หลวงปู่หล้า ผู้รู้วาระจิตแห่งตน
พอตกมาปี พ.ศ.๒๔๙๖ หลวงพ่อก็สร้าง มีดหมอพระกุมารด้วยตะปูเจ็ดป่าช้า ขนาดห้านิ้วทรงใบข้าวสร้างจำนวน ๙๙ เล่ม พอสร้างมีหมอพระกุมาร แล้วหลวงพ่อก็บอกผมว่า
“หยุดสร้างแค่นี้ไม่สร้างอะไรอีกแล้ว”
ส่วนใครจะสร้างอะไรมาให้เสกก็จะเสกให้
" ผมจะอยู่ไม่ถึงกึ่งพุทธกาลขอหยุดทำกิจที่ควรทำ(กิจเพื่อหลุดพ้น) ในช่วงสองสามปีสุดท้ายของชีวิต”
เมื่อพระสงฆ์และฆราวาสทั้งใกล้และไกลได้ทราบเรื่องว่าหลวงพ่อจะอยู่ไม่ถึงกึ่งพุทธกาลต่างพากันเศร้าโศกเสียใจบางคนก็ถึงกับร้องไห้โฮเลยทีเดียว และต่อมาเมื่อปลัดแสวงทราบเรื่องนี้ท่านจึงมาเป็นประธารประชุมชาวบ้านเพื่อสร้าง เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่หล้า ไว้เป็นอนุสรณ์
วันที่ ๔ กรกด จันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม สับตะสก ๒๔๙๘ ปลัดแสวงไปเรียนปกครองกว่าปีที่เมืองกรุง (วันจันทร์ที่ ๔ กรกฎาคม ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม สัปตศก พ.ศ.๒๔๙๘ ปลัดแสวงไปศึกษาหรืออบรมด้านการปกครองต่อที่เมืองหลวง) ได้กลับมาเยี่ยมหลวงพ่อและทำบุญวัยเข้าพรรษา เมื่อได้ทราบว่าหลวงพ่อจะอยู่ไม่ถึงกึ่งพุทธกาล ปลัดแสวงนั่งนิ่งน้ำตาซึมไม่พูดจาอยู่พักหนึ่ง เมื่อทำบุญเสร็จแล้วปลัดแสวงจึงชวนชาวบ้านสร้างเหรียญหลวงพ่อ ชาวบ้านทุกคนเห็นด้วยจึงตกลงกัน ดังนี้
ปลัดแสวงออกเงิน ๓ ชั่ง นายโสภา ผาสี ๓ ชั่ง นายร้อยสำราญ ๓ ชั่ง (น่าจะเป็นคนเดียวกันกับนายสำราย เครือนิล ที่นำเจ้าหน้าที่ยิ่งต่อสู้กับเสือขาวที่กล่าวมาแล้วในฉบับก่อน) โยมกิมไล้ ๕ ชั่ง (น่าจะเพื่อนคุณนายปลัดแสวงที่มาขอของค้าขายกับหลวงปู่) และชาวบ้านคนละเล็กละน้อยอีกส่วนหนึ่ง เมื่อตกลงกันแล้วหลวงพ่อจึงบอกว่าให้เอาฆ้องแตกนี้ไปทำเดี๋ยวจะลงยันต์ให้
พอตกกลางคืนหลวงพ่อก็ลงยันต์ที่ฆ้อง พอแจ้ปลัดแสวงก็เอาฆ้องลงยันต์และเอาคนมาถ่ายรูปหลวงพ่อไปแกะพิมพ์ทำเหรียญที่เมืองกรุง ในพรรษานั้นพระจำปีบันทึกว่า หลวงปู่แสดงธรรมเองทุกวันพระให้โยมฟังและแสดงนานกว่าทุกพรรษาที่ผ่านมา ตอนเย็นหลังจากทำวัตรเสร็จก็จะอบรมพระเณรและพานั่งสมาธินานกว่าทุก ๆ พรรษาเช่นกัน
|