|
ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
พระมหามงกุฏ :
หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔
พระผู้ทรงเป็นที่มาแห่งนาม “มหามกุฏราชวิทยาลัย”
พระเกี้ยวประดิษฐานแบบหมอนรอง :
หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
ซึ่งทรงเป็นผู้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย
และพระราชทานทรัพย์บำรุงปีละ ๖๐ ชั่ง
หนังสือ :
หมายถึง คัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา
โดยที่มหามกุฏราชวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์และตำรา
ทางพระพุทธศาสนา สำหรับส่งเสริมการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ปากกาปากไก่ ดินสอ และม้วนกระดาษ :
หมายถึง อุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียน ตลอดถึงอุปกรณ์ในการผลิตคัมภีร์
และตำราทางพระพุทธศาสนา เพราะมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ทำหน้าที่เป็นทั้งสถานศึกษาและแหล่งผลิตตำราทางพระพุทธศาสนา
ช่อดอกไม้แย้มกลีบ ในทางการศึกษา :
หมายถึง ความเบ่งบานแห่งสติปัญญาและวิทยาความรู้
แต่ในทางพระศาสนาหมายถึง กิตติศัพท์ กิตติคุณ
ที่ฟุ้งขจรไปดุจกลิ่นแห่งดอกไม้โดยมีความหมายรวม
คือความเจริญรุ่งเรืองและเกียรติยศ อิสริยยศ บริวารยศ
พานรองรับหนังสือหรือคัมภีร์ :
หมายถึง มหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นสถาบันเพื่อความมั่นคง
และแพร่หลายของพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านการศึกษาและการเผยแผ่
วงรัศมี :
หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา
ที่บังเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมหามกุฏราชวิทยาลัย
ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ไทย
มหามกุฏราชวิทยาลัย :
หมายถึง สถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรี, โท, เอก
ปัจจุบัน คือ “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย”
วัตถุประสงค์หลัก (Objectives)
(๑) ผลิตบัณฑิตพระภิกษุ สามเณร ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ
ตามแนวพระพุทธศาสนาเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาในระดับชาติและนานาชาติ
(๒) ผลิตบัณฑิตคฤหัสถ์ทุกคน ให้เป็นคนดี คือ คิดดี พูดดี และทำดี
ตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา
(๓) บริการวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนาแก่สังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์
เป็นประจักษ์ชัดเจน ต่อสังคมไทยและสังคมโลก
(๔) ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งทางสังคมศาสตร์
และมีคุณภาพทั้งด้านความรู้และความประพฤติ
(๕) ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา
การเรียนรู้ และเป็นศูนย์กลางทางวิชาการพระพุทธศาสนาเถรวาท
(๖) ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งสมานฉันท์
ความเอื้ออาทรต่อกันและความสามัคคี โดยใช้หลักสาราณียธรรมและพรหมวิหารธรรม
(๗) สร้างระบบการบริหารองค์การให้เป็นองค์การที่มีลักษณะของความเป็น
มหาวิทยาลัยเฉพาะทางพระพุทธศาสนาและมีมาตรฐานระดับสากล
|
|