ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง ~

[คัดลอกลิงก์]
71#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนที่ให้นำมากราบไหว้บูชา คือ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน นาก ขนาดต่าง ๆ กัน อันแสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสูงสุดของคนในสมัยโบราณจึงได้จัดสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุมีค่าไว้สักการบูชา ส่วนที่ให้นำไปใช้สอยก็เป็นพวกสร้อยสนิมพิมพาภรณ์ แก้วแหวนเงินทอง เช่น สร้อยตัว สร้อยคอ สร้อยสังวาล กำไลแขน กำไลข้อมือ เข็มขัดทอง นาก...สิ่งเหล่านี้กองทิ้งอยู่บนแท่นหินภายในถ้ำอย่าง ระเกะระกะ

เป็นที่อนุญาตกันว่า เมื่อเข้าไปในเขตถ้ำอันเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเป็นเขตของเทวดาแล้ว ทุกคนจะสามารถนำพระพุทธรูป หรือเครื่องประดับเหล่านั้นติดตัวออกมาได้ ๑ กำมือเต็ม ๆ จะเป็นสร้อยตัว สร้อยคอ เข็มขัด จี้ สร้อยปะวะหล่ำ กำไลอย่างใดก็ตาม สิ่งเดียวหรือหลายสิ่ง อนุญาตให้นำออกมาได้คนละ ๑ กำมือ เมื่อนำมาใช้เสร็จธุระแล้ว ก็ให้นำกลับขึ้นไปคืนยังสถานที่เดิมที่ตนไปขอยืมมา

ไม่ทราบว่าจะเป็นเพราะเหตุใด ..?

เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องให้แสดงความบริสุทธิ์กายเช่นนั้น หรือเพราะเกรงว่า จะหยิบฉวยเกินเลย ซุกซ่อนใส่กระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือเหน็บเข็มขัดคาดผ้ามาด้วยก็ไม่ทราบ แต่ข้อกำหนดกฎเกณฑ์นั้นมีอยู่ว่า ผู้ที่จะสามารถเข้าไปในเขตถ้ำตอนที่มีสมบัติเทวดารักษาไว้นั้นจะต้องเข้าไปแต่ตัวเปล่า กล่าวคือ ต้องเปลื้องเสื้อผ้าออกหมด ไม่ให้มีเครื่องนุ่งห่มชิ้นใดติดกายอยู่เลยแม้แต่ชิ้นเดียว ข้อกำหนดกฎเกณฑ์นี้ใช้ทั่วถึงกัน...ไม่ว่าหญิงหรือชาย...ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนที่ปรารถนาจะขอยืมเครื่องประดับของใช้ของเทวดามาประดับกาย หรือเชิญพระพุทธรูปมาในงานบุณย์ ก็จะต้องปฏิบัติตามนี้ มิฉะนั้นแล้ว เมื่อเข้าไปภายในถ้ำจะมองไม่เห็นทรัพย์สมบัติมีค่าเหล่านั้นเลยสักชิ้นเดียว จะเห็นเป็นผนังถ้ำแลโล่งไปหมด

ดังนั้น ในสมัยโบราณ ถึงเวลาตรุษสงกรานต์ วันสารท วันทำการมงคล มีการแต่งงาน โกนจุก ทำบุญบ้าน ชาวบ้านก็จะพากันขึ้นเขาไปขอยืมสิ่งของเครื่องประดับมาใช้ ผู้คนสมัยนั้นต่างมีศีลธรรมอันดี เห็นว่าของเหล่านี้ไม่ใช่ของของตน ไม่ใช่ของแห่งตน เป็นสมบัติของกลาง ยืมมาใช้สอยสมประสงค์ของตนแล้วก็นำไปคืนโดยดี จวบจนภายหลัง เริ่มมีผู้โลภโมห์โทสัน ชักจะไม่ค่อยยอมส่งคืน ยึดถือเก็บไว้กับบ้านตนเรือนตน ทึกทักเป็นของของตน เท่ากับเป็นการผิดศีลข้ออทินนาทานถือเอาของที่เขาไม่ให้มาเป็นของตน สมบัติในถ้ำก็เริ่มลดน้อยลง เครื่องสนิมพิมพาภรณ์ที่เป็นทองคำสุกปลั่ง ก็เริ่มหมองลง ดำคล้ำลง คล้ายเป็นทองเหลือง เป็นที่สังเกตของผู้คนในระยะหลัง

ที่ร้ายแรงที่สุด คือ ได้มีเณรน้อยคนหนึ่งตามหลังเข้าไปในถ้ำด้วย เห็น “แม่ออก” หรือหญิงชาวบ้านเดินอยู่ข้างหน้า ก็ไป “บิด” ก้นแม่ออก... (บิด...คือหยิกแบบบิดด้วย....ผู้เขียน) เป็นการหยอกเอิน ผิดทั้งศีล ที่ไปจับต้องตัวผู้หญิง และไม่สำรวมกิริยา ผิดทั้งการไม่เคารพ ดูหมิ่นสถานที่ ทำให้ปากถ้ำบริเวณมีสมบัตินั้นถล่มลงปิดทางเข้าหมด ว่ากันว่า เณรผู้ทำความผิดศีลวิบัตินั้นรอดชีวิต ตกไปในรูพญานาคไปโผล่ที่กุดป่องได้ การรอดชีวิตนั้นเพียงเพื่อมาบอกเล่าทำให้ได้ทราบสาเหตุของการที่ถ้ำถล่มทลายได้ เพราะกลายเป็นคนเสียจริตเลอะเลือน ได้แต่พร่ำเพ้อถึงกรรมไม่ดีของตน และสุดท้ายก็ตายไป

จึงเรียกชื่อภูเขานี้ว่า “ภูบักบิด” ด้วยประการฉะนี้

หลวงปู่เล่าว่า สมัยเมื่อท่านเป็นเด็ก ขึ้นภูไปที่ถ้ำนี้ ยังทันได้เห็นฆ้องเภรีโบราณขนาดค่อนข้างเชื่องตั้งเรียงรายอยู่ และพระพุทธรูปทองคำก็ยังหลงเหลืออยู่บ้างแต่เป็นพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ มีแผ่นเงินหรือแผ่นทองแผ่หุ้มองค์ ไม่เป็นทองคำทั้งองค์อย่างที่กล่าวกัน พระพุทธรูปเล็ก ๆ เหล่านี้ตั้งอยู่บนแท่นหินในหลืบถ้ำ ขณะนั้นราคาทอง ราคาเงินก็ไม่สูงเท่าไร จึงไม่มีผู้ใดสนใจ มีพระพุทธรูปปั้นดินเผาบรรจุอยู่ในไหเต็มหลายต่อหลายใบ สิ่งเหล่านี้ภายหลังเมื่อท่านกลับไปทำความเพียร คงเหลือแต่พระดินในไหเท่านั้น ชาวบ้านยังยืนยันกันว่า ความศักดิ์สิทธิ์ที่ถ้ำในภูบักบิดนี้ยังมีอยู่มีพญานาคอาศัยอยู่ในถ้ำ โพรงของพญานาคนั้น หากเอามะพร้าวทิ้งลงไปจะไปโผล่ที่กุดป่องเลยทีเดียว
72#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่เล่าว่า แต่แรกท่านมิได้เชื่อถือเรื่องพญานาค ที่ขึ้นไปทำความเพียรก็เพื่อเปลี่ยนสถานที่ ด้วยปี ๒๔๙๙ นี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่บ้านกกกอก เป็นพื้นที่เชิงเขาออกพรรษาแล้ว จึงเปลี่ยนขึ้นภูบ้าง และเห็นว่า บนยอดภูนั้นป่าเขายังบริบูรณ์อยู่มากและประวัติของภูบักบิดแต่สมัยโบราณก็ดูขลังดี...! (สำนวนของท่าน....ขลังดี....ท่านใช้อยู่บ่อย ๆ) คงมีเทพมากเช่นเดียวกัน ท่านไปถึงภูบักบิดนี้ในเดือนอ้าย ตรงกับเดือนธันวาคม หมายความว่า ออกพรรษาเพียงเดือนเศษก็ไปเลย

เมื่อขึ้นไปภาวนา เพียงคืนแรก ก็เห็นมือใหญ่ดำ...ยื่นออกมาจากถ้ำเป็นมือที่ใหญ่โตเกินขนาดที่จะเป็นมือมนุษย์ ขนยาวรุงรัง ไม่เห็นอวัยวะส่วนอื่นนอกจากมือที่ชูร่อนเหมือนจะขอบุญกุศล หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น กำหนดจิตถามได้ความว่า เป็นเปรตมาขอส่วนบุญ ท่านจึงได้ตั้งจิตแผ่เมตตาให้.....

สำหรับเรื่องพญานาคนั้น ผลสุดท้ายท่านก็ต้องยอมรับว่า มีสิ่งลึกลับนี้อยู่จริง ท่านเล่าว่า พญานาคที่ภูบักบิดนั้น เดิมเป็นมิจฉาทิฏฐิ ระหว่างที่ท่านภาวนาก็มาลองดี เอาส่วนหางพันรอบกายท่านหลายรอบ แล้วรัดแน่น

“หนักอึ่กซึ่ก...อึ่กซึ่ก” ....อึดอัดมาก ทันทีที่รู้สึกตั้งสติไม่ทัน ทำให้ตกใจ...ท่านว่า “เกือบเสียทีเขา” แม้ท่านจะเป็นพระเถระแล้ว พรรษากว่าสามสิบ แต่ประสบการณ์ด้านพญานาคเคยมีอยู่ แต่การที่มาพันรัดตัวนี้เพิ่งจะพบ จึงอดสะดุ้งไม่ได้ แต่แล้วเมื่อตั้งสติได้ ก็กำหนดจิต “เอาพุทโธ...พุทโธ เป่าเข้าไป...เป่าเข้าไป ที่มันรัดแน่นก็คลายวับ ๆ เลย คลายเร็ว...เร็วเลย”

เป็นบางท่าน บางองค์ อาจจะแบกกลดหนีเลยก็ได้ แต่หลวงปู่ก็คงอยู่ทำความเพียรต่อไปอย่างไม่ลดละ แผ่เมตตาให้พญานาคผู้นั้น จนภายหลังจิตของเขาอ่อนน้อมยอมลงต่อท่าน กลายเป็นเพื่อนเป็นมิตรกัน

จากปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านได้กลับไปภูบักบิดอีกหลายครั้ง โดยในภายหลังท่านถือเป็นสถานที่ซึ่งท่านจะพาพระเล็กเณรน้อยไปเร่งความเพียร โดยมีพญานาคเพื่อนคู่มิตรของท่านเป็นผู้ช่วยทรมานทดสอบความมั่นคงของจิตใจ

เคยกราบเรียนถามว่า การทดสอบของพญานาคทำอย่างไร ท่านก็หัวเราะ เฉยเสีย คาดว่า พญานาคนั้นย่อมมีฤทธิ์ในการแปลงกาย หรือเนรมิตสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้รวดเร็วมาก คงจะเป็นการทำให้ผู้ภาวนาเกรงกลัว จิตจะไม่กล้าส่งนอก แนบแน่นอยู่กับพุทโธ จนรวมลงเป็นสมาธิโดยเร็ว

การภาวนาที่ภูบักบิดนี้ แรก ๆ ท่านบันทึกไว้ว่า “สถานที่เป็นมงคลดี เทพมาก จิตแจบจมดี แทบไม่อยากจะจากไปที่อื่นเลย ลืมมืด ลืมแจ้ง” ท่านยังกลับไปหลายครั้งดังกล่าว แต่ภายหลังท่านบ่นว่า มันจืดไปแล้ว เข้าใจว่า ความเคยชินต่อภูบักบิด ทำให้ความรู้จักตนเต้น “ใหม่” ต่อสถานที่อันเป็นปกติวิสัยที่พระธุดงค์แสวงหานั้น...คลายลง ท่านจึงบ่นว่า “จืด” ไป

ภายในถ้ำ ปัจจุบันมีพระพุทธรูปประธาน ที่ท่านพระครูอดิสัยคุณาธารสร้างขึ้นไว้แต่ปี ๒๕๑๕ หนึ่งองค์ ภายหลังในปี ๒๕๒๙ นี้เอง หลวงปู่ได้มอบพระประธานองค์ใหญ่ไปประดิษฐานไว้อีก ๑ องค์ คู่กับพระพุทธรูปองค์เดิม แล้วรวบรวมพระพุทธรูปโบราณองค์เล็กองค์น้อยที่ยังหลงเหลืออยู่ในถ้ำบรรจุเข้าไว้ในองค์พระพุทธรูปองค์ใหญ่ด้วย ท่านได้มอบเงินไปให้จำนวนหนึ่ง ๔,๐๐๐ บาทสมทบกับที่ญาติโยมคนอื่น ๆ บริจาคอีก ๑๔,๐๐๐ บาท ให้จัดสร้างแท่นพระสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป หาจ้างช่างรับเหมาไม่มีคนยินยอม เพราะต้องขนอิฐ ปูน ทราย และน้ำขึ้นไปทำ ต้องเดินทางขึ้นเขาไปลำบากอีกประมาณ ๓ กิโลเมตร ผู้รับคำสั่งจากท่านให้จัดทำ ไม่ทราบจะทำประการใด จึงอธิษฐานถึงหลวงปู่ ขอให้งานลุล่วงไปด้วยดี พระพุทธรูปตั้งอยู่กับพื้นถ้ำ...ไม่เหมาะสม เธอเลยว่า ประหลาดใจที่จู่ๆ ก็มีผู้มาอนุเคราะห์ จัดหารถฟอร์วีล และลูกน้องมาช่วยขนอิฐ ปูน ทราย บุกเขาขึ้นไปส่งได้ ส่วนน้ำไม่ต้องขนขึ้นไป เพราะบังเอิญ (ไม่ทราบว่า บังเอิญหรือไม่...?) ฝนตกหนัก ทำให้ได้รองน้ำใส่แท็งก์น้ำและตุ่ม ทำให้ก่อสร้างแท่นพระพุทธรูปได้สำเร็จและสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปของหลวงปู่ขึ้นประดิษฐานบนแท่นได้
73#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชาวจังหวัดเลยเล่าให้ฟังถึงโบสถ์วัดประชานิมิต ที่ก่อสร้างขึ้นมา ณ ที่เชิงภูบักบิดนั้น ในปี ๒๕๒๐ ที่พระคุณเจ้าหลวงปู่ศรีจันทร์เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เช้าวันงาน รอบบริเวณภายนอกวัดฝนตกหนัก แต่ในบริเวณงานไม่มีฝนเลยครั้นเมื่อถึงเวลาพิธี ก็มีละอองน้ำโปรยปรายทั่วบริเวณ เหมือนพญานาคมาพ่นน้ำเป็นฟองฝอยอวยชัยให้พรแสดงสาธุการฉะนั้น ผู้ที่มาร่วมงานต่างเห็นเป็นอัศจรรย์กัน ทุกคน

ความจริง ชื่อภูนี้ เวลาชาวจังหวัดเลยเรียกกันว่า ภูบอบิด บ้าง ภูบ่อบิด บ้าง แต่ในบันทึกของหลวงปู่ ท่านเรียก ภูบักบิด ทุกครั้ง ผู้เขียนนำความเรียนปรึกษาพระเถระผู้ใหญ่ ท่านว่า ควรเขียนตามชื่อที่หลวงปู่ใช้ เพราะท่านย่อมพิจารณาและ “ทราบ” เรื่องอันอยู่เหนือกว่าที่บุคคลธรรมดาจะเข้าใจ และความจริง ชื่อ “ภูบักบิด” ของท่านก็สอดคล้องกับประวัติของถ้ำด้วย กล่าวคือ ภูที่มีเจ้าหนุ่ม (เณร) ผู้ไป “บิด” หยิกสาว

หลายปีต่อมา ท่านกลับมาบันทึกถึงภูบักบิดอีก โดยเฉพาะเกี่ยวกับการภาวนา ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ อันเป็นครั้งที่ท่านได้ไปพบพญานาคมารัดกาย

ที่แห่งหนึ่ง ท่านกล่าวสรุปถึงการภาวนาที่เกือบเสียของท่านทั้งหมด ดังนี้

“ภูเก้า ๐๑ ภาวนาเกือบเสีย

ถ้ำผาบิ้ง ๐๒ เกือบเสีย

๐๓ ถ้ำผาพร้าว ฝั่งซ้าย
(อยู่ทางนครเวียงจันทน์....ผู้เขียน) เกือบเสีย บุญวาสนาแก้ทัน เพราะอยู่คนเดียวเสียด้วย นี้เถระผู้ใหญ่(ท่านมีพรรษาถึง ๓๖ พรรษาแล้ว ในปี ๒๕๐๓....ผู้เขียน) ยังมีนิมิตหลอกได้

ภูบักบิด เกือบเสียเหมือนกัน พ.ศ.๙๙

ถ้ำโพนงาม พ.ศ.๗๗ เกือบเสียเหมือนกัน ระยะผลร้ายที่สุด เกือบสึก เกือบบ้า เกือบเสียชีวิต สกลนคร”


ที่ถ้ำโพนงาม พ.ศ. ๗๗ ที่ท่านว่า “เกือบเสียเหมือนกัน... ฯลฯ” นั้นต่อมา ท่านก็เขียนว่า “การทำความเพียรอยู่ถ้ำโพนงาม ปี ๗๗ นั้น เด่นมาก....หากเราได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น เราอาจได้สำเร็จอรหันต์”

“เกือบเสีย...” ของท่าน. ..!

ดังนั้น ที่ภูบักบิดนี้เช่นกัน ท่านว่า “เกือบเสีย” แต่กรุณาฟังที่ท่านบันทึกไว้ ณ อีกแห่งหนึ่งว่า

“ถ้ำภูบักบิด เป็นสถานที่ทำความเพียร ไม่เบื่อ จิตไม่คุ้นเคยในสถาน เกรงกลัวในสถานเสมอ นำมาซึ่งความเจริญ นิมิตไม่ร้าย เมตตาจิตเสมอภาค ไม่มีอคติ แผ่เมตตาจิตเยือกเย็นดี ถ้ำนี้ปรุโปร่งทั่ว ธันวาคม พ.ศ.๙๙ เดือนอ้าย พ.ศ.๙๙ ถ้ำนี้ได้พิจารณาตาย ตายที่สงัดดีเป็นหนทางพระอริยเจ้าตายคนเดียว ตายด้วยกิเลส คือตายด้วยหมู่ไม่ดี”

“ถ้ำนี้พิจารณาธรรมะแจ่มใส พิจารณาแห่งเดียวรู้ทั่ว ภาวนาได้ทะลุทั้งตัว ภาวนาลมหายใจทุกเส้นขน เทพ อมนุษย์ นาค ในที่นี้ชอบเอาใจมาก แผ่เมตตาจิตนั้นชอบนัก มีเมตตาเสมอภาคต่อบุคคลทั้งปวงจิตสูงมีอำนาจมาก ความรู้เลื่อนจากฐานะเดิมสู่ที่สูงมาก ประหวัดถึงกึ่งพุทธกาลเสมอ มีปาฏิหาริย์ดีกว่าถ้ำอื่น ๆ.....จิตอุ้มหนุน เอื้อเรื่อย ๆอยู่ถ้ำนี้ไปนาน ๆ จะมีความรู้ใหญ่โต จิตประหวัดคิดถึงกามไม่มี เหมือนที่ถ้ำผาปู่ นิมิตความฝันเป็นมงคล”


เราคงจะเข้าใจคำว่า “เกือบเสีย” ของท่านได้แล้ว
74#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๓๓-๓๕ จำพรรษาร่วมกับกัลยาณมิตร

พ.ศ. ๒๕๐๐ ณ วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

พ.ศ. ๒๕๐๑- ๒๕๐๒ ณ ถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี


กับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม

จากวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่หลวงปู่ได้ญัตติเป็นธรรมยุต ณ วัดโพธิสมภรณ์ ได้เป็นนาคขวาของ เจ้าคุณธรรมเจดีย์ ผู้เป็นองค์อุปัชฌายะโดยมี พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็น นาคซ้าย ท่านทั้งสององค์ผู้เป็นคู่นาคขวาและซ้ายของกันและกัน ก็เป็นกัลยาณมิตรเอื้อเฟื้อต่อกันตลอดมา ด้วยต่างมีใจตรงกัน หวังจะปฏิบัติธรรมเพื่อความเกษมหลุดพ้นจากโอฆสงสารเช่นเดียวกัน นับแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งท่านและหลวงปู่ขาว ได้จำพรรษาร่วมกัน ณ วัดป่าบ้านหนองวัวซอ ซึ่งมีหลวงปู่ชอบ ฐานสโม จำพรรษาอยู่ร่วมด้วยแล้ว ท่านต่างก็แยกย้ายกันไปแสวงหา ภูเขา เงื้อมถ้ำ โคนไม้ ตามป่าเปลี่ยว เขาสูง เพื่อทรมานกิเลส ต่างถิ่นต่างสถานที่กันไป ตามนิสัยความพอใจของแต่ละองค์

บางโอกาส บางสถานที่ ท่านอาจจะโคจรมาพบกันบ้าง แต่เมื่อต่างองค์ต่างพอใจในความวิเวก สันโดษ อยู่คนเดียว ไปคนเดียว เป็นปกตินิสัย การจะมาจำพรรษาด้วยกันอีกจึงเป็นการยาก กระทั่งเวลาผ่านไปถึง ๒๗ ปี คู่นาคขวาซ้ายจึงมาปวารณาเข้าพรรษาด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง

ท่านท่องเที่ยววิเวกจำพรรษาอยู่ทาง อุดร ขอนแก่น นครราชสีมา และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตามถ้ำเขาในเขตจังหวัดเลยอันเป็นจังหวัดบ้านเกิด พร้อมทั้งติดตามไปอยู่จำพรรษาใกล้กับครูบาอาจารย์ในสกลนคร ในขณะที่หลวงปู่ขาวจากอุดร สกลนคร นครพนม ขึ้นไปแสวงหาความวิเวกในจังหวัดภาคเหนือ จนได้ธรรมอันเป็นที่ยอดปรารถนาแล้ว ท่านก็กลับมาภาคอีสาน ได้พบกับหลวงปู่หลุยบ้าง ในระหว่างเวลาที่ท่านเข้ามากราบเยี่ยมฟังธรรมหลวงปู่มั่น...แล้วท่านก็จะเที่ยวธุดงค์ต่อไปทางจังหวัดอุดร หนองคาย ระยะเวลาที่เส้นทางโคจรมาประสานกันจึงค่อนข้างสั้น

ระยะนั้น ญาติโยมแถบอำเภอสว่างแดนดิน ได้นิมนต์ให้หลวงปู่ขาวมาเป็นประธานให้ที่พึ่งทางใจแก่พวกเขา ที่วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล ต.ค้อใต้ ท่านอยู่โปรดพวกเขาบ้าง แต่สถานที่นั้นไม่มีภูมิประเทศ ลักษณะถ้ำ ลักษณะขุนเขาที่ท่านพึงใจได้โอกาสหลวงปู่ขาวท่านก็จะหลีกเร้นไปวิเวก และบางครั้งก็อยู่ต่อไปจนเข้าพรรษาอย่างเช่นที่ดงหม้อทอง อำเภอวานรนิวาส สกลนคร ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือที่ ถ้ำแก้ว ตาดปอ บ้านทุ่งทรายจก ภูวัว หนองคาย ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้น

ออกพรรษา ปี ๒๔๙๙ ชาวบ้านแถบบ้านค้อใต้ ก็มาอาราธนาอ้อนวอนให้หลวงปู่ขาวกลับมาอยู่ ณ วัดป่าแก้วอีก ท่านรับนิมนต์ และปี ๒๕๐๐ นี้เป็นปีสุดท้ายที่ท่านจำพรรษาอยู่โปรดชาวบ้านชุมพลและบ้านค้อใต้ เพราะต่อมาท่านก็เที่ยวธุดงคกรรมฐาน ได้ไปพบสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ณ อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เป็นป่ารกชัฏ บริบูรณ์ด้วยพลาญหิน ละหานห้วย เงื้อมเขาและเถื่อนถ้ำต้นไม้สูงใหญ่ขึ้นเบียดเสียดกัน เหมาะแก่อัธยาศัยในการอยู่บำเพ็ญภาวนา หลวงปู่ขาวจึงพักอยู่ ณ บริเวณสถานที่นั้น และต่อมาก็ได้จัดตั้งขึ้นเป็นวัด มีนามว่า วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งเป็นที่ซึ่งท่านอยู่บำเพ็ญสมณธรรมตลอดมาจนวาระสุดท้ายของชีวิตของท่านในเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๖

หลวงปู่หลุยเที่ยววิเวกมาจากทางจังหวัดเลย มาพบหลวงปู่ขาวที่วัดป่าแก้ว ก่อนจะเข้าพรรษา ปี ๒๕๐๐ เล็กน้อย เมื่อเพื่อนสหธรรมิกชวนให้อยู่จำพรรษาด้วยกันแม้สภาพของวัดป่าแก้วจะอยู่ในพื้นที่ราบ ไม่ใช่ถ้ำ ไม่ใช่เขาอย่างแถบจังหวัดเลยหรือสกลนครที่ท่านพึงใจ แต่เพื่อนสหธรรมิกที่จะอยู่ร่วมด้วย เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยต้องกันมีคุณธรรมที่ท่านยกย่อง ท่านก็ตกลงจำพรรษาอยู่ด้วย

ท่านกล่าวว่า สถานที่นี้ออกจะเป็นที่ซึ่ง “ลวงตา” อยู่ กล่าวคือ เดิมคิดว่าคงจะไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อพอใจจะได้อยู่กับกัลยาณมิตร ได้มีเวลาธรรมสากัจฉากันบ้างซึ่งก็คงเป็น “สัปปายะ” อันเพียงพอแล้วที่ท่านต้องการ อย่างไรก็ดี ท่านได้พบด้วยความประหลาดใจว่า นอกจากบุคคลสัปปายะแล้ว แม้สถานที่ก็สัปปายะ...และอากาศก็สัปปายะด้วย
75#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านและหลวงปู่ขาวถูกอัธยาศัยกันมาก ท่านเล่าว่า นอกเหนือจากเวลาที่ญาติโยมมาหา ซึ่งเป็นเวลาที่ท่านช่วยหลวงปู่ขาวรับแขกแล้ว ท่านก็ต่างองค์ต่างเข้าที่ภาวนา หรือเดินจงกรมกัน อยู่คนละแห่ง คนละแดนของวัด วัน ๆ หนึ่งแทบไม่ได้พบหน้ากัน พูดคุยกัน นอกจากเวลาเตรียมตัวไปบิณฑบาต หรือฉันน้ำร้อน

ท่านยอมรับว่า นิสัยของท่านทั้งสองต่างคล้ายกัน คือ ชอบเปลี่ยนที่ทำความเพียร เช่น เวลาเช้า นั่งภาวนาอยู่ ณ ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง เวลาบ่าย ไปทำความเพียรอีกแห่งหนึ่ง ตกค่ำ เปลี่ยนที่ต่อไปอีก เปลี่ยนทิศ เปลี่ยนสถานที่ แม้แต่เส้นทางจงกรมก็ตาม ท่านก็ยังจัดทำไว้หลายสาย สายหนึ่งสำหรับบริเวณนี้ อีกสายหนึ่งสำหรับบริเวณตอนโน้น บริเวณวัดนั้นกว้างขวางมาก ด้วยยังเป็นป่าเป็นแนวไพรอยู่ ผู้ภาวนาจึงสามารถเที่ยวเลือกหาแบ่งปักปันเขตภาวนากันตามอัธยาศัย แดนนี้...สุดชายป่านี้ เป็นขององค์นี้ แดนโน้น สุดชายป่าโน้น เป็นขององค์นั้น

ก้อ...สมมติกันน่ะแหละ ว่าเป็นแดนของใคร... ท่านเล่าขัน ๆ

แต่บางเวลา เปลี่ยนทิศทาง ไปซ้าย ไปขวา ไปใกล้ ไปไกล...ภาวนาเพลินไป ออกจากที่ภาวนา ปรากฏว่ามาทับแดนกัน อยู่ห่างกันเพียงกอไม้กลุ่มเดียวก็เคยมี... !

ท่านต้องอัธยาศัยกันมาก ทั้ง ๆ ที่ท่านต่างชอบสันโดษไปองค์เดียวแต่สำหรับกับหลวงปู่ขาว ดูจะเป็นกรณียกเว้น เมื่อหลวงปู่ขาวไปพบถ้ำกลองเพล ท่านจึงชวนหลวงปู่หลุยให้ไปจำพรรษาอยู่ด้วยกันอีก

ในปีพรรษา ๒๕๐๑ และ ๒๕๐๒ หลวงปู่หลุยจึงอยู่ร่วมกับหลวงปู่ขาวต่อไป รวมเป็นเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ด้วยกันถึง ๓ ปีติดต่อกัน ซึ่งท่านกล่าวว่า ท่านมิได้เคยจำพรรษาอยู่ด้วยใครนานเช่นนี้มาก่อนเลย

ยิ่งถ้ำกลองเพลมีอาณาบริเวณกว้างขวาง เป็นป่ารกชัฏ บริบูรณ์ด้วยพลาญหิน ละหานห้วย เงื้อมเขาและเถื่อนถ้ำดังกล่าวแล้ว การที่หลวงปู่ทั้งสององค์จะแยกกันหลีกเร้นไปหาที่สงัดวิเวกจึงแทบไม่มีโอกาสที่จะมา “ทับแดน” กันได้เลย

อยู่องค์ละเงื้อมหิน องค์ละถ้ำ ไม่ต้องพูดคุยกัน

ในภายหลัง ได้มาพบบันทึกของหลวงปู่หลุย ท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“พระเถระไปเยี่ยมกัน ท่านใช้ฌานของจิต ไม่ต้องพูดกันอย่างคนธรรมดา รู้สุข รู้ทุกข์ รู้ทันที ผิดกับคนสามัญต้องถามสุขทุกข์กันเสียจึงรู้ได้”

คงจะพอเข้าใจแล้ว ทำไมท่านไม่จำเป็นต้องพูดคุยกัน...!!

เฉพาะในถ้ำกลองเพล ซึ่งเป็นถ้ำใหญ่กว้างขวาง เพดานถ้ำสูง มีอากาศโปร่ง โล่ง สบาย ลมพัดถ่ายเทได้ ปากถ้ำก็กว้าง คนเข้าไปอยู่ในบริเวณถ้ำได้เป็นจำนวนเรือนพัน กล่าวกันว่า ภายในถ้ำนั้นเคยมีกลองเพลใหญ่ประจำอยู่ลูกหนึ่ง ขนาดใหญ่มหึมา ไม่ทราบสร้างกันมาแต่กาลใด สมัยใด คงจะเป็นเวลานับด้วยร้อย ๆ ปีผ่านมาแล้วบ้างก็ว่า เกิดขึ้นเองพร้อมกับถ้ำ บ้างก็ว่า เป็นกลองเทพเนรมิตขึ้นสำหรับผู้มีบุญ กลองเพลนั้นอยู่คู่กับถ้ำมาช้านาน สุดท้ายก็เสื่อมสลายลงเป็นดินตามกฎแห่งอนิจจังที่ว่า มีเกิด ย่อมมีดับ มีอุบัติ ย่อมมีเสื่อมสลายทำลายลง พวกที่เคยเข้าไปล่าสัตว์อาศัยเข้าไปพักเหนื่อยหรือหุงหาอาหาร เล่าว่า เคยเห็นเศษไม้ของกลองยักษ์นั้นที่กระจัดกระจายอยู่ในหลืบถ้ำ เอามาเป็นฟืนหุงต้มอาหารได้

ที่สำคัญก็คือ ภายในถ้ำนั้นมีพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ มากมาย ประดิษฐานไว้ตามหลังเขา และในถ้ำ ส่วนที่กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปทอง หรือพระพุทธรูปเงินแท้นั้น ได้ถูกคนในสมัยหลังยึดถือเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวกันหมดแล้ว

โดยที่ปี ๒๕๐๑ เป็นปีแรกที่หลวงปู่ขาวท่านมาเริ่มตั้งวัดถ้ำกลองเพลดังนั้น หลวงปู่หลุยจึงเท่ากับมาร่วมอยู่ในยุค “บุกเบิกแรกตั้ง” ด้วย ท่านมิได้มีนิสัยในทางก่อสร้าง แต่ท่านก็คงช่วยเพื่อนสหธรรมิกของท่านในการเทศนาอบรม โดยเฉพาะเชิญชวนพุทธบริษัทให้มาร่วมทำนุบำรุงวัดถ้ำกลองเพลด้วย

ได้พบข้อความในสมุดบันทึกของท่านหลายแห่ง ซึ่งท่านให้ชื่อไว้ว่า “โฆษณาเชยชมถ้ำกลองเพลโดยเอกเทศ” ขอเลือกนำมาลงพิมพ์ไว้เป็นอนุสรณ์ในที่นี้สำนวนหนึ่ง ดังนี้
76#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
“ถ้ำกลองเพลเป็นสถานที่ประชุมของพุทธบริษัท มีทั้งภิกษุสงฆ์สามเณร มีทั้งศิษย์วัด มีทั้งแม่ขาว นางชี และมี ท่านอาจารย์ขาว ผู้เป็นเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาเป็นเจ้าอาวาส ประกอบทั้งมีคุณวุฒิทางธรรมวินัยที่ได้อบรม และฉายความรู้มาจากเถระผู้ใหญ่ กล่าวคือ ท่านอาจารย์มั่น โลกนิยมกันว่า เป็นคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานที่สำคัญของภาคอีสาน”

“แม้ท่านอาจารย์ขาวองค์นี้ เป็นที่นับถือของพระเถรานุเถระผู้ใหญ่มานาน ทั้งท่านได้มีโอกาสมาจำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพล ที่ถ้ำกลองเพลนี้ก็ได้ทราบว่า พระภิกษุสามเณร แม่ขาว นางชี มาจากต่างถิ่น ต่างจังหวัดเช่น อุบล อุดร ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู สกลนคร พร้อมฉันทะมาจำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพลนี้ปีละมาก ๆ หากว่าเช่นนั้นเป็นสายชะนวนให้พุทธบริษัทดำเนินการก่อสร้างวัดถ้ำกลองเพล”

“ถ้ำกลองเพลนี้ เนื้อที่ของวัดกว้างขวาง ประมาณ.................ไร่ ภูเขาถ้ำกลองเพลเป็นธรรมชาติภูเขามาตั้งแต่ปฐมกัป มีเรือกเกณฑ์ภูมิลำเนาดี มีน้ำอุปโภค บริโภค มีถ้ำใหญ่ มีพุทธรูปปฏิมากรเป็นพยานน่าชื่นใจ น่าบูชา และมีเหลี่ยมหินที่เล็กๆ หลายแห่ง ซอกเขาต่าง ๆ เป็นที่ซ่อนใจ ซ่อนตัวในเวลากลางวันได้ สถานที่ขึ้นไปหาถ้ำบิ้งขึ้นแต่ถ้ำหารไป..มีสูง ๆ ต่ำ ๆ และมีกุฎีปลูกขึ้นไปโดยลำดับสวยงาม ส่วนผาบิ้งนั้นมีดานหินที่สะอาด เดินภาวนาเปลี่ยนอิริยาบถได้ตามสบาย ทั้งมีก้อนหินสูง ๆ ต่ำ ๆ สะอาด เจริญใจ ทั้งมีลำคลองน้ำเล็ก ๆ ที่มีน้ำใช้ ฤดูฝนใสสะอาด บริโภค อุปโภคได้เป็นอย่างดี ถ้ำกลองเพลนี้ประกอบไปด้วยป่าใหญ่ที่เกิดจากธรรมชาติ เป็นเทือกดงแนวป่าเปลี่ยว สดชื่น ป่าไม้นั้นล้วนอยู่ในบริเวณถ้ำกลองเพลทั้งนั้น”

“ถ้ำกลองเพลนี้ หนทางเข้าวัด ติดกับทางรถยนต์ระหว่างอุดรไปหนองบัวลำภู ทางแยกรถยนต์เข้ามาทางวัด ๕. กิโลเมตร สะดวกไม่ขัดข้องด้วยประการใด ๆ ถ้ำกลองเพลเป็นสถานที่ห่างไกลจากบ้าน เป็นสถานที่เจริญสมณธรรม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาลนานหนักหนา เป็นสถานที่มงคลดุจเทพรักษาถิ่นนี้มาก เป็นสถานที่ดึงดูดน้ำใจพวกเราพุทธบริษัทให้มาดูสภาพของถ้ำกลองเพลเรื่อย ๆ...เป็นสถานที่มีชื่อเสียงเด่นไปต่างจังหวัดอื่น...เป็นสถานที่ร่วมใจของชาวเมือง มีข้าราชการ พ่อค้าพาณิชย์ และชาวไร่ชาวนา พากันมานมัสการพระพุทธรูปปฏิมากร เจดียสถาน แม้ในฤดูกาลปีใหม่ ท่านศาสนิกชนทั้งหลายพากันมาสระสรงพระพุทธรูป เพื่อขอฟ้าขอฝน และขออยู่อายุวรรณะ สุขะ พละ สำหรับปีใหม่”

“ถ้ำกลองเพล มีทั้งต้นกล้วย ต้นขนุน ต้นมะละกอ เป็นพิเศษหมากไม้บริโภคที่เกิดจากธรรมชาติไม่แสลงโรค ครั้นพากันบริโภคแล้วบังเกิดความสุข หากว่าเป็นเช่นนี้ พวกเราพุทธศาสนิกชนควรปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมสาธารณวัตถุ เพื่ออุทิศบูชาไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอานิสงส์อย่างใหญ่ไพศาล”

“ถ้ำกลองเพลนี้ มีท่านอาจารย์ขาวเป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนา ทั้งมีพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก มีทั้งฤดูแล้ง ฤดูฝนมิได้ขาด ท่านโยคาวจรเจ้าทั้งหลายผู้ที่แสวงหาวิโมกขธรรมย่อมไปๆ มา ๆอยู่อย่างนั้นมิได้ขาดสาย ท่านเหล่านั้นมาพักพาอาศัย พึงร่มพึ่งเย็นที่คณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายท่านพากันก่อสร้างไว้ดังนี้ แม้เสนาสนะไม่เพียงพอก็อยู่ ท่านเหล่านั้นพากันอยู่ในรุกขมูล ต้นไม้บ้าง อยู่ในถ้ำบ้างอยู่ง่ามภูเขาบ้าง แล้วแต่ความผาสุกของท่านเหล่านั้น”

“ถ้ำกลองเพล ต่ออนาคตข้างหน้าจะเป็นวัดสำนักใหญ่ เป็นสถานที่เป็นมงคลอย่างยิ่งในอนาคตข้างหน้า หากว่าเป็นเช่นนี้ การก่อสร้างใด ๆ จะเป็นกุฎีก็ดี หรือจะเป็นสรณวัตถุสิ่งอื่น ๆ ก็ดี ล้วนแต่เป็นสถานที่เสนาสนะต้อนรับพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายที่มาแต่จตุรทิศทั้ง ๔ ซึ่งมีอานิสงส์อย่างไพศาล”

“....นำมาซึ่งความชื่นใจของท่านศาสนิกชนพุทธบริษัทต่อหลายฟ้าหลายปี จะเป็นสำนักใหญ่รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ท่านผู้มาพบเห็น ก็พากันใคร่อยากจะก่อสร้างเป็นอนุสาวรีย์ไว้ในศาสนาทั้งนั้น เพื่อสืบบุญลูก บุญหลาน บุญเหลนต่อไป อนุชนเหล่านั้น ก็จะได้พากันระลึกได้ว่า ปู่ของเรา ย่าของเรา ชวดของเรา บิดามารดาของเรา ท่านเหล่านั้นได้พากันก่อสร้างไว้แล้ว อนุชนเหล่านั้นจะได้พากันก่อสร้างสืบต่ออนาคต....ดังนี้”


http://www.dharma-gateway.com/mo ... ouis-hist-04-08.htm
77#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๓๖ พ.ศ. ๒๕๐๓ ในถ้ำเขตจังหวัดเลย

จำพรรษา ณ ถ้ำมโหฬาร ต.หนองหิน อ.ภูกระดึง

พอออกพรรษา ปี ๒๕๐๒ แล้ว หลวงปู่ก็แยกจากกัลยาณมิตรของท่านออกจากวัดถ้ำกลองเพล ท่องเที่ยววิเวกมุ่งกลับไปทางจังหวัดเลย ซึ่งขณะนั้นยังสมบูรณ์ด้วยป่าด้วยเขา มองเห็นภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ต่อเนื่องเนืองนันต์กันไปเป็นสีเขียวอ่อนแก่สลับซับซ้อนกัน

แม้บริเวณแถวถ้ำกลองเพลเอง ก็ยังเป็นป่าดงพงทึบอยู่ มีเสือมีช้างเข้ามาเยี่ยมกรายในบริเวณวัดอยู่เสมอ ฉะนั้นเมื่อพ้นเขตที่วัด ก็ไม่ต้องสงสัยว่า ต่อไปจากนั้นบริเวณป่าเขาลำเนาไพร ก็จะยังคงสภาพ “ป่าดงพงทึบ” จริง ๆ เพียงใด ต้นไม้แต่ละต้นใหญ่มาก สำนวนท่านเรียกว่า “กอดไม่หุ้ม” หมายความว่า ใหญ่จนคนโอบไม่รอบ สัตว์ป่ายังคงอุดมสมบูรณ์ บ้านเรือนผู้คนห่างกัน เล่าว่า จากอุดรไปเลยนั้น เป็นภูเขามาก ที่เห็นเป็นถนนลาดยางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขานั้น เพิ่งจะมาทำกันในสมัยหลัง ๆ นี้ดอก การเดินทางสมัยหลัง ๆ นั้นจึงกลายเป็นของสะดวกง่ายดาย พระธุดงคกัมมัฏฐานสมัยหลังจึงอาศัยความเจริญก้าวหน้าของการคมนาคม เดินทางไปมาอย่างสะดวกสบาย

"หลวงปู่เคยเทศนาไว้ในภายหลัง วิจารณ์กัมมัฏฐานสมัยใหม่ไว้ว่า

“.....ทกวันนี้ กัมมัฏฐานขุนนาง !...เป็นยังไงขุนนาง...? หรูหรามากเหลือเกิน ขุนนางหมายความว่ายังไง... เดินธุดงค์ขึ้นรถแล้ว...นั่น....เดินธุดงค์ขึ้นเรือบินแล้ว...นั่น.... แต่ก่อนน่ะ ไม่ได้ทีเดียว...แบกกลดขึ้นภูเขา ลงภูเขา แหม....เหนื่อยยากเหลือเกินนะ แต่ก่อนนะ อาหารการกินก็ไม่บริบูรณ์เหมือนทุกวันนี้นะ กินพริกกินเกลือไป แล้วมื้อแล้ววันไป หิวมาก....หิวมากเทียวเวลาเย็นนะ...นั่น”

“เดี๋ยวนี้อะไร ป้อนอาหารใหญ่โต หรูหรามาก เลี้ยงกิเลสนะ มันจะมีความรู้ความฉลาดอะไรได้นะ แล้วขึ้นเรือบินด้วย แล้วขึ้นรถขึ้นราด้วย...!”


“กัมมัฏฐานขุนนาง ทุกวันนี้น่ะ “ลาภเกิดก่อนธรรม” ลาภมันเกิดก่อนนะ เมื่อเกิดก่อนซะแล้ว มันยกจิตไม่ขึ้นทีเดียว...ลาภมันเกิดขึ้นก่อนมัน ถ่วงหัวทุบหาง มันยกจิตไม่ขึ้น มันติดลาภติดยศอยู่..... ”

นับเป็นภัยอย่างยิ่งต่อผู้ที่ยังไม่ถึงมรรคถึงผล เพราะลาภสักการะย่อมฆ่าบรรพชิต... หัวก็ถูกถ่วง หางก็ถูกทุบ...ก็ได้แต่แบนเละตาย...มีแต่ตายลูกเดียวเท่านั้น

ท่านเล่าถึงสภาพป่าเขาแถบจังหวัดอุดร ต่อเนื่องไปจังหวัดเลย ในสมัยที่ท่านยังเดินธุดงค์ไปมาอย่างโชกโชน อย่างละเอียด แม้ขณะในปี ๒๕๐๑-๐๒-๐๓-๐๔ ก็ยังคงสภาพป่าอยู่ เดินไปนาน ๆ จึงจะพบบ้านผู้บ้านคนสักครั้ง ล้วนขุดดินทำไร่กันตัวเป็นเกลียว สัตว์ป่าก็ยังมากมาย บางแห่งชาวบ้านเห็นหน้าพระก็ปรับทุกข์ กลางวันแท้ ๆ ไปเกี่ยวหญ้ากันห้าหกคน อยู่ใกล้ ๆ กันด้วย....แต่ต่างคนต่างก็หมกมุ่นอยู่กับงานเฉพาะหน้า ได้ยินเสียงเพื่อนร้องคำเดียว เหลียวไป เสือมันตะปบไปแล้ว มันคาบร่างตีใส่ดินตูมเดียว เพื่อนก็เงียบเสียง ทุกคนเห็นอยู่กับตา ตะลึงงันกันไปหมด ไม่ทราบจะทำอย่างไร เพื่อนเงียบเสียง ตัวอ่อนนิ่งไปแล้ว จ้าวป่ามันยังชำเลืองดู แล้วก็เยื้องย่างเดินฉากไป โดยมีร่างเลือดโทรมของเพื่อนติดอยู่ในปาก

น่าสยดสยอง น่าสลดสังเวชอย่างยิ่ง สัตว์เล็กย่อมพ่ายสัตว์ใหญ่ สัตว์อ่อนแอยอมแพ้แก่สัตว์แข็งแรง ชีวิตช่างไม่มีคุณค่า....หาที่พึ่งมิได้เลย พึ่งได้แต่พระธรรมอย่างเดียว ท่านจึงได้แต่เทศน์ปลอบใจเขา อบรมสั่งสอนให้เขาพากันยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง รู้จักรักษาศีล ศีลเป็นธรรมเครื่องค้ำจุนโลก โดยเฉพาะการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ชีวิตย่อมเป็นที่รักที่หวังของทุกคน ไม่มีใครอยากเจ็บอยากตาย สัตว์ก็เช่นกันเขาก็มีชีวิตเหมือนกับเรามนุษย์ เวลานี้เขามาเกิดเป็นสัตว์ตามกรรมที่กระทำมา ต่างมีความคิด ความนึก เจ็บร้อน อ่อน หิว กลัวตายเช่นมนุษย์เหมือนกัน เพียงแต่พูดออกมาเป็นภาษามนุษย์ไม่ได้เท่านั้น การมาอยู่ในป่าเปลี่ยวท่ามกลางสัตว์ร้ายเช่นนั้นยิ่งต้องพยายามรักษาศีลข้อไม่ฆ่าสัตว์นี้ให้มาก ให้ยิ่ง ให้มีใจเมตตากรุณาต่อสัตว์ ผลของความเมตตาต่อสัตว์นั้น จะเป็นเครื่องคุ้มครองตนเองและครอบครัวให้แคล้วคลาดจากภยันตรายจากสัตว์เช่นกัน
78#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อเราเมตตาเขา เขา....พวกเขา....ย่อมเมตตาเรา เสือและเพื่อนผู้นั้นคงเป็นคู่กรรมเวรกันมา ทำไมอยู่กันหลายคน มันจึงเจาะจงคาบเอาไปแต่คนนั้นคนเดียว ขอให้ปลงใจเสียเถิด ปัจจุบันก็ให้ทำแต่กรรมดี อย่าก่อเวรต่อไป

ท่านเล่าว่า ขณะที่สั่งสอนเขานั้น ภาพเหตุการณ์เมื่อท่านเองได้ผจญกับเสือที่ถ้ำโพนงามก็กลับมาเป็นภาพอนุสรณ์ให้ได้รำลึกถึงอีก ทำให้สงสารพวกชาวบ้านเหล่านั้น ยิ่งนัก

หลวงปู่ธุดงค์ตัดมุ่งตรงไปทางริมแม่น้ำโขง ท่านเคยอยู่เชียงคานในสมัยยังหนุ่มก่อนบวชหลายปี จึงกลับไปเยี่ยมผู้คนทางนั้นด้วย และเลยข้ามฝั่ง ไปฝั่งลาวไปเมืองแก่นท้าว

กลางเดือนมีนาคม ๒๕๐๓ ท่านบันทึกไว้ว่า

“อยู่ปากเหือง ข้างแรม ๓ ค่ำเดือน ๔ พ.ศ. ๐๓ (วันอังคารที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๓)เทวดานิมิตนิมนต์ไปแผ่เมตตาจนนกเขาขันกลางคืน ภาวนาดี แจบจม แม่ครูอ้วนอุปัฎฐาก น้ำโขงไม่เป็นสัปปายะ”

ที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ท่านไปภาวนาที่ถ้ำผาพร้าว ซึ่งท่านว่า ภาวนาดีมาก อีกหลายปีต่อมา ท่านบันทึกเกี่ยวกับการอยู่ถ้ำผาพร้าวในปี ๒๕๐๓ ไว้อีกว่า

“ถ้ำผาพร้าว ฝั่งซ้าย เกือบเสีย บุญวาสนาแก้ทัน เพราะอยู่คนเดียวเสียด้วย...” ท่านรำพึงต่อไปว่า “นี้พระเถระผู้ใหญ่ยังมีนิมิตหลอกได้...”

ดังได้เคยกล่าวมาแล้วว่า คำว่า “เกือบเสีย” ของหลวงปู่นั้นมีความหมายเฉพาะองค์ท่าน ใครมาเห็นบันทึกของท่านกล่าวถึงสถานที่บำเพ็ญความเพียรที่ใดว่าเป็นที่ “เกือบเสีย” หรือ “เป็นบ้า”แล้วเข้าใจตามภาษาของเราเองก็จะผิดถนัด

“เกือบเสีย”หรือ “เป็นบ้า” ของท่าน คือ การภาวนาจนจิตลงถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อถอนออกมาเกิดมีนิมิตรู้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิสัยของท่านผู้เคยมี นิสัยวาสนาทางอภิญญามาก่อน.มิได้พยายามปล่อยวางนิมิต คงเพลิดเพลินไปตามนิมิตและความรู้เห็นนั้น.....

ถ้าปล่อยไป ก็จะ “เสีย” หรือ “เป็นบ้า” ไปเลย

จึงต้องมีการ “แก้บ้า” หรือ แก้ไม่ให้เสีย โดยใช้ไตรลักษณ์เข้าพิจารณาให้เห็นเป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ตามสำนวนของท่านว่า “ล้างเช็ด”หรือ “ฟอก” จิตให้บริสุทธิ์

การภาวนาที่ “เกือบเสีย” หรือ “แก้บ้า” ได้แล้ว หมายความว่า จิตจะเด่นดวง เป็นจิตที่มีปาฏิหาริย์แกล้วกล้ามาก

ยกตัวอย่าง ที่ท่านเคยวิจารณ์การภาวนาที่ถ้ำโพนงามไว้ว่า “...ถ้ำโพนงาม พ.ศ.๗๗ เกือบเสียเหมือนกัน ระยะผลร้ายที่สุด เกือบสึก เกือบบ้า เกือบเสียชีวิต.....”

และในขณะเดียวกัน ท่านก็กล่าวไว้อีกเช่นกันถึงการเจริญภาวนา ณ ที่ถ้ำโพนงามนั้นในช่วงระยะเวลาเดียวกันว่า

“ความเพียรอยู่ถ้ำโพนงามนั้นเด่นมาก เอาลัทธิท่านอาจารย์สิงห์และท่านมหาปิ่น (ท่านเพิ่งกลับมาจากการไปจำพรรษาอยู่กับท่านอาจารย์สิงห์ ณ ที่วัดป่าบ้านเหล่างา ปี ๒๔๗๔ และกับท่านอาจารย์พระมหาปิ่น ณ วัดป่าศรัทธารวม ปี ๒๔๗๕....ผู้เขียน) หากเราได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น เราอาจได้สำเร็จอรหันต์”

“เกือบเสีย”ของท่าน...! ยังเด่นดวง จนท่านอุทานว่า หากได้ฟังเทศนาท่านอาจารย์ ท่านอาจได้สำเร็จอรหันต์....!

ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ทางฝั่งประเทศลาวยังมีป่าดงพงไพร เหมาะเป็นที่วิเวกเจริญสมณธรรมอีกมาก เพราะบ้านเมืองยังไม่ถูกความเจริญเข้ารุกไล่อย่างรวดเร็วเช่นทางประเทศไทย ที่สงบสงัด เถื่อนถ้ำ เงื้อมเขาสูง ยังโดดเดี่ยวปกคลุมด้วยไพรพฤกษาเขียวครึ้ม และสมัยนั้นการเดินทางข้ามไปมาระหว่างไทยและลาวก็ง่ายดาย ไม่มีพิธีการเข้มงวดกวดขันดังในสมัยที่ลาวเปลี่ยนการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐแล้ว พระธุดงคกัมมัฏฐานที่เคยไปแสวงหาความสงบวิเวกยังถิ่นโน้นจึงต้องลดละไป เป็นที่น่าเสียดายมาก

ระหว่างอยู่ทางฝั่งลาว ก็พักตามเถียงนาบ้าง วัดร้างบ้าง บางทีก็มีผู้นิมนต์ให้ไปโปรดตามบ้านช่องห้องหอของศรัทธาญาติโยม ซึ่งมักจะเคยคุ้นต่อการข้ามมากราบครูบาอาจารย์พระกัมมัฏฐานสายนี้อยู่แล้ว การเดินทางไปเที่ยวกัมมัฏฐานของหลวงปู่นี้ เท่าที่เรียนถามพระเณรที่เคยได้มีโอกาสไปกับท่าน เล่าว่า ท่านมักจะไปผู้เดียวตลอด มาจนระยะหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ล่วงแล้วนั้นท่านจึงมีเณรติดตามบ้างเป็นบางครั้ง
79#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ที่ใดท่านได้อยู่องค์เดียว ท่านก็อยู่นานหน่อย ถ้ามีหมู่พวกอยู่ด้วยท่านก็จะไม่อยู่นาน ท่านมักเคลื่อนที่ทุกสามวันห้าวัน หากการภาวนาดีก็จะอยู่ถึงเจ็ดวันแปดวัน หมู่พวกมาอยู่ด้วย ท่านก็ปล่อยให้หมู่พวกอยู่ แล้วท่านจะหลีกหนีไปเอง

พอถึงต้นเดือนพฤษภาคม ท่านก็กลับมาจากแถบริมฝั่งแม่น้ำโขง มาในเขตอำเภอภูกระดึง มุ่งมาถ้ำมโหฬาร

“ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๐๓ (ตรงกับวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓) กลับมาอยู่ถ้ำมโหฬาร วิเวกดี นำมาซึ่งความสุขใหญ่ มีโอกาสภาวนาชำระจิตอย่างเดียวดีกว่าถ้ำผาปู่ ถ้ำผาพร้าว ไม่ขัดข้องด้วยสิ่งอันใด แต่อาพาธบางประการ เบื่อผักหวาน หมู่เพื่อนช่วยเหลือทุกอย่าง..... ”

ได้ความว่า ระยะนั้นเณรเก็บผักหวานมาต้มถวายทุกวัน ๆ และโปรดอย่าลืมว่า ระยะนั้นท่านทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ อาหารนั้นก็มักจะเป็นปลาร้าละลายน้ำต้มกับผักใบไม้ที่พอหาได้ใกล้ถ้ำ

“แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๐๓ (วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓) ภาวนาและตายลงไป เชื่อนิมิตอิงอริยสัจ ๔ บังคับจิตอยู่เสมอ ตั้งสติให้ระวังอยู่อาการนั้น เพื่อความชำนิชำนาญของสติ เมื่อรู้เท่าอันนี้แล้วเป็นแก่นสารของจิตแก่นสารของอริยสัจ จิตจะปกติ....ตั้งเที่ยงอยู่ในโลกุตระ บรรดานิมิตเข้าหลอกไม่ได้ สติกับหลักอริยสัจอิงกันอยู่โดยดี.....”

ในปี ๒๕๐๓ นี้ ท่านก็ตกลงจำพรรษา ณ ถ้ำมโหฬาร ส่วนปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านจำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว ซึ่งอยู่ ณ บ้านโคกแฝก ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย

พรรษาที่ ๓๗ พ.ศ. ๒๕๐๔ พบงูใหญ่มาอยู่ใต้แคร่

จำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ต. ผาน้อย อ. วังสะพุง จ. เลย

พ.ศ. ๒๕๐๔ หลวงปู่จำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ต. ผาน้อย อ. วังสะพุง เป็นการกลับมาจำพรรษาที่จังหวัดเลยเป็นปีที่สอง

ในปีนี้ท่านได้มีโอกาสเข้าไปในกรุงเทพฯ ซึ่งคงจะเป็นครั้งแรกของท่านในชีวิตสมณเพศ ท่านเล่าว่า เคยเข้ามาครั้งหนึ่ง มากับพวกบาทหลวงสมัยยังเป็นคริสต์ เป็นเด็กหนุ่ม เขาพาไปที่โบสถ์สามเสน ได้ไปสวดมนต์แล้วก็ถูกพากลับ ไม่ทันเห็นหนอะไร...คำนวณจากประวัติ ขณะเมื่อท่านยังเป็นคริสต์ คงอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี คงจะเป็นราว พ.ศ. ๒๔๖๓ หรือก่อนนั้น

มากรุงเทพฯครั้งนี้ คงจะมีผู้นำท่านไปชมเมือง... ท่านบันทึกสรุปถึงสถานที่ซึ่งได้ไปโดยย่อดังนี้.-

“พ.ศ. ๐๔ วัดพระแก้ว โรงพยาบาลสงฆ์ วัดนรนาถ วัดมหานิกายพระพุทธูรูปทองคำ (วัดไตรมิตรวิทยาราม....ผู้เขียน) วัดมงคล สะพานพระพุทธยอดฟ้า พระเจ้าตากสินทรงม้า บางแค ผ่านโรงทหาร กระทรวงกลาโหม สถานที่เลี้ยงสัตว์แต่เข้าไม่ถึง วัดสัมพันธวงศ์ ภูเขาทองในพระนคร น้ำพุ วัดอโศการาม สมุทรปราการ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เขาวัง พระพุทธรูปใหญ่นอนวัดสนามพราหมณ์ สถานที่พิพิธภัณฑ์ ไปกรุงเทพฯ ๑ คืน ๕ - ๖ เขาพระงาม ลพบุรี ถ้ำสิงห์โต โคราช เขาวงพระจันทร์”
80#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ภูมิสถานของถ้ำแก้งยาวที่หลวงปู่ไปจำพรรษานั้นอยู่สูงขึ้นไปบนภูเขาในบริเวณเขตวัดป่าถ้ำแก้งยาว ซึ่งในสมุดบันทึกได้มีลายมือของท่านพรรณนากล่าวขวัญถึงวัดป่าถ้ำแก้งยาว ดังนี้

“วัดป่าถ้ำแก้งยาว มีภูเขาลูกหนึ่งต่างหาก มีถ้ำเล็กติดต่อกับชายทุ่งนา ประกอบด้วยอากาศที่พัดเข้ามาในวัดได้สะดวก บริบูรณ์ด้วยน้ำอุปโภค บริโภค มีทั้งฤดูแล้ง ฤดูฝน ฤดูหนาว มีลำคลองรอบวัด มีไม้ไผ่ตามลำคลองเขียวชอุ่ม เยือกเย็นดี ไม่พลุกพล่านแก่คนสัญจรไปมา ถ้ำแก้งยาวนี้มหาชนนิยมถือกันมาแต่โบราณาจารย์ ถึงฤดูปีเทศกาลปีใหม่ คณะญาติโยมพากันไปนมัสการขอพระ ขอฟ้าขอฝน และบวงสรวงเพื่ออายุ วรรณะ สุขะ พละ สำหรับปีใหม่ด้วย วัดถ้ำแก้งยาวเป็นวัดที่สวยงาม เป็นวัดที่มั่นคง เป็นวัดที่ถาวร วัดที่นับถือกันมาตั้งแต่โบราณาจารย์ เป็นที่มหาชนนิยมกันมาก เป็นวัดที่วิเวกของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายมาพักเจริญสมณธรรม..... ”

“ฉะนั้น ควรที่คณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พึงสนใจ พึงตริตรอง พึงพิจารณา ช่วยกันทะนุบำรุงการก่อสร้าง เป็นอนุสาวรีย์ เพื่อยุวชนกุลบุตรชั้นลูก ๆ หลาน ๆ เหลน ๆ ของพวกเราสืบอายุพุทธศาสนา รับรัชทายาทสืบมรดกมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น.....”

พรรณนาโวหารของหลวงปู่ ทำให้พวกเราออกนึกอายใจ... และยิ่งคิดว่าท่านมีพื้นความรู้เพียงแค่ชั้นประถมปีที่ ๓ ในปี ๒๕๐๔ นี้ ท่านเพิ่งจะได้เขามากรุงเทพฯ เพียงครั้งแรก (โดยไม่นับครั้งที่ท่านมาสมัยเป็นเด็กหนุ่มชาวคริสต์!) ก็ควรนับเป็นโวหารอันทันสมัยยิ่ง


หลวงปู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส

เผอิญได้พบที่ท่านบันทึกไว้อีกตอนหนึ่ง เป็นการพรรณนาพระคุณของหลวงปู่คำดี ปภาโส (พระครูญาณทัสสี) และเรื่องของถ้ำผาปู่ จึงใคร่ขออัญเชิญนำมาลงด้วย เป็นคู่เคียงกัน แสดงถ้อยคำสำนวนที่ท่านเขียนไว้ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ เช่นเดียวกัน

“พระครูคำดี ญาณทัสสี พ.ศ.๐๔”

“ขอท่านศาสนิกชนทั้งหลายกรุณาทราบไว้ว่า ท่านพระครูญาณทัสสี (คำดี) เป็นพระเถระผู้ใหญ่ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีพรรษาไล่เลี่ยกับอาตมากับท่านอาจารย์ชอบ นับตั้งแต่ญัตติธรรมยุตมา ได้เคยไปฝึกปรือวิปัสสนาธุระกับท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์มหาปิ่น ที่จังหวัดขอนแก่น ด้วยกันกับอาตมา ท่านอาจารย์ชอบฉายความรู้มาจากอาจารย์เดียวกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ - ๒๔๗๔ - ๒๔๗๕ นั้นๆ"

“นิสัยท่านพระครูญาณชอบอยู่ในที่วิเวก ชอบเจริญสมณธรรมในถ้ำภูเขา ชอบปกครองพุทธบริษัท เพื่อนสหธรรมิก พระภิกษุสามเณร ตลอดแม่ขาวนางชีและคณะอุบาสกอุบาสิกา ฉะนั้นท่านจึงมีลูกศิษย์ลูกหานั้นมาก นิสัยสุขุม ฉะนั้นบริษัทจึงชอบนัก แม้ท่านพระครูญาณทัสสีท่านเคลื่อนไปสู่จังหวัดไหน อำเภอไหนตำบลไหน ท่านทำอัตถประโยชน์มาก เห็นได้ว่าท่านพระครูญาณทัสสีอยู่จังหวัดขอนแก่น วัดวา ฝีไม้ลายมือของท่านก่อสร้างมีจำนวนมาก บรรดาข้าราชการพ่อค้าพาณิชย์ ตลอดชาวไร่ชาวนานิยมท่านมาก เพราะฉะนั้นการก่อสร้างของท่านจึงสำเร็จเพราะกำลังกาย กำลังวาจา กำลังทรัพย์เพียงพอทุกอย่าง ไม่บกพร่อง แม้ท่านพระครูญาณทัสสีจะดำเนินงานการใหญ่ ๆ สำเร็จได้เป็นอย่างดี ดูได้ที่จังหวัดขอนแก่นมีวัดป่าคำมะยาง ๑ วัด วัดศรีภาพ ๑ วัด เป็นวัดที่ทุ่มเทเงินทองก่อสร้าง มีจำนวนมาก ๆ สำเร็จได้เป็นอย่างดี”


“อนึ่ง ท่านได้เคลื่อนพาลูกศิษย์ลูกหามาอยู่ถ้ำผาปู่ ต. นาอ้อ อ. เมือง จ.เลยของพวกเรา ดูได้ที่การก่อสร้าง ถ้ำผาปู่ ๑ วัด วัดหนองหมากผาง ๑ วัด เป็นวัดที่กว้างขวางใหญ่โต ท่านพระครูญาณทัสสีเพิ่งมาอยู่ไม่นานเท่าไรปี เวลานี้วัดถ้ำผาปู่ วัดหนองผาง กำลังก้าวหน้าเรื่อย ๆ มีคณะอุบาสกอุบาสิกาต่างจังหวัดมาเยี่ยมท่านเรื่อย ๆ และมีพระภิกษุสามเณรมาจากต่างจังหวัดอื่น ๆ มาเยี่ยม ศึกษาธรรมวินัยด้วยท่านเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น สังฆรัตนะจึงตกเข้ามาในท้องที่จังหวัดเลยมาก มีวัดป่าหนองหมากผางและถ้ำผาปู่เป็นอาทิ”
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้