ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก
เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด
เข้าสู่ระบบ
บ้านหลวงปู่
คศช.
ข่าวสารล่าสุด
ประสบการณ์
โชว์วัตถุมงคล
สอบถาม
นานาสาระ
นครนาคราช
ร่วมประมูล
บูชาวัตถุมงคล
เพื่อน
กระทู้แนะนำ
บุ๊คมาร์ก
ไอเท็ม
เหรียญ
ภารกิจ
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
ดูบริการทั้งหมด
เว็บบอร์ด
BBS
บูชาวัตถุมงคลหลวงปู่ชื่น
ศรีสุทธรรมนาคราช
ร้านจอมพระ
ศูนย์พระเครื่องจอมพระ
ค้นหา
ค้นหา
HOT TAG:
พระศรีราม
ขุนแผนแสนตรีเวทย์
พระเจ้าชัยวรมัน
บอร์ดนี้
บทความ
เนื้อหา
สมาชิก
Baan Jompra
›
นานาสาระ
›
ตำนานพระเกจิอาจารย์แห่งแดนสยาม
»
~ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม ~
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
... 18
/ 18 หน้า
ถัดไป
กลับไป
ตั้งกระทู้ใหม่
เจ้าของ: kit007
~ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม ~
[คัดลอกลิงก์]
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
21
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-3-24 18:02
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้นำทางการปฏิบัติ
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ภายหลังจากที่พระอาจารย์ดูลย์จาริกออกจากวัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อม จ.สกลนครแล้ว พระอาจารย์ดูลย์ได้พาภิกษุสามเณรวัดม่วงไข่รวมทั้งพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อติดตามค้นหาพระอาจารย์มั่น
การเดินทางครั้งนั้นไม่มีกำหนดการที่แน่นอน บางแห่งก็หยุดพัก ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ตามความเหมาะสมในการปรารภความเพียรของแต่ละสถานที่
การจาริกธุดงค์ครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญอย่างยิ่งของพระอาจารย์ดูลย์ เนื่องจากท่านได้เป็นผู้นำทางการปฏิบัติของพระเณรที่ติดตามมาจากวัดม่วงไข่ โดยทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง และคอยแนะนำพระเณรทั้งหลายให้บำเพ็ญไปในแนวทางของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งพระเณรทุกรูปต่างก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระอาจารย์ดูลย์อย่างเคร่งครัด และด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ทำให้ต่างก็ได้รับผลแห่งการปฏิบัติโดยทั่วกัน
ค้นพบความจริงอันประเสริฐ
เมื่อจำพรรษาตามสถานที่ที่ผ่านมาในเวลาอันเหมาะสมแล้ว พระอาจารย์ดูลย์ได้นำพระภิกษุสามเณรจาริกมุ่งหน้าไปยัง จ.นครพนม จนถึงถ้ำพระเวสสันดรซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ใน อ.นาแก จ.นครพนม และได้พำนักบำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ ถ้ำพระเวสสันดร ตลอดฤดูแล้งนั้น
ขณะพำนักอยู่ที่ถ้ำพระเวสสันดรนั้น ท่านและคณะติดตามได้บำเพ็ญเพียรอย่างจริงจัง โดยเฉพาะตัวท่านเองได้ทบทวนถึงคำสอนของพระอาจารย์อยู่เป็นประจำ จนในที่สุดก็ค้นพบอริยสัจ อันเป็นธรรมะหมวดแรกที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ซึ่งเป็นหัวข้อธรรมอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา และสามารถอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้งอีกด้วย
ภายหลังท่านได้กล่าวถึงการบำเพ็ญเพียรในครั้งนั้นว่า ท่านได้ตริตรองพิจารณาตามหัวข้อของกัมมัฏฐานที่ได้รับจากพระอาจารย์มั่นที่บอกว่า สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญฺญา ก็บังเกิดความสว่างไสวรู้แจ้งตลอดว่า
เมื่อสังขารดับไปแล้ว ความเป็นตัวตนจักมีไม่ได้ เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป และสภาพแห่งความเป็นตัวตนไม่มีความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใครได้อย่างไร และยังค้นพบธรรมะที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ตลอดจนรู้ซึ้งถึงแก่นแท้ของหลักธรรมทั้งหลาย จนจับใจความอริยสัจแห่งจิต ดังถ้อยคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
จิตส่งออกนอก เพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
22
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-3-24 18:03
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จากนั้นท่านก็ได้พิจารณาถึงปฏิจจสมุปบาท จนสามารถแก้ไขได้อย่างไม่มีข้อสงสัย ซึ่งท่านกล่าวว่า เมื่อได้พิจารณาตามหลักอริยสัจ ๔ โดยเห็นแจ้งดังนี้แล้ว ก็ย่อมหมายถึงการผ่านเลยแห่งความรู้ในปฏิจจสมุปบาทไปแล้ว เนื่องเพราะความรู้ในเหตุแห่งทุกข์ การดำรงอยู่แห่งทุกข์ และวิธีดับทุกข์นั้น คือแก่นกลางแท้จริงของปฏิจจสมุปบาท
ความรู้ความเข้าใจเรื่องจิตอย่างลึกซึ้งในครั้งนี้เอง เป็นผลทำให้ท่านได้รับการยอมรับในหมู่พระภิกษุและฆราวาสผู้ปฏิบัติ ว่าเป็นผู้ที่มีความลึกซึ้งในเรื่องของจิต จนได้รับสมญานามว่าเป็นบิดาแห่งการภาวนาจิต อันเป็นสมญานามที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากคำสอนและความสนใจของท่าน ซึ่งอยู่แต่ในเรื่องของจิตเพียงอย่างเดียว และได้ประกาศหลักธรรมโดยใช้คำว่า จิต คือพุทธะ ส่วนเรื่องอื่นที่นอกเหนือจากจิตแล้ว หาได้อยู่ในความสนใจของท่านไม่
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อพำนักที่ถ้ำพระเวสสันดรเป็นเวลาอันสมควรแล้ว และเข้าใจแจ่มแจ้งในอริยสัจแล้ว พระอาจารย์ดูลย์ได้พาคณะพระภิกษุสามเณรที่ติดตาม จาริกออกจากถ้ำพระเวสสันดรด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบ ตามหาพระอาจารย์มั่น เพื่อจะได้กราบเรียนถึงผลการบำเพ็ญภาวนาของท่านให้ได้รับทราบ
คณะพระธุดงค์ที่นำโดยพระอาจารย์ดูลย์ได้พบพระอาจาย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดโนนสูง จ.นครพนม (ปัจจุบันเป็น จ.มุกดาหาร)
ณ ที่นั้น พระอาจารย์ดูลย์ได้กราบเรียนถึงผลการปฏิบัติ และเรียนถามถึงการปฏิบัติของท่านต่อพระอาจารย์มั่นว่าเป็นอย่างไร เมื่อพระอาจารย์มั่นได้ทบทวนถึงผลการปฏิบัติแล้ว ได้ยกย่องต่อศิษย์ทั้งหลายว่า การปฏิบัติดำเนินมาอย่างถูกต้อง สามารถเอาตัวรอดได้ ไม่ถอยหลังอีกต่อไปแล้ว และให้ท่านดำเนินตามปฏิปทาที่ปฏิบัติมานี้ต่อไป
ครั้งนั้นพระอาจารย์ดูลย์ได้นำพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และภิกษุสามเณรเข้าถวายตัวต่อพระอาจารย์มั่น ซึ่งพระอาจารย์มั่นได้กล่าวยกย่องและชื่นชมท่านว่าเป็นคนมีความสามารถมากที่มีสานุศิษย์และผู้ติดตามมากมาย
และในครั้งนี้เอง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ถวายผ้าไตรซึ่งเย็บด้วยมือของท่านเอง มอบให้แก่พระอาจารย์ดูลย์ ๑ ไตร ซึ่งนับว่าเป็นรางวัลชีวิตที่มีค่ายิ่งนักของพระอาจารย์ดูลย์
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
23
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-3-24 18:03
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อาถรรพ์ที่ถ้ำผาบิ้ง
พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ได้อยู่ปรนนิบัติพระอาจารย์มั่นที่วัดโนนสูง จนจวนจะถึงกาลเข้าพรรษาแล้ว จึงได้กราบลาพระอาจารย์มั่นออกจาริกธุดงค์แสวงหาสถานที่สงบสงัดเพื่อบำเพ็ญเพียรให้ยิ่ง ๆ ขึ้น โดยมีสามเณรอ่อน (ต่อมา คือ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ) ติดตามไปในครั้งนี้ด้วย
ในพรรษานั้น พระอาจารย์ดูลย์พร้อมสามเณรอ่อน พำนักจำพรรษาอยู่ที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ระหว่างพรรษานั้นมีภิกษุสามเณรและอุบาสก อุบาสิกาที่อยู่ใน อ.ท่าบ่อและบริเวณใกล้เคียง พากันมาฟังพระธรรมเทศนาและร่วมบำเพ็ญภาวนากับท่านเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่านได้กล่าวภายหลังว่ามากมายจนแทบไม่มีที่นั่ง และแทบทุกคนก็ได้ประจักษ์ผลแห่งการปฏิบัติตามสมควร
ภายหลังจากออกพรรษา พระอาจารย์ดูลย์ได้จาริกออกจากที่นั่น พร้อมสามเณรติดตามรูปหนึ่ง โดยท่านตั้งใจว่าจะเดินทางไปโปรดญาติโยมที่ จ.สุรินทร์ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านต่อไป
พระอาจารย์ดูลย์เดินธุดงค์ต่อไปจนถึงถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก อ.สะพุง จ.เลย ท่านมีความเห็นว่าเป็นสถานที่สงบสงัดเหมาะที่จะบำเพ็ญเพียรยิ่งนัก จึงตกลงใจที่จะพำนักอยู่ที่นั่น
ณ ถ้ำผาบิ้งนี้ ซึ่งเป็นที่ร่ำลือของชาวบ้านในเรื่องของความอาถรรพ์ และมากไปด้วยตำนานมหัศจรรย์ที่เล่าขานกันมาเป็นเวลานานว่า เมื่อถึงเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำจะมีเสียงพิณพาทย์บรรเลงดังกระหึ่มไปทั่ว และมีตัวประหลาดซึ่งมองคล้ายควันดำ ๆ เหาะลอยฉวัดเฉวียนไปในอากาศและหายวับไป ทำให้เป็นที่สะพรึงกลัวแก่ผู้คนยิ่งนัก ชาวบ้านบริเวณนั้นเมื่อทราบความประสงค์ของท่านต่างก็มีความเป็นห่วงจึงได้พากันห้ามไว้ ถึงแม้ได้ฟังคำทัดทานจากชาวบ้านเพียงไรท่านก็ไม่หวั่นไหว ยังตั้งใจแน่วแน่ที่จะพำนักอยู่ที่นั่นเพื่อพิสูจน์หาความจริงของอาถรรพ์ดังกล่าว จึงพร้อมด้วยสามเณรเดินทางไปพำนัก ณ ถ้ำผาบิ้ง ทันที
เมื่อท่านเข้าพักบำเพ็ญภาวนาอยู่นั้น ก็ได้พิจารณาถึงสิ่งที่ชาวบ้านเล่าลือ ในที่สุดก็พบความจริงว่า อาถรรพ์ที่ชาวบ้านหวาดกลัวกันนั้น เกิดจากค้างคาวจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในถ้ำพากันออกหากิน ทำให้เสียงกระพือปีกกระทบกันผสมกับเสียงสะท้อนจากผนังถ้ำ จึงเกิดเป็นเสียงต่าง ๆ ดังก้องสลับกันเป็นจังหวะราวกับเสียงของวงพิณพาทย์ดังที่ชาวบ้านได้ยิน และที่เห็นควันพวยพุ่งนั้นก็เป็นฝูงค้างคาวนั่นเอง และเมื่อท่านได้นำความจริงที่ได้พบเห็นมาบอกให้แก่ชาวบ้านบริเวณนั้นฟัง เสียงเล่าลือในเรื่องอาถรรพ์ที่เล่าลือกันมานานก็หายไป
ท่านพำนักปฏิบัติธรรมอยู่ ณ ถ้ำผาบิ้งได้ประมาณ ๑ เดือน ก็ออกจาริกธุดงค์ต่อไปยัง จ.อุบลราชธานี และ จ.สกลนคร ตามลำดับ
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
24
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-3-24 18:03
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระมหาปิ่น
เมื่อจาริกธุดงค์ไปถึง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร พระอาจารย์ดูลย์ได้มีโอกาสพบและกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นอีกครั้งหนึ่ง การพบในครั้งนี้ท่านมิได้กราบเรียนถึงผลการปฏิบัติของท่าน และก็ไม่ได้รับการแนะแนวทางการปฏิบัติจากพระอาจารย์มั่นแต่ประการใด เป็นแต่เพียงการสนทนาธรรมกันในเรื่องของจิตอย่างเดียวเท่านั้น จากนั้นก็กราบนมัสการพระอาจารย์มั่นเดินทางต่อไป
ระหว่างทางได้แวะเยี่ยมและพำนักอยู่กับอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ที่ จ.กาฬสินธุ์ และได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นกล่าวคือทั้งสองท่านได้ร่วมมือกันโน้มน้าวใจพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายของพระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นครูสอนปริยัติธรรมอยู่ที่วัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี ภายหลังจากที่ศึกษาเปรียญธรรมจากสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร และมีความรู้ด้านพระปริยัติธรรมอย่างแตกฉาน ที่สนใจแต่ทางปริยัติอย่างเดียว ไม่นำพาต่อการบำเพ็ญภาวนาและฝึกฝนจิตและธุดงค์กัมมัฏฐาน ให้มาอยู่กับฝ่ายปฏิบัติได้ในที่สุด
โดยทั้งสองท่านได้เดินทางมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนาราม และได้ปลูกกุฏิหลังเล็ก ๆ อยู่ต่างหาก ต่างปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด พร้อมกับค่อย ๆ โน้มน้าวจิตใจพระมหาปิ่นให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในทางปฏิบัติ ด้วยการชี้แจงถึงผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงให้พระมหาปิ่นเข้าใจ ด้วยเหตุที่พระมหาปิ่นเป็นผู้มีสติปัญญา ได้พิจารณาและได้เห็นข้อวัตรปฏิบัติของทั้งสองท่าน จึงเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งและคล้อยตาม
ครั้นถึงกาลออกพรรษาครั้งนั้น ท่านก็ได้เตรียมบริขารแล้วออกจาริกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์สิงห์ไปทุกหนทุกแห่ง ทนต่อสู้กับอุปสรรคนานาชนิดอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร มุ่งหาความเจริญในทางธรรม จนท่านสามารถรอบรู้ได้ในที่สุด
การที่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เปลี่ยนใจมาปฏิบัติตามที่พระอาจารย์สิงห์ ผู้เป็นพระพี่ชายและพระอาจารย์ดูลย์แนะนำ อันเป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจออกธุดงค์ในครั้งนั้น ทำให้พุทธศาสนิกชนในภาคอีสานกล่าวขานกันอย่างแตกตื่นด้วยเหตุที่ว่า ท่านเป็นพระมหาเปรียญหนุ่มจากเมืองบางกอก ซึ่งมีความรู้ปริยัติอย่างแตกฉาน อีกทั้งยังเป็นอาจารย์สอนปริยัติธรรมด้วย ได้ตัดบ่วง ไม่ห่วงอาลัยในยศฐาบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ เปลี่ยนมาดำเนินชีวิตเยี่ยงพระธุดงค์ ฝึกฝนจิตอบรมกัมมัฏฐาน และฝึกสมาธิภาวนาเป็นองค์แรกในสมัยนั้น
ต่อมาพระมหาปิ่นก็ได้กลายเป็นที่เคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธาจากผู้คนจำนวนมาก ในฐานะผู้นำกองทัพธรรมออกเผยแพร่คำสอนในสายพระกัมมัฏฐานคู่กับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ผู้เป็นพระพี่ชาย
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
25
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-3-24 18:04
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๖. เปิดกรุแห่งพระธรรม
นับตั้งแต่พระอาจารย์ดูลย์เดินทางออกจาก จ.สุรินทร์ เพื่อไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านจึงได้เดินทางกลับไปยัง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาแก่ผู้ที่สนใจ
การเดินทางกลับมายังบ้านเกิดครั้งนี้ เป็นการมาแบบพระธุดงค์อย่างสมบูรณ์ด้วยภูมิปัญญาที่แก่กล้าและจริยาวัตรที่งดงาม ได้เข้าพำนักอยู่ ณ วัดนาสาม ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร การมาครั้งถือได้ว่ากรุแห่งพระธรรมได้เปิดขึ้นแก่ชาวสุรินทร์แล้ว ได้สร้างความปีติให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ใน ต.นาบัว และ ต.เฉนียง ที่พากันแตกตื่นพระธุดงค์ ต่างก็ชักชวนกันไปฟังท่านแสดงพระธรรมเทศนา และร่วมปฏิบัติธรรมกับท่านกันอย่างล้นหลาม
ครั้นเมื่อกาลจวนจะเข้าพรรษาอีกครั้ง พระอาจารย์ดูลย์เห็นว่า วัดนาสามไม่เหมาะที่จะวิเวกและปรารภธรรมตามแบบอย่างของพระธุดงค์ จึงเดินทางออกจากวัดนาสามมุ่งหน้าไปยังป่าหนองเสม็ด ต.เฉนียง จ.สุรินทร์ อันเป็นที่ซึ่งท่านเห็นว่าเหมาะสมต่อการบำเพ็ญเพียรมากกว่า และเมื่อมาถึงที่แห่งนั้นท่านก็ได้สมมติขึ้นเป็นสำนักป่า แล้วอธิษฐานจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่นั้น
การมาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่ป่าหนองเสม็ดนั้น ญาติโยมที่ได้เคยร่วมปฏิบัติธรรมกับท่านและได้รับผลจากการปฏิบัติจากวัดนาสาม ได้เดินทางติดตามท่านมาด้วย แม้จะลำบากเพราะต้องเดินด้วยเท้าเป็นระยะทางเกือบ ๑๐ กิโลเมตรก็ตาม ต่างก็ไม่ได้ย่อท้อ มีจิตใจที่แน่วแน่และมุ่งมั่นที่จะเจริญสมาธิภาวนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และจะได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ลึกซึ้งจากพระอาจารย์ดูลย์
ณ ป่าหนองเสม็ดแห่งนี้ ผู้ที่ชื่นชอบและยกย่องสรรเสริญท่านว่าเป็นผู้ประกาศธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ต่างก็ร่วมกันทำนุบำรุงส่งเสริมและเข้ากราบเป็นลูกศิษย์ ร่วมฝึกปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิภาวนากับท่าน ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการแสวงหาสัจธรรม ก็มีปฏิกิริยาในทางต่อต้านท่านด้านการปฏิบัติด้วยการด่าว่าให้เสียหาย และวางอุบายทำลายจนถึงขั้นลงมือทำร้ายเลยก็มี แต่ท่านก็ไม่ได้รับอันตรายแต่ประการใดเลย แม้จะมีคำพูดเสียดสี และปฏิกิริยาในทางต่อต้านจากผู้ที่ไม่ชอบเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้พระอาจารย์ดูลย์หวั่นไหว ท่านยังคงตั้งหน้าตั้งตาเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาด้วยความมั่นคง และเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อญาติโยมที่สนใจ ทำให้มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
เมื่อครั้งที่พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล พำนักจำพรรษาอยู่ ณ ป่าหนองเสม็ดนั้น อุบาสิกาคนหนึ่งชื่อว่า นางเหรียญ เป็นชาวบ้านกระทม ต.นาบัว จ.สุรินทร์ มีความสนใจในการปฏิบัติธรรมและเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติของท่านเป็นอย่างมาก ได้ติดตามท่านมาปฏิบัติธรรมที่สำนักป่าหนองเสม็ดนั้นด้วย
ทุกครั้งที่นางเหรียญมาปฏิบัติธรรม ก็จะพาเด็กชายโชติ เมืองไทย ผู้เป็นบุตรชาย ซึ่งในขณะนั้นมีอายุได้ ๑๒ ปี มาปฏิบัติธรรมด้วยเป็นประจำ และด้วยเหตุที่เด็กชายโชติเป็นเด็กที่มีอุปนิสัยรักความสงบ และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เมื่อได้มาฝึกปฏิบัติธรรมและเรียนรู้พระธรรมวินัยจากพระอาจารย์ดูลย์ก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนไม่อยากกลับบ้าน นางเหรียญผู้เป็นมารดา จึงถวายเด็กชายโชติให้อยู่คอยรับใช้พระอาจารย์ดูลย์
เมื่อเด็กชายโชติ เมืองไทย อยู่กับพระอาจารย์ดูลย์ได้ระยะหนึ่ง ท่านจึงได้จัดการบรรพชาให้เป็นสามเณร นับเป็นสามเณรรูปแรกที่ท่านบวชให้
ครั้นเมื่อเด็กชายโชติได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้ติดตามพระอาจารย์ดูลย์จาริกธุดงค์อย่างใกล้ชิด พร้อมกันนั้นได้ยึดถือวัตรปฏิบัติแห่งพระอาจารย์ดูลย์เป็นแนวทางอย่างเคร่งครัด
สามเณรโชติ เมืองไทย นี้ ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนามของหลวงปู่โชติ ท่านเป็นพระเถระที่มีพุทธศาสนิกชนเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก ต่อมาภายหลังท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระเทพสุธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) เจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘)
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
26
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-3-24 18:04
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถ้ำน้ำจันทร์
ออกพรรษาคราวหนึ่ง พระอาจารย์ดูลย์ได้นำศิษย์ซึ่งเป็นสามเณร ๒ รูป คือ สามเณรโชติ และสามเณรทอน ออกจากสำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด เดินธุดงค์ไปตามเทือกเขาดงเร็กซึ่งเป็นป่ารกชัฏ ลักษณะเป็นป่าดงดิบและมีสัตว์ป่ามากมาย ทำให้การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบากและอันตรายยิ่งนัก
วันหนึ่ง ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์และศิษย์เดินธุดงค์ โดยพระอาจารย์ดูลย์เป็นผู้เดินนำหน้า และมีสามเณรทั้งสองรูปเดินตามอยู่ห่าง ๆ
ขณะนั้นเองมีควายป่าตัวหนึ่ง วิ่งมาทางข้างหลังของสามเณรทั้งสองอย่างรวดเร็ว สามเณรทั้งสองแลเห็นเสียก่อนจึงหลบเข้าข้างทางและพากันปีนต้นไม้หลบควายป่าตัวนั้น แต่พระอาจารย์ดูลย์หลบทัน ควายป่านั้นวิ่งเข้าถึงตัวท่านแล้วขวิดเต็มแรงจนท่านกระเด็นล้มลงไป มันขวิดท่านซ้ำอีกหลายทีจนพอใจ แล้วจึงวิ่งเข้าป่าไป
สามเณรทั้งสองรูปแลเห็นดังนั้นจึงตกใจเป็นยิ่งนัก และเมื่อได้สติได้พากันลงมาจากต้นไม้ เข้ามาหาพระอาจารย์ดูลย์ แต่เมื่อเห็นพระอาจารย์ดูลย์ของตนปลอดภัยก็พากันโล่งใจ เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจแก่ศิษย์ทั้งสองเป็นยิ่งนัก เพราะแม้ท่านถูกควายป่าขวิดจนจีวรขาดรุ่งริ่ง แต่ก็ไม่ถูกอวัยวะสำคัญ เพียงแต่เป็นรอยขีดข่วนตามซอกแขนและขาของท่านเท่านั้น
เมื่อกลับจากจาริกธุดงค์ในคราวนั้นแล้ว พระอาจารย์ดูลย์พร้อมกับศิษย์ทั้งสอง ได้กลับมาพำนักที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ดเช่นเดิม แต่ก็มีบางคราวที่ไปพำนักอยู่ที่วัดปราสาท เพื่อโปรดญาติโยมบ้าง
ครั้นจวนจะเข้าพรรษาคราวหนึ่ง ท่านได้ดำริที่จะเรียนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม จึงพาสามเณรโชติไปฝากที่วัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม จากนั้นตัวท่านจึงเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ และได้เข้าพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดสัมพันธวงศาวาส (วัดเกาะ) เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมตามที่ประสงค์ แต่ศึกษาอยู่ได้ไม่นานนักท่านก็เลิก เพราะจิตใจของท่านเอนเอียงไปทางด้านธุดงค์กัมมัฏฐานมากกว่าเสียแล้ว จึงเพียงแต่อยู่ปฏิบัติธรรมและโปรดญาติโยมที่วัดสัมพันธวงศาวาสเท่านั้น เมื่อเป็นดังนั้นภายหลังจากที่ออกพรรษาแล้ว ท่านจึงเดินทางกลับ
เมื่อเดินทางถึง จ.ลพบุรี ท่านได้พำนักอยู่กับอาจารย์อ่ำ (พระเทพวรคุณ เจ้าอาวาสวัดมณีชลขันธ์) เป็นเวลาประมาณ ๓ เดือน ระหว่างนั้นทั้งสองท่านได้แลกเปลี่ยนความรู้ในทางปฏิบัติขั้นสูงต่อกัน และจากนั้นพระอาจารย์อ่ำได้พาพระอาจารย์ดูลย์ไปพำนักที่ถ้ำอรหันต์ หรือถ้ำน้ำจันทร์ ด้วยทราบว่าพระอาจารย์ดูลย์มุ่งหาสถานที่ซึ่งมีความวิเวกยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
ถ้ำน้ำจันทร์นี้ ภายในถ้ำมีแอ่งน้ำเล็ก ๆ เต็มไปด้วยน้ำที่ใสสะอาดมีกลิ่นหอมอบอวล ชาวบ้านจึงเรียกว่าถ้ำน้ำ
พระอาจารย์ดูลย์ชอบถ้ำนี้มาก เพราะเป็นสถานที่ที่เงียบสงบ ท่านตั้งใจที่จะอยู่ที่นี่ไปเรื่อย ๆ แต่แล้วความตั้งใจของท่านก็เป็นอันต้องถูกล้มเลิกจนได้ เพราะวันหนึ่ง ขณะที่ท่านกำลังสรงน้ำอยู่นั้น พระมหาพลอย อุปสโม (จุฑาจันทร์) พระวัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ ได้ติดตามมาหาท่านจนพบ และได้กราบอาราธนาให้ท่านกลับไป จ.สุรินทร์ โดยได้กราบเรียนถึงจุดมุ่งหมายในครั้งนั้นว่า บรรดาญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาทาง จ.สุรินทร์ ผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม และพอจะเห็นผลของการปฏิบัติบ้าง ต่างก็มีความปรารถนาที่จะพบและร่วมปฏิบัติธรรมกับท่าน
เมื่อทราบความมุ่งหมายเช่นนั้น ท่านจึงเดินทางกลับ จ.สุรินทร์ ตามคำอาราธนาของพระมหาพลอย และเข้าพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ดยังความปลาบปลื้มแก่บรรดาญาติโยมชาว จ.สุรินทร์เป็นยิ่งนัก
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
27
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-3-24 18:04
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่สาม อกิญฺจโน
การกลับมาพำนักที่สำนักสงฆ์หนองเสม็ดของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ในครั้งนี้ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๖๘
ในระหว่างนั้นเอง พระอาจารย์ดูลย์ได้พบกับพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมีนามว่า “สาม” ซึ่งได้เข้ามากราบถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน เพื่อศึกษาพระกัมมัฏฐานซึ่งมีความชอบใจในวัตรปฏิปทาและแนวทางในการปฏิบัติของพระอาจารย์ดูลย์ที่ถูกกับจริตของท่าน และต่อมาได้ติดตามท่านออกธุดงค์ไปในสถานที่ต่าง ๆ ละแวกใกล้กับ จ.สุรินทร์
ครั้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์เห็นว่าพระสามรูปนี้ได้รับผลจากการปฏิบัติมาพอสมควรแล้ว และเป็นผู้มีศรัทธามั่นคงดีแล้ว จึงได้แนะนำให้พระสามเดินทางไปกราบนมัสการและศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์มั่นพำนักจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านสบบง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
พระสามกับพระภิกษุอีกรูปหนึ่งคือพระบุญธรรม จึงได้ออกเดินทางไป จ.นครพนม และได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ เดือนตามคำแนะนำของพระอาจารย์ดูลย์
จากนั้นต่อมา พระอาจารย์ดูลย์ได้แนะนำให้ภิกษุทั้งสองรูปเดินธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมที่ จ.สกลนคร ด้วยเหตุว่า จ.สกลนครนั้น มีสถานที่ที่เหมาะแก่การเจริญสมณธรรมตรงตามพุทธบัญญัติ นอกจากนี้ยังมากไปด้วยพระนักปฏิบัติที่จะคอยเป็นกัลยาณมิตร และให้คำแนะนำในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี คือ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งเป็นสหายสนิทของท่านอีกด้วย
พระภิกษุทั้งสองได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระอาจารย์ดูลย์ ได้ออกเดินธุดงค์ไปยัง จ.สกลนคร และปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่น แต่ในเวลาไม่กี่ปีพระบุญธรรมซึ่งเป็นสหายธรรมของพระสามได้มรณภาพลง พระสามจึงได้เดินธุดงค์ไปในทั่วทุกภาคของประเทศไทยเพียงรูปเดียวเป็นเวลานานนับสิบปี ท่านพำนักจำพรรษามาหลายแห่ง นับได้ว่าพระสามรูปนี้เป็นพระที่เจริญด้วยธุดงควัตร เที่ยวธุดงค์อยู่เป็นเวลานาน
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ขณะที่ท่านมีอายุได้ ๖๘ ปี ท่านได้มาพำนักอยู่ที่วัดป่าไตรวิเวก อ.เมือง จ.สุรินทร์ อันเป็นที่รู้จักกันในนามของหลวงปู่สาม อกิญฺจโน
พระอาจารย์สาม อกิญฺจโน มรณภาพหลังพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ๘ ปี คือในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ขณะมีอายุได้ ๙๑ พรรษา
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
28
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-3-24 18:04
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตอบแทนคุณพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล คงพำนักที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด เพื่อโปรดญาติโยมอีกระยะหนึ่ง แต่ด้วยจิตใจที่โน้มเอียงในการปฏิบัติมากกว่า ท่านจึงดำริที่จะออกธุดงค์กัมมัฏฐานเพื่อบำเพ็ญเพียรอีกครั้ง
เมื่อตัดสินใจดังนั้นแล้ว จึงได้ลาญาติโยมออกจาริกธุดงค์ โดยตั้งใจว่าจะเดินทางไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อเดินทางไปถึงวัดสุทัศนาราม อันเป็นวัดที่ท่านเคยมาพำนักเมื่อครั้งมาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และเป็นวัดที่ท่านญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย ก็ได้พบกับพระอุปัชฌาย์ของท่านขอร้องให้ช่วยกันสร้างโบสถ์วัดสุทัศนารามให้เสร็จเสียก่อนแล้วค่อยเดินธุดงค์ต่อ ด้วยในขณะนั้นทางวัดมีทุนทรัพย์ที่จะใช้ในการก่อสร้างเพียง ๓๐๐ บาทเท่านั้น เมื่อได้รับการขอร้องเช่นนั้น พระอาจารย์ดูลย์ก็ไม่อาจขัดพระอุปัชฌาย์ได้ ท่านจึงตกลงใจพำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม เพื่อคุมการสร้างโบสถ์ให้เสร็จก่อน ซึ่งต้องใช้เวลา ๖ ปี นับว่าเป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดของ จ.อุบลราชธานี
ระหว่างที่พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนารามนั้น นอกเหนือจากการควบคุมดูแลการก่อสร้างโบสถ์แล้ว พระอาจารย์ดูลย์ยังได้รับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์ให้ท่านรับผิดชอบงานอย่างอื่นควบคู่กันไปอีกด้วย กล่าวคือปกครองพระภิกษุสามเณรในวัดสุทัศนาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เป็นต้น
ในระหว่างนี้เอง ท่านก็ได้ศิษย์เพิ่มขึ้นมาอีกผู้หนึ่ง ซึ่งภายหลังมีตำแหน่งเป็นถึงระดับอธิบดี ท่านผู้นั้นคือ พันเอกปิ่น มุทุกันต์ ซึ่งในขณะนั้นได้บวชเป็นสามเณรอยู่
ศิษย์ของพระอาจารย์ดูลย์คนนี้ เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดยิ่งนัก สนใจใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ และต้องการไปศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ ครั้นเมื่อพระอาจารย์ดูลย์ทราบเรื่อง จึงได้นำสามเณรปิ่นไปฝากไว้กับพระมหาเฉย (พระเทพกวี) ที่วัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามที่ต้องการ จนสามเณรปิ่นสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค และลาสิกขาเพื่อออกไปรับราชการเป็นอนุสาสนาจารย์ในกองทัพบก จนได้เป็นอธิบดีกรมการศาสนา ท่านเป็นนักปาฐกฝีปากกล้า ซึ่งท่านให้ความเคารพนับถือพระอาจารย์ดูลย์เป็นอาจารย์ตลอดมา ท่านได้กล่าวถึงพระอาจารย์ดูลย์ว่า เป็นอาจารย์กัมมัฏฐานที่พูดน้อย แต่ทำงานมากกว่า
หลังจากอยู่ที่วัดสุทัศนาราม ๖ ปี การก่อสร้างโบสถ์ก็แล้วเสร็จตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์แล้ว พระอาจารย์ดูลย์จึงเตรียมกายที่จะออกจากริกธุดงค์แสวงหาความวิเวกเพื่อบำเพ็ญเพียรตามที่ท่านตั้งใจไว้แต่แรกที่ท่านออกจาริกธุดงค์จากสำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด จ.สุรินทร์ ทันที
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
29
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-3-24 18:05
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รับบัญชาคณะสงฆ์
แต่ในที่สุดความหวังที่จะเดินธุดงค์ก็หาได้สมปรารถนาไม่ มีอันต้องเกิดอุปสรรคขึ้นอีก ทำให้ท่านต้องล้มเลิกความตั้งใจไปอีกคราวหนึ่ง
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ พระธรรมปาโมกข์ (อ้วน ติสฺโส) ต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ร่วมกับคณะสงฆ์ ดำริที่จะสถาปนาวัดบูรพารามขึ้นเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรก ของ จ.สุรินทร์ ได้มีบัญชาให้พระมหาพลอย จากวัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ เดินทางมาจัดการฟื้นฟูด้านการศึกษา ขณะเดียวกันก็มีบัญชามาถึงพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ให้เดินทางกลับไป จ.สุรินทร์ เพื่อช่วยทางด้านวิปัสสนาธุระ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพารามให้กลับคืนสู่สภาพที่ดี และเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติ ซึ่งขณะนั้นกำลังทรุดโทรมอย่างหนักเพราะก่อสร้างมาเกือบ ๒๐๐ ปีแล้ว ทำให้ท่านต้องกลับ จ.สุรินทร์ ตามคำบัญชาของคณะสงฆ์ดังกล่าว
๗. วัดบูรพาราม
ด้วยความเป็นผู้เจริญด้วยคุณธรรม จึงไม่อาจขัดต่อบัญชาของคณะสงฆ์ พระอาจารย์ดูลย์จึงออกเดินทางมายังวัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
วัดบูรพาราม ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสุรินทร์ เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยธนบุรี หรือต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อม ๆ กันกับกลางสร้างเมืองสุรินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในกำแพงชั้นในตามความประสงค์ของจางวางเมืองในสมัยนั้น คือพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) ที่ต้องการพัฒนาเมืองในด้านวัตถุให้เจริญควบคู่ไปกับความเจริญทางด้านจิตใจ
วัดนี้มีปูชนียวัตถุสำคัญเป็นที่เคารพนับถือของชาว จ.สุรินทร์ ว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองคือหลวงพ่อพระชีว์ เป็นพระพุทธรูปปางมารศรีวิชัย องค์ใหญ่หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ประดิษฐานในมณฑปจตุรมุขก่ออิฐถือปูน ด้านตะวันตกของพระอุโบสถ สันนิษฐานว่าสร้างมาพร้อมกับการสร้างเมืองสุรินทร์
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
30
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-3-24 18:05
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ฟื้นฟูการศึกษาพระศาสนา
การบูรณะฟื้นฟูวัดบูรพารามนี้ งานด้านพระศาสนานับเป็นงานที่หนักมาก ด้วยในขณะนั้นยังล้าหลังในทุก ๆ อย่าง เมื่อพระอาจารย์ดูลย์มาพำนักอยู่ที่วัดนี้ ท่านต้องริเริ่มใหม่ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาด้านปริยัติ การปฏิบัติ การบูรณะปฏิสังขรณ์วัด และการเผยแผ่พระศาสนา ซึ่งต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน
พระอาจารย์ดูลย์ได้ปฏิบัติภารกิจนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม ด้วยการศึกษาในสมัยก่อนเป็นเพียงการทำสืบต่อกันมา จ.สุรินทร์ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใกล้กับประเทศกัมพูชานั้น มักจะมีภาษาพื้นเมืองหรือตัวอักขระ และพยัญชนะที่ใช้ในการเรียน การเทศน์ การสวด หรือพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดจนคัมภีร์ก็โน้มเอียงไปทางเขมรอยู่มาก
ดังนั้นเมื่อพระอาจารย์ดูลย์เริ่มพัฒนาในด้านพระปริยัติ ท่านก็เริ่มใช้อักษรไทยและภาษาไทยมากขึ้น ซึ่งนับเป็นภารกิจที่หนักมากทีเดียว จึงกล่าวได้ว่าเป็นยุคเริ่มแรกของการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมแผนใหม่ หากมีพระภิกษุสามเณรองค์ใดสนใจในการศึกษาปริยัติ หลังจากศึกษาเบื้องต้นที่วัดแล้ว ท่านก็ส่งไปศึกษาในระดับสูงต่อที่กรุงเทพฯ
สำหรับการปฏิบัตินั้นท่านยึดแนวทางที่ท่านเคยศึกษามาในทางกัมมัฏฐานเป็นหลักสำคัญ ในส่วนของท่านเองท่านก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็แบ่งเวลาสอนพระภิกษุสามเณรและญาติโยมที่สนใจในการปฏิบัติเป็นประจำเสมอมา พระภิกษุสามเณรองค์ใดที่สนใจในการธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างจริงจัง หลังจากที่ได้รับการฝึกอบรมจากท่านแล้ว ท่านก็จะส่งไปอยู่กับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรบ้าง พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโนบ้าง เป็นต้น
การพัฒนาด้านปริยัติและปฏิบัติของพระอาจารย์ดูลย์ นับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงของการศึกษาพระศาสนาทั้งสองด้านมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว ในสมัยนั้น จ.สุรินทร์ยังไม่มีแบบแผนในเรื่องของพิธีการปฏิบัติในวันสำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาเลย เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันออกพรรษา เป็นต้น คณะสงฆ์ในสมัยนั้นได้ริเริ่มจัดให้มีขึ้น และกำหนดแบบอย่างในการปฏิบัติในวันสำคัญต่าง ๆ ขึ้น เช่น พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญ การตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา ตลอดจนศาสนพิธีก็ได้มีการฟื้นฟูขึ้นในสมัยที่พระอาจารย์ดูลย์พำนักอยู่ที่วัดบูรพารามนี่เอง
การปฏิบัติภารกิจทั้งหลายของพระอาจารย์ดูลย์ในสมัยนั้น นับเป็นมรดกอันล้ำค่าอย่างยิ่ง ที่ท่านได้มอบให้แก่ จ.สุรินทร์ ถือได้ว่าท่านเป็นผู้เปิดกรุแห่งการศึกษาทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ ตลอดจนแบบอย่างให้แก่ จ.สุรินทร์จนสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
หน้าถัดไป »
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
... 18
/ 18 หน้า
ถัดไป
กลับไป
ตั้งกระทู้ใหม่
โหมดขั้นสูง
B
Color
Image
Link
Quote
Code
Smilies
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ลงชื่อเข้าใช้
|
ลงทะเบียน
รายละเอียดเครดิต
ตอบกระทู้
ข้ามไปยังโพสต์ล่าสุด
ตอบกระทู้
ขึ้นไปด้านบน
ไปที่หน้ารายการกระทู้
Share To Facebook
Share To Twitter
Share To Google+
Share To ...