ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ

~ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม ~

[คัดลอกลิงก์]
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:08 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ขณะนั้นตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๖๑ และพระอาจารย์ดูลย์มีอายุ ๓๐ ปี  จึงได้ญัตติมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี สมดังเจตนารมย์  โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน)  เจ้าคณะมณฑลอุดร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม นับว่าเป็นกัลยาณมิตรของพระภิกษุดูลย์ผู้เป็นสมณะรุ่นน้องอย่างดียิ่ง  ซึ่งนอกจากจะให้ความเมตตาช่วยเหลือในเรื่องของการขอญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย  ยังให้กำลังใจแก่พระภิกษุดูลย์ในเรื่องต่าง ๆ  เช่นได้นำพาพระภิกษุดูลย์ให้เข้ากราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาของพระป่าทั้งหลายอีกด้วย

กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ขณะที่อาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระภิกษุสอนหนังสือให้กับฆราวาสอยู่ที่วัดสุทัศนารามนั้น  พระอาจารย์มั่นเดินทางจากวัดบรมนิวาศ จังหวัดพระนคร ไปยังวัดบูรพาราม  จังหวัดอุบลราชธานี  พระอาจารย์สิงห์ได้ทราบข่าว จึงได้เข้าไปกราบนมัสการในวันหนึ่ง  และในวันนั้นได้รับการชักชวนให้จากพระอาจารย์มั่นให้มาปฏิบัติธรรมกับท่าน  โดยกล่าวกับพระอาจารย์สิงห์ว่าการบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน  คือพิจารณาตจปัญจกกัมมัฏฐานเป็นเบื้องแรก  เพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง

ภายหลังจากพระอาจารย์สิงห์เข้ากราบนมัสการพระอาจารย์มั่นแล้ว  ภายในห้วงความนึกคิดของท่านก็เริ่มเปลี่ยนแปลง  เพราะคำชักชวนดังกล่าวกึกก้องอยู่ตลอดเวลา  จนกล่าวกันว่าจากการที่ท่านได้ฝึกปฏิบัติภาวนาตามคำแนะนำของพระอาจารย์มั่นอย่างเอาจริงเอาจัง  ถึงกับทำให้มองเห็นศิษย์อันเป็นฆราวาสทั้งชายหญิงที่ท่านสอน  กลายเป็นโครงกระดูกน้อยใหญ่ นั่งเรียนและเคลื่อนไหวได้อยู่ในชั้นเรียน  เป็นเหตุให้ท่านออกธุดงค์บำเพ็ญเพียรตามป่าเขาเป็นต้นมา

จากนั้นพระอาจารย์สิงห์ก็กลายเป็นศิษย์ใกล้ชิดรูปหนึ่งของพระอาจารย์มั่น  และได้รับสมญาว่าเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม  กล่าวคือได้รับมอบหมายภาระจากพระอาจารย์มั่นให้นำพระภิกษุสงฆ์สายพระกัมมัฏฐาน  ออกเผยแพร่ธรรมะในแนวทางปฏิบัติจนกระทั่งแพร่หลายมาทุกวันนี้  ซึ่งภายหลังพระอาจารย์สิงห์ได้มาสร้างวัดป่าสาลวัน ขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา  และท่านได้พำนักอยู่ที่วัดแห่งนี้จนวาระสุดท้าย

พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม นับว่าเป็นกัลยาณมิตรที่ยอดเยี่ยมของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล เพรานอกจากที่ท่านจะรับภาระในเรื่องของการญัตติเปลี่ยนนิกายให้กับพระอาจารย์ดูลย์ให้ได้ญัตติอยู่ฝ่ายธรรมยุติกนิกายแล้ว  เวลาต่อมาท่านยังได้นำพระอาจารย์ดูลย์เข้ากราบนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต  ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานอีกด้วย  จึงนับว่าเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงยิ่งในชีวิตของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:08 | ดูโพสต์ทั้งหมด
๔. จาริกธุดงค์กับพระอาจารย์มั่น

ภายหลังจากที่พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล  ได้ญัตติเปลี่ยนนิกายเข้าเป็นสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายแล้ว  ท่านก็มีสิทธ์อยู่ในวัดสุทัศนารามได้อย่างสมบูรณ์  มิใช่อยู่ในฐานะพระอาคันตุกะดังเช่นที่เคยเป็นมา

การศึกษาพระปริยัติธรรมของท่านก็ยังคงดำเนินไปเช่นเดิม  แต่ทว่าข้อวัตรปฏิบัติมีความเคร่งครัดมากขึ้น  อันเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านสนใจศึกษา  โดยเน้นทางด้านการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ปี พ.ศ. ๒๔๕๘  ขณะที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต  พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน  เดินทางมาพำนักที่วัดบูรพาราม อุบลราชธานี  เป็นเหตุให้บรรดาพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนในจังหวัดอุบลราชธานี และบริเวณใกล้เคียง พากันหลั่งไหลไปฟังพระธรรมเทศนาจากท่านเป็นอันมาก

เนื่องจากในสมัยนั้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือและเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างสูงจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ในคราวนั้นพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้ชักชวนพระอาจารย์ดูลย์ไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นเพื่อฟังพระธรรมเทศนา  และศึกษาธรรมะเช่นเดียวกับคนอื่น และได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นตลอดมา

พระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์ดูลย์  ได้ไปฟังเทศน์จากพระอาจารย์มั่นไม่เคยขาดเลยสักครั้งเดียว  เพราะนอกจากจะได้ฟังธรรมะแปลก ๆ ที่สมบูรณ์ไปด้วยอรรถ พยัญชนะ มีความลึกซึ้ง รัดกุม กว้างขวาง เป็นที่น่าอัศจรรย์แล้ว  ยังมีโอกาสได้เฝ้าสังเกตปฏิปทาของพระอาจารย์มั่น  ที่มีความงดงามเพียบพร้อมและน่าเลื่อมใสในทุกอิริยาบถ  การที่ได้ฟังธรรมเทศนาและมองเห็นปฏิปทาตลอดจนการปฏิบัติของพระอาจารย์มั่นแล้ว  สร้างกำลังใจทำให้พระอาจารย์ดูลย์และพระอาจารย์สิงห์ใคร่ประพฤติปฏิบัติทางธุดงค์กัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้นอีก

ในระหว่างพรรษานั้น การศึกษาทางพระปริยัติธรรมของพระอาจารย์ดูลย์ก็ดำเนินก้าวหน้าไปตามลำดับ  ขณะเดียวกันท่านได้พิจารณาเห็นว่าการศึกษาในด้านพระปริยัติธรรมเพียงอย่างเดียวนั้น  ไม่อาจทำให้รู้รสพระธรรมซาบซึ้งได้  การปฏิบัติให้เกิดผลต่างหากที่จะทำให้รู้รสพระธรรมได้อย่างซาบซึ้ง  เป็นเหตุให้ท่านยุติการศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมไว้แต่เพียงเท่านั้น  ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะออกธุดงค์กัมมัฏฐาน  และออกธุดงค์กัมมัฏฐาน  และออกปฏิบัติปรารภความเพียรในความวิเวก  อันเป็นความปรารถนาที่แท้จริงของท่าน  ประกอบกับพระอาจารย์สิงห์ได้ชักชวนให้ท่านออกจาริกธุดงค์ไปตามป่าเขาแห่งภาคอีสานด้วย  ท่านจึงตัดสินใจตกลงทันที
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:08 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ครั้นออกพรรษา  เมื่อพระอาจารย์มั่นออกจาริกธุดงค์  พระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์ดูลย์ได้ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปด้วยทุกหนทุกแห่งตลอดกาลออกพรรษานั้น  ในการร่วมออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นในพรรษานี้ยังไม่มีอะไรมาก  เพียงแต่เป็นการฝึกใช้ชีวิตแบบพระป่า  และใช้หลักความรู้ในการฝึกปฏิบัติเบื้องต้น  เพื่อสร้างฐานความรู้ให้มั่นคง  พระอาจารย์ดูลย์ผู้มีความตั้งใจแน่วแน่และจริงจัง  ก็มิได้ปล่อยเวลาในพรรษานั้นให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์  ท่านได้เร่งการฝึกปฏิบัติความเพียรอย่างเคร่งครัด  โดยมีความเชื่อมั่นและศรัทธาที่จะเกิดขึ้นในตัวของท่านอย่างแน่นอน

อนึ่ง การที่ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติในครั้งนั้น  ก็ยิ่งทำให้พระอาจารย์ดูลย์มีความเลื่อมใสในทางธุดงค์กัมมัฏฐานมากขึ้น

สำหรับธรรมเนียมธุดงค์กัมมัฏฐานของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นั้นท่านมีอยู่ว่า

เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา ไม่ให้พระสงฆ์จำพรรษารวมกันมากเกินไป ให้แยกย้ายกันไปจำพรรษาตามสถานที่อันวิเวก ไม่ว่าจะเป็นวัด เป็นป่า เป็นเขา โคนไม้ ลอมฟาง เรือนว่าง หรืออะไรตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคลแต่ละคณะ  ขณะเดียวกัน เมื่อออกพรรษาแล้วก็จะถึงวาระแห่งการประชุมกัน  หากทราบว่าพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่อยู่ ณ สถานที่ใด  ก็จะได้พากันไปจากทุกทิศทุกทาง มุ่งตรงไปยังสถานที่แห่งนั้น  เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระกัมมัฏฐาน  และแจ้งถึงผลการปฏิบัติของตน ๆ ที่ผ่านมา  เมื่อมีสิ่งใดผิดพระอาจารย์มั่นก็จะได้ช่วยแนะนำแก้ไข  สิ่งใดที่ปฏิบัติถูกต้องดีแล้ว  พระอาจารย์มั่นก็จะให้แนะนำข้อกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก

ปรารภความเพียร ณ ป่าท่าคันโท

ครั้นถึงกาลจวนเข้าพรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓  พระอาจารย์ดูลย์และสหธรรมิกอีก ๕ รูป คือ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม , พระอาจารย์บุญ , พระอาจารย์สีเทา และพระอาจารย์หนู จึงได้แยกออกจากคณะของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดินธุดงค์แสวงหาที่สงบวิเวกเพื่อบำเพ็ญเพียรในกาลเข้าพรรษานั้น  นับว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล  ในทางธรรมของการออกธุดงค์ครั้งแรกที่ได้ร่วมเส้นทางไปกับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

คณะของพระอาจารย์ดูลย์ ซึ่งนำโดยพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม  เดินธุดงค์เลียบเทือกเขาภูพานมาจนกระทั่งถึงป่าท่าคันโท  จ.กาฬสินธุ์ มีความเห็นตรงกันว่าสภาพป่าแถบนี้มีความเหมาะสมที่จะอยู่จำพรรษาเป็นอย่างยิ่ง  จึงได้สมมติเอาบริเวณป่านั้นเป็นวัดป่า  แล้วก็อธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น  จากนั้นทุกองค์ก็ตั้งสัจจะปรารภความเพียรอย่างแน่วแน่ ดำเนินข้อวัตรปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของพระอาจารย์ใหญ่มั่นอย่างอุกฤษฏ์
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:09 | ดูโพสต์ทั้งหมด
เผชิญมรณภัย

บริเวณป่าท่าคันโทแถบเทือกเขาภูพาน  ที่พระอาจารย์ดูลย์และสหายธรรมได้อธิษฐานจำพรรษาอยู่นั้น  เป็นป่ารกชัฏ ชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้ายและยุงก้นป่องอันเป็นพาหะของไข้มาลาเรีย  และในระหว่างพรรษานั้นคณะของพระอาจารย์ดูลย์  ยกเว้นพระอารย์หนูรูปเดียว  ต่างก็เป็นไข้มาลาเรีย  ได้รับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส  ยาที่จะรักษาก็ไม่มี  จนกระทั่งพระรูปหนึ่งมรณภาพไปต่อหน้าต่อตา  ยังความสลดสังเวชให้กับผู้ที่ยังคงอยู่เป็นอย่างยิ่ง

แต่ความตายก็มิอาจทำให้พระทั้ง ๔ รูป ที่เหลืออยู่เกิดความหวั่นไหวรวนเร  พระอาจารย์ดูลย์เมื่อประสบชะตากรรมเช่นนี้  ท่านได้อาศัยความสำเหนียกรู้เผชิญกับความตายอย่างเยือกเย็น  และเกิดความคิดในใจว่า สิ่งที่จะพึ่งได้ในยามนี้มีแต่อำนาจพุทธคุณเท่านั้น  แม้ท่านจะได้รับพิษไข้อย่างแสนสาหัส  ท่านได้รำลึกถึงพระพุทธคุณ และตั้งสัจจะว่า “ถึงอย่างไร ตัวเราคงไม่พ้นเงื้อมมือแห่งความตายในพรรษานี้แน่แล้ว แม้เราจักตาย ก็จงตายในสมาธิภาวนาเถิด”

จากนั้นท่านก็รีบเร่งทำความเพียร  ตั้งสติให้สมบูรณ์เฉพาะหน้า  ดำรงจิตให้มั่นอยู่ในสมาธิ  และพร้อมทั้งพิจารณาความตายโดยมีมรณสติกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์  โดยมิได้พรั่งพรึ่งต่อมรณภัยที่กำลังจะมาถึงตัว  นับเป็นบททดสอบอันสำคัญยิ่งที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้ของพระอาจารย์ดูลย์

การปฏิบัติธรรม ณ ป่าท่าคันโท  ของพระอาจารย์ดูลย์ในพรรษานั้น แม้จะเผชิญกับมรณภัยสักเพียงไร  แต่ด้วยความเพียรและความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ไม่ลดละ ทำให้ผลแห่งการปฏิบัติของท่านในพรรษานั้นเป็นที่น่าพอใจยิ่งนัก

กล่าวคือขณะที่พระอาจารย์ดูลย์นั่งภาวนา ซึ่งเริ่มตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึกสงัด  จิตของท่านค่อย ๆ หยั่งลงสู่ความสงบ  เกิดความปีติชุ่มชื่น จากนั้นได้เกิดนิมิตที่ชัดเจนมาก  คือท่านได้เห็นองค์พระพุทธรูปปรากฏขึ้นในตัวของท่าน  เมื่อท่านพิจารณาดูนิมิตนั้นต่อไปก็จะเห็นอยู่อย่างนั้น  แม้กระทั่งท่านออกจากสมาธิแล้วนิมิตนั้นก็ยังติดตาท่านอยู่  จนในเวลาเช้าที่ท่านออกบิณฑบาตนิมิตก็ยังปรากฏอยู่เช่นนั้น  ท่านจึงสังเกตไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้บอกผู้ใด

ขณะที่เดินทางกลับจากบิณฑบาตวันต่อมาก่อนที่นิมิตจะหายไป  ท่านได้พิจารณาดูตนเอง ก็ได้ปรากฏเห็นชัดเจนว่าเป็นโครงกระดูกทุกส่วนสัด จึงมีความรู้สึกไม่อยากฉันอาหาร  ได้อาศัยความเอิบอิ่มของสมาธิจิตทำความเพียรต่อไป  และเมื่อพิจารณาต่อไปก็เห็นว่า ประกอบด้วยธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นเอง  ท่านจึงทำความเพียรต่อไป  แต่ปรากฏว่านิมิตนั้นได้หายไปแล้ว ครั้นเมื่อท่านออกจากสมาธิแล้ว อาการของโรคไข้มาลาเรียที่เป็นอยู่ก็หายไปหมดสิ้น
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:09 | ดูโพสต์ทั้งหมด
มหัศจรรย์แห่งธรรม

หลังจากนั้นพระอาจารย์ดูลย์รีบเร่งทำความเพียรต่อไปอีก  โดยเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง สลับกันไปตลอดวันตลอดคืนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและหิวโหย  ด้วยอาศัยความอิ่มเอิบแห่งจิตที่เป็นสมาธินั่นเอง

เมื่อท่านกระทำความเพียรจนจิตสงบได้เป็นสมาธิแล้ว  ก็บังเกิดแสงแห่งพระธรรมปรากฏแก่จิตของท่านอย่างแจ่มแจ้ง  จนกระทั่งท่านสามารถที่จะแยกจิตกับกิเลสออกจากกันได้ รู้ชัดว่าอะไรคือจิต อะไรคือกิเลส จิตปรุงกิเลส หรือกิเลสปรุงจิต และเข้าใจสภาพของจิตที่แท้จริงได้  ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังรู้อย่างแจ่มแจ้งด้วยว่ากิเลสส่วนไหนละได้แล้ว  และส่วนไหนยังละไม่ได้บ้าง  และเมื่อท่านเล่าให้พระอาจารย์สิงห์ฟัง  พระอาจารย์สิงห์กล่าวว่าพระอาจารย์ดูลย์ได้ปฏิบัติมาถูกทางแล้ว  และอนุโมทนาสาธุด้วย

เมื่อปรากฏความแจ่มแจ้งในตนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  พระอาจารย์ดูลย์จึงอยากจะให้ออกพรรษาโดยเร็วเพื่อจะได้ไปพบพระอาจารย์มั่น  แล้วจะได้กราบเรียนถึงผลการปฏิบัติ  ทั้งขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติในขั้นต่อไป
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:10 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ผลแห่งการปฏิบัติ

หลังออกพรรษา ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ แล้ว  คณะของพระอาจารย์ดูลย์ที่จำพรรษาอยู่ที่ป่าคันโท กาฬสินธุ์  ต่างก็แยกย้ายกันเดินธุดงค์ต่อไป เพื่อค้นหาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ดูลย์ได้ร่วมเดินทางไปกับพระอาจารย์สิงห์  แต่ภายหลังได้แยกทางกัน ต่างมุ่งหน้าตามหาพระอาจารย์มั่นตามประสงค์

หลังจากแยกจากพระอาจารย์สิงห์แล้ว  พระอาจารย์ดูลย์ท่านได้จาริกตามลำพังมาจนถึงหนองหาร จ.สกลนคร  และเข้าพำนักที่เกาะเกต ซึ่งกล่าวขานกันในหมู่พระธุดงค์ว่าเป็นดินแดนแห่งความขลังและมีอาถรรพ์แรง  จนทำให้ชาวบ้านในบริเวณนั้นไม่มีใครกล้าเข้าใกล้  และต่างก็ขอร้องไม่ให้พระอาจารย์ดูลย์เข้าไปด้วยเกรงว่าท่านจะได้รับอันตราย  แต่พระอาจารย์ดูลย์เห็นว่าที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา  และตรวจสอบถึงความแข็งแกร่งของจิตเป็นอย่างมากเพราะสงบสงัดยิ่งนัก  จึงได้ตกลงใจที่จะพำนักอยู่ ณ ที่นั้น  ก่อนที่จะออกจาริกค้นหาพระอาจารย์มั่นต่อไป  โดยมิฟังคำทัดทานของชาวบ้าน

ครั้นเมื่อได้พำนักอยู่ที่เกาะเกตเป็นเวลาหลายวันแล้ว  จึงออกเดินทางต่อไปจนถึงบ้านตาลเนิ้ง อำเภอสว่างดินแดน จ.สกลนคร  และสอบถามชาวบ้านที่นั่นได้ความว่า  มีพระธุดงค์เป็นจำนวนมากมาชุมนุมกันอยู่ในป่าใกล้ ๆ หมู่บ้าน  ท่านรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง  ด้วยมั่นใจว่าต้องเป็นพระอาจารย์มั่นอย่างแน่นอน  จึงรีบเดินทางไปยังป่าแห่งนั้นทันที  และเมื่อไปถึงก็เป็นความจริงดังที่ท่านมั่นใจ

ขณะนั้น พระอาจารย์สิงห์และพระรูปอื่น ๆ นั่งแวดล้อมพระอาจารย์มั่นอยู่ด้วยอาการสงบ  และเมื่อท่านเดินเข้าไปใกล้ พระอาจารย์มั่นได้กล่าวแก่พระที่นั่งแวดล้อมอยู่ว่า โน่น ๆ ท่านดูลย์มาแล้ว

ครั้นเมื่อได้เห็นพระอาจารย์มั่นท่านก็เกิดความปีติขึ้นในใจทันที  จนถึงกับรำพึงว่า ด้วยอำนาจพระพุทธคุณ ประสงค์อย่างไรก็สำเร็จอย่างนั้น  แล้วก็ตรงเข้าไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นด้วยความเคารพอย่างสุดซึ้ง  หลังจากที่ทำอภิวาทแล้ว ได้สนทนาธรรมกันนานพอสมควร  พระอาจารย์มั่นได้สอบถามถึงผลการปฏิบัติ  พระอาจารย์ดูลย์ได้กราบเรียนถึงการปฏิบัติให้ท่านทราบทุกประการ  พระอาจารย์มั่นเมื่อได้ฟังแล้วได้กล่าวว่า เก่งมาก ฉลาดมาก ที่สามารถรู้จักกิเลสของตนเอง  การปฏิบัติที่ผ่านมาที่เล่าบอกนั้นก็เป็นการถูกต้องแล้ว
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:10 | ดูโพสต์ทั้งหมด
หลังจากสนทนาธรรมกันพอสมควร  พระอาจารย์มั่นได้มอบหัวข้อธรรมเป็นการบ้านให้พระอาจารย์ดูลย์ไปพิจารณาถึงความเป็นอนิจจังของสังขาร  และภาวะแห่งการแปรเปลี่ยน โดยเริ่มจากกายและสังขารของตน  เมื่อได้รับการบ้านจากท่านอาจารย์ใหญ่มั่นแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์จึงกราบนมัสการลา แล้วแยกออกไปบำเพ็ญภาวนาตามลำพัง

พระอาจารย์ดูลย์ได้นั่งบำเพ็ญสมาธิอยู่ไม่นาน  จิตของท่านก็สงบ ท่านได้นำหัวข้อธรรมะที่พระอาจารย์มั่นมอบให้ยกขึ้นพิจารณา  สักครู่ก็เกิดความสว่างแจ้งคือเห็นความเป็นมาของสังขารทั้งหลายว่า  เกิดจากความคิดปรุงแต่งของวิญญาณที่ได้รู้จักอายตนะของตนนั่นเอง  เมื่อละสังขารเหล่านี้ได้ความทุกข์ทั้งหลายก็ดับหมดไป  กล่าวอีกนัยหนึ่งเห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง

ผลจากการปฏิบัติในครั้งนี้ พระอาจารย์ดูลย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือหลวงปู่ฝากไว้ ว่า

คนสมัยนี้เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด  ที่ใจเป็นทุกข์เพราะเกิดความยึดมั่นแล้วมีการปรุงแต่งในความคิดขึ้น  และอุบายที่จะละความทุกข์ก็คือหยุดการปรุงแต่ง  แล้วปล่อยวางให้เป็น  ซึ่งจะทำได้ต้องอาศัยการภาวนา ทำจิตใจสงบจึงจะเกิดพลัง  มีสติปัญญามองเห็นเหตุเห็นผล  แล้วจิตก็จะปล่อยวางได้ เมื่อละความยึดมั่นได้ ความทุกข์ในสิ่งนั้นก็หมดไป

ในพรรษานั้น พระอาจารย์ดูลย์ท่านอยู่จำพรรษาที่บ้านตาลเนิ้ง อ.สว่างดินแดน จ.สกลนคร  กับพระอาจารย์มั่นตลอดพรรษา  ท่านได้สนทนาธรรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพระอาจารย์ใหญ่มั่นสองต่อสอง  นับว่าเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าอย่างยิ่งของพระอาจารย์ดูลย์ทีเดียว

ครั้นเมื่อพระอาจารย์ดูลย์อยู่รับการอบรมสั่งสอน  และปฏิบัติอาจาริยวัตรแด่พระอาจารย์มั่นนานพอสมควร  ท่านจึงได้กราบลาพระอาจารย์มั่นจาริกจากบ้านตาลเนิ้ง อ.สว่างดินแดน จ.สกลนคร พร้อมกับสามเณรรูปหนึ่งแสวงหาความวิเวกต่อไป
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:11 | ดูโพสต์ทั้งหมด
เห็นแจ้งเรื่องความตาย

ครั้นพระอาจารย์ดูลย์พร้อมสามเณรติดตาม  ได้จาริกบ้านตาลเนิ้ง อ.สว่างดินแดน จ.สกลนครแล้ว  ท่านได้จาริกไปทางจังหวัดสุรินทร์ระยะหนึ่ง  แล้วจึงธุดงค์กลับมายัง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ท่านและสามเณรติดตามได้อธิษฐานจำพรรษาอยู่ ณ ชายป่าแห่งหนึ่ง ใกล้ ๆ บ้านกุดก้อม ทั้งสองรูปจำพรรษาอยู่ได้ไม่นาน  สามเณรที่ติดตามก็เกิดอาพาธเป็นไข้หนาวอย่างรุนแรง  ในที่สุดก็ถึงแก่กาลกิริยาไปต่อหน้าต่อตา  ท่านเล่าภายหลังว่า สงสารเณรมาก อายุก็ยังน้อย หากมียารักษาก็คงไม่ตาย และนับเป็นครั้งที่สองแล้วที่พระอาจารย์ดูลย์ได้อยู่ใกล้ชิดกับความตาย

การถึงแก่กาลกิริยาของสามเณรรูปนี้  ทำให้พระอาจารย์ดูลย์ได้พิจารณาอาการตายของมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร  จิตหรือวิญญาณออกไปทางไหน หรืออย่างไร ซึ่งก็ทำให้ท่านเห็นแจ้งโดยตลอด

เรื่องเกี่ยวกับความตาย  พระครูนันทปัญญาภรณ์ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดของท่านได้บันทึกเอาไว้ว่า

เมื่อมีผู้ถามถึงการตายการเกิดใหม่ หรือถามถึงชาติหน้าชาติหลัง  หลวงปู่ไม่เคยสนใจที่จะตอบ  หรือเมื่อมีผู้กล่าวค้านว่าเชื่อหรือไม่เชื่อว่า นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ประการใด  หลวงปู่ไม่เคยค้นคว้าหาเหตุผลเพื่อจะเอาค้านใคร  หรือไม่เคยหาหลักฐานเพื่อยืนยันให้ใครยอมจำนนแต่ประการใด

ท่านกลับแนะนำว่า

ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่ต้องคำนึงถึงชาติหน้า ชาติหลัง หรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้  ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ

ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา  ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ  หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ

และในตอนท้าย ท่านกล่าวว่า

การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อบกพร่อง ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติทำวิปัสสนาญาณให้เห็นแจ้ง ความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง

ครั้นเมื่อสามเณรติดตามมรณภาพไปแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์จึงได้จำพรรษาอยู่แต่เพียงลำพังองค์เดียว  เมื่อชาวบ้านกุดก้อมเห็นดังนั้น  จึงได้พากันกราบอาราธนาให้ท่านไปพำนักจำพรรษา ณ วัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อม ซึ่งพอจะเป็นสถานที่เหมาะแก่การปฏิบัติ พระอาจารย์ดูลย์ตกลงรับอาราธนา
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:11 | ดูโพสต์ทั้งหมด
วัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อม

ณ วัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อม แห่งนี้  มีพระเณรจำพรรษาอยู่หลายรูป  โดยมีท่านครูบาญาคูดี เป็นเจ้าอาวาส  ท่านเป็นพระที่มีอัธยาศัยน้ำใจดี  ได้แสดงความเอื้อเฟื้อ และให้การต้อนรับพระอาจารย์ดูลย์ในฐานะพระอาคันตุกะเป็นอย่างดี

การจำพรรษาอยู่ที่วัดม่วงไข่นี้  พระอาจารย์ดูลย์ได้พำนักอยู่ในโบสถ์แต่เพียงลำพังรูปเดียว  และได้ใช้แบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติของพระอาจารย์มั่นอย่างเคร่งครัดและครบถ้วนทุกประการ

อาทิเช่น เดินบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันแต่ในบาตรวันละมื้อ  หมั่นปัดกวาดบริเวณที่อยู่อาศัย  และเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่อง มีความสำรวมระวังเป็นอย่างดี

วัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ดูลย์ที่วัดม่วงไข่นี้ สร้างความสนใจให้เกิดขึ้นกับท่านครูบาญาคูดี ผู้เป็นเจ้าอาวาส  และบรรดาภิกษุสามเณรในวัดม่วงไข่ เป็นยิ่งนัก  ด้วยไม่เคยเห็นวัตรปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน  ด้วยความสงสัยจึงได้พากันเข้ามาไต่ถามถึงวัตรปฏิบัติของท่าน

ฝ่ายพระอาจารย์ดูลย์  เมื่อพระภิกษุสามเณรมาไต่ถาม  ท่านก็ได้ตอบข้อซักถามและอธิบายให้ฟังอย่างแจ่มแจ้ง  โดยเน้นถึงภารกิจหลักของพระภิกษุสามเณรว่ามีหน้าที่โดยตรงอย่างไรบ้าง  ด้วยถ้อยคำและเนื้อหาที่ครบถ้วนบริบูรณ์และมีความหมายลึกซึ้งกินใจภิกษุสามเณรผู้สงสัยเป็นยิ่งนัก

ท่านครูบาญาคูดี เจ้าอาวาสวัดม่วงไข่  พร้อมทั้งภิกษุสามเณรทั้งหลาย  เมื่อได้ฟังธรรมที่สมบูรณ์ทั้งอรรถพยัญชนะที่มีความหมายลึกซึ้ง  ซ้ำแปลกใหม่จากที่เคยได้ยินได้ฟังมา  จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา  และได้พากันปฏิญาณตนขอเป็นศิษย์พระอาจารย์ดูลย์  พร้อมใจกันดำเนินจามปฏิปทาของพระธุดงค์กัมมัฏฐานตามแบบของท่านทุกรูป

หลังจากออกพรรษาแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์ก็จาริกธุดงค์ออกจากวัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อมแห่งนั้น  และในครั้งนี้มีภิกษุสามเณรแห่งวัดม่วงไข่ที่ปฏิญาณตนขอเป็นศิษย์ออกจาริกธุดงค์ตามท่านไปด้วย  ทุกรูปยอมสละละทิ้งวัดม่วงไข่ให้ร้างไปโดยไม่มีใครยอมอยู่ดูแล  ภิกษุสามเณรทุกรูปต่างก็มุ่งค้นหาความดับทุกข์แห่งตน  โดยมิได้อาลัยอาวรณ์แต่ประการใดเลย  เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีชาวบ้านคนใดจะคาดคิดได้  และก่อให้เกิดเสียงร่ำลือออกไปอย่างกว้างขวาง  การพำนักจำพรรษาที่วัดม่วงไข่ของพระอาจารย์ดูลย์ในครั้งนี้นั้น  นับได้ว่าเป็นการพลิกแผ่นดินวัดม่วงไข่  และถือได้ว่าเป็นก่อให้เกิดประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างมหาศาลทีเดียว
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:11 | ดูโพสต์ทั้งหมด
พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น

การมาพักจำพรรษาที่วัดม่วงไข่ของพระอาจารย์ดูลย์ในครั้งนี้  นับว่าเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในหลาย ๆ ด้าน  ด้านหนึ่งก็คือ ทำให้เกิดพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่มีชื่อเสียงขึ้นมาอีก ๒ รูป คือ

๑. พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ  สำนักวัดป่านิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.หนองบัวลำภู  ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสามเณรอยู่  เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของท่านก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและปฏิบัติตามแนวที่ท่านสอน  เป็นผู้มีวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้าในธรรมปฏิบัติ  ได้เจริญรุ่งเรืองในพระศาสนา  จนต่อมากลายเป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระผู้มีชื่อเสียง  เป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาอย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง

๒. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  แห่งสำนักวัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งขณะนั้นท่านได้พำนักอยู่วัดใกล้ ๆ กับวัดม่วงไข่  เมื่อได้ทราบถึงวัตรปฏิบัติอันงดงามของพระอาจารย์ดูลย์จึงเกิดความสนใจเป็นยิ่งนัก  เดินทางเข้ามอบตัวเป็นศิษย์  ฟังพระธรรมเทศนา และฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์ดูลย์ตลอดพรรษา  จนกระทั่งท่านได้จาริกจากวัดม่วงไข่  พร้อมภิกษุสามเณรวัดม่วงไข่ทั้งวัด  พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  ก็ได้ติดตามไปด้วยเช่นกันต่อมาภายหลัง  พระอาจารย์ฝั้นได้กลายเป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกรูปหนึ่ง  คุณงามความดีของท่านได้แผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาอย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

เมื่อกล่าวถึงพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ดูลย์ได้กล่าวยกย่องว่า

“ท่านอาจารย์ฝั้นนั้นทำกัมมัฏฐานได้ผลดีมาก  เป็นนักปฏิบัติที่เอาจริงเอาจัง  มีน้ำใจเป็นนักสู้ที่สู้เสมอตาย ไม่มีการลดละท้อถอย เข้าถึงผลการปฏิบัติได้โดยเร็ว  นอกจากนั้นยังมีรูปสมบัติและคุณสมบัติพร้อม”

พระอาจารย์ดูลย์นึกอยู่ในใจว่า  ในอนาคตพระอาจารย์ฝั้นจะมีความสำคัญใหญ่หลวง  จะเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนาอย่างแน่นอน  ซึ่งต่อมาความคิดของท่านก็กลายเป็นความจริง  ในช่วงที่ออกธุดงค์จากวัดม่วงไข่นั้น  ท่านก็คิดเสมอว่า จะต้องพาพระอาจารย์ฝั้นไปพบและมอบถวายให้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นให้จงได้  ด้วยเหตุที่ท่านชอบอัธยาศัยของพระอาจารย์ฝั้นเป็นอย่างมากนั่นเอง

ทั้งสองท่านเป็นสหายธรรมที่มั่นคงต่อกันตลอดมา  แม้ว่าพระอาจารย์ดูลย์จะกลับมาพำนักเป็นการถาวรที่วัดบูรพารามแล้วก็ตาม  พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ขอคำแนะนำในการปฏิบัติกับพระอาจารย์ดูลย์อยู่เป็นประจำมิได้ขาด

สถานที่มาปักกลดระหว่างที่มาพำนักที่ จ.สุรินทร์ของพระอาจารย์ฝั้น  ปัจจุบันคือวัดป่าโยธาประสิทธิ์  อยู่ภายในอาณาเขตของวิทยาลัยเกษตรสุรินทร์
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้