|
“พ.ศ. ๐๔, ๐๘, ๐๙ จำพรรษา ณ ที่วัดป่าถ้ำแก้งยาว ต. ผาน้อย อ. วังสะพุง จ. เลย ได้รับความสงบสงัดมาก วิเวกมาก เพราะสถานที่เป็นมงคล ดีกว่าจำพรรษาทุก ๆ แห่ง เพราะไม่มีกังวลด้วยสิ่งใด ๆ ถึงจะมีการก่อสร้างสิ่งใด ๆ ก็ไม่เป็นสัญญา.....”
หลังจากการทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ณ บ้านกกกอก แล้ว ท่านก็ได้พัก “เสวยสุข” อยู่ จิต “ไม่มีกังวลด้วยสิ่งใดๆ” ทุกอย่างได้ เปลื้อง ออกไปหมดแล้ว
พรรษาที่ ๔๓ – ๔๔ พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๕ สร้างวัดถ้ำผาบิ้ง
จำพรรษา ถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ต.ผาบิ้ง อ. วังสะพุง จ. เลย
เมื่อเสร็จจากงานบุญที่วัดต่าง ๆ ในเขตจังหวัดบ้านเกิดของท่าน ที่ขอร้องให้หลวงปู่ไปเป็นประธาน และช่วยในการเทศนาโน้มน้าวให้มหาชนสนใจการทำบุญ ทาน การกุศลแล้ว ใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษาของปี ๒๕๑๐ ท่านก็คิดหาสถานที่ซึ่งจะ “หยุดยั้ง” อยู่กับที่บ้าง ท่านเคยอยู่องค์เดียวไปองค์เดียวมาโดยตลอด จนภายหลังจากปี ๒๕๐๐ จึงได้มีเณรดูแลบ้าง เช่น ระหว่างที่อยู่บนเขา แต่ถ้าหากเป็นการทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ที่จะต้องแบกกลดขึ้นเขาไปเช่นนี้ บางทีท่านก็ไปองค์เดียวโดยไม่รอพระหรือเณรเลย
ปากถ้ำผาบิ้ง
ปี ๒๕๑๐ ท่านได้กลับไปจำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ตำบลผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นการเริ่มของเวลาจำพรรษาที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของท่าน กล่าวคือ ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้งนี้ แต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ไปจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นเวลาถึง ๖ พรรษาติดต่อกัน นามถ้ำผาบิ้งปรากฏในสมุดบันทึกของหลวงปู่เท่าที่ค้นได้เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า
“อยู่ถ้ำผาบิ้ง วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตวิปัสสนาสุขุม กลัวแต่ทีแรก ต่อไปไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตเกิดความรู้แปลก ๆ สถานที่ไม่เป็นมงคลเท่าไร สู้ถ้ำโพนงามไม่ได้ วิถีจิตเดินไปตามลำดับ ไม่ขอบบังคับจิต ไปตามสายกลาง รู้ตามความเป็นจริง”
ท่านบันทึกไว้อีกแห่งหนึ่งในวันเดียวกัน แสดงว่าท่าน ประทับใจ ในถ้ำผาบิ้งมาก
“ทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตสุขุม กลัวแต่ทีแรก แล้วไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตตามรู้แปลก ๆ ถ้ำโพนงามที่ ๑ ถ้ำผาบิ้งที่ ๒ ถ้ำผาปู่ที่ ๓”
หมายความว่า ในการไปทำความพากความเพียรระหว่างนั้น ท่านถือว่า ถ้ำโพนงามเป็นที่ ๑ อยู่ แต่ถ้ำผาบิ้งนั้นเป็นที่ ๒ ซึ่งอย่างไรก็ตาม ยังดีกว่าถ้ำผาปู่ซึ่งเป็นที่ ๓....! ปี ๒๔๘๑ นั้น ท่านอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งแห่งเดียว ถึง ๗-๘ เดือน จนกระทั่งจะเข้าพรรษา และถึงปี ๒๔๘๒ ท่านก็ได้กลับไปอีก ท่านได้วนเวียนกลับไปวิเวกที่ถ้ำผาบิ้งอีกนับครั้งไม่ถ้วน นับจากเวลาที่ได้พบความอัศจรรย์ที่ถ้ำผาบิ้งนั้น จนกระทั่งถึงวันย้อนกลับมาเข้าพรรษาครั้งนี้ เป็นเวลาถึง ๓๐ ปีเต็ม
ท่านเล่าว่า ที่ถ้ำผาบิ้งเป็นที่พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล คือ ท่านพระอุบาลีเหาะมาด้วยบุญฤทธิ์มานิพพานที่นี่ และท่านพระอาจารย์มั่นก็เคยมาจำพรรษา ณ ที่นี้เหมือนกัน สำหรับท่านผู้เป็นศิษย์รุ่นพี่ของหลวงปู่ที่มาเที่ยวธุดงค์ที่นี้นั้น ตามที่ปรากฏชื่อก็คือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่กล่าวว่า ถ้ำผาบิ้งเป็นสถานที่เป็นมงคลอย่างยิ่งนอกจากเป็นที่นิพพานของพระอรหันต์แล้ว ยังมีเทพรักษาสถานที่อย่างดี ระหว่างภาวนาจะได้กลิ่นดอกไม้หอมอยู่บ่อย ๆ เป็นการนอบน้อมบูชาของรุกขเทพที่ดูแลสถานที่
|
|