|
บูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพาราม
ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลังจากที่พำนักอยู่วัดบูรพาราม ได้ระยะหนึ่งท่านก็เริ่มการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพารามทันที โดยเริ่มจากการสร้างโบสถ์แบบคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นเป็นแห่งแรก และเป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดของ จ.สุรินทร์ โดยมุ่งที่จะใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด แต่ใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด แรงงานส่วนใหญ่ได้จากชาวบ้าน และพระภิกษุสามเณรในวัด โดยมีท่านเป็นผู้เขียนแบบเอง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ใช้เวลาก่อสร้าง ๑๔ ปี
เหตุที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานถึง ๑๔ ปีนั้น มีลูกศิษย์ใกล้ชิดของท่านเล่าว่า สมัยก่อนการบอกบุญเรี่ยไรเป็นการยากลำบาก บางทีพระเดินบอกบุญเรี่ยไรเงิน สองหมู่บ้านแล้วยังได้เพียง ๒ สตางค์เท่านั้น ทำให้ต้องเดินบอกบุญหลายวันจึงจะได้เป็นปัจจัย ๑ บาท จึงขอให้ชาวบ้านบริจาคเป็นข้าวเปลือกแทน เพราะแต่ละบ้านจะมีข้าวเปลือกด้วยกันทั้งนั้น จากนั้นนำข้าวเปลือกที่ได้รับมาขาย สมัยนั้นข้าวเปลือกราคากระเฌอละสิบสามสิบสี่สตางค์ แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อปูนซีเมนต์ก่อสร้าง ในราคาถุงละ ๘๐ สตางค์ ถึง ๑ บาทกว่า เป็นปูนซีเมนต์ซึ่งไม่มีคุณภาพเท่าไรนัก สำหรับอิฐนั้นไม่ต้องซื้อ พระภิกษุสามเณรและชาวบ้านเสียสละแรงกายแรงใจช่วยกันทำขึ้นเอง
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เมื่อการก่อสร้างโบสถ์วัดบูรพารามใกล้สำเร็จแล้ว พระอาจารย์ดูลย์ได้จัดงานหล่อพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานในพระอุโบสถ ถือเป็นการจัดงานเช่นนี้ครั้งแรกใน จ.สุรินทร์ ซึ่งนำโดยพระคุณคุณสมฺปนฺโน (โชติ คุณสมฺปนฺโน) และพระครูนวกิจโกศล (เปลี่ยน โอภาโส) พร้อมด้วยคณะสงฆ์ และประชาชนใน จ.สุรินทร์ ร่วมกันบริจาคทองเหลืองทองแดงเป็นจำนวนมาก ได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๘๐,๐๐๐ บาท
พระประธานในอุโบสถวัดบูรพารามเป็นพระพุทธชินราชจำลอง หล่อด้วยโลหะทองเหลือง เป็นการหล่อแบบสมัยใหม่ ด้วยการเชิญช่างหล่อมาทำการหล่อที่ จ.สุรินทร์ โดยใช้งบประมาณจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ และได้ยกพระพุทธชินราชจำลองที่หล่อแล้วประดิษฐานบนรัตนบัลลังก์ในพระอุโบสถวัดบูรพาราม เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๐
การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพาราม นอกจากจะอาศัยบารมีของพระอาจารย์ดูลย์เองแล้ว ยังมีพระภิกษุหลายรูปที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลืองานของท่าน ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ พระมหาโชติ (พระเทพสุทธาจารย์) , พระอาจารย์สาม อกิญจโน , พระมหาเปลี่ยน โอภาโส (พระโอภาสธรรมญาณ) และพระมหาพลอย อุปสโม เป็นต้น
ในเรื่องการบริหารงานภายในวัดนั้น พระอาจารย์ดูลย์ท่านได้มอบหมายให้พระมหาเปลี่ยน โอภาโส เป็นผู้อบรมสั่งสอนประชาชน และมอบหมายให้พระมหาพลอย อุปสโม เป็นผู้ดูแลในด้านการศึกษาและการปกครอง
การมาพำนักอยู่ที่วัดนี้ของท่าน ด้วยความเสียสละทุ่มเทต่อพระศาสนาและสังคม ได้สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นแก่วัดบูรพารามเป็นอันมาก
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ วัดบูรพาราม ได้รับการยกย่องจากกรมศาสนาให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
|
|