ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 28235
ตอบกลับ: 170
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม ~

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2013-11-19 20:34

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์

ประวัติย่อหลวงปู่ดูลย์ อตุโล


พระราชวุฒาจารย์

    นามเดิม ดูลย์ เกษมสินธุ์

    บิดา แดง เกษมสินธุ์

    มารดา เงิน เกษมสินธุ์

    เกิดที่ บ้านปราสาท ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ตรงกับวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๐

    อุปสมบท ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุมหานิกาย ณ วัดจุมพล อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยมีพระครูวิมลศีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒

    การจาริก เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้เข้าพบและศึกษาธรรมจากพระอาจารย์มั่น ที่วัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนี้ก็ได้ปฏิบัติเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน และได้ออกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ แถบภาคอีสานตลอดมา
    พ.ศ. ๒๔๖๓ หลังจากออกพรรษาแล้ว ได้ออกติดตามพระอาจารย์มั่น โดยเที่ยวธุดงค์มาจนถึงบ้านม่วงไข่ จึงได้ขอแวะพักที่วัดโพธิ์ชัย ณ ที่นี้ได้มีท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น เข้ามาศึกษาธรรมในเบื้องต้นกับท่านก่อน และต่อมาภายหลังได้พากันเดินทางออกติดตามไปจนพบพระอาจารย์มั่น ที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

    การขอญัตติ พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ขอญัตติเป็นพระภิกษุในธรรมยุติกนิกาย มีพระมหารัฐเป็นพระอุปัชฌาย์ พระศาสนดิลก (ชิด เสโนเสน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ วัดสุทัศน์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

    สมณศักดิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดสุรินทร์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เมื่ออายุ ๙๐ ปี

    มรณภาพ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ สิริอายุ ๙๖ ปี ๒๖ วัน เวลา ๐๔.๑๓ น.



ที่มา http://www24.brinkster.com/thaniyo/archan1144_1.html


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติชีวิต การงาน หลักธรรม

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล


วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์

๑. ชาติกำเนิด

ณ บ้านปราสาท ตำบลเฉนียง ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศใต้ของจังหวัดสุรินทร์ มีครอบครัว “ดีมาก”  อาศัยทำมาหากินอยู่  และเป็นสถานที่เกิดของเด็กชายดูลย์  ต่อมาเป็นพระกัมมัฏฐานผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  นามว่า พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล

พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล มีบิดาชื่อนางแดง ดีมาก  และมารดาชื่อนางเงิม ดีมาก  ถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๑  ตรงกับแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด  ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕ ซึ่งขณะนั้นเสวยราชสมบัติย่างเข้าปีที่ ๓๐

พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล มีพี่น้องทั้งสิ้น ๕ คน ได้แก่

๑. นางกลิ้ง  ๒. พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล  ๓. นายเคน  ๔. นางรัตน์  และ ๕. นางทอง

ในบรรดาพี่น้องทั้ง ๕ คนนั้น  พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล  ท่านมีอายุยืนยาวที่สุดคือ ๙๖ ปี  ส่วนพี่น้องคนอื่นมีอายุอย่างมากที่สุดเพียง ๗๐ ปีก็ถึงแก่กรรม

ภายหลังท่านได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุล “เกษมสินธุ์” ด้วยเหตุที่นายพร้อม  หลานชายของท่านให้ตั้งนามสกุลให้  ท่านจึงตั้งว่า “เกษมสินธุ์ แล้วท่านก็ได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลนี้ด้วย
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถิ่นกำเนิดบรรพบุรุษ

สุรินทร์หรือเมืองประทายสมันต์  หรือไผทสมันต์ในอดีต  อยู่ในพื้นที่ราบต่ำ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่านานาชนิด  ชุมชนสุรินทร์ในอดีตไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นเมื่อใด  แต่สันนิษฐานว่ามีมาไม่ต่ำกว่าสองพันปี  เคยผ่านความรุ่งเรืองมาสมัยหนึ่ง  ในฐานะเป็นเมืองด่านจากผืนที่ราบโคราชลงสู่แคว้นเจนละของกัมพูชา  หลักฐานของเมืองโบราณที่พบเห็นได้แก่  ปราสาทหินหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วไปในแถบบริเวณนั้น  เช่นปราสาทหินภูมิโปน ปราสาทระแงง ปราสาทตาเหมือน เป็นต้น  รวมทั้งกำแพงเมือง ๒ ชั้นด้วย

ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์  เป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ทางภาคอีสานของประเทศไทย มีวัฒนธรรมเป็นแบบฉบับของตนเอง  ยากที่ใครจะเหมือนได้  สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนี้ก็คือช้าง  จนมีคนเรียกขานจังหวัดสุรินทร์ว่าเป็น “เมืองช้าง”

พระอาจารย์ดูลย์เล่าถึงบรรพบุรุษของท่านว่า ปู่ทวดของท่านอาศัยอยู่ที่ บ้านสลักได ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุรินทร์  ทางด้านตะวันออก ครั้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ตาของท่านชื่อแสร์ และญาติพี่น้องรวม ๕ ครอบครัว  ตั้งใจจะพากันอพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ประเทศกัมพูชา จึงพากันออกเดินทางด้วยช้าง มุ่งลงทางใต้ไปเรื่อย ๆ

เมื่อเดินทางไปได้ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร  คณะของตาแสร์ก็ได้พบกับคณะของพระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) เจ้าเมืองสุรินทร์  กำลังออกสำรวจพื้นที่อยู่  ครั้นทราบว่าคณะของตาแสร์กำลังจะไปทำมาหากินที่เขมรจึงทัดทานไว้  โดยชี้แจงถึงความยากลำบากและอันตรายในการเดินทาง  รวมทั้งสภาพบ้านเมืองของเขมรซึ่งในขณะนั้นไม่สงบ  และท่านแนะนำให้ตั้งบ้านเรือนทำมาหากิน ณ สถานที่แห่งนั้น ซึ่งอุดมสมบูรณ์ ใครใคร่จะจับจองเอาที่ดินมากเท่าไรก็ได้

คณะของตาแสร์ปรึกษาหารือกัน  ที่สุดก็คล้อยตามคำแนะนำนั้น จึงตกลงจะตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ สถานที่นั้น  ได้ช่วยกันหักร้างถางพง สร้างบ้านเรือนตั้งเป็นหมู่บ้านชื่อ บ้านปราสาท  และมอบหมายให้ตาแสร์เป็นนายบ้าน  ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลหมู่บ้านปราสาทแห่งนั้น

ตาแสร์มีลูก ๖ คน คือ นายมาก นางเงิม (มารดาของพระอาจารย์ดูลย์)  นายม่วง นางแก้ว นางเมอะ และนายอ่อน  ต่อมาครอบครัวของตาแสร์ได้ขยายเพิ่มสมาชิกออกไป  บางส่วนอาศัยอยู่ในบ้านปราสาท  บางส่วนก็ไปอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง  หรืออพยพย้ายไปอยู่ถิ่นอื่นตามวิถีชีวิตของแต่ละคน

บ้านเรือนที่อาศัยก็สร้างกันง่าย ๆ ใช้ต้นไม้ทั้งต้นทำเป็นเสา  ส่วนที่เป็นพื้นกระดานก็นำต้นไม้มาถากเป็นแผ่น  นำใบไม้หรือไม้ไผ่มาขัดแตะทำเป็นฝาบ้านแล้วมุงหลังคาด้วยหญ้าคา  ประกอบอาชีพปลูกข้าว ฟักแฟงแตงกวา เลี้ยงเป็ด ไก่ วัว ควาย เก็บของป่า ล่าสัตว์ เป็นต้น  นอกจากนี้ยังทำการทอผ้า ปั่นฝ้าย และเลี้ยงไหม ไว้แลกเปลี่ยนแทนการใช้เงินตรา  หรือมีไว้สำหรับแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านที่ขาดแคลน หรือให้กู้ยืมไปกินไปใช้ตามความจำเป็น
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒. ชีวิตฆราวาส

ในวัยเด็ก การศึกษาเล่าเรียนของพระอาจารย์ดูลย์อาศัยวัดเป็นสถานศึกษา  โดยมีพระในวัดเป็นผู้อบรมสั่งสอน  ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับการศึกษาในสมัยนั้น  วิชาที่เล่าเรียนก็ประกอบไปด้วยการเรียนการสอนทางโลกที่พอให้อ่านออกเขียนได้  และศีลธรรมจรรยามารยาทอันควรประพฤติปฏิบัติ  โดยจะมุ่งเน้นที่การฝึกอบรมจิตใจเป็นหลักพื้นฐาน  เพื่อเป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจของคน  ส่วนในเรื่องของวิชาการนั้นจะมีน้อยมาก  หรือแทบจะไม่มีเอาเสียเลย  เพราะในสมัยนั้นระบบการศึกษาของประเทศยังไม่ดีพอ  เด็กชายดูลย์ก็ได้เจริญเติบโตและได้รับการศึกษาอบรมมาแบบนั้นเช่นกัน

พระอาจารย์ดูลย์ได้เล่าเรื่องราวในอดีตของท่านให้ฟังว่า ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๔  พระยาสุรินทร์ภักดี ฯ (ม่วง)  ซึ่งเป็นผู้ที่ชักชวนให้คุณตาของท่านมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านปราสาทนั้น ได้ถึงแก่อนิจกรรม  กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ในขณะนั้น  ได้แต่งตั้งให้พระพิไชยณรงค์ภักดี (บุญนาค)  ผู้เป็นน้องชายขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองสุรินทร์ ลำดับที่ ๖ แทน

ขณะพระอาจารย์ดูลย์อายุประมาณ ๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๑) ได้เกิดเหตุการณ์สู้รบกับต่างชาติ  นั่นคือกรณีพิพาทเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒)  ชายฉกรรจ์ในจังหวัดสุรินทร์ประมาณ ๘๐๐ คน  ได้ถูกเกณฑ์ให้เข้ารับการฝึกในกองกำลังรบและส่งไปตรึงแนวรบด้านจังหวัดอุบลราชธานี  ร่วมกับกองกำลังจากเมืองอื่น ๆ เพื่อต่อต้านการรุกรานจากฝรั่งเศส  หลังจากการปะทะกันเล็กน้อย  ก็ตกลงทำสัญญาสงบศึกกัน

ต่อมาอีกไม่นาน  เมื่อพระพิไชยณรงค์ภักดี (บุญนาค) ถึงแก่กรรมลง ในปีพ.ศ. 2436 และพระพิไชยนครบวรวุฒิ (จรัญ) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสุรินทร์  ลำดับที่ ๘ เป็นที่พระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์  และเจ้าเมืองสุรินทร์ท่านนี้เองเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กชายดูลย์ให้กลายเป็นนางเอกละคร

วัยหนุ่ม

เมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม นายดูลย์ได้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของครอบครัว  ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่บุตรคนหัวปี  แต่ก็ถือว่าท่านเป็นลูกชายคนโตของบ้าน  ในช่วงแรกท่านก็ช่วยพี่สาวทำงานบ้าน  ต่อเมื่อโตขึ้นต้องแบกรับภาระมากมายทั้งในบ้านและนอกบ้าน ตั้งแต่หาบน้ำ ตำข้าว หุงข้าว เลี้ยงดูน้อง ๆ และช่วยบิดามารดาทำไร่ไถนา เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เป็นต้น  ซึ่งท่านก็สามารถทำได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด

ในบรรดาคนหนุ่มรุ่นเดียวกันแห่งบ้านปราสาท นายดูลย์จัดว่าเป็นหนุ่มหน้าตาดี  ได้เปรียบเพื่อน ๆ ทั้งด้านรูปสมบัติที่นอกจากจะมีร่างกายแข็งแรงและสุขภาพอนามัยดีแล้ว  ยังเป็นผู้ที่มีผิวพรรณหมดจด  รูปร่างโปร่ง ได้สัดส่วนสมทรง น่ารักน่าเอ็นดู และมีท่าทางคล่องแคล่ว ว่องไว  นอกจากนี้แล้วยังเป็นผู้มีอุปนิสัยที่อ่อนโยนเยือกเย็น  ความประพฤติเรียบร้อยซึ่งติดมาตั้งแต่วัยเยาว์  จึงได้รับคำยกย่องชมเชยจากบรรดาญาติพี่น้องและผู้ที่ได้พบเห็นโดยทั่วไป
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นางเอกละคร

ด้วยเหตุที่ท่านมีรูปร่างดังกล่าวนั้นเอง  พระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ (จรัญ) เจ้าเมืองสุรินทร์ในสมัยนั้น  จึงมีบัญชาให้นำตัวนายดูลย์มาร่วมแสดงละครนอกโดยให้เล่นเป็นตัวนางเอก

พระอาจารย์ดูลย์ได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งท่านเล่นเป็นนางเอกละครว่า  ในสมัยนั้นผู้คนนิยมดูละครกันมาก  ถ้าเป็นละครของเจ้าเมืองในหัวเมือง  ผู้แสดงจะต้องเป็นชายทั้งหมด โดยสมมติให้เป็นพระเป็นนาง  ส่วนละครหลวงหรือละครของพระเจ้าแผ่นดิน  ผู้แสดงจะต้องเป็นหญิงล้วนโดยสมมติเอาเช่นกัน

พระอาจารย์ดูลย์เมื่อครั้งรับบทเป็นนางเอกละครนั้น  เป็นที่ชื่นชอบของผู้ดูมาก ละครที่ท่านแสดงมีหลายเรื่อง  อาทิ ไชยเชษฐ์ จันทรกุมาร ลักษณวงศ์ เป็นต้น  ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านขึ้นแสดงละครนั้น ครั้นจบการแสดงแล้ว  มีหญิงสาวคนหนึ่งพรวดพราดเข้ามาหาท่านในห้องแต่งตัว  ขณะเดียวกับที่ท่านกำลังเปลี่ยนเสื้อผ้า  เมื่อหญิงสาวผู้นั้นแลเห็น ถึงกับตกตะลึง เมื่อทราบว่าท่านเป็นผู้ชาย  จึงรีบวิ่งหนีออกไปอย่างรวดเร็ว  ด้วยไม่คิดว่าผู้แสดงที่ตนชื่นชอบจะเป็นผู้ชาย  จากเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า หนุ่มสาวในสมัยนั้นรู้จักระมัดระวังในเรื่องการคบหาระหว่างเพศเป็นสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้สิ้นเชิง

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อพระอาจารย์ดูลย์อายุได้ ๑๘ ปี  และขณะที่ยังคงแสดงละครอยู่นั้น  ท่านได้เดินทางไปบางกอก ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศเป็นครั้งแรก  เพื่อไปหาซื้อเครื่องแต่งตัวละคร  ด้วยตัวนางเอกจะต้องลงมาลองเครื่องแต่งตัวให้เหมาะเจาะสวยงามสมตัว

การเดินทางในครั้งนั้น เมื่อออกจากเมืองสุรินทร์ใช้ช้างเป็นพาหนะ  เป็นเวลา ๔ วัน ๔ คืน จนไปถึงเมืองโคราช  แล้วขึ้นรถไฟสายกรุงเทพ ฯ – โคราช  ใช้เวลาในการเดินทางอีก ๑ วัน  จึงถึงเมืองบางกอก ซึ่งสมัยนั้นเมืองบางกอกยังไม่มีตึกรามบ้านช่องหรือผู้คนแออัดเหมือนสมัยนี้  ยังคงมีต้นไม้ป่าไม้ให้เห็นมากมาย  น้ำในแม่น้ำลำคลองก็ใสสะอาด  สามารถจะนำมาบริโภคใช้สอยได้เป็นอย่างดี

การเดินทางมาครั้งนี้ ท่านรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสไปเห็นด้วยสายตาตัวเอง  เพราะเหตุว่าในสมัยนั้นน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ไปเห็นเมืองบางกอก  ทำให้ท่านมีเรื่องที่จะเล่าให้ผู้อื่นฟังเสมอเมื่อกลับไปถึงสุรินทร์

นายดูลย์อยู่กับคณะละครถึง ๔ ปีเศษ  แม้ว่าจะอยู่ในสภาพที่น่าลุ่มหลงและเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง  เพราะท่านเป็นนักแสดงที่ชื่นชอบของผู้คนเป็นจำนวนมาก  แต่ท่านมิได้หลงใหลไปกับสิ่งนั้น  กลับมีอุปนิสัยโน้มเอียงเข้าหาพระศาสนา และชอบเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งแตกต่างจากเด็กหนุ่มทั่ว ๆ ไป
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๓. อ้อมอกพระศาสนา

เนื่องจากมีจิตใจฝักใฝ่โน้มเอียงไปในทางธรรม  ทำให้นายดูลย์คิดจะออกบวชมาหลายครั้ง  แต่ด้วยความที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว  และบิดามารดาก็ไม่ยินยอมให้บวชเรียนอย่างง่ายดายนัก  ในครั้งแรกเมื่อคิดจะบวชจึงถูกคัดค้านจากพ่อแดงด้วยเหตุผลว่า  เมื่อท่านไปบวชแล้วครอบครัวอาจจะต้องลำบาก  เพราะท่านเป็นบุตรชายคนโต เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว

นายดูลย์เฝ้าอ้อนวอนบิดามารดาอยู่หลายครั้ง  แต่ก็ถูกคัดค้านเรื่อยมา  แต่นายดูลย์ก็ยังมิได้ละความคิดในการบวชเรียนแต่ประการใด  จนในที่สุดบิดามารดาก็ไม่อาจขัดขวางความตั้งใจจริงของท่านได้  จึงยินยอมอนุญาตให้บวชได้ตามความปรารถนา  แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อบวชแล้วต้องไม่สึก  หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องอยู่จนได้เป็นเจ้าอาวาสเสียก่อน  เหตุที่นายดูลย์มีอุปนิสัยโน้มไปทางธรรมนั้นน่าจะมีส่วนส่งเสริมมาจากที่ปู่ของท่านเคยบวช  และได้เป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว  จึงทำให้นายดูลย์มีอุปนิสัยรักการบุญและเกรงกลัวบาป  มิได้เพลิดเพลินคึกคะนองไปในวัยหนุ่มเหมือนคนทั่ว ๆ ไป

ครั้นเมื่อนายดูลย์ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาให้บวช  ขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี  ตระกูลเจ้าเมืองที่เคยชุบเลี้ยงท่าน ได้เป็นผู้จัดแจงเรื่องการบวชให้ครบถ้วนทุกอย่าง

ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ นายดูลย์ก็เข้าพิธีอุปสมบทก่อนเข้าพรรษา ณ พัทธสีมาวัดจุมพลสุทธาวาส  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ในกำแพงเมืองรอบนอกของจังหวัดสุรินทร์ในสมัยนั้น

โดยมี  พระครูวิมลสีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์

ท่านพระครูบึก เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ท่านพระครูฤทธิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า “อตุโล” อันหมายถึง ผู้ไม่มีใครเทียบได้ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เล่าเรียนกัมมัฏฐาน

เมื่อได้อุปสมบทแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์มีความปรารถนาแรงกล้าในการที่จะศึกษาธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นเป็นลำดับ  ดังนั้นจึงไปขอจำพรรษาเพื่อศึกษากัมมัฏฐานที่วัดคอโค  ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ออกไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร  โดยมีหลวงพ่อแอก เจ้าอาวาสวัดคอโค เป็นผู้ฝึกกัมมัฏฐานให้เป็นท่านแรก

การสอนกัมมัฏฐานในสมัยนั้น  เป็นการสอนโดยถือตามความเห็นของครูบาอาจารย์เป็นหลัก  วิธีการสอนของหลวงพ่อแอกนั้น  ท่านให้เริ่มต้นด้วยการทำอย่างง่าย ๆ เพียงจุดเทียน ๕ เล่ม จากนั้นก็นั่งบริกรรมว่า “ขออัญเชิญปีติทั้ง ๕ จงมาหาเรา”  บริกรรมไปเรื่อย ๆ จนกว่าเทียนจะไหม้หมด  ซึ่งก็นับว่าดีเยี่ยมแล้วในสมัยนั้น

ปีติมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ปฏิบัติจนได้ฌาน มี ๕ ประการ คือ

๑. ขุททกาปีติ  ปีติเล็ก ๆ น้อย ๆ พอขนชูชันน้ำตาไหล

๒. ขณิกาปีติ  ปีติชั่วขณะ รู้สึกแปลบ ๆ เป็นขณะ ๆ เหมือนฟ้าแลบ

๓. โอกันติกาปีติ  ปีติเป็นระลอก หรือเป็นพัก ๆ คือรู้สึกซ่าลงมาในกายเหมือนคลื่นซัดต้องฝั่ง

๔. อุพเพงคาปีติ  ปีติโลดลอยเป็นอย่างแรง คือให้รู้สึกใจฟูขึ้น แสดงอาการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่นเปล่งอุทาน เป็นต้น

๕. ผรณาปีติ  ปีติซาบซ่าน คือให้รู้สึกเย็นซ่านเอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ อันเป็นปีติที่ประกอบกับสมาธิกระทั่งนำไปสู่รวมจิต

พระอาจารย์ดูลย์เมื่อได้รับคำแนะนำ ท่านก็ได้พากเพียรปฏิบัติตามคำสั่งสอนของหลวงพ่อแอกผู้เป็นอาจารย์อย่างเคร่งครัดด้วยความอุตสาหะและความพยายามอย่างมิได้ลดละจนตลอดพรรษา  แต่ก็ไม่บรรลุผลประการใดเลย  และหลวงพ่อแอกก็สอนเพียงแค่นั้น  จนทำให้ท่านเกิดความเบื่อหน่ายขึ้น  เพราะได้เห็นแต่เทียน ๕ เล่ม  โดยมิได้บังเกิดปีติ ๕ ตามปรารถนา

ในระหว่างพรรษานั้น  นอกจากพระอาจารย์ดูลย์จะพยายามทำตามคำสอนของหลวงพ่อแอกแล้ว  ท่านยังทรมานตนด้วยการลดอาหารอีก  จนกระทั่งร่างกายซูบผอม แต่ก็ยังไม่ได้ผลเหมือนเดิม  ทำให้ท่านต้องกลับมาฉันอาหารตามเดิม

นอกจากกัมมัฏฐาน และฝึกทรมานร่างกายแล้ว  ท่านก็ได้ท่องบ่นบทสวดมนต์เจ็ดตำนานบ้าง  สิบสองตำนานบ้าง แต่ก็มิได้เรียนพระธรรมวินัย  ซึ่งถือเป็นข้อวัตรปฏิบัติเพื่อฝึกฝนขัดเกลากาย วาจา ใจ  อันเป็นรากฐานของการปฏิบัติสมาธิภาวนาแต่ประการใด  ถึงแม้จะปฏิบัติไม่ได้ผลแต่ท่านก็ยังคงพำนักอยู่ที่วัดคอโค นานถึง ๖ ปี  ซึ่งในระหว่างนั้นท่านยังถูกใช้ให้สร้างเกวียนและเลี้ยงโค  ทั้งที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่จะต้องทำ ท่านจึงเกิดความเบื่อหน่ายที่สุด
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ศึกษาพระปริยัติธรรม

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘  ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์ยังพำนักอยู่ที่วัดคอโค  ท่านก็ได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับการสอนการเรียนพระปริยัติ  ที่จังหวัดอุบลราชธานีตามแบบของมหามงกุฎราชวิทยาลัยแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร  ด้วยการริเริ่มสร้างสรรค์ของท่านเจ้าประคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)  และด้วยการสานเสริมเติมต่อของพระเดชพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสสเถระ)  ในช่วงทศวรรษที่ ๒๔๕๐  จนกล่าวได้ว่าจังหวัดอุบลราชธานี เป็นทิศาปาโมกข์ของผู้รักการศึกษาพระปริยัติโดยแท้  ท่านมีความปีติอย่างล้นพ้นเมื่อได้ทราบข่าวนี้  และมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะได้เดินทางไปศึกษายังจังหวัดอุบลราชธานี

จึงได้ไปขออนุญาตต่อพระอุปัชฌาย์ (พระครูวิมลศีลพรต)  แต่ปรากฏว่าถูกคัดค้าน เพราะการเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ไปจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้นลำบากเป็นอย่างยิ่ง

แต่ด้วยความมานะพยายามและตั้งใจจริงของท่าน  ทำให้พระอุปัชฌาย์เห็นความมุ่งมั่น  จึงได้อนุญาตให้ท่านได้ออกเดินทางไปกับพระภิกษุอีก ๒ องค์  คือ พระคงและพระดิษฐ์

ครั้นเมื่อออกเดินทางมาถึงสถานที่เรียนปริยัติในจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว  กลับเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นอีก  ด้วยเหตุที่พระอาจารย์ดูลย์บวชในมหานิกาย  แต่วัดสุปัฏนาราม และวัดสุทัศนาราม ซึ่งเป็นสถานที่พระอาจารย์ดูลย์จะศึกษา  พระปริยัติธรรมนั้นเป็นวัดธรรมยุติกนิกาย  ทำให้พระอาจารย์ดูลย์ต้องประสบกับปัญหาในเรื่องที่พัก

แต่ต่อมาภายหลังปัญหาดังกล่าวก็ได้ถูกคลี่คลายลง  โดยการช่วยเหลือจากพระพนัสซึ่งเดินทางมาศึกษาที่จังหวัดอุบลราชธานีอยู่ก่อน  ได้เป็นธุระในการติดต่อให้พระอาจารย์ดูลย์พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม  ในฐานะพระอาคันตุกะ ทำให้ความราบรื่นในทางการเรียนค่อยบังเกิดขึ้นเป็นลำดับ

เมื่อได้เข้าศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติสมความตั้งใจแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์ก็พยายามมุมานะศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มสติกำลัง  โดยเข้าศึกษาในหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี  อันเป็นหลักสูตรพื้นฐานในการศึกษาพระพุทธศาสนา
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วิชาที่ศึกษาก็มี นวโกวาท พุทธศาสนสุภาษิต พุทธประวัติ วินัยมุข และปฐมสมโพธิ  จนท่านประสบความสำเร็จ  และสามารถสอบไล่ได้ประกาศนียบัตร นักธรรมชั้นตรี  นวกภูมิ นับเป็นรุ่นแรกของจังหวัดอุบลราชธานี  นอกจากนั้นพระอาจารย์ดูลย์ยังได้ศึกษาเล่าเรียนบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนท่านสามารถแปลธรรมบทได้ด้วย

การเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๕๐ กว่า ๆ นั้น  เป็นไปอย่างเข้มงวด  การไล่หรือสอบพระธรรมบทหรือวินัยมุขต่าง ๆ นั้น  ผู้สอบจะถูกไล่เรียงซักถามเป็นรายตัวตามเนื้อหาที่เรียนมาเป็นบท ๆ จนจบ  ผู้ที่สอบได้จึงถือว่าเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยความเพียรพยายามอย่างที่สุด

แม้จะนำความรู้ในระดับนักธรรมตรี  ไปเทียบกับเปรียญธรรม ๙ ประโยค  ซึ่งเป็นคุณวุฒิสูงสุดในทางปริยัติธรรม  อาจถือได้ว่าห่างไกลกันเป็นอย่างยิ่งเหมือนกับนำความรู้ระดับชั้นประถมปีที่ ๑  ไปเทียบกับปริญญาเอกก็น่าจะได้  แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการศึกษาในทางปริยัติธรรมของหลวงปู่นั้น  เกิดขึ้นในทศวรรษ ๒๔๕๐ เช่นเดียวกับการศึกษาในทางโลกเมื่อประมาณ ๘๐ ปีก่อน  การได้เรียนถึงประถมปีที่ ๑ หรือ ๒ ก็นับว่ายอดเยี่ยมล้ำเลิศแห่งยุคสมัยแล้ว

ภายหลังต่อมา เมื่อท่านมีพรรษาแก่กล้า ผ่านประสบการณ์ด้านธรรมปฏิบัติมามาก  และมาตั้งโรงเรียนสอนปริยัติธรรมที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์แล้ว  คราวหนึ่งที่นักเรียนของท่าน มีพระภิกษุสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้เป็นองค์แรก  และในงานฉลองพัดประโยค ๙ ในครั้งนั้น  หลวงปู่ได้ให้โอวาทในเชิงปรารภธรรมว่า  ผู้ที่สามารถสอบเปรียญ ๙ ประโยคได้นั้น  ต้องมีความเพียรอย่างมาก  และมีความฉลาดเพียงพอ เพราะถือว่าเป็นการจบหลักสูตรฝ่ายปริยัติและต้องแตกฉานในพระไตรปิฎก  การสนใจในทางปริยัติอย่างเดียวพ้นทุกข์ไม่ได้  ต้องสนใจปฏิบัติทางจิตต่อไปอีกด้วย  โดยท่านให้คำอธิบายสั้น ๆ ว่า พระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น  ออกไปจากจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหมด  ทุกสิ่งทุกอย่างออกจากจิตใจ อยากรู้อะไรค้นได้ที่จิต
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขอญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย

หลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว  พระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๒ นิกายใหญ่ ๆ คือ เถรวาทหรือหินยาน  และมหายานหรืออาจารยวาท

นิกายเถรวาทได้แผ่ลงมาทางใต้จึงเรียกว่า  นิกายฝ่ายใต้ (ทักษิณนิกาย)  ปัจจุบันมีอยู่ในไทย ลังกา พม่า ลาว และกัมพูชา  ส่วนนิกายมหายาน  ได้แผ่ขึ้นไปทางเหนือในแถบประเทศจีน ธิเบต ญี่ปุ่น เกาหลี มองโกเลีย จึงเรียกว่า นิกายฝ่ายเหนือหรืออุตตรนิกาย

สำหรับในประเทศไทยเรา นิกายเถรวาทมีมากกว่ามหายาน  แต่นิกายเถรวาทในประเทศไทยยังแยกย่อยออกไปอีก ๒ นิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย  ถ้าจะพูดให้ถูกต้องทั้งสองนิกายนี้เป็นเพียงนิกายสงฆ์ในประเทศไทยเท่านั้น  หาใช่นิกายทางพระพุทธศาสนาไม่  เพราะทั้งสองนิกายนี้ต่างก็ขึ้นอยู่ในนิกายเถรวาท

แต่เดิมนิกายเถรวาทในประเทศไทยเรานั้น  มีคณะสงฆ์เพียงคณะเดียวคือคณะสงฆ์ไทย  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๔  เมื่อครั้งทรงผนวชอยู่ได้ตั้งนิกายแยกออกมา  และเรียกว่าธรรมยุติกนิกาย  โดยปรารภความย่อหย่อนทางวินัยของคณะสงฆ์ในขณะนั้น  สำหรับคณะสงฆ์เดิมที่ไม่ได้เข้ากับธรรมยุติกนิกายคงมีชื่อเรียกว่ามหานิกาย

พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล บวชเป็นพระในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จึงมีปัญหาในด้านการเรียนกับวัดที่เป็นธรรมยุติกนิกาย  ท่านจึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนนิกายใหม่อันเป็นความคิดที่ค้างคาใจของท่านอยู่แต่เดิม

ขณะนั้น ทางจังหวัดสุรินทร์ยังไม่มีวัดที่เป็นธรรมยุติกนิกาย  ทำให้การญัตติเปลี่ยนนิกายของท่านไม่ราบรื่น  เพราะพระเถระผู้ใหญ่ คือ พระราชมุนี (อ้วน ติสฺโส)  เจ้าคณะมณฑล (ธรรมยุติกนิกาย)  ในขณะนั้น ต้องการให้ท่านเล่าเรียนไปก่อนไม่ต้องญัตติ  เนื่องจากทางคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย  มีนโยบายจะให้ท่านกลับไปพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรมที่จังหวัดสุรินทร์ให้เจริญรุ่งเรือง  เพราะหากญัตติแล้ว เมื่อกลับจังหวัดสุรินทร์ท่านจะต้องอยู่โดดเดี่ยว  เนื่องจากยังไม่มีวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายที่จังหวัดสุรินทร์เลย

แม้พระเถระผู้ใหญ่จะทัดทานการญัตติของพระอาจารย์ดูลย์อย่างใด  แต่ท่านก็มิได้มีความประสงค์จะกลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่จังหวัดสุรินทร์เลย  ท่านต้องการเป็นพระนักปฏิบัติมากกว่า  ดังนั้นถึงแม้ท่านจะได้รับการทัดทานและคำแนะนำที่เปี่ยมไปด้วยเจตนาดีจากพระเถระเพียงใดก็ตาม  พระอาจารย์ดูลย์ก็ยังคงพยายามที่จะญัตติเป็นพระธรรมยุติกนิกายอยู่เช่นเดิม

ต่อมาความพยายามในการญัตติของพระอาจารย์ดูลย์ก็ประสบผลสำเร็จ  เมื่อท่านได้พบกับพระอาจารย์สิงห์ทอง ขันตยาคโม ซึ่งรับราชการครู  ทำหน้าที่สอนฆราวาส  ทั้งที่ยังเป็นพระสงฆ์อยู่ที่วัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันแต่พระอาจารย์ดูลย์อ่อนพรรษกว่า  พระอาจารย์สิงห์เป็นปฏิปทาในการศึกษาเล่าเรียนพร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติกิจของพระอาจารย์ดูลย์ด้วยความตั้งใจจริง  จึงเสนอตัวรับภาระเรื่องการขอญัตติจนกระทั่งประสบผลสำเร็จ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้