ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 9275
ตอบกลับ: 38
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วันสำคัญ

[คัดลอกลิงก์]
วันจักรี ตรงกับ วันที่ ๖ เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ มหาจักรีบรมราชวงศ์
ความสำคัญ
วันจักรี หมายถึง วันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปฐมบรมราชวงศ์จักรี เสด็จกรีฑาทัพถึงพระมหานครทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ
เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.๑) เสด็จปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงของไทย มาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕) จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์ (ร.๑ – ร.๔) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ มา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมสักการะ โดยเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และ พระที่นั่งศิวาลัยปราสาท เป็นต้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น โปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง ๔ ( ร.๑ - ร.๔ ) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๕ พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ ๖ เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ ๖ เมษายนว่าเป็น “วันจักรี”

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มาฆบูชา: หลักธรรมทางพุทธศาสนา “ทำดี ละเว้นชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”
ความสำคัญของวันมาฆบูชา ตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา วันมาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓ หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” (จาตุร แปลว่า ๔ องค์ แปลว่า ส่วน สันนิบาต แปลว่า ประชุม) หมายถึง “การประชุมด้วยองค์ ๔” ซึ่งเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกันในสมัยพุทธกาล คือ ๑) เป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ๒) เป็นวันที่พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓) พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” และ ๔) พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ โดย พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา แก่พระสงฆ์เหล่านี้เป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา ๙ เดือน ซึ่งหัวใจของพระพุทธศาสนาดังกล่าวก็คือหลักคำสอนที่ให้พุทธศาสนิกชนได้ “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” หรือ ศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่าในฐานะที่กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ ได้ดำเนินงานเชิงรุกเพื่อให้ใกล้ชิดเข้าถึงสังคมและประชาชน จึงได้จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ประจำปี ๒๕๕๔ ขึ้น สำหรับปีนี้วันมาฆบูชาจะตรงกับวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้พุทธศาสนิกชนร่วมบำเพ็ญความดี ร่วมกันทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยส่วนกลาง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสถานที่จัดงาน ๓ แห่ง คือ มณฑลพิธีสวนลุมพินี ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔วัดสระเกศ ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ และวัดยานนาวา วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ส่วนภูมิภาค จัด ณ วัดหรือศาสนสถานที่สำคัญตามที่จังหวัดกำหนด กิจกรรมในงานประกอบด้วย การทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียน การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ การเล่านิทาน การร้องเพลง การตอบปัญหาธรรมะ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ การสาธิตมารยาทไทย การสาธิตงานฝีมือด้านศิลปกรรมท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทางพระพุทธศาสนา เช่น การทำบาตรของชาวชุมชนบ้านบาตร กิจกรรมหมอภาษา กิจกรรมร้อยด้วยรักทักสมาธิ กิจกรรมพิพิธภัณฑ์ของจิ๋ว การออกร้านจำหน่ายหนังสือธรรมะ สำหรับพิธีเปิดงานวันมาฆบูชาจะมีขึ้นในวันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๑๕ น. ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ โดยพระพรหมสุธี กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยังได้กล่าวว่าปีนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสพิเศษที่กระทรวงวัฒนธรรมจะถ่ายทอดสดพิธีเวียนเทียนของพุทธศาสนิกชน เนื่องในวันมาฆบูชา ณ เจดีย์พุทธคยา เมืองคยา สาธารณรัฐอินเดีย ในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๙.๓๐ – ๒๐.๓๐ น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง ๑๑ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมนำหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาดังกล่าว คือ ทำดี ละเว้นชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ มาประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณธรรม เกิดความปรองดองสามัคคี ประเทศชาติบ้านเมืองเกิดสันติสุข และมีความเจริญก้าวหน้าสืบไป



3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันยุทธหัตถี
วันยุทธหัตถี ” หรือที่เรียกว่า “ วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ” หมายถึง วันที่ระะลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะ ต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อ วันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ อัน ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “ วันยุทธหัตถี ” (แทนวันที่ ๒๕ มกราคม เนื่องจาก นายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ที่กำหนดเป็นวันที่ ๒๕ มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง) และถือวันนี้เป็นวันรัฐพิธี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติ ในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะก็จะได้รับการยกย่องว่า มีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้
ในสมัยอยุธยามีการยุทธหัตถี รวม ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรก ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระ อินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์ ครั้งที่สอง ในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต และ ครั้งที่สาม ก็คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล หลังจากนั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานเรานานถึง ๑๕๐ ปี ดังนั้น ในโอกาส ครบรอบ ๔๑๕ ปีแห่งวันกระทำยุทธหัตถี จนได้รับชัยชนะ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำพระราชประวัติโดยย่อของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๑๘ แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘ ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี ผู้เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระสุริโยทัยวีรกษัตรีย์ของไทยเป็นพระมารดา จึงอาจกล่าวได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงได้รับพระสายโลหิตความเก่งกล้าสามารถสืบเนื่องมาจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทางพระชนก และเลือดพระสุริโยทัยซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกา(ยาย)ทางพระมารดา ทรงมีพระสุพรรณกัลยา เป็นพระพี่นาง และมีพระเอกาทศรถเป็นพระอนุชา เนื่องจากตลอด ระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ๑๕ ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๑๓๓ จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ ทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัยให้กับการศึกสงครามเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กรุงศรีอยุธยาตลอดมา ทำให้ทรงไม่มีพระมเหสีและ พระราชโอรสธิดา ดังนั้น เมื่อเสด็จสวรรคต พระเอกาทศรถจึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่ว่าจะเป็นปืน ดาบ ทวนหรือง้าว เป็นต้น ฝีมือการรบของพระองค์นั้นเรียกได้ว่าเก่งกาจจนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ข้าศึกศัตรู ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าพอสรุปได้ว่า วันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่า ไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆที่พระนเรศวรมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง พระยาลอ ขุนนางคนหนึ่ง จึงทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็งทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาด รี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก ข้อความดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้อย่างชัดเจน



4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อาจกล่าวได้ว่าตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่เคยทรงอยู่อย่างสะดวกสบายและต้องทรงกระทำการรบมาโดยตลอด กล่าวคือ เมื่อพระชนมา ยุ ๙ พรรษา ก็ต้องไป เป็นตัวประกันที่หงสาวดี อยู่ ๖ ปี ครั้นเสด็จ กลับมากรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ปีต่อมาพระบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ได้ทรงจัดฝึกทหารแบบใหม่ พอพระชนมายุ ๑๙ พรรษาทรงยกกองทัพไปพร้อมพระบิดา เพื่อช่วยทัพหลวงกรุงหงสาวดี ตีเมืองเวียงจันทร์ ครั้นพระชนมายุ ๒๓ พรรษา ได้ลงเรือไล่ ติดตามพระยาจีนตุขุนนางจีนเมืองเขมรที่หนีไป โดยใช้พระแสงปืนยิงต่อสู้ด้วยพระองค์เอง อย่างไม่หวาดหวั่นหรือหลบกระสุนที่ยิงโต้กลับมาเลย จนศัตรูยิงถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่แตกไป แม้จะจับพระยาจีนตุไม่ได้แต่ความกล้าหาญของพระองค์ก็เป็นที่เลื่องลือ ครั้นพระชนมายุ ๒๔ พรรษา ก็ทรงเป็นแม่ทัพไล่ตีพระทศราชา ซึ่งคุมกองทัพเขมรมาตีโคราชและหัวเมืองชั้นในจนได้ชัยชนะทั้งๆที่กำลังน้อยกว่ามาก จนเขมรขยาดไม่กล้ามารุกรานอีก พอพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา ได้แสดงพระปรีชาสามารถในการวางแผนการรบจน ตีเมืองคังได้สำเร็จ ขณะที่อีก ๒ กองทัพของพม่าตีไม่สำเร็จ พอพระชนมายุ ๒๙ พรรษาได้ยกทัพไปช่วยรบเมืองอังวะ ตามคำสั่งหงสาวดี และได้ทราบกลอุบายว่าทางพม่าจะกำจัดพระองค์ จึงแสร้งเดินทัพช้าๆ และต่อมาก็ ได้ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อพ.ศ. ๒๑๒๗ ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่ามา ๑๕ ปี ไม่ต้องขึ้นกับพม่าอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าหงสาวดี (นันทบุเรง)จึงให้สุรกรรมายกทัพมาตามจับพระองค์ๆจึงได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุรกรรมาตาย ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา พระมหาธรรมราชา พระบิดาสวรรคต พระองค์จึง เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และได้ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง ครั้นพระชนมายุ ๓๗ พรรษา ก็ ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พระชนมายุ ๔๐ พรรษาเสด็จ ยกทัพไป ตีเมืองเขมร จับพระยาละแวกมาทำพิธีปฐมกรรม (คือตัดศีรษะเอาโลหิตมาล้างพระบาท) และแม้แต่ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระองค์ก็ยังอยู่ในระหว่างการยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี)ที่พระพักตร์และเป็นพิษจนเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปีพ.ศ. ๒๑๔๘ รวมสิริพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี

ในหนังสือ ๔๐๐ ปีสมเด็จพระนเรศวร ที่เรียบเรียงโดยนายสมชาย พุ่มสอาด นายสมพงษ์ เกรียงไกรเพชร และนายกมล วิชิตสรศาสตร์ ได้เขียนไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นกษัตริย์ที่ปรากฏว่าทรงรอบรู้ศิลปศาสตร์ ถึง ๑๘ อย่าง อันเป็นวิทยาการสำคัญสำหรับขัตติยราชในโบราณอย่างยอดเยี่ยม เช่น ทรงรอบรู้ในยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ ทรงรอบรู้หลักและวิธีปฏิบัติเพื่อปกครองใจคน อันเป็นหลักการเดียวกับปัจจุบัน และยังทรงรอบรู้อรรถภาษิต โวหาร รู้แต่งและฟังฉันท์ ทรงรู้ฤกษ์ยาม และวิธีโคจรของดาวหรือดาราศาสตร์ ทรงรู้ทิศและพยากรณ์ อีกทั้งทรงรู้มายาเล่ห์เหลี่ยมและเหตุผลต่างๆ เป็นต้น ซึ่งความรู้เหล่านี้ทรงศึกษาจากพราหมณ์ ปุโรหิตบ้าง จากพระบิดาโดยตรงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ทรงศึกษาจากประสบการณ์ของพระองค์เอง รวมทั้งประสบการณ์จากเมืองพม่าเมื่อครั้นไปเป็นตัวประกันอยู่หงสาวดี ทรงเป็นบุรุษที่มีคุณสมบัติเป็นชายชาติทหารสมกับเป็นนักปกครองอย่างเต็มเปี่ยม คือ ทรงมีความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีน้ำใจห้าวหาญ เด็ดขาด และมีฝีมือในการต่อสู้ยิ่ง

จากพระราชประวัติโดยสังเขปข้างต้น คงจะทำให้เด็กๆเยาวชน และเราได้ซาบซึ้งและภาคภูมิใจในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ของไทยยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ตลอดพระชนมชีพได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมือง และอาณาประชาราษฎร์มาโดยตลอด กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงขอเชิญชวนให้พวกเราที่เป็นอนุชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตให้สมกับที่พระองค์ท่านได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาชาติ รักษาแผ่นดินจนตกมาถึงพวกเราในปัจจุบัน
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
เดือนธันวาคม ปีพระพุทธศักราช 2531สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนด "วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ขึ้น โดยถือเอา วันที่ 17พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีและทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็น "วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช"
ต่อมาคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาทบทวนเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์โดยคำนึงถึง ความเหมาะสม และความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอความคิดว่าควรที่จะเป็น วันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จะเป็นการเหมาะสมกว่า ซึ่งวันนั้นตรงกับวัน ศุกร์ที่ 17 มกราคม ปีพระพุทธศักราช 2376 ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปีพระพุทธศักราช 2532 ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ ในการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว
ดังนั้นวันที่ 17 มกราคม ปีพระพุทธศักราช 2533 จึงเป็น "วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช" วันสำคัญทางประวัติศาสตร์วันหนึ่งซึ่งถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
นับแต่นั้นมาจังหวัดสุโขทัย และทางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดให้มี งานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันที่ 17 มกราคม เป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่มีต่อประชาชนชาวไทย กิจกรรมหลักประกอบด้วย พิธีสักการะ บวงสรวงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ขบวนแห่ และพิธีสวดสรภัญญะ ฯลฯ โดยสถานที่จัดงานของจังหวัดสุโขทัย คือ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ส่วนสถานที่จัดงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ ณ บริเวณลานพ่อขุน และหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือพ่อขุนรามราช ชื่อ"รามราช" พบในจารึกวัดศรีชุมว่า "ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่งชื่อพ่อขุนรามราชปรา(ช)ญ์รู้ธรรม" รวมทั้งพบในจารึก และเอกสารอื่นๆอีกหลายแห่งว่า "พญารามราช" อาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ อธิบายคำว่า "ราม" (จากชื่อพญารามราช) น่าจะมาจาก "อุตตโมราม" ซึ่งแปลว่า "พระรามผู้ยิ่งใหญ่" ที่ทรงเป็นพระอนาคตพุทธเจ้าองค์ต่อไปจากพระเมตไตรย ดังที่กล่าวถึงใน "โสตตัตถกีมหานิทาน" เพราะในช่วงเวลานั้นต่างให้ความสำคัญแก่พระอนาคตพุทธเจ้าโดยเฉพาะ (เอกสารวิจัยเรื่อง "การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ : จารึกพ่อขุนรามคำแหง" : ๒๕๓๑)แต่ชื่อ "รามคำแหง" พบเพียงครั้งเดียวในจารึกพ่อขุนรามคำแหง และไม่พบในที่อื่นๆอีกเลยทุกวันนี้ชื่อ "รามคำแหง" เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายกว่า "รามราช" จึงขอเรียกตามความนิยมว่า "พ่อขุนรามคำแหง"
ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่าขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพมาตีเมืองตาก ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงยกกองทัพจากเมืองสุโขทัยไปป้องกันเมืองตาก โดยมีพระรามราชโอรสซึ่งมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษาไปด้วย การรบของทั้งสองฝ่ายได้ทำยุทธหัตถี (การรบบนหลังช้าง) ในตอนแรกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นฝ่ายเสียเปรียบ ช้างที่ประทับของพระองค์สู้กำลังข้าศึกไม่ได้ พระรามได้รีบไสช้างเข้าไปช่วย และสู้รบกับขุนสามชนจนได้ชัยชนะ ความกล้าหาญของพระรามใน ครั้งนี้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงพระราชทานนามให้เป็น "รามคำแหง" ซึ่งหมายถึง รามผู้กล้าหาญเข้มแข็งในการรบ หลังจากศึกครั้งนี้เข้าใจว่าฐานะทางการเมืองของสุโขทัยมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น และคงมีการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขตสุโขทัยให้กว้างขวางออก
ภายหลังที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สิ้นพระชนม์พ่อขุนบานเมืองราชโอรสองค์ใหญ่ ได้ขึ้นครองราชย์ที่สุโขทัยสืบต่อมา ในสมัยนี้สุโขทัยได้ขยายอำนาจทางการเมืองด้วยการทำสงครามกับเมืองต่างๆเช่นเดียวกับสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ โดยมีพระอนุชาคือพ่อขุนรามคำแหงเป็นแม่ทัพ ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า "กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้าง ได้งวง ได้ปั่ว ได้นาง ได้เงือน ได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู" เมื่อพ่อขุนบานเมืองสิ้นพระชนม์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ครองกรุงสุโขทัยสืบต่อมา การที่พระองค์เป็นกษัตริย์นักรบ และนักปกครองที่มีความสามารถ อาณาเขตในสมัยของพระองค์จึงได้แผ่ขยายกว้างไกล จนได้รับการเทิดพระเกียรติด้วยพระนามว่า "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ในภายหลัง ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวถึงเขตแดนสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชไว้ว่า "ทางทิศเหนือ มีเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลัว ถึงเมืองหลวงพระบาง ทิศตะวันออกมี เมืองสระหลวง สองแคว ลุมบาจาย สคา ถึงเมืองเวียงจันทร์ ทางทิศตะวันตกมีเมืองฉอด เมืองหงสาวดี จนสุดชายฝั่งทะเล ทางทิศใต้มี เมืองคณฑี เมืองพระบาง เมืองแพรก เมืองสุพรรณภูมิ เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองนครศรีธรรมราช จนสุดชายฝั่งทะเล" จะเห็นว่าในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงฯนี้



6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อาณาจักรสุโขทัยได้ครอบครองเมืองในลุ่มแม่น้ำ ปิง ยม น่าน และป่าสักได้ทั้งหมด อันเป็นการรวบรวมเมืองบ้านพี่เมืองน้อง ซึ่งเคยอยู่ใต้ครอบครองของราชวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถุมให้เป็นแว่นแคว้นเดียวกัน และขยายอาณาเขตไปยังดินแดนห่างไกลออกไป

จากเอกสารของจีน ได้กล่าวถึงการขยายอาณาเขตของพ่อขุนรามคำแหงฯไปยังดินแดนทางใต้ว่า ในปี พ.ศ. ๑๘๒๓ ตีได้เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองในแหลมมลายู ตลอดจนยะโฮร์ และต่อมาตีได้กัมพูชา และจากพงศาวดารเหนือได้กล่าวถึงพระเจ้าฟ้ารั่ว หรือมะกะโท ผู้เป็นราชบุตรเขยของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งต่อมาได้ครองเมืองมอญ แสดงถึงการขยายอาณาเขตของพระองค์ไปทางตะวันตก ได้หัวเมืองมอญด้วยสันติวิธี อาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของการยอมรับอำนาจและความเข้มแข็งของศูนย์กลางอำนาจทีเมืองสุโขทัยอันเป็นผลจากการสะสมกำลังคนที่ได้จากการทำสงครามแล้วกวาดต้อนผู้คน และแรงงานจากเมืองต่างๆ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ก่อนรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงฯ นอกจากนั้นเนื่องจากพระองค์มีสัมพันธไมตรี

กับเมืองใหญ่ๆใกล้เคียงได้แก่ พ่อขุนเม็งราย(มังราย)แห่งอาณาจักรล้านนา และพระยางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา ซึ่งได้ทำข้อตกลงที่จะช่วยเหลือกันและกันเมื่อถูกรุกรานจากอาณาจักรอื่น ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นช่วงสมัยที่สุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ซึ่งนอกจากการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขตแล้ว ความรุ่งเรืองของสุโขทัยอาจเนื่องมาจากการที่สุโขทัยตั้งอยู่ในเส้นทางทางการค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ และเมื่อการค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น สุโขทัยซึ่งอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่สามารถค้าขายติดต่อกับบ้านเมืองต่างๆได้โดยรอบ โดยมีเส้นทางการเดินทางไปทางเหนือถึงลุ่มแม่น้ำโขง ทางตะวันตกมีเส้นทางติดต่อกับเมืองพุกามและหัวเมืองมอญ ซึ่งสามารถออกทะเลเบงกอลติดต่อกับลังกา และอินเดียใต้ ส่วนทางใต้มีเส้นทางเดินทางผ่านลุ่มแม่น้ำปิง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านนครศรีธรรมราชออกสู่ทะเล สันนิษฐานว่าสุโขทัยอาจเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าแบบกองคาราวาน และสุโขทัยเองอาจจะค้าของป่า และแร่ธาตุสำคัญ นอกจากนั้นสุโขทัยยังยอมเป็นเมืองผ่านทางการค้า โดยอนุญาตให้พ่อค้าเอาลินค้าไปค้าขายแลกเปลี่ยนได้โดยไม่เก็บภาษีผ่านด่าน เป็นการส่งเสริมให้มีคนมาค้าขายที่สุโขทัยเพิ่มขึ้น ดังมีข้อความปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า "เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจะใคร่ค้าช้างค้า ใครจะใคร่ค้าม้าค้า ใครจะใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า" จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้คนจากที่ต่างๆโยกย้ายเข้ามาสู่ดินแดนในอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า "พ่อขุนรามคำแหง ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย ทั้งมากาว ลาวแลไทย เมืองใต้หล้าฟ้า ฏ...ไทยชาวอู ชาวของ มาออก"

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคต (สันนิษฐานว่าประมาณปี พ.ศ. ๑๘๔๒) พระยาเลอไทยพระราชโอรสของพระองค์ได้ครองราชสมบัติ พระยาเลอไทยทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน มุ่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง แผ่ขยายออกไปจากเดิมมากขึ้น การศึกษาพระธรรม และภาษาบาลีได้เริ่มขึ้น และเจริญก้าวหน้า พระองค์ทรงฝักใฝ่ในทางธรรมมาก และทรงมีความรู้ทางปรัชญาอย่างสูง ลูกเจ้าลูกขุนจึงถวายพระนามว่า "พระมหาธรรมราชา" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระองค์ครองราชย์นาน ๔๐ ปี เมื่อสิ้นรัชกาล พระยางัวนำถมได้ครองราชย์สืบต่อมา
เมื่อพระยางั่วนำถมทรงทำพิธีราชาภิเษกแล้ว ได้ทรงแต่งตั้งพระยาลิไทย (พระราชโอรสของพระยาเลอไทย) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์ไปปกครองเมืองศรีสัชนาลัย อันเป็นเมืองที่ถือว่ารัชทายาทแห่งราชบัลลังก์จะพึงครอบครองก่อนที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ ในรัชกาลนี้ได้มีการปราบปรามเมืองต่างๆที่แข็งเมืองมาตั้งแต่รัชกาลพระยาเลอไทย แต่ไม่สำเร็จ ทั้งยังไม่สามารถแก้ไขความเสื่อมโทรม และความแตกแยกภายใน ตอนปลายรัชกาลพระยางัวนำถมสวรรคตลงโดยกระทันหันในปี พ.ศ. ๑๘๙๐ ทำให้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นในกรุงสุโขทัย พระยาลิไทยองค์รัชทายาทจึงยกกำลังจากเมืองศรีสัชนาลัยเข้าเมืองสุโขทัย แล้วจับศัตรูที่คบคิดชิงราชสมบัติประหารชีวิตเสียทั้งหมด แล้วเสด็จขึ้นครองเมืองสุโขทัยในปีนั้น
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๖ มกราคม “ร่วมรำลึกถึงพระคุณของครู..ผู้ให้แสงสว่างแก่เด็ก”
แม้ว่าปัจจุบันนี้เทคโนโลยีจะก้าวไกล มีสื่อการเรียนการสอนที่ไร้พรมแดน เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้จากอินเตอร์เน็ต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เด็กรับรู้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่จะถูกเสมอไป เพราะในโลกของการสื่อสารยังมีสื่อที่ไม่สร้างสรรค์อีกเป็นจำนวนมากที่เด็กไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดดีและไม่ดี
ครู จึงถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทและมีความสำคัญมากที่สุดในกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก ให้สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดดีและไม่ดี ตลอดจนให้ความรู้และคอยอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์เติบโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม คงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่อยากฝากลูกไว้กับครูที่ดี เก่ง และไว้ใจได้
เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติและให้ความสำคัญกับครู ในฐานะบุคคลที่สร้างอนาคตของชาติ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปี เป็น วันครู และจัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ที่ระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการที่เรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคล โดยให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา มีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู การออกข้อบังคับหน้าที่ วินัย และจรรยาบรรณของครู รวมถึงการรักษาผลประโยชน์ และส่งเสริมฐานะให้ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการกำหนดนโยบายทางการศึกษาและวิชาการศึกษาให้แก่กระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และยังได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ โดยมีข้อความตอนหนึ่งที่น่าสนใจว่า “เนื่องจากครูเป็นผู้มีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่า สำหรับคนทั่วไปถ้า วันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลงปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
จากแนวคิดประกอบกับความเห็นของครูที่แสดงออกกับสื่อมวลชนที่เรียกร้องให้มีวันครู เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน จึงได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ และได้มีมติเห็นชอบให้มีวันครู เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ตลอดจนการส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ ให้วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปีเป็น วันครู โดยให้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้นักเรียนและครูได้หยุดในวันดังกล่าว
นอกจากนี้ยังได้กำหนด จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู ดังนี้
๑. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
๒. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
๓. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้
๔. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
๕. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
๖. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ
๗. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน
๘. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
๙. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา
๑๐. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
เห็นได้ว่า ครูเปรียบเสมือนแสงสว่างที่คอยนำทางให้เด็กได้ก้าวเดินไปในทางที่ถูกต้อง โดยการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ พร้อมทั้งอบรมบ่มนิสัยให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปในอนาคต เนื่องในวันครู ๑๖ มกราคม ที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน หรือลูกศิษย์ทั้งหลายได้รำลึกถึงพระคุณของครู ด้วยการกลับไปเยี่ยมเยียนท่าน หรือส่งบัตรอวยพรให้แก่ท่าน พร้อมทั้งประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีต่อสังคม ให้เหมือนกับที่ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจอบรมสั่งสอนและให้ความรู้แก่เรา จนเราสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาประกอบอาชีพที่สุจริตเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้



8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันเด็กแห่งชาติ
วันเด็กแห่งชาติ มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็ก รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
ทั้งนี้ การขานรับกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของตนขึ้น โดยได้มีการกำหนดว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ
สำหรับประเทศไทย ได้ตอบรับข้อเสนอของนายวี เอ็ม กุลกานี ซึ่งบอกผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ รัฐบาลจึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
อย่างไรก็ตาม งานวันเด็กแห่งชาติของประเทศไทยจัดขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 จากนั้นเป็นต้นมา ราชการไทยได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ ด้วยเหตุผลว่า เดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้
ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ที่มีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า ตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ส่งผลให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว งานวันเด็กแห่งชาติจึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
คำขวัญวันเด็ก




9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นคุณค่าความสำคัญ ของเด็กจึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคิด สำหรับเด็ก นายกรัฐมนตรี ในสมัยต่อ ๆ มา จึงได้ถือปฎิบัติสืบต่อมาดังต่อไปนี้

พ.ศ.2499 - จอมพล ป.พิบูลสงคราม - จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม

พ.ศ.2502 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า

พ.ศ.2503 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด

พ.ศ.2504 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย

พ.ศ.2505 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด

พ.ศ.2506 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด

พ.ศ.2507 - งดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ

พ.ศ.2508 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี

พ.ศ.2509 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี

พ.ศ.2510 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย

พ.ศ.2511 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง

พ.ศ.2512 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ

พ.ศ.2513 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส

พ.ศ.2514 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ

พ.ศ.2515 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ

พ.ศ.2516 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ

พ.ศ.2517 - นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - สามัคคีคือพลัง

พ.ศ.2518 - นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี

พ.ศ.2519 - หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช - เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง
จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้

พ.ศ.2520 - นายธานินทร์ กรัยวิเชียร - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย

พ.ศ.2521 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ

พ.ศ.2522 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กไทยคือหัวใจของชาติ

พ.ศ.2523 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

พ.ศ.2524 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม

พ.ศ.2525 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

พ.ศ.2526 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม

พ.ศ.2527 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา

พ.ศ.2528 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม

พ.ศ.2529 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ.2530 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ.2531 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ.2532 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ.2533 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ.2534 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา

พ.ศ.2535 - นายอานันท์ ปันยารชุน - สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม

พ.ศ.2536 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

พ.ศ.2537 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

พ.ศ.2538 - นายชวน หลีกภัย - สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

พ.ศ.2539 - นายบรรหาร ศิลปอาชา - มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด

พ.ศ.2540 - พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ - รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด

พ.ศ.2541 - นายชวน หลีกภัย ขยัน - ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

พ.ศ.2542 - นายชวน หลีกภัย ขยัน - ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

พ.ศ.2543 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

พ.ศ.2544 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

พ.ศ.2545 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส

พ.ศ.2546 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี

พ.ศ.2547 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน

พ.ศ.2548 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด

พ.ศ.2549 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด

พ.ศ.2550 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข

พ.ศ.2551 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม

พ.ศ.2552 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี

พ.ศ.2553 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม

พ.ศ.2554 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันขึ้นปีใหม่
ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทยถือเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนาซึ่งถีอเอาฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี
ต่อมาได้ถือว่าวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ (ตรุษไทย) ซึ่งถือตามปฏิทินทางจันทรคติและยึดถือมาจนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่างๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสมและไม่สะดวกเพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย
เมื่อถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ต่างก็ถือเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อไทยยอมรับปฏิทินสุริยคติตามแบบสากลแล้วก้ควรจะใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันเริ่มต้นปี เพื่อความสะดวกในการติดต่อกับประเทศต่างๆ จึงกำหนดให้ถือเอาวันที่ ๑ มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา เป็นผลให้ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ขาดไป ๓ เดือน และให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติ ให้ทางราชการ บริษัท ห้างร้านทั่วไป หยุดงานที่เคยทำประจำ ๒ วัน คือ วันที่ ๓๑ ธันวาคม วันสิ้นปีเก่า และ วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่
ธรรมเนียมไทยแต่เดิมมา ก่อนวันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดทั่วบริเวณ และตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามตามกำลังความสามารถ ในวันขึ้นปีใหม่ นอกจากทำบุญตักบาตรหรือทำกุศลอื่นๆ ตามอัธยาศัยแล้ว ผู้น้อยนิยมไปรดน้ำผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรท่านให้เกิดความเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนเองสืบไป

ประเพณีใหม่ที่เข้ามาสู่คนไทยในโอกาสนี้คือ การส่งบัตรอวยพรระหว่างเพื่อนฝูง ญาติมิตรที่สนิทสนมกัน เป็นการแสดงออกแห่งไมตรีจิตระหว่างกัน นับเป็นการประยุกต์นำวัฒนธรรมอื่นที่เหมาะสมมาใช้ในสังคมไทย ถือเป็นความเจริญทางวัฒนธรรมได้ประการหนึ่ง


ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันขึ้นปีใหม่?category_id=351


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้