ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส ~

[คัดลอกลิงก์]
41#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ให้ผ้าขาวคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายบวชเป็นพระในพุทธศาสนา

เมื่อหลวงปู่เห็นว่าพี่ชายฝึกข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคขอบวชได้แล้ว จึงได้นำไปบวชที่วัดบึงพลาญชัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี พระปลัดแก้ว อปฺติสฺโส เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาเดช เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระใบฎีกาผาด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2492 เวลา 14.15 น. มีนามฉายาว่า “สุจิตฺโต” เมื่ออุปสมบทพี่ชายเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงได้นำหลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายกลับไปพำนักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์

สละหน้าที่เจ้าอาวาส อำลาญาติโยมจังหวัดร้อยเอ็ด


เมื่อให้พี่ชายบวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาเสร็จสิ้นตามความประสงค์แล้ว หลวงปู่จึงสละหน้าที่เจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัลย์ ให้หลวงพ่อสีลาเป็นผู้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสต่อไป และได้อำลาญาติโยมชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ได้เคยอุปถัมภ์อุปัฏฐากถวายปัจจัยสี่ให้ได้รับความสุขสบายในการเจริญสมณธรรมว่า “อาตมาจากไปคราวนี้คงไม่ได้กลับมาอีก ขอให้ญาติโยมพากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติศีลธรรมตามที่เคยได้อบรมสั่งสอน อย่าประมาท” ญาติโยมต่างพากันร้องไห้เสียดายที่ครูบาอาจารย์จะจากไป ต่างพากันอ้อนวอนขอให้ท่านกลับมาเป็นที่พึ่งของเขาอีก ท่านบอกว่า “หากชีวิตยังมีอยู่และโอกาสอำนวย ก็จะกลับมาเยี่ยมเยือนอีก”

เมื่ออำลาหมู่คณะและญาติโยมเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์ของท่าน คือ หลวงพ่อสอน สงฺจิตฺโจ, หลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต, พระโพ, สามเณรประดิษฐ์ และเด็กชายเขียนได้ขอติดตามไปด้วย ท่านจึงบอกเด็กชายเขียนว่า “การเดินธุดงค์รอนแรมไปตามป่าตามเขามีความลำบากมากเป็นไข้เป็นหนาว ตามป่าตามเขามีความลำบากแสนสาหัส เรายังเป็นเด็กอยู่ เดี๋ยวจะทนไม่ไหว”

เด็กชายเขียนจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า “ถึงแม้อย่างไรผมก็จะขอติดตามไปด้วย ผมมีความรักท่านเหมือนกับเป็นพ่อ ถ้าหากว่าผมเป็นไข้ตายในที่ใด ท่านให้คนเขาขุดหลุมฝังผมทิ้งแล้วท่านจึงเดินทางต่อไปเถิด” หลวงปู่ได้ยินเด็กชายเขียนพูดเด็ดเดี่ยวอย่างนั้นจึงอนุญาตให้ติดตามไปด้วย

ขณะนั้นเป็นต้นปี พ.ศ. 2492 หลวงปู่ได้พาลูกศิษย์ออกจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด เดินธุดงค์ด้วยเท้ารอนแรมไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ผ่านอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ สี่แยกโนนศิลา (ปัจจุบันเป็นอำเภอสมเด็จ) ผ่านบ้านโพนบ้านโจด ตอนมาถึงบ้านโจดนี้พักค้างคืน 1 คืน เช้าเข้าบิณฑบาต ได้ข้าวเหนียวและน้ำอ้อย 7 ก้อน แบ่งกันฉันเสร็จแล้ว ออกเดินทางต่อขึ้นภูพานตรงช่องหิ่งห้อย พักวิเวกอยู่ที่สร้างแข้ จึงเดินทางต่อไปที่บ้านคำไฮ ในขณะนั้นท่านอาจารย์สวด เขมิโย ได้พักวิเวกอยู่ที่ภูเขาใกล้บ้านคำไฮ จึงได้พักวิเวกอยู่กับท่านอาจารย์สวดระยะหนึ่ง ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์ขาว อนาลโย ได้พักวิเวกอยู่ที่ถ้ำค้อ ดงหลุบหวาย ลำพังองค์เดียว ที่ถ้ำค้อนั้นไม่มีที่บิณฑบาต เพราะไม่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ อาศัยโยมจากบ้านคำเลาะ บ้านทุ่งเชือก เปลี่ยนกันขึ้นไปปฏิบัติ หมู่บ้านละคนรับผลัดเปลี่ยนกัน

ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่กับท่านอาจารย์สวดนั้น อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สวดเดินลงจากเขาจะมาบิณฑบาต มีพระเณรเดินตามหลัง พอมาถึงหินก้อนหนึ่งจึงหยุดยืนแล้วพูดว่า “เมื่อคืนนี้ได้นิมิตมีผู้หญิงมาบอกให้ว่ามีสมบัติอยู่ใต้หินก้อนนี้ อยากได้ก็ให้เอาไปซะ” พูดจบท่านอาจารย์สวดจึงเอาไม้เท้าเคาะหินก้อนนั้น เสียงดังเหมือนกับเป็นโพรงข้างล่าง เสร็จแล้วก็เดินผ่านไปบิณฑบาต พอฉันจังหันเสร็จ มีพระองค์หนึ่งแอบไปงัดก้อนหินเพื่อจะเอาสมบัติ แต่ทำอย่างไรก็งัดไม่ขึ้น ในที่สุดพระองค์นั้นก็หยุดทำ พอตกกลางคืนผู้หญิงนั้นก็ไปเข้านิมิตท่านอาจารย์สวดอีก ด่าว่า “พระอะไรปากบอน ปากไม่เป็นสุข อยากได้ก็เอาไปซีสมบัติ จะไปพูดให้คนอื่นฟังทำไม เดี๋ยวจะเอาขี้กระบอง (ขี้ไต้) ยัดปากพระปากบอน” ว่าอย่างนั้น พอตอนเช้าวันใหม่ท่านอาจารย์สวดเทศน์ดุด่าให้ลูกศิษย์ใหญ่เลยว่า “ใครไปทำอะไร ไปงัดก้อนหินจะเอาสมบัติ คืนนี้เจ้าของมันจะเอาขี้กระบองยัดปากเรา”

เมื่อพักวิเวกอยู่กับท่านอาจารย์สวดระยะหนึ่งแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงได้ลาท่าน เที่ยววิเวกขึ้นไปบนภูอางศอ ซึ่งเป็นภูเขาสูงลูกหนึ่งที่ใหญ่ในเทือกเขาภูทาน ที่ภูอางศอนี้เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ๆ เขียวชอุ่ม และมีสัตว์ป่านานาชนิด ตกเวลากลางคืนมีเสียงสัตว์ป่าที่เที่ยวหากินกลางคืนส่งเสียงร้อง ประกอบกับความวิเวกวังเวงในเวลาดึกสงัด ทำให้จิตใจตื่นอยู่ตลอดเวลา และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อพักวิเวกอยู่บนภูอางศอพอสมควรแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงลงจากภูอางศอ มุ่งหน้าสู่บ้านคำบิด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
42#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


พบท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

หลวงปู่เล่าว่า พอมาถึงบ้านคำบิด ได้ทราบว่า ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พักวิเวกอยู่ที่เสนาสนะป่าหนองน่อง บ้านคำบิด จึงได้พาลูกศิษย์เข้ากราบนมัสการ และพักอยู่กับท่าน 7 คืน ตอนเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านคำบิด เวลากลับออกจากบ้าน หลวงปู่จะรับบาตรท่านพระอาจารย์มหาบัว แต่ท่านไม่ยอมให้รับง่ายๆ อาศัยความพยายาม ทำด้วยความเคารพ ทำด้วยความจริงใจ ในที่สุดท่านจึงยอมให้รับบาตรท่าน พอกลับถึงที่พักจัดแจงฉันภัตตาหารตามมีตามได้ เสร็จแล้วจึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มหาบัว เดินทางมุ่งหน้าสู่ภูผาเหล็ก หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์เที่ยววิเวกที่ภูผาเหล็ก ผาดงก่อถ้ำพวง พอสมควรแล้วจึงได้เดินทางจากภูผาเหล็กมุ่งหน้ามาทางบ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

เกิดความสงสัยในการปฏิบัติ

พอมาถึงบ้านจำปา เขตอำเภอสว่างแดนดิน พวกโยมชาวบ้านจำปาบอกว่าที่ป่าหนองเม้าผีดุมาก ใครไปตัดไม้ถางป่าใกล้ที่นั้นไม่ได้ ชาวบ้านจำปาโดยมีคุณพ่อสา พรหมโคตร เป็นหัวหน้า ได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่พร้อมด้วยพระเณรลูกศิษย์ที่ติดตามมา ให้พักอยู่ที่ป่าหนองเม้า หลวงปู่รับนิมนต์ ชาวบ้านจึงช่วยกันทำเสนาสนะ เป็นกระต๊อบมุงหญ้าคาแอ้มฝาใบตองถวายให้เป็นที่พักพอบังแดดบังฝน ในระยะนั้นเป็นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2492 ใกล้จะถึงวันวิสาขบูชา

ในขณะนั้นหลวงปู่ท่านมีความสงสัยในอุบายธรรมที่ได้ปฏิบัติอยู่ คือ การพิจารณาในกายและพิจารณาในจิตเป็นอารมณ์ ค้นกายค้นจิต เพื่อให้รู้ตามเป็นจริง จะเป็นอุบายที่ถูกต้องหรือไม่หนอ มองไม่เห็นใครที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ มีแต่ท่านพระอาจารย์มั่นเท่านั้นที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์คอยอยู่ที่สำนักป่าหนองเม้า บ้านจำปา ส่วนตัวท่านเดินทางไปที่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน พักอยู่ไม่กี่วัน หลวงปู่จึงชวนเอาโยมพ่ออ่อน คำใสย์ ซึ่งเป็นโยมน้าบ่าวของท่าน เดินทางไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นด้วยกัน

เดินทางด้วยเท้าจากบ้านไชยวานไปถึงบ้านต้อง นั่งรถโดยสารไปลงที่อำเภอพรรณานิคม เดินเท้าต่อไปที่บ้านหนองโดก ถึงวัดป่าบ้านหนองโดกเป็นเวลาค่ำพอดี พักค้างคืนที่วัดป่าบ้านหนองโดก ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นั้น และได้พบ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร, พระอาจารย์บุญมี ปริปุณฺโณ, พระอาจารย์เพียร วิริโย ที่วัดป่าบ้านหนองโดกนี้ ท่านพระอาจารย์กู่ท่านไม่อยากให้เข้าไปหาท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ท่านบอกว่า “ไปรบกวนครูบาอาจารย์”

หลวงปู่คิดอยู่ในใจว่า “ไม่ได้ไปรบกวนครูบาอาจารย์ ต้องการจะกราบนมัสการให้ท่านแก้ความสงสัยให้เท่านั้น” หลวงปู่เล่าว่า พักที่วัดป่าบ้านหนองโดก 1 คืน เช้าฉันบิณฑบาตเสร็จแล้ว เดินทางด้วยเท้าเข้าไปบ้านหนองผือนาใน พร้อมกันกับท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย (ซึ่งการเข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นครั้งนี้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของหลวงปู่ แต่เป็นครั้งที่ 2 ของท่านพระอาจารย์เพียร)


        
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ


พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน
43#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร


พระอาจารย์บุญมี ปริปุณฺโณ


พระอาจารย์เพียร วิริโย
44#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต

พอเดินทางถึงวัดป่าบ้านหนองผือเป็นเวลาใกล้ค่ำ ได้พบท่านพระอาจารย์มหาบัวที่วัดป่าบ้านหนองผืออีก จึงได้กราบเรียนถามท่านถึงเวลาที่จะเข้ากราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น หลวงปู่เล่าว่า พระอาคันตุกะที่ไปถึงใหม่จะต้องรอคอยก่อน ท่านพระอาจารย์มหาบัวจะเป็นผู้เข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นก่อน ว่าท่านให้พักในวัดป่าบ้านหนองผือด้วยหรืออย่างไร หรือท่านจะให้พักกุฏิหลังไหน เมื่อท่านสั่งอย่างไรก็ทำตามอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำตามอำเภอใจของตนเอง

พอท่านพระอาจารย์มหาบัวเข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็บอกเสนาสนะให้ และบอกให้สรงน้ำเสร็จแล้วจึงขึ้นไปกราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นบนกุฏิท่าน เมื่อหลวงปู่สรงน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนุ่งห่มครองจีวรให้เรียบร้อย สำรวมใจให้อยู่ในความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อย่างอื่น มีสติอยู่กับใจตัวเอง หลวงปู่เล่าว่า การสำรวมนั้นได้สำรวมระมัดระวังมาโดยตลอด พอคิดว่าจะไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่มั่นยิ่งเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ พอขึ้นไปบนกุฏิท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ต้องระมัดระวังไม่ให้มีเสียงอะไรรบกวนท่าน ในขณะนั้นได้มีพระเถระและพระภิกษุรูปอื่นขึ้นไปนั่งฟังธรรมอยู่ก่อนแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นกำลังแสดงธรรมอยู่ พอหลวงปู่ขึ้นไปแล้วก็กราบเบาๆ เสร็จแล้วก็นั่งกำหนดจิตฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นต่อไป

พอท่านแสดงธรรมไปๆ ท่านจึงถามขึ้นว่า “ไหนพระมาจากอำเภอหนองหาน” พอหลวงปู่ได้ยินท่านถามอย่างนั้นก็คิดในใจว่าคงจะมีหลายองค์ จึงไม่ได้ตอบท่าน ท่านก็แสดงธรรมต่อไปแล้ว ท่านก็ถามอีกเป็นครั้งที่สองว่า “ไหนพระมาจากอำเภอหนองหาน” หลวงปู่ได้ยินท่านถามครั้งที่ 2 ก็ยังนึกว่าคงจะเป็นองค์อื่นก็ยังไม่ตอบอะไร ท่านก็แสดงธรรมต่อไปอีก แล้วท่านก็ถามอีกเป็นครั้งที่ 3 ว่า “ไหนพระที่มาจากอำเภอหนองหาน” หลวงปู่นึกในใจว่าคงจะเป็นเรา จึงประนมมือขึ้นแล้วตอบว่า “ขอโอกาสเกล้ากระผม”

ท่านขึ้นเสียงดัง “มันหาน (หาญ) แต่ชื่อ จะพิจารณาอะไร ผมปฏิบัติมานี้ 40 ปีแล้ว ผมไม่หนีจากกายกับใจ พิจารณากายแล้วก็พิจารณาใจจนหายสงสัย” แล้วท่านก็แสดงธรรมต่อไป พอหลวงปู่ได้รับโอวาทคำตอบจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ทั้งที่ยังไม่ได้ถามท่านอย่างนั้น จึงหมดความสงสัยภายในใจลงในขณะนั้น เมื่อท่านแสดงธรรมต่อไปพอสมควรแล้วท่านจึงยุติการแสดงธรรมในวันนั้น ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันได้รับความเอิบอิ่มในธรรมที่ท่านเมตตาแสดงอย่างถึงอกถึงใจ เมื่อท่านหยุดในการแสดงธรรมแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันกราบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น แล้วกลับที่พักของตน

หนังห่อขี้

ในวันต่อมาเป็นวันวิสาขบูชา พวกญาติโยมชาวบ้านหนองผือ และบ้านใกล้เคียงในแถวบ้านนั้นพากันมาร่วมทำบุญในวันวิสาขบูชา ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นนำพาพระภิกษุสามเณรรับบิณฑบาตในวัด พวกญาติโยมพากันใส่บาตรด้วยความเคารพ ในขณะที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นเป็นหัวหน้านำรับบิณฑบาตอยู่นั้น พระเณรทั้งแก่ทั้งหนุ่มรับบิณฑบาตตามหลังท่าน ไม่ทราบว่าองค์ไหนไปคิดชอบหญิงสาวที่เขากำลังใส่บาตรอยู่นั้น อยู่ๆ ท่านก็หันหน้ามองกลับมาข้างหลัง พร้อมกับพูดขึ้นว่า “ประสาหนังห่อขี้” แล้วท่านเดินรับบิณฑบาตต่อไป หลวงปู่อยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นไม่กี่วัน ก็เดินทางกลับมาบ้านจำปา


๏ พรรษาที่ 14 พ.ศ. 2492 จำพรรษาที่สำนักป่าหนองเม้า
บ้านจำปา อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร


พรรษาที่ 14

พรรษานี้มีหลวงปู่สอน สงฺจิตฺโจ, หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต, พระโพ, สามเณรประดิษฐ์ และพระอาจารย์กุ ซึ่งเป็นพระมหานิกาย แต่ท่านปฏิบัติตามปฏิปทาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น การปฏิบัติระหว่างพระต่างนิกายอยู่ด้วยกันนั้น หลวงปู่ท่านให้พระอาจารย์กุนั่งต่อท้ายหมู่เวลาฉันบิณฑบาต ไม่ให้รับประเคนของให้หมู่ฉัน ให้หมู่พระธรรมยุตเป็นผู้รับประเคนของฉัน แต่ท่านรับประเคนฉันเฉพาะท่านเองได้ เวลาลงอุโบสถฟังปาฏิโมกข์ก็ไม่ให้เข้าร่วม พอพระธรรมยุตลงปาฏิโมกข์เสร็จแล้วจึงให้พระต่างนิกายเข้ามาบอกบริสุทธิ์ ในพรรษานี้หลวงปู่ได้ประกอบความเพียรอย่างหนักงดอาหาร ฉันเจ็ดวัน งดเจ็ดวัน สลับกันไป
45#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อาพาธหนักครั้งที่ 2

พอครึ่งพรรษาหลวงได้เกิดอาพาธด้วยโรคสะอึกอย่างแรง ติดต่อกันถึง 15 วัน ญาติโยมทั้งบ้านจำปาและบ้านไชยวานได้ช่วยกันหาหมอยาพื้นบ้านมารักษาก็ไม่หาย หลวงปู่จึงตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “หากชีวิตยังไม่ถึงที่สุด ยังจะได้เชิดชูพระพุทธศาสนาอีกต่อไป ขอให้มีหมอมารักษาให้หายภายใน 3 วัน หรือ 7 วัน” เมื่ออธิษฐานแล้วได้ 3 วัน มีหมอแผนปัจจุบันชื่อหมอมะลิ มาจากอำเภอหนองหาน มาเยี่ยมญาติที่บ้านไชยวาน ชื่อพ่อพร นาคอินทร์ พ่อพรจึงเล่าให้หมอฟังว่ามีอาจารย์ป่วยอยู่บ้านจำปา เอายาที่ไหนรักษาก็ไม่หาย พอหมอได้ฟังแล้วเกิดความร้อนอกร้อนใจอยากจะไปรักษา เคี่ยวเข็ญจะให้พ่อพรพาไปบ้านจำปาในคืนนั้นให้ได้

พ่อพรจึงบอกว่ารอให้สว่างเสียก่อน เพราะขณะนี้น้ำหลากไหลมากต้องเดินข้ามทุ่งข้ามห้วยไป ไปกลางคืนกลัวจะถูกน้ำพัดไป ในที่สุดหมอก็ยอมรอให้สว่าง พอสว่างหมอรีบเคี่ยวเข็ญให้พาไป พอไปถึงหมอได้ดูอาการแล้วจึงถวายยาสวนทางทวาร พอหมอสวนยาไม่นานหลวงปู่ก็ปวดหนัก พอถ่ายก็มีก้อนอุจจาระเท่าหัวแม่มือหลุดออกมา พอก้อนนั้นหลุดออกมา หลวงปู่รู้สึกโล่งสบายในกายทั้งหมด จึงคิดว่า “เรายังไม่ตายในคราวนี้” หมอได้ฉีดยาให้อีก ในที่สุดหลวงปู่จึงหายจากอาพาธในครั้งนั้น

เมื่อออกพรรษาแล้วระยะเดือน 12 หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงได้ลาคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านจำปา ออกจากสำนักป่าหนองเม้า มาบ้านไชยวานตามคำนิมนต์ของญาติพี่น้อง พอมาถึงบ้านไชยวาน หลวงปู่ได้พักอยู่ที่ป่าช้า พวกญาติโยมบ้านไชยวานได้พากันจัดที่พักถวาย หลวงปู่ได้อบรมญาติโยมให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง สอนให้บำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา พวกญาติโยมต่างพากันเกิดศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใส ทั้งชาวบ้านไชยวานและบ้านหนองตูม จึงกราบนิมนต์หลวงปู่ให้อยู่ที่ป่าช้าบ้านไชยวานนี้ เขาจะสร้างเป็นวัดถวายให้

เมื่อหลวงปู่พักอยู่ป่าช้าบ้านไชยวานเป็นเวลา 3 เดือน เห็นว่ามีปัญหาเรื่องน้ำไม่ดี คือขุดบ่อแล้ว เมื่อตักเอาน้ำใส่ตุ่ม แล้วน้ำเป็นน้ำคำ มีสีเหลืองจับตามขันตามตุ่ม ไม่เหมาะแก่การสร้างเป็นวัด เพราะน้ำไม่ดี น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญใช้อาบใช้กิน เมื่อน้ำไม่ดีไม่ควรสร้างเป็นวัดในที่นี่ หลวงปู่จึงปรารภกับคณะศรัทธาญาติโยม ว่าจะกลับขึ้นไปเที่ยววิเวกทางภูผาเหล็ก ภูอางศอ อีก
46#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

บรรยากาศความสงบร่มรื่นภายในวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน


๏ มูลเหตุที่ได้มาสร้างวัดป่าสันติกาวาส

ย่างเข้าปี พ.ศ. 2493 ขณะนั้นบ้านหนองตูมมีเพียง 11 หลังคาเรือนเท่านั้น คณะศรัทธาญาติโยมบ้านหนองตูม มีพ่อมา สนทอง, พ่อสี นันทราช, พ่อโส กล้าหาญ, พ่อทา บุษราคำ, นายพิมพ์ นิรเท ได้มีศรัทธาเลื่อมใสไปถวายทานและฟังธรรมจากหลวงปู่ที่ป่าช้าบ้านไชยวานด้วย เมื่อไปทราบว่าหลวงปู่จะไม่อยู่ที่ป่าช้าเพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ พ่อมา สนทอง จึงได้กราบเรียนให้หลวงปู่ทราบว่า ที่บริเวณป่าหนองท้มดงแสนแวน เป็นที่ว่างเปล่าเหมาะแก่การสร้างเป็นวัดป่า ขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ไปอยู่ในที่นั้น

เมื่อหลวงปู่ได้ฟังอย่างนั้น จึงบอกให้พ่อมา สนทอง พร้อมกับหมู่คณะให้พากันไปขุดบ่อน้ำดูเสียก่อน ถ้าได้น้ำดีจึงค่อยไปอยู่ในที่นั้น พ่อมา พร้อมหมู่เพื่อนพากันไปขุดบ่อน้ำในวันนั้น ขุดลึกไปประมาณ 4-5 เมตร ได้น้ำจืดสนิทดี จึงได้นำเอาน้ำไปถวายให้หลวงปู่ฉันดู เมื่อหลวงปู่ฉันน้ำดูแล้วเห็นว่าน้ำดี จึงตกลงย้ายจากป่าช้าบ้านไชยวาน มาที่ป่าหนองท้มในวันต่อมา


๏ สร้างวัดป่าสันติกาวาสในครั้งแรก

เมื่อหลวงปู่ย้ายจากป่าช้าบ้านไชยวานมาสร้างวัดป่าสันติกาวาสในครั้งแรกที่ป่าหนองท้ม เป็นฤดูเดือน 3 พ.ศ. 2493 ในขณะนั้นหลวงปู่มีพรรษาได้ 14 พรรษาแล้ว ได้มีลูกศิษย์ที่ติดตามมาร่วมสร้างวัดป่าสันติกาวาสด้วย คือ (1) หลวงพ่อสอน สงฺจิตโจ (2) หลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต (3) พระโพ (4) พระอาจารย์กุ (5) สามเณรประดิษฐ์ (6) เด็กชายเขียน ลูกศิษย์เหล่านี้ได้ติดตามหลวงปู่นับแต่ออกจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด มา

เมื่อมาอยู่บริเวณป่าหนองท้มดงแสนแวนใหม่ๆ ได้มีศรัทธาญาติโยมจากบ้านหนองตูม คือ คุณพ่อมา สนทอง, คุณพ่อสี นันทราช, คุณพ่อโส กล้าหาญ, คุณพ่อทา บุษราคำ, คุณพ่อพิมพ์ นิรเท, คุณพ่อพรหมมา ส่วนญาติโยมจากบ้านไชยวาน มีคุณพ่อขุนไชยวานวิศิษฐ์, คุณพ่อขันตี จันทรัก, คุณพ่อพร นาคอินทร์ และตระกูลคำใสย์ คุณพ่อท่อน คำใสย์, คุณพ่ออ่อน คำใสย์, นายปรีชา คำใสย์, คุณพ่อสุจินต์ คำใสย์, คุณพ่อทหารป่า คำใสย์ ท่านที่กล่าวนามมานี้ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างวัดป่าสันติกาวาสนี้


๏ ที่ดินตั้งวัด

เมื่อหลวงปู่มาอยู่บริเวณหนองท้มดงแสนแวนแล้ว ได้มีผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ได้แสดงกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่เดิน แต่ทุกคนเมื่อรู้ว่าจะสร้างวัดขึ้นในที่นี้ ต่างก็มีศรัทธาอนุโมทนาพร้อมใจกันยกที่ดินรวมทั้งหมดจำนวน 28 ไร่ ถวายให้หลวงปู่สร้างเป็นวัด ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินคือ (1) คุณพ่อบุ่น (2) คุณพ่ออ้วน วงษ์อารีย์ (3) คุณพ่อป้อม ทับซ้าย (4) คุณพ่อตึ่ง วรยศ (5) คุณพ่อคำพัน ชานันโต


๏ สร้างเสนาสนะในปีแรก

เมื่อเจ้าของที่ดินทั้ง 5 คน ยกที่ดินถวายให้มีขอบเขต 28 ไร่แล้ว หลวงปู่จึงให้ทำถนนรอบเพื่อกันไฟไม่ให้ลามไหม้เข้ามาในบริเวณวัด เพราะในสมัยนั้นมีไฟป่าลุกไหม้อยู่เรื่อยๆ แล้วจึงให้ทำที่พักของพระเณร เป็นกระท่อมมุงแฝกแอ้มฝาใบตองไว้เป็นจุดห่างกันพอสมควร ตามแบบวัดป่าพระกัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต

คุณพ่อสา พรหมโคตร บ้านจำปา ได้มีศรัทธาถวายเรือน 1 หลัง ให้มาสร้างเป็นศาลาเล็กๆ สำหรับเป็นที่ฉัน ที่ประชุมทำวัตรสวดมนต์ และใช้เป็นสถานที่อบรมญาติโยมด้วย ได้มีผู้ศรัทธาทั้งหญิงทั้งชายพากันออกจากบ้านมารับการอบรมจากหลวงปู่ หลวงปู่ท่านเป็นผู้มีความเมตตา สู้อดสู้ทนแนะนำพร่ำสอนศรัทธาญาติโยม ให้รู้จักบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์เป็นจำนวนมาก ในที่สุดป่าหนองท้มดงแสนแวนจึงกลายเป็นวัดขึ้นมาที่สุด
47#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ชื่อวัดในครั้งแรก

ในครั้งแรกชาวบ้านเรียกชื่อ “วัดป่าหนองท้ม” ตามนามหนองน้ำธรรมชาติซึ่งมีต้นท้ม (ต้นกระทุ่ม) ขึ้นอยู่ตามริมหนองน้ำนั้น (ปัจจุบันหนองท้มได้ปรับปรุงเป็นบ่อสี่เหลี่ยมตรงวิหารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ทุกวันนี้) ครั้นต่อมาเมื่อหลวงปู่ได้ตั้งใจปักหลักอยู่ในสถานที่นี้แล้ว จึงได้ไปกราบเรียน พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) ที่วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งในเวลานั้นท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี ฝ่ายธรรมยุต ท่านได้เมตตาออกมาเยี่ยมเยือน และได้ให้นามวัดใหม่ว่า “วัดป่าสันติกาวาส” หลวงปู่เล่าว่าเมื่อพระเดชพระคุณท่านตั้งนามวัดให้ไหม่แล้ว ท่านก็แปลให้ฟังด้วยว่า “สันติ” แปลว่า “สงบ” , “กาวาส”  แปลว่า “วาทะ” เมื่อแปลรวมกันจึงมีความหมายว่า “ที่สงบจากวาทะ” ท่านแปลให้ฟังอย่างนั้น


พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) ผู้ตั้งชื่อ “วัดป่าสันติกาวาส”


หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ


๏ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ร่วมสร้างวัดด้วย

เมื่อหลวงปู่นำพาคณะศรัทธาญาติโยมจัดทำเสนาสนะ-สร้างวัดในปีแรก พอใกล้จะเข้าพรรษา ปี พ.ศ. 2493 หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ในขณะนั้นท่านเที่ยววิเวกอยู่ทางอำเภอวาริชภูมิ เมื่อทราบว่าหลวงปู่มาอยู่ที่บ้านไชยวาน ท่านจึงเดินทางมาตั้งใจว่าจะจำพรรษาด้วย พอท่านมาถึง ท่านได้ช่วยพาคณะศรัทธาญาติโยมทำกุฏิ ทำส้วม สำหรับให้พระเณรอยู่อาศัย และท่านได้เทศน์แบบปรมัตถธรรมให้พวกโยมฟัง

หลวงปู่บัวท่านเทศน์สอนว่า “ให้พิจารณาในกายเป็นของสกปรกเต็มไปด้วยขี้ กายนี้เรียกว่าก้อนขี้ ข้าวปลาอาหารที่กินเข้าไปก็เป็นขี้ เรากินขี้รู้จักไหม” เมื่อท่านเทศน์ปรมัตถธรรมอย่างนี้ พวกที่ไม่มีปัญญาจึงเกิดความรังเกียจท่าน พากันคิดประมาท เมื่อท่านรู้ด้วยธรรมในจิตของท่าน พวกโยมพากันรังเกียจประมาทท่าน ท่านจึงปรารภกับหลวงปู่ “กระผมคิดว่าจะจำพรรษาอยู่กับครูบาอาจารย์ แต่พวกโยมพากันประมาท ถ้าผมอยู่ในที่นี้เขาจะเป็นบาปกันมาก เพราะฉะนั้นกระผมจะได้ลาครูบาอาจารย์ไปจำพรรษาที่อื่น” แล้วท่านก็ได้กราบลาหลวงปู่ไปจำพรรษาทางเมืองอุดรธานี
48#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พรรษาที่ 15 พ.ศ. 2493 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
บ้านหนองตูม ต.ไชยวาน อ.หนองหาน จ.อุดรธานี


พรรษาที่ 15

เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา หลวงปู่จึงได้อธิษฐานจำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส พร้อมกับลูกศิษย์ที่ได้มาร่วมสร้างวัดด้วยกัน

สร้างวัดสร้างคน

ในพรรษานี้หลวงปู่ท่านมีอายุล่วงไป 35 ปีแล้ว ท่านได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจที่ประกอบด้วยขันติ วิริยะ และเมตตา อบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ให้มุ่งมั่นในการปฏิบัติตามหลักการของอริยมรรค ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา สอนอุบาสก อุบาสิกา ให้ท่องจำคำทำวัตรเช้า-เย็น ตามแบบพระอาจารย์ใหญ่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ในระยะนั้นยังไม่ค่อยมีการพิมพ์หนังสือทำวัตรสวดมนต์มาก หลวงปู่ท่านต้องใช้ดินสอดำเขียนบททำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นลงในแผ่นกระดาษแจกให้พวกญาติโยมนำไปท่องบ่น เมื่อจำได้แล้วก็มาว่าให้ท่านฟัง คำไหนว่าไม่ถูกท่านก็สอนให้ นำว่าไปจนชำนิชำนาญ

หลังจากฉันจังหันเช้าเสร็จ ท่านก็นั่งสอนให้พวกญาติโยมที่มาถวายอาหารบิณฑบาตตอนเช้า เวลาตอนเย็นมีพวกญาติโยมออกมาหัดไหว้พระสวดมนต์ และฟังธรรม ท่านก็สอนให้หัดไหว้พระภาวนาไปจนถึงเวลา 4 ทุ่ม 5 ทุ่ม ท่านจึงให้เลิกกลับบ้าน เมื่อถึงวันอุโบสถ คือ 8 ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ หลวงปู่ท่านก็สอนให้ญาติโยมพากันสมาทานศีล 8 รักษาอุโบสถศีลอยู่ที่วัด เป็นเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง

กิจวัตรกลางวัน

ในภาคเช้าของวันพระ เมื่อพระเณรกลับจากบิณฑบาตในหมู่บ้านมาถึงวัด ญาติโยมจากหมู่บ้านต่างมารวมกันที่วัด นำอาหารประเคนถวายพระ หลังจากพระเณรแจกอาหารในบาตรเสร็จ หลวงปู่ท่านจะให้ญาติโยมสมาทานศีล 8 แล้วหลวงปู่ก็ให้ศีลไปจนจบแล้ว ท่านก็สอนให้พระเณรพิจารณาอาหารบิณฑบาตก่อนฉันว่า

“อาหารนี้ฉันเพื่อยังชีวิตให้เป็นอยู่ไปวันหนึ่งๆ พอได้ประพฤติศีลธรรมและเจริญเมตตาภาวนา อาหารนี้เมื่ออยู่ในภาชนะก็ดูน่าบริโภค เมื่อเข้าสู่ร่างกายของคนเราแล้วก็กลายเป็นของปฏิกูล ผ่านกระเพาะผ่านลำไส้ออกมาแล้ว เป็นของบริโภคไม่ได้เลย”

ท่านสอนอย่างนี้เพื่อไม่ให้จิตใจกำเริบในเรื่องอาหาร เวลาฉันอาหารอยู่ ท่านก็สอนให้มีสติกำกับอยู่กับการฉัน ไม่ให้ปล่อยจิตใจโลเลไปตามรสชาติของอาหาร เป็นการปฏิบัติธรรมในเวลาฉันไปในตัวเลย หลวงปู่ท่านแผ่เมตตาแก่ศิษย์ทุกหมู่เหล่า ท่านคอยแนะนำว่าทำอย่างนี้ถูก ทำอย่างนี้ผิด ท่านคอยนำพาประพฤติปฏิบัติ และท่านคอยพร่ำสอนให้รู้ให้เข้าใจ ในสิ่งที่เป็นบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์

ฉันภัตตาหาร

เมื่อท่านสอนพระเณรจบ ท่านก็นำอนุโมทนา คือให้พรญาติโยม เสร็จแล้วก็นำพาฉันภัตตาหาร เวลาลงมือฉันภัตตาหาร หลวงปู่ท่านก็สอนให้ดูครูบาอาจารย์ว่า ท่านลงมือฉันไปได้สัก 3 คำเสียก่อน แล้วพระเณรนอกนั้นจึงลงมือฉัน เรื่องการฉันอาหารนี้ท่านคอยสอดส่องอยู่เสมอ เพราะกิเลสมันชอบออกลายเวลาอย่างนี้มาก เพราะเรื่องอยู่เรื่องกินนี้เป็นเรื่องวุ่นวาย

เมื่อพระเณรฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็ให้ญาติโยมรับประทานอาหารที่เหลือจากพระเณรนั้น ที่เรียกว่า ข้าวก้นบาตร พระเณรนำบาตรล้างในที่ๆ จัดไว้สำหรับล้างบาตร เวลาล้างบาตร หลวงปู่ท่านก็สอนให้มีสติคอยระวังไม่ให้บาตรกระทบของแข็ง ไม่ให้วางบาตรบนของแข็ง ไม่ให้คุยกันในเวลาล้างบาตรและเช็ดบาตร ให้มีสติกำกับอยู่ที่ใจ นึกพุทโธเป็นอารมณ์ของใจเรื่อยไป เมื่อพระเณรล้างบาตรเช็ดบาตรให้แห้งแล้ว ถ้ามีแดดก็ให้ผึ่งแดดพอประมาณ แล้วนำบาตรเข้าถลก (ซบบาตร) ผูกสายรัดให้แน่นเรียบร้อย

จากนั้นนำกระโถนที่ใช้สำหรับบ้วนน้ำหมาก น้ำลาย และทิ้งเศษอาหาร ไปชำระล้างให้สะอาด แล้วนำมาเช็ดด้วยผ้าสำหรับเช็ดกระโถนให้แห้ง แล้วเก็บในที่สำหรับเก็บกระโถน หลวงปู่ท่านสอนไม่ให้มักง่าย เวลาล้างกระโถนให้ระวังไม่ให้มีเสียงดัง ถ้าทำเสียงดังจะถูกท่านทักขึ้นทันที เป็นการเตือนให้มีสติ เมื่อพระเณรทำข้อวัตรเก็บกวาดที่ฉันเสร็จแล้ว ก็นำบาตรและกาน้ำกลับกุฏิ เข้าสู่ทางเดินจงกรม (เดินภาวนา) ไปจนถึงเที่ยงวันจึงให้หยุดพักผ่อน

สำหรับตัวหลวงปู่เมื่อหลังจากฉันเสร็จแล้ว ท่านจะทำหน้าที่อบรมญาติโยม แสดงธรรมให้ฟัง บ้างก็แก้ข้อสงสัยที่แต่ละคนมีปัญหามาถามท่าน นำพาประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์บ้าง เมื่อประกาศปฏิญาณตนเสร็จแล้ว ท่านก็สอนวิธีปฏิบัติตนในทางพระพุทธศาสนา กว่าจะเลิกกันได้ บางวันพระก็ล่วงเข้าไปบ่ายโมงสองโมง ท่านจึงลงจากศาลากลับไปกุฏิที่พักของท่าน

ในขณะที่ท่านอบรมญาติโยมอยู่ที่ศาลานั้น ท่านต้องให้มีพระหรือเณร 1 องค์นั่งอยู่เป็นเพื่อนและคอยอุปัฏฐากรับใช้ ตลอดทั้งล้างกระโถนน้ำหมาก นำย่ามและกาน้ำของท่านไปส่งที่กุฏิของท่าน เมื่อเวลาท่านลงจากศาลา

เวลาบ่าย 3 โมงเย็น หลวงปู่ให้กวาดลานวัด ตามทางเดินระหว่างกุฏิ รอบศาลา รอบกุฏิ เวลทำกิจวัตรปัดกวาดนี้ ท่านก็สอนให้ภาวนาไปด้วย คือไม่ให้พูดคุยกัน กวาดไปตั้งสติกำหนดใจนึกพุทโธไป เป็นการทำความเพียรไปในตัว กวาดลานวัดเสร็จแล้วพร้อมกันกวาดถูกศาลาโรงธรรม จากนั้นพร้อมกันหาบน้ำใส่ตุ่มตามกุฏิ ที่ล้างบาตร แล้วพระเณรพร้อมกันถวายการสรงน้ำหลวงปู่ เมื่อตัวเองสรงน้ำเสร็จแล้วก็เข้าสู่ทางเดินจงกรมจนถึงเวลา 2 ทุ่ม
49#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ภาคกลางคืนวันพระ

สำหรับพวกญาติโยมที่มาจำศีลอยู่ที่วัดในวันพระ ตอนหัวค่ำหลวงปู่ก็สอนให้เดินจงกรม ไปจนถึงเวลา 2 ทุ่ม แล้วให้ขึ้นรวมกันบนศาลาโรงธรรม ทั้งพระเณรและญาติโยมร่วมกันทำวัตรสวดมนต์เย็น หลวงปู่เป็นผู้นำทำวัตรสวดมนต์ เสร็จแล้วหลวงปู่ท่านจะแสดงธรรม อบรมและนั่งสมาธิภาวนาไปจนถึงเวลาตี 2 ตี 3 บางวันพระท่านก็นั่งอยู่บนศาลา อบรมไปจนถึงตี 4 แล้วพากันทำวัตรเช้าจบ พอดีสว่างเป็นวันใหม่ จึงให้ญาติโยมกลับบ้านไป หลวงปู่ท่านสร้างวัด สร้างคน ให้เข้าถึงศีลถึงธรรม

สมบัติโลกหนักเท่าโลก สมบัติแผ่นดินหนักเท่าแผ่นดิน

ท่านสอนว่า “การทำคุณงามความดี ถ้าเราไม่ทำเอา จะไปให้ใครทำให้เรา คนอื่นทำก็เป็นของเขา เราทำเอาจึงเป็นของเรา จะมามัวเมาเอาอะไรในสมบัติโลก มันเป็นสมบัติบ้า สมบัติโลกมันก็หนักเท่าโลก สมบัติแผ่นดินมันก็หนักเท่าแผ่นดิน ไม่มีใครหอบหิ้วเอาไปได้ดอก เอาไปได้แต่คุณงามความดี คือบุญกุศลที่ตนทำไว้แล้วเท่านั้น จงรีบเร่งทำความดี ดีกว่าทำความชั่ว รักกันดีกว่าชังกัน ฝึกฝนอบรมตน เอาตนให้ได้”


ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


วาทะของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

แล้วหลวงปู่ท่านจะยกวาทะของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ขึ้นมากล่าวว่า

ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตน


ตลอดระยะการเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2493 จนถึงหลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้นำพาลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยมให้ปฏิบัติธรรมตามหลักของศีลธรรมอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่เลือกว่าในพรรษาหรือนอกพรรษา
50#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 20:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พรรษาที่ 16 พ.ศ. 2494
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 16

หลวงปู่ได้จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส และฝึกอบรมลูกศิษย์ และคณะศรัทธาญาติโยมให้รักษาอุโบสถศีล และเจริญเมตตาภาวนา ตั้งสัจจะทำคุณงามความดีดังที่เคยปฏิบัติมา ได้มีคณะศรัทธาญาติโยมเกิดความเลื่อมใส เข้ามาปฏิบัติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้จะออกพรรษา หลวงปู่จึงปรารภในการที่จะเดินธุดงค์ด้วยเท้า ไปนมัสการองค์พระธาตุพนม ที่อำเภอพระธาตุพนมอีกครั้งหนึ่ง

เมื่ออกพรรษาแล้วไม่นานนักเป็นปลายเดือนสิบเอ็ด หลวงปู่ได้มอบหน้าที่ให้หลวงพ่อสอนและหลวงพ่อคำสิงห์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ให้เป็นผู้ดูแลวัดและหมู่คณะในวัดแทน ผู้ที่เดินทางร่วมไปนมัสการพระธาตุพนมกับหลวงปู่นั้นมี (1) พระอาจารย์กุ (2) พระอาจารย์ไถ่ (ซึ่งเป็นน้องชายของพระอาจารย์กุ) มีพระสามรูปด้วยกันกับหลวงปู่ ส่วนโยมที่ติดตามไปด้วยมี 3 คน คือ (1) พ่อใหญ่สา พรหมโคตร (2) พ่อใหญ่มา สนทอง (3) เด็กชายบรรยงค์ คำใสย์ ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่ (และเป็นผู้บันทึกประวัติตอนไปพระธาตุพนมคราวนี้)

เดินธุดงค์เพื่อนมัสการพระธาตุพนมครั้งที่ 2

ก่อนออกเดินทางหลวงปู่ปรารภบอกกับทุกคนให้ทราบว่า การเริ่มต้นของการเดินทางจะต้องเดินระยะใกล้ๆ ก่อน วันแรกท่านได้พาสานุศิษย์ออกเดินทางจากวัดป่าสันติกาวาส ทั้งพระทั้งโยมต่างสะพายบริขารเดินทางอย่างองอาจกล้าหาญ มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่พระธาตุพนม คืนแรกพักที่บ้านจำปา ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไชยวานประมาณ 7 กิโลเมตร ที่บ้านจำปานี้หลวงปู่เคยพักจำพรรษาที่หนองเม่าเมื่อปี พ.ศ. 2492 ครั้งหนึ่งแล้ว

หลวงปู่พาคณะศิษย์พักที่หนองเม่า บ้านจำปานี้ 2 คืน เวลากลางคืนได้มีญาติโยมออกมาฟังธรรมมากพอสมควร หลวงปู่ท่านได้บรรยายอบรมธรรมะให้ญาติโยมฟังจนเลยเที่ยงคืน เมื่อญาติโยมกลับเข้าบ้านหมดแล้ว ท่านจึงได้พักผ่อน พวกญาติโยมบ้านจำปามีความเลื่อมใสหลวงปู่ มาช่วยกันทำสารพัดอย่าง ตั้งแต่เรื่องน้ำใช้ น้ำฉัน ที่พัก เรื่องอาหาร หลวงปู่พักโปรดญาติโยมชาวบ้านจำปา 2 คืน แล้วท่านจึงออกเดินทางต่อไปไม่ไกลนัก ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ก็ถึงบ้านพงเหนือ ตะวันเพิ่งบ่าย ท่านพาลูกศิษย์หยุดพักที่วัดบ้านพงเหนือ

บ้านพงเหนือเป็นหมู่บ้านใหญ่ พวกชาวบ้านเมื่อรู้ว่าหลวงปู่พร้อมด้วยคณะศิษย์มาหยุดพักที่วัดบ้านของตน ทั้งคนที่เคยรู้จักเลื่อมใสกับหลวงปู่มาก่อน ทั้งคนที่ยังไม่เคยรู้จัก ทั้งหญิงชาย คนหนุ่มสาว คนแก่ คนเฒ่าชราก็มีมาก พากันออกมาต้อนรับที่วัด ทักทายปราศรัยบ้าง ทั้งจีบหมากพันพลูบุหรี่ถวาย บ้างก็ได้หาบครุไปตักน้ำขึ้นมาจากบ่อใหม่ๆ มาถวาย ลูกศิษย์ที่ติดตามจึงใช้ธมกรกกรองน้ำใส่กาสำหรับถวายเป็นน้ำฉัน ส่วนน้ำสรง (น้ำอาบ) ก็ใช้ธมกรกกรองน้ำใส่ครุใส่ตุ่มแล้วค่อยสรงน้ำ กระทำเช่นนั้นเพื่อกันไม่ให้ส้ตว์เล็กสัตว์น้อยมีอยู่ในน้ำนั้น เพราะในพระวินัยบอกไว้ว่า ภิกษุบริโภคน้ำที่มีตัวสัตว์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

พอตกตอนกลางคืนได้มีญาติโยมออกมาฟังการอบรมจำนวนมาก ในคืนนั้นหลวงปู่ท่านบรรยายธรรมให้ญาติโยมฟังอยู่จนเกือบสว่างจึงหยุด พอสว่างถึงเวลาบิณฑบาต หลวงปู่พร้อมด้วยพระที่ติดตามออกบิณฑบาตโปรดญาติโยมชาวบ้านพงเหนือ หลังจากฉันจังหันเสร็จแล้ว ก็จัดแจงบริขารลงในบาตร ออกเดินทางต่อไป วันนี้มีผู้คนสะพายบาตรแบกกลดตามไปส่งประมาณ 20 คน ไปได้ประมาณ 4-5 กิโลเมตร ก็ลากลับไปเก็บเกี่ยวข้าวในนาอีก ส่วนหนึ่งที่เหลือก็ตามไปส่งถึงทางรถยนต์ที่บ้านค้อ บ้านยา ซึ่งเป็นทางรถยนต์สายอุดรธานี-สกลนคร ผู้ที่ตามมาส่งก็ลากลับหมด
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้