ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม ~

[คัดลอกลิงก์]
31#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพาราม

ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลังจากที่พำนักอยู่วัดบูรพาราม  ได้ระยะหนึ่งท่านก็เริ่มการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพารามทันที  โดยเริ่มจากการสร้างโบสถ์แบบคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นเป็นแห่งแรก  และเป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดของ จ.สุรินทร์  โดยมุ่งที่จะใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด  แต่ใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด  แรงงานส่วนใหญ่ได้จากชาวบ้าน และพระภิกษุสามเณรในวัด โดยมีท่านเป็นผู้เขียนแบบเอง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ใช้เวลาก่อสร้าง ๑๔ ปี

เหตุที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานถึง ๑๔ ปีนั้น  มีลูกศิษย์ใกล้ชิดของท่านเล่าว่า  สมัยก่อนการบอกบุญเรี่ยไรเป็นการยากลำบาก บางทีพระเดินบอกบุญเรี่ยไรเงิน สองหมู่บ้านแล้วยังได้เพียง ๒ สตางค์เท่านั้น  ทำให้ต้องเดินบอกบุญหลายวันจึงจะได้เป็นปัจจัย ๑ บาท  จึงขอให้ชาวบ้านบริจาคเป็นข้าวเปลือกแทน เพราะแต่ละบ้านจะมีข้าวเปลือกด้วยกันทั้งนั้น  จากนั้นนำข้าวเปลือกที่ได้รับมาขาย  สมัยนั้นข้าวเปลือกราคากระเฌอละสิบสามสิบสี่สตางค์  แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อปูนซีเมนต์ก่อสร้าง ในราคาถุงละ ๘๐ สตางค์ ถึง ๑ บาทกว่า  เป็นปูนซีเมนต์ซึ่งไม่มีคุณภาพเท่าไรนัก  สำหรับอิฐนั้นไม่ต้องซื้อ  พระภิกษุสามเณรและชาวบ้านเสียสละแรงกายแรงใจช่วยกันทำขึ้นเอง

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เมื่อการก่อสร้างโบสถ์วัดบูรพารามใกล้สำเร็จแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์ได้จัดงานหล่อพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานในพระอุโบสถ ถือเป็นการจัดงานเช่นนี้ครั้งแรกใน จ.สุรินทร์  ซึ่งนำโดยพระคุณคุณสมฺปนฺโน (โชติ คุณสมฺปนฺโน)  และพระครูนวกิจโกศล (เปลี่ยน โอภาโส) พร้อมด้วยคณะสงฆ์ และประชาชนใน จ.สุรินทร์ ร่วมกันบริจาคทองเหลืองทองแดงเป็นจำนวนมาก  ได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๘๐,๐๐๐ บาท

พระประธานในอุโบสถวัดบูรพารามเป็นพระพุทธชินราชจำลอง  หล่อด้วยโลหะทองเหลือง เป็นการหล่อแบบสมัยใหม่  ด้วยการเชิญช่างหล่อมาทำการหล่อที่ จ.สุรินทร์  โดยใช้งบประมาณจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท  แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ และได้ยกพระพุทธชินราชจำลองที่หล่อแล้วประดิษฐานบนรัตนบัลลังก์ในพระอุโบสถวัดบูรพาราม  เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๐

การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพาราม นอกจากจะอาศัยบารมีของพระอาจารย์ดูลย์เองแล้ว  ยังมีพระภิกษุหลายรูปที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลืองานของท่าน ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ พระมหาโชติ (พระเทพสุทธาจารย์) , พระอาจารย์สาม อกิญจโน , พระมหาเปลี่ยน โอภาโส (พระโอภาสธรรมญาณ)  และพระมหาพลอย อุปสโม เป็นต้น

ในเรื่องการบริหารงานภายในวัดนั้น  พระอาจารย์ดูลย์ท่านได้มอบหมายให้พระมหาเปลี่ยน โอภาโส เป็นผู้อบรมสั่งสอนประชาชน  และมอบหมายให้พระมหาพลอย อุปสโม เป็นผู้ดูแลในด้านการศึกษาและการปกครอง

การมาพำนักอยู่ที่วัดนี้ของท่าน  ด้วยความเสียสละทุ่มเทต่อพระศาสนาและสังคม  ได้สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นแก่วัดบูรพารามเป็นอันมาก

จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ วัดบูรพาราม ได้รับการยกย่องจากกรมศาสนาให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
32#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดบูรพารามขึ้นเป็นพระอารามหลวง

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดบูรพาราม ก็กลายเป็นที่รู้จักของสาธุชนทั่วไป มีประชาชนเข้ามาศึกษาธรรมะ ด้วยความเลื่อมใสในคำสอนและวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล เป็นจำนวนมาก

พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่หาได้ยากอย่างยิ่ง ท่านได้อุทิศชีวิตรับใช้พระศาสนา ด้วยแรงกายแรงใจอย่างเต็มกำลังความสามารถ  โดยที่มิได้หวังในลาภสักการะและยศฐาบรรดาศักดิ์แต่ประการใด  แต่ด้วยคุณงามความดีของท่าน ทำให้ท่านได้รับสมณศักด์เป็นลำดับดังนี้

พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะแขวงรัตนบุรี ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

๑ มีนาคม ๒๔๗๙ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะแขวงรัตนบุรี

๒๔ พฤษภาคม ๒๔๘๐ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์สามัญ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

๑ พฤษภาคม ๒๕๐๑ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ (เจ้าคุณ) ที่ พระรัตนากรวิสุทธิ์ วินยานุยุตธรรมิกคณิสสร (พระรัตนากรวิสุทธิ์)

๒ ธันวาคม ๒๕๒๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวุฒาจารย์ ศาสนาภารธุรกิจยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี (พระราชวุฒาจารย์) อันเป็นสมณศักดิ์สุดท้ายของท่าน

ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นต้นมา พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล พำนักอยู่ที่วัดบูรพารามเพียงแห่งเดียวเท่านั้น  จนกระทั่งมรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ รวมเวลาที่ท่านพำนักอยู่ที่วัดบูรพารามแห่งนี้ได้ทั้งสิ้น ๕๐ ปีเศษ

แม้ปัจจุบันพระอาจารย์ดูลย์ อตุโลจะละสังขารไปแล้วก็ตาม  แต่ยังมีผู้เคารพบูชาและเลื่อมใสศรัทธาในแนวทางคำสอนและวัตรปฏิปทา ต่างพากันเดินทางไปวัดบูรพารามอยู่เช่นเดิม
33#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๘. ปฏิปทาในการเผยแพร่

พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศิษย์มากมายที่เคารพเลื่อมใสและศรัทธาในวัตรปฏิปทาของท่าน ทั้งที่เป็นบรรพชิตและเป็นฆราวาส

ปฏิปทาในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในด้านของการส่งเสริมศิษย์ของท่านนั้น  พระอาจารย์ดูลย์ให้ความเห็นว่า ศิษย์ที่เป็นภิกษุสามเณรและปรารถนาจะเจริญงอกงามอยู่ในบวรพุทธศาสนา  ควรทำการศึกษาทั้งสองด้าน คือทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ  กล่าวคือผู้ที่อายุยังน้อยมีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียน  ท่านก็สนับสนุนให้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมไปก่อน  ครั้นพอมีเวลาว่างจากการศึกษาก็ให้ฝึกฝนในการปฏิบัติสมาธิภาวนาไปด้วย  และถ้าผู้ใดสามารถที่จะศึกษาเล่าเรียนในชั้นสูงต่อได้  ก็จะจัดส่งไปเรียนต่อในสำนักต่าง ๆ ที่กรุงเทพฯ หรือที่ซึ่งเจริญด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรม  ทำให้ท่านมีศิษย์ที่จบการศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูง  หรือปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ จนกระทั่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เป็นจำนวนมาก

สำหรับผู้ที่มีอายุมาก หรือผู้ที่สนใจในธุดงค์กัมมัฏฐานก็ดี  ท่านก็แนะนำให้ศึกษาพระธรรมวินัยให้พอเข้าใจให้พอคุ้มครองรักษาตัวเอง  แล้วจึงมุ่งปฏิบัติกัมมัฏฐานต่อไปให้จริงจัง  โดยได้แนะแนวทางให้สองวิธี กล่าวคือผู้สนใจในทางธุดงค์กัมมัฏฐานต่อไปให้จริงจัง  โดยได้แนวทางให้สองวิธี กล่าวคือผู้ที่สนใจในทางธุดงค์กัมมัฏฐานตามแบบของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็จะแนะนำและส่งให้ไปอยู่รับการศึกษาตามสำนักต่าง ๆ กับครูบาอาจารย์ในแถบจังหวัดสกลนคร , อุดรธานี และหนองคาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำนักวัดป่าอุดมสมพร และสำนักถ้ำขามของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ได้ฝากฝังไปอยู่มากที่สุด

ส่วนผู้สนใจจะปฏิบัติทางด้านสมาธิวิปัสสนาอย่างเดียว  ท่านจะให้อยู่ในสถานที่ที่ตนเองยินดี  โดยให้เหตุผลว่า การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ไหน ในเมื่อกายยาว ๑ วา หนา ๑ คืบนี้แลเป็นตัวธรรม  เป็นตัวโลก เป็นที่เกิดแห่งธรรม เป็นที่ดับแห่งธรรม เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อาศัยบัญญัติไว้ซึ่งธรรมทั้งปวง  แม้ใครใคร่จะปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติธรรมที่กายและใจเรานี้  หาได้ไปปฏิบัติที่อื่นไม่ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องหอบสังขารนี้ไปที่ไหน  ถ้าตั้งใจจริงแล้ว นั่งอยู่ที่ไหนธรรมก็เกิดที่ตรงนั้น  ยิ่งผู้ใดสามารถปฏิบัติภาวนาในท่ามกลางความวุ่นวาย ความอึกทึกครึกโครมรอบ ๆ ตัว  จนกำหนดจิตตั้งสมาธิได้ สมาธินั้นเป็นสมาธิที่เข้มแข็งและมั่นคงกว่าธรรมดา  ด้วยเหตุที่สามารถต่อสู้เอาชนะสภาวะที่ไม่เป็นสัปปายะได้ คือไม่อำนวยนั่นเอง

ท่านยังกล่าวอีกว่า การเดินจงกรมจนกระทั่งจิตหยั่งลงสู่ความสงบนั้น  จะเกิดสมาธิที่แข็งแกร่งกว่าสมาธิที่สำเร็จจากการนั่งหรือนอน  หรือแม้แต่การเข้าป่าเป็นยิ่งนัก
34#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แนวทางการสอน

พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ได้ชื่อว่าเป็นพระผู้ใหญ่ที่เป็นที่พึ่งของลูกศิษย์ทั้งที่เป็นฆราวาสและพระหนุ่มเณรน้อยทั่วไปได้เป็นอย่างดี

ท่านได้กล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“ความหนักอกหนักใจที่สำคัญอย่างหนึ่งของนักปฏิบัติ  คือการขาดกัลยาณมิตรที่มีความสามารถแนะนำทางและวิธีแก้ไขการปฏิบัติให้ได้ตลอดสาย  และบางทีแม้มีกัลยาณมิตรคือครูบาอาจารย์ที่สามารถ  แต่ท่านก็บังเอิญอยู่ไกลบ้าง  โอกาสไม่อำนวยบ้างทำให้ไม่อาจแก้ไขแนวทางปฏิบัติได้ทันท่วงที  ทำให้เกิดการเนิ่นช้าไปโดยใช่เหตุ

ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ  บางครั้งทำให้หลงวกวนไปไกลจนกระทั่งหลงผิดไปก็มี  บางกรณีถ้ามีผู้ชี้แนะให้ทันการก็จะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง  ทั้งแก่เพื่อนนักปฏิบัติและทั้งแก่พระศาสนาเอง

ผู้ใดมีปัญหาหรือข้อสงสัยแม้เล็กน้อยในทางปฏิบัติ  ขออย่าได้รีรอลังเลหรือว่าเกรงอกเกรงใจอะไร  ขอให้ไปพบเพื่อไต่ถามได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง  แม้ว่าเมื่อไปแล้วพบว่าท่านเข้าที่ไปเสียแล้ว  ก็ขอให้เรียกได้ทันที  อย่าได้ต้องพลาดโอกาสสูญเสียประโยชน์ใหญ่เพราะเหตุความเกรงใจเพียงเล็กน้อย  ตัวท่านนั้นเป็นเพียงนักปฏิบัติชราที่ผ่านประสบการณ์มานานปี  พอจะสามารถเป็นกัลยาณมิตรได้บ้าง”

ท่านมักย้ำอยู่เสมอว่า  ท่านไม่ต้องการใช้คำว่าครูและศิษย์  ท่านต้องการให้คิดว่า ท่านเป็นเพื่อนร่วมศึกษาแนวทางรอด  แนวทางการสอนของท่านเป็นไปในแนวทางการบอกถึงประสบการณ์  และให้ผู้ศึกษาลองพิจารณาหรือปฏิบัติแล้วนำไปเปรียบเทียบดู  เพราะท่านบอกว่าธรรมของใครก็ของมัน  แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคือความพ้นทุกข์  แต่แนวทางการปฏิบัติจะไม่เหมือนกัน  ท่านจะไม่เรียกใครว่าเป็นศิษย์ของท่านเลย  จะใช้คำอื่นแทน เช่น ศิษย์ที่ติดตามท่านเดินธุดงค์  จะเรียกว่าคนเคยเดินธุดงค์ร่วมกัน  เคยปฏิบัติธรรมร่วมกันเป็นต้น

ถ้าพูดเรื่องอื่น ๆ การสนทนากับพระอาจารย์ดูลย์มักจะไม่ยืดยาว  แต่ถ้าพูดเรื่องการปฏิบัติ  การสนทนาจะยืดยาวทีละหลายชั่วโมง บางครั้งพูดยันสว่างก็เคยมีมาแล้ว

ถ้าพูดเรื่องอื่น ๆ การสนทนากับพระอาจารย์ดูลย์มักจะไม่ยืดยาว  แต่ถ้าพูดเรื่องการปฏิบัติ การสนทนาจะยืดยาวทีละหลายชั่วโมง  บางครั้งพูดยันสว่างก็เคยมีมาแล้ว

แต่ที่พิเศษยิ่งกว่านั้นก็คือ  ท่านสามารถพูดหรือสนทนาทางจิตกับผู้อื่นได้  ซึ่งนับเป็นความอัศจรรย์ยิ่งนัก  เมื่อถูกถามว่า ไม่คุยกันแล้วจะรู้เรื่องได้อย่างไร  พระอาจารย์ดูลย์ท่านตอบว่า “การพูดไม่สามารถตอบปัญหาได้ทุกอย่างหรอก”
35#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เรื่องของหลวงตาพวง

พระอาจารย์ดูลย์ เป็นพระที่มีพรสวรรค์ในการอธิบายธรรมให้แจ่มแจ้ง  ท่านสามารถอธิบายธรรมที่มีผู้ไม่เข้าใจ ให้เข้าใจได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ท่านยังเป็นอาจารย์แก้อารมณ์ให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมให้ปฏิบัติไปอย่างถูกต้อง  ยากที่จะหาผู้ใดมาเทียบได้ ทั้งนี้มีตัวอย่างของหลวงตาพวง ซึ่งศิษย์ของท่านได้บันทึกเอาไว้ว่า

ศิษย์ของหลวงปู่ชื่อหลวงตาพวง ได้มาบวชตอนวัยชรา นับเป็นผู้บุกเบิกสำนักปฏิบัติธรรมบนเขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์  หลวงตาพวงได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การประพฤติปฏิบัติ  เพราะท่านสำนึกตนว่าขอบวชเมื่อแก่  มีเวลาแห่งชีวิตเหลือน้อย  จึงเร่งความเพียรตลอดวันตลอดคืน

พอเริ่มได้ผลเกิดความสงบ  ก็เผชิญกับวิปัสสนูปกิเลสอย่างร้ายแรง  เกิดความสำคัญผิด เชื่อมั่นอย่างสนิทว่าตนเองได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เป็นผู้สำเร็จผู้เปี่ยมไปด้วยบุญญาธิการ ได้เล็งญาณ (คิดเอง) ไปจนทั่วสากลโลก เห็นว่าไม่มีใครรู้หรือเข้าถึงธรรมเสมอด้วยตน  บังเกิดจิตคิดเอ็นดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย ใคร่จะไปโปรดให้พ้นจากทุกข์โทษ ความโง่เขลา เล็งเห็นพระสงฆ์ทั้งหมด ตลอดจนครูบาอาจารย์ล้วนแต่ยังไม่รู้  จึงตั้งใจจะไปโปรดหลวงปู่ดูลย์ผู้เป็นพระอาจารย์เสียก่อน

ดังนั้นหลวงตาพวงจึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่าจากเขาพนมรุ้ง เดินทางข้ามจังหวัดมาไม่ต่ำกว่า ๘๐ กิโลเมตร มาจนถึงวัดบูรพาราม หวังจะแสดงธรรมให้หลวงปู่ฟัง

หลวงตาพวงมาถึงวัดบูรพาราม เวลา ๖ ทุ่มกว่า กุฏิทุกหลังปิดประตูหน้าต่างหมด  พระเณรจำวัดกันหมด หลวงปู่ก็เข้าห้องไปแล้ว ท่านร้องเรียกหลวงปู่ด้วยเสียงอันดัง  ตอนนั้นท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนียังเป็นสามเณรอยู่  ได้ยินเสียงเรียกอันดังลั่นว่า “หลวงพ่อ หลวงพ่อ หลวงพ่อดูลย์”  ก็จำได้ว่าเป็นเสียงของหลวงตาพวงจึงลุกไปเปิดประตูรับ สังเกตดูกิริยาก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก  เพียงแต่รู้สึกแปลกใจว่า ตามธรรมดาท่านหลวงตาพวงมีความเคารพอ่อนน้อมต่อหลวงปู่  พูดเสียงเบา ไม่บังอาจระบุชื่อของท่าน แต่คืนนี้ค่อนข้างจะพูดเสียงดังและระบุชื่อด้วยว่า “หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว”

ครั้นเมื่อหลวงปู่ออกมาแล้ว  ตามธรรมดาหลวงตาพวงจะต้องกราบหลวงปู่ แต่คราวนี้ไม่กราบ  แถมยังต่อว่าเสียอีกว่า “อ้าว ไม่เห็นกราบ ท่านผู้สำเร็จมาแล้ว ไม่เห็นกราบ”  เข้าใจว่าหลวงปู่ท่านคงทราบโดยตลอดว่าอะไรเป็นอะไร ท่านจึงนั่งเฉย ไม่พูดอะไรแม้แต่คำเดียว ปล่อยให้หลวงตาพวงพูดไปเรื่อย ๆ

หลวงตาพวงสำทับว่า “รู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้ผู้สำเร็จอุบัติขึ้นแล้ว ที่มานี่ด้วยเมตตา ต้องการจะมาโปรด ต้องการจะมาชี้แจงแสดงธรรมปฏิบัติให้เข้าใจ”
36#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่ยังคงวางเฉย ปล่อยให้ท่านพูดไปเป็นชั่วโมงทีเดียว  สำหรับพวกเราพระเณรที่ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ ก็พากันตกอกตกใจกันใหญ่ ด้วยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่  ครั้นปล่อยให้หลวงตาพวงพูดนานพอสมควรแล้ว  หลวงปู่ก็ซักถามเป็นเชิงคล้อยตามเอาใจว่า “ที่ว่าอย่างนั้น ๆ เป็นอย่างไร และหมายความว่าอย่างไร”  หลวงตาพวงก็ตอบตะกุกตะกัก ผิด ๆ ถูก ๆ แต่ก็อุตส่าห์ตอบ  เมื่อหลวงปู่เห็นว่าอาการรุนแรงมากเช่นนั้น  จึงสั่งว่า “เออ เณรพาหลวงตาไปพักผ่อนที่โบสถ์  ไปโน่นที่พระอุโบสถ”  เณร (เจ้าคุณพระโพธินันทมุนี) ก็พาหลวงตาไปที่โบสถ์จัดที่จัดทางถวาย  หลวงตาวางสัมภาระแล้วก็กลับออกจากโบสถ์ไปเรียกพระองค์นั้นองค์นี้ที่ท่านรู้จักให้ลุกขึ้นฟังเทศน์ฟังธรรม  รบกวนพระเณรตลอดทั้งคืน

หลวงปู่พยายามแก้ไขหลวงตาพวงด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ หลอกล่อให้นั่งสมาธิ ให้นั่งสงบแล้วย้อนจิตมาดูที่ต้นตอ  มิให้จิตแล่นไปข้างหน้า จนกระทั่งสองวันก็แล้ว สามวันก็แล้ว ไม่สำเร็จ หลวงปู่จึงใช้อีกวิธีหนึ่งซึ่งคงเป็นวิธีของท่านเอง  ด้วยการพูดแรงให้โกรธหลายครั้งก็ไม่ได้ผล  ผ่านมาอีกหลายวันก็ยังสงบลงไม่ได้  หลวงปู่เลยพูดให้โกรธด้วยการด่าว่า “เออ สัตว์นรก ๆ ไปเดี๋ยวนี้ ออกจากกุฏิเดี๋ยวนี้”  ทำให้หลวงตาพวงโกรธอย่างรุนแรง ลุกพรวดพราดขึ้นไปหยิบเอาบาตร จีวรและกลดของท่านลงจากกุฏิ มุ่งหน้าไปวัดป่าโยธาประสิทธิ์  ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบูรพารามไปทางใต้ ประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) ยังพำนักอยู่ที่นั่น

ที่เข้าใจว่าหลวงตาพวงโกรธนั้นเพราะเห็นท่านมือไม้สั่น หยิบของผิด ๆ ถูก ๆ คว้าเอาไต้ (สำหรับจุดไฟ) ดุ้นหนึ่ง นึกว่าเป็นกลด และยังเปล่งวาจาออกมาอย่างน่าขำว่า “เออ กูจะไปเดี๋ยวนี้ หลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่กู” เสร็จแล้วก็คว้าเอาบาตร จีวร และหยิบเอาไต้ดุ้นยาวขึ้นแบกไว้บนบ่า คงนึกว่าเป็นคันกลดของท่าน แถมคว้าเอาไม้กวาดไปด้ามหนึ่งด้วย ไม่รู้เอาไปทำไม

ครั้นพอไปถึงวัดป่า ทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่บริเวณวัดป่าที่นั่นเอง  อาการของจิตที่น้อมไปติดมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก  โดยปราศจากการควบคู่ของสติที่ได้สัดส่วนกันก็แตกทำลายลง  เพราะถูกกระแทกด้วยอานุภาพแห่งความโกรธอันเป็นอารมณ์ที่รุนแรงกว่า  ยังสติสัมปชัญญะให้บังเกิดขึ้น ระลึกย้อนกลับได้ว่าตนเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง  ผิดถูกอย่างไร สำคัญตนผิดอย่างไร และได้พูดวาจาไม่สมควรอย่างไรออกมาบ้าง  เมื่อหลวงตาพวงได้สติสำนึกแล้ว ก็ได้เข้าพบท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ และเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ท่านทราบ  ท่านก็ได้ช่วยแนะนำและเตือนสติเพิ่มเติมอีก  ทำให้หลวงตาพวงได้สติคืนมาอย่างสมบูรณ์และบังเกิดความละอายใจเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากได้พักผ่อนเป็นเวลาพอสมควรแล้ว  ก็ย้อนกลับมากราบขอขมาหลวงปู่  กราบเรียนว่าท่านจำคำพูดและการกระทำทุกอย่างได้หมด  และรู้สึกละอายใจมากที่ตนทำอย่างนั้น

หลวงปู่ได้แนะทางปฏิบัติให้ และบอกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ว่าถึงประโยชน์ก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน คือจะได้เป็นบรรทัดฐาน เป็นเครื่องนำสติมิให้ตกอยู่สภาวะนี้อีก  เป็นแนวทางตรงที่จะได้นำมาประกอบการปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างมั่นคงในแนวทางตรงต่อไป”
37#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กุศโลบายสอนนักเลง

ตามปกติคนทั่วไปมักจะมองพระธุดงค์ว่าเป็นผู้ที่มีวิชาอาคม  หรือว่ามีของดีเอาไว้ป้องกันตัว จึงทำให้สามารถท่องเที่ยวไปตามป่าเขาลำเนาไพร  หรือป่าลึกที่มีแต่อันตรายได้โดยปลอดภัย

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระอาจารย์ดูลย์เดินทางกลับจาก จ.อุบลราชธานี  มา จ.สุรินทร์ เพื่อโปรดญาติโยม  และพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ดนั้น  มีนักเลงอันธพาลผู้หนึ่ง มีความโหดร้ายระดับเสือเป็นที่กลัวเกรงแก่ประชาชนในละแวกนั้น  กลุ่มของชายผู้นี้ท่องเที่ยวหากินแถบชายแดนไทยและกัมพูชา  เมื่อทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์เดินทางมาพำนักที่นี่  ด้วยความมั่นใจว่าพระองค์นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีวิชาด้านคาถาอาคมล้ำเลิศอย่างแน่นอน  จึงออกเดินทางพร้อมลูกน้อง ๔ คน พร้อมอาวุธครบมือ มุ่งหน้ามายังสถานที่ซึ่งพระอาจารย์ดูลย์พักอยู่  ด้วยต้องการเครื่องรางของขลังไว้ป้องกันตัว ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม นักเลงกลุ่มนั้นได้เข้ามาหาท่าน และแจ้งวัตถุประสงค์ให้ทราบ

ดังที่ทราบแล้วว่า พระอาจารย์ดูลย์ท่านเป็นเลิศในการหาอุบายสอนคน เมื่อท่านทราบว่าวัตถุประสงค์แล้ว  จึงกล่าวกับนักเลงเหล่านั้นว่า ถ้าอยากได้อาคม ต้องมีพื้นฐานให้แน่นก่อน มิฉะนั้นแล้วอาคมอาจจะย้อนเป็นอันตรายแก่ผู้เรียน

พื้นฐานที่ท่านสอนนักเลงเหล่านั้นหาใช่ใดอื่น คือสมาธินั่นเอง โดยท่านได้ให้เหตุผลแก่พวกนักเลงไว้อย่างน่าสนใจว่า คาถาทุกคาถา หรือวิชาอาคมที่ประสงค์จะเรียนนั้น  จะต้องอาศัยพื้นฐานคือพลังจิต จิตเล่าจะมีพลังได้ก็ต้องมีสมาธิ สมาธินั้นจะเกิดขึ้นได้ก็แต่การนั่งภาวนา ทำใจให้สงบ วิชาที่ร่ำเรียนไปจึงจะบังเกิดผลศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีพิบัติภัยตามมา

ฝ่ายนักเลงเหล่านั้น เมื่อแลเห็นอากัปกิริยาอันสงบเย็น มั่นคง มิได้รู้สึกสะทกสะท้านต่อพวกเขา  ประกอบกับปฏิปทาอันงดงามของท่าน ก็เกิดความเลื่อมใสนับถือ จึงยินดีปฏิบัติตามที่พระอาจารย์ดูลย์แนะนำ

นักเลงเหล่านั้นพากันนั่งสมาธิด้วยความตั้งใจ  เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่นาที  จิตใจของเขาก็เข้าสูสมาธิ  และบังเกิดปีติอย่างแรงกล้า ท่านได้คอยแนะนำจนนักเลงพวกนั้นนั่งสมาธิไปถูกทาง  และนั่งอยู่กับท่านตลอดคืน อานุภาพแห่งศีลและสมาธิที่ได้รับการแนะนำจากท่าน ยังให้เกิดปัญญาแก่นักเลงกลุ่มนั้น  ทำให้จิตใจของเขารู้สึกอิ่มเอิบ เปี่ยมไปด้วยศรัทธา จึงเปลี่ยนใจไปจากการอยากได้วิชาอาคม เพราะซาบซึ้งในรสแห่งการปฏิบัตินั้น

ครั้นรุ่งเช้า ต่างก็พากันปฏิญาณตนว่าจะกลับตัวเป็นคนดี เลิกประพฤติในสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น  แล้วกราบลาพระอาจารย์ดูลย์กลับบ้านเรือนของตนไป
38#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อุบายสอนศิษย์

พระธุดงค์กับสัตว์ป่า มักจะหนีกันไม่พ้น พระธุดงค์มักจะต้องเผชิญกับสัตว์ป่าเสมอ ๆ  บางครั้งก็พบสัตว์ที่ไม่เป็นอันตราย  แต่บางครั้งก็แทบเอาชีวิตไม่รอด ในชีวิตการเดินธุดงค์ของพระอาจารย์ดูลย์  ท่านได้เผชิญกับสิงสาราสัตว์มาหลายครั้ง  แต่ท่านก็สามารถรอดพ้นจากการถูกสัตว์ป่าทำร้ายมาได้

พระอาจารย์ดูลย์ท่านได้ให้เหตุผลว่า  ตามธรรมชาติของสัตว์ป่าแล้ว มักจะไม่ทำอันตรายผู้ที่ไม่ทำอันตรายแก่มัน  และมันจะเป็นฝ่ายวิ่งหนีเสมอ เพราะสัตว์เดรัจฉานนั้นย่อมมีความกลัวมนุษย์  มันจะตกใจแล้วรีบหลบหนีไปเมื่อได้พบเห็นมนุษย์  แต่เมื่อเห็นทีท่าว่ามันจะมาทำอันตราย  เราก็พยายามหลีกหนี ถ้าจำเป็นก็ขึ้นต้นไม้ใหญ่ ๆ สัตว์เหล่านั้นก็จะผ่านพ้นไปตามทางของมัน

แต่ถ้าเราไม่เห็นมัน และมันกำลังตกมันหรือเป็นบ้า มันก็จะเอาความบ้ามาทำอันตรายเราได้  ถ้าสัตว์นั่นเป็นปกติธรรมดาแล้ว  มันก็ย่อมกลัวเราเช่นกัน ย่อมจะไปตามเรื่องของมัน จะไม่มีการเบียดเบียนกันเลย

หลังจากท่านพระอาจารย์ดูลย์เดินธุดงค์ไปทางกัมพูชามาครั้งหนึ่งแล้วกับสามเณรโชติและสามเณรทอน  ท่านประสบเหตุร้ายถูกควายป่าขวิด แต่ก็ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดในคราวนั้น

อีกคราวหนึ่ง ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์พำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด  พอออกพรรษาแล้วท่านก็เดินธุดงค์ไปกัมพูชาอีกครั้ง  โดยครั้งนี้มีเด็กชายซอม ผู้มีกิตติศัพท์ว่ามีความดื้อดึงผิดปกติกว่าเด็กทั่วไปเป็นผู้ติดตาม

ขณะที่เดินทางผ่านป่าโปร่งแห่งหนึ่ง ก็ต้องชะงักฝีเท้าลง เพราะปรากฏภาพที่น่าตื่นตระหนกสะท้านขวัญขึ้นที่ต้นไม้ใหญ่เบื้องหน้า  บนต้นไม้มีเสือตัวหนึ่งหมอบนิ่งอยู่บนกิ่งไม้  ต่ำลงมาที่คาคบไม้ไม่ห่างกันนักมีหมาป่าตัวหนึ่งอยู่สงบนิ่งนัยน์ตาจ้องเขม็งไปที่เสือ ครู่หนึ่งพระอาจารย์ดูลย์ก็ปลอบโยนเด็กชายซอมให้คลายจากความตื่นตกใจกลัว เพราะเมื่อสังเกตพิจารณาดูโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ไม่น่ากลัวแต่อย่างใด  ด้วยความสงสัยว่าเหตุใดสองสัตว์ร้ายนี้จึงมาอยู่ในที่เปลี่ยวด้วยกัน  และมีอาการนิ่งเงียบไม่ไหวติง แทนที่เจ้าสุนัขป่าจะวิ่งหนีและเจ้าเสือวิ่งไล่ตะครุบเพื่อเป็นภักษาหาร

ท่านจึงพาเด็กชายซอมเคลื่อนที่เข้าไปใกล้  แล้วชี้ให้เด็กชายซอมที่มีท่าทางดื้อดึงผิดปกติดูว่า เสือที่หมอบนิ่งบนกิ่งไม้นั้น มีท่าทางอกสั่นขวัญหาย มีขนยุ่งเหยิง หางหลุบซุกอยู่ที่ก้น แสดงว่ามันขวัญหนีดีฝ่อหมดแล้ว ไม่คิดจะทำอะไรใครอีกแล้ว
39#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนเจ้าหมาป่าที่อยู่คาคบข้างล่างนั้น สงบนิ่งอยู่ในท่ากระโจน ตาจ้องเป๋งอยู่ที่เสือตัวนั้นอย่างไม่กระพริบ ส่วนคอของมันขัดอยู่กับง่ามกิ่งไม้ที่อยู่ถัดขึ้นไป ลักษณะของมันบอกให้รู้ว่าตายสนิท

เมื่อพิจารณาดูพื้นดินโดยรอบแล้วก็สันนิษฐานได้ว่า

เมื่อคืนนี้ ขณะที่เจ้าเสือ ออกท่องเที่ยวหาอาหารอยู่ ก็ประจันหน้าเข้ากับฝูงสุนัขทันที  ฝูงสุนัขป่าที่ดุร้ายก็วิ่งไล่ล้อมขย้ำกัดอย่างชุลมุนวุ่นวาย  เจ้าเสือก็คงจะสู้สุดฤทธิ์ ระหว่างที่สู้พลางหนีพลางก็มาถึงต้นไม้พอดี  เสือก็กระโจนขึ้นไปหอบลิ้นห้อยอยู่บนนั้น

ส่วนฝูงสุนัขป่าคงห้อมล้อมกันอยู่ใต้ต้นไม้  เห่ากรรโชกใส่ บางตัวก็กระโจนขึ้นบ้าง เจ้าตัวที่ตายอยู่บนคาคบไม้นั้น อาจจะเป็นจ่าฝูงก็ได้ เพราะดูท่าจะกระโจนได้สูงกว่าเพื่อน แต่เคราะห์ร้ายที่มันกระโจนพรวดเข้าไปในง่ามกิ่งไม้พอดีในจังหวะที่มันร่วงลงมา  ส่วนศีรษะจึงถูกง่ามกิ่งขัดเอาไว้  กระชากระดูกก้านคอให้หลุดจากกัน ทำให้ถึงแก่ความตายทันที โดยที่ตาทั้งคู่ที่ฉายแววดุร้ายกระหายเลือด ยังจ้องเป๋งอยู่ที่เสือตัวนั้นอย่างชนิดมุ่งร้ายหมายขวัญ ทำให้เจ้าเสือที่เข็ดเขี้ยวมาตั้งแต่เมื่อคืน  ไม่กล้าขยับเขยื้อนหลบหนีไปจากต้นไม้นั้นเพราะเกิดอาการขวัญกระเจิง

เด็กชายซอมฟังอรรถาธิบายจากอาจารย์แล้วก็เข้าใจดี กลายเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย และหัวเราะออกมาได้เมื่อเห็นท่าทางอันน่าขันของเสือ

พระอาจารย์ดูลย์ให้เด็กชายซอมหากิ่งไม้มาแหย่ดันให้หมาป่าหลุดจากง่ามกิ่งไม้ตกลงมายังพื้น  แล้วช่วยกันตะเพิดไล่เจ้าเสือให้หลบหนีไป  เมื่อเสือเห็นเจ้าหมาป่าหล่นไปกองอยู่ที่พื้นดิน  ไม่มาจ้องขมึงทึงจะกินเลือดกินเนื้ออยู่อีก  มันก็รีบกระโจนพรวดหลบลงไปอีกด้านหนึ่ง แล้วเผ่นหนีไปอย่างรวดเร็ว
40#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๙. พระธุดงค์

ที่สัปปายะสำหรับพระธุดงค์ คือป่าเขาลำเนาไพรตลอดรวมไปถึงถ้ำต่างๆ ด้วย  พระธุดงค์จะไม่ยึดติดที่อยู่  ค่ำไหนก็นอนนั่น แต่ต้องกำหนดระยะทางเพื่อความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ เอาไว้ด้วย

พระครูนันทปัญญาภรณ์ ศิษย์ใกล้ชิดของพระอาจารย์ดูลย์  ได้กล่าวถึงการเดินธุดงค์เอาไว้อย่างน่าฟังว่า

ตามธรรมเนียมถือปฏิบัติในการเดินธุดงค์กัมมัฏฐานนั้น  เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ จนถึงหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งในระยะเวลาบ่ายมากแล้ว  ถ้าขืนเดินทางต่อไปจะต้องค่ำมืดกลางทางแน่  พระธุดงค์ก็จะกำหนดเอาหมู่บ้านที่มาถึงเป็นที่เที่ยวภิกขาจารหาอาหารในเช้าวันรุ่งขึ้น

ครั้นในระยะห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ ช่วงคันธนู หรือ ประมาณ ๑ กิโลเมตร ตามที่พระวินัยกำหนดแล้ว  ก็จะแสวงหาร่มไม้หรือสถานที่สมควรปักกลดกำหนดเป็นที่พำนักภาวนาในคืนนั้น

พอรุ่งเช้าก็จะย้อนเข้าในหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต  ชาวบ้านที่รู้ข่าวตั้งแต่เมื่อวานก็นำอาหารมาใส่บาตรตามกำลังศรัทธาและกำลังความสามารถ  ครั้นกลับถึงที่พักก็ทำการพิจารณาฉันภัตตาหาร  เสร็จแล้วจึงเดินทางต่อไป  ยกเว้นแต่จะกำหนดสถานที่นั้นพักภาวนามากกว่า ๑ คืน  ก็จะอยู่บำเพ็ญภาวนา ณ สถานที่แห่งนั้นต่อไป  ชาวบ้านที่สนใจก็อาจจะติดตามมาฟังพระธรรมเทศนาและแนวทางปฏิบัติในตอนค่ำบ้าง ในตอนเช้าหลังการบิณฑบาตบ้าง  เมื่อเป็นเช่นนี้พระธุดงค์ก็จะถามชาวบ้านถึงเส้นทางที่จะเดินทางต่อไป  เพื่อจะได้สามารถกำหนดเส้นทางและกำหนดหมู่บ้านอันเป็นที่สมควรแก่การเที่ยวภิกขาจารในวันต่อ ๆ ไปได้

นี้เป็นการเดินธุดงค์ไปตามเส้นทางธรรมดาของพระธุดงค์แท้พระธุดงค์จริงตามแบบอย่างที่พระอาจารย์มั่น และสานุศิษย์ได้ถือปฏิบัติมา

สำหรับการปักกลดนั้น ในทางปฏิบัติก็ต้องเอามุ้งกลดแขวนไว้กับเส้นเชือกที่ผูกตรึงกับต้นไม้  ไม่ใช่ปักไว้กับพื้นดิน เพราะการขุดดินหรือทำให้ดินเสียปกติสภาพของมันไป  เป็นการอาบัติโทษอย่างหนึ่ง และจะไปเที่ยวปักกลดในหมู่บ้านใกล้ในสถานที่ราชการ  ใกล้เส้นทางคมนาคม เช่น ริมถนน ริมทางรถไฟหรือที่มีคนพลุกพล่านผ่านไปมาอย่างนั้นไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย ผิดพระพุทธบัญญัติ ยกเว้นแต่ว่าถือวินัยอื่นบัญญัติอื่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ยังมีการเดินธุดงค์อีกแบบหนึ่งของธุดงค์กัมมัฏฐานแผนโบราณ เรียกได้ว่าเป็นการเดินธุดงค์ขั้นอุกฤษฏ์ของพระธุดงค์ที่ผ่านการฝึกฝนอบรมแล้ว การเดินธุดงค์แบบนี้คือ การเดินไปในป่าดงดิบในเส้นทางที่ไม่มีผู้คนไป หรือมีก็มีแต่น้อย และไม่ใช่เส้นทางสัญจรตามปกติ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้