ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส ~

[คัดลอกลิงก์]
61#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พ.ศ. 2504 พรรษาที่ 26
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

ปี พ.ศ. 2505 หลวงปู่ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม) วัดป่าสาลวัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

หลวงปู่เดินทางผ่านกรุงเทพฯ ครั้งแรก

เมื่อเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม แล้ว ได้ทราบข่าวว่า ท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม ได้ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่จึงได้ไปวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อกราบคารวะศพท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร

เดินทางไปจังหวัดจันทบุรีครั้งแรก

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2505 เมื่อหลวงปู่กราบคารวะศพท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร แล้ว จึงได้เดินทางด้วยรถยนต์โดยสารต่อไปจังหวัดจันทบุรี โดยมีพระลูกศิษย์ติดตามไปด้วยหนึ่งรูป และโยมไวยาวัจจกรหนึ่งคน พอไปถึงจันทบุรี ฝนตกไม่หยุด จึงได้ขออนุญาตจากกำนันพักที่ศาลเจ้า เพื่อเยี่ยมสงเคราะห์โยมลูกศิษย์ ที่เคยอุปัฏฐากหลวงปู่ในคราวที่อยู่จังหวัดร้อยเอ็ด พักอยู่ศาลเจ้า 3 คืน หลวงปู่ได้อบรมลูกศิษย์และโยมที่สนใจฟังธรรม ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เร่งทำคุณงามความดี ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ 3 ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ไปไหนมาไหนอย่าได้ลืมพุทโธ ธัมโม สังโฆ ประจำจิตใจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ผู้ไปอย่างมีที่พึ่ง

หลวงปู่ออกจากศาลเจ้าไปพักเยี่ยม ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ที่วัดเนินดินแดง อำเภอท่าใหม่ (ภายหลังท่านพระอาจารย์สมชายย้ายไปอยู่วัดเขาสุกิม และปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ซึ่งท่านอาจารย์สมชายเคยเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่ ในคราวที่อยู่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. 2488 ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่วัดเนินดินแดงได้มีญาติโยมชาวอำเภอท่าใหม่เกิดความเลื่อมใส บางคนถึงกับขอเอาฝ่าเท้าถูที่ศีรษะของตัวเอง

ช่วยชีวิตของเด็ก

ในวันหนึ่งพวกโยมอำเภอท่าใหม่พาหลวงปู่ไปเที่ยวที่เขามะปิง หลวงปู่เห็นมีต้นคันจ้องขึ้นอยู่เยอะ ท่านจึงถามพวกโยมว่า “นี้เขาเรียกต้นอะไร” พวกโยมตอบว่า “ทางจันทบุรีนี้เขาเรียกต้นนมบิด” ในความที่หลวงปู่ท่านชำนาญทางสมุนไพร ท่านจึงให้โยมพิจารณาเอารากนมบิดให้ อยู่มามีโยมคนหนึ่งมาหาหลวงปู่แล้วพูดว่า “ลูกของผมถ่ายไม่ออกทุรนทุรายอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไร” หลวงปู่จึงเอารากนมบิดนั้นให้ไปฝนให้เด็กกิน เมื่อโยมนั้นนำรากนมบิดไปฝนให้ลูกกิน จึงถ่ายออกและหายกระวนกระวาย วันหลังเขาจึงมาหาหลวงปู่อีก แล้วกราบเรียนว่า “แหม ! ลูกผมไม่ตายเพราะท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีท่านอาจารย์ ลูกของผมต้องตายแน่ๆ” แล้วเขาก็ปวารณาตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่

เดินทางกลับจากจันทบุรี

หลวงปู่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์สมชายเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส


ท่านพ่อลี ธมฺมธโร-หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม-หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต

62#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พ.ศ. 2505 พรรษาที่ 27
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 27

ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้ให้พระเณรประกอบความพากความเพียร ไม่ให้มีการคลุกคลีตีโมงกัน หลวงปู่ตั้งกติกาให้ตอนเช้าหลังฉันเช้าเสร็จ ให้เดินจงกรมไปจนถึงเที่ยงวันให้เลิกตอนหัวค่ำ หลังจากทำกิจวัตรข้อวัตรปัดกวาดลานวัดเสร็จ ถูศาลา ตักน้ำใส่ตุ่มน้ำใช้น้ำฉันเสร็จแล้ว ให้รีบสรงน้ำเสร็จแล้วให้เดินจงกรมไปจนถึงเวลา 3 ทุ่ม จึงให้เลิก ตอนใกล้รุ่งเวลาตี 4 ให้ลงเดินจงกรมไปจนสว่าง

หลวงปู่คอยเอาใจใส่สอดส่อง พระเณรองค์ไหนไม่ตั้งใจ ท่านก็คอยดุด่าว่ากล่าวตักเตือน องค์ไหนตั้งใจทำอยู่แล้ว ท่านก็ส่งเสริมให้กำลังใจ ครูบาอาจารย์มีเมตตาต่อศิษย์ อยากให้ได้ดิบได้ดีเหมือนอย่างท่าน เพราะท่านได้ทำมาแล้ว เอาเป็นเอาตายสู้ ท่านจึงได้มีธรรมนั้นเป็นที่พึ่งทางใจ ท่านไม่ได้ธรรมนั้นมาด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน ท่านได้มาด้วยความขยันหมั่นเพียร เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนลูกศิษย์ให้ขยันหมั่นเพียร

ในระหว่างการเข้าพรรษา ท่านพยายามตัดความกังวลภายนอกออก ให้เหลือแต่เรื่องความพากความเพียร สติกับใจให้จดจ่อกันอยู่ตลอดเวลา บางพรรษาท่านถึงกับให้พวกญาติโยมงดมาวัดในวันธรรมดา ให้มาเฉพาะวันพระ เพื่อให้โยมมาถือศีลอุโบสถ ฟังธรรม ในวันพระเท่านั้น วันธรรมดาให้ญาติโยมมีอาหารอะไรก็ใส่บาตรให้พระเณรแล้วก็แล้วไป  พระเณรก็ให้สมาทานธุดงควัตร คือฉันอาหารเฉพาะที่ตกในบาตรเท่านั้น ไม่ให้โยมตามมาถวายอาหารที่วัดอีก เมื่อพระเณรฉันอาหารเช้าเสร็จแล้ว อนุญาตให้โยมคนหนึ่งมารับเอาข้าวอาหารที่เหลือจากพระเณร เข้าไปแจกจ่ายคนที่อดอยากในบ้านเท่านั้น ที่ท่านให้ทำอย่างนั้นก็เพื่อให้พระเณรมีเวลาในการทำความเพียรมาก ไม่ต้องคลุกคลีกันยืดเยื้อ นี้เป็นวิธีการที่หลวงปู่ท่านพาดำเนินมา เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาเห็นความสำคัญในการทำความพากเพียรทางด้านจิตใจยิ่งกว่าอย่างอื่น

หลวงตาตกตั่ง

หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษาให้เดินจงกรมแต่หัวค่ำถึงหกทุ่ม พอดีหลวงตาองค์หนึ่งท่านอายุมาก พอเดินจงกรมไปถึง 4-5 ทุ่ม ท่านก็ง่วงนอน ท่านก็นั่งตั่งที่หัวทางเดินจงกรม ท่านนั่งกำหนดภาวนา พอถีนมิทธะ (ความง่วง) เข้าครอบงำเพราะสติไม่กล้า ทำให้ท่านหงายหลังลงจากตั่ง ขาถูกตั่งขูดเป็นแผลจึงรู้สึกตัว ตอนเช้ามาหลวงปู่เห็นแผลที่ขา จึงถามว่า “หลวงตา ขาเป็นอะไร” หลวงตาจึงตอบท่านอ้ำๆ อึ้งๆ ว่า “ไม้ขูด ขอรับ”

หลวงปู่จึงพูดขึ้นว่า “ไม่ใช่นั่งหลับตกตั่งที่ทางเดินจงกรมหรือ” หลวงตาหัวเราะหึๆ เบาๆ แล้วรับว่า “ครับผม” เรื่องความง่วงเหงาหาวนอนนี้ มันเป็นเครื่องกีดขวางอย่างหนึ่ง เวลาเราจะทำความดี มันชอบเข้าครอบงำ ถ้าเราไม่ฝึกสติให้แก่กล้าแล้ว เอาชนะมันไม่ได้

หลวงปู่รู้ใจ

เป็นระยะเวลาช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ในวันนั้นผู้เขียนได้ติดสินใจลาญาติพี่น้องวงศาและมารดา สละบ้านเรือนเพื่อไปถวายตัวเป็นศิษย์อยู่กับหลวงปู่ที่วัด เพื่อจะบวชในพระพุทธศาสนา จึงขอให้มารดาเป็นผู้ไปฝากฝังมอบหมายให้หลวงปู่ด้วย บังเอิญในวันนั้น มีการทำบุญประจำปีที่วัดในหมู่บ้าน ผู้เป็นมารดายังติดธุระที่จะต้องไปถวายกัณฑ์เทศนาพระที่ตนเองจับสลากถูก ว่าจะต้องอุปัฏฐากพระที่มาจากวัดบ้านไหน ผู้เป็นมารดาจึงจัดของมีอาหารหวานคาว ข้าวต้ม ขนมจีน ใส่ตะกร้าให้ แล้วบอกให้หาบไปจังหันหลวงปู่ แล้วก็อยู่วัดกับท่านเลย วันหลังแม่จะไปฝากฝังหลวงปู่ให้ดอก

เมื่อผู้เขียนได้ยินมารดาบอกอย่างนั้น ก็น้อยใจว่ามารดาไม่ไปฝากฝังให้ จึงร้องไห้แล้วก็ยกหาบของถวายทานใส่บ่าเดินลงบ้าน ทั้งร้องไห้ไปตามทาง ทั้งกลัวว่าจะไม่ทันหลวงปู่จะฉันเสียก่อน เดินบ้าง วิ่งน้อยๆ บ้าง จนถึงครึ่งทางจึงหยุดร้องไห้ ระยะทางจากบ้านถึงวัดป่าสันติกาวาสประมาณ 3 กิโลเมตร ขณะขึ้นไปถึงบนศาลา เราเป็นคนสุดท้าย หลวงปู่กำลังเตรียมจะให้พร ยะถา รีบนำอาหารที่หาบไปเข้าถวายหลวงปู่ เสร็จแล้วก็ก้มกราบท่านสามครั้ง แล้วหลวงปู่ท่านถามว่า “วันนี้จะมาอยู่วัดหรือ” หลวงปู่บอกว่า “ถ้าจะอยู่วัด ฉันเสร็จแล้วไปให้เณรโกนผมให้” หลวงปู่ท่านล่วงรู้ใจเราก่อนแล้ว เมื่อเสร็จจากพระเณรท่านฉันจังหัน จึงไปให้ครูบาเณรท่านโกนผมให้ แล้วก็อยู่วัดกับหลวงปู่ตั้งแต่วันนั้นมา ขณะนั้นผู้เขียนอายุ 13 ปี หลวงปู่ท่านเรียก “สังกะลี” คือ เด็กที่โกนผมอยู่วัดเพื่อศึกษาเตรียมจะบวช
63#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ


หลวงปู่พาไปถวายเพลิงศพพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

ประมาณต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2506 หลวงปู่จะไปร่วมงานถวายเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร ก่อนจะถึงวันเดินทาง 1 วัน หลวงปู่ท่านบอกว่าให้สังกะลีไปด้วย พอได้ยินคำหลวงปู่สั่งให้ไปด้วย ผู้เขียนดีใจเป็นพิเศษ ที่จะได้ติดตามครูบาอาจารย์ไปในงานเช่นนี้ และเดินทางไกลซึ่งยังไม่เคยมีในชีวิต พอถึงตอนเช้าวันเดินทาง ญาติโยมเตรียมอาหารถวายหลวงปู่และพระที่จะเดินทางไปด้วย ให้ฉันแต่เช้า เมื่อฉันเสร็จแล้วต่างก็เตรียมบริขาร เครื่องใช้ลงในบาตร เตรียมเดินทาง

การเดินทางครั้งนั้นได้อาศัยไปกับรถยนต์ 6 ล้อ ที่บรรทุกขนย้ายครอบครัวของพ่อมูล ทัพพิลา ผู้เป็นน้องชายของหลวงปู่ ซึ่งย้ายครอบครัวจากบ้านหนองตูมไปอยู่บ้านห้วยทราย อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร พระที่ติดตามไปกับหลวงปู่มี 4 รูป คือ (1) อาจารย์คำไหม (2) หลวงปู่คำตัน ฐิตธมฺโม (3) ครูบาสม (4) ครูบาบุญมา และมีญาติโยมติดตามไปด้วย 5-6 คน พระนั่งข้างหน้ารถบรรทุก พวกโยมนั่งบนข้างของข้างหลัง ออกจากวัดสันติกาวาส เวลา 7 โมงเช้า วิ่งไปตามถนนลูกรังสายอุดร-สกลนคร ถึงบ้านห้วยทรายเป็นเวลาเย็น หลวงปู่พร้อมด้วยพระที่ติดตามและผู้เขียนซึ่งเป็นสังกะลี ขออาศัยพักค้างคืนที่ศาลาวัดบ้านห้วยทราย สมภารเจ้าวัดท่านก็ให้การต้อนรับดี ส่วนพวกญาติโยมก็พักกับครอบครัวของพ่อมูลที่เดินทางมาด้วยกัน

ตอนกลางคืนได้มีพวกญาติโยมบ้านห้วยทรายออกมาวัด กราบไหว้สนทนาปราศรัยกับหลวงปู่พอสมควร แล้วจึงได้เลิกกันพักผ่อน จวนสว่างได้เตรียมน้ำล้างหน้าและไม้สีฟันถวายหลวงปู่ เมื่อได้เวลาภิกขาจาร หลวงปู่พร้อมด้วยพระติดตามบิณฑบาตในหมู่บ้านห้วยทราย แล้วกลับมาฉันที่วัด เมื่อฉันเสร็จผู้เขียนนำบาตรไปล้าง หลวงปู่ท่านสอนให้เอาน้ำเทลงในบาตร ใช้มือกวนน้ำลูบเมล็ดข้าวในบาตร เทออกให้หมดก่อน การเทน้ำล้างบาตร ให้เทเป็นที่ ไม่ใช่สาดไปทั่ว แล้วท่านให้เก็บเอาใบไม้ที่มีอยู่ใกล้ๆ เช่น ใบมะม่วงนำมาถูบาตร ถ้าไม่มีที่รองบาตร ให้วางบาตรลงที่หลังเท้าตัวเอง ใช้ใบไม้ถูกบาตรให้สะอาด แล้วล้างด้วยน้ำ สะอาดแล้วให้เช็ดด้วยผ้าสำหรับเช็ดบาตร ซึ่งทั้งใช้นุ่งสรงน้ำด้วย การใช้ผ้าของพระกัมมัฏฐานในยุคนั้นใช้ให้คุ้มค่าทีเดียว เมื่อเช็ดบาตรแห้งดีแล้ว นำเข้าถลก

ส่วนฝาบาตรก็ให้ล้างให้สะอาด เพราะฝาบาตรท่านใช้สำหรับใส่น้ำไว้ล้างมือเวลาฉันข้าว เมื่อเสร็จแล้ว ต้องล้างด้วยกันกับบาตร ถ้าฝาบาตรมีรอยดำด่าง ท่านให้ขัดด้วยของเปรี้ยว เช่น ใบมะขาม หรือมะนาว เป็นต้น เพราะฝาบาตรในยุคนั้นเป็นทองเหลืองส่วนมาก ท่านห้ามไม่ให้ขัดด้วยทราย เพราะจะทำให้ฝาบาตรเป็นรอยและสึกกร่อนได้เร็ว การรักษาบาตรของพระเณรในยุคนั้น มีความระมัดระวังมากเท่ากับรักษาเด็กอ่อน เมื่อล้างเช็ดฝาบาตรให้แห้งแล้วก็เข้าถลกเหมือนกันกับลูกบาตร เมื่อล้างบาตรเข้าถลกเรียบร้อยแล้ว นำบริขารลงในบาตร นำบาตรเข้าถุงบาตรสำหรับสะพาย ผูกมัดให้ดีเรียบร้อยแล้ว เตรียมตัวเดินทางต่อไป

เดินทางต่อไปยังวัดดอยธรรมเจดีย์

หลวงปู่ให้ว่าจ้างรถโดยสารเล็ก ตัวถังทำด้วยไม้ ให้ไปส่งที่วัดดอยธรรมเจดีย์ เมื่อทั้งพระทั้งโยมนั่งรถเรียบร้อยแล้ว พระนั่งด้านหน้า โยมนั่งข้างหลัง สังกะลีนั่งหลังสุด รถออกจากบ้านห้วยทรายวิ่งไปตามถนนลูกรัง ที่ไหนมีคลื่นมากๆ รถเต็นกระโดกๆ ผู้นั่งข้างหลังตับโยกตับคลอนไปอย่างนั้นแหละ รถวิ่งผ่านตัวเมืองสกลนครไป มองเห็นเขาภูพานเป็นฉากกั้นอยู่ข้างหน้า ผู้เขียนไม่เคยเห็นภูเขาสักที เกิดความตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก บางขณะจิตก็คิดว่า เออ ทำไมภูเขาจึงมีสีดำสีเขียวทะมึน น่ากลัวจริงๆ บางขณะจิตก็ดีใจว่าบัดนี้เราจะได้ขึ้นภูเขา เกิดความชอบใจ เมื่ออยู่ห่างๆมองเห็นภูเขาสูงตระหง่านอยู่ข้างหน้า

พอรถวิ่งใกล้เข้าไป ถึงบ้านโคก ตำบลตองโขบ รถเลี้ยงออกจากถนนใหญ่ด้านขวามือ วิ่งไปตามทางเกวียนที่เต็มไปด้วยทราย บางทีก็เหมือนกับรถจะติดทราย ต้องค่อยขึ้นไปอย่างทุลักทุเล เมื่อรถวิ่งใกล้ภูเขาเข้าไปเท่าไร ภูเขาค่อยต่ำลง ต่ำลง พอรถวิ่งเข้าไปถึงตีนเขา ภูเขาที่อยู่สูงตระหง่านกลายเป็นภูเขาเตี้ยลง ในขณะที่รถวิ่งใกล้ภูเขาแต่ยังไม่ถึงตีนเขานั้น จะมองไม่เป็นภูเขาเลย ทำให้เกิดความแปลกประหลาด ว่าภูเขาวิ่งหนีไปไหน พอเราเข้ามาใกล้ทำไมมองไม่เห็น จนรถเข้าไปถึงตีนเขาจึงมองเห็นภูเขา เมื่อรถวิ่งไต่เขาขึ้นไป ก็มองเห็นเป็นเหมือนกับพื้นราบอีก พิจารณาดูแล้วก็เหมือนกับกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ที่มีอยู่ในใจของคนเรา เรามองเห็นมันเกิดอยู่ที่ผู้อื่น ดูแล้วเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา พอมันมาเกิดขึ้นในใจของตัวเองแล้ว มองไม่ค่อยเห็นเลย

64#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถึงวัดดอยธรรมเจดีย์

ถนนจากตีนเขาเข้าไปถึงศาลาวัดดอยธรรมเจดีย์นั้นเป็นก้อนหินขรุขระ รถวิ่งขลุกขลักๆ เข้าไปถึงศาลาการเปรียญซึ่งเป็นที่ตั้งศพของท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ทั้งพระทั้งโยมลงจากรถเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงพาขึ้นไปกราบนมัสการศพท่านพระอาจารย์กงมา ซึ่งยังตั้งอยู่บนศาลา ยังไม่เคลื่อนศพไปสู่เมรุ เพราะวันนั้นเป็นวันเริ่มงาน เมื่อกลับลงจากศาลา พระกรรมการแผนกต้อนรับพระนำหลวงปู่ไปพักที่กุฏิพักร่วมกันกับ ท่านพระอาจารย์แว่น ธนปาโล (วัดถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) พระที่ติดตามและสังกะลีพักที่ปะรำต้อนรับพระ ญาติโยมพักตามเพิงหินแถวใกล้ๆศาลา

บรรยากาศในงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์กงมา

ทั้งพระทั้งโยมได้เดินทางหลั่งไหลเข้ามาสู่วัดดอยธรรมเจดีย์ แม้พระและโยมจะมารวมกันมากๆ แต่บรรยากาศเต็มไปด้วยความสงบ ไม่พลุกพล่าน ไม่วุ่นวาย เหมือนสมัยทุกวันนี้ พระเณรกางกลดพักตามร่มไม้ลานหิน ตามปะรำที่จัดไว้ต้อนรับ กลางคืนแสงเทียนที่จุดไว้ตามที่พักของแต่ละองค์ ตามลานหินตามยอดเขา มองดูแล้วเป็นสิ่งที่ประทับใจไม่มีวันลืม ธรรมชาติช่างมีความเยือกเย็นสวยงามอย่างสงบๆ เวลากลางวันตอนตะวันบ่ายๆ มองไปเห็นครูบาอาจารย์ท่านนั่งสนทนาธรรม ถามข่าวคราวกันตามลานหินใต้ร่มไม้ นานๆ จะได้พบกันครั้งหนึ่ง มองดูแล้วทำให้เกิดความเลื่อมใสเยือกเย็นในจิตใจ

ในครั้งนั้นน้ำกันดาร น้ำอาบน้ำใช้ไม่พอใช้ในวันงาน พระเณรท่านก็ทนเอา บางองค์ก็แค่เอาผ้าเช็ดเอาก็พอ บางองค์ท่านก็ไม่อาบไม่สรง ท่านก็ทนเอา ไม่มีพระเณรโวยวายอย่างนั้นอย่างนี้ การแย่งอาหาร แย่งปัจจัยไทยทาน ไม่มีเหมือนทุกวันนี้ ตอนเย็นทั้งพระทั้งโยมรวมประชุมกันทำวัตรเย็น สวดมนต์ บนศาลาการเปรียญ ตอนเช้าพระเณรออกบิณฑบาตในหมู่บ้านด้วย บิณฑบาตกับญาติโยมแต่ละหมู่บ้านที่มาร่วมงานด้วย พระเณรรวมกันฉันบนศาลา เต็มไปด้วยครูบาอาจารย์และพระเล็กเณรน้อย

เป็นผู้มีนิสัยในการถ่อมตน

หลวงปู่ท่านนั่งปะปนอยู่กับพระเล็กเณรน้อย พอท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร มาพบเข้า จึงพูดว่า “ไม่ได้ๆ ท่านอาจารย์บุญจันทร์มานั่งปนกับพระเล็กเณรน้อย” ท่านจึงย้ายเอาที่นั่งของหลวงปู่ขึ้นไปบนอาสนสงฆ์

เมื่อถึงวันถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์กงมา คณะศิษย์ได้เคลื่อนศพของท่านจากศาลาการเปรียญไปตั้งที่เมรุ ก่อนถึงพิธีถวายเพลิงศพ ได้มีครูบาอาจารย์พระภิกษุสามเณรขึ้นรวมกันที่ปะรำพิธีจำนวนประมาณ 500 รูป มีท่านหลวงปู่เทสก์ เทสฺรงฺสี เป็นประธานสงฆ์ นายวัน คมนามูล ได้ถวายฉลากสิ่งของที่นำมาถวายพระ ให้พระเณรจับฉลาก องค์ไหนถูกอะไรก็นำของถวาย หลวงปู่จับฉลากถูกย่าม 1 ใบ เสร็จจากการมาติกาบังสุกุลและถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสามเณรแล้ว ก็เป็นพิธีถวายเพลิงศพ

เดินทางกลับมาพักที่บ้านห้วยทรายอีก

หลวงปู่พาพักที่วัดดอยธรรมเจดีย์ 3 คืน เมื่อเสร็จจากการถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์กงมา ตอนเช้าเก็บอัฐิเรียบร้อยแล้ว ฉันจังหันเช้าเสร็จ รถคันที่ไปส่งก็ได้กลับไปรับ ผู้เขียนได้เก็บเสื่อหมอนจากปะรำที่พระพัก ทั้งของตัวเองและของผู้อื่น มารวมไว้ที่ศาลา เดินขึ้นลงที่เขาพระนอน 3 เที่ยว จนหมดแรง เมื่อเก็บสิ่งของเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงพาเดินทางกลับมาพักที่วัดบ้านห้วยทรายอีก กลับมาถึงบ้านห้วยทรายยังไม่ค่ำ หลวงปู่คำตันจึงนิมนต์ให้หลวงปู่ไปเยี่ยมญาติของท่าน และอบรมธรรมะญาติพี่น้องของท่านด้วย ผู้เขียนได้ติดตามไปด้วย นั่งฟังพวกชาวภูไทพูดไม่รู้เรื่องเลย แต่หลวงปู่ท่านรู้ภาษาภูไท เมื่ออบรมพอสมควรแล้ว ก็กลับมาพักที่วัดบ้านห้วยทราย

ตอนเช้าโยมแม่สอ-พ่อจันทร์ได้นิมนต์หลวงปู่ พร้อมพระที่ติดตาม เข้าไปฉันเช้าที่บ้าน เมื่อฉันเสร็จแล้ว หลวงปู่คำตันก็เดินทางกลับไปวัดดานศรีสำราญ ส่วนอาจารย์คำไหม ครูบาสม ครูบาบุญมานั้น หลวงปู่ให้เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส ไชยวาน ก่อน ส่วนตัวหลวงปู่และผู้เขียนและโยมพ่อใหญ่พัน ได้พักวิเวกอยู่ที่ป่าไผ่ ริมห้วยทราย ซึ่งเป็นสวนของนายสมศักดิ์ พวกโยมช่วยกันทำร้านถวายหลวงปู่ใต้ร่มไผ่ และทางสำหรับให้ท่านเดินจงกรมด้วย พอตอนเย็นสรงน้ำเสร็จแล้ว ท่านจะเดินจงกรมเสียก่อน พอตอนมืดแล้วมีโยมมาหา ท่านก็สนทนาอบรมธรรมะให้ พอพวกโยมกลับไป ท่านก็เข้าในมุ้งกลดทำสมาธิภาวนาต่อไป ผู้เขียนและพ่อใหญ่พันพักใต้ร่มไผ่ห่างจากท่านไปอีกหน่อย

ตอนเช้าเตรียมน้ำถวายให้ท่านล้างหน้าชำระฟัน พอได้เวลาบิณฑบาต ท่านไปบิณฑบาตที่บ้านน้อยหัวคู ท่านนุ่งสบงห่มจีวรซ้อนผ้าสังฆาฏิ เดินออกหน้า ผู้เขียนเป็นสังกะลีสะพายบาตรคล้องคอเดินตามหลังท่านไป พอถึงหมู่บ้าน นำบาตรถวายท่าน บิณฑบาตไปตามถนนในหมู่บ้าน พอดีมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งนำข้าวมาใส่บาตร พร้อมด้วยปลาแห้งที่ยังไม่ทำให้สุกด้วยไฟ ท่านไม่รับปลาแห้ง เพราะยังเป็นของดิบอยู่ ท่านจึงบอกให้สังกะลีรับ ปกติสังกะลีรักษาศีลแปดไม่รับของต่อมือผู้หญิง ไม่รู้จะทำอย่างไร เก้ๆ กังๆ พอนึกได้จึงเอาผ้าขนหนูที่ห่มไปด้วย กางออกให้เขาวางปลาแห้งลงในผ้า

พอท่านบิณฑบาตเสร็จกลับออกจากบ้าน รับบาตรท่านแล้วเดินตามหลัง ท่านมาถึงที่พัก นำน้ำมาถวายล้างเท้า เทน้ำใส่แต่หลังเท้า แล้วท่านก็พูดว่า “คนไม่ฉลาดล้างเท้าก็ไม่เป็น เทลงแต่ที่เดิม” คือ ท่านให้เทน้ำใส่ให้ทั่วเท้าแล้วให้เอามือลูบถูด้วย เท้าจึงสะอาด พักอยู่ 3-4 วัน เกิดพายุฝนตกหนักตอนกลางวัน นายสมศักดิ์จึงนิมนต์ให้หลวงปู่ขึ้นไปพักที่บ้านว่างของเขา 1 คืน แล้วหลวงปู่จึงพาเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส ไชยวาน

ถือฉันหนเดียวเป็นวัตร

ระหว่างที่นั่งรถโดยสารมาถึงตลาดพังโคน ขณะนั้นยังไม่ถึงเวลาเที่ยง มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งเกิดเลื่อมใสในหลวงปู่ จึงซื้อน้ำมะพร้าวอ่อนถวายหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่า “อาตมาถือฉันหนเดียว ขออนุโมทนาด้วย น้ำมะพร้าวเป็นประเภทอาหาร” ท่านสอนธรรมะแก่ลูกศิษย์ไปในตัว ด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

หลวงปู่ท่านสอนลูกศิษย์นั้นส่วนมากท่านจะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่เพียงแต่พูดให้ฟัง ท่านพิถีพิถันมากในการปฏิบัติธุดงควัตร ไม่เพียงแต่ไปเดินธุดงค์ เที่ยวธุดงค์เฉยๆ สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติในธุดงควัตร คือ ธุตธรรม ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ แล้วปฏิบัติเพื่อเป็นการกำจัดกิเลสเครื่องโลเลในใจให้เบาบางไป ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมีอยู่ 13 ข้อ ขอให้ดูในเรื่องธุดงควัตรเถิด เมื่อรถโดยสารวิ่งมาถึงปากทางแยกไชยวาน บอกให้คนขับรถหยุดรถ หลวงปู่พาลงจากรถแล้ว พ่อใหญ่พันสะพายบาตร ผู้เขียนถือกลดและกาน้ำ หลวงปู่สะพายย่าม เดินจากทางแยกจนถึงวัดป่าสันติกาวาส

65#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขอหลวงปู่บวชเป็นชีผ้าขาว

กลับจากบ้านห้วยทรายอยู่มาถึงวัน 15 ค่ำ เป็นวันพระ ผู้เขียนจึงกราบเรียนขอโอกาสต่อหลวงปู่บวชเป็นชีผ้าขาว หลวงปู่ถามว่า “มีเหตุผลอย่างไรจึงอยากจะบวชเป็นชีผ้าขาว” ผู้เขียนจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า “เป็นสังกะลีเฉยๆ รักษาศีล 8 โยมผู้หญิงเขาไม่รู้ว่าเรารักษาศีล 8 บางทีเขาก็เอามือมาตบหลัง บางทีเขาก็มาจับแขนเอา ทำให้ไม่สบายใจ ถ้าบวชนุ่งห่มผ้าขาวแล้ว เขาคงจะเข้าใจว่าเป็นผู้รักษาศีล แล้วจะไม่ทำอย่างนั้นอีก” หลวงปู่ตกลงให้บวชนุ่งขาวห่มขาว แล้วสมาทานศีล 8 หลวงปู่ท่านเป็นผู้ละเอียดในเหตุผล จะทำอะไรท่านต้องให้มีเหตุผลไม่ให้ทำสุ่มสี่สุ่มห้า เมื่อบวชเป็นผ้าขาวแล้ว หลวงปู่สอนให้ท่องสวดมนต์ไหว้พระให้ได้ และสอนให้ทำกิจวัตร ข้อวัตร อาจาริยวัตร ให้มีความเคารพในพระภิกษุสามเณร

ข้อวัตรยามเช้า

ตอนเช้าท่านให้ตื่นแต่ตี 3 ล้างหน้า แล้วไหว้พระทำวัตรเช้า นั่งภาวนาแล้วให้ลงเดินจงกรม ตีห้าให้ลงศาลา กวาดถูเสร็จแล้ว ปูลาดอาสนะ ตั้งกระโถน การวางกระโถนนี้ท่านสอนให้วางไม่ให้มีเสียงดัง ท่านสอนว่าเวลาวางลงให้เอานิ้วมือของเรารองลงไปก่อน แล้วค่อยเอามือออก จะไม่มีเสียงของก้นกระโถนกระทบพื้น ถ้าใครวางโป้ง โป้ง จากศาลาได้ยินไปถึงกุฏิท่าน (เพราะมันเงียบสงัด) เวลาจะฉันข้าว ท่านจะเทศน์สอนอย่างหนักเลย “ตามีไม่ดู หูมีไม่ฟัง ใจมีไม่คิด หาสติสตังไม่ได้ อยู่อย่างไรอยู่กับครูบาอาจารย์ อยู่ให้ท่านหนักอกหนักใจ อยู่แล้วไม่ฝึกไม่หัด สติปัญญาไปไหนหมด” เวลาลงสุดท้ายท่านก็จะเหน็บว่า “สอนแล้วไม่ตั้งใจ ไม่ฝึกตน ไม่เอาใจใส่ ไม่ระมัดระวัง ไม่มีสติสตัง หนีไหนก็ไป อย่ามาอยู่ที่นี้ ถ้าไม่เชื่อครูบาอาจารย์” เป็นคำที่ท่านเหน็บสุดท้าย เพื่อให้บรรดาลูกศิษย์มีความเข็ดหลาบระมัดระวัง

พอสว่างแล้วก็ไปคอยปฏิบัติ รับบาตร รับกาน้ำของท่านลงมาศาลา สามเณรผ้าขาวคนไหนมีหน้าที่ปฏิบัติพระองค์ใด ก็ให้คอยปฏิบัติองค์นั้นประจำเป็นกิจวัตร สำหรับองค์หลวงปู่นั้น ผู้เขียนมีหน้าที่ปฏิบัติท่านกับครูบาสม เมื่อลงไปถึงกุฏิท่านแล้ว ท่านสอนให้นั่งภาวนาคอยอยู่ที่ประตูกฏิท่าน เวลาเดินไปกุฏิท่านก็ไม่ให้มีเสียงเดิน ต้องระวังขนาดนั้นแหละ นั่งคอยจนกว่าท่านจะเปิดประตูแล้วก็รับกระโถนท่านไปล้าง ครูบาสมก็นำกาน้ำและยาสีฟันถวายน้ำล้างหน้า เสร็จแล้วกวาดถูกฏิท่านเสร็จแล้วครูบาก็นำบาตรและย่ามของท่านลงศาลาที่ฉัน ผู้เขียนนำกาน้ำไปกรองน้ำใส่

การกรองน้ำใส่กา ท่านก็สอนให้มีประมาณด้วย ว่าเคยเอาใส่ขนาดไหนต้องให้ขนาดนั้น ถ้าวันไหนเราเผลอสติใส่ไปเกินขนาด ท่านจะรู้ทันที ท่านจะถามว่า “วันนี้ใครทำ” เรารับว่า “เกล้ากระผม” แล้วท่านจะขึ้นว่า “หาสติสตังไม่ได้” ท่านจะสอนสั้นๆ แค่นี้ แต่เราเจ็บเข้าไปถึงขั้วหัวใจเลยทีเดียว เมื่อครูบานำบาตร ย่าม และผ้าสังฆาฏิมาถึงศาลา ปูผ้านิสีทนะบนอาสนะนั่งของท่าน แล้ววางย่ามให้ถูกที่เดิม รับประเคนกาน้ำ ตั้งให้ถูกที่เดิม และเอาจีวรของท่านซ้อนสังฆาฏิไว้

หลวงปู่ลงจากกุฏิแล้วท่านจะเดินรอบวัด ดูตามกุฏิพระเณร แล้วกลับเข้าศาลา ท่านกราบพระประธาน แล้วก็ลุกคลุมจีวรที่ซ้อนสังฆาฏิไว้ ผู้เขียนเป็นผ้าขาวรีบเข้าไปจับเอาเสื่อที่เตรียมไว้ ปูรองผ้าที่ท่านกำลังคลุมอยู่ ไม่ให้ถูกพื้น แล้วกลัดลูกดุมรังดุมของจีวรและสังฆาฏิถวายท่าน พอท่านคลุมผ้าเสร็จก็เก็บเสื่อม้วนๆไว้ที่เดิม รีบสะพายบาตรของท่านคล้องคอแล้วเดินตามท่านไปส่งบาตร

หลวงปู่ท่านเดินเร็ว ระยะทางจากวัดถึงหมู่บ้านไชยวาน 2 กิโลเมตร ถนนเต็มไปด้วยทราย เป็นทางล้อเกวียน บางทีเดินไม่ทันท่าน ต้องวิ่งเหยาะๆ พอถึงหมู่บ้านนำบาตรถวายท่าน แล้วท่านก็เข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านไชยวาน ท่านเดินในหมู่บ้านอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อท่านออกจากหมู่บ้าน หมดคนใส่บาตรแล้ว เข้ารับบาตรจากท่าน แล้วต้องรีบเดินก่อน ให้ถึงวัดก่อนท่าน วางบาตรถอดถลกบาตร แล้วเตรียมน้ำคอยล้างเท้า เช็ดเท้าท่าน เมื่อท่านมาถึง พระเณรลูกศิษย์ต้องคอยล้างเท้าเช็ดเท้าถวาย แล้วรับผ้าสังฆาฏิ ถ้าเหงื่อชุ่มก็ผึ่งก่อนค่อยเก็บพับให้เรียบร้อย

จากนั้นก็เป็นการเตรียมฉันอาหาร มีอาหารอะไรก็เตรียมแจกอาหารลงในบาตร พระเณรลูกศิษย์องค์ไหนบิณฑบาตได้ของที่ดีๆ เช่น กล้วยน้ำว้าสุก หรือน้ำอ้อยก้อน หรือลูกกระจอนต้ม ซึ่งหลวงปู่ชอบฉันกับน้ำพริก ใครได้ของอะไรแปลกๆ ก็นำมาใส่บาตรถวายหลวงปู่ บางทีท่านก็บอกว่า “ทำไมไม่ฉันเอง” แต่ลูกศิษย์ลูกหามีความเคารพ เมื่อได้ใส่บาตรถวายท่านทำให้เกิดปีติเอิบอิ่มใจเป็นอันมาก

เมื่อแจกอาหารลงในบาตรเสร็จแล้ว ท่านก็สอนให้พิจารณาอาหารปัจจเวกขณ์ คือพิจารณาเสียก่อนจึงฉัน บางทีเราส่งจิตไปกระทบท่าน เวลาพิจารณาอาหารอยู่ เราไปนึกว่า “เมื่อไหร่จะพาฉัน” อย่างนี้ ท่านจะพูดขึ้นเลยว่า “ให้พิจารณาอาหาร ยังส่งจิตไปคิดอย่างอื่น ดูซิอะไรมันพาอยากอยู่นั้น เมื่อไรจะฉัน เมื่อไรจะฉันอยู่นั้น ดูซิฉันแล้วมันไปเป็นอะไร ตัวที่มันเซ็นเอาเซ็นเอาอยู่นั้นมันคืออะไร” เมื่อท่านสอนให้พิจารณาเสร็จแล้วจึงพาลงมือฉัน

กิเลสไม่รู้จักอาย

มีอยู่วันหนึ่งขณะที่หลวงปู่ท่านสอนให้พิจารณาอาหารอยู่ มีพระองค์หนึ่งทนความอยากไม่ได้ เพราะส่งจิตออกตามความอยาก พระองค์นั้นจึงพูดขึ้นตรงๆ ว่า “อยากเด” (อยากมาก) หลวงปู่จึงพูดขึ้นว่า “อยากกะฉันถะแม้” (อยากก็กินเสีย) แล้วท่านก็เทศน์สอนไปอีกประมาณครึ่งชั่วโมงจึงพาฉัน แต่พระองค์นั้นพอพูดขึ้นแล้วท่านก็ฉันไปเลย นี้เรื่องกิเลส ถ้ามันได้กดหัวใจใครแล้วไม่มีความอาย

ข้อวัตรเมื่อฉันเสร็จ

เมื่อฉันเสร็จแล้ว เวลานำบาตรไปล้างในที่ล้างบาตรและกระโถน ท่านไม่ให้คุยกันเวลาล้างบาตรเช็ดบาตร ต่างให้ตั้งสติทำด้วยความสงบ ไม่ให้โลเล ล้างบาตรเสร็จเก็บกวาดที่ฉัน เก็บบริขารของครูบาอาจารย์ไปสั่งกุฏิของท่าน แล้วเก็บของตัวเอง จากนั้นก็เข้าสู่ทางเดินจงกรม เป็นกิจวัตรที่ท่านให้ปฏิบัติอยู่ตลอดมา

66#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ไปวิเวกที่ดงหนองควาย

หลังจากหลวงปู่กลับจากบ้านห้วยทรายมาพักอยู่ที่วัด พอถึงต้นเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน พวกญาติโยมชาวบ้านห้วยทรายได้ตามมานิมนต์หลวงปู่ ให้ไปพักวิเวกที่ดงหนองควาย ซึ่งอยู่ใกล้ตีนเขาภูพาน พวกโยมได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า ที่ดงหนองควายนี้ผีมันดุ ใครไปทำอะไร ถางไร่ ทำนาใกล้ที่นั้นไม่ได้ ต้องมีอันเป็นไป จึงอยากนิมนต์ให้ท่านอาจารย์ไปโปรดสักระยะหนึ่งด้วย หลวงปู่รับนิมนต์ จึงให้หลวงพ่อคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายท่าน และผ้าขาวเสนติดตามไปด้วย พอไปถึงพวกญาติโยมได้ช่วยกันทำร้าน กระท่อมมุงหญ้าคา แอ้มฝาใบตอง 3 ที่ ถวายให้พักอยู่ห่างๆ กัน

ในดงหนองควายนี้มีพื้นที่เป็นป่าดงดิบ อยู่ประมาณ 200 ไร่ เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ และต้นมะแวงมะไฟ ในระยะนั้นมะไฟสุกเต็มต้นเหลืองอร่าม ต้นไหนลูกหวาน พวกลิงพากันกิน ถ้าต้นไหนลูกเปรี้ยว ลิงไม่กิน ของป่าธรรมชาติมีอยู่เต็ม หัวกลอย หัวมันเหลืองมันดำมีอยู่เต็มในบริเวณนั้น และมีหนองน้ำธรรมชาติอยู่ในป่านั้น พวกควายป่าชอบมากินน้ำ นอนแช่น้ำที่นั้น เขาจึงเรียก ดงหนองควาย

หลวงปู่ไปพักอยู่ได้ประมาณครึ่งเดือน ครูบาสมและผู้เขียนจึงได้ตามไปพักวิเวกอยู่กับหลวงปู่ด้วย พวกโยมได้ทำกระท่อมให้ครูบาสมอีก 1 หลัง ผู้เขียนขณะนั้นบวชเป็นชีผ้าขาวแล้ว ได้พักอยู่ที่ผาม (เพิงหมาแหงน) ใหญ่ ที่สำหรับเป็นที่รวมฉันอาหารเช้า หลังฉันจังหันเช้าเสร็จแล้ว หลวงปู่ก็พูดธรรมอบรมญาติโยมที่ไปถวายอาหารเช้า เมื่อโยมกลับไปแล้ว ท่านก็เดินจงกรมไปถึงเที่ยงวัน ท่านจึงพักผ่อนตอนบ่าย ผู้เขียนและโยมผู้ชายหาเก็บมะไฟ ต้นไหนหวานที่มีรอยพวกลิงเก็บกิน ก็ขึ้นเก็บเอามาทำน้ำปานะถวายหลวงปู่ หลวงพ่อคำสิงห์ และครูบาสมด้วย

สิ่งน่าอัศจรรย์ได้เกิดขึ้น

อยู่มาวันหนึ่ง แม่ออกสอมาถวายจังหันเช้าเสร็จแล้ว ได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า “ที่ไร่ข้าน้อย (ที่ไร่ดิฉัน) ปลูกถั่วดิน (ถั่วลิสง) และมะเขือไว้ มีแมลงผักโหมมาลงกินใบถั่วดินและใบมะเขือเต็มไปหมดไม่รู้จะทำอย่างไร” หลวงปู่จึงบอกว่า “วันนี้ให้ตักน้ำไปไว้ในไร่หลายๆ หาบ ตอนบ่ายจะออกไปสรงน้ำให้” เมื่อโยมแม่สอได้ฟังแล้วก็ดีใจ รีบกลับออกไปที่ไร่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากดงหนองควาย เอาครุกระแป๋งตักน้ำมาตั้งไว้ที่กลางไร่หลายหาบ พอถึงตอนบ่าย หลวงปู่สั่งให้ครูบาสมและผู้เขียนถือเอาผ้าอาบน้ำและผ้าเช็ดตัวของท่าน แล้วท่านพาเดินออกไปที่ไร่โยมแม่สอ

พอไปถึง มองดูแมลงผักโหมเต็มไปหมด ตามต้นถั่วดินต้นมะเขือ มันกัดกินใบ ท่านพาไปหยุดที่ครุน้ำที่ตั้งอยู่กลางไร่ ผู้เขียนนำผ้าอาบน้ำเปลี่ยนผ้าถวายท่าน เสร็จแล้วท่านก็สรงน้ำ ครูบาสมกับผู้เขียนก็ถูหลังถวายท่าน เมื่อสรงน้ำเสร็จก็นำผ้าเปลี่ยนถวายท่าน รับเอาผ้าอาบน้ำมาบิด เรียบร้อยแล้วท่านก็พาเดินกลับที่พักในดงหนองควาย วันรุ่งขึ้น แม่สอมารายงานว่า แมลงผักโหมได้หนีออกจากไร่หมดไม่เหลือเลย เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์

นายพรานแอบยิงไก่ป่า

ในขณะที่หลวงปู่พักวิเวกอยู่ที่ดงหนองควายนั้น มีโยมคนหนึ่งพูดให้ท่านฟังว่า ที่หลังเขาภูพานมีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่งเป็นถ้ำใหญ่ หลวงปู่จึงอยากขึ้นไปเที่ยวดู มีนายพรานป่าคนหนึ่งอยู่ที่บ้านพานทอง แกเป็นคนรู้จักทางไปที่ถ้ำนั้น จึงนัดหมายให้แกพาไป พอฉันเช้าเสร็จ ก็ออกเดินทางจากที่พักขึ้นหลังเขาภูพาน หลวงปู่ให้ผู้เขียนติดตามไปด้วย และก็มีโยมไปด้วยหลายคน เดินไปตามป่าตามเขานั้น มีนายพรานป่าเป็นคนเดินน้ำหน้า

พอไปถึงกลางป่าที่ห่างผู้คน ก็ได้ยินเสียงไก่ป่าขันประชันกันตามประสาของมันที่อยู่ตามป่าพนาไพร นายพรานที่เป็นคนนำทางแกสะพายปืนเพลิงไปด้วยตามประสาของพรานป่า เมื่อแกได้ยินเสียงไก่ป่าขันประชันกันเจื้อยแจ้ว แกก็ทำทีเป็นปวดท้องถ่าย แกจึงให้หลวงปู่และโยมที่ไปด้วยเดินไปก่อน ส่วนตัวแกทำทีเดินหลีกไปถ่าย

แต่ที่จริงแกเดินไปหาเสียงไก่ป่าที่ขันอยู่ แกไปดักยิงไก่ป่า ยิงอย่างไรสับอย่างไรปืนก็ไม่แตก พยายามเล็งกระบอกปืนไปที่ตัวไก่ สับไกปืนอย่างไรก็ไม่แตกำ สุดท้ายแกจึงหยุด แล้วกลับมาหาหลวงปู่และหมู่ที่เดินคอยแกอยู่ เมื่อแกกลับมาถึงหลวงปู่แล้ว แกจึงสารภาพว่า แกไปดักยิงไก่ป่า ทำอย่างไรๆ ปืนก็ไม่แตก หลวงปู่ท่านยิ้มๆ แล้วพูดว่า “ไปยิงเขาทำไม เขาก็รักชีวิตเขาเหมือนกัน มันเป็นบาป อย่าไปทำอย่างนั้น”

ไปถึงถ้ำตะวันบ่ายแล้ว เป็นถ้ำที่ไม่ใหญ่เท่าไร แต่ก็หลบฝนได้ ฝนตกไม่เปียก เขาเรียกชื่อถ้ำนี้ว่า “ถ้ำกระ ดอ” หลวงปู่บอกว่า “มันอยู่ไกลหมู่บ้านคนมาก ถ้ามาอยู่ก็ไม่มีที่บิณฑบาต” เมื่อดูถ้ำแล้วจึงได้เดินเลียบภูเขากลับมาเรื่อยๆ หลวงปู่ท่านเก่งทางสมุนไพร ต้นนั้นเป็นยานั้น ต้นนี้เป็นยานี้ ท่านก็ให้ถากเอาเปลือกบ้าง ขุดเอารากบ้าง มาไว้ทำยา กลับมาถึงที่พักก็ค่ำพอดี

หลวงปู่พักวิเวกอยู่ดงหนองควายจนถึงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2506 ใกล้วันจะพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี หลวงปู่จึงลาญาติโยมที่อุปถัมภ์ พวกญาติโยมพากันอ้อนวอน อยากให้หลวงปู่สร้างเป็นวัดที่ดงหนองควาย โดยเฉพาะผู้เป็นหัวหน้านายชลประทานที่บ้านประชาสุขสันต์ ในขณะนั้น มีอยู่เฉพาะพวกที่ทำงานชลประทาน เพราะกำลังก่อสร้างชลประทานบ้านประชาสุขสันต์อยู่ เขาอยากให้หลวงปู่อยู่เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ถ้าหลวงปู่อยู่ด้วย หัวหน้าชลประทานเขารับจะจัดการเรื่องที่ดินตั้งวัดให้ ในจำนวนสองร้อยไร่นี้ หลวงปู่ท่านปฏิเสธไม่รับ เพราะนิสัยของท่านไม่ชอบสร้างวัดหลายวัด ในชีวิตของท่านที่บวชมาในพุทธศาสนานี้ ท่านสร้างวัดป่าสันติกาวาสวัดเดียว แล้วท่านก็อยู่จนมรณภาพ

ในขณะที่ท่านพักอยู่วิเวกดงหนองควายนั้น พวกผีภูมิที่อาศัยอยู่ที่หนองควายนั้นเขาอยู่ไม่ได้ ไปเข้าฝันพวกชาวบ้านว่า “พระธรรมมาอยู่ดงหนองควาย พวกเราอยู่ไม่ได้แล้ว กลัวท่าน จะอพยพหนีขึ้นไปอยู่บนภูพาน” แล้วก็หอบลูกจูงหลานพากันหนีขึ้นภูพานไป พวกโยมเขามาเล่าให้หลวงปู่ฟัง

หลวงปู่ว่า “พวกผีนี้ก็เพราะไม่มีบุญกุศลคุณงามความดี ศีลธรรมไม่มีในใจ จึงไปเกิดเป็นผี เมื่อพระมาอยู่ใกล้ก็กลัวแล้วก็หนีไป เหมือนกับคนเราเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ไม่ยินดีในศีลธรรมบุญกุศล หมู่ชวนไปหาพระก็ไม่ไป เพราะกลัวเห็นพระเดินมาจะสวนทางก็แอบหลบเข้าข้างทาง นี้มันเป็นอย่างนี้เรื่องผีกลัวพระแต่เป็นคนอยู่ก็กลัวเมื่อตายเป็นผีแล้วก็ยังกลัวอีก”

กลับจากวิเวกที่ดงหนองควาย

เมื่อหลวงปู่ลาญาติโยมที่ให้การอุปัฏฐาก และคืนเสนาสนะและเครื่องใช้สอยให้แก่ญาติโยมแล้ว จึงได้เดินทางจากดงหนองควาย กลับวัดป่าสันติกาวาส พอวันที่ 2 มิถุนายน เป็นวันงานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี หลวงปู่และบรรดาพระกัมมัฏฐานได้ออกจากป่ามาร่วมงานท่านเป็นจำนวนมาก หลวงปู่อยู่ร่วมงานจนเสร็จจึงได้กลับวัด

ช่วงก่อนเข้าพรรษา วันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์ศรี มหาวีโร (ภายหลังท่านพระอาจารย์ศรีย้ายไปอยู่วัดป่ากุง หรือวัดประชาคมวนาราม จังหวัดร้อยเอ็ด และปัจจุบันมรณภาพแล้ว) และ ท่านพระอาจารย์สรวง สิริปุญโญ พร้อมด้วยพระอีก 1 องค์ และผ้าขาว 1 คน ได้เที่ยววิเวกมาจากทางจังหวัดนครพนม ได้มาพักค้างคืนกับหลวงปู่ที่วัดป่าสันติกาวาส 1 คืน วันรุ่งขึ้นจึงเดินทางต่อไปทางจังหวัดอุดรธานี


พระอาจารย์ศรี มหาวีโร


พระอาจารย์สรวง สิริปุญโญ
67#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


๏ พ.ศ. 2506 พรรษาที่ 28
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 28

ในพรรษา หลวงปู่ก็ได้พาพระภิกษุสามเณรปฏิบัติธุดงควัตรเหมือนที่เคยปฏิบัติมา อบรมญาติโยมที่มารักษาอุโบสถศีลในวันพระ 8 ค่ำ 14-15 ค่ำ เป็นประจำ รู้สึกว่ามีผู้มารักษาอุโบสถศีลและฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาเป็นจำนวนมากเป็นพิเศษ บางวันพระก็มีถึง 200 คน 300 คนก็มี บางวันพระหลวงปู่ก็อบรมเอง บางวันพระก็ให้หลวงพ่อสุจินต์ ผู้เป็นลูกศิษย์ที่ท่านไว้วางใจ ได้เป็นผู้อบรมแนะนำญาติโยมนั่งสมาธิภาวนาแทนหลวงปู่ แต่หลวงปู่ก็นั่งฟังอยู่ด้วย เมื่อจบจากการอบรมพานั่งสมาธิภาวนาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของหลวงปู่แสดงธรรมและตอบปัญหาธรรมแก่ญาติโยมไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาตี 1 ตี 2 เป็นประจำ ท่านจึงลงจากศาลากลับกุฏิของท่าน บางวันพระก็อยู่จนตี 4 พาญาติโยมทำวัตรเช้าจนสว่างแล้วจึงเลิกกัน

รักษาไข้ด้วยธรรมโอสถ

ในวันนั้นเมื่อสว่างแล้ว ถึงเวลาปฏิบัติอาจาริยวัตร ผู้เขียนและครูบาสมไปคอยที่ประตูกุฏิกลางน้ำที่ท่านพักอยู่จนสาย ถึงเวลาบิณฑบาตท่านก็ยังไม่เปิดกุฏิ ครูบาสมจึงให้ผู้เขียนคอยปฏิบัติท่านอยู่คนเดียว ครูบาก็ไปบิณฑบาต จนพระเณรที่ไปบิณฑบาตทุกสายได้กลับมาถึงวัดหมด ท่านก็ยังไม่เปิดกุฏิ ชำเลืองหูฟังข้างในกุฏิท่าน ก็เงียบไม่มีเสียงอะไร จนถึงเวลาฉันท่านก็เงียบ หลวงพ่อสุจินต์จึงลงจากศาลามาที่กุฏิหลวงปู่ แล้วหลวงพ่อสุจินต์พูดว่า “ไม่ใช่ท่านเป็นอะไรไปแล้วหรือ” จึงหาวิธีจะพังหน้าต่างเข้าไปดู

พอหลวงปู่ท่านได้ยินว่ากำลังจะพากันพังหน้าต่างกุฏิท่าน ท่านจึงตะโกนออกมาว่า “ถ้าตายมันก็จะเหม็นดอก” แล้วท่านก็เงียบไป พวกลูกศิษย์จึงพากันกลับไปฉันที่ศาลา ในวันนั้นคอยปฏิบัติท่านอยู่ตลอด ท่านก็ไม่เปิดกุฏิ จนเวลา 2 ทุ่ม ท่านจึงเปิดกุฏิ ลูกศิษย์เข้าไปปฏิบัติถวายน้ำร้อนน้ำฉัน ท่านจึงบอกว่า ท่านเข้าที่ภาวนา เพราะท่านไม่สบายเป็นไข้ ในวันนั้นท่านเลยไม่ฉันอาหารเลย พอไข้หาย วันหลังมาท่านค่อยฉัน นี้เป็นนิสัยของท่านเวลาไม่สบาย ท่านจะเข้าที่ภาวนา ไม่ให้ใครไปรบกวน

ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูตสายที่ 5

ย่างเข้าปี พ.ศ. 2507 หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูตสายที่ 5 ออกอบรมประชาชนในเขตอำเภอหนองหาน หลวงปู่ได้ให้หลวงพ่อสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต ผู้เป็นลูกศิษย์ ซึ่งท่านก็มีหน้าที่เป็นพระธรรมทูตเหมือนกัน เป็นผู้ออกอบรมประชาชนตามจุดต่างๆ ส่วนหลวงปู่เป็นผู้คอยออกไปเยี่ยมสนับสนุนทำให้ประชาชนได้เข้าใจในการปฏิบัติ และขอถึงพระไตรสรณคมน์เป็นจำนวนมาก

เมื่อถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2507 หลวงปู่ท่านอนุญาตให้ผู้เขียนบวชเป็นสามเณรได้ ก่อนบวชท่านได้เป็นผู้ฝึกคำขานนาคให้ ท่านพิถีพิถันมาก ถ้าออกเสียงไม่ถูก ท่านไม่เอา ต้องให้ว่าอยู่นั้นแหละ ท่านฝึกให้อยู่ 15 วัน เห็นว่าใช้ได้แล้วจึงอนุญาตให้ไปบวชได้
68#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พ.ศ. 2507-2508 พรรษาที่ 29-30
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในพรรษาปี พ.ศ. 2508 นี้ หลวงพ่อสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต ผู้เป็นศิษย์ที่สำคัญที่หลวงปู่ได้อาศัยช่วยรับภาระในการอบรมคณะศรัทธาญาติโยม และเป็นผู้ปฏิบัติที่เด็ดเดี่ยว ได้ถึงแก่มรณภาพ จึงเปรียบเสมือนว่าแขนเบื้องขวาของหลวงปู่ได้ขาดไป หลวงปู่ต้องรับภาระในการอบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาญาติโยมแต่ผู้เดียว หลวงปู่ให้ตั้งศพหลวงพ่อสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต บำเพ็ญกุศลนับแต่วันที่ท่านมรณภาพ คือ วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 พอถึงวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 ก็ทำการประชุมเพลิงศพ

ในการจัดงานศพหลวงพ่อสุจินต์นี้ หลวงปู่ได้ให้ญาติโยมไปนิมนต์ครูบาอาจารย์มาร่วมงานด้วย มี หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล, พระอาจารย์จันทา ถาวโร, พระอาจารย์เต็ม ขนฺติโก ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่วัดธาตุฝุ่น บ้านคำเจริญ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ท่านบอกว่า “เสียดาย หลวงพ่อสุจินต์นี้ล่วงไปก่อน เพิ่งได้อนาคามี แต่นี้ก็ไม่ได้มาเกิดอีกหรอกนะ” ครูบาอาจารย์ทุกองค์ที่นิมนต์มา ท่านก็อยู่ช่วยจนเสร็จงาน แล้วทุกองค์จึงได้กลับวัด


พระอาจารย์จันทร์โสม กิตติกาโร


พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


๏ พ.ศ. 2509 พรรษาที่ 31
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 31

ต้นปี พ.ศ. 2510 นี้ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล (ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ในปัจจุบัน) ท่านได้อาพาธ หลวงปู่ได้ไปเยี่ยมและอยู่เฝ้าปรนนิบัติ โดยหลวงปู่ให้ครูบาสมและผู้เขียนซึ่งเป็นสามเณรติดตามไปด้วย นายดอนเอารถเก๋งมารับจากวัดป่าสันติกาวาส ไปส่งที่วัดถ้ำกลองเพล เมื่อถึงวัดถ้ำกลองเพลก็เป็นเวลาใกล้ค่ำ เพราะตอนนั้นถนนยังเป็นลูกรังหมด รถวิ่งเร็วไม่ได้

หลวงปู่พักที่กุฎิผาผึ้ง มี พระอาจารย์คำสุก และ พระอาจารย์จันทร์โสม กิตติกาโร (วัดป่าจันทรังสี หรือวัดป่านาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มรณภาพเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2549 ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร) พักอยู่ด้วยกัน เพราะขณะนั้นพอครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้ทราบว่าหลวงปู่ขาวอาพาธ ต่างก็พากันทยอยเข้าไปค้างที่วัดถ้ำกลองเพล ในขณะที่หลวงปู่ขาวท่านอาพาธหนักอยู่นั้น ครูบาอาจารย์พระเณรรวมกันก็เป็น 50-60 องค์ ในระยะนั้นก็ถือว่ามาก

ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เข้าไปเยี่ยมและค้างคืนในขณะนั้น ก็มีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร และก็มีอีกหลายๆ องค์ ครูบาอาจารย์เปลี่ยนวาระกันเฝ้าไข้ท่าน หลวงปู่ขาวนั้นท่านพักอยู่ที่กุฏิหนูพลอย จิตขยัน หลวงปู่ขึ้นเฝ้าเวลากลางคืน ถ้าวันไหนท่านขึ้นเฝ้า ท่านจะนั่งอยู่ทางขวามือของหลวงปู่ขาว และท่านจะนั่งตัวตรง ภาวนาเฝ้าอยู่ ไม่พูดคุยกับองค์อื่น ต่างองค์ต่างสำรวมกายและจิต หลวงปู่จะนั่งตัวตรงอยู่จนสว่าง จึงกลับที่พักล้างหน้า แล้วก็ลงรวมที่ถ้ำและออกบิณฑบาต หลวงปู่เป็นหัวหน้าบิณฑบาตสายบ้านห้วยเดื่อ ในตอนนั้นสัตว์ป่าและป่าไม้ยังมีเยอะ ช้างป้าก็ยังมี เวลาเดินไปบิณฑบาตก็ยังต้องระวังช้างป่า
69#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ให้โอวาทพระเณร

เมื่อถึงวันพระ 8 ค่ำ ทั้งพระสงฆ์ สามเณร แม่ชี และคณะศรัทธาญาติโยม รวมประชุมกันที่ถ้ำกลองเพล ทำวัตรสวดมนต์เย็น ในวันนั้น หลวงปู่เป็นหัวหน้าในที่ประชุม เมื่อทำวัตรสวดมนต์จบแล้ว ครูบาอาจารย์ที่รองจากหลวงปู่มีอยู่หลายองค์ จึงพากันนิมนต์ให้หลวงปู่เป็นผู้ให้โอวาทพระเณร หลวงปู่จึงให้โอวาทเตือนในที่ประชุมว่า

“ในขณะนี้ครูบาอาจารย์ท่านอาพาธ พวกเราได้มารวมกันเป็นจำนวนมาก ขอให้ต่างองค์ต่างรักษาจิตของตัวเอง มีสติสำรวมระมัดระวังจิตใจของตัวเอง อย่าปล่อยให้มันไปทับครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีสติสำรวมจิตใจ ปล่อยให้ฟุ้งซ่านโลเล ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า มันทับ มันทับ จิตของท่านละเอียดหมดจด เมื่อเราปล่อยจิตของเราโลเล จึงไปกระทบของท่าน ท่านจึงบอกว่ามันทับมันทับ ขอให้ต่างองค์ต่างตั้งใจสำรวมจิตใจของตนๆ จึงได้ชื่อว่าสนับสนุนครูบาอาจารย์ เพื่อจะให้ท่านหายจากอาพาธ ถ้าปล่อยจิตใจโลเลไปทับถมท่าน เท่ากับเหยียบย้ำซ้ำเติมให้อาพาธของท่านทรุดหนักลง จึงขอให้ทุกๆ ท่านจงสำรวมจิตใจของตนไว้ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

เมื่อหลวงปู่ให้โอวาทจบแล้ว ก็มีการฟังพระธรรมเทศนาจากครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ต่อไป การอาพาธของหลวงปู่ขาวในครั้งนั้น ใครๆ ก็เข้าใจว่าท่านจะละขันธ์อย่างแน่นอน จนถึงกับครูบาอาจารย์ต้องวางแผนเตรียมการกันเป็นการใหญ่ เตรียมทำปะรำที่พักที่รับแขกไว้ เวลาไปเอาไม้ไผ่จากอ่างอาราม ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำกลองเพลหลายกิโล หลวงปู่ก็ไปช่วยแบกไม้ไผ่ด้วย และไปเจอหินที่อ่างอารามเป็นหินที่ใช้ลับมีดได้ดี หลวงปู่ยังให้เอาผ้าอาบน้ำสะพายเอาก้อนหินมาด้วย อยู่ต่อมา คุณหมออวย เกตุสิงห์ ได้เอาเลือดตัวเองเข้าถวายให้ท่านหลวงปู่ขาว แล้วการอาพาธของท่านก็ค่อยหายไป อาการดีขึ้นเรื่อยๆ

หลวงปู่พากลับจากถ้ำกลองเพล

หลวงปู่พาพักดูแลปรนนิบัติท่านหลวงปู่ขาว อนาลโย อยู่ถึงสิบห้าวัน เมื่อเห็นว่าอาการท่านดีขึ้นแล้ว จึงพาครูบาสมและผู้เขียนเดินทางกลับจากถ้ำกลองเพล อาศัยรถแขวงทางหนองวัวซอ ที่เข้าไปส่งน้ำที่วัดถ้ำกลองเพลตอนบ่ายๆ มาลงที่หนองวัวซอ แล้วนั่งรถโดยสารต่อจากหนองวัวซอมาลงที่อุดรธานี จากนั้นต่อรถโดยสารอุดรธานี-สกลนคร ลงที่ทางแยกไชยวาน หลวงปู่พาเดินสะพายบาตรแบกกลด ให้พ่อใหญ่มาหาบก้อนหินลับมีด ถึงวัดป่าสันติกาวาสเป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี


พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ


๏ พ.ศ. 2510 พรรษาที่ 32
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ปีนี้ พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ (ท่านมรณภาพแล้ว เมื่อวันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 06.00 น. ณ วัดป่าบ้านค้อ ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี สิริรวมอายุได้ 73 ปี พรรษา 48 - สาวิกาน้อย) ได้มาจำพรรษาศึกษาอบรมธรรมอยู่กับหลวงปู่ ขณะนั้นท่านได้ 7 พรรษา

ดังที่มีปรากฏอยู่ในหนังสืออัตโนประวัติของท่านดังนี้

“ในพรรษาที่ 7 นี้ จำพรรษาอยู่ที่วัดสันติกาวาส ตำบลไชยวาน อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี มีหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล เป็นเจ้าอาวาส ในพรรษานี้การภาวนาปฏิบัติก็มีความราบรื่นไปด้วยดี นิสัยของหลวงปู่บุญจันทร์ ท่านมีนิสัยที่พูดน้อย การพูดในธรรมก็มีน้อย แต่ก็เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ คำพูดที่ท่านพูดออกมา เมื่อนำไปพินิจพิจารณาดูแล้ว มีความหมายอย่างลุ่มลึก และเต็มไปด้วยเหตุด้วยผล ถ้ามีปัญญาดีพิจารณาให้รอบคอบแล้ว มีความหมายอย่างพิสดารมากทีเดียว เว้นเสียแต่ผู้มีหูหนาปัญญาทึบเท่านั้น จึงจะฟังธรรมของท่านไม่รู้เรื่อง”

70#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พ.ศ. 2511 พรรษาที่ 33
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


เมื่อออกพรรษาแล้วเข้าฤดูแล้ง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 หลวงปู่ได้ไปช่วยเตรียมงานถวายเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์พร สุมโน วัดประชานิยม บ้านหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ในงานถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์พร สุมโน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ได้มีบรรดาครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานได้มาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก และคณะศรัทธาญาติโยมจากทั่วสารทิศได้มาตั้งโรงทานบริการ ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้มาร่วมในงาน บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความสงบ ไม่อีกทึกครึกโครม ไม่มีมหรสพ มีแต่การแสดงธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน หลวงปู่อยู่ช่วยจนงานสำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อย จึงได้กลับวัด


๏ พ.ศ. 2512-2513 พรรษาที่ 34-35
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 34-35

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ปรารภถึงศาลาการเปรียญของวัดป่าสันติกาวาส ที่หลวงปู่นำพาญาติโยมสร้างเป็นหลังที่ 2 ได้ชำรุดทรุดโทรม ญาติโยมจึงลงมติว่า ควรจะรื้อแล้วสร้างหลังใหม่ หลังจากญาติโยมเกี่ยวข้าวเสร็จในการทำนาแล้ว เดือนมกราคม พ.ศ. 2514 หลวงปู่ได้นำพาญาติโยมไปติดต่อขอไม้จากเจ้าหน้าที่ป้าไม้ อำเภอบ้านดุง และได้นำไม้จากดงปอ บ้านหนองไฮ อำเภอบ้านดุง มาทำเสาศาลาการเปรียญหลังที่ 3

ในขณะที่หลวงปู่ท่านพาญาติโยมไปพักค้างคืนอยู่ที่ดงปอ เพื่อคัดหาเอาไม้มาทำเสาศาลาการเปรียญนั้น ท่านได้สั่งผู้เขียนและพระสงฆ์ที่อยู่เฝ้าวัด ให้ตัดเย็บผ้าไตรจีวรไว้ ให้ได้ 10 ไตร เพื่อจะไปถวายบังสุกุลในงานถวายเพลิงศพหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งท่านได้มรณภาพตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 และจะทำพิธีถวายเพลิงศพท่านในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514

เมื่อหลวงปู่สั่งแล้ว ผู้เขียนพร้อมด้วยพระที่อยู่เฝ้าวัด ได้ช่วยกันตัดเย็ยย้อมผ้า ได้ครบตามที่หลวงปู่สั่งไว้ ในขณะนั้นผู้เขียนเพิ่งบวชเป็นพระภิกษุได้ 2 เดือนเท่านั้น เมื่อหลวงปู่พักอยู่ดงปอ บ้านหนองไฮ อำเภอบ้านดุง พวกญาติโยมพากันตัดไม้ได้ครบจำนวน 60 ต้น ยาวต้นละ 10 เมตร เป็นไม้มะค่าแต้ทั้งหมด จึงให้รถลากซุงจากดงปอ อำเภอบ้านดุง มาที่วัดป่าสันติกาวาส แล้วว่าจ้างพวกที่เป็นช่าง ถากเสาให้ ค่าถากต้นละ 100 บาท บางพวกก็ไม่คิดค่าจ้าง ช่วยกันถากเอาบุญจนได้ต้นเสาครบ 60 ต้น


หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ


หลวงปู่พาไปร่วมงานถวายเพลิงศพหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ

เมื่อถึงวันเริ่มงานถวายเพลิงศพ หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ คือวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2514 หลวงปู่ได้พาญาติโยมและพระติดตาม คือ ผู้เขียน ไปร่วมงานในคราวนั้น ถนนหนทางไปมาลำบากไม่สะดวก ว่าจ้างรถให้ไปส่ง ออกจากบ้านไชยวาน ไปทางอำเภอสว่างแดนดิน บ้านหนามแท่ง บ้านคำขัน ข้ามน้ำสงคราม เข้าถึงบ้านดงเย็น ถนนเต็มไปด้วยทราย บางทีรถติดทราย พวกชาวบ้านต้องมาช่วยกันเข็นรถ

ในพิธีงานถวายเพลิงศพหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ นั้น ไม่มีมหรสพอะไร เป็นแบบงานของพระกัมมัฏฐาน ตอนกลางวันก็มีครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นองค์แสดงธรรม ตอนกลางคืนพระภิกษุ สามเณรที่มาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก ทั้งอุบาสก อุบาสิกา พร้อมกันทำวัตรเย็นและสวดมนต์ เพื่อเป็นการบูชาพระคุณของหลวงปู่พรหม แล้วจากนั้นก็ฟังพระธรรมเทศนาไปตลอดคืน หลวงปู่ได้พาทอดผ้าไตร 10 ไตรที่ได้เตรียมไว้นำไปจากวัด ถวายในงานหลวงปู่พรหมด้วย

ท่านได้พาค้างคืนอยู่จนเสร็จงาน คือวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514 เวลา 4 ทุ่ม เป็นเวลาถวายเพลิงจริง เช้าวันที่ 7 มีนาคม เก็บอัฐิ มีพิธีสวดมนต์ฉลองอัฐิธาตุ หลวงปู่ได้อยู่ในจำนวนพระสงฆ์สวดมนต์ฉลองอัฐิด้วย เมื่อสวดมนต์เสร็จ มีการถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสามเณรที่มาร่วมในงาน แล้วก็เป็นเสร็จพิธี ครูบาอาจารย์ต่างร่ำลากันกลับที่อยู่ของแต่ละท่านละองค์ หลวงปู่ก็พาเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์

หลวงปู่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ มีนามว่า “พระครูศาสนูปกรณ์” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2513 ถึงแม้ว่าหลวงปู่ได้รับสมณศักดิ์แล้ว หลวงปู่ท่านก็ไม่หลงในยศฐาบรรดาศักดิ์ ท่านยังปฏิบัติองค์ตามแบบพระกัมมัฏฐานตามที่ได้เคยปฏิบัติมา
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้