ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ เร่งความเพียร

ในระยะนั้นได้ประกอบความเพียรเป็นอันมาก ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานเดินจงกรมตามเดือน (ตามพระจันทร์) ตั้งแต่ขึ้น 2 ค่ำ 3 ค่ำ ถ้าพระจันทร์ไม่ตกดินไม่หยุดเดิน จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดินจงกรมตลอดคืนไม่นอน ผลที่เกิดขึ้นมีวันหนึ่งในขณะที่เดินจงกรมอยู่นั้นจิตรวมลงเป็นหนึ่ง ปรากฏว่าร่างกายไม่มี คล้ายๆ กับเดินไม่เหยียบดินเลยเหมือนกับลอยไปลอยมา ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวอะไรเลย มีแต่ความเบากายเบาจิต แต่ในขณะนั้นยังไม่เกิดปัญญาพิจารณาอะไร มีแต่ความเบากายเบาจิตเท่านั้น


๏ เดินทางเข้าจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ

ครั้นพักอยู่ที่วัดป่าโนนช้างเผือก ถึงเดือน 7 พ.ศ. 2479 จึงออกเดินทางจากอำเภอพนมไพร เดินด้วยเท้าตามทางคนทางเกวียน สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เขียวชอุ่ม ชุ่มตาชุ่มใจในธรรมชาติ ระยะทางจากพนมไพรถึงร้อยเอ็ด 60 กิโลเมตร เดินทาง 2 วัน

วันที่ 2 ยังไม่ค่ำถึงจังหวัดร้อยเอ็ด มีโยมอาจารย์สิ้ว (อดีตหลวงพ่อสิ้ว) สะพายเครื่องบริขารที่จะบวชพระเดินทางมาด้วย เมื่อถึงร้อยเอ็ดได้เข้ามอบตัวกับพระอาจารย์สีโห เขมโก ที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ฝึกหัดอักขรฐานกรณ์ ที่แรกนึกว่าจะไม่ได้บวชเพราะฝึกหัดยาก ออกเสียงไม่ถูกตามมคธภาษา จึงได้ตั้งใจฝึกหัดไม่ลดละ ในที่สุดพระอาจารย์สีโหจึงรับรองว่าบวชได้


พระอาจารย์สีโห เขมโก


๏ อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตตามที่ได้ตั้งใจไว้

เมื่อฝึกหัดคำขอบวชได้คล่องแคล่วแล้ว พระอาจารย์สีโหจึงได้นำพาไปอุปสมบทที่วัดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 เวลา 15.15 น. โดยมีท่านเจ้าคุณพระโพธิญาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาบุญถึง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “กมโล” แปลว่า “ผู้งามดั่งดอกบัว”

เมื่ออุปสมบทแล้วได้กลับมาอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ถือนิสัยกับ ท่านพระอาจารย์สีโห เขมโก ได้ตั้งใจปฏิบัติกิจวัตร อาจาริยวัตร ข้อวัตรปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พรรษาที่ 1 พ.ศ. 2479
จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด


พรรษาที่ 1

เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 2479 เวลาเย็น บ่าย 4 โมง พระภิกษุสามเณรพร้อมกันทำกิจวัตร คือปัดกวาดลานวัดรอบศาลา รอบกุฏที่พักของใครของมัน ซึ่งปลูกเป็นหลังๆ อยู่ห่างจากกันพอประมาณ และตามทางเดินในวัด เมื่อปัดกวาดลานวัดเสร็จแล้วก็พร้อมกันขึ้นศาลาโรงธรรม ปัดกวาดเช็ดถูพื้นกระดานด้วยมะพร้าวแห้งตัดครึ่งลูก ถูไปมาทั่วศาลาแล้วจึงใช้ไม้กวาดกวาด แล้วใช้ผ้าแห้งถูจึงสะอาดเรียบร้อย เสร็จแล้วพร้อมกันตักน้ำหามน้ำใส่ตุ่มสำหรับล้างบาตร, ตามถาน (ส้วมเป็นส้วมปล่อยไม่ได้ใช้น้ำราด แต่น้ำนั้นสำหรับไว้ใส่กระบอกชำระล้างก้นเวลาถ่ายเสร็จแล้ว) ตามบันไดขึ้นกุฏิศาลาสำหรับล้างเท้า

น้ำที่นำไปใส่ในที่ต่างๆ นั้นจะต้องเปลี่ยนบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นลูกน้ำ เพราะถ้าเกิดลูกน้ำมีตัวสัตว์ ต้องนำน้ำนั้นไปเทลงในน้ำหนองน้ำบ่อ เทรดดินรดหญ้าไม่ได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ การตักน้ำก็ตักขึ้นจากบ่อโดยใช้ไม้ไผ่เป็นลำ ทำเป็นไม้สำหรับเกาะครุตักน้ำ ไม้ไผ่เลี้ยงลำพอเหมาะมือ ตัดมาแล้วใช้สิ่วเจาะทางโคนต้นทำไม้เป็นเดือยเป็นไล เขาเรียกไลคันขอ ตีเข้ารูไม้ไผ่ที่เจาะไว้ เขาเรียกไม้คันขอ สำหรับเกาะครุหย่อนลงในบ่อลึก ตักน้ำแล้วดึงขึ้นมาเทใส่ครุข้างบน พระเณรช่วยกันตักน้ำ รูปหนึ่งตักดึงขึ้นมา รูปหนึ่งรับครุเทใส่ครุข้างบน รูปหนึ่งถือผ้าสำหรับกรองน้ำ อีกพวกหนึ่งช่วยกันหามไปใส่ตุ่ม พระเณรต่างมีความสามัคคีกันช่วยกันทำกิจวัตรข้อวัตร

เมื่อเสร็จแล้ว ก็พร้อมกันทำอาจาริยวัตรสรงน้ำครูบาอาจารย์ผู้เป็นพระเถระด้วยการถูหลังถูเท้า รับผ้าอาบน้ำผลัดเปลี่ยน เสร็จแล้วตนเองจึงได้สรงน้ำ เมื่อสรงน้ำเสร็จเวลาย่ำค่ำ 1 ทุ่ม พร้อมกันขึ้นศาลาโรงธรรม ประธานสงฆ์โดยมีพระอาจารย์สีโห ได้นำทำวัตรสวดมนต์เย็น จบแล้วทั้งพระภิกษุสามเณรได้ร่วมกันกล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษา ท่านให้ว่าทีละองค์ตามลำดับพรรษา จนครบหมดทุกองค์จึงได้เลิกกัน

หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษานี้ได้ตั้งใจทำความเพียรไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เวลากลางวันหลังจากฉันจังหันเช้าเสร็จแล้วล้างบาตร เก็บกวาดที่ฉัน ทำข้อวัตรเสร็จแล้วก็สะพายบาตรกลับกุฏิ พอถึงกุฏิแล้วไม่ขึ้นกุฏิ ยื่นบาตรขึ้นไว้บนกุฏิให้ห่างจากที่ตก 1 ศอก แล้วเข้าสู่ทางเดินจงกรม การเดินจงกรม ได้แก่ การเดินภาวนานั่นเอง เดินไม่ช้าไม่เร็ว กำหนดรู้ที่ใจ สติเป็นเพื่อนของใจ บางวันก็เดินจงถึงเวลาทำกิจวัตร คือบ่าย 4 โมงเย็น กวาดลานวัด บางวันเดินจงกรมเหนื่อยก็นั่งภาวนาสลับกันไปจนถึงเวลาทำกิจวัตร จึงออกจากทางเดินจงกรม

บางวันฝนตกก็นุ่งผ้าอาบน้ำเดินจงกรมตากฝนอยู่อย่างนั้น เร่งทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ประมาท หาอุบายฝึกฝนทรมานตนเอง ถ้าเราไม่ฝึกตนเองก็ไม่มีใครที่ไหนจะฝึกให้เรา เราต้องฝึกตนเองเพื่อให้เกิดกำลังสติ สมาธิ และปัญญาในทางอริยมรรค

บางครั้งเวลาเดินจงกรม ถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นก็ต้องฝืน ไม่ได้ปล่อยตามความต้องการ การทำทางเดินจงกรมนั้นปลายทางทั้งสองข้างเป็นพุ่มหนามคัดเค้า พอเดินจงกรมขาดสติเคลิ้มไปก็เดินเลยเข้าพุ่มหนาม หนามเกาะหูเกาะขา เมื่อรู้สึกตัวปลดหนามออกกลับเดินจงกรมใหม่ ทำอยู่อย่างนั้นจนความง่วงหายไปเพราะกำลังสติกล้าขึ้น ในที่สุดจิตก็ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว มีสติระลึกรู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลายเหล่านั้นก็หมดกำลังและสงบไป  การทำความเพียรในพรรษานี้ได้รับผลคือความสงบทางใจเป็นอันมาก

ไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

หลวงปู่เล่าว่า โอวาทธรรมที่หลวงปู่เสาร์ได้เตือน “ให้ตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้ดี” ในคราวเป็นสามเณรไปกราบนมัสการท่านที่วัดป่าสุทธาวาสในคราวนั้น ยังเอิบอิ่มอยู่ในจิตใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จึงได้คิดอยู่เสมอว่า อยากจะไปอยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้วย่างเข้าฤดูหนาว ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวนำขึ้นไปใส่ยุ้งใส่เล้าเสร็จแล้ว เป็นฤดูที่เหมาะแก่การเที่ยววิเวกธุดงค์หาความสงบตามสถานที่ต่างๆ พระอาจารย์พานและพระภิกษุบุญจันทร์ พร้อมด้วยพระภิกษุ 1 รูป สามเณร 1 รูป รวมเป็น 4 รูปด้วยกัน ได้พร้อมกันกราบลาพระอาจารย์สีโห เขมโก เพื่อเดินทางไปศึกษาอบรมกับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล

ในระหว่างเดินทาง ท่านพระอาจารย์พานได้พาพักวิเวกไปตามหมู่บ้านต่างๆ อบรมประชาชนให้เข้าถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ที่บ้านเขืองใหญ่มีประชาชนมารับการอบรมฟังธรรม ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่เด็กหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก พักอยู่ที่บ้านเขืองใหญ่นี้เป็นเวลา 5 คืน ท่านอาจารย์พานจึงพาเที่ยวไปทางบ้านตาอุดตาเสือ และบ้านเหล่าแขม เมื่อเวลาอยู่ที่นั่น ท่านอาจารย์พานได้อบรมประชาชนให้นั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง โดยให้ยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ของใจ

อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีพวกหนุ่มสาวพร้อมทั้งผู้ใหญ่บ้านเหล่าแขม ชื่อผู้ใหญ่เกษ ได้มารับการอบรมธรรมะ ท่านอาจารย์พานได้สอนให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ คือ ให้เป็นผู้มีความเคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ ให้เชื่อในผลของกรรมว่าทำดีจักได้รับผลดี ทำชั่วจักได้รับผลชั่ว หลวงปู่เล่าว่า ตัวท่านเองได้เป็นผู้เอาใจใส่ในอาจาริยวัตร คอยดูแลอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ นั่งอยู่เป็นเพื่อนครูบาอาจารย์ในเวลามีแขกญาติโยมมาหาครูบาอาจารย์ จนแขกญาติโยมเลิกกลับไปหมดจึงจะได้พักผ่อน

อยู่ต่อมาวันหนึ่งไม่รู้ว่าเรื่องอะไร เป็นเวลาในราว 1 ทุ่ม ในขณะนั้นท่านอาจารย์พานกำลังเทศนาอบรมอยู่ ได้มีคนร้ายมาขว้างค้อนใส่ ครั้งที่ 1 ถูกต้นไม้ ครั้งที่ 2 ก็ถูกต้นไม้อีก ครั้งที่ 3 เป็นก้อนดินขว้างเข้ามาถูกต้นไม้แตกกระเด็นมาถูกหัวภรรยาผู้ใหญ่บ้าน ในขณะนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งมานั่งฟังเทศน์อยู่ด้วย จึงวิ่งออกไปดู พวกเหล่าร้ายนั้นพากันวิ่งเตลิดหนีไป ไม่ว่ายุคใดสมัยใด คนเรานี้มีทั้งดีทั้งไม่ดีปะปนกันอยู่อย่างนั้น คนดีมีจิตใจประกอบไปด้วยศีลธรรมก็ตั้งใจฟังธรรมแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตาม คนร้ายจิตใจร้ายกาจเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา คอยแต่จะเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น

พักอบรมอยู่บ้านเหล่าแขม เป็นเวลา 15 วัน พอดีมีโยมอีกบ้านหนึ่ง เขามาขอนิมนต์ไปพักอยู่ดอนอารักษ์ของเขา ท่านอาจารย์พานจึงได้พาไปโปรดญาติโยมตามที่เขานิมนต์นั้น พอไปพักอยู่ที่นั่น ได้มีคนมาฟังเทศน์รับการอบรมเป็นจำนวนมาก ท่านอาจารย์พานได้เทศน์อบรมญาติโยมที่ออกมาฟังเทศน์ในเวลากลางคืน มีคนเกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก มีทั้งคนหนุ่มคนสาวออกไปรับการอบรมด้วย ในระยะนั้นท่านอาจารย์กำลังเทศน์อบรมอยู่ พวกชายหนุ่มเขาพากันเป่าแคนทำการรบกวนมาก ท่านอาจารย์จึงได้ห้ามให้เขาหยุด เขาก็ไม่หยุด ท่านจึงสั่งให้ญาติโยมที่นั่งรับการอบรมอยู่นั้นเลิกกลับบ้านหมด พอญาติโยมกลับบ้านไปหมดแล้ว ท่านอาจารย์พานพร้อมด้วยพระเณรลูกศิษย์กำลังนั่งสนทนาพูดคุยกันอยู่ ในระยะนั้นเป็นเวลาประมาณ 3 ทุ่ม
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พุทธานุภาพมีอำนาจกว่าดิรัจฉานวิชา

ไม่มีลมมีฝนอะไรเลย แต่มีเสียงอันหนึ่งดังมาเป็นเสียงอึดๆ มาทางอากาศ คงจะเป็นเวทมนตร์เขาทำมาทดลองพระกรรมฐาน พอมาถึงต้นไม้ มีกิ่งไม้หักลงมา จะว่าลมก็ไม่เห็นมีลมพัดอะไร ท่านอาจารย์พานจึงบอกว่าคงจะเป็นเขาปล่อยวัวธนู แต่ท่านไม่กลัวเพราะท่านมีความเชื่อมั่นต่อพุทโธอยู่แล้ว พุทโธเป็นใหญ่ในโลกสาม ผู้ใดมีความเชื่อมั่นต่อพุทโธ ตั้งใจปฏิบัติ ไปไหนมาไหนมีพุทโธประจำใจ ใจเข้าถึงพุทโธ พุทโธเข้าถึงใจแล้วไม่มีเวรมีภัย ได้พักอยู่ที่ดอกอารักษ์ บ้านเหล่ากอยนี้ 3 คืน พอดีท่านอาจารย์พ่านได้พาออกเดินทางต่อไปอำเภอพนมไพร หลวงปู่เล่าว่า พอผ่านตัวอำเภอพนมไพรก็เลยไปถึงบ้านคำพระ (กุดโอ) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านเอง

พบมารดาผู้บังเกิดเกล้าเป็นครั้งสุดท้าย

เมื่อพระอาจารย์พานพาลูกศิษย์เดินเที่ยววิเวกรอนแรมมาถึงบ้านคำพระ ได้เข้าพักกางกลดในป่าดอนธาตุนั้นเอง เมื่อโยมมารดาของหลวงปู่ได้ทราบว่าลูกชายสุดที่รักของตน พร้อมด้วยครูบาอาจารย์มาพักที่ป่าดอนธาตุใกล้บ้านของตน จึงได้ออกมาต้อนรับถวายหมากพลูบุหรี่ ตามประเพณีชาวพุทธในครั้งนั้น ท่านอาจารย์พานได้เทศน์ธรรมให้ฟังบ้างเล็กน้อย เพราะเวลาไม่มาก เมื่อหลวงปู่มองดูโยมมารดาแล้วเกิดความสลดใจเป็นอย่างยิ่ง

ในขณะนั้นได้มีความรู้อันหนึ่งขึ้นในใจว่า “แม่ของเรานี้เห็นจะอายุสั้นมากนัก” แต่แล้วก็ไม่กล้าจะพูดอะไรให้ฟัง เพียงแต่เตือนสติให้ตั้งใจภาวนาให้มากๆ เท่านั้น แล้วโยมแม่ก็กลับเข้าบ้านไป พักอยู่ที่นี่ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็เข้าบิณฑบาตตามสมณวิสัย แล้วกลับมาฉัน มีญาติโยมตามมาถวายจังหันบ้างไม่มากนัก ในวันนั้นฝนตกตลอดวัน พอฉันจังหันเสร็จแล้ว พระอาจารย์พานได้พาออกเดินทางต่อไปถึงบ้านกระจายศรีฐาน ค่ำพอดีเข้าพักที่วัดป่ากระจายศรีฐาน พักอยู่ได้ 6 วัน พอวันที่ 7 พี่ชายใหญ่ คือนายอ่อนสี ได้ตามมา

ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

หลวงปู่เล่าว่า “พอมองเห็นพี่ชายเดินเข้าวัดมา ในใจก็นึกขึ้นมาเองว่ามารดาของเราคงตายเสียแล้ว พอพี่ชายเข้ามาถึง จึงพูดไปเรื่องอื่นปลอบใจพี่ชายเสียก่อน เพราะกลัวว่าพี่ชายจะอดกลั้นความเศร้าโศกเสียใจไม่ได้ เพราะความเป็นห่วงในมารดาของตนที่จากไปไม่มีวันกลับ”

พอพูดเรื่องอื่นไปพอสมควรแล้ว จึงย้อนถามพี่ชายว่ามาในเวลานี้มีธุระอะไรกันแน่ พี่ชายจึงพูดขึ้นด้วยความเศร้าใจว่า “บัดนี้มารดาของเราได้ถึงแก่กรรมไปเสียแล้ว” พอพี่ชายพูดอย่างนั้น จึงได้พูดกับพี่ชายว่า “ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร หายใจตาง (แทน) กันก็ไม่ได้แล้ว เพราะว่าความตายเป็นของธรรมดาอยู่แล้ว เราก็จะตายเช่นกันไม่ว่าแต่มารดาของเราเลย เกิดกับตายเป็นของคู่กัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะให้ทำอย่างไร จะให้กลับหรือทำอย่างไร”

พี่ชายจึงพูดว่า “การจะกลับหรือไม่กลับนั้นก็ไม่ว่า เวลานี้เป็นแต่เพียงตามมาบอกข่าวให้ทราบเท่านั้น” พอพี่ชายพูดอย่างนั้นจึงได้พูดกับพี่ชายว่า “การจะกลับนั้นเห็นจะกลับไม่ได้เพราะเวลานี้ก็จวนจะเข้าพรรษาแล้ว การจำพรรษานั้นยังไม่รู้ว่าจะได้จำที่ไหนแน่” และได้ย้อนถามพี่ชายว่า “เวลานี้ได้เก็บศพแม่ไว้อย่างไร เผาหรือฝัง” พี่ชายตอบว่า “ฝังไว้” จึงบอกพี่ชายว่า “ถ้าอย่างนั้นนัดกันตอนเดือน 4 จึงจะกลับไปทำบุญและนำศพแม่ขึ้นมาเผา”

เมื่อพูดกับพี่ชายเช่นนั้นแล้ว พี่ชายได้พักอยู่ที่นี่ด้วย 1 คืน จึงเดินทางกลับไป ตัวเองก็ได้พักอีก 1 คืน ท่านพระอาจารย์พานจึงได้พาออกเดินทางต่อไปยังอุบลราชธานี เพื่อจะได้นมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล เมื่อเดินทางไปถึงบ้านท่าวารี ได้พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ทอง 1 คืน จึงออกเดินทางต่อไปบ้านข่าโคม (บ้านเกิดของท่านพระอาจารย์เสาร์) เพื่อที่จะได้ฟังธรรมของท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ เพราะมีความหิวกระหายในการที่จะฟังธรรมเป็นอันมาก เมื่อเดินทางถึงบ้านข่าโคมแล้ว ท่านพระอาจารย์พานจึงได้พาลูกศิษย์ที่เดินทางด้วยกัน เข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล พร้อมทั้งถวายตัวเป็นศิษย์ขอนิสัยจากท่าน และขอฟังธรรมจากท่านด้วย

พระอาจารย์ใหญ่เสาร์แสดงธรรมให้ฟัง

หลวงปู่เล่าว่า ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ก็แก่ชรามากแล้ว ท่านไม่ค่อยแสดงธรรมอะไรมาก “ท่านสั่งให้พิจารณาความตายให้มากๆ ไม่ว่าคนว่าสัตว์เกิดมาแล้วก็ต้องตาย เพราะเกิดกับตายเป็นของคู่กัน จึงเป็นสิ่งที่ถูกกับจริตนิสัยของเรา เพราะปกติในคราวเป็นเด็กก็เคยพิจารณาความตายเป็นนิสัยมาอยู่แล้ว”
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส


๏ พรรษาที่ 2 พ.ศ. 2480
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านวังถ้ำ จ.อุบลราชธานี


พรรษาที่ 2

เมื่อจวนจะเข้าพรรรษา มีโยมจากบ้านวังถ้ำมาขอพระกับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ ให้ไปอยู่จำพรรษาที่สำนักป่าบ้านวังถ้ำ ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์จึงสั่งว่า ให้ท่านบุญไปอยู่บ้านวังถ้ำกับท่านพระอาจารย์คำบง และก็มีท่านพระอาจารย์คำ สุมงฺคโล ด้วยองค์หนึ่ง

สำหรับท่านอาจารย์พานนั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ได้จัดให้ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านปะอาว จึงได้แยกกันกับท่านพระอาจารย์พาน ในพรรษานี้ได้ตั้งใจประกอบความเพียรด้วยความไม่ประมาท ได้ไปรับการอบรมฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ ที่วัดป่าบ้านข่าโคมอยู่เนืองนิจ ซึ่งมี พระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส เป็นพระผู้อุปัฏฐากดูแลท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์

ในขณะนั้นจิตได้รับความสงบเยือกเย็น แต่การมีปัญญารู้เห็นอย่างอื่นยังไม่มี อยู่มาวันหนึ่งในขณะที่เดินจงกรมทำความเพียรอยู่แต่หัวค่ำ เดินไปมาจิตรวมลงเป็นหนึ่ง เกิดแสงสว่างขึ้นสว่างไสว ในขณะจิตนั้นจึงนึกขึ้นว่านี้แสงอะไร แสงสว่างนั้นจึงหายไป ในขณะนั้นจิตก็ยังสงบอยู่ และเดินจงกรมต่อไป

ทดสอบความจริง

ชาวบ้านวังถ้ำเขาลือกันว่าในป่าช้ามีผีตายทั้งกลมดุมาก เวลากลางคืนจะดันดินกลบหลุมฝังศพขึ้นมา อยู่ต่อมาท่านพระอาจารย์คำบงได้พาไปเยี่ยมป่าช้า (ไปภาวนาในป่าช้า) ในเวลากลางคืนวันนั้นเดือนแจ้งสว่าง หลวงปู่บอกว่า “เราต้องการจะทดสอบความจริงตามที่เขาเล่าลือกัน จึงเลือกเอาที่หลุมฝังศพผีทั้งกลมนั้นเป็นที่นั่งภาวนา เอาผ้าปูลงบนเนินดินที่เขากลบศพไว้นั่นเอง ตั้งจิตอธิษฐานบูชาต่อพระรัตนตรัย ถ้ามีอะไรถ้าผีมันดุเหมือนเขาลือกันให้มันดันก้นที่นั่งภาวนาอยู่นี้ขึ้นมาเลย จะได้พูดคุยกัน” ในที่สุดไม่มีอะไร นั่งภาวนาไปจนถึงเวลา 6 ทุ่ม ท่านพระอาจารย์คำบงจึงได้พากลับวัด

15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ไปอย่างมีครู อยู่อย่างมีอาจารย์

ครั้นอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านวังถ้ำ ครบไตรมาส 3 เดือน แล้วจึงได้ปวารณาออกพรรษา ครั้นออกพรรษาแล้วได้มีการทอดกฐินและกรานกฐิน ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ได้มาเป็นประธานในงานนี้ด้วย ต่อมาที่วัดป่าบ้านข่าโคมซึ่งเป็นที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์จำพรรษา ได้มีศรัทธาชาววังจากกรุงเทพมหานคร นำผ้ากฐินและผ้าบังสุกุล จำนวน 70 ไตร มาทอดถวาย ครูบาอาจารย์พระเณรที่อยู่ในละแวะนั้นได้มาร่วมช่วยกันตัดเย็บผ้ากฐิน ในจำนวนพระ 70 รูปที่จะรับผ้าไตรบังสุกุล 70 ไตรนั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์จึงได้สั่งว่า “ให้ท่านบุญด้วยองค์หนึ่งเป็นผู้ชักผ้าบังสุกุล” (พระอาจารย์ใหญ่เสาร์มักเรียกหลวงปู่ว่า “บุญ”)

เมื่อครูบาอาจารย์สั่งอย่างไรจึงได้ทำอย่างนั้น เมื่อศรัทธาญาติโยมทอดผ้ากฐินบังสุกุลเสร็จแล้ว ญาติโยมชาววังจึงขอนิมนต์ให้ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ แสดงธรรมให้ฟัง เมื่อท่านขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์ พระภิกษุสามเณรและญาติโยมต่างก็ตั้งอยู่ในความสงบ คอยสดับรับฟังธรรม ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์เริ่มแสดงธรรม ท่านตั้งนะโม 3 จบ เสร็จแล้วท่านก็ว่า “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้” จบแล้วท่านก็ลงจากธรรมาสน์ ท่านเป็นผู้มีนิสัยพูดน้อยและเยือกเย็น

เมื่อเสร็จกิจของสงฆ์ในเรื่องกฐินแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์จึงได้สั่งว่า “ให้ท่านบุญไปอยู่เป็นเพื่อนท่านพระอาจารย์อาดที่วัดสำราญ อำเภอวารินชำราบ” จึงได้ไปตามคำสั่งของครูบาอาจารย์ เมื่อไปอยู่วัดสำราญกับท่านพระอาจารย์อาด ก็ได้ตั้งใจประกอบความพากเพียรไม่ประมาท ทำอาจาริยวัตร กิจวัตรข้อวัตรกับครูบาอาจารย์ด้วยความเอาใจใส่ การประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ว่าภายนอกภายใน เราเป็นผู้ทำเองคนอื่นทำให้เราไม่ได้


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)


ได้กราบนมัสการสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ในระยะที่อยู่กับท่านอาจารย์อาดที่วัดสำราญนี้ สมเด็จท่านได้ออกตรวจการคณะสงฆ์มณฑลอุบลราชธานี อยู่มาวันหนึ่งท่านได้เข้ามาที่วัดสำราญโดยไม่ได้บอกให้ทราบล่วงหน้า พอเข้ามาถึงวัดท่านจะเดินรอบวัดเลย ดูว่าพระเณรในวัดจะมีข้อวัตรปฏิบัติหรือไม่ พอเห็นท่านมาอย่างนั้นจึงได้เตรียมต้อนรับท่านที่กุฏิเจ้าอาวาส ซึ่งกุฏหลังนั้นพวกคณะทหารที่อุบลราชธานีเป็นผู้สร้างถวาย เขาเอาเขากวาง เขากระทิงมาติดไว้ที่กุฏิ

ท่านจึงถามว่า “เอามาไว้ทำไมของพวกนี้ เดี๋ยวเขาจะมาตีหัวมันนะ กัมมัฏฐาน” ท่านอาจารย์อาดจึงกราบเรียนท่านว่า “เป็นของพวกทหารเขาเอามาประดับกุฏิของเขาเกล้ากระผม” ท่านจึงเงียบไป พอท่านนั่งบนอาสนะที่จัดถวายแล้ว ท่านอาจารย์อาดจึงพากราบนมัสการท่าน เสร็จแล้วท่านจึงถามว่า “ท่านองค์นี้มาจากไหน” หลวงปู่จึงประนมมือแล้วกล่าวคำว่า “ขอโอกาส” ตามแบบพระกัมมัฏฐาน สมเด็จท่านจึงพูดขึ้นว่า “ลูกศิษย์ท่านสิงห์มันเล่นแต่ขอโอกาสกันส่วนมาก” หลวงปู่หยุดพูด สมเด็จจึงบอก “พูดไปสิ” หลวงปู่กราบเรียนว่า “เกล้ากระผมมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด” เมื่อท่านทักทายปราศรัยพอสมควรแล้วท่านจึงได้ลาจากไป
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เป็นห่วงในการจะทำบุญอุทิศให้โยมมารดา

หลวงปู่ได้อยู่กับท่านพระอาจารย์อาดก็เป็นเวลาน้อย เพราะจวนจะกลับบ้านเกิดมาทำบุญอุทิศถึงโยมมารดาที่ได้ล่วงลับไปแล้ว จึงได้ปรารภให้ท่านพระอาจารย์อาดทราบ ท่านก็ไม่ขัดข้อง ต่อมาจึงได้จัดเตรียมบริขาร กล่าวมอบเสนาสนะแล้วกราบคารวะลาท่านอาจารย์อาด เดินทางจากวัดสำราญ อำเภอวารินชำราบ เข้ามาพักที่วัดเลียบ ในเมืองอุบลราชธานี

พอดีท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ก็ได้มาพักที่นั้นด้วยพอดี จึงได้เข้ากราบนมัสการกราบเรียนให้ท่านทราบถึงการที่จะกลับร้อยเอ็ด เพื่อทำบุญอุทิศให้โยมมารดา ท่านก็อนุญาตและท่านได้เตือนสติว่า “ให้ตั้งใจให้ดีอย่าประมาท” พอท่านเตือนสติเท่านั้น เกิดปิติเป็นอย่างยิ่งในคำเตือนของท่าน น้อมรับโอวาทธรรมนำมาปฏิบัติตั้งอยู่ในความไม่ประมาทตลอดมา

ได้พักอยู่วัดเลียบไม่นาน เมื่อได้กราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ และท่านอนุญาต ทำการคารวะขอขมาโทษท่านตามธรรมเนียมของพระกัมมัฏฐานในสมัยนั้น เสร็จตั้งแต่ตอนเย็นแล้ว พอตอนเช้าบิณฑบาตตามสมณวิสัย ฉันเสร็จแล้วจึงเตรียมบริขาร มอบเสนาสนะแก่พระในวัดแล้ว ออกเดินทางจากวัดเลียบลำพังองค์เดียว เมื่อมาถึงบ้านปะอาว ได้แวะพักที่วัดป่าบ้านปะอาว เพื่อกราบลาพระอาจารย์พาน ได้กราบเรียนให้ท่านทราบถึงการจะกลับไปทำบุญอุทิศถึงโยมมารดา ท่านก็อนุญาต จากนั้นจึงได้ออกเดินทางจาดวัดป่าบ้านปะอาว โดยมีพระสมเป็นเพื่อนเดินทางด้วยมุ่งหน้าสู่พนมไพร

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาดหมาย

เดินทางด้วยเท้ารอนแรมมาเรื่อยๆ พักระหว่างทางมาตามสบาย ไม่รีบร้อน ในใจจดจ่อในเรื่องทำบุญอุทิศให้โยมมารดา เพราะได้นัดหมายไว้กับโยมพี่ชาย ว่าเดือน 4 จะกลับมาทำบุญอุทิศให้แม่โดยพร้อมเพรียงกัน ในที่สุดการเดินทางจากอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงบ้านคำพระ (กุดโอ) อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นบ้านเกิดในระยะเดือน 4 พอดี แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาดหมายและนัดหมายไว้

เมื่อมาถึงบ้านแล้วไม่พบพี่น้องสักคนเลย บ้านที่เขาเคยอยู่ก็ไม่มี เหลือแต่เป็นสวนหม่อน สวนกล้วย “อนิจจาเอ๋ย ทุกสิ่งก็ไม่ได้ทำ” หลวงปู่รำพึงในใจ เมื่อถามชาวบ้านเขาจึงได้ความว่า พี่สาวพี่ชายได้อพยพหนีขึ้นไปอยู่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เมื่อไม่ได้ทำบุญอุทิศให้โยมมารดาตามที่ได้นัดหมายกับพี่ชายไว้แล้ว จึงออกเดินทางจากบ้านคำพระต่อไปที่อำเภอพนมไพร เข้าจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางต่อไปที่กิ่งไผ่ (อำเภอบ้านไผ่) ขึ้นรถไฟที่สถานีกิ่งไผ่ไปลงที่สถานีจังหวัดอุดรธานี


พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม


ที่วัดป่าโนนนิเวศน์

เมื่อลงจากรถไฟแล้วได้เดินทางต่อไปที่วัดป่าโนนนิเวศน์  หลวงปู่เล่าว่า วัดป่าโนนนิเวศน์อยู่ติดกับป่าช้าเมืองอุดรธานี สมัยนั้นเป็นป่าดงมีต้นไม้ใหญ่ๆ และอยู่ห่างจากเมืองอุดรฯ พอเวลาเย็นลงแล้วไม่มีใครอยากผ่านเพราะกลัวผี ในเวลานั้น ท่านพระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในที่นั้น เมื่อหลวงปู่เดินทางไปถึงวัดป่าโนนนิเวศได้ปฏิบัติตามอาคันตุกวัตร เข้ากราบท่านพระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม ถวายตัวเป็นศิษย์และขอนิสัยจากท่าน ท่านจัดให้พักที่กุฏเล็กๆ หลังหนึ่ง ในขณะที่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ภุมมีนั้น ได้ตั้งใจปฏิบัติเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา และทำอาจาริยวัตรด้วยความเคารพไม่ให้ขาด
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาจารย์ภุมมีทดสอบครั้งที่ 1 เรื่องความตั้งใจ

หลวงปู่เล่าว่า “ขณะที่เราเป็นพระพรรษายังอ่อน ถูกครูบาอาจารย์ทดสอบอยู่บ่อยๆ” ในขณะที่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ภุมมีนั้น ในตอนเย็นก็ทำข้อวัตรตักน้ำใส่ตุ่มในห้องน้ำของท่าน เสร็จแล้วพอค่ำก็เดินจงกรม เมื่อเดินจงกรมเสร็จแล้วขึ้นกุฏิทำวัตรสวดมนต์ จบแล้วเข้าที่นั่งสมาธิภาวนาพิจารณาความตายเป็นอารมณ์

เมื่อหยุดจากนั่งสมาธิภาวนาแล้วก็จำวัดนอนภาวนาตั้งสติไว้ เมื่อรู้สึกตัวก็ลุกขึ้น ในขณะนั้นเป็นเวลาประมาณตี 1 ท่านพระอาจารย์ภุมมี มาเรียกว่า “บุญ” พอได้ยินเสียงท่านเรียกคำเดียว จึงตอบท่านว่า “กระผม” พอท่านได้ยินเสียงตอบรับแล้ว ท่านก็ตอบใหญ่เลยว่า “ทำไมไม่รู้จักเอาน้ำใส่ตุ่มใส่โอ่งในห้องน้ำ หาน้ำจะล้างส้วมก็ไม่มี” พอได้ยินท่านว่าอย่างนี้จึงนึกอยู่ในใจว่า “น้ำเราก็ตักใส่ตุ่มใส่โอ่งไว้เต็มแล้ว ทำไมครูบาอาจารย์จึงว่าไม่มีน้ำ” ในขณะจิตหนึ่งจึงนึกขึ้นว่า “หรือว่าท่านจะทดลองเรา”

แล้วหลวงปู่รีบลงจากกุฏิไปดูที่ห้องน้ำ ในตุ่มไม่มีน้ำเลย หลวงปู่บอกว่าน้ำที่ตักใส่ตุ่มไว้แต่ตอนเย็นนั้นทั้งอาบทั้งใช้ก็ไม่หมดเพราะห้องน้ำนั้นเป็นห้องน้ำเฉพาะท่านอาจารย์ใช้องค์เดียว เมื่อดูว่าน้ำไม่มีแล้ว จึงถือเอาครุไปตักน้ำในบ่อสระ เดินฝ่าความมืดเพราะสมัยนั้นไฟฟ้ายังไม่มี นำน้ำมากรองใส่ตุ่มในห้องน้ำจนเต็ม แล้วท่านให้นวดเส้นไปจนถึงตี 4 ท่านจึงบอกให้กลับกุฏิ พอกลับถึงกุฏิแล้วไหว้พระทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว ถือห่อผ้าครองลงจากกุฏิเข้าทางเดินจงกรมไปจนสว่าง “ในขณะจิตนั้นมีความเอิบอิ่มในจิตใจ ไม่มีความโกรธความเคืองใจในครูบาอาจารย์ที่ท่านทดสอบเราเลย”

พระอาจารย์ภุมมีทดสอบครั้งที่ 2 เรื่องความอดทน

หลวงปู่เล่าว่า อยู่ต่อมาท่านทดสอบอีก ในวันนั้นมีโยมนำใบพลูสำหรับฉันหมากมาถวายท่านพระอาจารย์ 1 ชบ ท่านให้โยมเอาตั้งไว้ที่ระเบียงกุฏิท่าน พอถึงเวลาเย็นทำอาจาริยวัตรสรงน้ำท่านเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์จึงพูดว่า “คืนนี้ให้ท่านบุญมาเฝ้าใบพลูที่โยมเขาเอาถวายนี้ ที่ระเบียงกุฏิ” หลวงปู่เล่าว่า พอได้ยินท่านพระอาจารย์บอกอย่างนั้นก็นึกขึ้นในใจอีกว่า “ประสาพลูแค่นี้ก็จะให้มาเฝ้า” แต่แล้วในขณะจิตหนึ่งจึงนึกขึ้นว่า ท่านคงจะทดสอบเราอีก

เมื่อกลับถึงกุฏิตัวเองสรงน้ำเสร็จแล้ว ได้ห่อผ้าครองแล้วกลับมานั่งภาวนาเฝ้าใบพลูที่ระเบียงกุฏิท่านพระอาจารย์ ยุงก็มาก อาศัยความอดทนและความเพียรนั่งภาวนาเฝ้าใบพลูสู้กับยุงไป จนถึงเวลาดึกสงัดได้ยินเสียงท่านพระอาจารย์เปิดประตูออกมาดู เห็นเรานั่งอยู่ ท่านจึงพูดขึ้นว่า “โอ้ ยังอยู่หรือนึกว่าหนีไปแล้ว” ท่านจึงเรียกเข้าไปในกุฏิแล้วให้นวดเส้นจนใกล้สว่างท่านจึงให้หยุด เมื่อลงจากกุฏิท่านพระอาจารย์แล้วกลับไปกุฏตัวเองเข้าทางเดินจงกรมต่อไปจนสว่าง

พระอาจารย์ภุมมีทดสอบครั้งที่ 3 เรื่องความสำรวม

ต่อมาท่านพระอาจารย์ภุมมีทดสอบอีก ในวันนั้นเมื่อฉันจังหันเช้าเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์บอกว่า “ให้ท่านบุญไปบอกนางมที มาหาด้วย” นางมทีเป็นหลานสาวของท่าน อยู่บ้านไก่เถื่อนซึ่งห่างจากวัดป่าโนนนิเวศพอประมาณ หลวงปู่เล่าว่า พอท่านพระอาจารย์บอกแล้วก็คลุมจีวรเสร็จเรียบร้อย จึงเรียกเด็กวัดชื่อนายสำรวย ว่า “สำรวยๆ ไปเป็นเพื่อนครูบาด้วย”   

พอท่านพระอาจารย์ได้ยิน ท่านจึงดุเอาว่า “ไปคนเดียวไม่ได้หรือ” แล้วท่านก็ไม่ให้นายสำรวยไปด้วย หลวงปู่จึงเดินทางออกจากวัดป่าโนนนิเวศไปบ้านไก่เถื่อนเพียงองค์เดียว เดินไปในใจคิดว่าครูบาอาจารย์คงจะทดสอบเราอีก จึงตั้งสติสำรวมจิตไว้ให้ดี พอไปถึงบ้านหลานสาวท่านพระอาจารย์ เห็นสาวมทีกำลังขึ้นตักข้าวเปลือกอยู่บนเล้า (ยุ้งข้าว) จึงเดินเข้าไปใกล้พอพูดได้ยินแล้วบอกว่า “มที ท่านอาจารย์ภุมมี สั่งให้เจ้าไปหาท่านด้วยวันนี้” เมื่อบอกแล้ว หลวงปู่ก็เดินกลับวัด ไม่นานสาวมทีก็มาหาท่านอาจารย์ หลวงปู่บอกว่า ในขณะนั้นเราก็นั่งอยู่เป็นเพื่อนท่านพระอาจารย์ คิดว่าท่านจะมีเรื่องราวอะไรจึงให้ไปเรียกหลานสาวมา พอเขามาถึงแล้วก็ไม่มีอะไร  

ท่านถามว่าเป็นอย่างไรไร่นาสู ถามเรื่องไร่นาเท่านั้นก็บอกให้กลับ พอสาวมทีเดินลงจากกุฏิท่านไป ท่านจึงพูดว่า “บุญๆ เบิ่งอีมทีมันย่างเอกเอ้น เอกเอ้นไป” (ดูนางมทีเดินอุ้งอุ้ย อุ้งอุ้ย) หลวงปู่เล่าว่าท่านนั่งสำรวมอยู่ ตาไม่ได้มองไปตามที่ท่านพระอาจารย์บอก สติก็กำหนดรู้อยู่ที่จิตของตัวเอง ในใจรู้อยู่ว่าครูบาอาจารย์ทดสอบ

พระอาจารย์ภุมมีทดสอบครั้งที่ 4 เรื่องอาหาร

หลวงปู่เล่าว่า ต่อมาท่านทดสอบเรื่องอาหารอีก มีคหบดีในเมืองอุดรเสียชีวิต ลูกหลานตั้งศพไว้หลายวัน ในวันหนึ่งเขาได้มานิมนต์ท่านพระอาจารย์กับพระในวัดไปฉันเช้าหน้าศพ ท่านพระอาจารย์จึงสั่ง “ให้ท่านบุญไปด้วยองค์หนึ่ง” พอไปถึงบ้านเจ้าภาพงานแล้วแทนที่ท่านจะให้นั่งตามลำดับพรรษา ท่านกลับบอก “ให้ท่านบุญมานั่งทางนี้” ท่านให้มานั่งอยู่ทางขวามือท่านองค์เดียว พอเจ้าภาพถวายอาหารอันไหนเป็นอาหารประณีตท่านจะส่งไปทางพระที่นั่งเป็นแถวอยู่ พออันเป็นผักเป็นน้ำพริกท่านจะส่งมาให้ “อันนี้ให้ท่านบุญ” เราก็ยินดีไม่ได้น้อยใจในครูบาอาจารย์ กลับดีใจว่าครูบาอาจารย์ท่านทดสอบเรา ฝึกเรา การอยู่กับครูบาอาจารย์จึงเป็นผลดี เพราะท่านเป็นครูฝึกเราให้มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นในธรรม

เมื่อพักอบรมอยู่กับท่านพระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม ชั่วระยะเวลาไม่นาน จึงได้กราบลาท่านเดินทางกลับไปอำเภอพนมไพรเพื่อคัดเลือกทหาร ในวันจะกลับนั้นท่านสั่งให้โยมเตรียมอาหารให้ฉันแต่เช้าเพราะต้องรีบไปให้ทันรถไฟ เมื่อฉันเสร็จท่านจึงสั่งให้สามล้อไปส่งที่สถานีรถไฟอุดรฯ พร้อมตีตั๋วรถไฟให้ด้วย ไปลงที่กิ่งไผ่ (อำเภอบ้านไผ่) เมื่อรถไฟถึงบ้านไผ่แล้วลงจากรถไฟแวะพักที่วัดป่าสุมนามัย วันหลังออกเดินทางด้วยเท้าไปจังหวัดร้อยเอ็ดทะลุถึงอำเภอพนมไพร

พักที่วัดป่าโนนช้างเผือกอีกระยะหนึ่งเพื่อรอการคัดเลือกทหาร ในขณะที่พักอยู่นั้นได้มีท่านนายอำเภอขุนประชาธรรมรักษ์ และคุณนายลิ้นจี่ สองสามีภรรยา ท่านเป็นผู้ใจบุญได้อุปถัมภ์บำรุงด้วยการถวายอาหารบิณฑบาต เมื่อถึงวันพระ ท่านก็ได้มาสมาทานรักษาอุโบสถศีล ฝึกเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนาด้วย นับว่าท่านทั้งสองนี้เป็นผู้มีอุปการะคุณต่อหลวงปู่เป็นอย่างมาก ก่อนจะคัดเลือกทหาร ท่านขุนประชาธรรมรักษ์ได้ถามหลวงปู่ว่า “ท่านอยากเป็นทหารไหม” หลวงปู่ตอบว่า “อาตมาอยากเป็นพระ จะได้ปฏิบัติเชิดชูพระพุทธศาสนา” ท่านขุนบอกว่า “ผมจะช่วยยกเว้นให้” เมื่อเสร็จภาระในการคัดเลือกทหารแล้ว จึงได้อำลาท่านนายอำเภอและคุณนาย เดินทางต่อเข้ามาทางจังหวัดร้อยเอ็ด แวะพักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์
18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
        
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ  


พบพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้มาพักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ท่านได้เป็นประธานสงฆ์ รองลงมาได้แก่ ท่านพระอาจารย์อินทร์, พระอาจารย์นิล และท่านพระอาจารย์เพ็ง ในระยะนั้นเมื่อหลวงปู่กลับจากการคัดเลือกทหารมาพักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จึงได้ขอนิสัยจากท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่เล่าว่า ในระยะนั้นได้เร่งทำความพากเพียร ไม่ประมาท เวลากลางวันเข้าไปนั่งภาวนาในดงไม้ลำดวน ยุงก้นปล่องก็ชุม นุ่งผ้าอาบน้ำใส่แต่อังสะ นั่งภาวนาอธิษฐานจิต ยุงกัดไม่ไล่ ปล่อยให้ยุงกิน ทานเลือดให้ยุง ในเบื้องต้นยุงกัดก็รู้สึกเจ็บ เอาขันติความอดทนตั้งเข้าไว้ ใช้ปัญญาพิจารณา กายก็ต่างหาก ยุงก็ต่างหาก ไม่ใช่ของเรา ความเจ็บความแสบร้อนก็ไม่ใช่ของเรา เจ็บปวดขนาดนี้ไม่เป็นไร ตกนรกยิ่งทรมานกว่านี้

เมื่อพิจารณาตั้งสติอยู่ไม่ให้คลาดเคลื่อน ในที่สุดจิตก็รวมลงเป็นสมาธิ วางความเจ็บความปวดทั้งหมด เหลือแต่ความสุขหาสิ่งเปรียบไม่ได้ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ ปรากฏว่ายุงที่กินเลือดแล้ว เลือดไหลออกจากก้นยุง หยดย้อยลงรอบที่นั่งของท่าน ทำอยู่อย่างนั้นหลายวัน

ในวันหนึ่งขณะที่จิตสงบลง เกิดนิมิตปรากฏเห็นกลดผุดขึ้นมา แล้วมีพระเถระองค์หนึ่งหัวล้านแดงนั่งอยู่ พอดีในขณะนั้นพังพอนวิ่งไล่กันมาเสียงดังจิ๊กแจ๊ก ใกล้ๆ ที่นั่งภาวนา จิตจึงถอนออกจากสมาธิ พอตอนเย็นทำอาจาริยวัตรสรงน้ำท่านพระอาจารย์อ่อนเสร็จแล้ว จึงขอโอกาสกราบเรียนเรื่องภาวนาถวายท่าน กราบเรียนท่านไปตามตรง ลืมนึกถึงว่าท่านเป็นคนหัวล้าน เมื่อท่านได้ฟังก็ยิ้มๆ และท่านได้แนะอุบายให้ว่า “อย่าปล่อยให้ยุงกัดเพราะยุงมีเชื้อมาลาเรีย จะทำให้เราลำบากทีหลัง ให้ใช้มุ้งกลดกางเสียก่อนจึงนั่งภาวนา” เมื่อได้รับคำเตือนจากท่านครูบาอาจารย์อย่างนั้น หลวงปู่ได้เร่งภาวนาในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ด้วยความไม่ประมาท

ทำอาจาริยวัตรด้วยความเคารพ

หลวงปู่บอกว่า ในระยะนั้นได้ตั้งใจปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ ในตอนเย็นเมื่อถวายการสรงน้ำครูบาอาจารย์เสร็จแล้ว ตัวเองสรงน้ำเสร็จ เข้าสู่ทางเดินจงกรมจนถึงเวลา 2 ทุ่ม ขึ้นไปรวมกันที่ศาลาทำวัตรสวดมนต์ รับการอบรมจากท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ไปจนถึงเวลาเที่ยงคืน ท่านจึงพาเลิกประชุม เมื่อเลิกแล้วก็ตามไปส่งย่าม เทกระโถน ถวายนวดท่านเป็นประจำ

ในวันหนึ่งไม่ทราบว่าท่านจะทดลองหรืออย่างไร เมื่อถวายนวดไป ท่านไม่ยอมบอกให้หยุด ท่านนอนเงียบเหมือนหลับ พระที่ถวายนวดอยู่ด้วยกันก็ทยอยกลับกุฏิกันไปหมด เหลือแต่หลวงปู่นวดอยู่องค์เดียว ในใจก็คิดว่า ถ้าครูบาอาจารย์ไม่บอกให้หยุดก็จะไม่กลับกุฏิ

หลวงปู่เล่าว่า ท่านพระอาจารย์อ่อน ท่านมีลักษณะล่ำสัน เนื้อแน่น ถวายนวดท่านต้องใช้ศอกนวดลงตามเส้น เท้าก็ยันฝากุฏิช่วย ถึงขนาดนั้นท่านยังบอกว่าไม่ถึงเส้น ในวันนั้นหลวงปู่ถวายนวดท่านอยู่องค์เดียว จนได้ยินเสียงไก่ขันกก เป็นเวลาประมาณตีสามครึ่ง ท่านจึงลืมตาขึ้นพร้อมกับพูดว่า “ยังอยู่หรือ เอาละกลับกุฏิเสีย”

เมื่อท่านบอกอย่างนั้น หลวงปู่จึงหยุดนวดและประนมมือยกขึ้นใส่หัว กราบท่านแล้วลุกออกจากห้อง ปิดประตูให้ท่านแล้วเดินกลับกุฏิ เห็นว่าใกล้จะสว่างแล้วจึงขึ้นไปเอาผ้าครองบนกุฏิ กลับลงมาเข้าทางเดินจงกรมจนสว่าง หลวงปู่บอกว่า ทำอะไรก็ควรทำอย่างจริงจังด้วยความเคารพ หลวงปู่พักอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์จนกระทั่งจวนจะเข้าพรรษา พระอาจารย์อินทร์จึงจัดให้ไปจำพรรษาเป็นเพื่อน ท่านพระอาจารย์สวด เขมิโย ที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์

19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พรรษาที่ 3-5 พ.ศ. 2481-2483
จำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์


พรรษาที่ 3-5

จำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ 3 พรรษา ได้ช่วยเหลือครูบาอาจารย์ทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำด้วยความเอาใจใส่ เพราะวัดนี้เป็นวัดสร้างใหม่ มีปัญหาหลายสิ่งหลายอย่าง

“พระเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด ไม่อยากให้พระกรรมฐานมาอยู่ในที่นี้ จึงรวมกันมาเพื่อขับไล่ให้ออก ให้เลิกการสร้างวัด ในที่สุดพวกเราก็เอาชนะด้วยความดี ความบริสุทธิ์ใจ เพราะเราไม่ได้อยู่เพื่อเบียดเบียนใคร อยู่เพื่อเจริญสมณธรรมต่างหาก เพราะในสถานที่นี้เป็นที่สงบดี ไม่พลุกพล่านด้วยฝูงชน เป็นป่าไม้ร่มรื่น”

สุดท้ายเรื่องปัญหาทั้งหลายก็สงบเรียบร้อยไปด้วยอำนาจแห่งศีลธรรม เรื่องภายในจิตใจ หลวงปู่ได้ตั้งใจทำความพากเพียร ไม่ประมาท พยายามไม่คุยกับญาติโยม เมื่อเหตุอะไรจะพูดก็พูดเฉพาะกับครูบาอาจารย์เท่านั้น ในระยะกาลเข้าพรรษา ท่านได้ตั้งใจสมาทานธุดงควัตร อดนอนบ้าง ฉันอาหารเฉพาะที่ตกในบาตรบ้าง บางครั้งก็งดอาหาร ฉันแต่น้ำ 3 วันก็มี 7 วันก็มี เพื่อสะดวกสะบายในการภาวนา ตัดภาระตัดกังวลได้หลายๆ อย่าง

เมตตากลายเป็นกามฉันท์

หลวงปู่เล่าว่า ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง เป็นเวลา 3 ปีนั้น เมื่อออกพรรษาแล้ว ในช่วงฤดูแล้งได้ออกเที่ยววิเวกไปทางจังหวัดมหาสารคาม ครั้งหนึ่งได้ไปพักอยู่วัดป่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้มีหญิงสาวคนหนึ่งเป็นลูกกำพร้าพ่อแม่ตายจาก อาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง มีศรัทธาเลื่อมใสเข้าวัดฟังธรรม

“อยู่มาวันหนึ่ง แกนำผ้าเช็ดหน้าที่ถักริมด้วยมือมาถวาย เราเห็นว่าแกเป็นลูกกำพร้าและมีศรัทธา จึงได้รับด้วยความเมตตาสงสาร พออยู่มาหลายวัน เราได้สังเกตเห็นจิตใจของตัวเองเปลี่ยนแปลงจากความเมตตาสงสารกลายเป็นกามฉันท์ ความยินดีพอใจในผู้หญิงคนนั้น เมื่อพิจารณาเห็นท่าไม่ดีอย่างนั้น ถ้าเราไม่รีบแก้ไขก็จะไม่มีใครจะแก้ไขให้ เราจึงได้ออกจากสถานที่นั้นไป” หลวงปู่ว่าเรื่องเมตตานี้แหละ ถ้าไม่ระวังให้ดี มันกลายเป็นกามฉันท์ได้

ผจญภัยดอกไม้พญามาร

อีกครั้งหนึ่งได้เที่ยววิเวกภาวนาไปตามป่าช้าหมู่บ้านต่างๆ ในเขตจังหวัดมหาสารคาม ในวันนั้นเดินทางทั้งวัน บ่าสะพายบาตร แบกกลด มือถือกาน้ำ เดินไปภาวนาไป สติเป็นเพื่อนสองของใจ พอเวลาใกล้ค่ำได้เดินทางถึงวัดป่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อไปถึงได้เข้ากราบนมัสการครูบาอาจารย์ที่เป็นประธานสงฆ์ ชื่อหลวงพ่อแดง ท่านได้จัดให้พักที่กุฏิหลังหนึ่งซึ่งห่างจากศาลาพอประมาณ พอดีในวันนั้นเป็นวันพระ 8 ค่ำ เมื่อสรงน้ำเสร็จแล้วได้ลงประชุมกันที่ศาลาโรงธรรม ทั้งพระทั้งโยมที่มาจำศีลฟังธรรม มีทั้งหนุ่มสาวและคนแก่ เมื่อทำวัตรสวดมนต์จบแล้ว หลวงพ่อแดงท่านก็แสดงธรรมอบรมญาติโยมไปเรื่อยๆ

หลวงปู่เล่าว่า  “ตัวเราเองก็นั่งภาวนากำหนดจิตหลับตาฟังธรรมไปด้วย พอระยะหนึ่งเราลืมตาขึ้น มีหญิงสาวคนหนึ่งแกนั่งอยู่ตรงหน้า พอเห็นเราลืมตาขึ้น แกก็แสดงมารยาของกิเลสสารพัดอย่าง เมื่อเห็นอย่างนั้นเราก็รีบหลับตาภาวนาฟังธรรมต่อไป โดยไม่สนใจอะไรกับแก เมื่อฟังธรรมที่หลวงพ่อแดงท่านพูดไปเรื่อยๆ จนถึงเวลา 6 ทุ่ม รู้สึกเหนื่อยเพราะเดินทางทั้งวัน จึงลุกขึ้นกราบพระประธานแล้วกราบหลวงพ่อแดง ขอโอกาสท่านไปพักผ่อน ท่านให้โอกาสเพราะเห็นว่าเดินทางทั้งวันเหน็ดเหนื่อย เราลงบันไดศาลาด้านสำหรับพระ ไม่ได้สนใจมองหญิงสาวคนนั้น

พอเราเดินไปถึงหลังกุฏิแล้วแวะเข้าไปถ่ายปัสสาวะอยู่ ไม่ทราบว่าหญิงสาวคนนั้นแกลงจากศาลามาแต่เมื่อไร ไปยืนอยู่ทางบันไดหน้ากุฏิ พร้อมกับพูดขึ้นว่า “ทำไมจึงนอนตายแต่วันแท้” พอได้ยินเสียงอย่างนั้นเราก็รีบกลับขึ้นศาลา หลวงพ่อแดงท่านถามเราว่า “เอ้า ว่าจะไปพัก ไม่พักหรือ” เราไม่ได้ตอบท่านอะไร นั่งหลับตาภาวนาฟังธรรมไปจนสว่าง

พอสว่างแล้วพวกญาติโยมก็กลับบ้านกัน พอเช้าถึงเวลาไปบิณฑบาต เราก็เป็นหัวหน้าแถวไปบิณฑบาตสายนั้น ไม่รู้ว่าบ้านหญิงสาวคนนั้นอยู่ทางนั้นด้วย พอเดินไปถึงบ้านแก แกได้กระติบข้าวเดินลงมาจากบ้านจะมาใส่บาตร เดินเข้ามาจะชนเรา เราต้องถอยหลังออก พอบิณฑบาตกลับไปถึงวัด ฉันเช้าเสร็จ รีบจัดแจงบริขารแล้วกราบลาหลวงพ่อแดงเดินทางต่อไปที่อื่น ขืนอยู่ไปไม่พ้นภัยพญามาร”

หลวงปู่เล่าว่า เรื่องกิเลสนี้มันแหลมคมจริงๆ หาความละอายไม่มีเลย ถ้าเราไม่สำรวมระวัง ไม่ตั้งท่าตั้งทาง ไม่มีสติปัญญารอบคอบแล้ว สู้มันไม่ได้
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 13:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระธรรมเตือนใจ

ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้เที่ยววิเวกไปทางจังหวัดขอนแก่น และแวะเยี่ยมญาติที่บ้านโกธา พักที่วัดป่าส่องแมว ริมสนามบินเก่าจังหวัดขอนแก่น ขณะพักอยู่ที่นั้น วันหนึ่งท่านได้เดินจงกรมอยู่ตั้งแต่หัวค่ำ ได้มีความรู้สึกอันหนึ่งเกิดขึ้นบอกว่า “วันนี้จะมีคนมาหาให้ระวัง” จึงพิจารณาดูว่าคนที่ไหนจะมาหา มาหาทำอะไร จากนั้นจึงได้ตั้งใจระวังอยู่ เดินจงกรมไปจนถึงเที่ยงคืนจึงหยุดแล้วขึ้นกุฏิ กุฏิมีประตูเป็นฝาไม้ไผ่ผลักเข้าข้างใน เมื่อขึ้นกุฏิปิดประตูไหว้พระสวดมนต์เสร็จ นั่งภาวนาระวังตัวอยู่ตลอดเวลา พอหยุดนั่งภาวนาเอนตัวลงนอนตั้งสติอยู่ เห็นไฟแวบเข้ามาทางประตู จึงลุกขึ้นนั่งคอยฟัง ได้ยินเสียงผลักประตูเข้ามาเป็นจังหวะแอ๊ดๆ

หลวงปู่จึงตั้งท่าระวังอยู่ ได้ยินเสียงจับถุงกระดาษ จึงนึกได้ว่าเด็กนักเรียนเอาถุงรองเท้าหนังใหม่ๆ มาฝากไว้ที่ข้างประตู จึงรีบตะครุบถูกแขนขโมย ขโมยตกใจถกแขนกลับ มือท่านหลุด ขโมยไม่ยอมวางถุงรองเท้า กระโดดลงกุฏิ หลวงปู่ตามลงไป ได้ยินเสียงที่กุฏิหลังอื่นดัง เค้ง ! ขโมยพากันวิ่งหนีไปทางสนามบินเก่า หลวงปู่เดินไปที่กุฏิพระรูปอื่นที่ได้ยินเสียงดังนั้น เห็นกระเป๋าหวายของพระใส่หนังสือทิ้งอยู่จึงร้องปลุก พระจึงพากันตื่นขึ้นมา ในสมัยนั้นคนกินฝิ่นกินยาแถวชานเมืองมีมาก จึงหาลักขโมย ได้อะไรก็เอา พอแก้ความหิวของตนเอง หลวงปู่พักอยู่ไม่นาน จึงได้เที่ยววิเวกกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง

เกิดความน้อยใจในครูบาอาจารย์

หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษาได้ตั้งใจตั้งสัจจะอธิษฐานสมาทานธุดงควัตรข้อบิณฑบาตเป็นวัตร ได้อาหารอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น ไม่รับอาหารที่นำมาถวายเมื่อภายหลัง เมื่อสมาทานแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อยู่มาวันหนึ่งฝนตกหนัก มีโยมจากบ้านเหล่าซึ่งอยู่คนละฟากแม่น้ำปาวกับบ้านโนนเมือง นำอาหารมาใส่บาตรไม่ทัน พระกำลังฉันอยู่ แกก็เอาอาหารที่นำมาถวายท่านอาจารย์สวด ท่านก็บอกให้พระเณรรับฉันฉลองศรัทธาให้โยมด้วย

หลวงปู่นึกอยู่ในใจว่า “เราได้ตั้งสัจจะอธิษฐานแล้ว จะไม่ให้เสียสัจจะที่ได้อธิษฐานไว้” เมื่อท่านส่งมาถึงจึงไม่เอาอาหารนั้นไว้ฉัน เมื่อท่านพระอาจารย์สวดมองเห็นไม่เอาอาหารนั้น ท่านจึงร้องขึ้นดังๆ ว่า “ของแค่นี้ก็สงเคราะห์ญาติโยมเขาไม่ได้หรือ” หลวงปู่จึงเกิดความน้อยใจคิดว่า “เราตั้งใจปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์ก็ไม่ส่งเสริม สงเคราะห์ญาติโยมก็สงเคราะห์มากอยู่แล้ว เวลาตั้งใจขัดเกลาก็ให้ได้ทำบ้าง เมื่อครูบาอาจารย์ไม่ส่งเสริมในการปฏิบัติธรรม เราก็ไม่ควรจะอยู่ด้วย”

ช่วยคนป่วยด้วยธรรมโอสถ

ในระยะที่อยู่กับท่านพระอาจารย์สวดนั้น ครั้งหนึ่งมีคนเขาไม่สบาย เขามานิมนต์ให้ท่านอาจารย์สวดไปโปรดช่วยเหลือ ท่านพระอาจารย์สวดจึงแต่งตั้งให้หลวงปู่ไปแทน “ไป ให้ท่านบุญไปช่วยเขาบ้าง”  หลวงปู่เล่าว่า เมื่อครูบาอาจารย์แต่งแล้วจำเป็นต้องไปกับโยมที่เขามานิมนต์ พอไปถึงบ้านเขา ได้พักอยู่ที่เถียงนากลางทุ่ง จึงจัดแจงที่พักเสร็จแล้ว โยมที่เขามานิมนต์ พอไปถึงเห็นคนป่วยนั้นนอนติดเสื่ออยู่มีแต่หนังหุ้มกระดูก มองดูเหมือนกับผีที่ตายแล้ว ถามดูเขาบอกว่า “ไม่สบายได้ 3 ปีแล้ว ไม่อยากข้าวอยากน้ำ” เขาบอกว่า เขาอยู่กับผีฟ้าเทวดา เอาผีเป็นที่พึ่ง หลวงปู่ถามว่า “ลุกขึ้นนั่งได้ไหม” เขาบอกว่า “ไม่ได้”

“พูดตามได้ไหม” เขาบอกว่า “พอพูดได้” หลวงปู่จึงได้ทำพิธีประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์ คือให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก นอนประนมมือแล้วให้ว่าตาม ว่านะโม 3 จบ แล้วว่า อิติปิโส...สวากขาโต...สุปฏิปันโน...ไปจนจบ แล้วว่าคำสมาทานถึงพระรัตนตรัย เสร็จแล้วจึงได้สอนให้ตั้งใจภาวนา คือให้นึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 หน แล้วจึงให้นึกพุทโธคำเดียว ให้ตั้งใจทำอยู่อย่างนั้น และให้มีข้อปฏิบัติคือ ให้เว้นจากการไหว้เซ่นสรวงภูติผีปีศาจ อารักษ์หลักคุณ หักไม้ใส่หม้อ ดูฤกษ์งามยามดี เคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ไม่ให้ทำ ให้เชื่อกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ให้เว้นจากการกินเหล้า เมาสุราและเบียร์ เว้นจากการกินอาหารที่เป็นเลือดเนื้อที่ไม่สุกด้วยไฟ เว้นมังสะ 10 อย่าง

เมื่อเสร็จพิธีให้รับไตรสรณคมน์และสอนให้ภาวนาแล้ว จึงกลับไปพักที่เถียงนา เช้าก็บิณฑบาตในหมู่บ้าน คนป่วยนั้นเมื่อได้รับธรรมโอสถแล้ว วันหลังมาก็ลุกขึ้นนั่งได้ อยากกินข้าวกินน้ำ ในที่สุดก็หายเป็นปกติ หลวงปู่พักอยู่ 2-3 วัน จึงเดินทางกลับวัด บ้านโนนเมือง
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้