ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

राम พระศรีรามเทพ राम

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-16 22:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ธรรมะจากรามเกียรติ์
โดย พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)

วัดป่าสาลวัน
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา



สงครามเทพและอสูร

สงครามระหว่างเทพและอสูรมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ธชัคคสูตร...ภูตะ ปุพพัง ภิกขะเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรื่องดึกดำบรรพ์เคยมีมาแล้ว สงครามแห่งเทวดากับอสูรได้เกิดประชิดกันแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นเจ้าแห่งเทพยดา เรียกหมู่เทวดาในชั้นดาวดึงส์มาสั่งว่า

"ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี บังเกิดขึ้นแก่หมู่เทพยดาผู้ไปสู่สงครามในสมัยใด ในสมัยนั้นท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงของเรานั้นเทียว เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี อันใดจักมี อันนั้นจักหายไป

ถ้าท่านทั้งหลายไม่แลดูชายธงของเรา ทีนั้นท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงของเทวราชชื่อ ปชาบดี เพราะว่าท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดี ความกลัวก็ดี ความสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี อันใดมีอยู่ อันนั้นจักหายไป"

สูตรนี้เกิดขึ้นระหว่างสงครามของเทวดากับพวกอสูร มันต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องทศกัณฐ์ เมืองลงกา แน่ๆ



สรณะที่แท้จริงยามมีภัย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุว่าท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นเจ้าแห่งเทวดา เธอมีราคะยังไม่สิ้นไป มีโทสะยังไม่สิ้นไป มีโมหะยังไม่สิ้นไป เธอยังเป็นผู้กลัว ยังเป็นผู้หวาด ยังเป็นผู้สะดุ้ง ยังเป็นผู้หนี ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแลกล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าว่าท่านทั้งหลายไปอยู่ในป่าก็ตาม อยู่โคนต้นไม้ก็ตาม อยู่ในเรือนเปล่าก็ตาม ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี พึงเกิดขึ้นในสมัยใด ในสมัยนั้น ท่านทั้งหลายพึงระลึกถึงเรานั้นเทียวว่า

แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ควรไหว้ควรบูชา เป็นผู้รู้ชอบเอง เป็นผู้บริสุทธิ์แล้วด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้ทรงรู้แจ้งซึ่งโลก เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกแจกธรรมดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี อันใดจักมี อันนั้นจักหายไป"



ดูเป็น เห็นธรรม

ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ ดูอะไรมันก็ดูได้ ความเข้าใจของคนทั่วไป คำว่า ธรรมะ ที่จะนำมาพิจารณานี่ มีแต่เรื่องของกายกับใจ เรื่องของกิเลสที่มีอยู่ในใจ ความจริง ธรรมะอันเป็นอารมณ์ของจิตนี่มันหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสามารถรู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ถ้าหากว่าจิตใจถึงธรรมะแล้ว ดูอะไรมันก็ไม่เสียหาย

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ถามหลวงปู่มั่นว่า

"ท่านมั่น อยู่แต่ป่าไปฟังเทศน์ที่ไหน"

อาจารย์มั่นท่านก็ตอบว่า "ถ้าจิตใจมีธรรมะ อยู่ที่ไหนก็ได้ฟังธรรม"

ทำไมถึงว่าอย่างนั้น...เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ ตั้งแต่อณูปรมาณูจนกระทั่งมวลสารที่เกาะกลุ่มกันเป็นก้อนใหญ่โต มันคือธรรมะประเภท สภาวธรรม

ธรรมะประเภทสภาวธรรมนี่แหละเป็นอารมณ์จิต ถ้าหากว่าผู้ขาดสติ สติไม่เข้มแข็ง ตาเห็นรูปมันก็หลงยินดียินร้าย หูได้ยินเสียงมันก็หลงยินดียินร้าย จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจนึกคิด ก็หลงยินดียินร้าย พอใจ ไม่พอใจ

ความจริงมันก็แสดงปรากฏการณ์ให้เรารู้เห็นอยู่ตลอดเวลา เราดูสิ่งนี้เราทุกข์หรือเราสุข เราเห็นสิ่งนี้เรายึดมั่นถือมั่นหรือว่าเรารู้จักปล่อยวาง อันนี้คือความจริงที่ปรากฏอยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ สำหรับผู้มีสติ

เพราะฉะนั้น การดูหนังดูละคร ละครที่เป็นธรรมะ เขาจะสรุปลงว่า ดูหนังดูละครให้ย้อนดูตัวเอง ชีวิตของคนเราในโลกนี้คือตัวละครแต่ละตัวๆ ต่างคนต่างแสดงออกตามนิสัยและความสามารถของตัวเอง

นัจจะ คีตะ วา หมายถึงการขับร้องประโคมดนตรี ถ้าหากว่าเป็นเรื่องขับร้องประโคมดนตรี พระไปดู มันก็ล่อแหลมต่ออันตราย

แต่นิยายอันใดที่เป็นบทละคร มันเป็นคติเตือนใจ เช่น ละครเรื่อง เวสสันดรชาดก อันนี้เป็นนิยายอิงธรรมะเรื่องรามเกียรติ์ นี่ก็เป็นนิยายอิงธรรมะ เป็นนิยายเก่าแก่ที่สุด ของจีนก็สามก๊ก เป็นนิยายอิงธรรมะเหมือนกัน มีทั้งการเมือง เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม พร้อมหมดในเรื่องนั้น ใน เวสสันดรชาดก ก็มีเกษตรกรรม อุตสาหกรรม รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย มีพร้อมหมด ถ้าเรื่องอย่างนี้พระดูก็ไม่เสียหาย
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-16 22:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จากสุภะ...สู่อสุภะ

มีอยู่หลายๆ คน ปฏิบัติสมาธิแล้ว นั่งดูโทรทัศน์ พอตัวพระตัวนางออกมา ตอนแรกก็รู้สึกสวยงามดี พอดูไปดูมาจิตมันเป็นสมาธิ เห็นแต่โครงกระดูกเต้นไล่หยอกกันอยู่

ข้อเท็จจริงที่เกิดกับหลวงพ่อเอง วันหนึ่ง เดินจงกรมอยู่ หลวงพ่อก็พิจารณา กายคตาสติ ตามสูตรท่านให้พิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก แต่หลวงพ่อไม่เอาอย่างนั้น พอขึ้นต้น ผมฉันเกิดอยู่บนศรีษะไม่แก่ไม่หงอก ที่เกิดของผมเป็นท่อทางระบายสิ่งโสโครกออกจากร่างกาย ผมเป็นเครื่องประดับร่างกายให้ครบถ้วน อาการ ๓๒ ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ก็พิจารณาไปตามหน้าที่ของแต่ละส่วน จนกระทั่งไปถึงหัวใจ หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย ปอดมีหน้าที่หายใจ มีประโยชน์อย่างนั้นๆ แล้วสรุปลง อวัยวะทุกส่วนในร่างกายของฉันนี่ มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ต่างก็ทำหน้าที่ของตนไม่ขาดตกบกพร่อง ทำให้สุขภาพร่างกายของฉันแข็งแรงสมบูรณ์

พิจารณาไปๆ จิตแยกเป็น ๓ มิติ มิติหนึ่งพิจารณาเอง มิติหนึ่งจ้องมองดู อีกมิติหนึ่งมาเฉยอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย



ของดีจากรามเกียรติ์

ธรรมะที่ได้จากรามเกียรติ์ เราสรุปหัวข้อได้ชัดเจน ๕ เรื่อง

๑. เวรไม่ระงับเพราะการจองเวร

๒. สมาธิ ตบะ ญาน ญาณต่างๆ เราไม่มีศีลเราก็ปฏิบัติได้แต่สมาธิที่ไม่มีศีลเป็นเครื่องประกันความปลอดภัย ย่อมเป็นพิษภัยต่อสังคม

๓. ความซื่อสัตย์ต่อสามี สีดาเป็นหญิงผู้เคารพในศีลข้อกาเมฯ

๔. ความรักอันแน่นแฟ้นระหว่างพี่กับน้อง มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อกัน

๕. ความกตัญญูของลูกที่มีต่อพ่อ

หนังละครที่ชอบที่สุดคือ รามเกียรติ์ มันไปได้คติตรงที่ว่าตอนที่พระรามหักคันศรพระศิวะ พระปิตุลาบำเพ็ญตบะอยู่บนยอดเขามเหธร สำเร็จอิทธิฤทธิ์ล่องหนหายตัวได้ พอได้ยินเสียงคันศรหัก เหาะมาทางอากาศ "มันมาบังอาจพังคันศรพระศิวะที่ข้าบูชาอยู่ คนนั้นมันจะต้องตายลูกเดียว"

วาทะของผู้ปฏิบัติโดยมีศีลเป็นเครื่องประกันความปลอดภัยจะไม่มีอย่างนี้ เพราะฉะนั้น สมาธินี่ใครจะเก่งแค่ไหนเชิญเก่งไปเถอะ แต่ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ ไม่มีทางจะรอดพ้นจากกองทุกข์ ไม่พ้นจากนรกเสียด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น ใครจะว่าเราได้หรือไม่ได้ เราภาวนาเป็นหรือไม่เป็น ขอให้ยึดศีล ๕ เป็นหลัก พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ที่ตรงไหน อยู่ที่เรามีสติรู้จิตอยู่ตลอดเวลา จิตที่มีสติสัมปชัญญะ มันก็รู้ตัวอยู่ แล้วมันก็เตรียมพร้อมอยู่มันตื่นอยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะรับสถานการณ์ตลอดเวลา มันจะไม่หันหลังให้ เมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็แช่มชื่น เบิกบาน แจ่มใส เป็น พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ในเมืองไทยมีนักภาวนาเก่งๆ แต่แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะอะไร เพราะนักภาวนามันทุศีล มาสมาทานศีล ๘ กินนมตอนเย็น พระภิกษุสงฆ์บวชเข้ามาแล้วจับเงินจับทองใช้เอง ในเมื่อมาละเมิดศีลสิกขาบทในพระปาฏิโมกข์นี่ มันก็กลายเป็นคนทุศีล

สมาธินี่ไม่จำเป็นต้องมีศีล แต่ต้องอาศัยสัจจะ ลองว่าฉันจะนั่งให้ได้ ๑๐ ชั่วโมง มันก็ได้สมาธิ ได้ฌานเหมือนกัน แต่สมาธิฌานที่ไม่มีหลักประกันความปลอดภัยคือศีล สามารถประทุษร้ายคนอื่นได้ เช่นอย่างพวกยักโขทั้งหลายนี่ อันนี้ใครจะถือว่าเป็นนิยายปรัมปราก็ช่างเถอะ แต่หลวงพ่อเอามาเป็นเครื่องสอนตัวเอง มันมาได้นึกว่าสมาธินี่มันเก่งแค่ไหนก็เชิญเก่งไป อินทรชิตเข้าสมาธิ แสงสว่างมันออกวาบๆๆ จนลุกเป็นไฟ แต่พอออกจากสมาธิแล้วจับศรยิงกันสะบั้นหั่นแหลก นี่คือสมาธิที่ไม่มีศีล

เพราะฉะนั้น ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม ให้เราดูจิตดูใจของเรา เราปฏิบัติอย่างนี้ จิตของเราสงบไหม เราได้ความสุขจากการปฏิบัตินั้นไหม สิ่งที่เป็นบาปทั้งหลายเราเลิกละได้ไหมดูกันที่ตรงนี้ ไม่ต้องไปเที่ยวดูเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ที่ไหนหรอก

เพราะฉะนั้น การรู้ธรรม เห็นธรรม

๑. รู้ความจริงของกายของเรา ว่าเรามีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะแบกหามภารกิจได้ไหม
๒. เรามีจิตใจมั่นคงต่อการสร้างคุณงามความดีได้ไหม

เราไปนั่งภาวนาแล้วเห็นเทวดาอินทร์พรหมยมยักษ์มาแล้ว เราคิดจะนอกอกนอกใจสามีไหม เราคิดอยากจะไปลักขโมยฉ้อโกงทรัพย์สมบัติของใครไหม เราคิดอยากจะด่า จะฆ่า จะตีใครไหม ดูกันที่ตรงนี้ อย่าไปดูที่อื่น


13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-16 22:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อิทธิฤทธิ์หรือจะสู้บุญฤทธิ์

หนุมานทุ่มก้อนหินใส่กุมภกรรณ กุมภกรรณจับขยี้แหลกเป็นผงไปเลย เอาก้อนใหม่ทุ่มไปอีก ก็จับโยนไป พวกนี้สำเร็จอิทธิฤทธิ์มาได้อย่างไร มันสำเร็จมาได้ด้วยการบำเพ็ญตบะ จนพระอินทร์ พระพรหม พระอิศวร เห็นใจประทานพรให้มันเป็นผู้มีฤทธิ์ แต่เสร็จแล้วมันก็มาเที่ยวฆ่ากันอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่วิเศษที่สุดก็คือศีล ถ้ามีศีลบริสุทธิ์แล้วไม่ต้องไปคำนึงถึงอะไร

พระท่านไปเที่ยวเทศน์ ท่านไล่เรื่องญาณเรื่องฌานอะไรแข่งกัน พอเทศน์จบ ลงจากธรรมาสน์มา ก็มานั่งด่ากันขโมงโฉงเฉงอยู่ ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงในปัจจุบันนี่

ใครมีเมีย รักสงสารเมียของตนเองมากๆ
ใครมีผัว รักสงสารผัวของตนเองให้มากๆ
ใครมีลูก รักเมตตาปราณีต่อลูกให้มากๆ
ใครมีพ่อมีแม่ รักเคารพบูชาพ่อแม่ให้มากๆ เลี้ยงดูท่านให้มีความสุข
ถ้าใครทำได้ มันจะมีฤทธิ์เดช เรียกว่า บุญฤทธิ์

คนมีบุญฤทธิ์นี่ ไปที่ไหนก็สงบเยือกเย็น ไม่ไปก่อกรรมทำเข็ญให้ใครเดือดร้อน มีแต่พวกภูติผีปีศาจที่มันไม่นิยมชมชอบในคุณธรรมนั่นแหละ มันจะร้อนเป็นไฟ

เราปฏิบัติสมาธิ จิตของเราไปถึงไหน สมาธิขั้นใด ตอนใด กี่ขั้นก็ตาม ผลลัพธ์ก็คือ เราละความชั่วได้ นี่มันอยู่ที่ตรงนี้ เรื่องของสมาธินี่ ถึงใครจะวิเศษวิโสสักปานใด มันไม่ใช่สิ่งวิเศษหรอก มันวิเศษอยู่ตรงที่ว่า เมื่อจิตเราเป็นสมาธิแล้ว เราละบาปได้หรือเปล่า ศีล ๕ เราบริสุทธิ์หรือเปล่า


14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-16 22:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เวรย่อมไม่ระงับเพราะการจองเวร

ตอนที่ทศกัณฐ์ทำสงครามกับเทวดา ทศกัณฐ์จับพระอินทร์มาขังเอาไว้ แล้วก็ปลอมแปลงเป็นพระอินทร์ไปขโมยสีดาซึ่งเป็นชายาของพระอินทร์ พอพระอินทร์พ้นจากการถูกคุมขังของทศกัณฐ์ กลับไปสวรรค์ สีดาก็รายงานพระอินทร์ว่า ได้เสียท่าทศกัณฐ์แล้ว ขอพรพระอินทร์ ขอลงไปแก้แค้นทศกัณฐ์ พระอินทร์ก็อนุญาต สีดามาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางมณโฑซึ่งเป็นมเหสีของทศกัณฐ์

พอคลอดออกมาได้ เด็กตัวเล็กๆ เอามีดปลายแหลมๆ นี่จิ้มหน้าอกพ่อ โหรพิเภกก็ทำนายว่าลูกคนนี้เลี้ยงไว้ไม่ได้จะทำลายวงศ์สกุล เมืองลงกาจะพินาศย่อยยับเพราะลูกคนนี้ ทศกัณฐ์ก็ให้เอาใส่หีบทองคำปิดให้มิดชิด แล้วเหาะข้ามทะเลไปฝังไว้ในแดนมนุษย์ ไม่ทราบว่ากี่วันกี่เดือน นายพรานของพระยาเมืองมิถิลาไปล่าเนื้อไปพบเข้าพูดขึ้นมา เด็กตัวเล็กๆ ถูกฝังดินอยู่ตั้งหลายวันไม่ตาย

นี่ ปัญหาตรงนี้ ว่าทำไมจึงไม่ตาย ถูกฝังอยู่ในดิน ก็เพราะ เวรกรรมมันจองกันอยู่ มันเลี้ยงเอาไว้ อำนาจของกรรมเวรเลี้ยงเอาไว้ เขานำไปถวายพระเจ้ากรุงมิถิลา พระองค์ก็เลี้ยงไว้เป็นพระธิดาบุญธรรม มีรูปร่างหน้าตาสวยที่สุด ในสามโลกนี่ไม่มีใครเทียมเท่า

ภายหลังรามกับลักษมณ์ไปอยู่ป่า ทศกัณฐ์ก็มาขโมยเอาสีดาไป เรียกว่ามาขโมยเอาลูกตัวเองไป ไปกักไว้ที่สวนอโศก คนใส่เสื้อผ้าชุดเดียว อยู่ในสวนอโศก ๑๔ ปี ตากแดดตากฝนอยู่นั่นไม่เป็นไข้ตาย นี่ก็เพราะ แรงกรรมเลี้ยงเอาไว้ จนกระทั่งพระรามยกกองทัพไปปราบกรุงลงการาพณาสูร



อินทรชิตลูกกตัญญู

อินทรชิตมาบอกกับทศกัณฐ์ว่า "เสด็จพ่อยังมีเวลา พระลักษมณ์หรือพระราม ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา เขาเป็นพระเป็นเจ้า ยังไม่สายเกินไป รีบเอาสีดาไปคืนให้เขา แล้วไปอ่อนน้อมต่อเขาเสีย"

ทศกัณฐ์ก็โมโหใหญ่ ไล่ลูกชาย "ถ้าเจ้าขี้ขลาดก็ไปนอนอยู่วังของเจ้า พ่อได้ตัดสินใจแล้วว่าจะรบกับพระรามจนถึงที่สุด"

อินทรชิตเมื่อถูกบิดาบังคับ ก็ได้คติอันหนึ่งว่า จะเป็นใครก็ตาม ถ้าหันหลังให้บิดามารดา ทิ้งทรัพย์สมบัติ แล้วเอาตัวรอด เอาตัวหลุดพ้นแต่ตัวคนเดียว แม้เทวดาก็ไม่สรรเสริญ จึงบอกกับพระบิดาว่า "จิตใต้สำนึกของหม่อมฉัน ไม่ยอมรับว่าเราจะชนะสงคราม แต่ต้องทำใจแข็งว่าเราจะต้องชนะ เพราะเป็นคำสั่งของพระบิดา" ออกไปรบก็ถูกพระลักษมณ์ยิงศรตัดศีรษะตาย



สัมมาทิฏฐิ

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญู หิ ธรรมะของจริงอันผู้ปฏิบัติ ผู้รู้ พึงเห็นเอง รู้แล้วให้คนอื่นตอบให้ก็ไม่ได้ ต้องตัดสินเอาเอง หลักตัดสิน เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องวัด ในเมื่อรู้แล้วเห็นแล้ว เมื่อจิตของเรายอมรับ มันเลิกละสิ่งที่เป็นบาปเป็นอกุศลได้ จิตใจบริสุทธิ์ นั่นใช้ได้

ถ้ายิ่งรู้ยิ่งเห็น ยิ่งทะนงตัว เหมือนทศกัณฐ์ อันนั้นใช้ไม่ได้ ทศกัณฐ์เก่งตบะ บำเพ็ญฌาน จนพระพรหมประทานน้ำอมฤตให้ไว้ในทรวงอก ใครฆ่าไม่ตาย พอพระรามยิงศรไปถูกคอมัน ศีรษะมันขาดลอยไป ศีรษะใหม่เกิดขึ้นมา มันยิ่งเก่งก็ยิ่งทะนงตัว ถือว่าเป็นใหญ่ มีอำนาจคลุมหมดทั้งสามโลก แต่มันลืมนึกว่า เหนือฟ้ายังมีฟ้า ในที่สุดมันก็สิ้นชีวิตไปเพราะน้ำมือของพระราม



สัมมาสติ-สัมมาสมาธิ

พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์ว่า "อานนท์ เธอว่าตัณหาเกิดจากอะไร"

"ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรม"

พระองค์ก็ทรงแสดงว่า "ตัณหาเกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เกิดได้เพราะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส"

"มันจะดับที่ตรงไหน"

"มันเกิดที่ไหนมันก็ดับที่ตรงนั้น คือมันจะดับที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ"

"ทำอย่างไรมันจึงจะดับ"

"ฝึกสติ"

อันนี้หลักฐานยืนยันชัดเจน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฝึกสติ ไม่ต้องไปคำนึงว่าเราจะไปนั่งสมาธิที่ไหน ในวัดใด สมาธิจะได้ลึกตื้นหนาบางเพียงใด แค่ไหน ขอให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา




คัดลอกมาจาก
http://www.geocities.com
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-16 22:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2014-6-17 06:14




จิตร ภูมิศักดิ์
ที่แสดงความคิดเห็นในเรื่อง รามเกียรติ์ ว่า...

" เรื่องราวการต่อสู้ ระหว่าง พระราม กับ ทศกัณฐ์
เป็นการต่อสู้ทางชนชั้น...เป็นเค้าความจริงทางประวัติศาสตร์ "


" ชำแหละรามเกียรติ์ " โดย ภิกขุโพธิ์แสนยานุภาพ
เลยได้ความรู้ใหม่ว่า..." รามเกียรติ์ "...

ถอดรูปจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เป็นรูปธรรม มาเป็น นามธรรม
ในลักษณะของนิยายเพื่อเป็นภาชนะรองรับสาระทางธรรมะ
ไว้ให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะนานได้...
และคงจะใช้เป็นสื่อในการสอนธรรมะมานาน


..สาเหตุที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ รามเกียรติ์ เป็นสื่อสอนธรรมะ
คงจะเกิดการขาดตอนของผู้ที่สามารถตีความหมายของตัวละคร
ไปในช่วงใดช่วงหนึ่ง..


เนื้อหาในหนังสือจะตีความ ของแต่ละตัวละคร
ในแต่ละตอนของรามเกียรติ์..โดยจะเล่าเรื่องก่อน
แล้วอธิบายเป็น พุทธธรรม ในตอนท้ายของเรื่อง
ตัวอย่าง ของการตีความตัวละคร เช่น


-พระราม แปลว่า ยินดี หรือ ศรัทธา
-สีดา แปลว่า นิพพาน
-พระลักษณ์ แปลว่า วิริยะ ความพากเพียร
-ทศกัณฑ์ คือ อัตตานุทิฏฐิ ได้แก่กิเลสประเภทเดือด จัดเป็น "ตัวกู"


16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-16 22:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2014-6-16 23:45

เจาะเกราะรามเกียรติ์(เปิดตำนานรามเกียรติ์ )



หนึ่งในเทพนิยายของเอเชียที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกนั้น รามายณะ ก็คือมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ที่ถูกรจนาขึ้นมาจากดินแดนที่ได้ชื่อว่าลี้ลับที่สุดในโลกอย่างชมพูทวีป

                บทความชุดนี้ที่จะพูดถึงเรื่องของรามายณะหรือที่คนไทยรู้จักในชื่อรามเกียรติ์นั้น

จะขอเสนอมุมมองและเจาะลึกลงไปในสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในมหากาพย์เรื่องนี้

*
                หากใครที่ได้ลองอ่านเรื่องนี้ดูอย่างจริงจังและคิดเรื่องราวต่างๆในเทพนิยายเรื่องนี้

ตามหลักความจริงโดยตัดเอาสิ่งเหนือธรรมชาติและอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ทั้งหลายออกไปแล้ว

อาจจะมองเห็นเหมือนที่ผมเห็นอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือแท้จริงแล้ว

รามเกียรติ์และรามายณะก็คือบันทึกประวัติศาสตร์สงคราม

และการเมืองของชนชาติโบราณสองชนชาติที่มีอยู่จริงในโลก

นั่นคืออารยันและดราวิเดียน


  



ต้นกำเนิดรามายณะ และ รามเกียรติ์


                ก่อนหน้าจะเกิดเป็นรามเกียรติ์นั้น ต้นเรื่องของวรรณกรรมเรื่องนี้คือมหากาพย์เก่าแก่ที่ชื่อรามายณะ ซึ่งเป็นวรรณกรรมภาษาสันสกฤต ที่ถูกรจนาขึ้นมาโดยฤาษีวาลมิกิ โดยแต่งขึ้นมาเป็นโคลงกลอนแบบอินเดียที่เรียกว่าโศลก ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 24,000 โศลก


เกี่ยวกับการแต่งเรื่องรามายณะขึ้นมานั้นมีตำนานเล่าว่าฤาษีวาลมิกิอาศัยอยู่ร่วมกับภรรยาของตนชื่อนางตมสาอยู่ในอาศรมที่ฝั่งริมแม่น้ำคงคา ในวันหนึ่งท่านได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญของนางนกกระเรียนตัวเมียที่ร่ำร้องให้กับนกกระเรียนตัวผู้ที่ถูกนายพรานยิงและนอนนิ่งอยู่ข้างตัว เสียงร้องของมันเศร้าโศกมาก ฤาษีเห็นเช่นนั้นก็อดโศกตามไม่ได้ จึงได้เอื้อนเอ่ยเสียงร้องออกมาเป็นบทกวีบทหนึ่งที่มีความโศกเศร้ารันทดมาก ซึ่งการเอื้อนเอ่ยบทกวีในครั้งนี้เองที่กลายมาเป็นการค้นพบการแต่งฉันทลักษณ์รูปแบบใหม่ของอินเดียที่เรียกว่าโศลก



                หลังจากค้นพบการแต่งโศลกแล้ว ฤาษีวาลมิกิก็คิดจะแต่งบทกวีหรือเรื่องราวขึ้นมาสักเรื่อง จึงได้นึกไปถึงเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมและอธรรมที่เคยได้ยินมาจากพระนารท ซึ่งเป็นฤาษีอีกคน ท่านจึงได้ลองร้อยเรียบเรียงถ้อยคำที่ได้ฟังขึ้นมาเป็นโศลกที่มีความยาวกว่า 24,000 โศลก แบ่งเนื้อหาเป็นทั้งหมด 7 กัณฑ์ และนั่นก็คือที่มาของมหากาพย์รามายณะ



                หลังจากแต่งขึ้นมาแล้ว ท่านก็ได้นำออกเผยแพร่ซึ่งสร้างความตื่นตาแก่ผู้ได้พบฟังมาก เพราะท่านได้สอดแทรกเอาเรื่องราวของสังคมในยุคของท่านใส่ไว้ในเรื่องอย่างแยบคาย ทั้งในเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม สัจธรรมของธรรมชาติ และผลที่ตามมาที่เกิดจากการปล่อยตัวและวิญญาณไปตามอารมณ์ทั้งหลายเช่น ความรัก ความโกรธ ความหลง ทำให้รามายณะกลายเป็นที่แพร่หลายไปทั่วอินเดียในยุคนั้น และต่อมาไม่รู้ว่าเพราะอะไร รามายณะจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์เวทที่สั่งสอนกันมาในศาสนาฮินดูและเชื่อกันว่าหากผู้ใดได้ฟังเรื่องรามายณะจนจบครบก็จะได้ไปสู่สวรรค์



                เรื่องรามายณะไม่เพียงแต่แพร่หลายไปทั่วอินเดียเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายออกไปในแต่ละประเทศ และเมื่อออกไปสู่ภูมิภาคหรือดินแดนใดก็จะถูกผสานเข้ากับความเชื่อ วัฒนธรรมของดินแดนแต่ละแห่งอย่างกลมกลืน และเมื่อได้เข้าสู่ประเทศไทย เรื่องนี้ก็ได้ถูกนำเอาศิลปะ วัฒนธรรมของคนไทยผสานเข้าไป จนก่อเกิดเป็นเรื่องรามเกียรติ์ขึ้น


                ตามหลักฐานที่มีนั้นบ่งชี้ว่าเรื่องรามายณะเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในสมัยอยุธยา และถูกดัดแปลงจนกลายมาเป็นเรื่องรามเกียรติ์ โดยมีปรากฏเห็นเด่นชัดในสมัยที่ศิลปะและวรรณกรรมเฟื่องฟูสุดขีดนั่นคือยุคของพระนารายณ์มหาราช
*

                หลังจากอยุธยาเสียกรุงครั้งที่สอง เรื่องรามเกียรติ์ก็หายไป แต่พระเจ้าตากสินทรงมีดำริที่จะฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมขึ้นใหม่ จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ขึ้นมาเป็นบทละครร้องด้วยพระองค์เองทั้งหมด 4 ตอน แต่ก็มีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้มีการเรียบเรียงเนื้อหาทั้งหมดให้เป็นเรื่องเป็นราวนัก จนกระทั่งหลังจากที่ร.1


ทรงก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ก็ได้ทรงมีดำริที่จะชำระวรรณกรรมสำคัญของชาติที่หายไปขึ้นมาใหม่ ประกอบไปด้วย รามเกียรติ์ สามก๊ก อิเหนา อุณรุท ดังนั้นเรื่องรามเกียรติ์จึงได้ถูกเรียบเรียงและแต่งขึ้นมาใหม่จนสมบูรณ์กลายเป็นรามเกียรติ์ฉบับที่คนไทยรู้จักกันในทุกวันนี้
                 

17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-16 22:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2014-6-17 06:21

รามเกียรติ์และมหากาพย์อีเลียด



                เรื่องรามเกียรติ์นั้นหากจะกล่าวเนื้อหาโดยสรุปแล้วก็คือบันทึกการสงครามระหว่างฝ่ายธรรมและอธรรม
โดยตัวแทนฝ่ายธรรมนั้นก็คือมนุษย์ ลิง และเทวดา ส่วนตัวแทนฝ่ายอธรรมก็คือยักษ์

















                แต่จะมีใครรู้บ้างว่า มันคือสงครามที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์อันไกลโพ้น

ระหว่างสองเผ่าพันธุ์ นั่นคืออารยัน(อินโด-ยูโรเปียน)และดราวิเดียน(ทมิฬ)

   เพียงแต่บันทึกของสงครามนี้ไม่ได้ถูกบันทึกเก็บมาในรูปแบบของเอกสารทั่วไป  

แต่กลายมาเป็นบทร้อยกรองอันสละสลวยและมีการแต่งเติมความพิสดารพันลึก

และแทนเรื่องราวหรือผู้คนหลายสิ่งด้วยสัญลักษณ์ต่างๆเช่น เทพ อสูร คนธรรพ์

ซึ่งหากเราลองตีความกันจริงๆแล้ว จะพบอะไรๆหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ในเนื้อหา

และเรื่องราวของรามเกียรติ์มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ


ทำไม..????

จึงเชื่อได้แน่นอนว่าการต่อสู้ระหว่างมนุษย์ เทพ ลิงและยักษ์ในรามเกียรติ์คือ...

บันทึกสงครามระหว่างชาวอารยันและดราวิเดียน นั่นเพราะเดิมทีชมพูทวีปโดยเฉพาะพื้นที่ตอนใต้นั้น

เป็นดินแดนที่มีชนเผ่าดราวิเดียนตั้งรกรากอยู่ ชนเผ่าดราวิเดียนนั้นเป็นพวกที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวดำคล้ำ ผมหยิก

ซึ่งจะเห็นได้ว่ายักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์กับชนเผ่าดราวิเดียนมีลักษณะไม่แตกต่างกันเลย ในขณะที่ชนเผ่าอารยันนั้น

ไม่ใช่ชนชาติที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้มาแต่แรก แต่เป็นชนชาติที่อพยพมาจากทางตอนเหนือ

พวกนี้มีผิวกายขาว รูปร่างหน้าตาคมสันกว่าพวกดราวิเดียน ซึ่งจะว่าไปก็คือพวกมนุษย์และเทพใน


รามเกียรติ์นั่นเอง


                นอกจากนี้ยังมีอีกประการหนึ่งที่ไม่รู้ว่ามีใครที่สังเกตบ้างหรือไม่ เรื่องราวอันเป็นเนื้อหาหลักของรามเกียรติ์

นั้นมีส่วนที่คล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อกับมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของซีกโลกตะวันตก


                ถ้านึกไม่ออกผมจะช่วยบอกให้ นั่นก็คือ มหากาพย์อีเลียดและโอดิสซีที่มหากวีโฮเมอร์เป็นผู้แต่งขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อนนั่นเอง


                อะไรคือความเหมือนระหว่างมหากาพย์สองเรื่องนี้ ตอบได้ง่ายมาก นั่นเพราะต้นเหตุที่ก่อให้เกิดสงครามครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นมาของสองเรื่องนี้ เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน นั่นคือการที่นางเอกของเรื่องได้ถูกอีกฝ่ายชิงตัวไป


                ในรามเกียรติ์ นางสีดา ชายาของพระราม รัชทายาทแห่งอโยธยาได้ถูกท้าวทศกัณฐ์ ผู้ครองนครลงกาจับตัวไป
                ในอีเลียด นางเฮเลนชายาของเมเนเลอุสแห่งสปาร์ตา ได้ถูกเจ้าชายปารีสแห่งทรอยพาตัวไป
                เรื่องหลังจากนั้นยังเหมือนกันจนไม่น่าเชื่อ


                พระรามได้กองกำลังจากนครขีดขินและเมืองชมพูเข้าร่วมรบ โดยมีเหล่าเทพแห่งเขาไกรลาสหรือเขาพระสุเมรุคอยช่วยเหลือ มีทหารเอกที่เก่งกล้าที่สุดอย่างหนุมาน นำกองทัพลิงเข้าโจมตีนครลงกา


                เมเนเลอุสได้รับความช่วยเหลือจากอะกาแมมนอน กษัตริย์แห่งเอเธนส์ และแคว้นต่างๆเข้าร่วมเป็นกองทัพพันธมิตร โดยกองทัพกรีกได้รับการหนุนหลังจากเทพเจ้าแห่งเขาโอลิมปุส ในกองทัพก็มีทหารเอกอย่างอคิลลิส เข้าโจมตีกรุงทรอย


                และมีเรื่องหนึ่งที่คงไม่มีใครรู้...


                นครลงกาอันเป็นนครของวงศ์ยักษ์ที่ทศกัณฐ์เป็นผู้ปกครองในเรื่องรามเกียรติ์นั้นมีอยู่จริงครับ แท้จริงแล้วนั่นคือเกาะศรีลังกานั่นเอง


                มีปรากฏชัดเจนของเอกสารที่บันทึกประวัติศาสตร์หลายแห่งที่มักเรียกเกาะศรีลังกาในอดีตว่าลงกา และหากสืบค้นประวัติศาสตร์ดูแล้ว จะพบว่าประเทศนี้เป็นดินแดนที่พวกดราวิเดียนได้ตั้งรกรากและสร้างบ้านเมืองเอาไว้


                กรุงทรอยในเรื่องอีเลียด ก็เป็นประเทศที่อยู่บนเกาะซึ่งพวกกรีกต้องนำกองทัพเรือฝ่าข้ามไปเช่นกัน ดังนั้นหากเรามองเรื่องรามเกียรติ์ในฐานะประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้แล้ว นครลงกาก็คือไม่ผิดอะไรกับกรุงทรอยในอีเลียด
*

                มันเป็นเรื่องตลกดีไหม ที่วรรณกรรมสองเรื่องที่ถิ่นกำเนิดอยู่ห่างกันคนละซีกโลก และเกิดมาในยุคสมัยอันไกลโพ้นที่มนุษย์ยังคงมีชีวิตที่ผูกติดอยู่กับสิ่งบูชาอย่างเทพเจ้า กลับมีเนื้อหาและเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ


ที่มา..http://www.oknation.net/blog/print.php?id=167495

18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-16 23:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2014-6-17 06:39

เจาะเกราะรามเกียรติ์
ตำนานเทพเจ้าฮินดูกับตำนานเทพเจ้ากรีก



สาวอินเดียเชื้อสายอารยัน



                เกี่ยวกับประเด็นที่รามเกียรติ์อันเป็นวรรณกรรมของซีกโลกตะวันออก มีความคล้ายคลึงกับวรรณกรรมของซีกโลกตะวันตกอย่างอีเลียดนั้น พอจะหาคำตอบได้อย่างหนึ่ง

                นั่นคือเผ่าอารยันที่เข้ามาตั้งรกรากในอินเดียและกลายเป็นผู้ครอบครองดินแดนนี้แทนที่ชาวดราวิเดียนนั้น เป็นพวกที่อพยพมาจากทางฝั่งซีกโลกตะวันตก


                มีบันทึกประวัติศาสตร์จำนวนมากได้บันทึกว่าชาวอารยันคือพวกที่อพยพมาจากดินแดนทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในราวๆ 1500 ปีก่อนคริสตกาล โดยในยุคนั้นดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียกำลังมีอาณาจักรใหม่เกิดขึ้นโดยชาวอารยันอีกกลุ่มหนึ่งเช่นกัน นั่นคือประเทศอิหร่านในปัจจุบัน
*

                ในยุคนั้นอินเดียยังไม่ได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักรเดียวกัน โดยศูนย์กลางความเจริญสูงสุดของดินแดนนี้อยู่ที่บริเวณลุ่มน้ำสินธุซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอารยธรรมที่รุ่งเรืองมาก มีการสร้างเส้นทางค้าขายไปยังโลกตะวันออกกลาง และได้ติดต่อค้าขายกับทางเมโสโปเตเมียอยู่เป็นประจำ แต่หลังจากนั้นอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุนี้ก็เริ่มถูกทำลายลงเพราะแม่น้ำสินธุเกิดท่วมและเข้าทำลายบ้านเมือง อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะโดยผู้รุกรานอย่างพวกอารยัน ซึ่งได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและขยายอำนาจไปจนถึงทางตะวันออกของแม่น้ำคงคา


                สำหรับพวกดราวิเดียนอันเป็นชนเผ่าที่ตั้งรกรากอยู่ในดินแดนนี้มาแต่แรกนั้น ได้ลงไปตั้งถิ่นฐานอันมั่งคงที่ตอนใต้ของอินเดียและเกาะศรีลังกา หรือก็คือนครลงกาในรามเกียรติ์นั่นเอง


                จากการขยายดินแดนของชาวอารยันแล้ว ดูเหมือนชาวอารยันจะเป็นพวกชนชาติที่ชอบการทำสงครามขยายดินแดนเป็นหลัก ซึ่งค่อนข้างจะเป็นนิสัยประจำตัวของชนชาติทางโลกตะวันตกในยุคนั้นเช่นชาวไมซีเนียนที่ได้เข้าครอบงำกรีก ชาวอัสซีเรียนที่ได้สร้างอาณาจักรอัสซีเรียขึ้น และชาวไมแทนนีกับชาวฮิตไทต์ที่ต่างก็สร้างอาณาจักรขึ้นมาเป็นใหญ่แถบดินแดนพระจันทร์เสี้ยวเมโสโปเตเมียในช่วงนั้น ซึ่งชาวอารยันเองก็อาจจะเป็นบรรพบุรุษหรือมีความเกี่ยวเนื่องกับชนชาติเหล่านั้นอยู่บ้างก็ได้


                จากความที่ชนชาติอารยันมีความเกี่ยวเนื่องกับชนชาติทางโลกตะวันตก จึงอาจจะรับเอาอะไรหลายๆอย่างเช่นวัฒนธรรม แนวคิด ความเชื่อ รวมไปถึงตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้ามาด้วย และในชาวอารยันเป็นผู้ที่เข้ามาสร้างรากฐานอำนาจในอินเดียและเหล่าพราหมณ์ซึ่งจะว่าไปก็คือชนชั้นสูงของชาวอารยันเป็นพวกที่ให้กำเนิดศาสนาฮินดูขึ้นมา ศาสนานี้จึงมีความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าหลายๆอย่างที่คล้ายคลึงกับของพวกกรีกมากอย่างไม่เน่าเชื่อ


                อะไรที่คล้ายกันบ้าง เริ่มตั้งแต่สถานที่ ที่สิงสถิตของเทพฮินดูและกรีกต่างก็เป็นภูเขาเหมือนกัน ของฮินดูคือเขาไกรลาส ส่วนของกรีกคือเขาโอลิมปุส


                ฮินดูและกรีก ต่างก็มีเทพเจ้าผู้ใช้สายฟ้าเป็นอาวุธ และเป็นเทพผู้ดูแลทุกข์สุขของมนุษย์ โดยของฮินดูคือพระอินทร์ ของกรีกคือเทพซุส ในทางโหราศาสตร์ถึงกับบอกว่าดาวพฤหัสฯซึ่งเปรียบดั่งเทพจูปีเตอร์หรือเทพซุสนั้น ก็คือคือองค์เดียวกับพระอินทร์


                ยังมีอะไรอีกมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ในตำนานความเชื่อของโลกตะวันออกและตะวันตกที่มีความคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งหากจะสาธยายก็คงจะออกนอกเรื่องมากเกินไป


เหล่าเทพเจ้าแห่งฮินดู        
               

ก่อนจะเริ่มการเจาะลึกลงไปในเรื่องรามเกียรติ์ได้นั้น ต้องเริ่มพูดถึงเหล่าเทพเจ้าของฮินดูเสียก่อน เพราะเทพเจ้าทั้งหลายที่ปรากฏในเรื่องนั้นต่างก็มีบทบาทที่ทำให้เกิดเรื่องราววุ่นวายต่างๆขึ้นมา


                พระศิวะ เทพผู้ปกครองสูงสุดของเขาไกรลาส ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูนั้นเชื่อว่าเป็นเทพผู้ทำลายล้าง แต่บางนิกายจะนับว่าเป็นเทพผู้สร้างด้วย โดยเป็นผู้ที่ได้สร้างโลกนี้ขึ้นมา ลักษณะเด่นของพระศิวะคือมีตาที่สามซึ่งจะปิดอยู่ตลอดเวลา หากว่าลืมขึ้นเมื่อไหร่จะก่อเกิดเป็นเปลวไฟแผดเผาโลกจนสิ้น ดูจากภายนอกแล้วพระศิวะจะแต่งกายน่ากลัวด้วยการห่มชุดเหมือนดั่งฤาษี และมีพระศอเป็นงู นอกจากนี้ยังเป็นเทพเจ้าแห่งการประทานพร สามารถให้พรแก่ผู้ที่บำเพ็ญเพียรอย่างหนักได้สมหวัง และด้วยความสามารถอันนี้เองที่มักจะก่อให้เกิดเรื่องวุ่นวายกับโลกอยู่บ่อยๆ
*

                ลักษณะของพระศิวะในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นเหมือนผู้ใหญ่ที่คอยดูแลเรื่องต่างๆ แต่ก็เป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมายเช่นกันจากความที่ไม่ว่าใครขออะไรแล้วก็มักจะให้พรตามนั้นโดยไม่ได้สนใจว่ามันอาจจะก่อให้เกิดผลอะไรตามมา เช่นการมอบกระบองที่ทำให้ไม่มีใครสู้ได้แต่อสุรพรหมแล้วจากนั้นก็ได้สร้างความวุ่นวายขึ้นไปทั่ว ให้พรแก่หิรันตยักษ์ให้มีอิทธิฤทธิ์มากจนม้วนแผ่นดินไปเก็บไว้ที่บาดาล ฯลฯ

และยังอีกมากมายจนคณานับ ความที่เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่แต่ชอบเป็นต้นเหตุของปัญหาแบบนี้ ดูแล้วไม่ค่อยต่างไปจากเทพซุสของกรีกเท่าไหร่นัก แต่พระศิวะยังดีกว่าตรงที่ไม่ได้มีอารมณ์เกรี้ยวกราดอย่างไร้เหตุผลและมีนิสัยเจ้าชู้เหมือนเทพซุส
               
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-16 23:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระนารายณ์(พระวิษณุ) – เทพผู้ปกครองเกษียรสมุทร เป็นเทพเจ้าแห่งการพิทักษ์และปกป้องเหล่ามนุษย์ มีสี่กร แต่ละมือจะถืออาวุธเอาไว้ ประกอบด้วย จักร สังข์ ตรี และคฑา ว่ากันว่าหลังจากพระศิวะสร้างโลกแล้วก็ได้ให้กำเนิดพระนารายณ์ต่อมา ในนิกายไวษพนั้นนับถือพระนารายณ์เหนือยิ่งกว่าพระศิวะเสียอีก


                บทบาทของพระนารายณ์ในรามเกียรติ์นั้น ถ้าจะว่ากันตรงๆแล้วก็คือเทพผู้มีหน้าที่คอยตามเก็บหรือจัดการเรื่องราวยุ่งๆที่เกิดขึ้นเพราะการชอบให้พรแบบไม่คิดของพระศิวะ ยามที่โลกเกิดความวุ่นวายขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จุดเริ่มมาจากพรของพระศิวะนั้น พระนารายณ์ก็จะได้รับบัญชาให้ลงไปจัดการแก้ไข โดยการอวตารลงไปเกิดบนโลกมนุษย์ในรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น ปลา หมู คนธรรพ์ ฯลฯ  โดยในฮินดูมีความเชื่อว่าพระนารายณ์จะอวตารลงมาเกิดทั้งหมด 10 ชาติ เพื่อขจัดความชั่วร้ายและช่วยเหลือโลกมนุษย์ สำหรับในเรื่องรามเกียรติ์นั้น ต่างเชื่อกันว่าพระนารายณ์ได้ลงมาอวตารเป็นพระรามเพื่อปราบเหล่ายักษ์ โดยถือเป็นการอวตารในชาติที่ 7


                เกี่ยวกับการอวตาร 10 ชาติของพระนารายณ์นี้ ในช่วงที่ศาสนาพุทธเริ่มรุ่งเรืองและเผยแพร่ไปทั่วอินเดียนั้น ทางฝ่ายฮินดูเองได้พยายามที่จะหาทางสกัดกั้น แต่การใช้ความรุนแรงจะถูกต่อต้าน นอกจากนี้ในยุคที่พระพุทธเจ้าเริ่มเผยแพรคำสอนนั้น เหล่ากษัตริย์ของแคว้นต่างๆล้วนแต่ยอมรับคำสอนของศาสนาพุทธว่าดีจริง และในการโต้แย้งธรรมระหว่างพุทธกับฮินดูโดยพระสงฆ์กับพราหมณ์นั้น ปรากฏว่าทางพระสงฆ์สามารถโต้แย้งในเรื่องหลักธรรมชนะพวกพราหมณ์หลายครั้ง ทำให้ศาสนาฮินดูเริ่มเสื่อมถอยลง เพื่อให้ฮินดูสามารถยืนหยัดได้ จึงต้องมีการผสมผสานความเชื่อของทางฮินดูให้เข้ากับของพุทธ ดังนั้นทางฮินดูจึงถือกันว่าเจ้าชายสิทธิทัตถะหรือพระพุทธเจ้านั้น คือร่างอวตารชาติที่ 9 ของพระนารายณ์ และหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบด้วยตนเองนั้น ก็เป็นหลักธรรมที่พระเจ้าของฮินดูได้บอกมาอีกที


                เกี่ยวกับการอวตารทั้ง 10 ชาติของพระนารายณ์นั้น ตัวผู้เขียนไม่อยากจะตีความะไรมากมายนัก เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางศาสนา อาจทำให้คนนับถือฮินดูไม่พอใจได้
*

                พระพรหม – เทพเจ้าผู้สร้างแห่งฮินดู บางนิกายยกให้พระพรหมอยู่เหนือพระศิวะ โดยเป็นผู้สร้างทุกสรรพสิ่งขึ้นมา ลักษณะเด่นคือมีสี่หน้า เป็นเพทผู้รังสรรค์สิ่งต่างๆขึ้น เมื่อรวมกับพระศิวะและพระนารายณ์แล้ว ทางฮินดูต่างนับถือเป็นสามเทพสูงสุดที่เรียกกันว่าตรีมูรติ

        
                คล้ายกับพระบิดา พระบุตร และพระจิตของทางคริสต์เลยว่าไหม
               
ผู้ให้กำเนิด ผู้ช่วยเหลือ และผู้สร้างสรรค์


                เกี่ยวกับพระพรหมนี้มีเกร็ดที่อยากเล่าสักนิด เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับทางพุทธศาสนาด้วย อย่างที่รู้กันว่าศาสนาพุทธนั้นเป็นอเทวนิยม นั่นคือไม่มีเทพเจ้า ตัวของพระพุทธเจ้าเองก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาผู้หนึ่งที่ได้ค้นพบสัจธรรมและหลักธรรมที่เป็นจริงอยู่แล้วในจักรวาลแล้วท่านนำมันออกมาเผยแพร่สั่งสอนผู้คน
*

                หากว่าศาสนาพุทธไม่มีเทพเจ้า แล้วรุกขเทวดาหรือปีศาจละ สวรรค์หรือนรกละของเหล่านั้นไม่มีจริงงั้นหรือ อยากจะบอกว่าหากศึกษาในคำสอนดีๆแล้ว จะพบว่าของเหล่านั้นมีจริง แต่ไม่ได้อยู่ในรูปลักษณ์แบบที่คนคิดกันเป็นรูปธรรม


                สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นี่คงเป็นคำเปรียบเทียบของนรกสวรรค์ในพุทธศาสนาที่ดีที่สุด สวรรค์ในเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ ไม่ใช่สวรรค์ที่มี 6 ชั้น พรหม 4 นรกก็ไม่ใช่แบบที่มีหลายขุมเป็นนรกภูมิ การที่เราเชื่อกันแบบนั้น เป็นเพราะความที่ศาสนาพุทธที่เข้ามาในประเทศไทยได้ถูกผสมผสานเข้ากับความเชื่อของทางฮินดูและพราหมณ์ในบางส่วน


                รุกขเทวดาของพุทธคือสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ หรือสิ่งที่อยู่ตามป่าเขา ต้นไม้ สิ่งต่างๆที่อยู่ในสิ่งเหล่านั้น ซึ่งตามองไม่เห็นแต่ใจสัมผัสได้ ในขณะที่ปีศาจหรืออสูร คือสิ่งที่อยู่ในจิตใจของคนเรา
                แต่ตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่ทราบ ที่พระพรหมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพุทธไปแล้ว ในทางพุทธนั้นไม่มีพระพรหมที่เป็นเทพเจ้า เพราะทางพุทธไม่ได้ถือว่าพระพรหมสร้างโลก แต่พระพรหมที่อยู่ในทางพุทธโดยแท้จริงคือหลักธรรมที่เรียกว่าพรหมวิหาร 4 อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

                ดังนั้นเทพเจ้าที่มีนามว่าพระพรหมจึงไม่มีอยู่จริงในทางพุทธ

                อันที่จริงอยากจะเขียนโดยเลี่ยงประเด็นทางศาสนาให้มากที่สุด เพราะผู้นับถือศาสนาอื่นและผู้ศรัทธาในเทพเจ้าอาจไม่พอใจ


                สำหรับประเด็นหลักที่จะพูดถึงต่อไปนี้คือเรื่องที่พระนารายณ์อวตารเป็นพระรามนั้น นับจากนี้ผู้เขียนจะไม่ถือว่าเป็นจริง เพราะบทความที่จะเขียนถึงต่อไปนี้ จะพูดถึงเรื่องของพระรามในแง่ที่เป็นกษัตริย์ เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นเทพเจ้าแต่อย่างใด

นี่ยังรวมไปถึงเหล่าลิงและยักษ์เช่นหนุมานและทศกัณฐ์อีกด้วย เพราะบทความชุดนี้จะขอพูดถึงตัวละครในรามเกียรติ์ที่เป็นมนุษย์ มีความคิด มีด้านสว่างและด้านมืดในตัวเอง มีเหตุและผลของการกระทำที่มองกันตามหลักของความเป็นจริง และมุมมองด้านการเมืองรวมทั้งแง่มุมของความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ที่สามารถจับต้องได้ หาได้มีเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ใดๆมาเกี่ยวข้อง
                 
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-16 23:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2014-6-16 23:37

เจาะเกราะรามเกียรติ์

               
จุดเริ่มต้นของสงครามในรามเกียรติ์ ระหว่างมนุษย์ ลิง เทพและยักษ์ ที่ได้กลายมาเป็นบทโศลกและบทร้องกรองอันแสนเสนาะนั้น คือเรื่องของการชิงนาง


                ท้าวทศกัณฐ์ ยักษ์ผู้ครองลงกาได้ลอบชิงตัวนางสีดา ผู้เป็นชายาของพระราม รัชทายาทแห่งนครอโยธยาไปในระหว่างที่กำลังเดินป่า


                พระรามต้องการชิงตัวนางสีดาคืนจึงได้ออกเดินทางไปยังลงกา ระหว่างทางได้ลิงที่มีอิทธิฤทธิ์อย่างหนุมานมาสวามิภักดิ์ และได้กองทัพลิงแห่งนครขีดขินและชมพูมาอยู่ในบัญชาการ จากนั้นพระรามจึงเคลื่อนทัพเข้าประชิดลงกา ทศกัณฐ์จึงได้นำพาวงศ์ยักษ์ของตนเข้ารบ ก่อเกิดเป็นสงครามที่ยาวนานและพิสดารพันลึก ที่กินเวลากว่าสิบปี


                แต่เพียงเพื่อชิงสตรีเพียงนางเดียว คือเหตุผลของการต่อสู้ครั้งนี้จริงๆหรือ
                อย่างที่เคยพูดไว้ บทความชุดนี้จะขอตีความเรื่องต่างๆด้วยหลักเหตุผล แนวคิดทางการเมือง และประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ เมื่อมองในมุมนี้แล้ว จึงมีอะไรมากยิ่งกว่าที่วรรณกรรมได้พรรณนาไว้


                ในมหากาพย์อีเลียด เมเนเลอุสได้รับความช่วยเหลือจากอะกาเมมนอน นำกองทัพกรีกเข้าบุกตีกรงทรอย เพื่อพาเฮเลนที่ถูกเจ้าชายปารีสชิงตัวไปกลับมา ตัวเมเนเลอุสอาจทำเพื่อศักดิ์ศรีหรือความรัก แต่ในฐานะของอะกาเมมนอนกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของกรีกแล้ว ย่อมไม่มองเช่นนั้นแน่ หากเราลองเป็นอะกาเมมนอน แล้วมองเรื่องนี้ในแบบของนักการเมือง นี่คือโอกาสทองในการที่จะหาข้ออ้างระดมกองทัพทั่วกรีกเพื่อตีกรุงทรอย เป็นการขยายอำนาจของตนและอาจเป็นโอกาสทำให้ตนได้เป็นกษัตริย์ครองกรีกแต่ผู้เดียว


               
สิทธิ ความชอบธรรม คืออาวุธของผู้กระหายในอำนาจที่มีความอดทนและเฝ้ารอโอกาสในการที่จะกระทำการใดสักอย่าง ตัวอย่างมีให้เห็นเยอะแยะ


                ในสามก๊ก ตั๋งโต๊ะสามารถยกกองทัพเสเหลียงเข้ามายึดอำนาจในเมืองหลวงได้อย่างง่ายดาย เพราะอาศัยการที่โฮจิ๋นออกคำสั่งเรียกขุนพลจากภูธรเข้ามาปราบเหล่าขันที ปกติขุนศึกชายแดนอย่างตั๋งโต๊ะไม่อาจนำกองทัพเข้าเมืองหลวงได้ แต่นี่ตนมีข้ออ้างที่จะนำทหารเข้ามาเพื่อปราบกังฉิน


                เล่าปี่สามารถนำทหารเข้าเสฉวนได้อย่างง่ายดายในครั้งแรก เพราะเล่าเจี้ยงกลัวที่จะถูกเตียวฟ่อรุกราน จึงได้ขอความช่วยเหลือ ซึ่งเล่าปี่นั้นคิดจะเข้ายึดครองเสฉวนแต่แรก แต่ติดที่เป็นคนสกุลเดียวกัน กลัวว่าคนจะครหา แต่นี่คือโอกาสแล้วที่จะได้นำทหารและพาตัวเองเข้าไปในเสฉวนเพื่อสร้างความปั่นป่วนและทำการต่างๆ


                อยากจะบอกว่าพระรามก็ไม่ต่างกัน พระรามไม่ใช่กษัตริย์ที่กลัวความยากลำบาก จะเห็นได้ว่าเมื่อถูกท้าวทศรถบอกให้ออกไปเดินป่าเป็นเวลาหลายปีจึงกลับบ้านเมืองได้ ก็ยอมไปโดยไม่หวั่น แต่ที่พระรามต้องการจริงๆนั้นคือชื่อเสียง เกียรติยศในฐานะกษัตริย์ผู้พิชิต
*

                สีดา เมียของตนถูกกษัตริย์ของลงกาชิงตัวไป นี่คือโอกาสทองที่หาไม่ได้อีกแล้ว ในการที่จะอาศัยความชอบธรรม นำพากองทัพพันธมิตรของขีดขินและชมพูเข้าบุกลงกา โดยที่คนทั่วแผ่นดินต่างก็พร้อมยอมรับและพร้อมจะสนับสนุน เพราะทุกคนย่อมมองว่าการกระทำของทศกัณฐ์นั้นผิด


                ดังนั้นเป้าหมายแท้จริงของการศึกนี้จึงมิใช่การต่อสู้เพื่อแย่งชิงสีดากลับมา การแย่งนางกลับมานั้นเป็นเพียงเรื่องรอง แต่เป้าหมายหลักคือการประกาศศักดาความเป็นยอดกษัตริย์ของตนให้ระบือ และพิชิตลงกาให้มาเป็นของตนเอง
                ทำไมจึงพูดแบบนี้ เพราะมีหลักฐานปรากฏชัดแจ้งอยู่ในตอนหนึ่งของเรื่องรามเกียรติ์ เป็นพฤติกรรมเรื่องหนึ่งของนางสีดาหลังจากถูกจับตัวไปแล้ว ที่ไม่ว่าจะอ่านเช่นใดก็ไม่สมเหตุสมผลหากมองตามความเป็นจริง แม้ว่าในเรื่องจะพยายามให้เหตุผลรองรับไว้แล้วก็ตาม ซึ่งจะขอกล่าวถึงในภายหลัง


ตัวร้ายที่แท้จริงของรามเกียรติ์

*

              
                รามเกียรติ์นั้นเปิดฉากครั้งแรกพูดถึงการกำเนิดของพื้นพิภพ ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องราวของเทพ เทวาทั้งหลาย รวมถึงการเกิดขึ้นมาของกษัตริย์องค์แรกแห่งโลกมนุษย์นามว่าท้าวอโนมาตัน ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากดอกบัว หลังจากที่เกิดมาแล้ว พระศิวะก็ได้สร้างเมืองอโยธยาขึ้นเพื่อให้ท้าวอโนมาตันได้ปกครอง ซึ่งหลังจากนั้นท้าวอโนมาตันก็ได้ให้กำเนิดเชื้อวงศ์กษัตริย์ขึ้นมามากมาย จนกระทั่งมาถึงรุ่นที่สามนั่นคือท้าวทศรถ


                ท้าวทศรถมีชายยาทั้งหมด 3 คน ซึ่งทั้งหมดได้ให้กำเนิดโอรสทั้งหมด 4 องค์ นั่นคือพระราม พระพรต พระลักษณ์ พระสัตรุต
*
                เกี่ยวกับการกำเนิดของพระรามนี้ หากพูดในแง่ของวรรณกรรมแล้ว ต่างเชื่อกันว่าเขาคือพระนารายณ์ที่อวตารมาเกิด

                ต้นเหตุของการอวตารของพระนารายณ์นั้น จะว่าไปก็เหมือนกับเทพนิยายโบราณของกรีก ที่มักจะเริ่มต้นด้วยเรื่องราวยุ่งๆของเหล่าเทพที่มักจะเป็นตัวกำหนดบทบาทและชะตากรรมของมนุษย์คนนั้นในภายหลัง

                เดิมทีนั้นมียักษ์ตัวหนึ่งชื่อนนทุกซึ่งเป็นยักษ์ที่คอยล้างเท้าให้แก่เหล่าเทพที่จะเข้าเฝ้าต่อพระอิศวร ซุ่งนนทุกนี้ก็ทำหน้าที่ด้วยดีเสมอมาโดยไม่เคยเกี่ยง แต่ว่าเหล่าเทพนั้นมักจะกลั่นแกล้งนนทุกด้วยการถอนผมของนนทุกเล่นจนหมดหมดหัว นนทุกนั้นเจ็บใจจึงได้อ้อนวอนต่อพระอิศวรขออิทธิฤทธิ์เพื่อไม่ให้ใครรังแกได้อีก

                พระอิศวรเห็นใจนนทุก จึงมอบนิ้วเพชรที่ทรงพลัง หากชี้ใครก็จะโค่นคนนั้นลงได้ให้ นนทุกเมื่อได้นิ้วเพชรมาก็ยังทำหน้าที่ของตนไปด้วยดี จนกระทั่งเมื่อมีเทพมากลั่นแกล้งตนอยู่อีก เขาจึงหมดความอดทนแล้วใช้นิ้วเพชรเล่นงานเทพองค์นั้นเสีย

                นนทุกได้ใจกับอำนาจของตนจึงออกอาละวาดไปทั่วสวรรค์ ร้นจนพระนารายณ์ต้องมาปราบ โดยพระนารายณ์ได้แปลงร่างเป็นนางอัปสรมาล่อให้นนทุกใช้นิ้วเพชรจี้ไปที่เอวของตัวเอง นนทุกจึงเสียท่าและพระนารายณ์ก็คืนร่างกลับมาแล้วเหยียบนนทุกไว้แทบเท้า


                นนทุกเห็นว่าแท้จริงแล้วเป็นพระนารายณ์แปลงตัวมาก็แค้นใจ จึงกล่าวว่าตนเป็นเพียงยักษ์ที่มีสองมือ จะไปสู้อะไรกับพระนารายณ์ที่มีสี่กรอาวุธครบมือได้ พระนารายณ์จึงลั่นวาจาว่า เช่นนั้นก็ขอให้เจ้าไปเกิดชาติหน้ามีสิบหน้า ยี่สิบกร แล้วตนจะไปเกิดเป็นมนุษย์มีสองมือสองเท้า และจะปราบนนทุกอีกครั้ง จากนั้นก็ใช้จักรสังหารนนทุกเสีย


                เพราะเหตุนี้เองนนทุกจึงได้กลายมาเป็นทศกัณฐ์ และพระรามก็ได้อวตารมาเกิดเป็นพระรามเพื่อปราบทศกัณฐ์อีกครั้ง


                จากเนื้อหาตรงนี้จะเห็นอะไรไหม เห็นไหมว่าต้นเหตุแห่งความวุ่นวาย ยุ่งเหยิงทั้งหลายมาจากใคร มันมาจากเหล่าเทพหรือถ้าเรามองแบบประวัติศาสตร์การเมืองแล้วเทพก็คือชนชั้นสูงแล้ว ปัญหาแรกสุดของเรื่องนี้ก็มาจากเทพ หรือพวกชนชั้นสูงนั่นเองที่เป็นตัวก่อเรื่อง


                ในวรรณกรรมบ่งไว้ชัดมากว่า นนทุกทำหน้าที่ของตนในการล้างเท้าเหล่าเทพอย่างไม่มีบกพร่องมาเป็นร้อยปี ทั้งที่เป็นงานต่ำต้อย และหลังจากได้นิ้วเพชรมา ในครั้งแรกเขาก็ไม่ได้หาเรื่องกับเหล่าเทพ แต่ยังคงทำงานเป็นปกติ อ่านเนื้อหาบทนี้แล้ว ไม่ทราบเหมือนกันว่าผู้ที่แต่งเติมเนื้อหารามเกียรติ์เกี่ยวกับเนื้อเรื่องช่วงสวรรค์นั้นต้องการจะสื่ออะไรสักอย่างหรือเปล่า

                หากไม่ใช่เพราะฝ่ายที่อ้างตนเป็นเทพ เป็นธรรม จนมีความเย่อหยิ่งจองหองคิดว่าตนสูงศักดิ์กว่าผู้อื่น จนคิดจะทำอย่างไรกับใครก็ได้ ไม่เป็นฝ่ายหาเรื่องก่อน การที่ชนชั้นล่าง หรือผู้ต่ำต้อยกว่าอย่างนนทุกก็คงไม่คิดการขึ้นมา และกลายมาเป็นทศกัณฐ์ที่สร้างเรื่องต่างๆขึ้นมามากมายในภายหลัง

                เนื้อหาในช่วงก่อนพระรามเกิดนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวสวรรค์ ซึ่งแน่นอนว่าหากมองรามเกียรติ์เป็นบันทึกสงครามในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงแล้ว นี่ย่อมเป้นสิ่งที่ถูกเสริมขึ้น ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าฤาษีวาลมิกิเป็นผู้ที่แต่งขึ้นมาตั้งแต่แรกสุด หรือว่าเป็นผู้อื่นแทรกเข้าไปภายหลัง แต่อย่างน้อยนี่ก็น่าจะพอบ่งบอกอะไรได้อย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์นี้ว่า


                แม้ว่าจะเป็นผู้ชนะของสงครามนี้ในท้ายสุด แต่ผู้แต่งวรรณกรรมโดยเฉพาะในยุคหลังก็ได้แอบใส่ข่าวสารสำคัญอย่างหนึ่งที่ว่า ตัวร้ายที่แท้จริงของเรื่องนี้คือฝ่ายเทพนั่นเอง
  
                และคนแพ้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ร้ายเสมอไป

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้