ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 9085
ตอบกลับ: 34
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๑๐ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

[คัดลอกลิงก์]


พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
พุทธศักราช ๒๔๕๓-๒๔๖๔


วัดบวรนิเวศวิหาร
แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


หัวข้อ

• พระประวัติในเบื้องต้น
• ทรงบรรพชาและอุปสมบท
• ทรงทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ)
• ทรงกรมและเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง
• ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
• การศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาไทย
• ทรงจัดตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย
o หลักสูตรของเดิม
o หลักสูตรมหามกุฏราชวิทยาลัย
• ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย
• ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ
• ทรงอำนวยการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร
• ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์
• มหาสมณุตมาภิเษก
• ประกาศมหาสมณุตมาภิเศก
• ทรงปรับสถานภาพของคณะสงฆ์
• เสด็จตรวจการคณะสงฆ์
• ทรงปรับปรุงการพระศาสนาและการคณะสงฆ์ในด้านต่างๆ
o ในด้านการพระศาสนา
o ในด้านการคณะสงฆ์
o ในด้านการศึกษา
• การสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
• ผลงานพระนิพนธ์
• ทรงเป็นนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ของไทย
• พระกรณียกิจพิเศษ
• พระอวสานกาล
• ประวัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
• ข้อมูลพื้นฐานปัจจุบันของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 13:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)  



พระประวัติในเบื้องต้น

หลังจาก สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์ สิ้นพระชนม์
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ไม่ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช อีกจนตลอดรัชกาล
ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่เป็นเวลา ๑๑ ปี ถึงรัชกาลที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระวชิรญาณวโรรส เป็น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
กล่าวอย่างสามัญทั่วไปก็คือ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง


พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา  


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๔๗
ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
และ เจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ
ปีวอก จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๐๓
ณ ตำหนักหลัง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมุขหลัง ในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อวันประสูตินั้นฝนตกใหญ่ พระบรมชนกนาถจึงทรงถือเป็นมงคลนิมิต
พระราชทานนามว่า “พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ”
หลังจากประสูติได้เพียงปีเดียว เจ้าจอมมารดาของพระองค์ก็ถึงแก่กรรม
พระองค์จึงทรงอยู่ในความเลี้ยงดูของกรมหลวงวรเสรฐสุดา อาทิอักษรวรรคศรี
(พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓)
ซึ่งเป็นพระญาติ ทรงเรียกว่าเสด็จป้า มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
ต่อมา ทรงย้ายมาอยู่กับท้าวทรงกันดาร (ศรี) ผู้เป็นยาย

เมื่อพระชนมายุ ๘ พรรษา ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี
ทรงศึกษาอยู่จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนที่จะทรงผนวชเป็นสามเณร
และทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษกับครูฝรั่งเมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา
นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาโหราศาสตร์กับครู
ที่เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์มาแต่พระชนม์ยังน้อย

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 13:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา


ทรงบรรพชาและอุปสมบท

เมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี
ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับเจ้านายอื่นอีก ๒ พระองค์
โดยมี สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
และ หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา (มีพระนามเดิมว่า ศิขเรศ)
เป็นผู้ประทานสรณะและศีล เมื่อทรงผนวชแล้วมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๒ เดือนเศษ จึงทรงลาผนวช

ครั้นพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๒
โดยมี สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
และ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี)
วัดมกุฎกษัตริยาราม
เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ทรงได้รับพระนามฉายาว่า “มนุสฺสนาโค”
ทรงผนวชแล้วเสด็จมาอยู่จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร


เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา


ถึงหน้าเข้าพรรษาของปีพุทธศักราช ๒๔๒๒  นั้นเอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน
มาทรงถวายพุ่มพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามพระราชประเพณี
และในคราวนั้นได้เสด็จฯ ไปถวายพุ่มพรรษาแด่
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ
ซึ่งเพิ่งทรงผนวชใหม่ถึงกุฏิที่ประทับ
พร้อมทั้งทรงกราบด้วยพระอาการเคารพ

อันเป็นพระอาการที่ไม่เคยทรงปฏิบัติต่อพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์อื่นที่ทรงผนวช
เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
ทรงตัดสินพระทัยไม่ทรงลาผนวชแต่วันนั้น
ดังที่พระองค์ได้ทรงบันทึกไว้ในพระประวัติตรัสเล่าว่า
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 13:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เมื่อทรงมีพระชนมายุได้  ๑๕ พรรษา


“เสด็จกุฎีเราทรงประเคนพุ่ม เราเห็นท่านทรงกราบด้วยเคารพอย่างเป็นพระแปลก
จากพระอาการที่ทรงแสดงแก่พระองค์อื่นเพียงทรงประคอง อัญชลี
เรานึกสลดใจว่า โดยฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็เป็นเจ้าของเรา
โดยฐานเนื่องในพระราชวงศ์เดียวกัน ท่านก็เป็นพระเชฏฐะของเรา
โดยฐานเป็นผู้แนะราชการพระราชทาน ท่านก็เป็นครูของเรา

เห็นท่านทรงกราบแม้จะนึกว่าท่านทรงแสดงความเคารพแก่ธงชัยพระอรหันต์ต่างหาก
ก็ยังวางใจไม่ลง ไม่ปรารถนาจะให้เสียความวางพระราชหฤทัยของท่าน
ไม่ปรารถนาจะให้ท่านทอดพระเนตรเรา
ผู้ที่ท่านทรงกราบแล้ว ถือเพศเป็นคฤหัสถ์อีก
ตรงคำที่เขาพูดกันว่า กลัวจัญไรกิน เราตกลงใจว่าจะไม่สึกในเวลานั้น”



สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงบรรพชาและอุปสมบท  

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 13:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) พระอุปัชฌาย์
เมื่อทรงทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ) เป็นธรรมยุตอีกครั้งหนึ่ง



ทรงทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ)

หลังจากทรงจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ พรรษาแล้ว
ได้เสด็จไปจำพรรษาที่ ๒ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม
ในสำนักของพระจันทโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) ผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ในระหว่างที่ประทับ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม นั้นเอง
ได้ทรงทำ ทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ) เป็นธรรมยุตอีกครั้งหนึ่ง
ตามธรรมเนียมนิยมของพระสงฆ์ธรรมยุตในครั้งนั้น  
โดยมี พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช ฐานจาโร) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
แต่ครั้งยังเป็นพระเปรียญอยู่วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ณ โบสถ์แพ หน้าวัดราชาธิวาส เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๒


สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงฉายร่วมกับ
พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) เมื่อครั้งยังมิได้ทรงกรม



ทรงกรมและเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง


เมื่อทรงผนวชได้ ๓ พรรษา ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง
ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ห้องเขียว
ท่ามกลางประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ ๑๐ รูป
มี สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นประธาน
ทรงแปลได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค และทรงหยุดอยู่เพียงนั้น

หลังจากทรงแปลพระปริยัติธรรม ได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยคแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น
กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะรองในธรรมยุติกนิกาย
เมื่อ พ.ศ.  ๒๔๒๔ พระองค์ทรงเป็นเจ้าคณะรองในคณะธรรมยุตเป็นพระองค์แรก
และทรงเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง
ที่ทรงมีพรรษายุกาลน้อยที่สุด คือ ๓ พรรษาเท่านั้น
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 13:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พัดยศสมณศักดิ์กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะธรรมยุต



ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร

ครั้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๔
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
ขณะเมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น  ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
สืบต่อจาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
นับเป็นเจ้าอาวาสพระองค์ที่ ๓ ของวัดบวรนิเวศวิหาร

ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนพระสมณศักดิ์เป็น
สมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
นับเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตพระองค์ที่ ๒
ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตเมื่อทรงมีพรรษายุกาล ๑๕ พรรษา

เมื่อทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารแล้ว
ก็ได้ทรงเริ่มพัฒนากิจการพระศาสนา
โดยทรงเริ่มทำขึ้นภายในวัดบวรนิเวศวิหารก่อน
เป็นการทดลองเพื่อดูผลได้ผลเสีย และทรงปรับปรุงแก้ไขจนทรงเห็นว่า
มีผลดีเป็นคุณประโยชน์แก่พระศาสนาเป็นส่วนรวม
จึงทรงขยายออกในวงกว้าง กล่าวเฉพาะที่สำคัญคือ


เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
พระชนมายุได้ราว ๒๐-๒๑ พรรษา


7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 13:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาไทย

ทรงริเริ่มให้ภิกษุสามเณรที่บวชใหม่เล่าเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทย
เพื่อให้รู้จักพระพุทธศาสนาทั้งส่วนที่เป็นธรรมและวินัยในขั้นพื้นฐาน
ในชั่วระยะเวลาอันสั้น โดยพระองค์ได้ทรงสอนด้วยพระองค์เอง
มีการสอบความรู้ของภิกษุสามเณรที่เรียนด้วยวิธีสอบแบบใหม่คือวิธีเขียน

ต่อมาได้มีภิกษุสามเณร ไม่เฉพาะแต่พระใหม่เท่านั้น
ที่นิยมเล่าเรียนพระธรรมวินัยแบบใหม่ที่พระองค์ทรงจัดขึ้นนี้
และนิยมแพร่หลายออกไปถึงวัดอื่นๆ ด้วย

เมื่อทรงเห็นว่าเป็นการเล่าเรียนที่มีประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรทั่วไป
จึงได้ทรงกำหนดให้เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับคณะสงฆ์ในเวลาต่อมา
ที่เรียกว่า “นักธรรม” ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ของคณะสงฆ์สืบมาจนปัจจุบัน เป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาไทย
คู่กับการศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาบาลีที่มีมาแต่โบราณ


เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๒๓ พรรษา
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 13:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
ทรงฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม พระชนมายุได้ ๒๗ พรรษา  



ทรงจัดตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย

สำหรับเป็นสถานศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตร
เป็นการทรงริเริ่มจัดการศึกษาของภิกษุสามเณรแบบใหม่
คือ เล่าเรียนพระปริยัติธรรมประกอบกับวิชาการอื่นๆ
ที่เอื้อต่อการสั่งสอนพระพุทธศาสนา
และสอบด้วยวิธีเขียนซึ่งทรงริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก

ภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตรนี้ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งเป็นเปรียญเช่นเดียวกับผู้สอบไล่ได้ในสนามหลวงตามแบบเดิมเหมือนกัน
เรียกว่า “เปรียญมหามกุฎ”
แต่น่าเสียดายที่หลักสูตรพระปริยัติธรรมแบบมหามกุฎดังกล่าวนี้
ได้ดำเนินการอยู่เพียง ๘ ปีก็เลิกไป เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ไม่ทรงมีเวลาจะดูแลจัดการเนื่องจากทรงมีพระภารกิจอื่นในคณะสงฆ์มาก

หลักสูตรของเดิม

การศึกษาด้านพระปริยัติ  แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย
ฝ่ายไทย ๙ ชั้น
ฝ่ายรามัญ ๔ ชั้น

ฝ่ายไทย

ชั้นที่ ๑  เรียน  อรรถกถาธรรมบท
ชั้นที่ ๒ เรียน  อรรถกถาธรรมบถ
ชั้นที่ ๓  เรียน อรรกถาธรรมบท (ตั้งแต่ชั้นนี้ไป นับเป็นเปรียญ)
ชั้นที่ ๔ เรียน มังคลัตถทีปนี บั้นต้น
ชั้นที่ ๕ เรียน สารัตถะสังคะหะ
ชั้นที่ ๖ เรียน มังคลถทีปนี บั้นปลาย
ชั้นที่ ๗ เรียน  เรียน ปฐมสมันตปาสาทิกา
ชั้นที่ ๘  เรียน วิสุทธิมรรค
ชั้นที่ ๙ เรียน  สารัตถะทีปนี ฎีกาพระวินัย

ฝ่ายรามัญ

ชั้นที่ ๑ เรียน  บาลีพระวินัยมหาวิภังค์ (ปาจิตตีย์)
ชั้นที่ ๒ เรียน  บาลีพระวินัยมหาวัคค์ และจุลวัคค์
ชั้นที่ ๓ เรียน  บาลี มุคคกวินัยวินิจฉัย
ชั้นที่ ๔ เรียน  ปมสมันตปาสาทิกา

การสอบ ๓ ปี สอบครั้งหนึ่ง   
หากทางราชการมีเหตุขัดข้อง
ก็เลื่อนไปเป็น ๖ ปี สอบครั้งหนึ่ง

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 13:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลักสูตรมหามกุฏราชวิทยาลัย

ชั้นนักเรียนที่ ๓ เรียน  บาลีไวยากรณ์
ชั้นนักเรียนที่ ๒ เรียน  อรรถกถาธรรมบท  บั้นต้น ท้องนิทาน
ชั้นนักเรียนที่ ๑ เรียน แก้คาถาอรรถกถาธรรมบท บั้นปลาย
ชั้นเปรียญที่  ๓ เรียน แก้คาถาอรรถกถาธรรมบท บั้นต้น
(เปรียญตรี)
ชั้นเปรียญที่ ๒ เรียน  บาลีพระวินัยมหาวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์ และพระสูตรบางสูตร
(เปรียญโท)
ชั้นเปรียญที่ ๑ เรียน บาลีพระวินัยมหาวัคค์ และจุลวัคค์ และอภิธรรม
(เปรียญเอก)

การสอบ สอบทุกปี  แลผลของการสอบครั้งแรกใน ปี ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)
นั้นก็ปรากฏว่าได้ผลดี  คือมีนักเรียนสอบได้เกินกว่าครึ่ง
ดังที่ปรากฏตามกรายงานการสอบครั้งแรกดังนี้  

ชั้นนักเรียนที่ ๓ สอบ ๒๙  สอบได้ ๑๕  ตก ๑๔
ชั้นนักเรียนที่ ๒ สอบ ๑๐ สอบได้ ๖ ตก ๔
ชั้นนักเรียนที่ ๑ สอบ  ๔ ได้ ๑ ตก ๓



เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ราว ๓๕ พรรษา


ในส่วนการศึกษาของกุลบุตรนั้น พระองค์ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนภาษาไทย
ของมหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นตามวัดธรรมยุต เพื่อให้เป็นที่เล่าเรียนของกุลบุตร
โดยใช้หลักสูตรที่ พระองค์ทรงจัดขึ้นใหม่เรียกว่า “หลักสูตรมหามกุฎ”
เช่น โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนวัดมกุฎ เป็นต้น

การจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวนี้ขึ้นก็ด้วยทรงมีพระดำริว่าเพื่อเป็นการช่วยรัฐบาล
พระองค์ทรงพยายามพัฒนาโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฎให้เป็นโรงเรียน
“เชลยศักดิ์” คือโรงเรียนราษฎร์ แบบอยู่ประจำ เพื่อเป็นต้นแบบให้รัฐบาล
หรือเอกชนอื่นๆ ทำตาม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะขาดเงินทุนที่จะดำเนินการ
ให้เป็นไปตามพระดำริ ในที่สุดก็ต้องทรงมอบโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฎฯ
ให้กระทรวงธรรมการ คือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน
เป็นผู้ดำเนินการต่อไป ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ราว ๓๘ พรรษา พ.ศ. ๒๔๔๐

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 13:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย

เนื่องจากทรงจัดการศึกษาในมหามกุฎราชวิทยาลัยดังกล่าวมาแล้ว
จำเป็นต้องใช้หนังสือและตำราเรียนเป็นจำนวนมาก
จึงได้ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเพื่อจัดพิมพ์หนังสือและตำรับตำราต่างๆ
ให้เพียงพอแก่การใช้ศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตร
เรียกว่า “โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย”
โดยทรงใช้ แท่นพิมพ์ที่ใช้พิมพ์พระไตรปิฎก
เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ และโรงพิมพ์ก็ตั้งที่โรงพิมพ์หลังเดิม
ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น
เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
(คือตรงที่สร้างพระตำหนักเพ็ชรในบัดนี้)

แต่โรงพิมพ์ที่พระองค์ทรงจัดตั้งขึ้นดังกล่าวนี้ดำเนินกิจการอยู่เพียง ๘ ปี
ก็ต้องเลิกไปเพราะค่าโสหุ้ยสูงจนไม่อาจดำเนินการต่อไปได้
ต้องทรงกลับไปใช้วิธีจ้างโรงพิมพ์อื่นซึ่งเสียค่าโสหุ้ยน้อยกว่า




ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ

หลังจากทรงจัดตั้งสถานศึกษาคือมหามกุฎราชวิทยาลัยได้ ๑ ปี
ก็ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ เป็นนิตยสารรายเดือน
สำหรับตีพิมพ์เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา
ทั้งที่เป็นคำสั่งสอนและข่าวสารต่างๆ ออกเผยแพร่แก่ประชาชน
รวมทั้งข่าวเกี่ยวกับกิจการมหามกุฎราชวิทยาลัยด้วย

ที่สำคัญคือเพื่อเป็นสนามให้ภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียนของมหามกุฎราชวิทยาลัย
ได้ฝึกแปล แต่ง เขียน เรื่องราวทางพระพุทธศาสนาแล้วตีพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชน
ธรรมจักษุจึงเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาฉบับแรกของไทย
และมีอายุเก่าแก่ที่สุดนับจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันก็กว่า ๑๐๐ ปีแล้ว



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้