ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วันสำคัญ

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันปิยมหาราช

วันที่ ๒๓ ตุลาคม วันปิยมหาราช รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันสำคัญของชาติและกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการด้วย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ประชาชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามพระองค์ “พระปิยมหาราช” อันมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ กับสมเด็จพระเทพ ศิรินทรา พระบรมราชินี พระองค์ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐา ๓ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลฯ กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กระพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี โดยทรงศึกษาด้านวิชาการและโบราณราชประเพณีต่างๆ หลังจากนั้น พระบรมชนกนาถทรงจ้างครูซึ่งเป็นชาวต่างประเทศโดยตรงมาสอนภาษาอังกฤษ เนื่องจากทรงเห็นว่าต่อไปในอนาคตจะจำเป็นอย่างมาก และพระบรมชนกนาถทรงฝึกสอนวิชาการในด้านต่างๆ อาทิ วิชารัฐศาสตร์ด้วยพระองค์เองด้วย

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ได้พร้อมกันถวายพระราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และได้จัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา ขุนนางผู้ใหญ่จึงแต่งตั้งเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ เพื่อทอดพระเนตรการบริหารบ้านเมืองและวิทยาการสมัยใหม่จากประเทศแถบยุโรป เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ จึงเป็นที่มาของพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้านของพระองค์ อาทิ ด้านการทหารและการปกครองประเทศ ทรงนำแบบอย่างทางทหารของประเทศแถบยุโรปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกและทหารเรือ ตลอดจนส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหารในทวีปยุโรป ด้านการปกครองประเทศ ทรงให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ จากเดิมมี ๖ กระทรวง และได้เพิ่มอีก ๔ กระทรวง รวมเป็น ๑๐ กระทรวง ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกและให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ด้านเศรษฐกิจและการคลัง ทรงให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้น โดยทรงให้แยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกัน และทรงให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก คือ ธนาคารสยามกัมมาจล ด้านการศึกษา ทรงให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวังจัดการเรียนการสอน แล้วขยายออกไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ทั่วถึงประชาชน ทำให้การศึกษาของไทยได้รับการพัฒนา ด้านการต่างประเทศ พระองค์ได้เห็นถึงความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และพระองค์ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่างๆ เพื่อนำวิทยาการสมัยใหม่มาพัฒนาประเทศ ด้านการคมนาคมและสาธารณูปโภค ทรงให้สร้างถนนขึ้นหลายสายและทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสะพานข้ามคลองและทางรถไฟหลายแห่ง อาทิ สะพานเฉลิมสวรรค์เฉลิมศรี ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนด้านสาธารณูปโภค ทรงมีพระราชดำริว่าประชาชนควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค พระองค์จึงทรงให้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นด้วยทรงอยากให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลวังหลัง (ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลศิริราช) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการสังคายนาและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรก และทรงให้มีการตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์เป็นฉบับแรกด้วย ส่วนด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น ในสมัยของพระองค์ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรป จึงนำสถาปัตยกรรมตะวันตกมาผสมผสานกับของไทยได้อย่างงดงาม เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชวังสวนดุสิต และกระทรวงกลาโหม เป็นต้น



22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระราชกรณียกิจอีกประการที่สำคัญยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การเลิกทาส พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการเลิกทาสให้เป็นไทตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงไม่ต้องการให้มีการกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง และทรงเห็นว่าการมีทาสเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไม่เหมาะกับประเทศที่เจริญแล้ว พระองค์ได้ทำการปรึกษาราชการแผ่นดินในหลายฝ่ายเพื่อหาวิธีไม่ให้มีเหตุกระทบกระเทือนต่อตัวทาสและเจ้าของทาส ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติทาส ห้ามคนที่เกิดในรัชกาลปัจจุบันเป็นทาส และต่อมาพระองค์ทรงตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ณ วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๑๗ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะทำให้ทรงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการปลดปล่อยทาสให้เป็นไทโดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว

นอกจากนี้ การเสด็จประพาสต้น ก็เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับทางรถไฟหรือไม่ก็ทางเรือ ทรงแต่งพระองค์อย่างสามัญชน เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ สิริรวมพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระปรีชาสามารถ และเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย สมกับพระราชสมัญญา “พระปิยมหาราช” ซึ่งแปลความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันปิยมหาราชที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยแสดงความจงรักภักดี ด้วยการสมัครสมานสามัคคี เนื่องจากประเทศไทยของเราตอนนี้กำลังประสบปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรง ทำให้พี่น้องชาวไทยในบางพื้นที่ของประเทศประสบความเดือนร้อนจากภัยน้ำท่วม ในฐานะที่เราเป็นคนไทยด้วยกัน ต้องสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่บ้านเมืองประสบปัญหา เหมือนอย่างที่พระองค์ท่านทรงพัฒนาประเทศและปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทยให้มีความเป็นเอกราชมาจนถึงปัจจุบันนี้  

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันปิยมหาราช?category_id=351
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันสารทไทย
เมื่อเอ่ยถึง “ สารทไทย ” คนปัจจุบันอาจจะรู้สึกห่างเหิน ด้วยว่าคนสมัยนี้จะเคยชินกับเทศกาลของต่างประเทศอย่าง วันวาเลนไทน์ วันฮาโลวีน หรือวันสารทจีนมากกว่า ดังนั้น เพื่อให้รู้จักวันสำคัญของไทยอีกวันหนึ่ง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับวันนี้มาบอกต่อเพื่อเป็นความรู้ ดังนี้
คำว่า “ สารทไทย ” หมายถึง เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบของไทย จะตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราว ๆ ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนได้กล่าวไว้ ว่า “ สารท ” ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ ( งานรื่นเริงตามธรรมเนียมตามฤดูกาล ) เป็นที่นิยมของคนทั้งปวงทั่วไปว่าเป็นสมัยที่ได้ทำบุญ เมื่อปีเดือนวันคืนล่วงมาถึงกึ่งกลางรอบ ด้วยเหตุว่า เราถือเอากำหนด พระอาทิตย์ลงไปที่สุดทางใต้ กลับมาเหนือถึงกึ่งกลางปีเป็นต้นปี ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปเหนือจนสุดทางจะกลับลงใต้ มาถึงกึ่งกลางก็เป็นพอบรรจบ กึ่งกลางปี ” พูดง่ายๆก็คือ วันสารทไทย ถือเป็นวันทำบุญกลางปี ด้วยว่าสมัยก่อนเราถือเอาวันสงกรานต์ ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นช่วงเดือนสิบ จึงตกราวกลางปีพอดี คนทั่วไปจึงนิยมทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เสมือนเป็นการเตือนใจตัวเองว่า ชีวิตได้ดำเนินผ่านมาถึงกึ่งปีแล้ว ชีวิตข้างหน้าที่เหลือควรจะได้สร้างบุญกุศลไว้เพื่อความไม่ประมาท ซึ่งนอกจากการทำบุญดังกล่าวแล้ว ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับอีกด้วย
พระยาอนุมานราชธนได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า “ สารท ” เป็นคำอินเดีย หมายถึง “ ฤดู ” ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “ ออตอม ” อันแปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้เริ่มสุก และให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า “Seasonal Festival” โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า “ ผลแรกได้ ” นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น
ส่วน สารทเดือนสิบ อันหมายถึงการทำบุญเดือนสิบ หรือวันสารทไทยของเรานั้น พระยาอนุมานราชธนได้สันนิษฐานว่า น่าจะนำมาจากคติของอินเดีย เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง ผลแรกได้ อย่างที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน แต่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูสารทหรือช่วงฤดูใบไม้ร่วงของบางประเทศที่ว่า จะตกอยู่ในราว ๆ เดือน ๑๐ ทางจันทรคติของไทย ซึ่งโดยความจริงข้าวของเราจะยังไม่สุก มีเพียงผลไม้บางชนิดเท่านั้นที่สุก ครั้นเรารับความเชื่อนี้มา จึงมีปรับเปลี่ยนใช้ข้าวเก่าทำเป็นข้าวเม่า ผสมกับถั่ว งาและสิ่งอื่นกลายเป็น ขนมกระยาสารท ขึ้นมา ซึ่งเมื่อแรกๆก็คงมีการนำไปสังเวยเทวดา และผีสางต่างๆตามความเชื่อดั้งเดิมด้วย ต่อมา เมื่อเรานับถือศาสนาพุทธ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นการทำบุญถวายพระ และมักมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามความเชื่อเดิมที่ว่าหากไม่ ได้ทำบุญตักบาตรกระยาสารท ผีปู่ย่าตายายจะได้รับความเดือนร้อนอดๆอยากๆ เท่ากับลูกหลานไม่กตัญญู นอกจากนี้ ระยะเวลาดังกล่าว ยังเป็น ช่วงกล้วยไข่สุกพอดี จึงมักถวายไปพร้อม ๆ กัน การทำบุญเดือนสิบนี้มีในหลายภูมิภาค เช่น ทางอีสาน เรียกว่า บุญข้าวสาก หรือสลากภัต เป็นหนึ่งในฮีตสิบสอง อันเป็นการทำบุญอุทิศให้ผู้ตายหรือเปรต โดยข้าวสากจะทำด้วยข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอกคลุกเข้ากันผสมกับน้ำตาล น้ำอ้อย ถั่ว งา มะพร้าวคล้ายๆกระยาสารทของภาคกลาง โดยมักจะทำราวกลางเดือนสิบ ห่างจากการทำบุญข้าวประดับดิน ที่ทำในช่วงสิ้นเดือน ๙



24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนประเพณีสารทเดือนสิบ ที่รู้จักกันดี ก็คือที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคติความเชื่อที่ว่า ในบรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีผู้มีบาปกรรมต้องได้รับโทษเป็นเปรตอยู่อบายภูมิ ปีหนึ่งๆยมบาลก็จะปล่อยให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานเพื่อรับส่วนกุศลปีละครั้ง ในวันบุญสารท คือแรม ๑๔ และ ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ และเมื่อถึงวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ก็ต้องกลับไปรับโทษตามเดิม บรรดาผีเปรตเหล่านี้ หากไม่มีใครทำบุญให้ ตอนเดินทางกลับก็จะอดอยาก และก็จะสาปแช่งลูกหลานในตระกูลที่เพิกเฉยไม่ทำบุญให้ ดังนั้น จึงเกิดมีการทำบุญสารทดังกล่าวเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยในวันแรม ๑๔ ค่ำ จะมีการจัดหมฺรับ ( อ่านว่า หมับ หมายถึงสำรับ ) ในหมฺรับจะมีอาหารต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้ง พร้อมขนม ๕ อย่างที่ถือว่าจะขาดไม่ได้คือ ขนมพอง คือหมายจะให้เป็นแพฟ่อง ล่อยลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ ขนมลา ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมกง หรืองบางทีก็ใช้ ขนมไข่ปลา ให้เป็นเครื่องประดับ ขนมบ้า ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์ และ ขนมดีซำ ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย สำรับดังกล่าวนี้ คนนครฯ มักตกแต่งเป็นรูปแบบต่างๆตามที่เห็นว่าสวยงาม แต่ต้องมียอดสูงแหลมไว้เสมอ การถวายหมฺรับหรือสำรับแด่พระสงฆ์ มักใช้วิธีจับสลากที่เรียกว่า “ สลากภัต ” นั่นเอง เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็จะมีพิธียกหมฺรับตายาย คือ การนำอาหารไปไว้ตามใต้ต้นไม้หรือกำแพงวัดสำหรับผีไม่มีญาติ เมื่อพระสวดบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลเสร็จ เด็กๆหรือผู้ใหญ่ก็จะวิ่งกรูไปแย่งชิงอาหารในหมฺรับที่วางไว้ ด้วยเชื่อว่าอาหารเหล่านี้กินแล้วได้กุศลแรง พิธีนี้เรียกว่า “ ชิงเปรต ” ซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน

อนึ่ง ขนมที่นิยมทำกันในช่วงนี้ นอกจากกระยาสารทที่มักทำเฉพาะเทศกาลสารทแล้ว ก็ยังมี ข้าวยาคู ข้าวมธุปายาสและข้าวทิพย์ ซึ่งแม้จะเรียกต่างกัน แต่ปัจจุบันจะหมายรวมๆกันไป ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว เมื่อเริ่มแรกข้าวยาคู ข้าวมธุปายาส และข้าวทิพย์นั้นมีที่มาและกรรมวิธีทำที่ต่างกัน กล่าวคือ

ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่ามีชาวนาพี่น้องสองคน คนโตชื่อว่ามหาการ น้องชื่อจุลการ มีไร่นา กว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวตั้งท้องออกรวง คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายไม่เห็นด้วยเพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคูไปถวายพระวิปัสสีและอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ สำหรับข้าวยาคูนี้จุลการได้ ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด

ส่วน ข้าวมธุปายาส คือข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไป แก้บน และได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ ( ต้นไทร ) ก็เข้าใจพระองค์เป็นเทพยดาจึงนำอาหารนั้นไปถวาย พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้ว จะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

สำหรับ ข้าวทิพย์ จะหมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง ๑๐๘ ชนิด ( หากทำแบบโบราณ ) แต่โดยหลักๆก็มี ๙ อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งาและข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ต้อง ใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า “ สุริยกานต์ ” เป็นต้น

จากพิธีกรรมในการปรุงที่มีความพิเศษ ตลอดจนความเชื่อที่ว่าข้าวมธุปายาสหรือที่เรียกว่าข้าวทิพย์หรือข้าวยาคูนี้ เป็นข้าวศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้ผู้กินพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขสวัสดี และเป็นมงคลแก่ชีวิตนี้เอง ข้าวนี้จึงมีชื่ออื่นๆเรียกอีกว่า เข้า ( ข้าว ) พระเจ้าหลวงบ้าง เข้า ( ข้าว ) บ่ทุกข์บ่ยากบ้าง เพราะถือว่ากินแล้วทำให้หายจากความทุกข์ยากลำบากต่างๆได้ ข้อสำคัญทำให้มีการ กวนข้าวทิพย์เป็นประเพณีในเทศกาลสำคัญ ๆ อื่น ๆ นอกเหนือไปจากการ งานพิธีพุทธาภิเษก เป็นต้น ซึ่งภาคใต้สมัยก่อนยังนิยมทำในงานบวชนาค และช่วงวันขึ้น ๑๓ - ๑๔ ค่ำเดือน ๓ ต่อเนื่องกับวันมาฆบูชาด้วยแต่มักจะเรียกกันว่า ข้าวยาคูมากกว่าข้าวมธุปายาส

กล่าวโดยสรุป วันสารทไทย ก็คือ ประเพณีทำบุญกลางปีเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปี ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณไปด้วย โดยขนมที่นิยมใช้ทำบุญในช่วงนี้ คือ กระยาสารท ข้าวยาคู หรือข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส นั่นเอง

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันสารทไทย?category_id=351
25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
วันอาสาฬหบูชา
       วันอาสาฬหบูชา หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน อาสาฬหะ คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (ประมาณเดือนกรกฎาคม
หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังในปีที่มีอธิกมาส (เดือน ๘ มี ๒ เดือน) ซึ่งมีการบูชาเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นวันสำคัญ
ในพระพุทธศาสนา ตรงกับวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ปฐมเทศนา คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นเทศนากัณฑ์แรก

ความสำคัญ
วันอาสาฬหาบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘) มีเหตุการณ์ สำคัญเกิดขึ้น สรุปได้ ๔ ประการ คือ
๑ เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
๒ เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรและฤาษีโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วทูลขอบวช
๓ เป็นวันแรกที่พระสงฆ์สาวกเกิดขึ้นในโลก คือ ฤาษีโกณฑัญญะ ได้บวชเป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๔ เป็นวันแรกที่มีพระรัตนะตรัยครบบริบูรณ์
วันเข้าพรรษา
วัน เข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ แห่งใดแห่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ฤดูฝนมีกำหนด ๓ เดือน ตามพระวินัยบัญญัตและไม่ไปค้างแรมที่อื่น โดยทั่วไป เรียกกันว่า จำพรรษา
ความสำคัญ
ชาวไทย ได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับ จะได้จำพรรษาอยู่ตลอด ๓ เดือน สำหรับเทียนพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้เพื่อนำเทียน เข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย

สำหรับการปฏิบัติอื่น ๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัดตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตนนับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชนจะ ได้ประพฤติปฏิบัติตนในวิถีชีวิต ของชาวพุทธให้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ขอ เชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ณ วัดใกล้บ้านพร้อมทั้งขอเชิญชวนเข้าร่วมพิธีหล่อเทียนและถวายต้นเทียนพรรษาใน ช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา

กรมการศาสนา ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมบำเพ็ญความดีและลด ละ เลิก อบายมุข เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา พาครอบครัวเข้าวัดร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา
- ทำบุญตักบาตร
- ไปวัดปฏิบัติธรรม
- สมาทานศีล รักษาศีล
- ฟังเทศน สนทนาธรรม
- ทำวัตรสวดมนต์ เจริญจิตภาวนา
- ถวายภัตตาหารเช้า-เพล
- ถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน
- บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่าง
- ประกอบพิธีเวียนเทียน

การเวียนเทียนแนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน
การ เวียนเทียนเป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะปฏิบัติ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา
การเวียนเทียนเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติด้วยความสำรวม เพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้พบเห็นทั้งชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่น

การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน
๑. อาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้เบิกบาน
๒. แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
๓. เตรียมเครื่องบูชาให้พร้อม
๔. ควรเดินทางมาถึงวัดหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียนก่อนเวลาเริ่มเดินเวียนเทียน
๕. เมื่อ เดินทางถึงวัดควรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัยเพื่อร่วมศาสนพิธีตามลำดับ ขั้นตอนที่เหมาะสมเป็นอันดับแรกจากนั้นจึงออกมาเตรียมตัวด้านหน้าพระอุโบสถหรือสถานที่ประกอบพิธี เวียนเทียน
๖. เมื่อถึงวัดแล้ว ควรอยู่ในอาการสำรวม ไม่พูดคุย หยอกล้อ วิ่งเล่น หรือกระทำภารกิจ


ผลที่ได้รับจากการประกอบพิธีกรรมในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
พุทธ ศาสนิกชนได้ร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนากับสมาชิกในครอบครัว อย่างอบอุ่น โดยใช้หลักธรรม ทางพระพุทธศาสนากล่อมเกลาจิตใจให้เกิดความสุขสงบ ร่มเย็น เป็นผลให้อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสามัคคีและสันติสุขอย่างยั่งยืน  


ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา?category_id=351


26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันคล้ายวันสถาปนา คณะลูกเสือแห่งชาติ
“ วชิราวุธ พระมงกุฎเกล้า เจ้าประชา ก่อกำเนิดลูกเสือมา ข้าฯ เลื่อมใส
พวกเราลูกเสือเชื้อชาติไทย เทิดเกียรติพระองค์ไว้ด้วยภักดี
ลูกเสือรำลึก นึกถึงพระคุณ ปฏิญาณรักกษัตริย์ ชาติ ศาสน์ศรี
มาเถิดลูกเสือ สร้างความดี เพื่อศักดิ์ศรีลูกเสือไทย ดังใจปอง ”
(เพลง “ วชิราวุธรำลึก ” )

คำว่า “ ลูกเสือ ” ตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า “Scout” ใช้เรียกผู้ที่เป็นลูกเสือ ซึ่งมีความหมาย มาจาก S ย่อมาจาก Sincerity แปลว่า ความจริงใจ C ย่อมมาจาก Courtesy แปลว่า ความสุภาพอ่อนโยน O ย่อ มาจาก Obedience แปลว่า การเชื่อฟัง U ย่อมาจาก Unity แปลว่า ความเป็นใจเดียวกัน T ย่อมาจาก Thrity แปลว่า ความประหยัด
การจัดตั้งกองลูกเสือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น ในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ให้ข้าราชการพลเรือนเข้ารับการฝึกอบรม โดยมุ่งเน้นทางด้านจิตใจให้เป็นผู้ที่มีความรักชาติ มีมนุษยธรรม และความเสียสละ
ต่อมาเมื่อกิจการเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงแล้ว พระองค์มีพระราชดำริว่า บุตรของเสือป่าก็ควรจะได้รับการฝึกอบรม ให้เป็นพลเมืองดีตั้งแต่เยาว์วัย ดังนั้นจึงมีพระบรมราชโองการ ณ วันเสาร์ที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ให้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง นับเป็นประเทศที่ ๓ ของโลก รองจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นนานาชาติในยุโรปก็จัดตั้งกองลูกเสือของตนขึ้น ทำให้ลูกเสือกลายเป็นองค์กรสากลและมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก ด้วยการใช้กฎ ๑๐ ประการของลูกเสือเป็นสื่อผูกมิตรไมตรี ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ศาสนาใดทั้งสิ้น โดยถือว่าลูกเสือทั่วโลกล้วนเป็นพี่น้องกัน
กฎ ๑๐ ข้อของลูกเสือ
ข้อ ๑ ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
ข้อ ๒ ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ
ข้อ ๓ ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น
ข้อ ๔ ลูกเสือเป็นมิตรของทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก
ข้อ ๕ ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
ข้อ ๖ ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
ข้อ ๗ ลูกเสือต้องเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
ข้อ ๘ ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
ข้อ ๙ ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
ข้อ ๑๐ ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ



27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อมีการตั้งกองลูกเสือกองแรกที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือ วชิราวุธวิทยาลัย) ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ เป็นกองลูกเสือในพระองค์เรียกว่า กองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑ หรือ กองลูกเสือหลวง ได้ทำพิธีเข้าประจำกองเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๔ โดยพระราชทานคติพจน์ ให้แก่คณะลูกเสือว่า “ เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ” ผู้ที่เป็นลูกเสือไทยคนแรกคือ นาย ชัพพ์ บุญนาค

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๕ คณะลูกเสือไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมัชชาลูกเสือโลกเป็นกลุ่มแรก มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม ๓๑ ประเทศ และถือว่าเป็นสมาชิกผู้ริเริ่มจัดตั้งคณะลูกเสือโลก ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ส่งผู้แทนไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ ๒ ณ ประเทศเดนมาร์ก โดยมีพระยาภะรตราชา เป็นหัวหน้าคณะ และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้กิจกรรมลูกเสือไทย เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้มีการขยายตัวทั่วราชอาณาจักร พระองค์ทรงวางรากฐานการลูกเสือไว้อย่างดี เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปจังหวัดใดก็โปรดเกล้าฯให้ลูกเสือจังหวัดนั้น ๆ เข้าพิธีประจำกองและพระราชทานธงประจำกองด้วย และพระองค์จะร่วมฝึกเดินทางไกลรวมทั้งทำการซ้อมรบร่วมกับลูกเสือ – เสือป่าอยู่เสมอ โดยมีลูกเสือและเสือป่าในจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาร่วมกิจกรรมด้วย จนเมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต การซ้อมรบจึงได้เลิก ปัจจุบันลูกเสือได้ทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน อาทิ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้พระราชนิพนธ์บทละครพูดเรื่อง “ หัวใจนักรบ ” เพื่อส่งเสริมกิจการลูกเสือ และได้ทรงแต่งบทประพันธ์ซึ่งคณะลูกเสือแห่งชาติได้นำมาเป็นบทเพลงหลายเพลง เช่น เพลงสยามมานุสติ บทเพลงรักชาติบ้านเมือง และเพลงไทยรวมกำลังตั้งมั่น เป็นต้น นอกจากนี้ทรงมีพระราชดำริ จัดตั้งกองลูกเสือหญิง ที่เรียกว่า “ เนตรนารี ” และจะจัดให้มีงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ แต่งานทั้งสองอย่างยังไม่ทันเสร็จสิ้น พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าให้มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติขึ้นครั้งแรก ในบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ จากนั้นจึงได้จัดให้มีการอบรมลูกเสืออีกหลายรุ่นกระทั่งถึงปีพ.ศ.๒๔๗๕ เป็นปีสุดท้าย

ในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๘ – ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นช่วงก่อนพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จนถึง ต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกี่ยวกับกิจการลูกเสือมากมาย เช่น ได้มีการจัดตั้งกรมพลศึกษาขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยมีกองลูกเสืออยู่ในสังกัดกรมพลศึกษา มีการประกาศใช้ตรา ประจำคณะลูกเสือ และกฎลูกเสือ ๑๐ ข้อ มีการเปิดอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ ซึ่งเรียกในทางราชการว่า การฝึกอบรม วิชาพลศึกษา (ว่าด้วยลูกเสือ) ประจำปีพ.ศ.๒๔๗๘ ใช้เวลาอบรม ๑ เดือน มีการประกาศตั้งกองลูกเสือสมุทรเสนา ในปีพ.ศ. ๒๔๗๙ ได้มีการประกาศใช้หลักสูตรลูกเสือเสนา และลูกเสือสมุทรเสนา มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ กำหนดลักษณะธงประจำกองของคณะลูกเสือแห่งชาติ และลูกเสือสมุทรเสนา และในปี พ.ศ.๒๔๘๒ มีประกาศใช้ พระราชบัญญัติลูกเสือ ให้ตั้งสภากรรมการกลางลูกเสือแห่งชาติ จังหวัดลูกเสือ อำเภอลูกเสือ และแบ่งลูกเสือออกเป็น ๒ เหล่า คือ ลูกเสือเสนา และลูกเสือสมุทรเสนา

ปลายรัชกาลที่ ๘ ประเทศอยู่ในระหว่างสงคราม (ช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๒ – ๒๔๘๙) การลูกเสือค่อนข้างซบเซา อันเนื่องมาจากสงคราม ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยฝึกการใช้อาวุธแบบทหาร ซึ่งรัฐบาลในยุคนั้นให้การสนับสนุน ต่อมาในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ กิจการลูกเสือเริ่มกลับมาเจริญก้าวหน้าขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๖ แล้วตราพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๔๙๐ ขึ้นแทน

ใน ปีพ.ศ. ๒๔๙๖ ได้ก่อสร้างค่ายลูกเสือวชิราวุธ ขึ้นที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นค่ายลูกเสือที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน และในปีพ.ศ. ๒๕๐๑ ได้มีการเปิดอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสำรอง ชั้นความรู้เบื้องต้น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตามหลักสูตรกิลเวลล์ปาร์ค และได้มีการจัดตั้งกองลูกเสือสำรองกองแรกขึ้นเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ในปีพ.ศ.๒๕๐๓ ได้มีการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสำรองชั้นวูดแบดจ์ครั้งแรก ณ ตำหนักอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี

กิจการลูกเสือได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ จนต่อมาได้มีการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้านเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ที่บ้านเหล่ากอหก ตำบลแสงพา กิ่งอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย และได้รับความสำเร็จอย่างสูง ในปีพ.ศ.๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ.๒๕๒๕

ในสมัยเริ่มแรกของกิจการลูกเสือในประเทศไทย กิจกรรมต่าง ๆ ของลูกเสือที่พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการได้เลื่องลือไปยังนานาชาติว่า “ พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงใฝ่พระทัยในกิจการลูกเสือเป็นอย่างยิ่ง ” ถึงกับกองลูกเสือที่ ๘ ของประเทศอังกฤษได้มีหนังสือขอพระราชทาน นามกองลูกเสือนี้ว่า “ กองลูกเสือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ” ( The King of Siam Own Boy Scout Group ) พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามความประสงค์ ลูกเสือกองนี้ติดเครื่องหมายช้างเผือกที่แขนเป็นสัญลักษณ์

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงทำนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ทั้ง ในด้านการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม และการศาล ด้วยพระปรีชาสามารถของ พระองค์ ประชาชนจึงพร้อมใจถวายพระราชสามัญญานามว่า “ พระมหาธีรราชเจ้า ” เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ มีพระชนมายุ ๔๖ พรรษา คณะลูกเสือแห่งชาติได้ร่วมกับ คณะลูกเสือทั่วราชอาณาจักร สร้างพระบรมรูปของพระองค์ท่านประดิษฐานไว้ ณ หน้าค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นพระราชานุสรณ์ และได้กำหนดให้ วันที่ ๑ กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “ วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ” หรือ “ วันลูกเสือ ”

คำปฏิญาณของลูกเสือ

“ ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

ข้อ ๑ ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ

ข้อ ๒ ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

ข้อ ๓ ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ ”

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันคล้ายวันสถาปนา-คณะลูกเสือแห่งชาติ?category_id=351
28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันสุนทรภู่


วันสุนทรภู่ หมายถึง วันคล้ายวันเกิดของพระสุนทรโวหาร(สุนทรภู่) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวัง ซึ่งมีผลงานด้านบทกลองที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินเป็นจำนวนมาก

ความเป็นมา
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีขึ้นไป ประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์โดยสรุป คือ

๑. เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกให้ปรากฎแก่มวลสมาชิกทั่วโลก
๒. เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ
ในการนี้รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก

ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิด เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ และในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดให้ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ของทุกปี เป็น วันสุนทรภู่

ประวัติ
สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตามสันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวง อยู่ในพระราชวังหลัง บิดามารดาเลิกร้างกันตั้งแต่สุนทรภู่เกิด บิดาออกไปบวชที่วัดป่า ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิมส่วนมารดากลับเข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง และได้ถวายตัวเป็นนางนมของพระธิดาในกรมฯ นั้น

ในปฐมวัยสุนทรภู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระราชวังหลังและได้อาศัยอยู่กับมารดา สุนทรภู่ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักการแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้นรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอน นิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว ๒๐ ปี ในระยะนี้ได้ลอบรักกับหญิงสาวชาววังชื่อ "จันทร์" จึงต้องเวรจำทั้งชายหญิง เมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตจึงพ้นโทษ ต่อมาจึงได้แม่จันทร์เป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันไม่นานก็เกิดระหองระแหงคงเป็นเพราะสุนทรภู่เมาสุราอยู่เป็นนิตย์

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ได้เข้ารักราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจนได้รับแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด ระยะนี้สุนทรภู่ได้หญิงชาวบางกอกน้อยที่ชื่อ นิ่ม เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๓๖๔ สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษเพราะความสามารถในทางกลอนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมัยรัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องเสพสุรา และเรื่องอื่น ๆ จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหารต่อมาสุนทรภู่ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่าง ๆ และได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวร สิ้นพระชนม์ สุนทรภู่จึงลาสิกขาบท รวมอายุพรรษาที่บวชได้ ๑๐ พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง ๒ พรรษาก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้อุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวัง ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ และรับราชการต่อมาได้ ๔ ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. ๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๗๐ ปี

ผลงาน
หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่มีอยู่มาก เท่าที่ปรากฎเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบัน คือ
๑. ประเภทนิราศ
นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศเมืองสุพรรณ (แต่งเป็นโคลง) นิราศอิเหนา นิราศพระประธม นิราศเมืองเพชร
๒. ประเภทนิทาน
เรื่องโคบุตร เรื่องพระอภัยมณี เรื่องพระไชยสุริยา เรื่องลักษณวงศ์ เรื่องสิงหไกรภพ
๓. ประเภทสุภาษิต
สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท สุภาษิตสอนหญิง
๔. ประเภทบทละคร
เรื่องอภัยณุราช
๕. ประเภทบทเสภา
เรื่องขุนช้างขุนแผน เรื่องพระราชพงศาวดาร
๖. ประเภทบทเห่กล่อม
เห่จับระบำ เห่เรื่องพระอภัยมณี เห่เรื่องโคบุตร

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilovethaiculture/index.php/2013-07-01-03-11-16/2013-08-07-06-43-42/item/วันสุนทรภู่?category_id=351
29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย คือ การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
คณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยประกอบด้วยบุคคลสองกลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศ และกลุ่มนายทหารในประเทศไทย เนื่องจากบุคคลทั้งสองกลุ่มมีพื้นฐานการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน จากการได้ไปศึกษาวิชาชีพจากประเทศตะวันตก ทำให้ใกล้ชิดกับการปกครองของประเทศที่ตนไปศึกษา ซึ่งก็คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ จึงมีความคิดว่าตนควรจะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ
สำหรับความมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น มุ่งหวังที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศ (ซึ่งจากที่ประชุมการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรก เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๗) ได้กำหนดไว้ ๓ ข้อด้วยกัน คือ
ประการแรก ได้วางรากฐานประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และปฏิเสธการสถาปนาสาธารณรัฐโดยเด็ดขาด
ประการที่สอง กำหนดการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการยึดอำนาจ เพื่อเปลี่ยนจาก สมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบบที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การจลาจลนองเลือด ให้งดเว้นการทำทารุณใดๆ ทั้งสิ้น
ประการที่สาม ให้ตั้งอยู่ในสัจจะ เสียสละเพื่อประเทศชาติ เว้นการหาประโยชน์สร้างตนเองโดยเด็ดขาด
จากนั้นคณะราษฎรยังได้ประกาศนโยบายการปกครองที่จะพึงกระทำ คือ จะต้องจัดวางโครงการโดยอาศัยหลักวิชาการ ซึ่งหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้จะมีอยู่ว่า
๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
๕. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการ ดังที่กล่าวข้างต้น
๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรนั้น สามารถกระทำได้สำเร็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อและความเสียหายแก่บ้านเมืองเกิดขึ้น และด้วยพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว พระองค์จึงไม่ทรงขัดความปรารถนาของคณะราษฎรที่ได้กราบบังคมทูลเชิญเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
นับว่าเป็นเวลากว่า ๗๘ ปีแล้ว ที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงสละพระราชอำนาจของพระองค์ ให้แก่ประชาชนชาวไทยได้มีสิทธิปกครองตนเอง เนื่องในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยตระหนักในหน้าที่ของตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยการรักษาสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่อนุชนรุ่นหลังให้เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพื่อเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความมั่นคงต่อไป


ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย?category_id=351


30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันพืชมงคล
วันพืชมงคล หมายถึง วันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่ามาแต่โบราณที่เสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ
พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี ๒ พิธี รวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์อย่างหนึ่ง พระราชพิธีพืชมงคลนั้นจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเองเป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธานเหมือนสมัยกรุงสุโขทัย แต่จะมอบอาญาสิทธิให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์และจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
  สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ ได้โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์คู่กันกับการยืนชิงช้าและมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง เว้นแต่เมื่อมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร สถานที่ประกอบพิธีในตอนแรกๆ จึงไม่ตายตัว แล้วแต่จะทรงกำหนดให้ เช่นในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กำลังทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ อยู่ แต่ใคร่จะได้ทอดพระเนตรพิธีแรกนาขวัญ จึงต้องย้ายไปทำกันที่ในทุ่งหลังวัดอรุณฯ นั่นเอง พอถึงรัชกาลที่ ๓ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย ในรัชกาลที่ ๔ เคยย้ายไปทำกันที่กรุงเก่าและที่เพชรบุรี เป็นเพราะในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั่น และทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้นพระราชพิธีพืชมงคลจึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ต่อมาในคราวหลังๆ นี้ ได้ย้ายไปทำกันที่ "ทุ่งส้มป่อย"เกือบเป็นประจำ ( ทุ่งส้มป่อย : บริเวณทุ่งกว้างริมถนนซังฮี้ หรือถนนราชวิถีในปัจจุบัน ตั้งอยู่ระหว่างพระราชวังดุสิตและวังพญาไท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาให้ใช้เงินพระคลังข้างที่ซื้อไว้เป็นเนื้อที่ ๓๙๕ ไร่ แล้วโปรดให้จัดสร้างพระตำหนักขึ้นหลังหนึ่งโดยใช้เงินพระคลังข้างที่ พร้อมทั้งนำชื่อพระตำหนักเดิมจากวังปารุสกวันมาพระราชทานเป็นชื่อพระตำหนักใหม่พร้อมเติมสร้อย รโหฐาน ลงไป รวมเป็น "พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน" )
           ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนหนึ่ง ว่า " การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิจไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจมั่นในการที่จะทำนาเพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตรายคือ น้ำฝน น้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆจะบังเกิดเป็นอันตรายไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิและมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ โดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นสวัสดิมงคลซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นทรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรง และเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด"
ดังนั้นจึงพอจะสรุปความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดพระราชพิธีพืชมงคลฯ นี้ได้ว่าพิธีแรกนามุ่งหมายที่จะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา อันเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่มีมาแต่ช้านานสืบมาจนปัจจุบันยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้น เป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่างตามที่ทรงจำแนกไว้ ๓ อย่าง ๒ อย่างแรกที่ว่า "อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง" นั้น ทรงหมายถึง พิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า"บูชาเซ่นทรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง" นั้น ทรงหมายถึงพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกรกำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่นๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามเหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้วก็ว่างเว้นไป จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระประมุขปัจจุบันทรงมีพระราชกระแสให้มีการปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปีสืบมามิได้ขาด
เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาในระยะแรกนั้น พระยาแรกนาได้แก่อธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง สำหรับเทพีทั้งสี่พิจารณาคัดเลือกจากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายหลังพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตำแหน่ง ส่วนเทพีทั้งสี่พิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการพลเรือนหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับชั้นโทขึ้นไป
พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพรรณธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าวนั้นถือว่าเป็นอาหารหลักของประชาชน ในภาษาบาลีเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือบุพพัณณะ หรือบุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่นๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรืออปรัณชาติ หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด บุพพัณณชาติ ที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่างๆรวม ๔๐ อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว กับเผือกมันต่างๆ พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนี่งเป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดฯให้ปลูกในสวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล พันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซองแล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้