พระราชประวัติโดยสังเขป ของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระโอรสองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” และ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”
..........เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาซูเซสท์ สหรัฐอเมริกา (เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ที่นั่น) เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ พระนามในชั้นเดิม “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” พระองค์มีพระโสทรเชษฐภคินี ๑ พระองค์ และพระโสทรบรมเชษฐาธิราช ๑ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
๒. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
..........เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้เสด็จนิวัติประเทศไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อเสด็จมาครั้งนั้นได้ประทับที่วังสระปทุม ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกประชวร และสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเจริญพระชนมพรรษาได้ ๑ พรรษา ๙ เดือน
..........พุทธศักราช ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษาได้ ๕ พรรษา ได้เสด็จเข้าทรงศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จฯ ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเนื่องจากสมเด็จพระโสทรบรมเชษฐาธิราชไม่ทรงแข็งแรง ควรจะต้องประทับอยู่ประเทศที่มีอากาศดี พลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (พระปิตุลา) ทรงแนะนำให้ไปประทับในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ ที่นั่นพระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาต่อตามหลักสูตรชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ (ECOLE MIREMONT) เมืองโลซานน์ พร้อมด้วยพระเชษฐาธิราช ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นู เวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี ชือ โลซานน์
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโสทรบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” ซึ่งก็ยังคงประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่เมืองพุยยี่ ติดกับเมืองโลซานน์และทรงตั้งชื่อพระตำหนักที่ประทับว่า “วิลล่า วัฒนา”
..........พุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมาเยือนประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ได้ประทับอยู่ประมาณ ๒ เดือน โดยประทับรวมกัน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต แล้วเสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ
พุทธศักราช ๒๔๘๘ ทรงไรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ (Bachelier es Lettres) จากโรงเรียนยิมนาสคลาซีค กังโตนาล (Gymnase Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิทยาศาสตร์
วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
..........จนกระทั่งวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จสวรรคตโดยกระทันหันที่พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงได้รับการอัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในวันเดียวกัน ครั้งนี้ได้ประทับอยู่ประเทศไทยเพียง ๙ เดือน เนื่องจากยังมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทยเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งในเดือนสิงหาคมปีนั้นเอง เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยเดิม แต่ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม
..........ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาองค์ใหญ่ในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร ต่อมาได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
..........ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงศพพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนัก สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม ในการพระราชพิธีราชาภิเษก สมรสนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
..........วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระปรมาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฎว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และในโอกาสนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี"