ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส ~

[คัดลอกลิงก์]
51#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หน้าที่ของโยมผู้ติดตาม

เมื่อชาวบ้านพงเหนือที่ติดตามมาส่งกลับไปหมดแล้ว ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของโยมที่ติดตามหลวงปู่ไป คือพ่อใหญ่สา พ่อใหญ่มา และผม ต้องช่วยสะพายบาตร และหิ้วอัฏฐบริขาร เดินไปตาทางรถยนต์สายอุดรธานี-สกลนคร ซึ่งเป็นถนนลูกรัง นานๆ จะมีรถผ่าน หลวงปู่บอกว่า “ไม่ต้องขึ้นรถยนต์ไปนะ ถ้าใครขึ้นรถไปนมัสการพระธาตุพนมจะได้กุศลน้อย แต่ถ้าเดินไป จะได้กุศลแรง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลแค่ไหน ถ้าเรามีศรัทธาและตั้งใจแน่วแน่แล้วต้องไปถึงจนได้” หลวงปู่เตือนใจลูกศิษย์ที่เดินทางไปด้วย

ในวันนั้นท่านพาเดินตามทางรถยนต์ไปเรื่อยๆ ผ่านหลายหมู่บ้าน เป็นเวลาใกล้ค่ำแล้วท่านพาหยุดพักที่ศาลาวัดแห่งหนึ่ง แต่วัดนี้คงสร้างมานานดูศาลารู้สึกเก่ามาก ท่านสมภารวัดไม่อยู่มีแต่พระลูกวัด หลวงปู่พาลูกศิษย์พักที่วัดนี้ 1 คืน พอเช้ามาหลวงปู่พร้อมด้วยพระ 2 รูปที่ติดตามก็ออกบิณฑบาตโปรดชาวบ้าน กลับมาถึงวัดฉันจังหันเสร็จแล้วก็เตรียมบริขารลงในบาตร ออกเดินทางต่อไปตาทางรถยนต์เช่นเคย

แต่วันนี้ทั้งวัน รู้สึกว่าหลวงปู่ท่านเดินเร็วขึ้นและเดินได้ระยะทางไกลกว่าทุกวัน ตอนบ่ายๆ แก่ของวันนั้น ท่านเดินห่างพวกที่ติดตามไปไกลมาจนมองไม่เห็นท่าน พวกที่ติดตามก็เดินตามไปเรื่อยๆ ไปไกลมากจนเหนื่อย จึงมองเห็นท่านอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ริมหนองน้ำ พอเดินเข้าไปใกล้ ท่านจึงบอกว่า “คืนนี้พักที่นี่แหละ น้ำท่าสะดวกดี ที่พักก็สะดวกสบายดี”

ตอนที่พ่อใหญ่สา พ่อใหญ่มา จัดการปัดกวาดที่สำหรับกางกลดให้หลวงปู่ ผมแอบถามว่า “ทำไมท่านถึงเลือกเอาที่นี้เป็นที่พัก” ก็ได้รับคำตอบจากพ่อใหญ่มาว่า “ท่านชอบที่สงบๆ เป็นป่าเป็นเขาและมีน้ำด้วย” คืนนั้นเงียบสงบจริงๆ พวกโยมที่ติดตามหลีกอยู่ห่างจากที่พักของท่านพอสมควร กะว่าเสียงพูดกันไม่ให้ได้ยินไปรบกวนท่าน

ทีนี้อากาศเริ่มหนาวแล้ว พ่อใหญ่สองคนหาฟืนมาก่อไฟผิงสำหรับคลายหนาวและต้มน้ำร้อนไปถวายหลวงปู่และพระติดตามด้วย ส่วนผมเข้าไปหาหลวงปู่ที่ท่านพักอยู่ไม่ได้ เพราะตอนเดินตามทางรถยนต์นั้น ก้อนหินที่คมๆบาดเป็นแผลอยู่หลายที่และเท้าก็ระบม ทางรถสมัยนั้นเป็นลูกรังตลอดสาย เวลาเดินก็ไม่ได้ใส่รองเท้า หลวงปู่ท่านก็เดินเท้าเปล่าแต่ก็เห็นท่านเดินสบายๆ


พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต)


หลวงปู่สงสารหลานน้อยที่ติดตามไปด้วย

หลวงปู่ท่านจึงฝากยากับพ่อใหญ่สา เอามาให้ทาแผล และสั่งพ่อใหญ่ให้บอกด้วยว่า “ตอนแรกๆ ก็เจ็บอย่างนี้แหละ อีกหน่อยก็จะชินไปเอง” พอรุ่งเช้าได้เวลาบิณฑบาตตามสมณวิสัย หลวงปู่พร้อมด้วยพระติดตาม เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านด้านทิศใต้ ผมไปรับบาตรท่านแล้วถามท่านว่า “หมู่บ้านที่เดินผ่านมาเมื่อวานนี้อยู่ใกล้กว่าและทางก็สะดวก ทำไมไม่ไปบิณฑบาตบ้านนั้น”

ได้รับคำตอบจากท่านว่า “ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรเดินย้อนหลัง”

เมื่อบิณฑบาตกลับมาถึงที่พักเตรียมจะฉันอาหาร ได้มีชาวบ้านที่เกี่ยวข้าวอยู่ทุ่งนาใกล้ที่พักนำอาหารมาถวาย เป็นคนแก่ทั้งหญิงชายประมาณ 4-5 คน หลังจากฉันจังหันเสร็จ คนแก่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้าวก็อยู่สนทนาธรรมกับหลวงปู่ท่าน ท่านบอกว่า “วันนี้จะหยุดซักผ้าจีวรก่อน เพราะน้ำสะอาดดี วันหลังจึงจะเดินทางต่อ” ท่านพาผู้ติดตามพักที่นี้ 2 คืน จึงเดินทางต่อไป

การเดินทางก็ไปแบบไม่รีบร้อน พักแห่งละคืน 2-3 คืนบ้าง ตามป่าหรือชายทุ่ง กว่าจะถึงวัดป่าสุทธาวาส ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ก็กินเวลาหลายคืน หลวงปู่ท่านพาเข้าพักที่วัดป่าสุทธาวาส ในขณะนั้น พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) ท่านเป็นเจ้าอาวาส พักที่วัดป่าสุทธาวาสหลายคืน ตอนกลางคืนท่านได้สนทนาธรรมกับพระอาจารย์ต่างๆ ที่มาพักวัดป่าสุทธาวาสด้วยกัน ครูบาอาจารย์ในยุคนั้นมีแต่ปฏิบัติมุ่งอรรถธรรม เมื่อเวลาได้เจอกันก็สนทนาธรรมปฏิบัติเป็นเครื่องรื่นเริงซึ่งกันและกัน
52#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ป้ายชื่อวัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร


อุโบสถวัดป่าสุทธาวาส


จากวัดป่าสุทธาวาสสู่พระธาตุพนม

หลวงปู่พร้อมด้วยศิษย์ที่ติดตามเตรียมบริขารลงในบาตร นำบาตรเข้าถุง กราบลาครูบาอาจารย์ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาสแล้ว สะพายบาตรแบกกลด อาศัยรถธรรมชาติคือเท้า เดินเหยียบย่ำไปตามถนนสายสกล-นาแก-ธาตุพนม ซึ่งกำลังก่อสร้าง ทางเดินลำบากมากเต็มไปด้วยฝุ่นปลิวตลบ หลวงปู่พาคณะศิษย์เดินผ่านบ้านเล็กบ้านน้อย เดินบ้าง หยุดบ้าง พักเมื่อมีร่มไม้ใหญ่ๆ บ้าง พอหายเหนื่อยแล้วก็เดินต่อไป

เมื่อค่ำก็หยุด โยมที่เดินทางไปด้วย พร้อมทั้งผมด้วย พากันปัดกวาดจัดที่สำหรับกางกลดถวายหลวงปู่และพระที่ติดตาม เสร็จแล้วโยมก็แยกพักอยู่อีกต่างหากจากท่านไปหน่อย จะต้องปฏิบัติอยู่อย่างนี้ตลอดระยะการเดินทาง พอเช้า ท่านเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้อะไรมาก็แบ่งกันฉันและให้โยมที่ติดตามด้วย ฉันเสร็จแล้วโยมที่ติดตามก็ล้างบาตรเช็ดบาตรแห้งดี เข้าถลกใส่ถุงสะพายและเดินทางต่อไป เมื่อถึงเวลาค่ำหลวงปู่ท่านจะเลือกพักตามป่าที่ห่างจากคนเดิน ห่างจากรถ ห่างจากหมู่บ้าน ในสมัยนั้นป่ายังมีอยู่มาก สัตว์ป่าก็มีมากมาย

เดินด้วยเท้าพักรอนแรมมาจนถึงหมู่บ้านต้นแหน พระที่ติดตามไปกับหลวงปู่คือพระอาจารย์กุ จึงบอกว่า “จะไปพักที่บ้านยางคำ สำหรับบ้านนี้จะพักหลายวันหน่อย เพราะเคยมาจำพรรษาที่นี้ รู้จักมักคุ้นกับหลายคน” แล้วพระอาจารย์กุจึงพาเดินแยกออกจากทางรถยนต์ที่กำลังก่อสร้าง เดินไปตามทางคนเดิน ทางแคบมาก มีทุ่งนาสลับกับป่า แต่ป่าจะมากกว่าทุ่ง ตอนนี้พวกชาวนาเกี่ยวข้าวจวนจะเสร็จแล้ว เดินทางมานานทีเดียว ผ่านหมู่บ้านต่างๆ จนจำไม่ได้ อาจารย์กุหยุดทักทายกับชาวนา 2 คน คงจะเป็นสามีภรรยากัน ท่านพูดคุยอยู่พักหนึ่ง คนที่เป็นสามีรับอาสาไปส่ง หลวงปู่ซึ่งเคยเดินนำหน้ากลับเดินตามชายผู้นั้นไป
53#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พักที่วัดร้าง

ผมก็ให้พ่อใหญ่มาลงเดินตามหลังสุด ตัวเองขึ้นมาอยู่กลางขบวนเพราะมีแต่ป่าน่ากลัวมาก ทางเดินก็แคบพอเดินได้ แต่ต้องระวังตัวเพราะมีต้นไม้ล้มลงทับทาง และกิ่งไม้ทั้งสองข้างทางก็ยื่นออกมาระเกะระกะ เดินมาได้ชั่วโมงเศษๆ ก็มาถึงหมู่บ้านร้าง มีวัดอยู่แห่งหนึ่งเป็นวัดร้างเหมือนกัน พระอาจารย์กุบอกว่า “พักที่นี่แหละ พักหลายวันด้วย” เพราะมีเวลาอีกนานกว่าจะถึงวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งเป็นวันสำคัญคืองานประเพณีไหว้พระธาตุพนม

พักทำความเพียรอยู่รุกขมูลวัดร้าง

ที่วัดร้างแห่งนี้รกรุงรังเต็มไปด้วยต้นไม้เล็กและใหญ่ สังเกตสิ่งก่อสร้างฝีมือมนุษย์ที่ยังหลงเหลืออยู่อย่างเดียวคือศาลาวัดทำด้วยไม้ ซึ่งเก่าผุพังไปมากแล้ว ไม่มีใครกล้าขึ้นไปดู กลัวจะหักลงมาทับ ต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ห่างๆ กัน มีต้นมะม่วง มะพร้าว มะขาม อยู่ห่างๆ กันมีไม่มาก มีทางเดินเท้าแคบๆผ่านไปตรงกลางวัดและเลยไปเชื่อมกับทางสายหลักซึ่งเป็นทางเกวียนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านกุดเกิบไปหมู่บ้านยางคำ ซึ่งย้ายออกจากบ้านร้างที่กำลังพักอยู่นี่เอง ย้ายลงไปตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากที่วัดร้างประมาณ 2.5 กิโลเมตร ส่วนบ้านกุดเกิบห่างจากบ้านร้างวัดร้างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร แต่ทางเดินไปหมู่บ้านไม่มี

เมื่อมาพักอยู่วัดร้างนี้ หลวงปู่จึงเลือกเดินไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านยางคำ ซึ่งมีทางเดินไปถึงหมู่บ้านได้ ที่พักของหลวงปู่ท่านกำหนดเลือกเอาใต้ร่มมะม่วงต้นใหญ่ภายในบริเวณวัดร้าง ที่พักของพระอาจารย์กุห่างจากที่พักของหลวงปู่ไปทางทิศเหนือ ส่วนที่พักของพระอาจารย์ไถ่ห่างไปทางทิศใต้ แต่อยู่ในบริเวณวัดร้างด้วยกันหมด และเป็นใต้ร่มมะม่วงเหมือนกัน ส่วนร่มมะม่วงต้นใหญ่อยู่กลางวัดเอาไว้เป็นที่รวมกัน

ขณะที่กำลังถางไม้เล็กออกทำความสะอาดที่พักสำหรับท่านทั้ง 3 องค์อยู่นั้น มีชาวบ้านที่ทราบข่าวก็พากันมาช่วยหลายคน พวกชาวบ้านแบ่งกันทำทางเดินจงกรม บ้างก็ปัดกวาดที่พัก บ้างก็ไปหาโอ่งไหสำหรับใส่น้ำฉัน โองน้ำอาบ และโอ่งน้ำใช้ จัดหามาครบหมด ผมจึงรู้ว่า บ่อน้ำอยู่ไม่ไกลจากที่พัก เดินตามทางเกวียนไปสัก 5 นาที ก็ถึงทางแยกและตรงทางแยกนี้แหละเขาขุดบ่อน้ำเอาไว้บ่อใหญ่ทีเดียว น้ำใสสะอาดจืดสนิท พวกโยมผู้หญิงชาวบ้านพากันหาบเอาน้ำไปใส่โอ่งไหไว้ให้ท่านทั้ง 3 รูป ได้สรงและใช้ล้างบาตร

ในวันนั้นพอตกกลางคืน ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านพากันออกมามาก จนลานที่ถางเอาไว้ไม่พอกันนั่ง ต้องถางออกให้กว้างไปอีก ชาวบ้านฟังหลวงปู่บรรยายธรรมอยู่จนดึกจึงพากันกลับ พวกที่ไม่กลับก็มีประมาณ 10 กว่าคน และได้พากันหาฟืนมาก่อไฟผิง นั่งล้อมวงอยู่ที่พักกลางกับพวกพ่อใหญ่รวมทั้งผมด้วย กองไฟจากหนึ่งกองต่อมาแยกเป็นสองและก่อเพิ่มขึ้นมาเป็นสามกอง แล้วก็มีการพูดคุยกันสารพัดเรื่อง ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่าต้นยางต้นนี้ คนแถวนี้เรียกว่า “ยางคำ” ชื่อหมู่บ้านยางคำก็มาจากต้นยางต้นนี้ ซึ่งเป็นต้นไม้คู่บ้านมานานแล้ว แต่พอเขาคุยเรื่องเสือนี่ซิทำให้ผมซึ่งยังเด็กอยู่กลัวเป็นอย่างมาก

เขาพูดถึงปีที่ผ่านมา หน้าเกี่ยวข้าวจวนจะเสร็จเหมือนหน้านี้แหละ ตรงที่ศาลาผุๆ พังๆ ที่เรามองเห็นอยู่นี่แหละ มีสองคนผัวเมีย มาจากไหนไม่มีใครทราบ มีคนเห็นว่า ตอนบ่ายทั้งสองเดินผ่านหมู่บ้านยางคำ เมียเดินนำหน้า ผัวเดินตามหลัง มีคนถามว่ามาจากที่ไหนและกำลังจะไปไหน คนผัวก็ตอบแบบไม่ได้เรื่อง (ตอบแบบเลอะๆ เลือนๆ) เขาจึงรู้ว่าเป็นคนติดกัญชา ก่อนออกจากหมู่บ้าน คนผัวได้ขโมยเอาไก่ชาวบ้านมาย่างกินที่ศาลาวัดร้างนี่แหละ พอกินเสร็จก็มืดพอดี เลยพากันนอนพักข้างกองไฟใต้ถุนศาลาร้างที่ย่างไก่กิน

พอตกกลางคืนเสือเลยมาคาบเอาสองผัวเมียไปกิน ตอนเช้าชาวบ้านออกไปทำนาไปพบศพเข้าจึงไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน คนเล่าพูดพร้อมกับชี้มือไปที่ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเชิงแนะนำให้พวกผมรู้จัก ผู้ใหญ่บ้านเลยถือโอกาสเล่าต่อว่า หลังจากได้ทราบว่ามีคนตายที่ใกล้หมู่บ้าน จึงชวนลูกบ้านไปหลายคน เมื่อไปถึงพบศพผู้ชายก่อนจึงแยกย้ายกันหาร่องรอย ก็พบศพผู้หญิงอีกศพหนึ่ง ศพผู้หญิงนั้น สิ่งที่หายไปคือเต้านมทั้งสองข้างถูกเสือกัดหายไป ส่วนศพผู้ชายมือทั้งสองข้างถูกเสือกัดกินเช่นกัน (คงจะเป็นบาปที่ขโมยไก่ชาวบ้าน ส่วนภรรยาคงจะบาปเพราะนอนกับสามีในวัด)

เขาบอกว่าที่นี้มีเสือเยอะ เพราะป่ากว้างภูเขาเยอะ สัตว์ป่าที่เป็นอาหารของเสือก็มีมาก ส่วนผมเหนื่อยมามาก ง่วงนอนเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังกลัวเสือมาก ไม่กล้านอนคนเดียว พอดีพ่อใหญ่สาหิ้วน้ำร้อนจะไปถวายพระอาจารย์กุและพระอาจารย์ไถ่ ส่วนพ่อใหญ่มาหิ้วเอากาน้ำร้อนไปถวายหลวงปู่ ผมจึงถือโอกาสไปกับพ่อใหญ่มา พอไปถึงที่พัก ท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ จึงรอจนดึก ให้ท่านออกจากสมาธิแล้วจึงนำน้ำร้อนเข้าไปถวาย เมื่อถวายน้ำร้อนหลวงปู่เสร็จ พ่อใหญ่ก็กลับที่พัก ส่วนผมยังไม่กลับ หลวงปู่จึงถามผมว่า “ทำไมไม่กลับไปนอน” ผมบอกหลวงปู่ว่า “จะนอนข้างๆ หลวงปู่ เพราะผมกลัวเสือมาก”
54#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านหลวงปู่เลยพูดต่อว่า “เสือก็ออกหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตามปกติของสัตว์โลก ถ้าคนเราไม่ไปเบียดเบียนเขา เขาก็ไม่ทำอันตรายแก่เรา ขอให้ตั้งใจแผ่เมตตาให้แก่เขา และตั้งใจสวดมนต์ภาวนา เสียงเสือที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงร้องที่อยู่ไกลมาก อยู่แถวเชิงภูเขาที่มองเห็นเมื่อตอนกลางวันนี้ และที่ภูเขานี้มีถ้ำอยู่ มีพระพุทธรูปปางต่างๆ หลายขนาดเก็บไว้ในถ้ำมากมาย ชาวบ้านแถวนี้เขาเรียกภูถ้ำพระ แล้ววันหลังจะพาไปเพื่อนมัสการพระพุทธรูปเหล่านั้น” หลวงปู่พูดต่อว่า “คืนนี้อนุญาตให้นอนใกล้ๆ ได้ แต่ห้ามนอนดิ้น เพราะว่าหลวงปู่จะนั่งภาวนา เรื่องเสือไม่ต้องคิดอะไรมาก ถ้าบังเอิญพบเข้าจริงๆ ถ้าเสือจะกินก็ให้มันกินไปเถอะ เนื้อหนังคนเรามีเพียงน้อยนิด ถ้าเขาต้องการก็ให้เป็นทานเขาไป เราจะได้บุญกุศลแรง”

คืนนั้นผมนอนหลับๆ ตื่นๆ เพราะกลัวเสือจนสว่าง เมื่อได้เวลาบิณฑบาตหลวงปู่ออกบิณฑบาตที่บ้านยางคำ ซึ่งมีทางเดินสะดวกกว่าไปบ้านกุดเถิบ เมื่อท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว ชาวบ้านได้นำอาหารมาถวายถึงที่พักที่วัดร้าง และมีหมู่บ้านที่ใกล้เคียงมาสมทบอีกก็มาก หลังจากที่ท่านฉันเสร็จแล้วท่านได้อบรมธรรมะให้ชาวบ้านครู่หนึ่ง แล้วท่านก็หลบเข้าไปเดินจงกรมในที่เตรียมไว้สำหรับท่าน เป็นที่มีร่มเงาต้นไม้ใหญ่และต้นไม้เล็กบดบังดีมาก พวกชาวบ้านทราบข่าวว่าท่านจะพักที่นี้หลายวันก็ดีใจมาก ช่วยกันทำความสะอาดแลดูกว้างและเรียบร้อยขึ้น

พวกผม 3 คน กับชาวบ้านอีก 3 คน พากันไปหาเก็บสมุนไพร ที่ท่านบอกเอาไว้ตอนเดินทางมามีสมุนไพรแปลกๆ มาก เพราะหลวงปู่ท่านเก่งทางสมุนไพรด้วย ต้นอะไรเป็นยาอะไรท่านรู้หมด เวลาเดินไปพบเข้า ท่านจะบอกเอาไว้ให้เราจำเอาเอง ชนิดไหนใช้ราก ชนิดไหนใช้ใบ ชนิดไหนใช้ลำต้น เมื่อได้มาแล้วนำมาล้างตากแดดมัดเป็นมัดรวมกันไว้

วันต่อมามีผู้คนมาแต่หัวค่ำมากกว่าวันแรกนิดหน่อย ที่พิเศษคือมีพ่อใหญ่มาจากบ้านหนองบ่อ เป็นอดีตกำนันอายุมาก รูปร่างหน้าตาดี เป็นคนมีความรู้ดี มาสนทนาธรรมกับหลวงปู่ ชาวบ้านตั้งให้แกเป็นหัวหน้า พากันทำวัตรเย็นและเป็นผู้นำพิธีการทุกอย่าง และที่พิเศษอีกคนหนึ่ง คือพ่อใหญ่ที่มาจากบ้านยางคำ ซึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านนับถือมาก แกอาสาจะนำหลวงปู่และคณะไปนมัสการพระพุทธรูปที่ภูถ้ำพร ภูถ้ำพระสมัยนั้นเป็นป่ากว้างใหญ่สลับด้วยภูเขา เคยมีคนหลงป่าหาทางออกไม่ได้หลายครั้งแล้ว จนเดือดร้อน ชาวบ้านต้องเกณฑ์ผู้คนจำนวนมากออกค้นหา บางทีใช้เวลาค้นหาหลายวันก็มี บางทีเมื่อพบแล้วต้องหามกลับมารักษาพยาบาล เพราะขาดน้ำบ้าง ขาดอาหารบ้าง ไข้ป่าบ้าง บางคนเป็นโรคกลัวป่า กลัวต้นไม้ไปเลยก็มี ส่วนมาเป็นพวกหาของป่า พวกพรานป่าจะหลงป่ามีน้อยมาก

อีก 2 วันต่อมา ตอนเช้าหลังจากหลวงปู่ฉันเสร็จแล้ว ท่านพาเดินทางออกจากที่พักไปสมบทบกับชาวบ้านยางคำ ที่คอยอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อไปถึงหมู่บ้านมีคนที่คอยอยู่แล้ว 3 คน รวมทั้งพ่อใหญ่ที่ช้าวบ้านนับถือด้วย ส่วนไปจากที่พักที่ครบทีม คือมีพระ 3 รูป ผู้ติดตามอีก 3 คน แล้วชาวบ้านก็พาออกเดินไปตามทางเกวียน ไปทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นทางเกวียนตัดผ่านเข้าไปในป่าใหญ่ ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมงถึง “ปางพัก” ที่ชาวบ้านมาพักเลี้ยงวัวควาย แต่ทางเดินต่อไปเป็นทางคนเดินเท้า ไม่กว้างนัก ท่านพาหยุดพักพอหายเหนื่อยก็เดินทางต่อ ทางเดินเท้าที่เดินไปแม้จะเป็นป่าเดินสะดวก เพราะมีรอยคนเดินอยู่ทุกวัน สองข้างทางเต็มไปด้วยป่า

เมื่อออกไปที่โล่งๆหน่อย ก็มองเห็นภูเขาอยู่สองข้างซ้ายขวาไม่ไกลนัก จะเรียกว่าช่องเขาคงจะได้ หลวงปู่บอกว่า “ให้เดินไปก่อน ไม่ต้องคอย จะแวะปัสสาวะหน่อยแล้วจะตามไป” พวกที่ไปทั้งหมดก็เดินคุยกันไปเรื่อยๆ จนไปถึงช่องทางระหว่างภูเขาสองลูกทางเดินแคบๆ ท่านอาจารย์ไถ่ก็อบกว่า “ให้หยุดคอยหลวงปู่ก่อน ประเดี๋ยวท่านจะตามไปไม่ถูก แล้วเดินหลงไป” พระอาจารย์กุจึงพูดว่า “พระธุดงค์อย่างหลวงปู่ ต่อให้เราเดินอีกทั้งวันท่านก็ตามไม่ผิด” แต่ทั้งหมดก็หยุดรอหลวงปู่ พากันนั่งพักตามก้อนหินภูเขาก้อนใหญ่ๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย ท่านพระอาจารย์กุและพระอาจารย์ไถ่ นั่งพักบนก้อนหินด้านขวามือ พวกโยมอยู่ด้านซ้ายมือ นั่งบ้าง ยืนบ้าง โดยหันหน้าไปทางอาจารย์ทั้งสองรูป มีทางเดินเท้าอยู่ตรงกลาง

ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกันอยู่นานพอสมควร ก็ไม่เห็นหลวงปู่เดินมาสักที ท่านพระอาจารย์กุจึงชวนเดินทางต่อ โดยบอกว่า “หลวงปู่เคยเดินธุดงค์มาหลายป่าแล้ว ไม่เคยปรากฏว่าท่านเดินหลงป่าเลย อย่างไรท่านก็ตามไปไม่ผิดทางแน่นอน” แล้วทั้งหมดก็ออกเดินทางต่อ ทางเดินค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดินไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เห็นหลวงปู่ยืนบนก้อนหินที่ขึ้นปะปนอยู่กับต้นไม้น้อยใหญ่ ทุกคนแปลกใจมากได้แต่มองหน้ากันไปมา และถามกันว่ามีใครเห็นหลวงปู่บ้าง ต่างคนก็บอกว่าไม่เห็น

พูดได้เท่านั้นทุกคนก็เงียบไป พอดีเดินมาถึงหลวงปู่ ท่านหันมาถามพวกเราว่า “พากันทำอะไรอยู่ มาช้าเหลือเกิน ปล่อยให้คอยอยู่ตั้งนาน” ทุกคนได้แต่มองหน้ากันไม่มีใครกล้าพูดอะไร พระอาจารย์กุจึงตอบท่านว่า “นั่งคอยหลวงปู่” หลวงปู่ถามว่า “แล้วทำไมไม่ตามมา” พระอาจารย์กุจึงตอบว่า “ไม่เห็นท่านเดินผ่านมา” หลวงปู่เลยพูดว่า “เห็นนั่งคุยกันอยู่ตั้งหลายคน ถ้าไม่มีใครเห็นก็คงจะคุยกันเพลิน เลยไม่เห็นพระเดินผ่านมา ทั้งที่มีตาเมื่อรวมกันแล้วมีตั้งหลายตา” ท่านพูดจบแล้วบอกให้พ่อใหญ่กับชาวบ้านเดินนำทางต่อไป

ทางเริ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านลานหินหลายแห่ง มีต้นไม้ขึ้นตามซอกหินประปราย คนนำทางพาเดินคดเคี้ยวไปตามทางน้ำไหล ซึ่งน้ำหยุดไหลแล้ว มีน้ำยังอยู่ตามแอ่งหินหลายแห่ง เดินไปไม่นานก็ถึงหน้าผาสูง มองลงไปข้างล่างเห็นแต่ป่าไม้เต็มไปหมด คนนำทางบอกว่า “ถ้ำพระ” อยู่ข้างล่าง เลยก้อนหินใหญ่ๆ ที่มองเห็นอยู่นั้นไปนิดเดียว พูดแล้วก็พาเดินลงไปตามช่องทางเดินแคบๆ ลงไปถึงถ้ำ ปากถ้ำไม่กว้างใหญ่อย่างที่คิดไม่ลึกมากนัก แต่กันฝนได้ดี ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปมากมาย น้อยใหญ่หลายขนาด สลักด้วยไม้ก็มี สลักด้วยหินก็มี วางกองกันไว้ และอยู่ในพานอันใหญ่ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ทาด้วยยางไม้ก็มี วางอยู่กับพื้นถ้ำและตามซอกหินซอกเล็กซอกน้อยก็มีอีกมาก

หลวงปู่จึงปรารภว่า “คงจะมาจากเมืองอื่น บรรทุกมาด้วยช้างม้าต่างวัวต่างเป็นขบวนใหญ่ เพื่อนำไปประดิษฐานและร่วมฉลองพระธาตุพนม เมื่อมาถึงที่นี้แล้ว ทราบข่าวว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จ และได้ทำการฉลองเสร็จแล้ว เลยพากันเสียใจที่ไปไม่ทัน คิดว่ามีบุญน้อย จะเดินทางไปให้ถึงพระธาตุพนมก็อับอายชาวบ้านอื่นเมืองอื่น ครั้นจะนำพระพุทธรูปเหล่านี้กลับบ้านก็ยิ่งอับอายชาวบ้าน และเป็นภาระหนักมาก เลยตกลงกันหาที่เก็บไว้ที่มิดชิดเรียบร้อยหน่อย ก็เลยได้ถ้ำแห่งนี้เป็นที่เก็บ เป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว”

หลวงปู่พาไหว้พระในถ้ำเสร็จแล้ว ก็เดินทางกลับที่พักรุกขมูลวัดร้าง หลวงปู่พักอยู่ที่วัดร้างนี้นานประมาณ 20 วัน ชาวบ้านนิมนต์อยากให้ท่านอยู่ไปนานๆ เขารับอาสาจะอุปัฏฐาก อยากให้หลวงปู่อยู่ด้วยตลอดไป เพื่อเป็นที่พึ่งของเขา หลวงปู่ท่านบอกว่า ท่านมีจุดมุ่งหมายอยู่ คือท่านจะไปนมัสการองค์พระธาตุพนม อยู่สงเคราะห์แค่นี้ก็พอแล้ว ขอให้พากันตั้งใจบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา อย่าให้ขาด พระธรรมนั้นจะเป็นที่พึ่งของเราทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า

หลวงปู่พาออกเดินทางจากวัดร้างบ้านยางคำแต่เช้ามืด เพื่อให้ทันบิณฑบาตหมู่บ้านข้างหน้า เมื่อถึงหมู่บ้านข้างหน้า ท่านทั้ง 3 องค์ ก็เข้าบิณฑบาต เมื่อฉันเสร็จแล้วท่านก็พาเดินทางต่อไปตามทางรถยนต์ที่กำลังก่อสร้าง เดินไปเรื่อยๆ ผ่านอำเภอนาแก ถึงบ้านนาก้านเหลือง ที่พักเป็นทุ่งนากว้าง ลมหนาวพัดแรง อากาศหนาวเย็นมาก คืนนั้นท่านหลวงปู่ได้กางมุ้งกลดข้างกองฟางเพื่อบังลม พระอาจารย์กุและพระอาจารย์ไถ่ ได้ที่พักข้างกองฟางอีกกอง ส่วนพวกผม 3 คน ได้สระน้ำที่น้ำแห้งแล้ว พักหลบลมซึ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนทนหนาวไม่ไหวจึงชวนกันฉายไฟออกหาฟืน แต่ไม่ได้ฟืนมาเลยเพราะเป็นทุ่งนาโล่งๆ เลยพากันเก็บเอาขี้ควายแห้งมาก่อไฟแทน ซึ่งได้มาไม่มากนักแต่ใช้ได้นาน

คืนนั้นพากันหลับๆ ตื่นๆ เพราะอากาศหนาวเย็นมาก เช้ามาท่านทั้ง 3 บิณฑบาตที่บ้านนาก้านเหลือง ฉันเช้าเสร็จท่านพาเดินต่อ พอบ่ายๆ ก็มองเห็นยอดของพระธาตุพนม ซึ่งถูกอาบด้วยแสงแดดยามบ่าย เหลืองอร่ามเป็นประกายนิดๆ เป็นที่น่าศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง พอบ่ายแก่ๆ หน่อยก็ข้ามสะพานแม่น้ำก่ำและถึงพระธาตุพนม คืนนั้นได้ที่พักที่ป่าช้าญาวนที่อยู่ด้านขวามือก่อนถึงอำเภอธาตุพนมเพียงเล็กน้อย และด้านหลังของป่าช้ามีลำธารเล็กๆ ไหลผ่านลงแม่น้ำโขง มีศาลาร้างอยู่หลังหนึ่ง หลวงปู่ไม่ให้พักบนศาลาร้าง ท่านให้เหตุผลว่า “ลมแรงและหนาวมาก ทั้งใกล้ทางรถเกินไป หนวกหู และคนเดินผ่านไปมาก็มองเห็นแล้วจะมารบกวน”

ท่านพาเดินห่างจากทางรถเข้าไปจนถึงริมลำธาร ท่านเลือกได้ใต้ร่มไผ่ซึ่งมีขึ้นมากมายเป็นดงไผ่ พระอาจารย์กุและพระอาจารย์ไถ่เลือกได้ห่างออกไปอีกเล็กน้อย พวกโยม 3 คน ได้ร่มไผ่ด้านทิศตะวันตกใกล้ลำธารที่สุด ท่านหลวงปู่บอกว่า “จะพักที่นี้สัก 4-5 วัน เพราะอีกสองวันก็ถึงวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือเป็นวันจาตุรงคสันนิบาต พระอรหันต์ 1,250 องค์มาประชุมในพระเวฬุวันโดยไม่ได้นัดหมาย และเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระวาจาทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงทำวิสุทธิอุโบสถในศาสนานี้มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขารว่าจากนี้ไปอีกสามเดือน เราตถาคตจะดับขันธปรินิพพาน จึงเป็นวันที่ประชาชนชาวพุทธทั้งหลายได้หลั่งไหลมามนัสการพระธาตุพนม”

เดือน 3 กลางเดือน อากาศหนาวเย็นมาก ลมหนาวก็พัดแรง พอตกตอนเย็นพวกโยมทั้งสามคนช่วยกันก่อกองไฟเอาไว้ให้ความอบอุ่น และให้แสงสว่างด้วย และพากันต้มน้ำร้อนไปถวาย ก็เห็นท่านทั้ง 3 กำลังเดินจงกรมอยู่ที่ใครที่มัน ต้องนั่งคอยอยู่ห่างๆ ตั้งนานจึงได้ถวายน้ำร้อนให้ท่าน นิมนต์ให้ท่านไปนั่งใกล้ๆ กองไฟ เลยถูกท่านไล่ให้กลับไป รุ่งเช้าถึงเวลาภิกขาจาร ท่านทั้ง 3 ไปบิณฑบาตในตัวอำเภอธาตุพนม มีพวกชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา นำอาหารตามท่านมาจนถึงที่พัก ประมาณ 10 กว่าคน หลวงปู่จึงเปลี่ยนที่ฉันอาหารเช้า ขึ้นไปฉันบนศาลาป่าช้า ซึ่งเก่ามากจนหลังคาผุพังไปข้างหนึ่งแล้ว แต่พื้นกระดานยังพอนั่งได้อย่างปลอดภัย และกว้างสำหรับพระและโยมนั่งได้

การพักในที่นี้ได้รับความสะดวกดี เพราะชาวอำเภอธาตุพนมที่มาถวายอาหารได้นำของใช้ที่จำเป็น และน้ำสำหรับฉันมาถวายพร้อมเสร็จ บ่ายวันนั้นหลวงปู่ให้ผมอยู่เฝ้าที่พัก หลวงปู่ พระอาจารย์กุ และพระอาจารย์ไถ่ พ่อใหญ่มา พ่อใหญ่สา ได้เดินเข้าไปนมัสการและทำวัตรสวดมนต์ที่องค์พระธาตุพนม จนถึงเย็นท่านจึงกลับมา

เช้าวันต่อมา ท่านทั้ง 3 เข้าไปบิณฑบาต แล้วหายไปไม่เห็นกลับมา ปล่อยให้พวกผมและโยมที่นำอาหารมาถวายต้องคอยอยู่ตั้งนาน เมื่อท่านกลับมาถึง ท่านจึงขอโทษพวกโยมที่มาคอย และบอกว่าท่านไปบิณฑบาตตามปกติ ทีแรกไม่รับนิมนต์ บอกเขาว่ามีโยมคอยอยู่ที่พัก เขาบอกว่าเขาทำบุญวันนี้ญาติๆ มาหลายคนแล้ว แต่เขานิมนต์พระที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะพระท่านติดนิมนต์ที่อื่นหมด ตกลงท่านจึงรับนิมนต์

หลวงปู่บอกว่า เป็นความจริง เพราะเมื่อไปถึงบ้านงานแล้วมีท่านเพียง 3 รูปเท่านั้น สวดมนต์จบแล้วเจ้าของบ้านนำอาหารมาถวาย เมื่อฉันเสร็จให้พระ เจ้าของบ้านที่ทำบุญดีใจ นำปัจจัยมาถวายจำนวน 3 บาท หลวงปู่บอกว่า “อาตมาไม่รับปัจจัยด้วยมือตน” โยมเจ้าของบ้านพูดว่า “พระที่นี้ท่านยังรับ” หลวงปู่ตอบว่า “เป็นเรื่องของท่าน แต่อาตมาไม่รับ” เจ้าของบ้านจึงจ้างสามล้อให้มาส่งที่พักพร้อมกับฝากปัจจัยกับคนถีบสามล้อมาด้วย ท่านจึงให้พ่อใหญ่มารับปัจจัยจำนวน 3 บาทนั้นไว้

พักอยู่อีกหนึ่งวันก็เป็นวันเพ็ญเดือน 3 วันนั้นหลังจากฉันเช้าเสร็จ ท่านพาไปนมัสการพระธาตุพนม ครั้งนี้ท่านพาไปหมดทุกคน โดยพ่อใหญ่ที่เป็นชาวบ้านอาสาเฝ้าที่พักให้ หลวงปู่พาอยู่ที่องค์พระธาตุจนเย็น พาทำวัตรสวดมนต์เย็น เสร็จแล้วจึงพาเดินกลับที่พัก อีกสองวันต่อมา ตอนเช้าหลวงปู่ออกบิณฑบาต ท่านบอกให้ย้ายของไปพักใต้ต้นไม้ใหญ่ไม่ห่างจากองค์พระธาตุนัก เมื่อหลวงปู่ฉันอาหารที่บิณฑบาตได้มาเสร็จแล้ว ท่านได้สั่งให้เก็บสิ่งของทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วท่านพาไปกราบลาองค์พระธาตุพนมอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเสร็จเรียบร้อย ท่านพาเดินย้อนกลับทางเดิม ผ่านป่าช้าญวน ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำก่ำซึ่งกำลังก่อสร้างเป็นสะพานไม้ขนาดใหญ่ เดินมาเรื่อยๆ จนถึงทางสามแยก ถ้าตรงไปก็อุบลราชธานี ไปขวามือก็อำเภอนาแก ด้านหลังไปอำเภอธาตุพนม ในวันนั้นที่สามแยกแห่งนี้ ท่านพระอาจารย์กุและพระอาจารย์ไถ่ได้กราบลาหลวงปู่ และได้จากพวกเราทุกคน เดินทางไปอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมโยมมารดาของท่านซึ่งมีอายุมากแล้ว สิ่งที่พวกเราใจหายก็คือไม่มีกำหนดว่าจะได้พบกันอีกเมื่อไร และสิ่งที่เป็นห่วงมาก คือท่านไปตามลำพังพี่น้องสองรูปเท่านั้น เวลาท่านจะฉันอะไร จะให้ใครประเคน เวลาท่านบิณฑบาตกลับมา ใครจะเป็นคนประเคนบาตรให้ท่าน และท่านทั้งสองก็ไม่มีปัจจัยเลยแม้แต่บาทเดียว (เพราะท่านไม่ถือปัจจัย)

ทุกๆ คนยืนมองท่านทั้งสองเดินจากไปอย่างเงียบๆ คนอื่นคิดอย่างไรผมไม่เข้าใจ แต่ผมเองเหงาๆ อย่างไรชอบกล แต่ก็อุ่นใจที่ท่านทั้งสองเป็นคนแข็งแรง มีความมานะเป็นเลิศ มีความพากเพียรเป็นเยี่ยม จากนั้นหลวงปู่ก็ได้พาพวกเราทั้ง 3 คน เดินกลับมาตามทางรถยนต์สายธาตุพนม-นาแกอย่างเงียบๆ มาแบบไม่รีบร้อน ค่ำที่ไหนก็พักที่นั้น ย้อนกลับทางเดิมตลอดจนมาถึงวัดป่าสันติกาวาส บ้านไชยวาน ในเช้าวันสงกรานต์เดือน 5 พอดี

(ออกเดินทางปลายเดือนสิบเอ็ด พ.ศ. 2494 กลับมาถึงวัดป่าสันติกาวาส เดือน 5 วันสงกรานต์ พ.ศ.  2495 รวมเวลาทั้งไปทั้งกลับ 6 เดือน นายบรรยงค์ คำใสย์ ซึ่งเป็นผู้ได้ติดตามหลวงปู่ไปในครั้งนั้นเป็นผู้เขียน)
55#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พ.ศ. 2495 พรรษาที่ 17
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 17

ในพรรษา หลวงปู่ได้นำพาพระภิกษุสามเณรประกอบความพากเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ไม่ให้มีกิจการงานภายนอก นอกจากการทำกิจวัตรข้อวัตรเท่านั้น

สร้างศาลาการเปรียญวัดป่าสันติกาวาสหลังที่ 2

ออกพรรษาปี พ.ศ. 2495 แล้ว หลวงปู่เป็นผู้นำพาญาติโยม สร้างศาลาการเปรียญหลังที่ 2 เพราะศาลาหลังแรกนั้นเป็นศาลาชั่วคราว หลังที่ 2 นี้ ท่านได้พาญาติโยม ตัดเอาไม้ที่ล้มหมอนนอนดินอยู่ในบริเวณวัดมาทำเสา โดยมีโยมผู้ชายที่เป็นช่าง ถากไม้รวมทั้งหลวงปู่ด้วย ช่วยกันใช้ขวานถากไม้ที่เป็นต้น ให้กลายเป็นเสาสี่เหลี่ยมหน้า 8 นิ้ว คูณ 8 นิ้ว ยาว 8 เมตร ทำเป็นเสาศาลา ไม้เครื่องข้างบนข้างล่าง เช่น จันทัน, แปและขาง, ตง, กระดานพื้น ได้มีโยมมีศรัทธาถวายต้นไม้ที่มีอยู่ในนา ที่วังกุดคล้าบ้านเพียปู่ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดป่าสันติกาวาสไปประมาณ 6 กิโลเมตร หลวงปู่ได้พาญาติโยมและพระเณรไปเลื่อยแปรรูป ด้วยเลื่อยมือใช้คนดึงสองข้าง

ตอนเช้าเมื่อฉันจังหันเสร็จ ก็เตรียมแบกสัมภาระ ผู้แบกเลื่อยก็แบก ผู้หาบน้ำไปไว้สำหรับฉันก็หาบ เดินทางออกจากวัดไประยะทาง 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำงานก็ช่วยกันทำ ทั้งโยมทั้งพระช่วยกันเลื่อยไม้ เมื่อค่ำก็แบกสัมภาระกลับ มาถึงวัดก็มืด หลวงปู่ยังพาพระเณรทำกิจวัตรข้อวัตร กวาดลานวัดกลางคืนนั้นแหละ เสร็จแล้วต้องตับน้ำหาบน้ำ ใส่ตุ่มใส่ไหสำหรับใช้สำหรับฉัน สำหรับปานะของฉัน เพื่อระงับความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานก็ไม่มีอะไรละ ท่านว่าพอกลับมาถึงวัดก็ต้มใบขนุนย่างไฟ หรือไม่ก็ใบแดงย่างไฟ เมื่อมันเดือดแล้วก็นำน้ำร้อนนั้นมาแจกกันฉันเท่านั้น เรื่องน้ำอ้อย น้ำตาล โกโก้ กาแฟ ไม่ต้องถามถึง แต่จะหาทำยาก็ยากในสมัยนั้น ฉันน้ำร้อนเสร็จแล้ว ท่านยังต้องทำความพากเพียรเดินจงกรมภาวนาอีก ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย

หลวงปู่เป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้มีความอดทน หลวงปู่เหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์สุขแก่ลูกหลานผู้เกิดสุดท้ายภายหลัง การเลื่อยไม้ทำศาลาในครั้งนั้นกว่าจะได้ไม้พอทำศาลา 1 หลัง ก็ใช้เวลาเป็นเดือนสองเดือน เมื่อได้ครบแล้วก็ให้ช่างยกโครงศาลาขึ้นเสร็จในปีนั้น หลวงปู่เป็นผู้ออกแบบและดูแลการก่อสร้างเองด้วย ศาลากว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร เป็นศาลายกพื้นสูง ใต้ถุนสำหรับใช้อาศัยในฤดูร้อนได้ เมื่อยกโครงสร้างไว้เสร็จแล้ว แต่ยังขาดเครื่องมุง หลวงปู่จึงได้จ้างนายอ้วย นามแก้ว เป็นผู้หล่อกระเบื้องซีเมนต์สี่เหลี่ยม กว่าจะพอมุงศาลาก็กินเวลาผ่านไปหนึ่งฝน จนถึงปี พ.ศ. 2497 ศาลาการเปรียญจึงเสร็จเรียบร้อย


อาณาบริเวณวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน
56#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พ.ศ. 2496-2497 พรรษาที่ 18-19
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 18-19

ในพรรษาปี 2497 นี้ เดือนสิงหาคม หลวงพ่อสอน สงฺจิตฺโจ ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่ ที่มาร่วมสร้างวัดป่าสันติกาวาสด้วยกัน ได้ถึงแก่มรณภาพไปตามสภาพของสังขาร ที่ไม่มีใครสามารถทัดทานได้

ย่างเข้าปี พ.ศ. 2498 ฤดูแล้ง หลวงปู่ได้พาญาติโยมสร้างบารมี ด้วยการหล่อโปรงทอง (คล้ายระฆัง) โดยหลวงปู่เป็นช่างปั้นหุ่น สำหรับทองที่นำมาหล่อนั้น พวกญาติโยมทั้งชายหญิงพากันไปบอกบุญตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ แจ้งข่าวในการจะหล่อโปรงทอง ใครมีทองเหลือง ทองแดง ขันเงิน ขันทอง ที่แตกหักใช้ไม่ได้ หรือเงินทองของเก่าที่เก็บไว้ไม่เป็นประโยชน์ ก็พากันบริจาค ทำของไม่เป็นประโยชน์ให้เกิดประโยชน์ขึ้น นำมารวมกันหล่อเป็นโปรงทองไว้ในพระพุทธศาสนา เมื่อมีผู้บริจาคทอง พวกญาติโยมที่มีศรัทธา มีความเพียรความอดทน มีจิตเป็นกุศล ก็พากันหาบทองเดินด้วยเท้า เพราะสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์มากเหมือนทุกวันนี้

เมื่อญาติโยมต่างคนต่างหาได้ทองมารวมกันที่วัด เมื่อปั้นหุ่นทำเบ้าโปรงทองเสร็จแล้ว และได้ทองกะว่าจะพอแล้ว หลวงปู่จึงให้ตั้งและสูบหลอมทอง ทำพิธีเททองหล่อโปรง ขณะนั้นผู้เขียนอายุ 6 ขวบ พอรู้เดียงสาจำความได้ ได้มาดูพิธีหล่อโปรงทอง การสูบหลอมทองใช้กำลังคนสูบ คนที่สูบทองต้องมีจังหวะอ่อน ย้อนไปตามจังหวะสูบ ถ้าสูบไม่เป็น ทองจะไม่ละลาย หล่อลูกที่หนึ่งใช้ไม่ได้เพราะแตกร้าว หลวงปู่ต้องปั่นหุ่นทำเบ้าใหม่ นำโปรงทองที่แตกมาหลอมและหล่อใหม่ ครั้งที่สองจึงใช้ได้มาจนถึงทุกวันนี้

ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสตามระเบียบการคณะสงฆ์

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งจากคณะใหญ่ธรรมยุตให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสันติกาวาส อบรมพระภิกษุสามเณร และฆราวาสที่อยู่ในปกครองแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


๏ พ.ศ. 2498 พรรษาที่ 20
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 20

ในพรรษา หลวงปู่ได้อบรมพระภิกษุสามเณร และนำพาปฏิบัติเร่งทำความเพียรเป็นพิเศษ จนตลอดไตรมาส 3 เดือน ฉันน้อย นอนน้อย ไม่คลุกคลีซึ่งกันและกัน ต่างองค์ต่างให้อยู่ด้วยความเพียร มีสติระลึกรู้อยู่กับกายใจของตัวเอง

ไปเที่ยววิเวกดงโค่โล่

เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. 2498 แล้ว เข้าฤดูแล้วปี พ.ศ. 2499 หลวงปู่ได้ทราบว่าพระอาจารย์สวด เขมิโย ซึ่งเคยเป็นครูบาอาจารย์ ได้พักวิเวกอยู่ที่ยอดบุญทันดงโค่โล่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันเป็น อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู) หลวงปู่จึงได้เดินทางไปกับหลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต และมีโยมติดตามไปด้วย เดินด้วยเท้าจากวัดป่าสันติกาวาส ไปขึ้นรถที่ปากทางแยกบ้านต้องไปลงอุดรฯ พักที่วัดโพธิสมภรณ์ กราบนมัสการ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) วันรุ่งขึ้นฉันบิณฑบาตเสร็จแล้ว เดินทางด้วยเท้าต่อไปที่บ้านหนองบัวบาน กราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม พักค้างคืนฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์อ่อน รุ่งเช้าฉันบิณฑบาตเสร็จแล้วกราบลาท่านพระอาจารย์อ่อน เดินทางด้วยเท้าต่อไปพักที่บ้านทุ่งตาลเรียน แล้วเดินทางต่อไปถึงดงโค่โล่ บ้านโคกตังแตน

แวะเยี่ยมผู้เป็นอาจารย์เก่า

เมื่อหลวงปู่เดินทางถึงบ้านโคกตังแตน ได้ทราบว่าพระอาจารย์คำดี ผู้เป็นอาจารย์แต่ครั้งหลวงปู่ออกบวชเป็นสามเณร ท่านได้ลาสิกขาแล้วมามีครอบครัวอยู่ที่บ้านโคกตังแตนนี้ หลวงปู่ก็ดีใจที่จะได้พบผู้เป็นครูบาอาจารย์เก่า ถือว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณด้วย จึงหยุดพักที่บ้านโคกตังแตนอยู่หลายคืน ได้พบปะผู้เป็นอาจารย์เก่า หลวงปู่ไม่ลืมบุญคุณที่ท่านเคยอบรมและนำไปบวชเป็นสามเณรครั้งแรก ได้ถามสารทุกข์สุขดิบ หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า “เมื่อได้เจอผู้เป็นอาจารย์เก่า เราก็สงสารผู้เฒ่า แต่ก็ไม่มีสมบัติอะไรจะสงเคราะห์ มีปัจจัยอยู่ที่โยมติดตามไปด้วยไม่กี่บาท จึงได้เอาสงเคราะห์ผู้เฒ่าไป ผู้เฒ่าก็ดีใจว่าเรายังอยู่ในเพศพรหมจรรย์ นับแต่จากกันก็ไม่เคยเจอกันเลย พึ่งมาเจอกันก็เป็นครั้งสุดท้าย”
57#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์มหาบุญมี สิริธโร


พบพระอาจารย์มหาบุญมี สิริธโร

หลวงปู่เดินทางต่อไปที่ยอดบุญทัน ซึ่งท่านพระอาจารย์สวด เขมิโย ได้พักวิเวกอยู่ที่นั้น และได้พบกับ ท่านอาจารย์พระมหาบุญมี สิริธโร ด้วย ที่ยอดบุญทัน ดงโค่โล่นี้เป็นป่าดงดิบ เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด มีพวกช้าง เสือ เป็นต้น ตกกลางคืนเสือโคร่งร้องตามประสาสัตว์ป่า พวกโยมที่ติดตามไปด้วยกลัวเสือ ต้องก่อกองไฟไว้ ต่างคนต่างพากันตั้งใจภาวนาเอาพุทโธเป็นที่พึ่ง ภาวนาเหนื่อยแล้วล้มลงนอน ก็หลับๆ ตื่นๆ เพราะกลัวเสือ

หลวงปู่เล่าว่า ที่ยอดบุญทันนี้ ไม้ไผ่ป่าก็ลำใหญ่ เอามาตัดทำเป็นกระโถนใช้ในเวลาฉันเช้า ใช้ทำเป็นครกสำหรับตำอะไรก็ได้ นอกจากนั้นยังใช้เป็นสับเป็นฟากสำหรับปูพื้น และมุงกุฏิ กันแดด กันฝนก็ได้ หลวงปู่เล่าว่าที่ยอดบุญทันนี้ มันเป็นต้นห้วยบุญทัน ต้นห้วยโค่โล่ และต้นห้วยบักอึ สามห้วยนี้รวมกันเรียกว่ายอดบุญทัน คือต้นน้ำลำธารนั้นเอง

ความเป็นมาของนามห้วยบักอึ (ฟักทอง)

หลวงปู่เล่าว่า ที่ยอดบุญทัน ยอดโค่โล่ ยอดบักอึนี้ มันมีแร่ทองคำอยู่ตามลำธาร สาเหตุที่จะได้เรียกห้วยบักอึนั้น เรื่องมีอยู่ว่า ในครั้งหนึ่งพอถึงฤดูแล้งได้มีพวกคนกลุ่มหนึ่งชวนกันไปร่อนทอง ไปตั้งทับอยู่ที่ยอดบุญทันนี้แหละ แล้วก็พากันร่อนทองตามลำธาร ร่อนกันไปได้หลายวัน จวนจะถึงวันกลับ มีผู้ชายหมอหนึ่ง (มีผู้ชายคนหนึ่ง) ร่อนทองกับหมู่เพื่อน ไม่ได้ทองกับเขาเลย คนอื่นเขาได้คนละหุน 2 หุน บางคนก็ได้หนึ่งสลึงก็มี ก่อนจะถึงวันกลับ ตกกลางคืนมา แกก็คิดน้อยอกน้อยใจ ว่าร่อนทองก็ไม่ได้กับเขาสักนิดเลย พอแกเคลิ้มหลับไปก็ฝันว่า มีคนมาบอกให้ไปเอาทองคำ อยู่ที่ริมห้วยนั้น อยู่ใต้ก้อนหิน จะเอาฟดไม้กิ่งไม้ปักเป็นเครื่องหมายไว้ให้ แล้วแกก็สะดุ้งตื่นขึ้น ใจคอไม่ปกติ อยากจะไปดุ แต่ยังไม่สว่างก็กลัวเสือ จึงคอยให้สว่างแล้วแกก็เดินไปดูตามที่ฝันโดยไม่บอกให้ใครรู้

พอเดินไปตามที่ฝันก็เห็นฟดไม้เป็นเครื่องหมาย อยู่ที่หินก้อนหนึ่งไม่โตเท่าไร แกจึงงัดหินก้องนั้นออก มองเห็นทองคำเหลืองอร่ามอยู่เท่าลูกบักอึ (ฟักทอง) แกดีใจมากพูดได้คำเดียวว่า “อึๆ”  แล้วก็เมบเต็ง (นอนคว่ำทับ) ก้อนทองคำนั้นไว้ ปากก็พูดว่า “อึๆ” พอสายมา หมู่เพื่อนก็รวมกันกินข้าวแล้วก็จะเดินทางกลับ นับดูคนที่ไปด้วยกันขาดไปคนหนึ่ง หมู่เพื่อนจึงพูดกันว่า “เอ้า คนหนึ่งหายไปไหน ไม่ใช่เสือเอาไปกินแล้วหรือ” แล้วจึงพากันตามหา ร้องเรียกหา ได้ยินแต่เสียงว่าอึๆ

หมู่จึงมองเห็นหมอบอยู่ เดินเข้าไปใกล้เรียกให้มากินข้าวก็ยัง “อึๆ” อยู่ ไม่ได้หน้าหลังอะไร หมู่จึงไปจับลุกขึ้น จึงมองเห็นก้อนทองคำเท่าบักอึ หมู่จึงช่วยเอามา มาดึงผู้เป็นหัวหน้าปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ผู้เป็นหัวหน้าจึงว่า “มันเป็นบุญของแก พวกเราก็ไม่ควรแบ่งเอากับแก ยกให้แกเสียหมด เพราะมันเป็นบุญของแกแล้ว” หมู่เพื่อนก็พร้อมกันยกให้แกคนเดียว

หลวงปู่ว่านี้เรื่องบุญกุศล ถึงคราวได้มันก็ได้ ถึงคราวเป็นมันก็เป็น นับแต่นั้นเขาจึงเรียกลำธารนั้นว่า ห้วยบักอึ แล้วหลวงปู่ก็จบลงด้วยคำว่า “คนเราแสวงหาทรัพย์ ถ้าบุญกุศลของตนไม่สั่งสมไว้ ถึงแม้จะอยากได้ แสวงหาเท่าไรก็ไม่ได้ดอก ถ้าบุญกุศลมีแล้ว หาไม่พอได้ก็ได้ หาไม่พอมีก็มี บุญกุศลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรเจริญให้มาก กระทำให้มาก แล้วเราจะได้อาศัยบุญกุศลนั้นต่อไป”

เดินทางกลับจากยอดบุญทันดงโค่โล่

หลวงปู่พักวิเวกอยู่กับท่านอาจารย์สวด และท่านอาจารย์พระมหาบุญมี เป็นเวลาครึ่งเดือนแล้ว จึงได้กราบลาท่านกลับออกมาทางบ้านาดีนาไก่ ส่วนหลวงพ่อคำสิงห์ไม่กลับด้วย ยังพักอยู่กับท่านอาจารย์ทั้งสอง แล้วท่านพาเที่ยววิเวกต่อไปทางอำเภอท่าบ่อแล้วข้ามไปทางนครเวียงจันทน์

พักวิเวกที่ถ้ำผาด้วง

หลวงปู่เดินทางกับโยมที่ติดตามไปด้วย ออกจากยอดบุญทันมาถึงบ้านนาดีนาไก่ ท่านจึงแวะพักวิเวกอยู่ที่ถ้ำผาด้วงเป็นเวลา 6 วัน อาศัยบิณฑบาตที่บ้านนาดี ได้มีพ่อเป่าแม่เป่าเป็นผู้อุปัฏฐาก หลวงปู่เล่าว่า วันหนึ่งขณะที่ภาวนาอยู่ ได้นิมิตเห็นนายทหารยศนายพัน มานอนตายอยู่ในถ้ำนั้น และมีผู้มาบอกว่า ร้านที่ท่านนอนนั้น มีหีบไม้ประดู่ฝังอยู่ใต้นั้น หลวงปู่จึงพิจารณาได้ความว่า พวกทหารจะไปรบ เลยมาตายอยู่ที่ถ้ำนั้น ส่วนหีบไม้ประดู่นั้น คงจะเป็นหีบสมบัติของนายทหารนั้นเอง แต่หลวงปู่ท่านไม่ได้สนใจอะไร

อยู่ต่อมาอีกวันหนึ่ง ขณะที่ท่านเดินจงกรมภาวนาอยู่ ได้มีงูใหญ่ตัวหนึ่ง ไม่ทราบว่ามาจากไหน มาเลื้อยขนานตามทางจงกรมที่ท่านกำลังเดินอยู่ ท่านว่าตัวใหญ่มหาใหญ่ ท่านเปรียบให้ฟังว่าใหญ่เท่ากลองเพล เมื่อมันเลื้อยขนานไปกับทางจงกรมแล้วก็หายไป ที่ถ้ำผาด้วงนี้เป็นถ้ำดี แต่น้ำเป็นน้ำหินปูน หลวงปู่จึงไม่พักอยู่นาน แล้วท่านก็เดินทางกลับ ค่ำที่ไหนก็พัก จนมาถึงอุดรฯ แล้วก็นั่งรถจากอุดรฯ มาถึงบ้านต้อง แล้วเดินต่อกลับวัดป่าสันติกาวาส บ้านไชยวาน
58#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่ขาว อนาลโย


หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม


๏ พ.ศ. 2499 พรรษาที่ 21
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในพรรษา หลวงปู่ได้นำพาพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกาให้ปฏิบัติตามที่เคยปฏิบัติมาโดยตลอด เมื่อออกพรรษาแล้ว ในระยะนี้ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐาน ท่านได้อาพาธออดๆ แอดๆ เพราะฉะนั้นหลวงปู่จึงได้ไปมาหาสู่ท่าน ที่วัดโพธิสมภรณ์อยู่เรื่อยๆ บางทีก็พักแรมคืนอยู่กับท่าน หลวงปู่เล่าว่า “พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์นี้ ท่านส่งเสริมการปฏิบัติสายกัมมัฏฐานนี้มาก บางทีเราไปพักกับท่าน ตอนเช้าเวลาฉัน ท่านจะเตือนพระสายกัมมัฏฐานว่า พวกเจ้าเคยทำอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้น เคยฉันในบาตรก็ให้ฉันในบาตร อย่าไปทำอย่างพวกนักเรียนเขา นับว่าท่านช่วยส่งเสริมพระสายกัมมัฏฐานเป็นอย่างมากทีเดียว”

ในระยะนี้เป็นช่วงที่ครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานได้พบกันบ่อยๆ เพราะต่างองค์เมื่อทราบว่าพระอุปัชฌาย์อาพาธไม่สบายท่านก็ไปมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ หลวงปู่ก็ได้พบปะสนทนากับครูบาอาจารย์ในยุคนั้นหลายๆ องค์ อาทิ หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นต้น ครูบาอาจารย์ที่กล่าวมานี้ ล่วนแต่เป็นผู้ปฏิบัติตามปฏิปทาสืบเนื่องมาจากท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ และท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นทั้งนั้น


๏ พ.ศ. 2500 พรรษาที่ 22
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านจีต (ธรรมยุต) ในขณะนั้นวัดธรรมยุตในตำบลบ้านยา ไชยวาน บ้านจีต รวมกันแล้วมีอยู่เพียง 5 วัดเท่านั้น ถึงแม้หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบล ท่านก็ไม่ลืมตัวเพราะหน้าที่ตำแหน่ง ท่านยังคงปฏิบัติองค์ตามแบบฉบับของพระกัมมัฏฐาน ยึดมั่นในพระธรรมวินัยและธุดงควัตรตลอดมา
59#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์แตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม  


หลวงปู่คำตัน ฐิตธมฺโม


๏ พ.ศ. 2501-2502 พรรษาที่ 23-24
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 23-24

เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. 2502 แล้ว ย่างเข้าปี พ.ศ. 2503 หลวงปู่พาคณะศรัทธาญาติโยมขุดลอกหนองท้ม ซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติอยู่กลางวัด ให้ลึกลง แล้วสร้างวิหารกลางน้ำทำด้วยไม้ สำหรับเป็นที่ทำสังฆกรรม ลงอุโบสถ และบวชพระภิกษุสามเณร และเป็นที่พำนักอยู่ของหลวงปู่ด้วย

ไปเที่ยววิเวกที่ดงศรีชมภู

ในฤดูแล้ง พ.ศ. 2503 นี้ หลวงปู่ได้ไปวิเวกที่ดงศรีชมภู อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ออกจากวัดป่าสันติกาวาส ทั้งเดินทั้งอาศัยรถพ่อค้าข้าวไปถึงอำเภอวานรนิวาส พักค้างคืนกับ พระอาจารย์แตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม ที่วัดป่าวานรนิวาส (ปัจจุบันคือ วัดธรรมนิเวศวนาราม)

หลวงปู่เป็นผู้มีนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อไปถึงวัดพระอาจารย์แตงอ่อน หลวงปู่ได้เข้าไปกราบนมัสการตามหน้าที่ของอาคันตุกวัตร และขอพักค้างคืนกับท่าน เมื่อกราบเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์แตงอ่อนจึงถามพรรษา จึงทราบว่าหลวงปู่มีพรรษาแก่กว่าท่าน ท่านพระอาจารย์แตงอ่อนจึงกราบคืน หลวงปู่พักอยู่กับพระอาจารย์แตงอ่อน 1 คืน แล้วก็เดินทางด้วยเท้าต่อไปที่ ดานม้าแล่น บ้านนาคำ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันเป็นวัดดานศรีสำราญ บ้านนาคำ อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย)

ที่ดานม้าแล่นนี้เป็นก้อนหินยาวๆ บ้าง บางก้อนก็ใหญ่ ข้างบนเรียบ เป็นกลุ่มหินอยู่กลางดงศรีชมภู ครั้งแรกปี พ.ศ. 2501 หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายของหลวงปู่ได้เข้าไปจำพรรษาอยู่กับสามเณรสม, สามเณรทูล เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่คำตัน ฐิตธมฺโม จึงได้เข้าไป และท่านก็ได้อยู่แต่บัดนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ (หลวงปู่คำตันมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2540) เมื่อหลวงปู่เข้าไปถึงดานม้าแล่น ในขณะนั้นได้พักอยู่กับหลวงปู่คำตัน และท่านพระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ (มรณภาพแล้ว)

หลวงปู่เล่าว่า ในตอนนั้น ที่ดานม้าแล่น ดงศรีชมภู เต็มไปด้วยป่าไม้นานาชนิด และเครือหวายยาวได้ 20-30 เมตร และต้นยาสมุนไพรชนิดต่างๆ ไข้มาลาเรีย และเสือ ช้าง ชุกชุม ตอนกลางคืนเสือ ช้าง ลงกินน้ำวังเวิน เสือโคร่งลายพาดกลอนร้องสนุกสนานตามประสาของพวกมัน แถวใกล้ๆกุฏิที่พักนั้นเอง พวกเก้ง กระจง ก็มีมาก

ความดื้อรั้นไม่ยอมเชื่อฟังทำให้ได้รับทุกข์

หลวงปู่เล่าว่า มีผู้ชายสองคนพ่อลูกจากจังหวัดกาฬสินธุ์ มารับจ้างเลื่อยไม้ ขอพักอยู่ที่วัดด้วย วันหนึ่งเดินไปเห็นเขาตัดเหล็กรองครุถังอยู่ จึงถามว่าทำอะไร เขาตอบว่า “ตัดเอาไปทำลูกปืนยิงเก้ง”

ท่านจึงบอกว่า “อย่าพากันทำอย่างนั้น ถ้าไม่เชื่ออาตมา เดี๋ยวจะเลื่อยไม้ไม่เสร็จนะ” เขาไม่ยอมฟังพากันไปดักยิงเก้ง อยู่มาไม่กี่วันพากันล้มป่วยลง พวกโยมบ้านนาคำต้องช่วยกันหามออกจากวัดไปบ้านนาคำ ความไม่เชื่อฟังจึงได้รับทุกข์ สุดท้ายไม้ก็เลื่อยไม่เสร็จ

60#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เที่ยววิเวกจากดานม้าแล่นไปถ้ำจันทน์

เมื่อพักอยู่ดานม้าแล่นพอสมควรแล้ว จึงเที่ยววิเวกต่อไปที่ถ้ำจันทน์ หลวงปู่ได้พบกับ พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ, พระอาจารย์คำบุ และพระอาจารย์สีลา อินฺทวงฺโส ที่ถ้ำจันทน์นี้ สำหรับพระอาจารย์สีลานั้นเป็นคนอำเภอพนมไพรด้วยกัน หลวงปู่เล่าว่าที่ถ้ำจันทน์อากาศดี แต่พอพักอยู่ไม่นานหลวงปู่จับไข้ จึงได้ออกจากถ้ำจันทน์ ทั้งไข้ทั้งเดินมากับโยมพั้ว จนมาถึงทุ่งบ้านหนองตอ จึงมีเหงื่อออก เอามือลูบตามแขนตามตัว เห็นเยื่อบางๆลอกออกเป็นแผ่นๆ จึงรู้ว่าอากาศที่ถ้ำจันทน์ทำให้เกิดเป็นแผ่นปิดขุมขน จึงทำให้เป็นไข้เพราะไม่มีเหงื่อออก หลวงปู่กลับมาพักที่ดานม้าแล่นระยะหนึ่ง ก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส


พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ  


พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร


๏ พ.ศ. 2503 พรรษาที่ 25
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 วัดป่าสันติกาวาสได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร และมีชื่อในทะเบียนวัดว่า “วัดสันติกาวาส”

ในปี พ.ศ. 2504 นี้ หลวงปู่ได้ศิษย์สำคัญคนหนึ่ง คือ นายสุจินต์ คำใสย์ เป็นลูกชายของหลวงปู่สอน สงฺจิตโจ และได้เป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มาแต่แรกที่มาสร้างวัดป่าสันติกาวาส เมื่อภรรยาถึงแก่กรรมแล้ว นายสุจินต์ได้มีความเศร้าโศกเสียใจอาลัยถึงภรรยา เพราะบุตรที่ยังเล็กอยู่ก็มี

ในวันหนึ่งได้มาถวายจังหันหลวงปู่ในขณะที่หลวงปู่ฉันอาหารเช้าอยู่ นายสุจินต์ก็ได้นั่งมีอาการเศร้าอยู่ต่อหน้าท่าน เมื่อฉันเสร็จแล้ว หลวงปู่จึงให้ธรรมะว่า “หาของตายมาไว้มันก็ตายนั้นแหละ ถ้าหาใหม่มาไว้อีกมันก็จะตายอีก” นายสุจินต์ได้ฟังธรรมะเพียงเท่านี้ก็ซาบซึ้งถึงใจ จึงได้มอบภาระหน้าที่ทุกอย่างให้ลูกคนโตดูแลน้องๆ ที่ยังเล็กอยู่ แล้วตัวเองได้ออกจากบ้านมาอยู่วัดกับหลวงปู่ ฝึกข้อวัตรปฏิบัติ และท่องคำขานนาคคล่องแคล่วแล้ว จึงได้ไปอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีนามฉายาว่า “พระสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต” เมื่อบวชแล้ว พ.ศ. 2504 ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดอโศการามหนึ่งพรรษา แล้วจึงกลับมาอยู่กับหลวงปู่ที่วัดป่าสันติกาวาส
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้