสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานของเศรษฐกิจการเกษตรจะยั่งยืน ถ้าหากไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ  มีความเป็นธรรมทางสังคม  เหมาะสมกับ วัฒนธรรมท้องถิ่นและใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ที่เป็นองค์รวมและบูรณาการ
เกษตรยั่งยืนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ  ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความบริสุทธ์ของน้ำ นำทรัพยากรมาใช้ใหม่หรือหมุนเวียน  อนุรักษ์พลังงาน

119#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
18. เกษตรมั่นคง  ( permaculture   หรือ  permanent  agriculture)  เป็นคำที่คิดค้นกันขึ้นมาเมื่อทศวรรษที่  1970  ที่ประเทศออสเตรเลียเพื่อบอกถึงเกษตรยั่งยืนเช่นเดียวกัน  การเกษตรมีการวางแผน ออกแบบและการจัดการอย่างเป็นระบบ  เป็นกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดระบบนิเวศนที่ดี  ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงและการกลับฟื้นคืนสภาพเดิม
การเกษตรมั่นคงเป็นการบูรณาการภูมิศาสตร์กับวิถีชีวิตของผู้คนเพื่อให้เกิดอาหาร  พลังงาน ที่อยู่อาศัย   และได้สิ่งที่ตอบสนองความต้องการของคนในแบบที่มั่นคงยั่งยืน  เป็นการออกแบบที่เน้นความสัมพันธ์ที่ประสานกลมกลืนระหว่างคน  พืช  สัตว์  และดิน

120#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
19. เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นการทำการเกษตรผสมผสานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว  โดยมีการจัดการแบ่งที่ดินประมาณ  15  ไร่  ซึ่งเป็นจำนวนเฉลี่ยที่เกษตรกรมีอยู่ออกเป็นอัตราส่วน  30 : 30 : 30 : 10
      ส่วนที่หนึ่งให้ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี  ส่วนที่สองเอาไว้ทำนา  ส่วนที่สามเอาไว้ทำการเกษตรผสมผสาน และส่วนสุดท้ายเอาไว้เป็นที่อยู่อาศัย
ที่สำคัญไม่ใช่แต่เพียงรูปแบบ แต่เป็นหลักคิดของการพึ่งตนเอง มีข้าวปลาอาหารไว้บริโภคอย่างพอเพียง มีเหลือบ้างเพื่อขายได้เงินมาใช้จ่ายในสิ่งจำเป็น เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นรูปธรรมหรือ ภาคปฏิบัติทางการเกษตรของเศรษฐกิจพอเพียง  อันเป็นปรัญชาการพัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนะเพื่อการดำรงชีวิตในทุกส่วนและทุกระดับ
เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางเพื่อการพึ่งตนเองไม่เพียงแต่ระดับครอบครัวเท่านั้น  แต่เป็น แนวทางเพื่อการพึ่งพาอาศัยกันในระดับชุมชนและเครือข่ายชุมชน เป็นการจัดการร่วมกันในการผลิตการบริโภค  การตลาด การจัดสวัสดิการในลักษณะต่าง ๆ รวมทั้ง  การศึกษาและการอยู่ร่วมกัน  และ   ขั้นตอนที่สามเป็นการจัดความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันกับภายนอก  ภาคธุรกิจ  ภาคเอกชน  สถาบันการเงิน  และให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลักการและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเอง  ความพอเพียง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยเน้นความร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขัน ซึ่งก่อให้เกิดความ  ขัดแย้งเกิดมีผู้แพ้ผู้ชนะ มีกำไรขาดทุนและเกิดปัญหาความเดือดร้อน
เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นแนวคิดที่เรียบง่ายและมีรูปแบบไม่ซับซ้อน แต่ทำยาก เพราะสังคมวันนี้มีกระแสหลักที่กำหนดวิถีชีวิตที่เน้นการบริโภค ก่อให้เกิดความโลภ รวมทั้งนโยบาย การพัฒนาและ การส่งเสริมที่ไม่เอื้อให้มีการนำพระราชดำรินี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้