ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง ~

[คัดลอกลิงก์]
101#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถามว่า “ไปอย่างไร ไม่เห็นองค์มา ไม่เห็นตัว หลวงปู่นั่งอยู่เฉย ๆ แล้วบอกว่าไป ใครจะเชื่อ”

ท่านก็ยิ้ม แล้วตอบว่า “ก็ไปแล้วนะซิ ไปด้วยกลิ่น หลวงปู่ชอบก็ไป ไม่ได้กลิ่นหรือ หอมกลิ่นศีลของท่าน” ได้ยินเช่นนั้น เธอและสามีก็ต่างมองตากันด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะการที่ได้กลิ่นดอกไม้ป่าหอมเต็มห้องนั้น ไม่ได้เคยพูดกับใคร นอกจากรำพึงกันระหว่างสองสามีภรรยา ก่อนจะไปกราบท่าน ท่านก็กลับตอบเช่นนี้ และตั้งแต่วันนั้นมา เธอก็ได้กลิ่นหอมตลอดมา และทราบว่า ถ้าเป็นหลวงปู่หลุยจะหอมกลิ่นหนึ่ง ท่านหลวงปู่ชอบจะหอมอีกกลิ่นหนึ่ง

เวลาท่านอบรม ท่านก็แนะบอกให้รักษาศีล ๘ เมื่อบอกว่าทำไม่ได้ ทำราชการไม่มีวันเวลาที่จะดูแเลตนเพื่อรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ได้ หลวงปู่หลุยท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้น รักษาศีลอุโบสถเฉพาะวันพระก็แล้วกัน

วันหนึ่งอยู่เวียงจันทน์ไปเที่ยว วันนั้นไม่ได้เป็นวันที่รักษาศีล แต่กลับหอมดอกไม้ หอมชื่นใจไปหมด รู้ว่าเป็นดอกไม้ที่ไม่มีขายในท้องตลาด เพียงนึกถึงท่านก็ได้กลิ่นดอกไม้ เมื่อเล่าว่า กลิ่นในครั้งก่อน ๆ นั้นเป็นกลิ่นดอกไม้สด แต่เดี๋ยวนี้ดูจะปนกลิ่นกระแจะด้วย ระยะนั้นหลวงปู่ชอบยังไม่อาพาธ ท่านเทศน์ให้ฟังอยู่ด้วย จำได้ว่า เทศน์ที่ท่านเทศน์ให้ฟังนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับให้ทุกคนทำจิตให้สงบ ท่านเทศน์อยู่เป็นเวลาถึง ๑๕ นาที แล้วก็สรุปว่า “ความสุขจะเท่ากับจิตสงบเป็นไม่มี เอวํ” ง่าย ๆ เช่นนี้

ในระยะที่พักอยู่ที่เวียงจันทน์ นอกจากท่านจะพักกันที่วัดจอมไตรแล้ว ก็พักที่นาคำน้อย แต่ก็มีการนิมนต์ไปภาวนาที่ถ้ำผาพร้าวด้วย เธอว่าเธอรู้สึกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับหลวงปู่ทุกองค์ โดยเฉพาะวันนั้นจวนจะถึงกำหนดกลับแล้ว เพราะท่านได้มาพักอยู่หลายอาทิตย์ จึงไปกราบหลวงปู่ชอบ เรียนถามว่าจะกลับเมืองไทยอย่างไร ท่านบอกว่า กลับเครื่องบิน สามีของเธอที่เป็นผู้กราบเรียนถามก็งงว่าจะกลับอย่างไร เพราะถ้าจะกลับโดยเครื่องบิน จะต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่เวียงจันทน์ซึ่งห่างจากที่หลวงปู่และคณะกำลังพำนักอยู่มาก เป็นร้อยกว่ากิโลเมตร ก็ในเมื่อตำบลที่คณะท่านพักอยู่นั้น อยู่ตรงข้ามกับฝั่งไทยพอดี เพียงข้ามแม่น้ำโขงก็จะถึงเมืองไทย การเดินทางกลับทางเรือดูจะเป็นการสะดวกที่สุด อีกประการหนึ่ง ถึงจะไปเวียงจันทน์แต่เครื่องบินไม่มีทุกวัน ตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่ได้จอง จะทำอย่างไร เมื่อท่านบอกว่ากลับเครื่องบิน จึงคิดว่าไม่มีทางจะทำได้

แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา ปรากฏว่ามีผู้นำเสนอจะนำเครื่องบินมาส่งให้ เป็นเครื่องบินของทางราชการ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาใด ตกลงพระ ๙ องค์ ก็ขึ้นเครื่องบินมา สามีของเธอได้ติดตามมาดูแลท่านมาในเครื่องบินลำนั้นด้วย ขณะที่นั่งอยู่ในเครื่องบิน ได้กราบเรียนหลวงปู่ชอบว่า อยากจะขอของดีไว้ให้พวกที่เขามาส่งนี้ด้วย เช่น พวกนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินได้มีไว้คุ้มครองตัว เพราะต้องปฏิบัติงานเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา ท่านก็ยิ้ม ๆ แล้วก็ล้วงลงไปในย่าม ซึ่งย่ามนั้นมองเหมือนไม่มีอะไร แต่ท่านหยิบออกมาทีไร ก็มีพระให้ทุกที ได้ครบกันทุกคนทั้ง ๖- ๗ คน สามีของเธอเป็นคนสุดท้าย ก็คิดอยู่ในใจว่าเราจะขอ "ไอ้งั่ง" เถอะ

“ไอ้งั่ง” นี้เป็นพระที่ทางประเทศลาวยกย่องกันมากว่าศักดิ์สิทธิ์ ช่วยในด้านแคล้วคลาด ก็นึกขออยู่ในใจในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเวลาที่เฝ้าดูนั้นออกสงสัยเป็นกำลังว่า หลวงปู่ชอบหยิบอะไรออกจากย่าม พระแต่ละองค์ที่แต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน และขนาดก็ไม่ใช่เล็กน้อย ทำไมจึงมีได้ทุกครั้ง จึงแกล้งนึกว่า ขอไอ้งั่งเถอะ แต่น่าประหลาด หลวงปู่ชอบท่านก็ควักออกมาจากย่าม แล้วก็ได้ "พระงั่ง" จริง ๆ

เรื่องนี้แม้จะเป็นการแสดงเรื่องพระเรื่องเครื่องราง แต่ก็แสดงว่าท่านมีจิตบริสุทธิ์ สามารถทำสิ่งใด ๆ ได้เสมอ เพียงแต่ท่านไม่พูดไม่แสดงเท่านั้น
102#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เธอกล่าวว่า อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความอ่อนน้อมถ่อมองค์ของหลวงปู่หลุย ระยะนั้นท่านพรรษา ๔๐ กว่า และอายุก็มากถึง ๖๘ พรรษาแล้ว คุณธรรมของท่านเองก็มีอย่างเหลือล้นแล้ว ประดุจน้ำเต็มแก้วเต็มฝั่งแล้ว แต่ท่านก็ยังคุกเข่าล้างเท้าให้หลวงปู่ชอบ และเช็ดเท้าให้อย่างนอบน้อมถ่อมตน เป็นบุคลิกประจำองค์ของท่านโดยแท้

ถ้าจะนำบันทึกธรรมที่หลวงปู่บันทึกไว้ระหว่างที่อยู่จำพรรษามาลงพิมพ์ในประวัติคงจะยืดยาวมากมาย และความจริงก็ได้รวบรวมไปไว้ในภาค “ธารแห่งธรรม” แล้ว เฉพาะครั้งนี้จะขอนำบันทึกอันหนึ่ง ซึ่งท่านจดไว้ตอนที่อยู่ถ้ำผาบิ้ง ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ขันของท่านอย่างยิ่ง เป็นบันทึกที่ท่านคงจะอ่านพบจากหนังสือพิมพ์ และเห็นความน่าขัน ท่านจึงจดลงในสมุดบันทึกของท่าน และเมื่อสิ้นกระแสความจากหนังสือพิมพ์ท่านก็แสดงเป็นธรรมะต่อไปเป็น

“เบื่ออะไรไม่เท่าเบื่อเมีย เบื่อกับข้าว เลิกกินกลับอยากอีก เบื่อดูหนัง เลิกชั่วคราวกลับชอบดูอีก เมียไม่ใช่วัตถุเช่นนั้น เบื่อแล้วจะเปลี่ยนก็ยาก จะขายก็ไม่ได้ จะเก็บไว้ก็ไม่สนิท จะให้คนอื่นเสียก็ไม่ถนัด จะทิ้งก็ไม่รู้ว่าจะทิ้งที่ไหน เบื่อแล้วยังต้องเห็นต้องพบ เข้าใกล้ก็ยิ่งเบื่อ ต้องเป็นเช่นนั้น นี้แหละ ความเบื่อถึงอุกฤษฎ์ ความเบื่อเกิดจากความซ้ำซากจำเจ แก้เบื่อด้วยวิธี หยุด ย้ายที่ หรือพัก หรือเปลี่ยน จะแก้เบื่อพอแล้ว จิตเสมอ ๆ แล้วก็พออยู่ โบราณท่านว่า หนามปัก เอาหนามบ่ง เมื่อเบื่อเกิดจากความช้ำซาก หนักเข้าก็ชาจนชิน การเบื่อมีขึ้นแล้ว ความเบื่อก็หมด ธรรมดาผู้ชายทั้งหมดต้องเบื่อเมีย ส่วนผู้หญิงเป็นเจ้าของผู้ชายต้องทนความเบื่อ ไม่มีความรู้สึกชนิดใดอีกแล้ว ที่มีฤทธิ์รุนแรงเท่ากับความรู้สึกเบื่อเมีย จำเป็นจำใจต้องอดทนไป เบื่อแล้วกลับชอบ เช่นนักเรียนคนหนึ่ง เบื่ออาหารที่เธอกิน ยิ่งกินช้ำซากบ่อยด้วยการจำเป็นจนชิน ต่อไปเธอกลับชอบ เมื่อเธอมีครอบครัวแล้ว เธอก็แต่งอาหารชนิดนั้น กินบ่อย ๆ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค เป็นคู่กัน ชังแล้วกลับรัก รักแล้วกลับชัง เพราะไม่เที่ยง ปุถุชนมีอารมณ์วนเวียนอยู่กับอารมณ์เท่านั้น วางความรัก ความชังไม่ได้ เหมือนพระอริยเจ้าทั้งหลายเพราะเหตุไม่รู้เท่าสังขาร ผัวเมียวนเวียนนอนนำกันอยู่เรื่อย ๆ”

ปี ๒๕๑๕ ปีสุดท้ายที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี่ เป็นปีที่ท่านได้รับกฐินจากคณะศรัทธาจากกรุงเทพฯ นำโดย พล.อ.อ.โพยม เย็นสุดใจ และ คุณหญิงสมควร เย็นสุดใจ ซึ่งท่านเล่าว่า สมัยที่เข้าไปนั้น เป็นครั้งแรกที่มีคณะกฐินใหญ่โตไปถึง ทางเข้าก็ยังไม่มี ต้องใช้รถเกรดนำหน้า ชาวบ้านใกล้บริเวณวัดดีอกดีใจมากที่ได้มีศรัทธามาจากกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะเป็นกฐินที่ได้เงินสูงสุดสำหรับระยะนั้น คือ ๑๕๐,๐๐๐.- บาท จากนั้นพอถึงสิ้นปี ๒๕๑๕ ท่านก็ได้จากถ้ำผาบิ้งมาโปรดประชาชนทางภาคอื่นต่อไป แต่ท่านก็ได้ให้ความเมตตาอุปถัมภ์ บำรุงวัดถ้ำผาบิ้งเสมอมามิได้ขาด หลวงปู่เป็นประดุจพญาช้างที่พอใจซอกซอนซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก ไม่ค่อยยอมออกมาพบความศรีวิไลของบ้านเมือง จนล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัยอายุกว่า ๗๐ ปี ท่านจึงยอมรับนิมนต์เข้ามากรุงเทพฯ บ้าง

พรรษาที่ ๔๙ – ๕๐ พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๗


กลับไปบูรณะบ้านหนองผือ และถ้ำเจ้าผู้ข้า

พ.ศ. ๒๕๑๖ จำพรรษา วัดป่าบ้านหนองผือ ต. นาใน อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร

พ.ศ. ๒๕๑๗ จำพรรษา ถ้ำเจ้าผู้ข้า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ. สกลนคร

หลังจากการจัดสร้างวัดถ้ำผาบิ้งแล้ว ท่านก็ได้เดินทางมาเตรียมบูรณะที่บ้านหนองผือต่อไป ความรู้สึกผูกพันที่ท่านมีต่อบ้านหนองผือนั้นมีมากอย่างยากที่จะกล่าวได้ ชาวบ้านเล่นกันว่า เมื่อครั้งแรกตอนที่นิมนต์ท่านมาพร้อมกับยาหม้อใหญ่ในปี ๒๔๗๘ จำพรรษาแล้วท่านก็หายไป กว่าจะกลับมาให้ชาวบ้านได้เห็นอีกก็ปี ๒๔๘๖ ชาวบ้านนึกว่าหลวงปู่ล้มหายตายจากไปแล้ว เพราะเห็นหายไปนาน ก็ได้แต่อาลัยอาวรณ์ด้วยว่าเป็นพระที่เมตตากรุณา เข้ากับพวกเขาได้มากที่สุด
103#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในยามอัตคัดขาดแคลนท่านก็ช่วยแนะนำสั่งสอนการช่วยวิธีการครองชีพ แม้แต่การทอผ้าท่านก็มาสอนแนะ หาคนมาเป็นครูสอนให้ ทำยาหม้อใหญ่อย่างที่กล่าวแล้ว ช่วยให้ชาวบ้านได้อาศัยกินไม่ต้องซื้อหาหยูกยาอย่างอื่นต่อไป เมื่อร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยเบียดเบียนแล้ว ซึ่งพวกเขาได้รู้สึกประจักษ์แก่พุทธภาษิตที่ว่า อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ

(เมื่อก่อนที่หลวงปู่จะไปอยู่แถวบ้านหนองผือ มีการเจ็บไข้อยู่เรื่อยเพราะบ้านหนองผือเป็นหมู่บ้านที่อยู่กลางหุบเขา มีเขาล้อมรอบ อากาศย่อมชื้น จริงอยู่สำหรับพระธุดงค์กัมมัฏฐานจะใช้เป็นที่หลบขึ้นไปแสวงหาความวิเวกบนเขาได้เกือบรอบด้าน แต่ผู้ที่อยู่จำเจ ณ ที่นั้นจะต้องถูกอากาศกดอยู่เสมอ การที่ได้รับประทานยาตำรับของหลวงปู่ ทำให้คนในหมู่บ้านมีความสุขขึ้น สุขภาพแข็งแรง เมื่อไม่เจ็บไม่ไข้ ก็สามารถใช้สติปัญญากำลังกายทำมาหาเลี้ยงตนได้ต่อไป)

พวกเขากล่าวกันว่าเขารู้สึกสำนึกในพระคุณของหลวงปู่อยู่เสมอ เมื่อเห็นหายหน้าไปนาน เข้าใจว่าท่านคงมรณภาพแล้ว เมื่อกลับมาให้เห็นจึงดีใจกันขนานใหญ่

เมื่อกลับมาในรอบที่แล้ว ก็ยังได้เป็นผู้นำหมู่ ให้อุบายจนสามารถอาราธนานิมนต์หลวงปู่ใหญ่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ให้อยู่เป็นขวัญตาขวัญใจเป็นหลักชัยที่พึ่ง ให้ชาวบ้านหนองผือได้ยึดประจำใจอยู่เป็นเวลานาน ท่านจากมาหลังจากที่หลวงปู่มั่นมรณภาพแล้ว ในระหว่างนั้น แม้ท่านจะไม่ได้จำพรรษาที่บ้านหนองผือ แต่ท่านก็เข้าออกไปมา และคอยดูแลกำกับการอยู่ตลอด ท่านกลับไปอีกทีหนึ่งในปี ๒๕๑๖ จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ และปี ๒๕๑๗ ที่วัดถ้ำเจ้าผู้ข้าซึ่งอยู่ไม่ไกลกันในเขตอำเภอพรรณานิคมด้วยกัน และเป็นที่ซึ่งหลวงปู่ได้ไปบูรณะช่วยเหลือสร้างขึ้นให้เป็นวัดอย่างถาวร ท่านได้บันทึกไว้ว่า

"อยู่บ้านผือ ภาวนาดีมากกว่าอยู่แห่งอื่นเพราะสถานที่พระอริยเจ้า ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เมียง ประทับอยู่ ณ ที่นั้น เป็นสถานที่เป็นมงคล สถานที่เตือนสติบ่อยๆ คล้ายอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ความรู้ธรรมลึกลับสุขุมคัมภีรภาพ ฉะนั้นการบำรุงก่อสร้าง จึงทำให้ถาวรมั่นคงรุ่งเรือง ให้สมฐานะกับสถานที่เป็นมงคล เทศนามีปฏิภาณดี บุคคลสอนง่าย อุบาสกอุบาสิกากลัวเรามาก เพราะเราทรมาน เขามาแต่ก่อน ดุด่าเขาไม่โกรธ อยู่ได้แต่ออกพรรษา เข้าพรรษาอยู่ไม่ได้ อากาศดับ ถ้ำผู้ข้าอากาศดี มีถ้ำเป็นมงคลดี บ้านผือสงัดดีกว่า เกิดธรรมะ สถานที่ดีมาก พระเณรเราว่ากล่าวสั่งสอนได้ ได้มีธรรมะจากสถานที่ ๒ แห่งนี้มากมาย"

ท่านได้เห็นว่า หลังจากที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้มรณภาพแล้ว สภาพวัดป่าบ้านหนองผือดูทรุดโทรมมาก ระยะนั้นแทบไม่มีใครที่จะมาดูแล ได้กล่าวกันว่าแม้แต่ฐานที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยอยู่ถ่าย ก็ได้มีผู้มาขอขุดเอาดินไป ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพระธาตุทั้งนั้น อย่าว่าแต่กระดูกของท่านจะกลายเป็นพระธาตุเลย แม้แต่สิ่งซึ่งถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็จะถือเป็นของปฏิกูลสกปรกโสมมน่าสะอิดสะเอียน ของดีท่านถ่ายทิ้งลงแล้ว หากเป็นของผู้บริสุทธิ์ สิ่งใดผ่านร่างท่าน ผ่านการภาวนาแผ่เมตตาชำระความบริสุทธิ์อยู่ตลอด มูลมูตรมูลคูถจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป

ท่านไปจัดการสอนให้ชาวบ้านรู้จักรักและภาคภูมิใจในสิ่งที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้ฝากร่องรอยไว้ จะเป็นกุฏิของท่านก็ดี ศาลาธรรมก็ดี บริเวณวัด ทางจงกรม ขอให้รักษาไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม ดังที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้เคยอยู่ ท่านกล่าวกับชาวบ้านไว้ว่า

"สถานที่นี้จักมีชื่อเสียงต่อไปอีกนานแสนนาน พวกเราอยู่แล้วก็จะตายไปเพียงอายุเท่าชั่วชีวิตของเรา แต่สถานที่นี้ จะอยู่ตลอดไป เพราะเป็นสถานที่พระอรหันตเจ้าได้มาอยู่ในระยะเวลาปัจฉิมวัยของท่าน เป็นสถานที่ได้อบรมบ่มร่ำศิษย์ของท่านให้กลายเป็นต้นโพธิ์อันงดงามในพุทธศาสนา แตกกิ่งก้านสาขา เป็นที่พักพึ่งพิงทางใจแก่พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ แต่ละต้นต่างมีชื่อเสียงขจรขจาย ตามรอยต้นโพธิ์พ่อโพธิ์แม่ คือท่านพระอาจารย์มั่น"
104#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
"โพธิ์เหล่านั้นที่ได้รับธรรมจากบ้านหนองผือ มีอีกมากมายหลายองค์ อย่างเช่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ตื้อ หรือท่านอาจารย์พระมหาบัว หรือรุ่นเล็ก ๆ ต่อไปเช่น ท่านพระอาจารย์วัน ท่านพระอาจารย์จวน ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง เป็นอาทิ พวกท่านชาวบ้านหนองผือควรจะต้องบำรุงรักษาสถานที่เหล่านั้น อาจจะขาดแคลนกำลังทรัพย์ แต่คนไทยจากจังหวัดถิ่นอื่นก็คงจะส่งมาให้ความช่วยเหลือได้ "

"พวกเจ้าอาจจะไม่มีกำลังทรัพย์ แต่เจ้ามีกำลังกายที่จะช่วยบำรุงให้อยู่ต่อไป อย่างน้อยรักษาความสะอาดเรียบร้อยไว้ อย่าให้สกปรกรกรุงรัง ทางเดินจงกรมเป็นดินก็ต้องให้ดูแลไว้ พระสงฆ์องคเจ้าที่จะมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ เป็นการสืบต่อพระศาสนา ก็ขอให้ถวายการอุปัฎฐากอย่างดี”

ชาวบ้านเล่าว่า หลวงปู่ได้เมตตาสั่งสอนให้พวกเขาได้สามารถมีส่วนแห่งการบุญ ขาดกำลังทรัพย์ ก็ช่วยได้ทางกำลังกายและกำลังใจ จัดเป็นบุญกุศลอย่างมหาศาลเช่นกัน

ระยะนั้นกำลังศรัทธาที่จะมาช่วยสนับสนุนท่านยังมีไม่มาก ท่านก็ได้แต่แนะให้ชาวบ้านรู้จักหน้าที่ รู้จักหวงแหนสมบัติอันมีค่าของตน ท่านกล่าวว่าท่านได้ไปดูทั้ง ๒ วัด ด้วยความเป็นห่วง ไม่ต้องการให้ทรุดโทรมเสื่อมสลายไป การภาวนา ณ สถานที่ ๒ แห่งนั้นได้รวบรวมไว้อยู่ในภาคธารแห่งธรรมเรียบร้อยแล้ว หลวงปูได้กลับมาบูรณะใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี ๒๕๒๕ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

พรรษาที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๕๑๘ โปรดชาวภาคตะวันออก

จำพรรษา ณ สวนบ้านอ่าง อ.มะขาม จ.จันทบุรี

ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่คงอยู่เป็นหลักชัยให้ญาติโยมที่อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำเจ้าผู้ข้า และบริเวณใกล้เคียงแถบอำเภอพรรณานิคมต่อไปอีกระยะหนึ่ง พอดีมีงานนิมนต์ทางกรุงเทพฯ ท่านจึงเดินทางลงมาตามคำนิมนต์ โดยพักที่วัดอโศการามบ้าง ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ บ้าง


ท่านออกบิณฑบาตในกรุงเทพ ปี ๑๗

ระหว่างอยู่กรุงเทพฯนั้น นายแพทย์โรจน์ สุวรรณสุทธิ และภรรยามากราบท่าน และปฏิบัติธรรมกับท่าน คุยให้ท่านฟังถึงที่สวนของท่านที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งปลูกยางเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีต้นผลไม้อื่น เช่น ส้มเขียวหวานและมะม่วงบ้าง รวมทั้งมีสวนพริกไทยซึ่งเป็นพืชพันธุ์ไม้ที่ทำให้จันทบุรีมีชื่อเสียง มีพริกไทยเป็นสินค้าขาออกสำคัญของจันทบุรี นอกเหนือจากอัญมณี อย่างพลอยด้วย

คุณหมอกราบเรียนท่านว่า บริเวณสวนนั้นกว้างใหญ่ มีอาณาบริเวณหลายร้อยไร่ ต้นยางก็สูงระหง มีร่มเงาดีบริเวณด้านหลัง มีเนินเขา มีอ่างน้ำ มีลำธาร ควรถือได้ว่า เป็นป่า เป็นเขา อุดมด้วยต้นไม้ใหญ่ ท่อธารละหานห้วย ดังเช่นป่าเขาที่หลวงปู่ได้เคยเดินธุดงค์วิเวกมาในภาคอีสาน หากท่านจะเมตตาไปพักบำเพ็ญภาวนา ก็จะเป็นมงคลแก่สถานที่เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อท่านไปเห็นสถานที่ และได้พักภาวนา กำหนดจิตแผ่เมตตาอยู่ระยะหนึ่งก็รับว่าสถานที่นั้นสัปปายะอย่างยิ่ง คุณหมอและภรรยาจึงอาราธนานิมนต์ว่า ในพรรษาที่จะถึงนี้ ขอให้หลวงปู่เมตตาอยู่จำพรรษา ณ สวนบ้านอ่างนี้

เมื่อท่านรับนิมนต์แล้วนั้น มีเวลาพอควรก่อนถึงเวลาปวารณาเข้าพรรษา หลวงปู่จึงกลับมาโปรดญาติโยมทางกรุงเทพฯก่อน ระหว่างนั้นทางที่สวนก็เตรียมจัดสถานที่รอรับคณะท่าน คุณหมอเล่าว่า ผู้อยู่ว่าพระป่าไม่ชอบสถานที่หรูหราฟุ่มเฟือย ขอเพียงมีแคร่เล็ก ๆ พอแขวนกลด แขวนมุ้งก็พอแล้ว แต่โดยที่ระหว่างพรรษาเป็นเวลาหน้าฝน และฝนทางจันทบุรีนั้นตกหนักและชุกมาก จำจะต้องจัดให้ท่านมีที่มุงที่บังอันแข็งแรงพอจะป้องกันลมกันฝนได้

อย่าว่าแต่ความหรูหราฟุ่มเฟือยเลย แม้แต่การจะไปซื้อวัสดุ เช่น ไม้ จากข้างนอก หลวงปู่ก็ปรารภห้ามไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น เจ้าภาพจึงหาทางประนีประนอมที่จะจัดสร้างที่พักให้แข็งแรงทนแดดทนฝนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เป็นการจัดซื้อให้เสียเงิน โดยจัดหาวัสดุในสวน “ก็ตามมีตามเกิด... นะ !” อย่างที่ท่านสั่ง
105#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กล่าวคือ ในสวนแถบจันทบุรีย่อมอุดมด้วยต้นระกำป่า คุณหมอก็ให้ตัดต้นมา สร้างเป็นกุฏิไม้ระกำได้ ๑ หลัง ส่วนพระและเณรที่จะติดตามท่านมานั้น ก็หาไม้ไผ่ในสวนมาสร้างเป็นกระท่อมเล็ก ๆ ขนาดกว้างพอแขวนกลดและมุ้งได้ มุงด้วยหญ้า ซึ่งก็เก็บเกี่ยวจากในเขตสวนยางสวนส้มนั่นเอง บริเวณใกล้อ่างน้ำและลำธาร ทำเป็นศาลา ใช้ทั้งเป็นที่ประชุม สวดมนต์ ฟังธรรม และทั้งเป็นที่ฉันจังหันด้วย

ใช้วัสดุเรียบง่าย และตามมีตามเกิด คือหาได้ในสวนตรงตามหลวงปู่สั่งไว้...! ดังนั้น เมื่อท่านมาเห็นเข้า จึงพอใจสถานที่จำพรรษานี้อย่างยิ่ง

ท่านได้บันทึกชมเชยสถานที่จำพรรษาครั้งนี้ว่า...ดีกว่าภาคอีสาน

“ภาวนาดีนัก ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่กลางคืนเพ่งอารมณ์กรรมฐานโดยเฉพาะ ประกอบไตรลักษณ์ไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่น ในสังขารทั้งปวง เห็นว่า สังขารเป็นภัยใหญ่”

ปกติในการเดินทางไปพำนักอยู่ที่ใดก็ตาม หลวงปู่มักจะนำหนังสือติดองค์ไปอ่านด้วยเสมอ เป็น วิหารธรรม เป็น เครื่องอยู่ ของท่าน ระหว่างว่างจากเวลารับแขกหรือเวลาภาวนา แต่สำหรับที่สวนเมืองจันท์นี้ เมื่อนำหนังสือขึ้นมาอ่าน ท่านก็ต้องรำพึง ว่า

“ดูหนังสืออยากนอน เข้าอารมณ์ภาวนาไม่อยากนอน ชวนให้ภาวนาเรื่อย ๆ นิมิตไม่ฝันร้าย นิสัยถูกกับเขา (หมายถึงญาติโยม) อยากนำเขาไปเรื่อย ๆ”

“เพ่งกาย ตรวจกายไปเรื่อย ๆ ไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่นในสังขารใด ๆ ถูกกับอากาศทะเล ไม่เจ็บป่วยเหมือนกะอยู่ภาคอีสาน กินข้าวมีรส นอนหลับดี ร่างกายสมบูรณ์ไม่เจ็บป่วย เทศนาแก่บุคคลมีปาฎิหาริย์...ลึกตื้นมีคนเข้าใจ”


ทำให้ท่านแทบไม่ได้หยิบหนังสือเล่มใดขึ้นมาอ่าน เพราะจิตใจดูดดื่มเพลิดเพลินในการภาวนาโดยตลอด อีกตอนหนึ่ง ในสมุดบันทึกท่านกล่าวว่า

“ตรวจกายถึงหลักธรรมะเสมอ ค้นอนุสัยของจิตเสมอ คุณหมอโรจน์พร้อมด้วยภรรยา เข้าใจธรรมะมาก สอนให้ม้างกาย เข้าใจมากกว่าคนอื่นในจังหวัดพระนคร.....”

ความจริง เมื่อกล่าวแต่ต้นว่าหลวงปู่ พอใจ สถานที่จำพรรษานี้ อย่างยิ่ง นั้น ตั้งใจจะกล่าวต่อไปว่า แต่สิ่งที่ทำให้ พอใจอย่างที่สุด นั้น มิใช่สถานที่อันสงัดวิเวกแต่เป็นบุคคล...ผู้เป็นศิษย์ ผู้รับฟังคำสอนจากท่านด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และสามารถปฏิบัติตามได้.. !!

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อหลวงปู่ไปพักอยู่ที่ใด ท่านจะนำคนให้ไหว้พระสวดมนต์ รักษาศีล รู้จักการให้ทาน การภาวนา เป็นประจำทุกวัน ณ ที่สวนบ้านอ่างนี้แต่แรกก็อบรมเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตสวน เช่น ผู้จัดการและคนงานพร้อมครอบครัว ต่อมาชาวบ้านใกล้เรือนเคียงทราบข่าว ก็เข้ามาฟังธรรมด้วย รวมทั้งจากอำเภอนอก ๆ หรือที่ตลาดในตัวจังหวัดที่จันทบุรี หรือระยองก็มาใส่บาตร ฟังเทศน์ด้วย ตอนระยะหลัง ๆ มีผู้เลื่อมใสศรัทธามาขอนอนวัดภาวนาทุกคืน

อันที่จริง แถบจังหวัดภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่จันทบุรีนี้ เคยมีพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายกัมมัฏฐานสาย ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มาโปรดญาติโยมทางนี้อยู่มากแล้ว เช่น พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์) ท่านพระอาจารย์ลี ธัมมธโร (พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์) ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นอาทิ ศรัทธาญาติโยมจึงเป็นผู้คุ้นเคยกับพระกัมมัฏฐาน เคยต่อการทัสนานุตริยะ ได้เห็นพระ กราบไหว้พระ บังเกิดความชื่นอกชื่นใจ เลื่อมใส เชื่อฟัง นิสัยจึงน้อมมาทางธรรม เชื่อมั่นในธรรมอยู่แล้ว เมื่อได้มากราบหลวงปู่หลุย ท่านจึงชมพุทธบริษัททางภาคตะวันออกนี้ว่า เป็น “ช้างที่ฝึกแล้ว ว่าง่าย สอนง่าย”
106#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บาปมี บุญมี อานิสงส์ของบุญ...มีอย่างจริงแท้ ท่านผู้ให้ที่พักในการบำเพ็ญเพียรภาวนาแก่พระภิกษุ สามเณร และญาติโยมผู้ประพฤติปฏิบัติ ย่อมได้รับอานิสงส์แห่งการนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างน้อยที่สุดที่เห็นโดยพลันก็ได้ทำให้การภาวนาของท่านก้าวหน้าไปอย่างน่าปลื้มใจ

คุณสำรวย สุวรรณสุทธิ ภรรยาคุณหมอโรจน์ เป็นผู้ที่หลวงปู่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างยกย่องเสมอ

ท่านสอนเสมอ ให้ทุกคน ม้างกาย ซึ่งเป็นการพิจารณากาย... กายคตานุสติแบบหนึ่ง โดยใช้วิธีแยกกายออกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นความเกิด ความเสื่อม ความดับไปแห่งสกลกายนี้ เพ่งพิจารณากายให้เป็นอุคคหนิมิต ให้เป็นปฏิภาคนิมิต...แล้วดำเนินจิตเข้าสู่ไตรลักษณ์

หลวงปู่สอนไป...สอนไป แต่ก็แทบไม่มีใครจะสามารถกำหนดจิต “ม้างกาย” ทำตามท่านได้ กระทั่งท่านมาอยู่ที่สวนเมืองจันทบุรีนี้ ท่านได้ “เคี่ยว” ศิษย์ กระทั่งวันหนึ่ง ศิษย์ผู้นั้น...หรือคุณสำรวย ก็สามารถกราบเรียนเรื่องการหัด “ม้างกาย” ของเธอถวายให้หลวงปู่ฟังได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ

“สอนให้ม้างกาย...เข้าใจมากกว่าคนอื่นในจังหวัดพระนคร...” ตามที่หลวงปู่บันทึกไว้ คือ

คุณสำรวยเล่าว่า เมื่อไม่ทราบจะ “ม้างกาย” อย่างไร ทำแบบไหน.....ท่านว่า ให้แยกกาย ให้ตัดกาย.....เฮ้อ...ก็เลยนึกแบบทำกับข้าว.....สับไก่ ฉีกไก่ เอ...มันก็ยังไม่ได้ความ

วันหลังเล่าถวายท่านว่า สับก็แล้ว ฉีกก็แล้ว กายมันก็ยังเป็นแท่งทึบอยู่นั่นแล้ว หลวงปู่ก็เอ็ดเปรี้ยงเข้าให้

"แม่มีตีน มือ...! มีเอาไว้ทำไม ? เอามือฉีก เอาตีนถีบ ตบมันออกไปซี...! นะแม่นะ”

เมื่อก็กลับมาทำต่อ ผ่าอกตัวเองออกไป เหมือนผ่าอกเป็ด อกไก่ ผ่าออกเป็น ๒ ซีก จะฉีกให้เป็นชิ้น ๆ แล้วก็น้อมเข้ามาที่ตัวเรา สับเหมือนสับเป็ด สับไก่ สับจนละเอียด

พยายามเพ่งกาย สับกาย อยู่เช่นนั้น... น้อมนึกอยู่ดังนั้นเรื่อย ๆ.....

วันหนึ่งเมื่อไปทำบุญที่พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่วัดป่าสุทธาวาส ได้เห็นอัฐิพระธาตุของท่านที่ใสเป็นแก้ว ก็บังเกิดความปลื้มปีติ...คำนึงว่าเราได้ทำบุญอย่างเต็มเปี่ยมกับท่าน น่าชื่นใจ

นึกย้อนดูกายเรา กระดูกของเรา มันเป็นอย่างไร...?

ความที่เคยหัด “ม้างกาย” ตามคำหลวงปู่สอน สับมัน...หั่นมัน...ฉีกมัน...ถีบมัน...ตบมัน อยู่เป็นประจำ...บ่อย ๆ วันนั้นเกิดปีติส่ง.....

นึก “ม้างกาย” ตามกรรมวิธีของท่าน เพียงอึดใจเดียว ก็รวมพั่บลง เห็นกระดูกในร่างกายแหลกละเอียดลงเป็นฝุ่น แล้วไปหมดเลย.....

.....เหลือแต่ “ผู้รู้”

.....เด่นดวงอยู่อย่างเดียว

http://www.dharma-gateway.com/mo ... ouis-hist-04-11.htm
107#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๕๒ พ.ศ. ๒๕๑๕ เดินทางไปโปรดชาวภาคใต้

และจำพรรษา ณ วัดกุมภีร์บรรพต

นิคมควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล

ออกพรรษาแล้ว ท่านยังคงพำนักที่สวนคุณหมอโรจน์ต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อโปรดญาติโยมในตัวจังหวัดจันทบุรี อำเภอโดยรอบและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะเพื่อพานำไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ทุกคนก็สนใจทำตามด้วยจิตอันนอบน้อมต่อคุณพระรัตนตรัย สำหรับภรรยาคุณหมอโรจน์ ที่เมื่อท่านสอนการม้างกาย ก็พยายามปฏิบัติตามจนปรากฏผลเป็นที่พอใจ

ท่านได้บันทึกไว้ว่า ท่านจากจังหวัดจันทบุรีมาเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ เนื่องด้วยคณะพุทธบริษัทของวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ อาราธนาให้มาพักผ่อนล่วงหน้าก่อน เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนผู้มีความเคารพรักในองค์ท่าน จะได้จัดงานทำบุญฉลองอายุให้ท่าน และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ซึ่งต่างเกิดในเดือนเดียวกัน คือ เดือนกุมภาพันธ์ และปีเดียวกัน คือ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ เพียงแต่วันเกิดห่างกันวันเดียว คือ ท่านเกิดวันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ส่วนหลวงปู่ชอบเกิดวันพุธที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ เท่านั้น ดังนั้น คราวนี้คณะศิษย์จึงได้กำหนดจัดงานฉลองพระคุณท่านทั้งสองรวมกัน ๒ วัน คือ วันที่ ๑๑ และ ๑๒ กุมภาพันธ์ ณ วัดอโศการาม

ปกติ พระเณร แม่ชี ที่วัดอโศการามก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นงานของครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ ผู้เป็นประดุจธงชัยคู่เอกของพระกัมมัฏฐานถึง ๒ องค์ จำนวนพระ เณร ชี และศรัทธาญาติโยม ที่มาชุมนุม ณ วัดอโศการามในโอกาสสำคัญนี้จึงคับคั่ง ทำให้บริเวณอันกว้างใหญ่ของวัดดูแคบไปถนัดตา

ระหว่างงาน มีผู้ทราบว่า หลวงปู่ยังไม่เคยเดินทางไปภาคใต้เลย จึงนิมนต์ขอให้ท่านเดินทางไปโปรดชาวภาคใต้บ้าง ท่านรับนิมนต์ และเพียงวันรุ่งขึ้นเสร็จจากงานคือวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ท่านและ ท่านเจ้าคุณโสภณคณาจารย์ หรือขณะนั้นยังเป็น พระมหาเนียม ก็เดินทางโดยรถด่วนสายใต้ทันที

ไป...ของท่าน คือ ไป !..._และ ไป ทันที !

รถด่วนถึงหาดใหญ่ เช้าวันรุ่งขึ้นที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ ๙.๐๐ น. ได้พักที่ วัดสระน้ำ อ.หาดใหญ่ มีคณะศรัทธาญาติโยมมาฟังเทศน์และปฏิบัติธรรมด้วยท่านอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะคณะศรัทธาชาวการรถไฟ ซึ่งปกติมีความเลื่อมใสในแนวการปฏิบัติธรรบของพระกัมมัฏฐานสาย หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อย่างแน่นแฟ้นอยู่แล้ว ก็ได้นำญาติสนิทมิตรสหายมากราบหลวงปู่กันเป็นประจำ

ท่านได้พาไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ สอนให้ถึงพระไตรสรณาคมน์อย่างแท้จริง คำสวดนำของท่านจะไบ่มีแต่เพียงภาษาบาลี หากมีคำแปลอย่างพิสดารประกอบด้วย ทำให้ผู้ที่สวดตามสามารถใคร่ครวญและน้อมจิตพิจารณาความตามไปด้วยอย่างซาบซึ้ง และเพิ่มความศรัทธายิ่งขึ้น

ท่านได้ศิษย์หน้าใหม่ ๆ มาสวดมนต์ ปฏิบัติภาวนาด้วยอีกมาก

ระหว่างที่พักวัดสระน้ำ เผอิญ คุณบันยง ศรลัมพ์ อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการ ด้านปฏิบัติการ ได้เดินทางไปตรวจงานที่หาดใหญ่ ทราบว่าหลวงปู่อยู่ที่นั่น จึงไปกราบเยี่ยม และนิมนต์ให้ท่านเดินทางไปกับขบวนรถพิเศษ ให้ถึงชายแดนสุไหงโกลกด้วย เพราะเมตตาของพระกัมมัฏฐานระดับครูบาอาจารย์นั้น ย่อมกอปรด้วยพลังอันบริสุทธิ์ และแผ่ไปโดยรอบ...แผ่ไปในที่ใกล้...และแผ่ไปในที่ไกล...แผ่ไปโดยไม่มีประมาณ เป็นมงคลแก่สถานที่ซึ่งท่านพำนัก เป็นมงคลแก่สถานที่ซึ่งเดินทางผ่านไป

ท่านเดินทางไปจนถึงสุดชายแดนประเทศไทย ผ่านสุไหงโกลก เข้าไปในลันตู เขตประเทศมาเลเซียด้วย ขากลับได้แวะลงที่สถานียะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พักที่ วัดยะลาธรรมาราม ท่านเจ้าคุณพระราชญาณเวที เจ้าคณะจังหวัดยะลา (ธรรมยุต) ได้มาต้อนรับและเชิญชวนให้พุทธบริษัททางยะลามาฟังธรรมคำสั่งสอนจากหลวงปู่ โดยเฉพาะการฝึกหัดภาวนา

ท่านพักอยู่ ณ วัดยะลาธรรมาราม ๓-๔ วัน อบรมพระเณรและประชาชนพอควรแล้วก็เดินทางกลับ ท่านลงรถไฟที่สถานีควนจง ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีหาดใหญ่ประมาณ ๘ กิโลเมตร ด้วยทราบว่า ที่ควนจงนี้ มีวัดกัมมัฏฐานอยู่วัดหนึ่ง ชื่อวัดควนจง เจ้าอาวาสชื่อ พระมหาสมจิตต์ เป็นศิษย์ ท่านพ่อลี หรือ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ แห่งวัดอโศการาม ท่านจึงแวะไปเยี่ยม
108#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านกล่าวว่า "ไปให้กำลังใจ" และชมว่า จัดทำเป็นวัดป่าได้อย่างเหมาะสมมีความสงบ สงัด สัปปายะดี

พักวิเวกมีความสงบระยะหนึ่งแล้ว ทางนายช่างรถไฟก็ได้ส่งรถยนต์มารับให้ท่านไปขึ้นรถไฟที่หาดใหญ่ เพื่อเดินทางไปในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ โรงงานรถจักรทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

จากทุ่งสง ท่านพัก ณ วัดเขาน้อย อำเภอร่อนพิบูลย์ วัดนี้สมัยพระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ หรือ พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ แห่งวัดหินหมากเป้ง เดินทางไปมาระหว่างจังหวัดภูเก็ตและนครศรีธรรมราช ได้มาพักโปรดญาติโยม ณ ที่วัดเขาน้อยนี้เสมอ เมื่อหลวงปู่เทสก์จากปักษ์ใต้ไปเป็นเวลาช้านานกว่าสิบปี ผู้ที่เคยได้รับกระแสเมตตาธรรมของท่านย่อมรู้สึกว้าเหว่ขาดที่พึ่งทางใจ มาพบหลวงปู่องค์ใหม่ซึ่งพรรษาอายุใกล้เคียงกันผ่านมาโปรด จึงอดเป็นน้ำหูน้ำตาบ้างไม่ได้ และพากันกุลีกุจออุปัฏฐาก รับต้อน (สำนวนของหลวงปู่ แทนที่จะใช้คำว่า "ต้อนรับ"....ท่านเรียกว่า "รับต้อน") เป็นอย่างดี

"มองปราดเดียวก็รู้ว่า ผ่านการสมาคมอบรมมาแล้ว...เคยเป็นศิษย์มีครูมาแล้ว"

ท่านกล่าวว่า ไม่ต้องดูเลยไปถึงกิริยาอาการอันสงบเสงี่ยมนิ่มนวลของอุบาสกอุบาสิกา เพียงดูการ

"กราบ" ก็รู้แล้ว.. !

แสดงอาการว่า ดิฉันเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เทสก์...! ทำให้พระกัมมัฏฐานไปมาได้รับความสะดวกเป็นพิเศษเจือจานมาด้วย

หลังจากนั้น ญาติโยมก็พาท่านเดินทางมาพังงาและภูเก็ต เมื่อแวะเยี่ยมเละพักตามวัดต่าง ๆ ที่พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ได้เผยแผ่ธรรมะ มีผู้เลื่อมใสสร้างวัดถวายให้แก่ท่าน เช่น ที่ วัดนิโรธรังสี อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา วัดเจริญสมณกิจ หลังศาลจังหวัดภูเก็ต และ วัดไม้ขาว ใกล้สนามบินภูเก็ต เป็นต้น

ต่อมาหลวงปู่ได้ไปพักที่ วัดควนกาไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา วัดนี้เริ่มแรก ท่านเจ้าคุณพระอริยเวที (พระมหาเขียน ป. ๙ ) ได้ไปพักเพื่อวิเวก หลวงปู่ให้อุปถัมภ์ถวายปัจจัยเดือนละ ๕๐๐ บาททุกเดือน เป็นค่าภัตตาหารแก่ภิกษุสามเณรอยู่ในวัด ในสมัยหลวงปู่มีชีวิตตลอดมา เพราะท่านระลึกถึงอุปการคุณที่แม่ชีกัลยาเคยถวายให้แก่หลวงปู่

ท่านพักที่วัดควนกาไหลจนใกล้เข้าพรรษา จึงกลับมาหาดใหญ่ ท่านอาจารย์พระมหาเนียม กราบเรียนถึงสถานที่อันควรบำเพ็ญภาวนาตลอดพรรษาที่ วัดกุมภีร์บรรพต ซอยเว นิคมควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสงขลา ว่ามีเงื้อมเขา มีถ้ำ อันสงัดวิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม หลวงปู่เห็นด้วย ญาติโยมจึงจัดรถยนต์ไปส่งท่านที่วัดกุมภีร์บรรพต

ตลอดพรรษา คณะศรัทธาในเขตอำเภอหาดใหญ่ สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง ก็ได้เดินทางไปถวายจึงหัน และหาโอกาสไปฟังธรรมกันเสมอมิได้ขาดพร้อมทั้งได้ช่วยกันเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ณ วัดกุมภีร์บรรพต เมื่อออกพรรษาแล้วด้วย

เสร็จจากพิธีทอดกฐินระยะหนึ่ง หลวงปู่เดินทางกลับมาจากวัดกุมภีร์บรรพตใช้หาดใหญ่เป็นจุดศูนย์กลางที่จะอยู่โปรดชาวหาดใหญ่ ชาวสงขลา และจังหวัดใกล้เคียงวัดที่ท่านพำนักในระยะหลังจากออกพรรษา คือ วัดควนเจดีย์ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเลมากนัก และห่างจากเมืองสงขลาเพียงประมาณ ๑๐ กิโลเมตร สะดวกแก่คณะศิษย์และญาติโยมที่จะมาทำบุญและประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสงัดเงียบไม่พลุกพล่าน ท่านจึงอยู่ด้วยความสัปปายะ...สัปปายะทั้งอากาศ สัปปายะทั้งบุคคล สัปปายะทั้งอาหาร และ สัปปายะทั้งสถานที่ คณะศิษย์กลุ่มใหญ่ ๆ ที่มาฟังธรรมกันเป็นเนืองนิตย์ ได้แก่ คณะการรถไฟ คณะโรงพยาบาล คณะอธิการวิทยาลัยครูสงขลา และคณะนายทหารและครอบครัวจากค่ายคอหงษ์ เป็นอาทิ

ท่านอบรมธรรม นำภาวนา อยู่จนใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษาของปี ๒๕๒๐ บังเอิญเกิดอาการอาพาธ ป่วยเจ็บที่คอ แม้จะพยายามหายาต่าง ๆ มารักษา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่พร้อมภรรยาและคณะซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ก็มาดูแลรักษาแต่อาการนั้นก็ไม่หาย ได้แต่ขอร้องให้ท่านลดละการทำกลดลงบ้าง เพราะการที่ท่านก้มศีรษะคร่ำเคร่งกับการทำกลดแจกพระเณรและญาติโยมผู้ศรัทธายินดีในการปฏิบัติธรรมนั้น อาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้อาการอาพาธไม่หายขาด มีแต่ทรงตัวอยู่หรือกำเริบทรมานมากขึ้นก็ได้
109#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ข่าวอาพาธของท่านที่จังหวัดภาคใต้ ทราบมาถึงกรุงเทพฯ ท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ทราบเรื่องจึงเดินทางลงไปกราบท่านที่วัดควนเจดีย์ ขอนิมนต์พ่อแม่ครูจารย์กลับมาจำพรรษาที่กรุงเทพฯ เพื่อให้โอกาสศิษย์ได้อุปัฏฐากรับใช้ และสะดวกแก่การดูแลถวายยารักษาโรค เพราะในนครหลวงย่อมใกล้นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมืออันทันสมัยมากกว่าต่างจังหวัด

หลวงปู่รับฟังคำนิมนต์ และเหตุผลหว่านล้อมที่ท่านอาจารย์ทิวายกขึ้นมากล่าวด้วยความเคารพนอบน้อมแล้ว ในที่สุดท่านก็ยอมรับนิมนต์กลับกรุงเทพฯอันเป็นเวลาจวนแจ ก่อนเข้าพรรษาเพียงวันสองวันเท่านั้น

พรรษาที่ ๕๓-๕๗ โปรยปรายสายธรรม

พ.ศ. ๒๕๒๐ จำพรรษาที่ สวนปทุมธานี ต.สวนพริกไทย อ.เมือง จ.ปทุมธานี

พ.ศ. ๒๕๒๑ จำพรรษาที่ วัดป่าหนองแซง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

พ.ศ. ๒๕๒๒ จำพรรษาที่ โรงนานายแดง คลอง ๑๖ อ.องครักษ์ จ.นครนายก

พ.ศ. ๒๕๒๓ จำพรรษาที่ วัดอโศการาม อ.เมือง จ. สมุทรปราการ

พ.ศ. ๒๕๒๔ จำพรรษาที่ ที่พักสงฆ์บ้านคุณประเสริฐ โพธวิเชียร อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

นับจากที่ท่านได้จำพรรษาปี ๒๕๑๙ ที่วัดกุมภีร์บรรพต นิคมควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล แล้วต่อมาท่านได้วิเวกไปตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นลำดับจนใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษาปี ๒๕๒๐ ท่านก็มาพักโปรด “ชาวจังหวัดภาคใต้” อันเป็นสำนวนของท่าน อยู่ที่วัดควนเจดีย์ จังหวัดสงขลา ปรากฏว่าในระหว่างนั้นท่านอาพาธมีอาการเจ็บที่คอ ได้รักษากันอยู่นานแต่ไม่หาย ท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร จึงได้เดินทางไปรับท่านกลับมาที่กรุงเทพฯ และขอให้ท่านเลือกสถานที่จำพรรษาในกรุงเทพฯทั้งนี้ นอกจากการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ยังต้องการหมอนวดเส้นเป็นพิเศษที่จะรักษาอาการอาพาธของท่านได้ ท่านบอกว่า แม้แต่จะเอี้ยวคอก็รู้สึกเจ็บมากแต่ถึงกระนั้น หลวงปู่ก็จะไม่ค่อยฉันยาสักเท่าใด

ในเรื่องเกี่ยวกับอาพาธนี้ หลวงปู่มีข้อสัญญาตกลงกับท่านพระอาจารย์ทิวา ซึ่งหลวงปู่เล่าว่า ท่านบังคับให้ท่านพระอาจารย์ทิวาเซ็นสัญญากับท่านก่อน ท่านจึงจะยอมมากรุงเทพฯ ด้วย เป็นสัญญาสุภาพบุรุษ โดยต่างองค์ต่างก็เป็นอนาคาริกไม่มีที่อยู่ เดินทางไปเรื่อย ๆ ไม่มีลูกศิษย์ปฏิบัติใกล้ชิด ไปองค์เดียวตลอด ดังนั้นหากองค์ใดองค์หนึ่งเกิดอาพาธขึ้น อีกองค์จะต้องเดินทางมาดูแลกัน อันนี้เป็นอุบายของท่านพระอาจารย์ทิวา ถ้าท่านไม่ยอมรับสัญญาสุภาพบุรุษจากหลวงปู่เช่นนั้น หลวงปู่ก็คงไม่ยอมรับความปรารถนาดีจากท่านพระอาจารย์ทิวาเป็นแน่แท้ คือหมายความว่า ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันว่า เมื่อหลวงปู่อาพาธ ท่านพระอาจารย์ทิวาขอเข้ามาดูแลท่าน และในกรณีกลับกัน ท่านพระอาจารย์ทิวาก็ต้องยอมรับว่า เมื่อท่านเกิดอาพาธขึ้นบ้าง หลวงปู่ก็จะต้องไปดูแลเช่นกัน เป็นการที่หลวงปู่ถือว่า เท่าเทียมกันไม่เอาเปรียบกัน โดยหลวงปู่ท่านไม่ได้คำนึงถึงเลยว่า ท่านนั้นเป็นเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมีพรรษาถึง ๕๓ พรรษาแล้ว ในขณะที่ท่านพระอาจารย์ทิวาเพียง ๒๐ พรรษา แต่หลวงปู่ก็ถือว่าเท่าเทียมกัน อันนี้เป็นคุณธรรมอีกประการหนึ่งที่หลวงปู่ได้แสดงให้เห็นว่าท่านไม่เคยถือว่า องค์ท่านเองเป็นพระเถระผู้ใหญ่เลย

สถานที่ซึ่งท่านเลือกเป็นที่จำพรรษาในปีนั้นคือ ที่สวนปทุมธานี เป็นที่สวนซึ่ง คุณประชา และ คุณไขศรี ตันศิริ ได้ซื้อไว้ส่วนหนึ่ง และในบริเวณสวนที่ติดต่อกันนั้น เป็นของ คุณมานพ กับ คุณอารี สุภาพันธุ์ สภาพบริเวณนั้นคล้ายป่า ทั้งนี้เพราะเจ้าของที่ซื้อแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร อีกทั้งมีคูน้ำลัดเลาะในบริเวณ สงบ สงัดเหมาะแก่การเจริญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง

ความจริงท่านเคยมาพักอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะไปจำพรรษาที่จันทบุรีในปี ๒๕๑๘ ท่านพอใจสถานที่นี้มาก และกล่าวว่า ที่นี่เป็นสถานที่มงคล ภาวนาดี
110#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เจ้าของที่ได้จัดสร้างกุฏิสองหลัง แยกกันอยู่กุฏิละด้าน หลังหนึ่งสำหรับเป็นที่พักของหลวงปู่ และอีกหลังหนึ่งเป็นที่พักของท่านพระอาจารย์ทิวา พรรษานั้นท่านจำพรรษากันเพียงลำพังสององค์ โดยมีข้อตกลงว่า หลังจากที่ท่านพระอาจารย์ทิวาถวายยาตามกำหนดเวลาอันควรแล้ว และเมื่อฉันจังหันแล้ว ต่างองค์จะแยกกันไปวิเวกเจริญภาวนาอยู่ในที่ของตน ไม่มาวุ่นวายเกี่ยวข้องกัน ต่างองค์ต่างอยู่ ไม่รบกวนกันให้เวลาแต่ละองค์ได้ปรารภความเพียรอย่างเต็มที่ ต่อเมื่อถึงตอนค่ำ หากว่ามีญาติโยมมากราบนมัสการ จึงจะออกมาทำวัตรสวดมนต์พร้อมกัน หากไม่มีทั้งสององค์ก็จะอยู่แต่ในที่ของท่าน เพียงแต่ท่านพระอาจารย์ทิวาคอยดูแลถวายยาตามกำหนดเวลาเท่านั้น

ตอนปลายพรรษานั้นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปกราบท่าน ได้กิตติศัพท์ของท่าน ได้ไปกราบท่านพระอาจารย์ทิวาที่เรือนพักของท่านก่อน ท่านก็บอกว่า ให้มารอที่ศาลาซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารชั่วคราว พื้นดูเหมือนระยะนั้นจะไม่ได้ราดซีเมนต์ด้วยซ้ำ แต่มีที่ตั้งพระพุทธรูป มีแคร่สำหรับพระสงฆ์ที่จะนั่งฉันจังหัน เราก็ปูเสื่อรออยู่ที่พื้น ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็มองไปรอบ ๆ ด้วยความชื่นชมด้วยได้กลิ่นดอกจำปาหอมตลบอบอวลไปหมด เงยหน้าขึ้นไปก็มองเห็นเชือกที่ท่านขึงเป็นราวไว้ เข้าใจว่า ก่อนหน้านั้นก็คงมีผู้ที่ได้ไปกราบท่าน และได้ถวายพวงมาลัยเป็นพุทธบูชา ท่านให้แขวนไว้ตามรายเป็นพวง ๆ ไป มองดูว่าอุบะของพวงมาลัยเหล่านั้นจะมีอุบะพวงใดที่มีดอกจำปาบ้าง แต่ก็แปลกใจมากที่ไม่เห็นดอกจำปาตามอุบะเหล่านั้นเลย แต่เหตุใดทั้งบริเวณจึงมีกลิ่นจำปา และกลิ่นถึงได้หอมมากเช่นนั้น ลุกขึ้นเดินอยู่รอบศาลาแล้วก็มองไปในป่า

ท่านอาจารย์ทิวาซึ่งตามมาจากกุฏิ ท่านก็เห็นเราเดินวน ๆ อยู่จึงถามว่า นั่นผู้เขียนเดินดูอะไร ก็กราบเรียนท่านว่า เดินมองหาต้นจำปาเจ้าค่ะ เพราะได้กลิ่นหอมมากเหลือเกิน ไม่ทราบว่าเจ้าของสวนไปปลูกไว้ที่ตรงไหน

ท่านก็หัวเราะ บอกว่าที่นี่นั้นไม่มีต้นจำปา

ผู้เขียนสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นกลิ่นจำปาจะมาจากที่ไหน

ท่านไม่ตอบโดยตรง แต่กล่าวว่า “เรื่องพรรค์นี้ อาตมาไม่ค่อยพบ คุณพบบ่อย.....” หมายความว่า คงเป็นเรื่อง “พิเศษ” แล้ว ระยะนั้นผู้เขียนเริ่มทราบแล้ว เพราะได้พบสิ่งที่พิเศษ ไม่อยากจะเรียกว่าปาฏิหาริย์.....ทำนองที่ว่าบางครั้งเราไปกราบครูบาอาจารย์องค์ใด ที่คิดว่าท่านผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ และมีจิตบริสุทธิ์นั้นมักจะมีกลิ่นหอมพิเศษให้เราได้กลิ่นอยู่เสมอ ดอกไม้ไนบริเวณนั้นไม่มี ป่าใกล้นั้นก็ไม่มีต้นไม้ชนิดนั้นอยู่ แต่กลิ่นดอกไม้ประเภทนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นได้ บางครั้งอาจจะเป็นมะลิหรือจำปา หรือเป็นจำปีหรือกุหลาบ หรือแม้แต่มีกลิ่นพิเศษซึ่งไม่อาจจะตอบได้ว่าเป็นกลิ่นของดอกไม้ใด และบางครั้งก็อาจจะ เป็นกลิ่นของดอกไม้ที่มีเสียงบอกขึ้นมาชัดว่า ดอกไม้นี้ไม่มีในโลกนี้

คราวนี้ก็เช่นกัน การที่ได้กลิ่นหอมดอกไม้เป็นพิเศษ ในวาระแรกที่จะได้กราบ ทำให้ผู้เขียนอดแอบคิดขึ้นในใจไม่ได้ว่า ท่านองค์นี้ย่อมทรงศีลบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์อย่าว่าแต่มนุษย์จะบูชาเลย แม้แต่เทพยดาก็ยังมาบูชาด้วย ทำให้เราพลอยได้กลิ่นหอมของดอกไม้ทิพย์ด้วย

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสอาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่มาโปรดญาติและเพื่อนของเราที่บ้านลาดพร้าวบ้าง ซึ่งท่านได้เมตตามาให้หลายครั้ง ตลอดปี ๒๕๒๐, ๒๕๒๑, ๒๕๒๒, ๒๕๒๓ ระยะนั้นเป็นระยะที่ท่านเวียนมาโปรดเรามาก และตลอดระยะเวลาเหล่านั้น ก็ทำให้เราได้ซาบซึ้งในความเมตตาของท่าน และประจักษ์ในบุญบารมีอันน่าอัศจรรย์หลายประการ ซึ่งหากมีเวลาก็คงจะได้กล่าวแยกต่อไปโดยเฉพาะ

ระยะเวลาเหล่านี้ควรจะกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ที่หลวงปู่เข้ามาในกรุงเทพฯ มาจำพรรษาอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ หลังจากที่ท่านออกมาจากถ้ำผาบิ้งแล้ว ควรจะถือว่าเป็นเวลาที่ท่านได้โปรยปรายสายธรรมให้แก่บรรดาพุทธบริษัทในเขตภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก เป็นอันมาก

ท่านจะเปลี่ยนสถานที่จำพรรษา ไม่ได้อยู่ซ้ำในสถานที่เดิม กล่าวคือ ต่อจากปี ๒๕๒๐...
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้