ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง ~

[คัดลอกลิงก์]
81#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
“ท่านพระครูญาณทัสสีเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำผาปู่ก็จริง ปีไหนมีโอกาสดี ๆท่านก็ไปอำเภอเชียงคานบ้าง ไปอำเภอวังสะพุงบ้าง แผ่อริยธรรม ให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ส่วน อ. ท่าลี่ อ. ด่านซ้ายนั้นท่านไม่มีโอกาสไป ด้วยหนทางไกล ไม่สะดวกในการเดินทาง ก็มีอันเตวาสิกสานุศิษย์ของท่านไปเที่ยววิเวกเพื่อทำอัตถประโยชน์ ปรมัตถประโยชน์ ต่อคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายในถิ่นตำบลอำเภอนั้นด้วย ได้รับความอบรมศึกษาธรรมวินัยเป็นอย่างดี ฉะนั้นก็แลเห็นได้ว่า ท่านพระครูญาณทัสสีทำอัตถประโยชน์ ปรมัตถประโยชน์ให้จังหวัดเลยเป็นอันมาก ดุจท่านอยู่จังหวัดขอนแก่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน.....”

ภูเขาที่ถ้ำแก้งยาวนั้นแม้จะไม่สูงเท่าไร และอยู่ใกล้ทุ่งนา แต่ก็มีความสงบสงัดดี หลวงปู่สรรเสริญถึงคุณของถ้ำแก้งยาวมาก ท่านว่าเทพมาก มีพระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จมาอนุโมทนาการทำความเพียรของท่านด้วย

ลักษณะถ้ำไม่ใหญ่ ทำแคร่เล็ก ๆ พอนั่งภาวนา กางมุ้งกลดได้ วันดีคืนดีก็เห็นงูตัวใหญ่มาขดอยู่ใต้แคร่ภาวนา ท่านว่า ไม่เห็นตอนที่เขาเลื้อยเข้ามา เพราะถ้าเห็นก็คงจะตกใจบ้าง ออกไปเดินเล่นข้างนอก ชมป่าชมดง เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ และความจริงเป็นนิสัยของท่าน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าท่านมักจะชอบเปลี่ยนที่ภาวนาเดินไป เห็นหินก้อนนั้นเหมาะ ใต้ต้นไม้ใหญ่นี่ท่าจะดี ท่านก็เพียงแวะลงนั่ง ใช้ผ้าอาบปัด ๆ ให้หินก้อนนั้น...พื้นตอนนั้นสะอาด เรียบบ้าง ก็จึงนั่งทำความเพียรได้แล้วหรือเข้าป่า เห็นต้นไม้หักโค่น ต้นยาวใหญ่ ทอดอยู่เหนือพื้นดิน ก็อาศัยขอนไม้นั้นเป็นทางจงกรม ให้มีสติระวังตัวตลอดเวลา มิฉะนั้นก็คงจะต้องตกลงมาจากขอนไม้นั้นได้

กลับมาถ้ำ จึงมองเห็นงูใหญ่ตัวนั้น เขาขดตัวนอนเฉยอยู่ใต้แคร่ มิได้ชูคอร่าขึ้นในท่าฉก หากเอาหัวซุกลงไปในวงขนดหาง ท่านพยายามคิดว่า ได้มาตั้งแคร่กีดขวางรูถ้ำซึ่งเป็นทางเข้าออกของเขาหรือไม่ มองดูก็เห็นว่า ตรงที่ท่านตั้งแคร่นั้นผนังถ้ำเรียบราบอยู่ มีทางคิดได้อยู่อย่างเดียว คือ งูเห็นว่า ใต้แคร่เป็นที่สงบเย็นดีก็เลยมานอนพักผ่อนเล่นเท่านั้น ท่านจึงออกไป ทำกิจส่วนองค์ เดินจงกรมพักใหญ่จึงกลับเข้ามาในตอนเย็น คิดว่าอาคันตุกะผู้ไม่ได้รับเชิญคงจะจากไปเรียบร้อยแล้ว

ผิดคาด เจ้างูใหญ่ตัวนั้นก็ยังคงยึดที่สบายตามเดิม ท่านชักรู้สึกคุ้น จึงเขยิบเข้าไปดูใกล้ ๆ เห็นนัยน์ตามันมองท่านจ้องนิ่งอยู่แล้ว นัยน์ตาทั้งสองคู่ประสานกัน คู่หนึ่ง มองอย่างสงสัย ดูท่าที.... อีกคู่หนึ่ง เต็มไปด้วยความการุญ แผ่กระแสแห่งเมตตาธรรมตรงเข้าไปให้แก่ฝ่ายหนึ่งอย่างเต็มเปี่ยม.....

ท่านว่า เขาขดอยู่ใต้แคร่นั้น สามวัน สามคืน ไม่ไปไหนเลย ไม่เห็นออกไปหาอาหาร หรือไปเที่ยวที่ไหน ทำตัวราวกับเป็นทหารองครักษ์มาทำหน้าที่พิทักษ์ให้ความปลอดภัยพระราชาเช่นนั้น ท่านก็เลยกางมุ้งกลดบนแคร่ตามปกติ ตนเช้า ตี ๓ ลุกขึ้นข้างหน้า สวดมนต์ ภาวนาแผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ...โดยเฉพาะเจ้าตัวใต้แคร่นั้นอยู่ใกล้ที่สุด ก็คงจะได้รับกระแสเมตตาธรรมของท่านมากที่สุดเช่นกัน

ท่านเคยผ่านการถูกพญานาครัดมาแล้ว ที่ภูบักบิด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ฉะนั้น การที่เพียงเห็นงูใหญ่มาอยู่ใต้แคร่จึงดูเป็นของเล็กน้อยเทียบกันไม่ได้ ประกอบทั้งเขาก็มิได้แสดงเป็นศัตรูคู่อาฆาตแต่ประการใด ท่าทางดูสนิทสนมคุ้นเคยเป็นมิตร แถมยังดูน่าสงสารด้วยซ้ำ ที่ชาตินี้เขาต้องมาถือกำเนิดในชาติอันต่ำต้อยเป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านทำกิจวัตรประจำวันต่อไปโดยปกติ คิดว่า ต่างคนต่างอยู่ ต่างใช้ชีวิตตามเพศตามชาติของตน ไม่ขัดเคือง ขัดขวางกัน มีแต่เมตตาต่อกัน

เวลาผ่านไป สามวัน สามคืน งูนั้นจึงจากไป เวลาออกไป ท่านไม่เห็น เห็นแต่ทางราบเป็นทางยาวลงไปจากถ้ำ ลงไปถึงชายทุ่ง ขณะนั้นนาข้าวกำลังขึ้นเขียวขจีท่านว่า เวลาเห็นเขาขดตัวอยู่ใต้แคร่ มองไม่รู้สึกว่าตัวใหญ่มากเท่าไร แต่เมื่อเห็นนาข้าวที่ราบเป็นทางยาวนั้น คะเนว่า ตัวงูคงมหึมาน่ากลัว เพราะข้าวที่เขาปักดำห่างกันเป็นแถวเป็นกอนั้น ถูกงูทับเป็นทางราบถึง ๓ แถว หรือ ๓ กอ มองเห็นทางที่ราบโล่งเป็นช่องแนวไปในทุ่งนานั้นลิบลิ่วไปไกลสุดสายตาทีเดียว
82#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ฟังท่านเล่า แล้วก็อดกราบเรียนถามไม่ได้ว่า ชะรอยคงจะเป็นพญานาคมากกว่า แต่การมาขดอยู่ใต้แคร่นั้น คงจะต้องเนรมิตกายให้เป็นงูธรรมดา เพื่อมิให้ผู้พบเห็นหวาดกลัว เพราะความจริงท่านมีเณรไปอุปัฏฐากด้วย หากเห็นร่างแท้จริงของนาค เณรจะตกอกตกใจได้ ครั้นเมื่อเขาจะลาจากไป ก็ฝากรอยจริง ๆ ไว้ไห้เห็นในทุ่งนา ท่านไม่ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่เล่าไปว่า เวลาพญานาคออกมา จะมีเสียงร้องดัง อี้...อึ่ด...อึ่ด ๆ ยาว ๆ

ได้ยินกันทั่วไหม

ท่านตอบว่า ได้ยินกันหลายคน แต่บางคนที่ได้ยิน อาจจะไม่ทราบว่าเป็นเสียงพญานาคก็ได้

พรรษาที่ ๓๘ พ.ศ. ๒๕๐๕ จำพรรษาที่เขาสวนกวาง

กิ่ง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

ในต้นปี ๒๕๐๕ นี้ท่านยังท่องเที่ยวธุดงค์อยู่ในเขตจังหวัดเลย ท่านจะเดินทางรวดเร็วมาก บางทีก็ไปถ้ำผาบิ้ง ถ้ำผาปู่ อันเป็นถิ่นที่ท่านคุ้นเคยมาแต่สมัยเป็นพระผู้น้อย ผ่านไปทางอำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นที่ซึ่งท่านเคยใช้วัยหนุ่มทำราชการอยู่กับพี่เขยมาหลายปี พอดีวัดโพนแก่นที่เชียงคานมีงานถวายเสนาสนะ ท่านก็ช่วยเทศน์อบรมประชาชนให้ด้วย

ครั้นถึงเดือน ๗ ๒๕๐๕ (ตรงกับเดือนมิถุนายน ๒๕๐๕) ท่านเดินทางต่อไปถ้ำมโหฬาร และบันทึกไว้ว่า

“ถ้ำมโหฬาร เดือน ๗ พ.ศ.๐๕ ฝันเห็นท่านอาจารย์ (มั่น....ผู้เขียน) ท่านนั้นคล้ายเชือกอู่ลงมา เราเห็นชัด....เป็นมงคลยิ่ง”

“.....เดือนนี้ เราป่วยเป็นไข้คนเดียว อาการหนักมาก เกิดวิตกวิจารณ์ใหญ่ เกิดสงสัยในเวลาจิตกับเวทนา ป่วยผสมกัน ในขณะนั้นทำให้จิตป่วนปั่นมาก นอนไม่หลับ ๒ คืน ก็มี กลางวันก็ไม่ได้นอนอีก แต่สงบนอนด้วยฌาน หลับ ๆ ตื่น ๆ ก็อิ่มเหมือนกัน”

“ภาวนาแลเห็นนิมิตนอกร้อยแปดอย่างปรากฏเสมอ หลบเข้าอารมณ์ได้ ต่อนั้นได้รับความสงบ...จิตเข้าสู่อารมณ์แห่งความตายบ้าง”


ท่านถึงกับอุทานว่า

“แหม่ ผู้มีภูมิจิตเป็นถึงขนาดนี้... ถ้าผู้ที่ไม่มีแม้จิตนั้น จิตคงยิ่งแปรปรวนใหญ่ ระยะนี้จะได้ระวังตัวและจิตเรื่อย ๆ เพราะเห็นภัยใหญ่หลวง ๓ อย่าง ๑. เราอาพาธที่จะมรณะ ๒. เราแก่ชราแล้วใกล้มรณะ ๓. สงครามจะมาถึงในวันไหน ภัยทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นเทวทูต ให้เราทำความเพียรอย่างขนาดหนัก เพื่อจะได้สำเร็จก่อนกว่าภัย ๓ อย่างนี้จะมาถึงตัวเรา อีกนัยหนึ่งเราก็อยู่ในสถานที่วิเวกคนเดียว เปลี่ยว.....”

ท่านรำพึงว่า

“ภาวนานั้น ถ้ามีแต่สมาธิอย่างเดียว ต้องมีนิมิตต่าง ๆ หลอกอยู่เรื่อย ๆ เกิดจากอุปจารสมาธิ มีอุคคหนิมิตทำให้เป็นบ้าไปได้ ทำให้ไม่อยู่ในสมาธิ ความสงบและสุขไปได้ ถ้าเอาภาวนา เอาวิปัสสนาผสมสมาธิแล้ว ย่อมไม่เกิดนิมิต เพราะไตรลักษณ์ล้างอยู่เสมอ และไม่สำคัญตน และไม่เป็นบ้า เกิดนิมิตทั้งหลายก็รู้เท่า”

ท่านมิได้ฉันยา หากใช้ธรรมโอสถพิจารณาลงไปที่ ชรา พยาธิ และมรณะ เฉพาะ พยาธิ และ มรณะ นั้น ท่านพิจารณาหนักแน่นเป็นพิเศษ แล้วบันทึกว่า

“อาพาธเปลี่ยนฤดู เปลี่ยนอิริยาบถไม่เสมอ อาพาธตอนเพียรกล้า อาพาธกรรมวิบาก เย็น ร้อน อ่อน หนาว หิวข้าว กระหายน้ำ อุจจาระปัสสาวะ มีประการต่าง ๆ ของกายนี้ทั้งนั้น เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นจริงแล้ว ย่อมไม่รับ ย่อมเสียสละ ย่อมบรรเทาเสีย ย่อมให้พินาศเสีย ย่อมไม่เกิดต่อไป”<
83#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านตั้งปณิธานเด็ดเดี่ยว....เพื่อเอาชนะกิเลสลงไปว่า

“ทำความเพียรให้แข็งแรง เอาเป็นเอาตายทีเดียว ป่าช้าอยู่ที่ไหน... ไป ! กำหนดตายที่ไหน เผา ณ ที่นั้น ดังนี้.....”

ความจริง เมื่อท่านเอาชนะกิเลสได้แล้ว เวลาก็จวนแจจะเข้าพรรษาแล้ว เป็นบุคคลอื่นก็คงจะจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำมโหฬารนั้นเอง เพราะสถานที่ก็ค่อนข้างคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ด้วยท่านเพิ่งได้จำพรรษาที่ ๓๖ ณ ถ้ำมโหฬาร เมื่อปี ๒๕๐๓ นี้เอง

แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่หลวงปู่....

ท่านเห็นว่า การเที่ยววิเวกเปลี่ยนสถานที่ทำความเพียรไปเรื่อย ๆ จะทำให้จิตตื่น อยู่เสมอ ที่เก่า ซึ่งเคยได้อธิบายวิธีชนะกิเลสมาแล้ว ไม่ใช่ว่าครั้งใหม่จะใช้วิธีเก่าได้เสมอไป

โรคมันชินยาอย่างหนึ่ง หรือสถานที่มันจืดไปอีกอย่างหนึ่ง

ความจริง ท่านเองนั้นแหละ ที่คิดว่า ที่เก่านั้นมัน "จืดไป" ควรแสวงหา “สถานที่ใหม่” “บุคคลใหม่” “อากาศใหม่” ต่อไป

ท่านเดินทางออกจากเลย ผ่านอุดร แล้วเข้าเขตจังหวัดขอนแก่น และในพรรษาที่ ๓๘ นี้ ท่านก็กลับไปเข้าพรรษาที่ เขาสวนกวาง ซึ่งท่านได้เคยจำพรรษามาแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พรรษาที่ ๒๘

เวลาห่างกัน ๑๐ ปีเต็ม ทำให้ท่านรู้ดีกว่าเป็นสถานที่แห่งใหม่ ที่ควรวิเวกจิตเปลี่ยว กายเปลี่ยว มันเปลี่ยว... จิตวิเวก กายวิเวก มโนวิเวก... ท่านจึงมีเวลาทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง ณ ที่นี้ท่านได้พบญาติโยมที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมาแต่ครั้งก่อน ต่างก็ปีติยินดีที่ได้มีโอกาสกราบรับธรรมะอีกวาระหนึ่ง ท่านจึงต้องเป็นธุระเทศนาอบรมสั่งสอนพวกเหล่านั้นต่อไป รวมทั้งบรรดาญาติมิตรของเขาซึ่งเมื่อทราบข่าวก็มาร่วมฟังธรรมด้วย กลายเป็นเกิดมีที่มาทำบุญทานการกุศล ถือศีลภาวนาอยู่ด้วยท่านเป็นกลุ่มใหญ่แทบทุกวัน

ในบันทึกของท่าน ตอนหนึ่ง ท่านได้สำเนาคำเทศนาอบรมญาติโยมไว้กัณฑ์หนึ่งเป็นการพรรณนาถึงอานิสงส์ของการทำทานและรักษาศีล ซึ่งจะทำให้ไปเกิดในสุคติภพโลกสวรรค์ ให้เว้นจากกรรมอันชั่วร้าย เพื่อไม่ต้องไปอุบัติในนรก นับเป็นการแจกแจงอย่างละเอียดกว่าที่เคยฟังท่านเทศน์ในสมัยหลัง ๆ จึงขอนำสำเนาบันทึกเทศน์กัณฑ์นี้มารวมพิมพ์ในประวัติด้วย

โลก คือหมู่สัตว์ มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาที่อาศัยอยู่ในโลกเวลานี้มาจากภพต่าง ๆ ด้วยกรรมดีและกรรมชั่ว มาเกิดเลวและประณีต แล้วแต่กรรมของสัตว์ตบแต่งสัตว์นั้น ๆ สัตว์เหล่านั้นจะเป็นพวกเปรต อสุรกายสัตว์เดรัจฉาน ในประเภทไหนก็ตาม ต้องมาทำความชั่วในมนุษย์ทั้งนั้น สุคติจนถึงพระนิพพานก็มาสร้างในมนุษย์นี้เช่นเดียวกัน มนุษย์เป็นที่ประชุมแห่งรถไฟสายต่าง ๆ บุคคลจะไปจังหวัดใด ๆ ก็ต้องออกประชุมที่ต้นทางทั้งนั้น

จะกล่าวถึงนรกนั้นร้ายกาจ ไหม้สรรพสัตว์ทุกอย่างโดยไม่เหลือ ให้เป็นจุณไปทั้งนั้น ยิ่งกว่าไฟมนุษย์นี้หลายเท่า แม้สาวกพุทธชิโนรส ท่านผู้มีฤทธิ์พระโมคคัลลานะ พระมาลัยเถรเจ้า เมื่อท่านองค์ใดองค์หนึ่งไปเยี่ยมนรก แม้พระอรหันต์ขีณาสพสาวกเจ้าทั้งหลายองค์อื่น ๆ ต้องเกรงกลัวขยาด น้อยคนนักที่จะมีอภิญญาต่อสู้นรกได้

ในสภาพภูมิประเทศที่สัตว์ทำชั่วไว้ในอดีตเป็นปัจจัยอยู่ในนรกนั้นเป็นสัตว์ที่ขาดแคลนที่สุด ปราศจากผ้านุ่งผ้าห่ม ข้าวน้ำโภชนะอาหารทุกประเภท เช่น มีสิ่งอื่น ๆ จะอุปโภคบริโภคก็กลายเป็นดินน้ำไปเป็นน้ำกรดไปทั้งนั้น ตั้งใจจะทำบุญก็สายเกินไป สัตว์นรกไม่มีสมบัติอะไรจะทำบุญ และไม่มีพระเจ้าพระสงฆ์ที่จะมารับทักขิณาทานในนรกนั้นด้วย ครั้นจะปลีกตนมาทำบุญในมนุษย์โลกก็ไม่ได้เพราะอยู่ในที่คุมขังเสียแล้ว พญายมบาลรักษาอย่างกวดขันหมดหนทางที่จะทำบุญเช่นนั้น แม้จะภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆได้อย่างไร เพราะนรกเผาอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน มิได้ขาดระยะ ครั้นสัตว์นรกเหล่านั้นอด ๆ อยาก ๆ จะหาโอกาสไปปล้นกิน ก็ไม่มีเศรษฐีอยู่ในนรกให้สัตว์นรกปล้น

เมื่อพ้นจากนรกแล้วก็พากันมาเกิดตามยถากรรมอีกต่อไป สัตว์บางอย่างตกนรกแล้วตกอีกเล่า ประเดี๋ยวตกขุมน้อยบ้าง ขุมใหญ่บ้างสับสนกัน ไปเกิดเป็นเปรตบาง เป็นอสุรกายบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง แม้เศษบาปที่ทำในมนุษย์ไซร้นั้น มาเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่บริสุทธิ์ มีอวัยวะพิการอย่างใดอย่างหนึ่งและมีการอด ๆ อยาก ๆ ถือกระเบื้องกะลาขอทานเขากินตามท้องตลาด

84#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อสัตว์เหล่านั้นกระทำดีเป็นกุศลนั้นเล่า บุญส่งให้เกิดบนสวรรค์เทวโลกทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ละอย่างๆ ล้วนแต่เป็นของที่เลิศ ๆ ทั้งนั้น เทวโลกสมบูรณ์ไปด้วยสมบัติต่าง ๆ เทวโลกนั้นจะทำบุญให้ทานแก่ใครเล่า สถานที่เทวโลกนั้นเป็นสถานที่มีสมบัติมั่งคั่งด้วยกันทั้งนั้น ก็เทวดาองค์ใดที่จะรับทานกันเล่า ครั้นจะภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆก็ไม่ได้ เพราะสถานที่เทวโลกนั้นเป็นสถานที่มีอารมณ์อันฟุ้งซ่านทั้งนั้นไปโดยรอบ ไม่วิเวกสงบสงัด ครึกครื้นไปด้วยเสียงต่างๆ ครั้นจะกระวายให้ล้ำเลิศ ก็ไม่มีพระเจ้าพระสงฆ์รับทักขิณาทานในสถานที่นั้น แม้เทวโลกจะทำบุญกุศลสิ่งใดก็ไม่ได้ทั้งนั้น ไม่เหมือนมนุษย์โลกที่เราอยู่นี้ บนสวรรค์ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาถนนหนทางเหมือนมนุษย์โลก ตลอดคุกตะรางไม่มีเทวโลก เทวดาท่านเหล่านั้นไม่มีอันธพาลทะเลาะวิวาทกัน เทวดาทั้งหลายล้วนแต่มีความสุขสำราญด้วยกันทั้งนั้น พักผ่อนหย่อนใจ กล่าวคือ นั่ง ๆ นอน ๆ ยืนเดิน บำเรอความสุขของตนที่พากันทำไว้แต่มนุษย์โลกทั้งนั้น หมดบุญแล้วจุติไปเกิดตามยถากรรมของท่าน

พระองค์ตรัสไว้ว่า สวรรค์นั้นมีการทำบุญและความดีบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านว่าเป็น อัพโพหาริก มีเหมือนไม่มีดุจน้ำติดอยู่ในจอกแก้วนิดหน่อย มีบุคคลอื่นถามว่าน้ำในแก้วมีหรือไม่มี ใคร ๆ ก็คงตอบว่าจะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ย่อมเป็นผลพลาดพลั้งทั้ง ๒ อย่างเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเทพบุตรบางองค์ เช่น พระเตมีย์โพธิสัตว์จึงกลั้นใจตาย จากชั้นดุสิตเทวโลกมาเกิดมนุษยโลก เพื่อสร้างพระบารมีต่อไป ฉะนั้น เทวดาอยู่เทวโลกไม่มีประโยชน์อะไร ล้วนแต่เสวยความสุขของท่านเท่านั้น ก็เป็นข้อวินิจฉัยตามตำรา

พระสูตรปิฎก ท่านกล่าวไว้ มนุษย์เป็นภูมิสถาน มีอุดมสมบูรณ์ด้วยสมบัติต่าง ๆ อุดมเลิศกว่าเทพต่างๆ เรียกว่า เทพพระอินทร์ เทพพรหม เลิศกว่านรกเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เลิศกว่าพระยาครุฑ พระยานาค เพราะภพเหล่านั้น พระพุทธเจ้า พระปัจเจก พระสาวกเจ้าทั้งหลายไม่ไปบังเกิดตรัสรู้ เหตุนั้นชมพูทวีปมนุษย์เป็นที่เลิศ พระพุทธองค์ตรัสว่า อคฺคํ มนุสฺเสสุฯ การที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นของที่เลิศ ฉะนั้นมนุษย์จะเป็นหญิงเป็นชายก็ต้องพากันเลิศทั้งนั้น

ศีล ทาน ภาวนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าล้วนแต่เป็นของที่เลิศ ทำสัตว์ผู้ปฏิบัติไปสุคติภพได้ แม้พระพุทธเจ้า พระปัจเจก พระอรหันต์ท่านเหล่านั้นย่อมมาตรัสรู้ในมนุษย์โลกนี้ทั้งนั้น ท่านเหล่านั้นมาสร้างพระบารมีในมนุษย์โลกทั้งนั้น มนุษย์เป็นธาตุที่พอ เป็นธาตุที่ถูกส่วนเป็นสถานที่บริบูรณ์ย่อมประดิษฐานอยู่ในมนุษย์โลกทั้งนั้น มีพร้อมทั้งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีพร้อมครบทุกอย่างไม่บกพร่องด้วยประการใด จึงได้นามว่าธาตุพอ ภพอื่นไม่พอ ไม่บริบูรณ์ ไม่ครบครันทุกอย่างเช่น สวรรค์มีแต่อารมณ์ความสุข ทุกข์ไม่มี พรหมโลกธาตุไม่พอ มีแต่สุขอย่างเดียว อีกประการหนึ่ง นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานภพเหล่านี้ธาตุไม่พอ มีแต่ทุกข์อย่างเดียว นิโรธมรรคไม่พบ

นี่แหละ มนุษย์เราเป็นภพอันเลิศ เป็นสถานที่รับรองพระพุทธเจ้าพระปัจเจก พระอรหันต์สาวกตรัสรู้ และท่านเหล่านั้นจะต้องเกิดเป็นมนุษย์สร้างพระบารมี เมื่อสร้างพระบารมีครบครันแล้วจึงพากันตรัสรู้ตามวาสนานิสัยของท่าน สัตว์ไหนที่สร้างพระบารมีพอแล้วควรที่เป็นพระพุทธเจ้าก็เป็น ควรเป็นพระปัจเจกก็เป็น ควรเป็นพระอรหันต์ก็เป็น แม้สัตว์ทั้งหลายที่ทำบุญทำบาปที่จะไปภพต่าง ๆ ก็พากันทำบุญในมนุษยโลกทั้งนั้น เช่น สัตว์ทำไม่ดีควรไปตกนรก สัตว์มนุษย์คนไหนทำไม่ดีที่ไม่ร้ายแรงควรไปเกิดเป็นเปรต อสุรกายก็ไปเกิดภพนั้นสัตว์มนุษย์ทำดีเพียงสวรรค์ก็ไปเกิดบนสวรรค์เท่านี้เป็นอาทิ นี้แหละสัตว์ไหนทำดีไม่ดี ที่หอบสู่ภพต่าง ๆ สร้างกรรมบุญ กรรมบาป ไปจากมนุษย์โลกนี้ทั้งนั้น

85#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขอท่านคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ควรรู้ตามที่อาตมาได้บรรยายมาแล้วนี้ นำไปปฏิบัติ เว้นจากกรรมอันชั่วร้ายไม่ให้ทาน การบริจาค มีศีล เว้นจากกรรมอันชั่วร้าย มีภาวนา อารมณ์ดวงจิตให้ฉลาด หลีกเลี่ยงอุปสรรคความชั่วร้ายต่าง ๆ ขอให้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ล้วนแต่เป็นกรรมที่ดี นำไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เพราะพวกเราคณะอุบาสกอุบาสิกาบังเกิดมาในชาติภูมิที่ดีแล้ว ที่ปฏิบัติควรแก่สวรรค์และนิพพานเดินตามพระพุทธองค์กล่าวไว้ จึงได้ชื่อว่าตามรอยพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตามรอยพระปัจเจกทั้งหลาย ตามรอยพระอริยเจ้าคณะอุบาสกอุบาสิกา พระภิกษุสามเณรจึงปฏิบัติได้สวรรค์นิพพานได้เป็นข้อที่พวกเราควรสนใจในศาสนาให้มาก

ชีวิตมนุษย์เป็นของน้อย นรก สวรรค์เป็นของอายุมาก นับตั้งกัปตั้งกัลป์ทีเดียว ขออย่ามัวเมาในวัยของตน เช่นเด็กมัวในความเป็นเด็กเล่นฝุ่น คนหนึ่งก็เมาในความเป็นหนึ่งของตัว เช่นตบแต่งร่างกายให้สวยงามเล่นบ้าง สาวทะเยอทะยาน ขวนขวายแต่ทางกามจนค่ำจนมืด จนลืมกิจการทุกอย่าง หัวไร่มัวนาเรือกสวนไปต่าง ๆ คนจนก็มัวเมาความทุกข์จนของตน คนมั่งมีก็เมาความมั่งมีของตน นี้แหละคน เกิดมาในโลก ไม่ว่าคนประเภทไหน ความมัวเมาประกอบด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ธาตุเมาอันนี้ยังวุ่นวายอยู่ในโลก พากันเดือดร้อนอยู่ในโลก เกิดทะเลาะวิวาทกันอยู่ในโลก ฆ่าฟันล้มแทงกันจนติดคุกติดตะรางกัน ฟ้องร้องกัน เป็นคดีโรงร้านโรงศาล ประเทศต่อประเทศก็เกิดสงครามฆ่าฟันกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากธาตุเมากันทั้งนั้น

ท่านผู้เป็นสัปปุรษนักปราชญ์ เมื่อมาพิจารณาตริตรองในโลกนี้เป็นของที่วุ่นวายอยู่เช่นนี้ ท่านเหล่านั้นก็พากันบำเพ็ญ ทาน รักษาศีล ภาวนา ด้วยการสดับพระธรรมเทศนา พากันหลีกเร้นออกจากสงสาร หวังใจเดินตามรอยพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่เป็นประวัติการสั่งสอนกันสืบ ๆ มาเป็นแบบ เป็นตัวพิมพ์ เมื่อไม่ผิดธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แม้ธาตุเมาอันนี้สู่สิงอยู่ในดวงจิตของผู้ใด ไม่ว่าหญิงชาย ไม่ว่าหนุ่ม เด็กแก่ ชรา ทำให้ฆ่าสัตว์ก็ฆ่าไปเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียเลี้ยงผัวเลี้ยงหลาน พอที่ลักก็ลัก พอที่จะทำกามเสพสมบุตรภรรยาคนอื่นก็ทำไป พอที่มุสาหลอกลวงอำพรางไป พอได้เลี้ยงชีพชั่ววันหนึ่ง ๆ พอที่จะดื่มสุราเมรัยก็ดื่มสุราเมรัยให้มันเมา เสียเงินเสียชื่อเสียเสียง ด่าบ้านด่าเมืองไปต่างๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ได้ชื่อว่าผิดศีลผิดธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คนเช่นนี้ไม่มีโอกาสจะปฏิบัติศีลธรรมภาวนา มีคติอันชั่วร้าย บุคคลคนนั้นมีชีวิตอยู่ในโลกก็หนักโลก แม้ตายไปก็ไปทุคติ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือนรกนั่นเอง เป็นที่หนักใจแก่พระยายมบาล จะลงโทษทัณฑกรรมต่าง ๆ นี้แหละขอท่านคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พึงสนใจว่า คนที่ทำชั่วผิดศีลธรรมแล้วต้องได้รับกรรมอันร้ายเช่นนั้น เพราะฉะนั้นให้พากันเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมว่าเราทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเช่นนั้น ในที่สุดธรรมเทศนานี้ ขออวยพรให้

ท่านทั้งหลายพึงอยู่โดยอายุ วรรณะ สุขะ พละ พรทั้ง ๔ ประการนี้ประสิทธิ์ประสาทมาแต่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าระหว่างที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่


http://www.dharma-gateway.com/mo ... ouis-hist-04-09.htm
86#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๓๙ พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้อุบายธรรมจากกัลยาณมิตร

จำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี

ออกพรรษา ปี ๒๕๐๕ ในเดือนตุลาคม ท่านก็ออกจากเขาสวนกวางขอนแก่น กลับไปบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง ด้วยรสชาติอันดูดดื่มแห่งการภาวนา ณ ที่นั้นยังเป็นที่ระลึกถึงอยู่

ท่านเดินทางแบกบาตร แบกกลดไปแต่เพียงองค์เดียว ท่านบันทึกไว้ในปลายปี ๒๕๐๕ ว่า

“มาอยู่ถ้ำมโหฬาร มาตั้งแต่เดือน ๑๑ ตุลาคม จนถึงเดือนอ้าย ๐๕ (ธันวา ๒๕๐๕...ผู้เขียน) อยู่ที่นี่สงัดดี วิเวกดีเหลือที่สุด เป็นสัปปายะทุกอย่าง อากาศดี เสนาสนะดี อาหารค่ำแต่บุคคลไม่ค่อยดี ภาวนาได้ทั้งกลางวันและกลางคืน”

ท่านหลบอยู่ในถ้ำ หลีกเร้นตัว เร่งทำความเพียรอย่างหนัก ไม่ติดต่อกับญาติโยม หรือสำนวนของท่านที่ว่า “อาตมาไม่ รับต้อน แขกรับต้อน คือ “ต้อนรับ” นั่นเอง

ทำให้ท่านได้รับความสงบกว่าทุกแห่ง ที่พอมีข่าวรั่วไปว่ามีพระธุดงค์หรือโดยเฉพาะ “หลวงปู่” ไปอยู่ใกล้ ๆ ก็จะมีผู้มารบกวน ขอโน่นขอนี่ ซึ่งคราวนี้ท่านบันทึกไว้ว่า

“ดี...บัตรเบอร์ไม่มีคนมารบกวน เพ่งไตรลักษณ์ดีนัก”

พักจากการนั่งภาวนาหรือเดินจงกรม หลวงปู่ก็ใช้การเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการพิจารณาธรรมชาติบ้าง การอ่านพระไตรปิฎกบ้าง

ดังที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ว่าในการออกเดินธุดงค์ของท่านทุกครั้ง นอกจากบริขารจำเป็นสำหรับสมณะแล้ว ที่จะขาดไม่ได้สำหรับท่านก็คือ หนังสือ ๒ หรือ ๓ เล่ม ซึ่งท่านจะต้องนำติดองค์ไป ขนาดพอใส่ย่าม...จำนวนไม่มากเพื่อประหยัดน้ำหนักในการต้องสะพายขึ้นเขาลงห้วยไปด้วยกัน โดยมากจะเป็นหนังสือพระไตรปิฎกเล่มหนึ่ง อีกเล่มหนึ่งก็เป็นพวกบุพพสิกขาวรรณนา หรืออะไรทำนองนั้นและที่สำคัญที่สุด...เป็นสมุดเล่มเล็กที่ท่านจะบันทึกข้อธรรมะต่าง ๆ อันอาจจะเป็นหัวข้อธรรมที่ท่านเห็นว่าสำคัญหลังจากอ่านหนังสือใด ๆ มาแล้ว หรืออาจจะเป็นเรื่องที่ประหวัดคิดถึงเหตุการณ์ หรือธรรมะที่ท่านได้รับการอบรมมาจากบูรพาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งของท่านแต่ก่อนเก่า... หรือเป็นธรรมะที่ผุดพรายขึ้นมาหลังการภาวนา...สิ่งเหล่านี้ท่านจะบันทึกลงไปโดยสิ้นเชิง

อยู่ถ้ำมโหฬาร ท่านได้อ่านพระไตรปิฎกซ้ำแล้วซ้ำอีก ได้บันทึกความที่เห็นว่าสำคัญลงไปมากมายหลายประการ ถ้ำมโหฬารนี้ ท่านเคยมาวิเวกหลายครั้งและครั้งสุดท้ายได้มาจำพรรษาอยู่เมื่อปี ๒๕๐๓ เห็นว่าเป็นที่สัปปายะแก่การบำเพ็ญเพียร ท่านจึงหวนกลับมาอยู่ และการบำเพ็ญเพียรคงได้ผลดีมาก ท่านจึงอยู่ถึง ๓ เดือน

เมื่อล่วงขึ้นปีใหม่ ปี ๒๕๐๖ อันเป็นฤดูกาลที่หมดฝนแล้ว ตามวัดต่าง ๆก็เริ่มมีงานบุญกัน การมาอยู่ในละแวกถิ่นบ้านเกิด หลวงปู่ในฐานะที่เป็น “ลูก” ของจังหวัดเลย และหมู่เพื่อนยกย่องว่ามีวาทะโวหารดี สามารถพูดจาโน้มน้าวจิตใจญาติโยมพุทธบริษัทให้เลื่อมใสศรัทธาในการบุญทานการกุศลได้ดีกว่าหมู่พวก จึงได้รับนิมนต์ให้เป็นผู้เทศนาในการเริ่มงานบุญบ้าง เขียนใบเชิญชวนบอกกำหนดการบุญในนามของเจ้าอาวาสบ้าง เผอิญท่านเป็นคนละเอียดลออ เทศน์ไปให้แล้ว เขียนใบเชิญชวนให้ไปแล้ว...ท่านก็บันทึกข้อความไว้ในสมุดส่วนตัวของท่าน พร้อมทั้งมีวันที่กำกับ ทำให้ติดตามประวัติท่านได้ ว่า ขณะนั้นท่านอยู่ ณ จุดใด ที่ใดในประเทศไทย

เช่น วันที่ ๒๓-๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ตรงกับวันแรม ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ท่านกำลังอยู่ที่ถ้ำแก้งยาว บันทึกย่อข้อความสำหรับเทศนา ที่จะแสดงในการบุญของถ้ำผาปู่ ซึ่งได้มีศรัทธาญาติโยม นายอำเภอ บริจาคทรัพย์จัดสร้างทาง ๔ สายเข้าวัดถ้ำผาปู่ พร้อมทั้งศาลาหอฉัน.. อีกไม่นานต่อมาก็จะเป็นบันทึกข้อความโดยละเอียดของเทศนาที่ท่านแสดงโดยพิสดาร ณ ถ้ำผาปู ถึงการบุญและอานิสงส์ต่าง ๆ รวมทั้งข้อความพรรณนาสรรเสริญความสงัดวิเวกของถ้ำผาปู่ด้วย.....
87#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนใหญ่จะเป็นวัดในเขตละแวกใกล้เดียง แต่บางครั้งก็จะเป็นวัดที่อยู่ในอำเภอห่างไกลออกไป คงจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ในเขตอำเภอเมือง วังสะพุงภูกระดึง เชียงคาน หากวัดกัมมัฏฐานวัดใดจะมีงาน วัดนั้นก็จะมานิมนต์หลวงปู่ไปร่วมงานโดยให้เป็นองค์สาธกอานิสงส์แห่งการบุญเสมอ

ท่านได้ทำความเพียรเพื่อตน เป็น อัตตัตถประโยชน์ ช่วยงานหมู่พวกและญาติโยม เป็น ญาตัตถประโยชน์ ส่วน ปรมัตถประโยชน์ อันเป็นประโยชน์สุดยอด สูงสุด เพื่อความเกษม หลุดสิ้นแห่งอาสวกิเลสทั้งปวงนั้น ท่านก็กำลังทำความพากความเพียรอยู่ แต่ครูบาอาจารย์ที่เมตตาสั่งสอนผ่านมา ดั่งเช่น ท่านพระอาจารย์บุญท่านพระอาจารย์เสาร์ และ ท่านพระอาจารย์มั่น แต่ละองค์ล้วนมีพระคุณล้นฟ้าล้นดิน ซึ่งหลวงปู่ท่านได้เทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้าด้วยความเคารพรักนั้น แต่ละองค์ท่านก็ได้นิพพานไปแล้ว คงมีแต่ “ตน” ซึ่งจะต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนอยู่ในขณะนี้อย่างเดียวดาย

ท่านเล่าว่า นึกถึงตนขณะนั้น บางครั้งให้เกิดความรู้สึกว้าเหว่นัก


บริเวณถ้ำกลองเพล

ปี ๒๕๐๖ นี้ ท่านได้ตกลงใจไปจำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพลอีกครั้งหนึ่งด้วยรำลึกนึกถึงหลวงปู่ขาว ซึ่งเป็นกัลยาณมิตร สนิทสนมกัน ว่าอะไรก็เห็นด้วยกันไม่ขัดแย้งกัน ท่านบันทึกถึงการจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำกลองเพลงไว้สั้น ๆ ว่า

“พ.ศ.๒๕๐๖ จำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำกลองเพล ภาวนาดีนัก เสนาสนะดี ปรุโปร่งแจบจมดี ได้กัลยาณมิตรดี ท่านอาจารย์ขาว ดีกว่าจำพรรษา ณ ที่อื่น”

ต่างองค์ต่างอยู่ในที่ภาวนากันเหมือนดังที่ท่านเคยได้มาจำพรรษาอยู่แล้วในปี ๒๕๐๑- ๒๕๐๒ บริเวณวัดถ้ำกลองเพลนั้นกว้างขวางมาก เป็นป่า เป็นเขามีโขดหิน มีธารน้ำ เต็มไปทั้งบริเวณวัด จะอยู่ที่ใดก็เป็นที่เงียบสงบ สัตว์ป่าก็ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกช้างป่า ซึ่งดูจะเป็นมิตรสนิทสนมกับหลวงปู่ขาวอย่างยิ่งท่านเล่าว่า หลวงปู่ขาวนั้นมีบุญบารมีเกี่ยวกับช้างมากมาย เห็นทีว่าท่านคงจะเคยมีชาติกำเนิดเก่ามาแต่ปางก่อน เป็นพญาช้าง บรรดาช้างซึ่งเกิดในชาติปัจจุบันจึงเคารพยำเกรงท่านมาก สมัยเมื่อท่านขึ้นไปจังหวัดภาคเหนือ เพื่อติดตามหาท่านพระอาจารย์มั่นเมื่อได้พบท่านระยะหนึ่งก็ธุดงค์ไปด้วยกัน ได้มีช้างออกหากินอยู่ข้างทางซึ่งเป็นไหล่เขาทางนั้นเป็นทางซึ่งหมิ่นเหม่ที่จะตกลงเหวอีกข้างหนึ่ง ด้านหนึ่งเป็นเขาอันสูงชันเป็นที่อันจำกัด แล้วช้างนั้นก็ยังขวางทางอยู่ ท่านพระอาจารย์มั่นก็บอกให้หลวงปู่ขาวให้จัดการ “เจรจา” กับช้างเหล่านั้น เข้าใจว่า โดยที่ท่านพระอาจารย์มั่นหยั่งรู้ถึงอดีตชาติของหลวงปู่ขาว ท่านจึงบอกเช่นนั้น

หลวงปู่ขาวก็ออกหน้าหมู่เพื่อน เข้าไปเจรจากับช้างบอกว่า

"พี่ชาย ท่านก็เป็นสัตว์ซึ่งใหญ่น่ากลัว พวกเราเป็นมนุษย์ จะต้องเดินทางต่อไปทางนั้นซึ่งมีทางเดียว ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงไปที่นั่นได้ ขอให้พี่ชายจงเห็นใจเรา เพราะร่างของท่านนั้นก็แสนจะน่ากลัว ถ้าเผื่อเห็นใจกันได้ ขอให้ท่านเอาหน้าซุกเขาหลบทางให้พวกเราวางใจว่าท่านจะไม่ทำอันตราย เราจะได้เดินทางผ่านไป พวกเราเป็นเพศนักบวชจะพากันไปเจริญศีล ภาวนา ได้กุศลก็จะได้แผ่เมตตาให้แก่ท่าน ขอให้ผ่านทางให้แก่เราด้วยเถอะ"

หลวงปู่ขาวบอกว่า ช้างนั้นก็ดูแสนรู้คำพูดนั้น ฟังแล้วก็นั่งหันหลังให้ เอาหน้าซุกเข้าก้อนหิน ดูท่าทางจะรู้ภาษากันดี ดังนั้นคณะธุดงค์ชุดนั้นก็เดินผ่านเข้าไปได้ ข้อนี้ซึ่งหลวงปู่บอกว่า เป็นอัศจรรย์ข้อหนึ่ง
88#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จำพรรษาในปีนี้ ท่านได้แยกอยู่ห่างจากหมู่เพื่อน มาอยู่คนเดียวอีกด้านหนึ่งของบริเวณถ้ำกลองเพล มานั่งคิดนึกถึงตนแล้ว ก็ให้นึกสะท้อนใจ ท่านรู้องค์ว่าท่านได้พยายามปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนามาอย่างเด็ดเดี่ยว สิ่งใดที่ครูบาอาจารย์พูดว่าให้กล้า ให้ทำความเพียร ก็ได้พยายามทำตามคำที่ท่านแนะนำ หรือได้ยินได้ฟังท่านพูดท่านอบรมให้ฟัง อย่างเช่น การอดนอน ผ่อนอาหาร ผ่อนข้าว ผ่อนน้ำ อาหารเคยฉันเต็มอิ่ม ก็ลดละให้เหลือเพียงวันละ ๒๐ คำ ผ่อนเหลือ ๑๐ คำ ๕ คำ หรือไม่ฉันเลยก็มี ไม่ฉันเป็นวัน ๆ หรือเป็นอาทิตย์ก็มี อดข้าวเพื่อจะดูกำลังความเพียรของตนว่าจะสามารถอดทนได้เพียงใด ส่วนน้ำนั้นก็แสนจะประหยัด มัธยัสถ์ ใช้วันละกา ครึ่งกาเป็นที่กล่าวขวัญกันมานานแล้ว เคยพูดกันว่า อดข้าวนั้นอดได้ แต่อดน้ำนั้นลำบากแต่ท่านเองก็พยายามแม้แต่การอดน้ำ

ท่านเคยได้รับคำทักจากครูบาอาจารย์ว่า ท่านนั้นเป็นคนราคจริต คือเป็นคนรักสวยรักงาม ชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย เห็นสิ่งไม่งดงามจะทนไม่ได้ ท่านก็พยายามทรมานตนเอง ให้เห็นเป็นอสุภะ ความไม่สวยไม่งามของกาย แม้แต่เครื่องนุ่งห่ม จีวรก็ต้องเย็บปะชุนจนแทบจะหาเนื้อเดิมไม่ได้ เอาผ้าบังสุกุลหรือที่เขาเรียกว่า ผ้าเกลือกฝุ่น ที่ทิ้งไว้ตามทุ่งนา เอามาปะเย็บเป็นของตน หากมีใครถวายจีวรใหม่สบงใหม่ ก็จะถวายให้พระองค์อื่นไป แต่ตัวเองนั้นจะต้องใช้ของเก่า ซอมซ่อ ดูสกปรก เพราะปะซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ความจริงก็ต้องซักให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ

ท่านทรมานตนเพื่อที่จะไม่ให้เป็นคนราคจริต รักสวยรักงาม อดทนทุกอย่าง เพราะว่าจิตเดิมเคยรักความงาม เคยเกิดมาในบ้านในตระกูลที่ร่ำรวยมีอันจะกิน เคยกับของงามของสูง ก็ดัดสันดานจิตของตนให้ไปเคยชินชากับความไม่สวย คิดขึ้นมาได้ว่า แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดในปราสาทราชวัง เกิดเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีนางสนมกำนัลห้อมล้อม มีความสุขความสบาย แต่กระนั้นท่านก็ยังกล้าสละความสำราญความสบายเหล่านั้น ออกมาแสวงหาโมกขธรรม ตัวเรานั้นเทียบไม่ได้เลยกับองค์พระบรมศาสดา ไฉน ทำไมเราจะทำเป็นคนทุกข์คนยาก ลำบากเช่นนั้นไม่ได้


หลวงปู่นวดขาให้หลวงปู่ขาว

ส่วนการพักการนอนนั้น ท่านก็ทำเนสัชชิก อธิษฐานไม่นอน ไม่ยอมให้หลังแตะพื้นเป็นเดือน ๆ อยู่เพียงในอิริยาบถ ๓ คือ เดิน ยืน และนั่ง เท่านั้น ส่วนอาหารการกิน ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ให้อยู่ด้วยความอดอยากยากแค้นเหลือเกิน การเดินจงกรมก็เดินครั้งละเป็นครึ่งค่อนวัน เดินจนเท้าแทบจะแตก ทะลุ แต่ส่วนใหญ่ก็ได้เพียงความสงบ จะพิจารณาให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ก็ดูเลือนลางอยู่ อย่างเช่น การม้างกาย เห็นเป็นปฏิภาคนิมิตคล่องแคล่วว่องไว กำหนดไปครั้งใดจิตจะรวมลงกายแตกแยกเป็นส่วน ๆ กำหนดไปให้กายราบ กองร่างกายที่แยกออกเป็นส่วนนั้นให้ราบลงเป็นหน้ากลอง กำหนดให้กลับคืนขึ้นมาเป็นกาย ขยายไปให้ใหญ่โตจนกายนั้นจะใหญ่คับห้องคับถ้ำ หรือจะย่นย่อลงเล็กในขนาดเท่าตุ๊กตุ่นตุ๊กตาตัวน้อยทำได้หมด จนกระทั่งม้างกายตนเองก็กระทำได้ว่องไว ม้างกายไปสนุก จนกระทั่งเก่งกล้าไปม้างกายครูบาอาจารย์ จนกระทั่งถูกดุ ถูกกำราบ

สมัยที่อยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น ท่านนึกขึ้นมาแล้วก็แสนจะให้นึกอายใจ ที่กล้าดี ม้างท่านพระอาจารย์มั่น ไปดูจิตของท่านจนเห็นแสงจิตท่านเป็นสีทองสว่างไสว ท่านพระอาจารย์มั่นท่านรู้ ท่านจึงกำราบเสียยกใหญ่ ดูเป็นการที่สนุกสนานที่จะได้ม้างกาย ได้รู้จิตคนอื่น แต่นั่นก็เป็นเพียงด้านสมถะ ครูบาอาจารย์สอนให้เอาไตรลักษณ์เข้าฟอกก็รู้อยู่ มันก็เป็นหลักกฎเกณฑ์อยู่ แต่จะบอกว่าเป็น อนิจฺจํ เป็น ทุกฺขํ เป็น อนตฺตา ปากมันว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แต่ใจมันยังไม่ยอมรับ เหมือนกับมีอะไรที่มาปกคลุม กั้นกางอยู่
89#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่เล่าว่า เมื่อท่านมองดูหมู่เพื่อน ใคร ๆ ที่รุ่นราวคราวเดียวกันอย่างเช่น หลวงปู่ขาว ซึ่งเป็นสหธรรมิก ได้บวชในเวลาเดียวกัน เป็นคู่นาคซ้ายขวาด้วยกัน ก็ดูท่านจะผ่านไปสู่ความสงบถึงที่สุดจิตนานแล้ว ก่อนหน้าเราหลายปี ตัวเรานั้นเป็นอย่างไรถึงทำไม่ได้ เพื่อนเราซึ่งบวชพร้อมกันกับเรา ทำไมท่านทำได้ เราเป็นอย่างไร ไม่ได้กินข้าวเหมือนกับเขาหรือ เลือดของเราไม่มีสีแดงเหมือนกันหรือ ท่านไม่มีหิว ไม่มีกระหาย ไม่หนาว ไม่ร้อน ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ดีกว่าเรากระนั้นหรือ ก็ต่างคนก็ต่างเหมือนกัน ทำไมท่านจึงทำได้ ทำไมเราจึงทำไม่ได้ เถอะน่า

หลวงปู่ได้พยายามคิดถึงเรื่องนี้ ระหว่างทำความเพียร ท่านบอกว่า บางครั้งท่านรู้สึกว้าเหว่และอาจจะน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งก็รู้ว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูก แต่มันก็พยายามสร้างขึ้น เพื่อให้เกิดความอุตสาหะวิริยะที่จะทำความเพียร แต่ท่านก็ทราบดีว่า การทำความเพียรนั้น ท่านก็ไม่ได้ย่อหย่อนน้อยหน้ากว่าใคร แต่มันอาจจะเป็นได้ไหมว่า ปัญญายังไม่ได้เกิดขึ้น ปัญญาซึ่งเป็นประดุจเส้นผมบังภูเขา ซึ่งเราเองนึกไม่ออก แต่คนอื่นจะนึกออก

หวนนึกถึงคำที่ท่านอาจารย์มั่นท่านได้เคยพูดว่า ท่อนซุงนั้นมันไม่เข้าตาใครหรอกเส้นผมเล็ก ๆ นั้นต่างหากเล่าที่จะเข้าไปในดวงตา กำบังตาไม่ให้เห็นประการใด

คืนวันนั้น หลังจากที่จงกรมแล้วระยะหนึ่ง ก็ได้มาพูดคุยกันกับหลวงปู่ขาว แสดงธรรมสากัจฉาซึ่งกันและกัน หลวงปู่เล่าว่า หลวงปู่ขาวก็คงจะเข้าใจความคิดของท่าน แต่คำน้อยมิได้พูดให้เป็นที่กระเทือนใจ ท่านคงเข้าใจดีว่า ระยะนั้นเพื่อนสหธรรมิกของท่านกำลังกระสับกระส่าย ที่จิตไม่เป็นไปตามที่ต้องการ แต่ท่านจะพูดอะไรตรง ๆ ก็ลำบาก ท่านก็ได้แต่เปรยขึ้น

หลวงปู่ขาวท่านทำทีเป็นเล่าถึงเรื่องสมัยที่ท่านยังอยู่เชียงใหม่กับท่านพระอาจารย์มั่น ขณะที่นั่งภาวนาอยู่ข้างล่าง ท่านก็ไม่สบายใจ นึกบ่นว่า ทำอย่างไร ๆ ทำไมจิตมันจึงแข็งอยู่อย่างนั้น ทำสมาธิก็ไม่ลง ทำอย่างไร ๆ ก็ไม่ลง ทำอย่างไร ๆ มันก็ไม่สงบ ท่านรำคาญเต็มที จึงโกรธว่าตัวเองขึ้นมาว่า

“ที่นั่นมันผีนรกวิ่งขึ้นมาจากอเวจีนี่นา จิตมันถึงได้แข็งกระด้างอย่างนี้ ไฟเผามันอย่างนี้ น่าจะกลับให้มันลงไปอเวจีอีก อย่าให้มันขึ้นมา ให้อเวจีมันเผา”

ท่านด่ามัน เสร็จแล้วก็ลงนอน พอตื่นเช้า หลวงปู่ขาวก็ขึ้นไปจัดการถ่ายกระโถนของท่านอาจารย์มั่น ปฏิบัติท่านอาจารย์ของท่าน ท่านอาจารย์ก็ลุกขึ้นมาว่า

“เอ๊ะ ! ท่านขาว ท่านทำไมทำอย่างนี้ ท่านก็เป็นผู้ประเสริฐเป็นมนุษย์ประเสริฐอยู่แล้ว มาด่าตัวเองเฮ็ดหยัง (ทำไม) ให้ลงนรกอเวจีอย่างไร ไม่ถูกนี่ ท่านมาประจานตน ว่าตนอย่างนี้ไม่ได้ ท่านก็ทำความเพียรอย่างดีแล้ว จะไปว่ามันทำไม ถ้าว่าหนัก ๆ เข้า ท่านอาจฆ่าตัวตายได้นะ และถ้าเผลอไปฆ่าตัวตายเข้าแล้วชาตินี้ ต่อไปนับชาติไม่ได้นะ ที่จะต้องวกวนกลับไปฆ่าตัวตายอีก ฆ่าตัวตายนี่ ถ้าท่านเริ่มขึ้นชาติหนึ่งแล้ว ก็จะต้องต่ออีก ๕๐๐ ชาติ แล้วก็ไปเที่ยวเอาภพเอาชาติผูกเวรผูกกรรมกัน ฆ่าตัวตายอยู่อย่างนั้น อย่าไปทำอีกนะท่าน ไม่ถูก ตัวเองบริสุทธิ์อยู่ ทำไมถึงไปทำตน ไปด่าตนอย่างนี้”

หลวงปู่ขาวบอกว่า ใครไปนึกอย่างไร ทำอย่างไร อยู่ที่ไหน ท่านพระอาจารย์มั่นท่านรู้หมด ท่านก็อยู่กุฏิของท่าน อยู่ทั้งนั้นแหละ แต่ทำไมท่านรู้จิตคนอื่นก็ไม่ทราบ ถึงถูกท่านพระอาจารย์มั่นดุแล้ว แต่หลวงปู่ขาวทั้ง ๆ กลัว มันก็ยังนึกโกรธตัวเองอยู่นั่นแหละ

ขึ้นไปอยู่ดอยมูเซอกับพวกมูเซอ เสือก็มีตัวใหญ่ ๆ ลายพาดกลอน เดินอยู่กลางคืนก็นึกบอก “เจ้านี่มันเลวจริงๆ มันเป็นหยัง มันหยาบแท้ มันแข็งแท้ ให้เสือมาคาบมึงไปกินซะ”

หลวงปู่ขาวท่านเล่า สมัยนั้นท่านเป็นคนโทสจริต ท่านโกรธง่าย โกรธนี่ สมัยที่ท่านมีลูกเล็ก ลูกร้องไห้ท่านจับขาแขวนห้อยลงมาแล้วตีก้น ทั้งตีทั้งด่า มีอะไรนิดหน่อยก็โกรธ ไม่น่าเชื่อเลยเมื่อได้ยินอย่างนี้ เพราะว่าภาพหลวงปู่ขาวที่พวกเราเห็นระยะหลัง ท่านงามพร้อม ยิ้มของท่านเป็นยิ้มที่เปิดโลก สว่างเข้าไปในหัวใจ ยิ้มที่ทำให้ทุกคนได้เห็นแล้วก็ชื่นใจ เต็มไปด้วยความเมตตากรุณาอย่างที่สุด แต่ท่านบอกว่าเดิมนั้นท่านเป็นคนโทสจริต
90#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นี่แหละ สิ่งที่หลวงปู่หลุยเล่าให้ฟังถึงเรื่องเก่า ๆ หลวงปู่ขาวก็เล่าให้ท่านฟังว่า ด่าตัวเอง นึกว่าตัวเอง โกรธที่จิตไม่ลง ให้เสือมาเอาไปกินซะนึกว่าฆ่ามันได้แล้ว จิตมันจะได้กล้า มันจะได้เกรง อ่อนน้อมยอมต่อเรา ท่านด่าไปจบแล้ว ก็ไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ นั่งอย่างไร ๆ จิตมันก็ไม่ลง ท่านก็เลยนอน

คืนนั้น ท่านบอกว่า พอหลับไปปรากฏมีนิมิตเห็นมารดามานั่งอยู่ข้าง ๆ เห็นพวกมูเซอมาจากไร่ หอบผักใส่ตะกร้าแบกขึ้นหลังมา โยมมารดาท่านบ่นขึ้นว่า “ขาว..ขาว นี่ ทำอย่างไรถึงเป็นหนอ”

พวกมูเซอก็พูดว่า “ไม่ยาก ๆ เอาของอ่อนให้กินเด้อ อย่าไปกินของแข็ง ถ้ากินของแข็งไม่เป็น กินของอ่อนล่ะเป็น”

แม่ท่านก็เลยบอกว่า “ไม่เข้าใจ เป็นอย่างไร ของอ่อน ของแข็ง” แม่ท่านก็เอิ้น (เรียก) ถามขึ้นว่า “ของอ่อนมีอะไรไหม”

“ของอ่อนก็อย่างสาหร่ายไงล่ะ”

แม่ท่านก็บอกว่า “ขาว..ขาว กินของอ่อนเด้อ”

ท่านตื่นขึ้นจากนิมิตความฝัน ไปนั่งสมาธิ เริ่มต้นพิจารณา พิจารณาของแข็ง ก่อน

อะไรหนอที่มูเซอร์ว่าเป็นของแข็ง เรามีอะไรที่เขาว่าเรากินของแข็ง

พิจารณาไป ๆ มา ๆ ผู้รู้ก็ตอบขึ้นว่า “ที่ว่าของแข็งคือความโกรธ ความมักโกรธ นั่นแหละ ของแข็งล่ะ”

แล้วอ่อนล่ะ ที่บอกว่าให้เอาของอ่อนมากิน อะไรคือของอ่อน ?

พิจารณาไป ๆ มา ๆ ก็รู้ขึ้นว่า ของอ่อนก็ต้องเอาเมตตา

ท่านได้ข้อคิดอันนั้น ต่อนั้นมา ท่านก็แผ่เมตตาทั่วสารทิศ แผ่แม้แต่สัตว์ทั้งหลาย แผ่เมตตาไปไม่แต่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมิตรสหาย แม้แต่ศัตรูก็แผ่ไป แผ่ไปโดยไม่มีประมาณ ความโกรธที่เคยสิงอยู่ในดวงจิตนั้นก็ค่อย ๆ อ่อนลง...อ่อนลงแทบจะไม่นึกโกรธอะไรเลย มีแต่ความเมตตาสงสารสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วโลก ให้นึกเห็นใจเขา เขาจะทำอะไรที่ผิดไปบ้าง เขาก็ไม่ตั้งใจ หากเขาตั้งใจ ก็เห็นใจว่าเขาเป็นอย่างนั้น เขาถึงได้ทำอย่างนั้น เป็นความลำบากของเขาเอง ที่เขาไม่ดี ไม่ได้เกี่ยวอะไร ให้นึกสงสารเขา

เมื่อแผ่เมตตาไป ๆ ความโกรธนั้นก็ค่อย ๆ อ่อนลง จิตก็ไม่ค่อยแข็ง จิตอ่อนแล้ว จิตอ่อนควรแก่การงานแล้ว นึกจะทำอะไรก็ได้ เป็นจิตที่ดี เป็นจิตที่ควรชม ควรแก่การงาน จะพิจารณาอะไรก็ได้ จิตอ่อนหมายถึงว่าจิตเบา จิตว่าง

ท่านเล่าให้หลวงปู่หลุยฟัง แล้วท่านก็หัวเราะ ว่าตอนนั้นในนิมิตที่เกี่ยวกับโยมแม่มาพูด “ขาวต้องกินของอ่อนเด้อ” มันชัดอยู่ในใจ ไม่มีนิมิตอันนั้น ท่านจะคิดไม่ออก มันเป็นเส้นผมบังภูเขาจริง ๆ

หลวงปู่หลุยได้ยิน ท่านก็ได้คิดว่า อธิบายธรรมทั้งหลายนั้น มันไม่ได้ตรง เป็นการชี้แจงอธิบายอะไรตรงไปตรงมา คำพูดบางคำ พูดนิดหน่อยก็จะสามารถสะกิดใจผู้เป็นปราชญ์ให้คิดขึ้นได้เอง

ท่านก็กลับมาหวนพิจารณาตัวท่านเอง ความโกรธท่านไม่ได้มีอย่างท่านอาจารย์ขาว แต่ท่านมีอะไรที่ท่านรู้อยู่ว่ามันค้างคาอยู่ อุบายธรรมเกี่ยวกับเรื่องของอ่อน ของแข็ง ของหลวงปู่ขาว ก็กลับมาทำให้ท่านคิดได้ สิ่งนั้นคือสิ่งที่ได้ค้างอยู่ในใจมานาน ท่านก็ไม่ค่อยยอมบอกให้แก่ใคร เกรงเพื่อนจะว่า คิดการใหญ่โต คิดเกินตัว นั่นก็คือการที่ท่านปรารถนาพุทธภูมิ ต้องการเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมโดยตนเอง ไม่ต้องอาศัยคำสั่งสอนของใคร อาจารย์ของท่านที่ได้ทราบแต่องค์แรก ก็คือท่านพระอาจารย์สิงห์ ที่หลุดปากสารภาพไปก็เพราะว่า ได้เกิดเรื่องรอยอดีตที่ฝังมาแต่ชาติก่อน ซึ่งท่านได้พยุงพาไป หนีจากอันตรายจากพรหมจรรย์ไปวัดป่าบ้านเหล่างาในครั้งกระนั้น ส่วนท่านพระอาจารย์มั่น ในภายหลังก็คงทราบเช่นกัน เพราะตอนหลังท่านก็มีเมตตา และเห็นใจว่า หลวงปู่ยังเลิกละความปรารถนาที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ค่อยเด็ดขาด การดุว่าตอนหลังท่านจึงเพลาไปมาก
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้