ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วันสำคัญ

[คัดลอกลิงก์]
31#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัยนี้เป็นวันเกษตรกร ประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้มีการจัดงานวันเกษตรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา

ในสังคมกสิกรรมทุกสังคมมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อบวงสรวง บูชา อ้อนวอนเทพเจ้าเกี่ยวกับพืชพรรณธัญญาหารและเทพเจ้าเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ ตลอดจนธรรมชาติอื่นๆ อันเป็นหลักปฏิบัติที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดอาหารอุดมสมบูรณ์ เกิดสวัสดิมงคลและความปลอดภัยมั่นคงแก่ชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งที่เกี่ยวข้องเช่นพิธีบูชาเทพธิดาโพสวเทวีอีดีมีสเตอร์ของชาวกรีกโบราณ พิธีไหว้ฟ้าดินของชาวจีน พิธีสู่ขวัญแม่โพสพของชาวอินโดนีเซีย พิธีเชิญขวัญข้าวโพดของชาวอินเดียนแดง เป็นต้น สำหรับคนไทยที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับข้าวมาแต่โบราณ ข้าวเป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเลือดเนื้อของคนไทยมาแต่โบราณ การทำนาเพื่อผลิตข้าวนั้นมีขั้นตอนงานหลายขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนการปลูกข้าว จะต้องมีการเตรียมปรับดินในนา ถ้าเป็นการปลูกข้าวนาดำต้องมีแปลงตกกล้า ก่อนเริ่มทำแปลงตกกล้าหรือหว่าน ต้องมีการไถดะ ไถแปรหรือมีไถคราดด้วย เมื่อเริ่มหว่านหรือถอนกล้าปักดำไปแล้ว ต้องรอจนข้าวเติบโตจนเก็บเกี่ยวได้จึงเริ่มเกี่ยวข้าว เมื่อได้ข้าวแล้ว ต้องขนไปลานนวดข้าว มีการนวดข้าว ซึ่งปัจจุบันส่วนมากใช้เครื่องจักร จากนั้นขนข้าวขึ้นยุ้ง หรือมีพ่อค้ามาซื้อถึงที่ จากกระบวนการผลิตข้าวดังกล่าวก่อให้เกิดความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม และคติชาวบ้านที่เกี่ยวกับข้าวหลายอย่างในวัฒนธรรมของไทย   

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันพืชมงคล?category_id=351
32#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันสตรีสากล
วันสตรีสากล (International Women’s Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ผู้หญิงจากทั่วโลกที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านจริยธรรม ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง จะได้มาร่วมเฉลิมฉลองถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และในหลายๆ ประเทศยังกำหนดให้วันนี้เป็นวันหยุดประจำปีอีกด้วย
          ความเป็นมาของวันสตรีสากลเริ่มขึ้นจากเหตุการณ์ใน เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ความเป็นอยู่ของแรงงานสตรีในเมืองชิคาโก ที่ไม่ต่างอะไรจากทาสนิโกรในเงื้อมมือคนผิวขาว เพราะต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง แต่ได้รับค่าแรงานเพียงน้อยนิด ส่วนสตรีตั้งครรภ์มักถูกไล่ออก
ในที่สุดภายใต้การนำของ คลาร่า แซทคิน (Clara Zetkin ) ผู้นำกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าชาวเยอรมัน ลุกฮือขึ้นสู้ด้วยการเดินขบวนนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานจากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชัวโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั้งโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน
อย่างไรก็ตามอีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วม ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย นอกจากนั้นในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของ คลาร่า แซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล
อ้างอิง http://www.lib.ru.ac.th/journal/mar/mar08-WomanDay.html


ผู้ให้กําเนิดวันสตรีสากล
คลาร่า เซทกิ้น (CLARA ZETKIN) ค.ศ.1857-1933
คลาร่า เซทกิ้น ได้รับการขนานนามว่า มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล เป็นผู้ให้กําเนิดวันสตรีสากล
นักการเมืองหญิงสายมาร์คซิสต์ ชาวเยอรมัน เป็นผู้ริเริ่มวันสตรีสากล ชื่อเดิมชื่อ คลาร่า ไอนส์เนอร์ เกิดที่เมืองไวเดอรูว์ แคว้นแซกโซนี่ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม จบการศึกษาจากวิทยาลัยครูเมืองไลป์ซิก และพบรักกับเพื่อนนักศึกษาชาวรัสเซียนามว่า ออพซิป เซทกิ้น ต่อมา มีบุตร 2 คน และเป็นหม้ายในปี ค.ศ.1889
ในปี ค.ศ.1884 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic party) ต่อมาพรรคโดนยุบ และคลาร่าได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์
ค.ศ.1907 คลาร่าได้กลับสู่เยอรมันดินแดนมาตุภูมิ พร้อมกับการก่อตั้ง กลุ่มนักสังคมนิยมหญิง และได้ริเริ่มในการเสนอให้กําหนดวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีให้เป็นวันสตรีสากล
ค.ศ.1914 ในขณะที่ประเทศเยอรมันกําลังทําสงครามโลกครั้งที่ 1 คลาร่า ได้ร่วมมือกับ โรซ่า ลัมเซมเบอรค์ ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 ในนามกลุ่ม สปาร์ตาซิสต์ ( *กลุ่มสปาร์ตาซิสต์ (spatarcist) เป็นกลุ่มกรรมกรในเยอรมันที่ประท้วงรัฐบาลเยอรมันสมัยนั้น ในการทําสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยความคิดที่ว่า ทหารที่ส่งไปรบก็คือ ประชาชน สงครามเป็นการกระทําที่สนองตัณหาของรัฐบาล แต่ประชาชนมีแต่ต้องสูญเสีย)
ค.ศ.1918 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน และได้เป็นผู้แทนในสภาไรซ์สตัก (สภาผู้แทนของเยอรมันยุคนั้น)
ค.ศ.1920-1932 สุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของคลาร่าในสภาเยอรมัน คลาร่าได้กล่าวโจมตี อดอฟ ฮิตเลอร์อย่างรุนแรง และเรียกร้องหาแนวร่วมที่จะช่วยกันต่อต้านพรรคนาซีเยอรมัน ซึ่งกําลังมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองเยอรมัน
ค.ศ.1933 พรรคนาซีเยอรมันได้ ประสบความสําเร็จในการยึดอํานาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ และให้อํานาจทุกอย่างขึ้นอยู่กับท่านฟูเร่อร์ (ผู้นํา) คลาร่าจึงเป็นหนึ่งในนักการเมืองสายความคิดสังคมนิยม ที่ถูกกวาดล้าง จนต้อง
ลี้ภัยการเมืองไปใช้ชีวิตที่รัสเซีย และถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนี้

องค์กรในสหประชาชาติที่ทําหน้าที่พิทักษ์สิทธิสตรี
(1) คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (UNCSW) มีหน้าที่กําหนดแนวทางการยกระดับสถานภาพสตรี ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรม และด้านการศึกษา
(2) คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (CEDAW) มีหน้าที่ตรวจสอบว่าประเทศภาคีอนุสัญญาฯปฏิบัติตามข้อกําหนดของอนุสัญญาฯ หรือไม่
- แผนกเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ทําหน้าที่เป็นสํานักงานเลขานุการ ดําเนินการวิจัยและทํางานสนับสนุนองค์กรทั้งสองข้างต้น
- กองทุนพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) ทําหน้าที่สนับสนุนโครงการต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการผสานสตรีในกระบวนการพัฒนา ด้วยวิธีการส่งเสริมกิจกรรมสร้างเสริมรายได้ขนาดย่อม
- สถาบันวิจัยและฝึกอบรมระหว่างประเทศเพื่อความก้าวหน้าของสตรี(INSTRAW) เป็นแหล่งให้เงินทุนอุดหนุน และมีหน้าที่ทําวิจัยเพื่อยกระดับวิธีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการพัฒนา

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันสตรีสากล?category_id=351


33#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันนักประดิษฐ์
เพื่อระลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงประดิษฐ์ กังหันน้ำชัยพัฒนา และได้รับสิทธิบัตรทางปัญญาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้กังหันน้ำชัยพัฒนายังได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์เด่นจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
ประวัติ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะมีสภาพเสื่อมลงเรื่อย ๆ รวมถึงน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์เครื่องกลสำหรับบำบัดน้ำเสียขึ้นหลายชิ้น เช่น ชัยพัฒนาซุปเปอร์ฟองแอร์ เครื่องตีน้ำชัยพัฒนา และชัยพัฒนาไฮโดรเป็นต้น แต่ชิ้นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด อีกทั้งเป็นชิ้นแรกที่ทรงได้รับสิทธิบัตรทางปัญญาได้แก่ กังหันน้ำชัยพัฒนา กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำแบบหมุนช้า เป็นแบบทุ่นลอย มีใบพัดขับเคลื่อนน้ำหมุนรอบเป็นวงกลม สำหรับขับเคลื่อนน้ำ และวิดน้ำขึ้นไปสาดกระจายเป็นฝอยเพื่อให้น้ำได้สัมผัสกับอากาศได้อย่างทั่วถึง เป็นผลให้ออกซิเจนในอากาศสามารถละลายผสมกับน้ำได้เร็วและในช่วงที่น้ำกระจายขึ้นมานั้นจะทำให้เกิดฟองอากาศจมลงไป เป็นการถ่ายเทอากาศ ได้อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในด้านเติมอากาศลงในน้ำและทำให้เกิดการหมุนเวียนมากขึ้น จากการทดสอบพบว่ากังหันน้ำชัยพัฒนาสามารถถ่ายเทออกซิเจนได้ถึง 0.9 กิโลกรัมของออกซิเจนต่อแรงม้าต่อชั่วโมง
        ด้วยพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันนักประดิษฐ์ นอกจากนี้การที่ทางรัฐบาลได้จัดงานวันนักประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อต้องการให้เกิดความร่วมมือกันในวงการนักวิทยาศาสตร์นักวิจัย และนักประดิษฐ์มากขึ้น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประดิษฐ์สิ่งของ เพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การเกษตร การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาชาติในด้านต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต
        งานวันนักประดิษฐ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ณ ศูนย์การค้าเวิลเทรดเซ็นเตอร์ โดยความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และได้จัดต่อมาเป็นประจำทุกปี
กิจกรรมวันนักประดิษฐ์
          1. จัดนิทรรศการเผยแพร่ผลงานการประดิษฐ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. จัดการประกวดสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ


ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันนักประดิษฐ์?category_id=351


34#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันสหกรณ์แห่งชาติ
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีดินฟ้าอากาศเหมาะแก่การเกษตร อาชีพส่วนใหญ่ของพลเมืองคือการประกอบการเกษตรสาขาต่าง ๆ การผลิตในสมัยก่อน ๆ ผู้ผลิตคนหนึ่ง ๆ ผลิตเพียงแต่เลี้ยงครอบครัว มิได้มุ่งหวังเพื่อขาย ส่วนสินค้าที่ผลิตไม่ได้ก็เอาสินค้าที่ผลิตได้ไปแลกเปลี่ยน ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น การพาญิชย์ที่ใช้เงินเป็นสื่อกลางก็เจริญขึ้น การเอาของมาแลกกันก็น้อยลง ในขณะเดี๋ยวกันประชากรก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นความต้องการสินค้าอุปโภคของประชากรจึงปริมาณสูงขึ้นด้วย
           ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตข้าวพอเลี้ยงครอบครัวเท่านั้นไม่ได้ ต้องผลิตให้มากขึ้นเพื่อขายเอาเงินเพื่อซื้อสินค้า เมื่อมีการผลิตข้าวมากขึ้นก็ต้องใช้ปัจจัยทุนในการผลิตมากขึ้นด้วย ถ้าผู้ผลิตรายใดไม่มีปัจัยทุน ก็ต้องกู้ยืมจากธนบดี ในอัตราดอกเบี้ยสูง เมื่อผลิตข้าวได้แล้วก็นำไปขายเพื่อชำระหนี้ การชำระหนี้ดังกล่าวจะดำเนินไปด้วยดีก็ต่อเมื่อมีการผลิตข้าวได้ผลดี แต่ระบบการผลิตข้าวในสมัยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศทั้งนั้น กล่าวคือถ้าปีใดฝนตกตามฤดูกาล และมีปริมาณน้ำฝนพอเหมาะแก่ความต้องการ การผลิตข้าวก็ได้ผลดี แต่ถ้าปีใดสภาพดินฟ้าอากาศไม่ดี ผลผลิตที่ได้จะลดน้อยลง มีผลทำให้การบริโภคไม่เพียงพอ และไม่มีข้าวสำหรับชำระหนี้ด้วย และต้องมีการจำนองที่นาและทรัพย์สินเป็นหลักประกันเงินกู้ด้วย ในที่สุดก็ไม่มีที่ดินในการทำมาหากินเป็นของตนเอง
           สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้เป็นมูลเหตุแห่งความดำริของรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่จะช่วยเหลือเกษตรกร โดยครั้งแรกมีผู้ดำริที่จะจัดตั้งธนาคารเกษตรขึ้นที่ส่วนกลางและมีสาขาตามภูมิภาค เพื่อให้เครดิตแก่เกษตรกรโดยตรง แต่เมื่อได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วก็พบปัญหาการชำระหนี้ไม่ได้ตามสัญญา การตั้งธนาคารเกษตรเลยไม่ประสบความสำเร็จ
          จากนั้นพระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระจันทบุรีนฤนาท เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุลเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำริที่จะนำสหกรณ์มาใช้ การสหกรณ์จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงได้ทรงมอบให้ กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ซึ่งพระราชวรวงศ์ เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีอยู่ในขณะนั้นเป็นผู้เริ่มชักนำสหกรณ์เข้ามาสู่ประเทศไทย
          การเริ่มจัดตั้งสหกรณ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงศึกษาพิจารณาประเภทสหกรณ์ซึ่งมีอยู่ในต่างประเทศ เพื่อเลือกสรรนำมาใช้ในประเทศไทย ในที่สุดได้เห็นว่าสหกรณ์หาทุน (สหกรณ์เครดิตแบบไรพ์ไฟเซน) เหมาะที่สุดสำหรับชนบทไทย

            ระยะแรก การสหกรณ์ในประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ประเภทหาทุนขึ้นในปี พ.ศ. 2459 การจัดตั้งสหกรณ์ในระยะแรกจึงดำเนินไปอย่างช้า ๆ จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็นเวลา 12 ปี นับตั้งแต่เริ่มนำสหกรณ์เข้ามาในประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทนี้ขึ้นมาเพียง 81 สมาคมเท่านั้น ซึ่งจัดตั้งอยู่ใน 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก ลพบุรีและอยุธยา โดยมีเงินทุนให้กู้ยืมเพียง 300,000 บาทเศษ เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าสหกรณ์เป็นสิ่งที่สามารถจัดทำได้สำเร็จ จึงประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ขึ้นและจัดหาทุนมาให้กู้ยืมมากขึ้น หลังจากนั้น 5 ปี ได้มีการขยายสาขาออกไปได้อีก 7 จังหวัด
           เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การสหกรณ์จึงได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสหกรณ์ มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทอื่น ๆ ขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพยร์ สหกรณ์ที่ดิน ร้านสหกรณ์ ต่อมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขยายงานสหกรณ์จากระดับกรมขึ้นมาเป็นระดับกระทรวง เมื่อปี พ.ศ. 2495
            ระยะอยู่ตัว หลังจากปี พ.ศ. 2497 อัตราการขยายตัวของสหกรณ์ลดลงเนื่องจาก เป็นระยะที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสหกรณ์มาก่อน จนไม่สามารถจะดูแลให้ทั่วถึง ในขณะเดียวกันกระทรวงสกหรณ์ถูกยุบไปรวมกับกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ ขาดกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพ
           การเปลี่ยนแปลงของสหกรณ์คือมีการยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2515 ซึ่งมีผลทำให้กรมสหกรณ์ทีดิน กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ และสำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเดิม ถูกยุบมารวมเป็น "กรมส่งเสริมสหกรณ์" เพียงกรมเดียว ส่วนกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ยังคงอยู่ในฐานะเดิม เพราะงานตรวจสอบบัญชีเป็นงานอิสระ กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ขึ้นกับกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2515

           สหกรณ์ที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 กำหนดสหกรณ์ออกเป็น 6 ประเภท คือ
            1. สหกรณ์ร้านค้า
2. สหกรณ์ประมง
3. สหกรณ์การเกษตร
4. สหกรณ์บริการ
5. สหกรณ์นิคม
6. สหกรณ์ออมทรัพย์

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันสหกรณ์แห่งชาติ?category_id=351


35#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 17:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันศิลปินแห่งชาติ
ความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ มาตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๕๒๗ เพื่อสรรหา ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงาน ศิลปะล้ำค่า อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยมีสำนัก งานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา

ศิลปินแห่งชาติ นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะ ของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า

อนึ่ง จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ นำศิลปินเข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติศิลปิน แห่งชาติว่า "ผลงานของศิลปินแห่งชาติเป็นมรดกศิลปะอันล้ำค่าของชาติ เป็นเครื่องหมาย แสดงอารยะธรรมอันสูงส่งของชาติไทย ควรแก่ความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ผลงานของ ท่านเหล่านี้นับวันจะสูญหายไปด้วยสาเหตุต่างๆ จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องศึกษาผล งานของทุกท่านเหล่านี้ แล้วจัดทำเนียบขึ้นบัญชีอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติโดยส่วนรวมต่อไป"

การจัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการ ไว้ ๕ ข้อ ได้แก่
จัดทำทำเนียบศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศ
- สรรหาศิลปินเพื่อประกาศยกย่องเกียรติคุณขึ้นเป็นศิลปินแห่งชาติ
- จัดตั้งกองทุน (มูลนิธิ) สวัสดิการเพื่อศิลปิน
- สนับสนุนให้ศิลปินได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงาน
- อนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการสืบทอดความรู้ ความสามารถของศิลปิน
โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันศิลปินแห่งชาติ"
คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ
๑) เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
๒) เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น
๓) เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
๔) เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
๕) เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
๖) เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
๗) เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

การจำแนกสาขาศิลปะของโครงการศิลปินแห่งชาติ
๑) สาขาทัศนศิลป์ (Visual Art) หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติหรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ดังต่อไปนี้
ก. จิตรกรรม หมายถึง ภาพเขียนสีและภาพลายเส้น
ข. ประติมากรรม หมายถึง งานปั้นและแกะสลัก
ค. ภาพพิมพ์ หมายถึง ศิลปะการพิมพ์ด้วยกรรมวิธีต่างๆ เช่น การพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ โลหะ ฯลฯ
ง. ภาพถ่าย หมายถึง ผลงานศิลปะภาพถ่ายที่เสนอด้วยสื่อและกรรมวิธีต่างๆ
จ. สื่อประสม หมายถึง ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยกรรมวิธีและเทคนิคต่างๆอย่างอิสระ
๒) สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (Architecture) หมายถึง งานออกแบบ หรืองานออกแบบและงานก่อสร้างอาคารสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะ และมีวิทยาการ ซึ่งแสดงภูมิปัญญาของผู้ออกแบบอย่างโดดเด่น ได้แก่ สถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
๓) สาขาวรรณศิลป์ (Literature) หมายถึง บทประพันธ์ที่ปลุกมโนคติของผู้อ่าน ทำให้เกิดจินตนาการความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ต่างๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บันเทิงคดี สำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ หนังสือเด็ก วรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง
๔) สาขาศิลปะการแสดง (Performing Art) หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่
ก. การละคร ประกอบด้วย ละครรำ เช่น โนห์รา ชาตรี ฯลฯ ละครร้อง โขน ลิเก ระบำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) รำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) ฟ้อน (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) เซิ้ง (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) หุ่น เช่น หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก หนังใหญ่ หนังตะลุง การเขียนบทร้องหรือบทละครรำ (เพื่อการแสดง)

ข. การดนตรี แบ่งออกเป็นดนตรีไทย และดนตรีสากล
- นักดนตรี ต้องเป็นนักดนตรีเด่นเฉพาะเครื่องมือ
- นักร้อง ต้องมีความสามารถทั้งร้องส่งและร้องรับในการแสดงต่างๆ และสามารถแหล่ทำนองต่างๆ ได้ (แหล่เฉพาะแบบดั้งเดิม)
- นักประพันธ์เพลง ต้องประพันธ์ ทั้งทางร้องและทางดนตรี
- ผู้อำนวยเพลง ต้องเป็นผู้อำนวยเพลงดีเด่น
- ผู้ผลิตเครื่องดนตรี

ค. การแสดงพื้นบ้าน ประกอบด้วย หมอลำ ซอ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงบอก สวดคฤหัสถ์ ฯลฯ

ลักษณะและความหมายเข็มศิลปินแห่งชาติ
ลักษณะของเข็ม

เป็นเหรียญกลม ภายในจัดองค์ประกอบเป็นภาพดอกบัวเรียงกันสามดอก มีแพรแถบรองรับต่อเนื่องอ้อมรัดแถบริ้วธงชาติไทยตามแนวโค้งขอบเหรียญ ภายในผ้าจารึกคำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” และได้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานไว้เหนือกลมโดยมีผ้าโบพันรอบคทาไม้ชัยพฤกษ์ หัวเม็ดทรงมัณฑ์เชื่อมประสานระหว่างกัน

ความหมาย
แสดงถึงความเป็นปราชญ์ในทางความรู้ ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะ อุทิศตน สร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะไว้มากมาย จนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติ ทั้งในสาขาทัศนศิลป์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม วรรณศิลป์และศิลปะการแสดง ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินแห่งชาติเข้ารับพระราชทานเข็ม เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลสืบไป

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันศิลปินแห่งชาติ?category_id=351


36#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 17:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันตรุษจีน
ตำนานวันตรุษจีน
ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมัน อนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย
ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกัน เมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก
เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน ต่อมา วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองที่มีแต่ความสุขที่เรียกกันว่า "ตรุษจีน"
การไหว้เจ้า
การไหว้เจ้า เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง คือ
· ไหว้ครั้งแรกของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ ตรุษจีน เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย”
· ไหว้ครั้งที่สอง ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า “ง่วงเซียวโจ่ย”
· ไหว้ครั้งที่สาม ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย
· ไหว้ครั้งที่สี่ ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง
· ไหว้ครั้งที่ห้า ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย”
· ไหว้ครั้งที่หก ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า “ตงชิวโจ่ย” ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์
· ไหว้ครั้งที่เจ็ด ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า “ไหว้ตังโจ่ย”
· ไหว้ครั้งที่แปด ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ “ก๊วยนี้โจ่ย”
ประเพณีการไหว้เจ้าทั้ง 8 ครั้งนี้ มีคำจีนเฉพาะเรียกว่า “โป๊ยโจ่ย” โป๊ย คือ 8 โจ่ย แปลว่า เทศกาล โป๊ยโจ่ย จึงหมายความว่า การไหว้เจ้า 8 เทศกาล ซึ่งนอกจากการไหว้เจ้า 8 เทศกาลนี้แล้ว บางบ้านอาจมีวันไหว้พิเศษกับเจ้าบางองค์ที่นับถือศรัทธา คือ
· ไหว้เทพยดาฟ้าดิน เช่น การไหว้วันเกิดเทพยดาฟ้าดิน เรียกว่า “ทีกงแซ” หรือ “ทีตี่แซ” ก็ได้ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ของจีน
· ไหว้อาเนี้ยแซ คือ ไหว้วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง คือ วันที่ 19 เดือน 2, วันที่ 19 เดือน 6 และวันที่ 19 เดือน 9
· ไหว้แป๊ะกงแซ ตรงกับวันที่ 14 เดือน 3
· ไหว้เทพยดาผืนดิน คือ ไหว้โท้วตี่ซิ้ง ตรงกับวันที่ 29 เดือน 3
· ไหว้อาพั้ว “อาพั้ว” คือ พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก วันเกิดอาพั้ว หรือ “อาพั้วแซ” ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี
· ไหว้เจ้าเตา ไหว้วันที่ 24 เดือน 12 เรียกว่า “ไหว้เจ๊าซิ้ง”
การไหว้เจ้าพิเศษนี้ แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละบ้านและแล้วแต่ความจำเป็น เช่น ถ้าที่บ้านไม่มีเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องไปไหว้อาพั้ว หรือถ้าที่บ้านไม่ได้ทำนาทำไร่ก็ไม่มีที่ และไม่มีความจำเป็นต้องไหว้โท้วตี่วิ้ง หรือเทพยดาผืนดิน
เมื่อพูดถึงการไหว้เจ้า จะหมายถึงการไหว้เจ้าที่กับไหว้บรรพบุรุษ เครื่องเซ่นสำหรับไหว้เจ้าที่จะจัดเป็น 1 ชุด เครื่องเซ่นสำหรับบรรพบุรุษจะจัดเป็นอีกชุดต่างหาก การไหว้จะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้เจ้าที่ก่อน พอสายหน่อยจึงจะตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งของไหว้จะมีของคาว ของหวาน ผลไม้ และเครื่องดื่ม โดยมีกับข้าวคาวเพิ่มเข้ามาสำหรับการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งมีธรรมเนียมว่าต้องให้มีของน้ำ 1 อย่าง เช่น แกงจืด
การจัดของไหว้
· ถ้าจัดใหญ่ นิยมเป็นตัวเลข 5 คือ มีของคาว 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวแซ” ประกอบด้วย หมู ไก่ ตับ ปลา และกุ้งมังกร แต่เนื่องจากกุ้งมังกรนั้นแพงและหาไม่ง่าย จึงนิยมไหว้เป็ดหรือปลาหมึกแห้งแทน ของหวาน 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” อาจเป็นซาลาเปาไส้หวาน ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย และขนมจันอับ ผลไม้ 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวก้วย”
· ถ้าจัดเล็ก ก็เป็นชุดละ 3 อย่าง มีของคาว 3 อย่างเรียกว่า “ซาแซ” ของหวาน 3 อย่าง เรียกว่า “ซาเปี้ย” ผลไม้ 3 อย่าง เรียกว่า “ซาก้วย” หรือจะมีแค่อย่างเดียวก็ได้
ผลไม้ที่ใช้ไหว้ จะนิยมเลือกชนิดที่มีอะไรที่เป็นมงคลอยู่ในตัว
· ส้ม เรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า โชคดี
· องุ่น เรียกว่า “พู่ท้อ” แปลว่า งอกงาม
· สับปะรด เรียกว่า “อั้งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา
· กล้วย มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล

ที่ในกระถางธูปที่ใช้ไหว้เจ้า บางคนนิยมใส่ “โหงวจี้” สำหรับปักธูป ประกอบด้วย เมล็ด 5 อย่าง คือ ข้าวสาร ข้าวเหนียว ถั่วเขียว ถั่วดำ และเชื้อแป้ง (ยีสต์) โดยถือว่าเมล็ดทั้งห้า คือบ่อเกิดของการเจริญเติบโตอุปมาอุปไมยให้การไหว้เจ้านี้นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง
แต่การใช้โหงวจี้ปักธูป มีข้อจำกัดว่าใช้ได้แต่ในบ้าน ถ้าเป็นการไหว้นอกบ้าน ต้องใช้ข้าวสารหรือทราย มิฉะนั้นเชื้อแป้งเมื่อถูกความชื้น เช่น ฝนหรือน้ำค้าง จะทำให้แข็งตัวแล้วปักธูปไม่ลง
เมื่อไหว้เจ้าเสร็จก็เผากระดาษเงินกระดาษทองเป็นการปิดท้ายรายการ                    

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันตรุษจีน?category_id=351


37#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 17:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันขึ้นปีใหม่ และการนับวันเดือนปีทางจันทรคติ
วันที่ ๑ มกราคมของทุกปี ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ อันเป็นการนับแบบสากล ที่เหมือนกันทุกประเทศในปัจจุบัน ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ปี” ว่าหมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว ๓๖๕ วัน : เวลา ๑๒ เดือนตามสุริยคติ
ในหนังสือวันสำคัญฯของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้บอกถึงความเป็นมาของวันปีใหม่สรุปได้ว่า ครั้งโบราณการนับวันขึ้นปีใหม่ของแต่ละชาติ จะกำหนดขึ้นตามความนิยมและความคิดเห็นของชนชาตินั้นๆ มิได้เป็นวันเดียวกันเช่นปัจจุบัน ในส่วนของไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็น ๔ ระยะคือ เริ่มแรกตามจารีตของไทยแต่โบราณได้ถือเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เหมือนหลายๆชาติที่ถือว่าฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ด้วยว่าคนสมัยก่อนเห็นว่าฤดูหนาว เป็นช่วงผ่านพ้นจากฤดูฝนอันมืดครึ้ม สว่างเหมือนเวลาเช้า ส่วนฤดูร้อนเป็นช่วงที่สว่างเหมือนเวลากลางวัน และฤดูฝนเป็นเวลามืดหม่นคล้ายกลางคืน เขาจึงนับฤดูเหมันต์หรือซึ่งมักตรงกับเดือนอ้ายที่สว่างเหมือนเวลาเช้าเป็นต้นปี นับช่วงฤดูร้อนเป็นกลางปีและฤดูฝนเป็นปลายปี ต่อมาในระยะที่สอง เราได้มีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ คือราวช่วงสงกรานต์ อันเป็นการเปลี่ยนจารีตไปตามคติพราหมณ์ที่นับวันตามจันทรคติ โดยใช้ปีนักษัตรและการเปลี่ยนจุลศักราชเป็นเกณฑ์ ระยะที่สาม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เราก็ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ เมษายนอันเป็นนับวันทางสุริยคติ ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๓๒ ระยะที่สี่ คือในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทยให้เป็นไปตามแบบสากลนิยม คือวันที่ ๑ มกราคม ซึ่งมีเหตุผลว่าวันดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยการคำนวณด้วยวิทยาการทางดาราศาสตร์ และเป็นที่นิยมใช้กันมากว่าสองพันปี อีกทั้งไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา หรือการเมืองของชาติใด แต่สอดคล้องกับจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณที่ใช้ฤดูหนาวเป็นต้นปี ดังนั้น เราจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับนานาประเทศ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา (ปีพ.ศ. ๒๔๘๓ เราจึงมีแค่ ๙ เดือนและปี ๒๔๘๔ มี ๑๒ เดือน จากนั้นปีต่อๆมาก็มีปีละ ๑๒ เดือนตามปรกติ)
อนึ่ง การนับวันเดือนปีแบบโบราณ ที่เรียกว่า “จันทรคติ” (ซึ่งเรียกวันขึ้น /วันแรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ฯลฯ ) นี้อาจารย์สมบัติ จำปาเงินได้กล่าวในหนังสือ”ประทีปความรู้คู่ไทย” ว่าเป็นการนับวันเดือนปีโดยถือการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเป็นหลัก โดยปีที่มี ๓๕๔วันเรียกว่า “ปีจันทรคติปรกติ” แต่ถ้าปีไหนเป็น “ปีอธิกวาร” ก็จะมี ๓๕๕ วัน และถ้าปีไหนเป็น “ปีอธิกมาส” คือมีเดือนแปดสองหน ก็จะมี ๓๘๔ วัน การที่มีอธิกวารวารและอธิกมาส (อธิก อ่านว่า อะทิกกะ แปลว่า เกิน/เพิ่ม และวาร คือ วัน มาสคือเดือน) เพิ่มขึ้นในบางปีนั้น เป็นการชดเชยวันที่ขาดหายไป ด้วยว่าเมื่อเรานับวันตามสุริยคติในเวลาต่อมา (คือการนับวันเดือนปี ตามระยะเวลาที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งรอบหนึ่งๆจะใช้เวลา ๓๖๕ วัน ๕ ชม. ๔๙ นาที) ก็จะทำให้ปีสุริยคติและปีทางจันทรคติต่างกันถึงปีละ ๑๐-๑๐ วันเศษ ซึ่งหากไม่มีการชดเชยเพิ่มวันและเดือนทางจันทรคติแล้ว นานไปก็จะทำให้การนับวันเดือนปีคลาดเคลื่อนผิดไป ดังสมัยโรมัน เมื่อจูเลียส ซีซาร์เรืองอำนาจ ปรากฏว่าการนับวันเดือนปีทางจันทรคติได้คลาดไปจากความเป็นจริงถึง ๓ เดือน ฤดูกาลแทนที่จะเป็นฤดูหนาวกลับยังเป็นฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งผิดจากสภาพความเป็นจริง จูเลียส ซีซาร์ จึงให้ยกเลิกการนับตามจันทรคติและหันมาใช้การนับทางสุริยคติแทน โดยมีการคำนวณขยายปีออกไป ให้ระยะเดือนและฤดูตรงกับความเป็นจริง คือให้มี ๓๖๕ กับ ๑/๔ วัน แต่เพื่อความสะดวกแก่การนับ จึงกำหนดใหม่ให้ปีปรกติมี ๓๖๕ วัน ซึ่งขาดไป ๖ ชม.หรือ ๑/๔ วัน พอครบ ๔ ปี ก็เพิ่มอีกวัน เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน ซึ่งปีนั้นจะมี ๓๖๖ วัน ซึ่งการนับวันเดือนเช่นนี้ เป็นการนับตามปฏิทินระบบซีซาร์ที่ประกาศใช้เมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๔๙๗ โดยได้กำหนดให้เดือนต่างๆมี ๓๑ และ ๓๐ วันสลับกันไป เว้นแต่เดือนกุมภาพันธ์มี ๒๙ วันแต่ถ้าเป็นปีอธิกสุรทิน จึงเพิ่มเป็น ๓๐ วัน ครั้นสมัยจักรพรรดิออกุสตุสก็ได้มีการปรับปรุงปฏิทินใหม่เรียกว่าแบบยูเลียน กำหนดให้เดือนหนึ่งมี ๓๐ วันและมีวันเพิ่มอีก ๕ วันเรียกอธิกวาร ลดกุมภาพันธ์เหลือ ๒๘ วัน ปีไหนเป็นปีอธิกสุรทินจึงมี ๒๙ วัน และไปเพิ่มวันในเดือนสิงหาคม จาก ๓๐ วันเป็น ๓๑ วัน ซึ่งแม้จะสะดวกแต่ก็มีข้อบกพร่องที่ทำให้วันเวลาผิดไปจากความเป็นจริง คือทุก ๑๒๘ ปี วันจะเกินจริงไป ๑ วัน ซึ่งหากปล่อยนานไป วันเวลาก็จะผิดมากขึ้นแน่นอน ดังนั้น ในปีพ.ศ. ๒๑๒๕ สันตะปาปา เกรกอรี่ที่ ๓๓ แห่งโรม ก็ได้ประกาศเลิกใช้ปฏิทินแบบยูเลี่ยน และให้มาใช้แบบเกรกอเรียนแทน โดยกำหนดเพิ่มจากปฏิทินยูเลี่ยนว่าหากปีใดตรงกับปีศตวรรษ เช่น ค.ศ. ๑๗๐๐ ๑๘๐๐ ฯลฯ ห้ามมิให้เป็นปีอธิกสุรทิน ยกเว้นว่าปีนั้นจะหารด้วย ๔๐๐ ลงตัว เช่น ๑๖๐๐ ๒๐๐๐ ๒๔๐๐ ฯลฯ จึงจะให้เป็นปีอธิกสุรทินเหมือนเดิม ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ทำให้วัน เดือนปี แม้จะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าสามพันปี จึงจะผิดไป ๑ วัน ดังนั้น ปฏิทินเกรกอเรียนจึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย ได้มีการใช้ปฏิทินแบบใหม่ตามสุริยคติอย่างเป็นทางการเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งแม้เราจะใช้ปฏิทินทางสุริยคติ แต่ก็ยังใช้การนับทางจันทรคติควบคู่ไปด้วย
การนับทางจันทรคติที่ถือการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ ๑๒ ครั้ง ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปีนั้น รอบหนึ่งๆจะใช้เวลา ๒๙ วันครึ่ง ดังนั้นในเวลา ๑ เดือน หากนับเพียง ๒๙ วัน เวลาก็จะขาดไป ๑๒ ชม. แต่หากนับ ๓๐ วันก็จะเกินไป ๑๒ ชม. ดังนั้น เขาจึงนับ ๕๙ วันเป็นสองเดือนโดยให้นับเดือนคี่มี ๒๙ วัน ส่วนเดือนคู่มี ๓๐ วัน แต่ละเดือนจะแบ่งเป็น ๒ ปักษ์ๆละ ๑๕ วันเรียกวันข้างขึ้นและข้างแรม (เดือนคี่นี้บางทีก็เรียกว่า เดือนขาด ได้แก่ เดือน ๑ , ๓,๕, ๗, ๙และ ๑๑ เป็นเดือนที่มีวันข้างขึ้น ๑๕ วัน แต่วันข้างแรมมีเพียง ๑๔ วันคือมีเพียงแรม ๑๔ ค่ำเท่านั้น ส่วนเดือนคู่หรือเดือนเต็มได้แก่ เดือน ๒, ๔, ๖, ๘ ,๑๐ และ ๑๒ คือ มีวันข้างขึ้นและวันข้างแรมอย่างละ ๑๕ วัน เช่น ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๒ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๒ และแรม ๑ ค่ำเดือน ๒ ถึงแรม ๑๕ค่ำเดือน ๒ เป็นต้น ) ซึ่งการนับทางจันทรคตินี้เมื่อนับวันกันจริงๆแล้ว ปรากฏว่าปีจันทรคติจะมีแค่ ๓๕๔ วันน้อยกว่าวันทางสุริยคติถึง ๑๑ วัน ซึ่งโลกเราก็ยังโคจรไม่ครบรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการเพิ่มอธิกมาส คือเพิ่มเดือนแปดอีกเดือน ที่ชาวบ้านเรียกแปดสองหน ในรอบ ๒-๓ปี ส่วนอธิกวารจะเป็นการเพิ่มวันในเดือน ๗ อีก ๑ วันทำให้เดือน ๗ ปีนั้นเป็นเดือนพิเศษ คือมีวันแรม ๑๕ ค่ำด้วย ซึ่งปรกติเดือนคี่จะมีแค่ ๑๔ ค่ำเท่านั้น การเพิ่มดังกล่าวเป็นการคำนวณเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลที่ปรากฏจริงของโลกนั่นเอง ส่วนการนับทางสุริยคติก็คือการนับวัน เวลาตามวิถีโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ จะบอกเป็นวัน เดือน และปีศักราช เช่น วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือค.ศ. ๒๐๐๕ เป็นต้น
โดยทั่วไป มวลมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ต่างก็มีความเชื่อที่สอดคล้องกันในเรื่องการขึ้นปีใหม่ว่าเป็นช่วงที่ดีแห่งการเริ่มต้น และการรับสิ่งใหม่ที่มงคลแก่ชีวิตเข้ามา จึงมักมีงานรื่นเริงเฉลิมฉลองเพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่อย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะคนไทยเรา นอกจากวันที่ ๑ มกราคมอันเป็นปีใหม่แบบสากลแล้ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เรายังถือเป็นวันปีใหม่แบบไทยอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เราได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ที่ดีๆถึงปีละ ๒ ครั้ง จึงควรที่คนไทยเราทุกคนจะได้ใช้ฤกษ์ดังกล่าวตั้งจิตอธิษฐานที่จะรักตัวเราเองให้มากขึ้น ด้วยการบำรุงรักษาตัวเราให้ดีทั้งกาย วาจาและใจ และเผื่อแผ่ความรักนี้ไปยังเพื่อนร่วมโลกอื่นๆ เพื่อโลกเราใบนี้จะได้เป็นโลกที่น่าอยู่ต่อไป

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันขึ้นปีใหม่-และการนับวันเดือนปีทางจันทรคติ?category_id=351


38#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 17:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันอัฎฐมีบูชา
ชาวพุทธทั่วไป ต่างทราบกันดีว่า วันเพ็ญกลางเดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งเรียกกันว่า “วันวิสาขบูชา” นั้นเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะในอดีตเมื่อกว่า ๒๕๕๒ ปีล่วงมาแล้ว ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ ประสูติในคืนเพ็ญกลางเดือน ๖
ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี, ตรัสรู้ในคืนเพ็ญกลางเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี, และปรินิพพานในคืนเพ็ญกลางเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี พุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างบำเพ็ญกุศลทุกคืนเพ็ญกลางเดือน ๖ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทั้งสามมาโดยตลอด แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าหลังจากเสด็จปรินิพพานได้ ๗ วัน มีวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
พระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร เล่าว่าภายหลังที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ระหว่างต้นรังคู่หนึ่ง ในสวนของเหล่ามัลลกษัตริย์แล้ว พวกมัลลกษัตริย์ก็บูชาพระพุทธสรีระด้วยของหอม ดอกไม้ และดนตรีตลอด ๗ วัน จนวันที่ ๘ ตรงกับ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ พวกเจ้ามัลละจึงสอบถามพระอานนท์ ถึงวิธีปฏิบัติอันสมควรต่อพระสรีระ
พระอานนท์เล่าถึงพระพุทธานุญาตให้จัดการกับพระสรีระดุจเดียวกับที่จัดการพระ บรมศพของพระมหาจักรพรรดิ นั่นคือห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้ ๕๐๐ ชั้น แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด ทางทิศตะวันออกของเมือง
แม้จะพยายามจุดเพลิงเพื่อถวายพระเพลิงอย่างไร เพลิงก็หาได้ติดพระพุทธสรีระไม่ เหล่ามัลลกษัตริย์สอบถามเหตุอัศจรรย์นี้แก่พระอนุรุทธะเถระ ซึ่งได้รับคำตอบว่าเหล่าเทวดาที่ประชุมอยู่ที่นั้นมีประสงค์ให้รอพระมหากัส ปะพร้อมพระสงฆ์จำนวน 500 รูปที่กำลังเดินทางมาให้พร้อมเสียก่อน เทวดาเหล่านั้นล้วนเคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อนทั้งสิ้น

เมื่อพระมหากัสปะซึ่งมีปรกติจาริกอยู่แต่ในป่าเดินทางมาถึง ก็เข้าไปถวายบังคมพระพุทธสรีระ คราวนั้นบังเกิดปาฏิหาริย์ พระบาทของพระพุทธสรีระยื่นพ้นผ้าทั้ง ๕๐๐ ชั้นและหีบเหล็กออกมาให้พระมหากัสสปะได้ถวายบังคมเป็นครั้งสุดท้าย ครั้นแล้วเทวดาก็เนรมิตเพลิงทิพย์ที่ไร้ควัน ไร้เขม่าขึ้นถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ จนเมื่อพระกายไหม้หมดแล้วน้ำทิพย์ก็หลั่งลงมาจากนภากาศดับไฟทิพย์จนหมด พระสรีระก็สูญไป เหลือเพียงผ้า 1 คู่ ที่ใช้หุ้มห่อพระสรีระชั้นในสุดและชั้นนอกสุดกับพระเขี้ยวแก้ว 4 พระรากขวัญ 2 สิ่งทั้ง 7 นี้ ยังคงอยู่ปกติมิได้กระจัดกระจายไป ส่วนพระบรมสารีริกธาตุที่เหลือแตกกระจายออกเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ประมาณเท่าเมล็ดถั่วแตก
ขนาดกลางประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหักและขนาดเล็กประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด จำนวนทั้งสิ้นถึง 16 ทะนาน เหล่ามัลลกษัตริย์ก็เชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุเข้าไปประดิษฐานในเมือง
บริเวณที่ถวายพระเพลิงพรุทธสรีระนั้น ได้สร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก เรียกว่า มกุฎพันธนเจดีย์ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเมืองโครักขปูร์ รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย
เรื่องราวในวันที่ ๘ หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานลงนี้ เป็นเครื่องเตือนสติชาวพุธได้อย่างดียิ่งว่า แม้แต่พระบรมศาสดาซึ่งทรงบรรลุธรรมขั้นสุด เลิสกว่าผู้ใดในโลกยังดำรงพระองค์อยู่ใต้สภาวะปรกติแห่งโลก นั่นคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ควรอย่างยิ่งที่ชาวพุทธจะทำความเข้าใจหลักสัจธรรมข้อนี้ให้ถ่องแท้
ในปัจจุบัน วันอัฎฐมีบูชาหรือการบูชาในวันที่ ๘ นี้ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ของไทย อย่างไรก็ตามยังมีหลายภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับวันนี้ โดยจัดให้มีการบำเพ็ญกุศลครั้งใหญ่เป็นกรณีพิเศษ บางสถานที่จัดให้มีการจำลองเหตุการณ์ในวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระอีกด้วย โดยเริ่มต้นเป็นครั้งแรกที่พระบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์


ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันอัฎฐมีบูชา?category_id=351


39#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 17:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปราย เรื่อง ปัญหาการใช้ภาษาไทย ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายอย่างดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถ และนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทยที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ นอกจากนี้ อีกวัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดตั้งวันภาษาไทย ก็เพื่อต้องการกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้ยั่งยืนคู่ชาติไทยตลอดไป พร้อมทั้งเผยแพร่ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆไปสู่สาธารณชน ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติและในฐานะภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
เห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย พระองค์ทรงรอบรู้ถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระวิริยะอุตสาหะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ ทำให้วรรณกรรมเรื่องนั้นๆ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น
แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่มักใช้ภาษาไทยกันอย่างผิดเพี้ยน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของคนไทยมาก โดยเฉพาะคนไทยที่ไปศึกษาในต่างประเทศชอบใช้ภาษาฝรั่งคำไทยคำ ทำให้เมื่อสื่อสารออกไปแล้วคนไม่เข้าใจ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องในสังคมอินเตอร์เน็ตที่มักจะใช้คำง่ายๆ และสั้นๆ รวมถึงการใช้สัญลักษณ์ในการสื่อสารด้วยจนกลายเป็นค่านิยมไปแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเด็กไทยก็จะไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของภาษาและอาจทำให้ภาษาไทยวิบัติได้ในอนาคต
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นและภาษาไทยถิ่นดีเด่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้งดงามยั่งยืนคู่ชาติไทยตลอดไป ซึ่งได้มีการประกาศผลการคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นและภาษาไทยถิ่นดีเด่นไปแล้วเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ดังนี้
ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จำนวน ๑๓ คน ได้แก่ พระธรรมโกศาจารย์ (ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร ธมฺมจิตโต), ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร, คุณหญิงคณิตา เลขะกุล, นางชอุ่ม ปัญจพรรค์, นายช่วย พูลเพิ่ม, ศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล, ผู้ช่วยศาสตราจารย์มะเนาะ ยูเด็น, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิพุธ โสภวงศ์, พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยเอก เสนีย์ วิลาวรรณ, นายอาจิณ จันทรัมพร
ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จำนวน ๑๗ คน ได้แก่ นายกันตชาติ เกษมสันต์ ณ อยุธยา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร, นายธีรภาพ โลหิตกุล, นางสาวนภา หวังในธรรม, นายนิติพงษ์ ห่อนาค, พลตรีประพาศ ศกุนตนาค, นายประภัสสร เสวิกุล, นายปราโมทย์ สัชฌุกร, นายศักดิ์สิริ มีสมสืบ, นายศุ บุญเลี้ยง, นางสินจัย เปล่งพานิช, นาวาอากาศโทสุมาลี วีระวงศ์, นายสัญญา คุณากร, นางอารีย์ นักดนตรีม, นายเอนก นาวิกมูล ชาวต่างประเทศ จำนวน ๒ คน ได้แก่ ศาสนาจารย์ ดร.เอสเธอร์ เวคแมน, นางคริสตี แอนน์ เคนนีย์ บราวน์ฟิลด์
ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น จำนวน ๙ คน ได้แก่ พระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์ สุภาจาโร), ดร.ฉันทัส ทองช่วย, นางสาวนฤมล มั่นวงค์วิโรจน์, นายบุญธรรม เทิดเกียรติชาติ, นายพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, นายมนัส สุขสาย, นายเมืองดี นนทะธรรม, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สนิท บุญฤทธิ์, นายอินตา เลาคำ
รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๙ คน และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะจัดงานมอบเข็มเชิดชูเกียรติให้แก่ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นและภาษาไทยถิ่นดีเด่น ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแสดงนิทรรศการและการแสดงของผู้ที่ได้รับเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นและผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔ การแสดงของศิลปินที่ได้รับรางวัลการประพันธ์คำร้องและการขับร้องเพลงดีเด่น (เพชรในเพลง) และการออกร้านคลินิกหมอภาษา
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักให้คนไทยได้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทยและสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มส่งเสริมการถ่ายทอดวัฒนธรรม โทร.๐๒๒๔๗๐๐๒๘ ต่อ ๑๔๑๙



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้