ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม ~

[คัดลอกลิงก์]
41#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประสบการณ์เดินธุดงค์

พระธุดงค์ได้ชื่อว่าเป็นเลิศในการสังเกต ท่านจะรู้ว่า สถานที่ที่ท่านอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร  ไกลหรือใกล้หมู่บ้าน หรืออยู่ในป่าลึก เป็นต้น  ทั้งนี้อาศัยประสบการณ์ของพระแต่ละรูปเป็นสำคัญ

สำหรับพระอาจารย์ดูลย์ถือได้ว่า ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์ในการเดินธุดงค์และยอดเยี่ยมในเรื่องการสังเกตอีกท่านหนึ่ง

ตามปกติหลังออกพรรษาแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์มักจะพาบรรดาคณะศิษย์ของท่านออกเดินธุดงค์ไปทางแถบชายแดนไทย กัมพูชา บริเวณ จ.สุรินทร์นั่นเอง  เพราะเป็นสถานที่อันเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นยิ่งนัก

แต่บริเวณนี้ลำบากในเรื่องอาหารการขบฉัน อันเนื่องมาจากมีบ้านเรือนราษฎรอยู่น้อย บางครั้งต้องอดอาหารเป็นเวลาหลายวันกว่าจะหาหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตได้ แต่หามีใครปริปากบ่นไม่

ครั้งหนึ่ง พระอาจารย์ดูลย์พาศิษย์ของท่านออกเดินธุดงค์ ซึ่งการจาริกธุดงค์ในครั้งนั้นมีเด็กชายซอมติดตามไปด้วย  เผอิญครั้งนี้เกิดหลงป่า ทำให้อดอาหารไปตาม ๆ กัน  เหล่าศิษย์ทั้งหิวทั้งกลัว ส่วนพระอาจารย์ดูลย์ท่านเฉย ๆ มีเพียงท่าทางที่อิดโรยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ไร้ร่องรอยบ้านเรือน ซ้ำสิ่งที่จะแทนอาหารได้ก็หาไม่พบเลย เด็กชายซอมแทบสิ้นหวัง  แต่เหมือนกับสวรรค์โปรด เมื่อได้ยินพระอาจารย์ดูลย์พูดขึ้นว่า

“ไม่ต้องกลัวแล้ว ได้กินข้าวแน่วันนี้”

ว่าแล้วพระอาจารย์ดูลย์ท่านก็เดินลิ่ว พาศิษย์บุกป่าฝ่าดงไปอย่างรวดเร็ว  แต่เดินไปเท่าไหร่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะพบบ้านเรือนผู้คน มีแต่ป่าและป่าเหมือนเดิม

เด็กชายซอมแทบหมดแรงเมื่อคิดว่าพระอาจารย์ดูลย์พูดให้กำลังใจเท่านั้น แต่ก็ทนฝืนเดินตามท่านต่อไป

จากนั้นไม่นานนักเมื่อเดินพ้นดงไม้แล้ว ภาพที่ปรากฏให้เห็นอยู่เบื้องหน้าคือกระท่อมมุงหลังคาด้วยหญ้าเก่า ๆ หลังหนึ่ง

ความรู้สึกในเวลานั้น เด็กชายซอมมองเห็นว่ากระท่อมหลังนั้นงดงามกว่าปราสาทพระราชวังใด ๆ ที่เคยเห็นมา

“พระอาจารย์ดูลย์รู้ได้อย่างไรว่ามีบ้านอยู่ตรงนี้  ท่านจึงได้มั่นใจว่าวันนี้มีข้าวกินแน่  และนำลิ่วมาถูกทางเสียด้วย” เด็กชายซอมถามขึ้นด้วยความสงสัย  หลังจากที่พากันอิ่มหนำสำราญแล้ว

คำตอบที่ได้คือ ท่านเดินป่ามามาก ก็มีประสบการณ์รู้จักสังเกตสังกา และอนุมานเอาได้ ขอให้พยายามฝึกฝนต่อไป บ่มนิสัยให้รู้จักสังเกตให้มากขึ้น ๆ แล้วก็จะรู้เรื่อง
42#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระป่า พระเมือง

ผู้เรียนเฉพาะปริยัติโดยไม่สนใจในการปฏิบัติเลยนั้น  บางครั้งเมื่อต้องอธิบายความหมายก็จะอธิบายเพียงตามตำราที่เรียนมาเท่านั้น  ออกนอกตำราแล้วไม่รู้เรื่อง  แต่ผู้ที่ทั้งปฏิบัติและทั้งได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยกัน  สามารถที่จะอธิบายความได้แจ้งตลอดทั้งสายทีเดียว

พระครูนันทปัญญาภรณ์ บันทึกเกี่ยวกับคำสนทนาของพระอาจารย์ดูลย์กับพระราชาคณะผู้เป็นพระเมือง เอาไว้เรื่องหนึ่งว่า

หลวงปู่เสร็จจากศาสนกิจในพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง ก็กลับมาพักที่พระตำหนักทรงพรต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ครั้นพอหลวงปู่สรงน้ำเสร็จแล้ว ก็เอนกายพักผ่อนอยู่ ให้ภิกษุสามเณรบำเพ็ญอาจาริยวัตร ด้วยการนวดเฟ้นพัดวีต่าง ๆ

ครั้งนั้นพระราชาคณะรูปหนึ่งก็แวะเข้ามาเยี่ยม ขอโอกาสว่าให้หลวงปู่เอนกายพักผ่อนตามสบาย เพราะประสงค์เพียงแวะมาคุยอย่างกันเอง

ในระหว่างการสนทนาด้วยเรื่องราวหลากหลายนั้น  ท่านเจ้าคุณเอ่ยขึ้นตอนหนึ่งว่า “เขาว่าคนสนใจเรียนคาถาอาคมอันศักดิ์สิทธิ์ สมัยก่อนเป็นยักษ์”

หลวงปู่ลุกขึ้นพรวดพราดกล่าวว่า  “ผมไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลยท่านเจ้าคุณ  ท่านเจ้าคุณเคยศึกษาถึงปัญจทวาราวัชชนจิตไหม”  พระราชาคณะรูปนั้นได้ยินว่าปัญจทวาราวัชชนจิตแล้วถึงกับอึ้ง ไม่คิดว่าจะมีคำถามสวนกลับมา

พระอาจารย์ดูลย์กล่าวต่อไปว่า  

“ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้ คือกิริยาจิตที่แฝงอยู่กับทวารทั้ง ๕ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกิริยาจิตที่ทำหน้าที่ประจำรูปกาย อาศัยอยู่ตามทวารทั้ง ๕ เป็นทางที่ติดต่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างจิตกับสิ่งภายนอกหรืออารมณ์ภายนอก  เป็นกิริยาจิตที่มีอยู่อย่างนั้น เป็นอยู่อย่างนั้น ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ให้เป็นไปไม่ได้  แต่อาจเป็นพาหะให้ทุกข์เกิดได้  และที่น่าตื่นใจก็คือ ให้กิริยาจิตเหล่านี้เป็นไปโดยประการที่ทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้ก็ได้

อันนี้แหละที่น่าสนใจ น่าสำเหนียกศึกษาที่สุด ว่าทำอย่างไรเมื่อตาเห็นรูปแล้ว รู้ว่าสวยงามหรือน่ารังเกียจอย่างไร  แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อหูได้ยินเสียงรู้ว่าไพเราะหรือน่ารำคาญแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้  เมื่อลิ้นได้ลิ้มรสรู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไรแล้วก็หยุดเพียงเท่านี้  เมื่อจมูกได้กลิ่นหอมหรือเหม็นอย่างไรแล้วก็หยุดเพียงเท่านี้  เมื่อกายสัมผัสโผฏฐัพพะรู้ว่าอ่อนแข็งอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้  ครั้นเมื่อศึกษาถึงขั้นนี้แล้วก็จะปรากฏเหตุอันน่าอัศจรรย์ที่เรียกว่า หัสสิตุปปาทะ คือกิริยาที่จิตยิ้มขึ้นมาเองโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ  หาสาเหตุที่มาไม่ได้  อันหัสสิตุปปาทะหรือกิริยาที่จิตยิ้มเองนี่ ย่อมไม่มีปรากฏมีในสามัญชนโดยทั่วไป
43#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ดังนั้น นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายควรกระทำไว้ในใจ ในอันที่จะสำเหนียกศึกษา  ทำความกระจ่างแจ้งในอเหตุกจิตอันนี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า เมื่อปฏิบัติไปถึงลำดับนี้แล้ว  จิตจะเกิดยิ้มขึ้นมาเอง ไม่มีการกระทำ ไม่มีการบังคับให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปเองโดยไม่รู้ตัว

อนึ่ง เมื่อปฏิบัติตามหลัก “จิตเป็นจิต” อันมีการ “หยุดคิดหยุดนึก” เป็นลักษณะ  ถ้าใช้ปัญญาอันยิ่งสอดส่องสำรวจตรวจตราดูตามทวารทั้ง ๕ เหล่านี้เพื่อจะหาวิธีป้องกันการที่จิตจะแล่นไปหาเรื่องใส่ตัวในภายนอก  ก็จะเห็นและเข้าใจได้ว่าเป็นธรรมดาอยู่เองที่คนเราจำเป็นจะต้องใช้ทวารทั้ง ๕ เหล่านั้น  กระทำการอันสัมพันธ์กับภายนอก

เมื่อพิจารณาให้ถ้วนถี่ยิ่งขึ้นก็จะได้อุบายอันแยบคาย  ว่าในขณะที่เกิดสัมพันธภาพกับภายนอก จิตก็ควรจะกำหนดให้อยู่ในจิต  เมื่อเห็นก็กำหนดให้รู้เท่าทันการเห็น แต่ไม่ถึงกับต้องรำพึงรำพันออกมาว่า เห็นแล้วนะ เห็นแล้วหนออะไรดอก  เพราะขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้น  มันไม่กินเวลาอะไร ๆ เมื่อรู้เท่าทันแล้วก็ไม่ต้องไปรำพึงรำพันการปรุงแต่งเพิ่มเติมอีก

ในการกำหนดรู้ให้เท่าทันนั้น  อย่าได้ถูกลวงด้วยสัญญาแห่งภาษาคน ภาษาโลก  ดังเช่นการรู้เท่าทันคนที่จะมาหลอกลวงเรา เป็นต้น  การรู้เท่าทันอารมณ์ในภาษาธรรมนั้นหมายความว่า  ความรู้จะต้องทัน ๆ กันกับการรับอารมณ์ของทวารทั้ง ๕ เช่น ในขณะที่ตาเห็นรูป  จะต้องมีสติรู้อยู่อย่างเต็มที่สมบูรณ์ มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา  โดยไม่จำเป็นต้องรู้อะไร เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกข์อันอาศัยปัจจัยคือการเห็นเป็นต้นนั้น ย่อมไม่เกิด และเราก็จะสามารถมองอะไรได้อย่างอิสระเสรี  โดยที่รูปหรือสิ่งที่เรามองเห็น  ไม่อาจมีอิทธิพลอันใดเหนือเราได้เลยแม้แต่น้อย

ปัญจทวาราวัชชนจิตหรือกิริยาจิตที่แล่นอยู่ตามทวารทั้ง ๕ ย่อมสัมพันธ์กันกับมโนทวาร  ในมโนทวารนั้นมีมโนทวารวัชชนจิต  อันเป็นกิริยาจิตที่แฝงอยู่ มีหน้าที่คิดนึกต่าง ๆ สนองตอบอารมณ์ที่มากระทบไปตามธรรมดา

ดังนั้นในทางปฏิบัติจะให้หยุดคิดหยุดนึกทุกกรณีย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ด้วยการอาศัยอุบายวีดังกล่าวแล้วนี้แหละ  เมื่อจิตตริความนึกคิดอันใดออกมาทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว  ก็ทำความกำหนดรู้พร้อมในเท่าทันกัน  เช่นเดียวกันเมื่อความรู้พร้อมทัน ๆ กันกับอารมณ์ดังนี้แล้ว  ปัญญาที่รู้เท่าเอาทันย่อมตัดวัฏฏจักรให้ขาดออกจากกัน  ไม่อาจจะเกิดสืบเนื่องหมุนเวียนต่อไปได้  กล่าวคือการก่อรูปก่อร่างต่อไปของจิต ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ และความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็มีอยู่เองโดยไม่ต้องมีอาการลวง ๆ ว่า  ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเลย ความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เป็นแต่เพียงชื่อที่เรานำมาใช้เรียกขานกันให้รู้เรื่อง เมื่อวัฏฏะมันขาดไปเท่านั้น

โดยนัยนี่จึงน่าจะศึกษาให้เข้าใจในอันที่จะกำหนดรู้อย่างไรจึงจะถูกต้อง  เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ภายนอกอย่างไร  ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น อย่าไปทะเลาะวิวาท โต้แย้ง อย่าไปเอออวย เห็นดีเห็นงาม ให้จิตได้โอกาสก่อรูปก่อร่างเป็นตุเป็นตะเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวต่อไป  อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกันเพียงรู้อารมณ์เท่านี้ หยุดกันเพียงเท่านี้

นี่แหละ ทฤษฎีกับปฏิบัติ ต่างกันด้วยประการฉะนี้แล
44#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระปรมาจารย์

บรรดาพระนักปฏิบัติหรือพระป่า ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ พระอาจารย์ดูลย์กล่าวถึงท่านเหล่านั้นให้พระครูนันทปัญญาภรณ์  ศิษย์ใกล้ชิดของท่านฟังว่า

“ถ้าจะพูดในแง่ธุดงค์แล้ว ท่านอาจารย์ใหญ่ (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) จะถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดที่สุด ยืนยันได้เลยว่าลูกศิษย์ของท่านทั้งหมด ตั้งแต่รุ่นโน้นมาจนถึงรุ่นปัจจุบันนี้  ยังไม่มีผู้ใดถือได้เท่าเทียมกับท่านอาจารย์ใหญ่เลยแม้แต่องค์เดียว

ท่านพระปรมาจารย์ หรือท่านอาจารย์ใหญ่ของพระอาจารย์ดูลย์นั้น จะไม่ยอมใช้ผ้าสบงจีวรสำเร็จรูป หรือคหบดีจีวรที่มีผู้ซื้อจากท้องตลาดมาถวาย  นอกจากได้ผ้ามาเองแล้วมาตัดเย็บย้อมเองทั้งหมดจึงใช้ และไม่เคยดำริหรือริเริ่มให้ใครคนใดคนหนึ่งสร้างวัดสร้างวาเลย  มีแต่สัญจรไปเรื่อย ๆ เมื่อเห็นว่าป่าตรงไหนเหมาะสมท่านก็อยู่  เริ่มด้วยการปักกลด แล้วทำที่สำหรับเดินจงกรม  ส่วนญาติโยมผู้มีศรัทธาเลื่อมใส  เมื่อมาพบและมองเห็นความเหมาะสมสำคัญก็จะสร้างกุฎิเล็กกุฎิน้อย สร้างศาลาชั่วคราวถวายท่าน  จากนั้นสถานที่นั้นก็กลายเป็นวัดป่า เจริญรุ่งเรืองต่อมา ยิ่งกว่านั้น แม้แต่การรับกฐินท่านก็ไม่เคย  สมัยต่อมานั่นไม่ทราบ และท่านไม่เคยถือเอาประโยชน์ที่ได้รับอานิสงส์พรรษาตามพระพุทธบัญญัติ  ที่อนุญาตให้แก่ภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาตลอดสามเดือนได้รับการยกเว้น  บางอย่างในการปฏิบัติท่านจะถือสิกขาบทโดยตลอด ไม่เคยงดเว้น ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎของธุดงควัตรโดยสม่ำเสมอ

ด้านอาหารการฉันก็เช่นเดียวกัน ท่านถือการบิณฑบาตโปรดสัตว์เป็นประจำ ไม่เคยขาด แม้จะเจ็บไข้ได้ป่วยแต่พอเดินได้ ท่านก็เดิน จนกระทั่งในที่สุดเมื่อเดินไปบิณฑบาตไม่ได้ ท่านก็จะยืนแล้วอุ้มบาตร  ศิษยานุศิษย์ที่กลับมาจากบิณฑบาตและญาติโยมก็มาใส่บาตรให้ท่าน  แล้วท่านก็จะขบฉันเฉพาะอาหารที่อยู่ในบาตรเท่านั้น

แม้เมื่อเวลาท่านชราภาพมากแล้ว  เวลาท่านเจ็บไข้หรือป่วยมากจนไม่อาจเดินออกนอกวัดได้ ก็ทราบว่าท่านเป็นอยู่อย่างนี้ และยังฉันอาหารมื้อเดียวตลอด แม้แต่หยูกยาคิลานเภสัชต่าง ๆ ที่ใช้ในยามเจ็บไข้  ท่านอาจารย์ใหญ่ก็ไม่นิยมใช้ยาสำเร็จรูป หรือแม้แต่ยาตำราหลวง หากแต่พยายามใช้สมุนไพรตัวยาต่าง ๆ มาทำเอง ผสมเองเป็นประจำ

แม้แต่การเข้าไปพักก็นิยมพักวัดที่เป็นป่า  จำได้ว่าท่านไม่เคยเข้าไปอยู่ในวัดบ้านเลย แต่จะอยู่วัดที่เป็นป่าหรือชายป่า  เมื่อไม่มีวัดเช่นนี้อยู่ ท่านก็จะหลีกเร้นอยู่ตามชายป่า แม้ว่าจะมีความจำเป็นเวลาเดินทาง ก็ยากนักที่จะเข้าไปอาศัยวัดวาในบ้าน
45#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านอาจารย์ใหญ่สั่งสอนไว้ว่า

การฉันอาหารต้องฉันอย่าประหยัด มีสติสัมปชัญญะ เพื่อขัดเกลาจิตใจมิให้เกิดความโลภ

วิธีการฉันนั้น เมื่อรับข้าวสุกมากะว่าพออิ่มสำหรับตนแล้ว ให้แบ่งข้าวสุกที่ตนพออิ่มนั้นออกเป็น ๔ ส่วน เอาออกเสียส่วนหนึ่ง แล้วจึงรับเอากับข้าวมาในปริมาณที่เท่ากับส่วนหนึ่งที่เอาออกไป

กล่าวคือ ให้มีข้าว ๓ ส่วน กับข้าว ๑ ส่วน แล้วจึงลงมือฉัน ท่านอาจารย์ใหญ่เองก็จะฉันภัตตาหารในลักษณะเช่นนี้โดยตลอด  เมื่อมีผู้ใดจะตระเตรียมภัตตาหารในบาตรถวายท่าน  ท่านอาจารย์ใหญ่ก็จะแนะนำให้จัดแจงมาในลักษณะเช่นนี้ แล้วจึงฉัน

สำหรับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร นั้น พระอาจารย์ดูลย์กล่าวถึงว่า

“ท่านอาจารย์ฝั้นนั้น มีพลังจิตสูงมาก น่าอัศจรรย์ ในด้านการธุดงค์กัมมัฏฐานหรือการปฏิบัติของท่าน ท่านเป็นนักต่อสู้และเอาชีวิตเข้าแลกทีเดียวต่อการปฏิบัติ

ดังนั้นในระยะหลังจึงมีคนนับถือท่านมาก  มีผู้สนใจการปฏิบัติมาหาท่านมาก  เมื่อมีคนมาหาท่านมาก ท่านมีเมตตาต้องรับแขกมาก คนเหล่านั้นไม่รู้หรอกว่าได้ทำความลำบากแก่ขันธ์ของท่านเพียงไร

ตัวเรานี้ถ้ามีแขกมากหรือทำอะไรมาก ๆ อย่างท่านอาจารย์ฝั้นแล้ว  ก็จะไม่มีอายุยืนนานถึงขนาดนี้ดอก  แต่ก็เป็นธรรมดาสำหรับนักปฏิบัติระดับนี้  ที่จะต้องเอื้อเฟื้อต่อสรรพสัตว์ เพราะตนเองก็ไม่ห่วงสังขารอะไรอยู่แล้ว”
46#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๐. ปูชนียบุคคล

ตั้งแต่เข้าสู่ร่มเงาผ้ากาสาวพัตร์จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพนั้น  พระอาจารย์ดูลย์ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด

พระอาจารย์ดูลย์มีวัตรปฏิปทาที่ถูกต้อง งดงาม มั่นคง ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ กำลังความสามารถในการบริหารพระศาสนา ท่านมุ่งมั่นแต่ในทางพระศาสนา  แต่กิจวัตรส่วนตัวของท่าน ไม่เคยบกพร่องแต่ประการใดเลย เคยประพฤติปฏิบัติอย่างไร  ท่านก็คงยึดปฏิปทาปฏิบัติอยู่อย่างนั้นสม่ำเสมอ

ด้วยวัตรปฏิปทาของพระอาจาย์ดูลย์ดังกล่าว  ทำให้ท่านเป็นพระเถระที่มีผู้เคารพนับถือและเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก  ทั้งใน จ.สุรินทร์และจังหวัดที่อยู่ในภาคอีสาน  ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาทุกสาขาอาชีพอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ  จึงนับว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง
47#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นิสสัย ๔

ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกว่า นิสสัย มี ๔ อย่างได้แก่

๑. เพียรบิณฑบาต  ๒. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล  ๓. อยู่โคนไม้  ๔. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า

พระอาจารย์ดูลย์ถือนิสสัยอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะการบิณฑบาตนั้น ท่านไม่เคยขาด แต่เมื่อท่านชราภาพลงมากแล้ว ทำให้การเดินบิณฑบาตทำได้ไม่สะดวก  ท่านจึงบิณฑบาตภายในวัด โดยให้พระเณรนำอาหารที่บิณฑบาตได้นำมาตักใส่บาตรของท่านที่ตั้งไว้หน้ากุฏิ

พระอาจารย์ดูลย์ไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับอาหาร ท่านไม่เคยวิจารณ์เกี่ยวกับรสชาติอาหารให้ผู้ใดฟังเลย  ได้มาอย่างไรก็ฉันไปอย่างนั้น จะประณีตหรือไม่ก็ตาม  เพราะท่านถือว่าอาหารบิณฑบาตเหล่านั้น  เขาถวายท่านด้วยศรัทธาและท่านเป็นศิษย์ตถาคต  อาศัยชาวบ้านเป็นอยู่ ต้องอยู่ง่ายกินง่าย ไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

ครั้งหนึ่ง พระครูนันทปัญญาภรณ์มีความคิดว่า พระและฆราวาสผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  คงจะตัดความยินดีในรสอาหารและไม่ยินร้ายในรสอาหารได้  จึงได้เข้าไปหาพระอาจารย์ดูลย์ บอกถึงความคิดของตน และได้เรียนถามท่านว่า ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว  สามารถตัดความยินดีในรสอาหารได้จริงหรือไม่

พระอาจารย์ดูลย์ตอบว่า “เข้าใจถูกครึ่งหนึ่ง เข้าใจผิดครึ่งหนึ่ง แต่ก็เป็นการดีแล้วแล้วที่มาพบเพื่อพยายามทำความเข้าใจ  ที่ว่าเข้าใจถูกนั้นก็คือท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว  สามารถตัดความยินดีในรสอาหารได้จริง ที่ว่าผิดนั้นก็เพราะท่านมีความรู้สึกรับรู้รสของอาหารได้เป็นอย่างดี ดีผิดจากคนธรรมดาสามัญ  ทั้งนี้เนื่องจากธาตุขันธ์ของท่านบริสุทธิ์หมดจดแล้ว  ด้วยการชำระล้างแห่งธรรมอันยิ่ง  ประสาทรับรู้รสอันประกอบด้วยเส้นตั้งพัน ตามที่ปรากฏในพระธรรมบทขุททกนิกาย  ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่รับรู้รสของตน ๆ ได้อย่างอิสระเต็มที่เต็มทางตามความสามารถแห่งคุณสมบัติของตน  จึงรู้รสชาติต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนละเอียดลออ ไม่ขาดไปแม้แต่รสเดียวและแต่ละรสมีรสชาติขนาดไหนก็รู้สึกได้  เสียแต่ว่าไม่มีคำพูดหรือภาษาที่บัญญัติไว้ให้พออธิบายให้เข้าใจได้เท่านั้นเอง  ซึ่งด้วยภูมิธรรมของปุถุชนสามัญธรรมดา  หากสามารถรับรู้รสชาติเห็นปานนี้ได้  น่าที่จะต้องเกิดคลั่งไคล้ใหลหลงอย่างแน่นอน

ดังนั้น ไม่ว่าอาหารนั้นจะได้รับการปรุงแต่งให้มีรสชาติมากหรือรสชาติน้อยอย่างไร  รสชาติบรรดาที่มีอยู่ในตัวอาหารนั้น ๆ  ท่านที่ปฏิบัติชอบแล้วก็สามารถรับรู้ได้จนครบถ้วนทุกรส  แต่เมื่อรับรู้แล้วก็หมดกันแค่นั้น ไม่เกิดความยินดีพอใจสืบเนื่องต่อไป”
48#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จริยาวัตร

ตั้งแต่หนุ่มจนกระทั่งท่านชราภาพ  กิจทุกอย่างท่านมักจะทำด้วยตัวท่านเอง  ไม่ชอบที่จะให้คนมารับใช้หรือเอาใจท่านมากนัก  พระครูนันทปัญญาภรณ์ได้สรุปจริยาวัตรของพระอาจารย์ดูลย์ในเรื่องนี้ไว้เป็นบันทึกของท่านว่า

“ประการแรกหลวงปู่ท่านเป็นคนที่ไม่มีมายา ไม่มีการวางมาด นั่งอย่างนั้น ยืนอย่างนี้ พูดอย่างนี้ เดินอย่างนั้น อะไรทำนองที่ทึกทักเอาด้วยตนเองว่า  ทำให้เกิดความภูมิฐาน น่าเลื่อมใส นับถือ หรือยำเกรงบุญญาธิการ เวลาจะพูดก็ไม่ทำสุ้มเสียงให้ห้าวกระหึ่มผิดปกติให้น่าเกรงขาม ทำตนเป็นคนที่ใคร ๆ เอาใจยากหน่อย ไม่งั้นมันจะดูเป็นคนธรรมดาสามัญจนเกินไป  ท่านจะทำอะไรก็ทำโดยกิริยา พูดโดยกิริยา ไม่ทำให้ใครลำบากโดยใช่เหตุ ไม่พูดให้ใครอึดอัดใจ เพียงเพื่อจะสนองตัณหา หรือปมด้อย หรืออัสมิมานะ (การถือเขาถือเรา) อะไรบางอย่าง

ประการที่สองหลวงปู่ท่านเป็นคนเข้มแข็ง  คนที่เข้มแข็งย่อมไม่นิยมการพึ่งพาผู้อื่นเป็นธรรมดา โดยเฉพาะในกิจที่เล็ก ๆ น้อย ๆ

คนอ่อนแอเท่านั้นที่คอยแต่จะอาศัยผู้อื่นโดยไม่จำเป็น เด็กที่อ่อนแอย่อมคอยแต่จะออดอ้อนมารดา  โยกเยกโยเยด้วยอาการต่าง ๆ เป็นอาจิณ  ผู้ใหญ่ที่อ่อนแอก็ฉันนั้น อยู่ก็ยาก กินก็ลำบาก งอแง หงุดหงิด เจ้าโทสะ ต้องมีคนคอยเอาอกเอาใจอยู่ตลอดเวลาเหมือนเด็กอ่อนที่ขี้โรค

แต่หลวงปู่ท่านเป็นคนที่หาความอ่อนแอไม่พบ  เป็นผู้ที่มีความสง่าผ่าเผยโดยไม่ต้องวางมาด ทุกอิริยาบถของท่าน อวัยวะทุกส่วนเคลื่อนไหวตัวเองตามหน้าที่อย่างอิสระ  ปราศจากการควบคุมบรรจงจัดให้น่าประทับใจแต่อย่างใดไม่เคยนั่งตัวงอ  หรือเอนกายในที่สาธารณสถาน ไม่เอนกายเอกเขนก หรือนอนรับคารวะจากสหธรรมิก แม้สามเณรที่เพิ่งบวชในวันนั้น

บางครั้งเราจะเห็นภาพที่ผู้มองอดขำเสียมิได้ คือเมื่อท่านมีอายุมากกว่า ๙๐ ปีแล้ว ญาติโยมก็มีจิตศรัทธาซื้อหาไม้เท้ามาถวายให้ท่านได้ใช้เป็นเครื่องพยุงกาย  ท่านก็ฉลองศรัทธาญาติโยมด้วยการนำไม้เท้านั้นติดตัวไปไหนมาไหนด้วย  แต่กลับไม่ค่อยได้ใช้ไม้เท้าค้ำยันกายเลย

จึงเกิดภาพที่น่าขันที่เห็นท่านนำไม้เท้าไปในลักษณะที่ถือไปทุกครั้ง  ทำให้มองดูกลับกลายเป็นว่า  หลวงปู่ไม่ได้พึ่งพาอาศัยไม้เท้านั้น แต่ไม้เท้านั้นกลับต้องพึ่งพาให้หลวงปู่พาไป
49#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้ไม่หวั่นไหว

ปฏิปทาที่น่าเลื่อมใสของพระอาจารย์ดูลย์อีกข้อหนึ่งนั้นคือ  ความเป็นผู้เยือกเย็น ไม่หวั่นไหว คงเพราะท่านได้จากการออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมนั่นเอง

มีเรื่องเล่าถึงปฏิปทาของพระอาจารย์ดูลย์โดยศิษย์ของท่านในเรื่องนี้ไว้ว่า

“ครั้งนั้น ๔๐ ปีกว่าล่วงมาแล้ว เกิดมหันตภัยรายแรงที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์  คือเกิดเหตุการณ์อีคคีภัยครั้งใหญ่ในตลาดจังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านชาวเมืองเรียกไฟไหม้ครั้งนั้นว่า “ไฟบรรลัยกัลป์” เพราะเป็นการลุกไหม้เผาผลาญอย่างวินาศสันตะโรจริง ๆ

ไฟเริ่มไหม้ที่ใจกลางเมืองพอดี  แล้วลุกลามขยายออกไปเป็นวงกลมรอบทิศ  หน่วยดับเพลิงต่างสิ้นหวังและหมดปัญญาจะสกัดไฟได้  สามารถป้องกันได้เพียงบางจุดเท่านั้น ในส่วนอื่น ๆ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม  เป็นที่แน่ชัดว่าแทบทั้งเมืองจะต้องราพณาสูญไปด้วยฤทธิ์พระเพลิงอย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งในวัดและบริเวณใกล้เคียงนั้น  เกิดความโกลาหลทั่วไปหมด ชาวบ้านวิ่งกันสับสนอลหม่าน คนจำนวนมากวิ่งหนีเข้ามาหวังจะพึ่งวัด หอบลูกจูงหลานแบกข้าวของกันอึงคะนึง  พระเณรชีต่างก็อกสั่นขวัญหนี  เพราะทั้งกุฏิเสนาสนะต่าง ๆ ในวัดและอาคารบ้านเรือนรอบ ๆ วัดล้วนเป็นไม้เก่าแก่  นับว่าเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ต่างไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะไฟแลบลุกไหม้เข้ามา  และจะต้องเข้าถึงวัดอย่างไม่ต้องสงสัย ความสับสนอลหม่านในวัดได้เกิดขึ้น  จนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ทั้งชาวบ้านที่วิ่งชนพระเณรชี และวิ่งชนข้าวของกันดูชุลมุนวุ่นวายไปหมด

พระเณรจำนวนหนึ่งกรูกันขึ้นไปบนกุฏิหลวงปู่  เห็นท่านนั่งจิบน้ำชาอยู่ด้วยสีหน้าปกติ  ต่างก็ลนลานขอโอกาสท่านเพื่อขนของหนีไฟ  หลวงปู่ห้ามว่า “ไม่จำเป็น” ไฟโหมลุกไหม้ใกล้วัดเข้ามาทุกที  และอีกไม่กี่คูหาก็จะถึงวัดแล้ว  พระเณรกรูกันลงมาจากกุฏิหลวงปู่ วิ่งไปด้านหลังมณฑปหลวงพ่อพระชีว์  เห็นเปลวไฟลามใกล้เข้ามาจะถึงวัดแล้ว  จึงพากันวิ่งกรูขึ้นไปบนกุฏิหลวงพ่อเพื่อช่วยกันขนย้ายอีก  หลวงปู่ยังนั่งอยู่ที่เดิมแล้วห้ามไว้ด้วยอาการสงบเย็นว่า “ไม่จำเป็น”

ทันใดนั้นขณะไฟลุกลามมาติดเขตวัด  สุดยอดแห่งความบังเอิญที่เกิดขึ้น เกิดมีลมกรรโชกขึ้นมาอย่างแรง  พัดกระพือจากทิศตะวันออกอันเป็นเขตวัดตลบกลับไปทางทิศตะวันตกอันเป็นเขตภายนอกวัด  พัดเปลวไฟกลับไปสู่บริเวณที่ลุกไหม้อยู่ก่อน จนกระทั่งมอดไหม้สงบไปในที่สุด  มหันตภัยครั้งนั้นก็สิ้นสุดลงด้วยความสูญเสียครั้งร้ายแรงของชาวบ้านร้านตลาดในจังหวัดสุรินทร์ ทุกคนภายในวัดต่างก็เหนื่อยอ่อนกันถ้วนทั่ว”
50#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บริสุทธิ์ทั้งกายวาจาใจ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนพระสงฆ์สาวกของพระองค์ว่า  ควรจะพูดถ้อยคำที่ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ เป็นเรื่องจริง มีประโยชน์ ผู้ฟังพอใจ และถูกต้องเหมาะกับเวลา และสถานที่ จะขาดองค์หนึ่งองค์ใดไม่ได้

พระอาจารย์ดูลย์เป็นผู้ที่มีความสะอาดทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ท่านรักษาความสะอาดของร่างกายเป็นอย่างดี  เครื่องนุ่มห่มสะอาดสะอ้าน เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย พอเช้าขึ้นก็ต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อยตามแบบพระกัมมัฏฐาน

ท่านสอนศิษย์อยู่เสมอว่า “เมื่อฝึกให้เคยชินการรักษาความสะอาดและทนความสกปรกไม่ได้เป็นนิสัยแล้ว  นิสัยนี้จะแฝงฝังอยู่ในใจ เมื่อใดเกิดกิเลสตัณหาอันเป็นความสกปรกทางใจเกิดขึ้น  มันก็จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน  เพราะใจจะทนไม่ได้ไปเอง อดที่จะกำจัดขัดเกลาทิ้งเสียไม่ได้”

ในเรื่องของวาจานั้น ท่านเป็นคนพูดน้อย แต่คำพูดเหล่านั้นมักจะรวบรัดหมดจดชัดเจน  แต่ก็มีความหมายลึกซึ้ง เป็นถ้อยคำที่ไม่ผิดพลาดจากความเป็นจริง ถูกกาลเทศะ ตรงต่อพระธรรมวินัย ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน และผู้อื่นทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนา พูดตามความจำเป็นตามเหตุการณ์

คำพูดแต่ละคำของท่านนั้น  ไม่มีมายาเจือปนแม้แต่น้อย ไม่พูดพร่ำเพรื่อเพ้อเจ้อ ไม่พูดตลกคะนอง  ไม่พูดหรือปลอบโยนเอาอกเอาใจ หรือพูดจากเพื่อเลียบเคียงหวังประโยชน์แต่ประการใด

เมื่อมีเหตุการณ์อะไรไม่สมควรที่ลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติ  ท่านจะพูดเพียงครั้งเดียวแล้วก็หยุด  ไม่พูดพร่ำเพรื่อ หรือเมื่อจำเป็นต้องปรามให้หยุดการกระทำนั้น ก็จะปรามครั้งเดียวไม่มีอะไรต่อ  คือจะมีอะไรที่แรงออกมาค่ำหนึ่งแล้วท่านก็สงบระงับไปอย่างรวดเร็ว

แต่เมื่อมีอะไรที่น่าพอใจ น่าขัน ก็จะหัวเราะออกมาในวาระแรกแล้ว ต่อไปก็ยิ้มๆ และเป็นยิ้มที่สะอาดหมดจด เป็นปกติ จริงใจ

บุคลิกที่มีประจำตัวอีกอย่างของพระอาจารย์ดูลย์ประการหนึ่ง ก็คือเมื่อเวลาสนทนากัน ท่าจะไม่มองหน้าใครตรง ๆ จะมองเพียงครั้งแรกที่พบ  จากนั้นท่านก็จะทอดสายตาลงต่ำ นาน ๆ ครั้งจึงจะหันหรือเงยหน้าขึ้นมองบ้างเมื่อจำเป็น  แม้แต่เมื่อพูดกับสมณะด้วยกัน ท่านก็ปฏิบัติเช่นนี้

ด้านจิตใจของท่านนั้น นับว่าเป็นแบบฉบับของบุคคลที่เขาเรียกกันว่า เป็นผู้มีจิตใจสะอาด บริสุทธิ์ เป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพบูชาอย่างแท้จริง ไม่มีเล่นแง่แสนงอน หรือเอาเหลี่ยมเอาเชิงกับใคร  ท่านไม่มีทิฏฐิมานะถือว่าตนเองเป็นใหญ่กว่า  ผู้น้อยจะมาล้ำหน้าก้ำเกินไม่ได้ แม้จะไม่เจตนาก็ตาม ท่านไม่เคยมีจิตใจถือโทษเลย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้