ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 11042
ตอบกลับ: 43
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล ~

[คัดลอกลิงก์]
ประวัติย่อพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร
วัดป่าแก้วชุมพล
อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร


   

    เกิด วันเสาร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด ณ บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร (ปัจจุบันเป็นอำเภอป่าติ้ว)

    บรรพชาและอุปสมบท บรรพชาเมื่อปี ๒๔๘๗ ที่วัดป่าสำราญนิเวศน์ ตำบลบ้านบุ่ง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีท่านพระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิตเทวิโร) เป็นพระอุปัชฌายะ

    การปฏิบัติ ท่านได้มีโอกาสพบและปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในปี ๒๔๙๑ เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพ ท่านติดตามเป็นศิษย์ปฏิบัติกับท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโนมาโดยตลอด
    ปี ๒๕๐๘ ท่านรับนิมนต์ชาวบ้านตำบลค้อใต้มาเป็นเจ้าอาวาส วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แทนหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งไปสร้างวัดใหม่ที่ถ้ำกลองเพลและอยู่เรื่อยมาจนมรณภาพ
    หลวงตามหาบัวได้พูดถึงพระอาจารย์สิงห์ทองว่า "ท่านสิงห์ทองเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาดั้งเดิมตั้งแต่เริ่มออกบวชใหม่ๆ และสนใจทางด้านปฏิบัติเรื่อยมา แล้วก็มาอยู่กับหลวงปู่มั่นด้วยกัน พอหลวงปู่มั่นมรณภาพแล้วก็ติดสอยห้อยตามเราเรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงวาระที่โยมแม่มาอยู่ด้วย ก็พอดีกับคณะศรัทธาทางบ้านชุมพลนี้ไปนิมนต์ท่านมาอยู่สถานที่นี่ ท่านก็เลยได้พาโยมแม่ท่านมาอยู่ที่นี่ จนกระทั่งถึงกาลอวสานแห่งชีวิตของท่าน
    ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเอาจริงเอาจัง เรื่องความเพียรนี้ยกให้ว่าเก่ง เดินจงกรมนี้ทางจงกรมจะเป็นโสกเป็นเหว ท่านสิงห์ทองนี้เดินจงกรมขนาดนั้น แต่นิสัยชอบตลกหน่อย เวลาพูดมีตลกนิด ๆ เป็นนิสัยอย่างนั้นมาดั้งเดิม แต่ท่านเอาจริงเอาจังมาก นี่ท่านมรณภาพหรือท่านเสียลงไปตายลงไปแล้ว ก็ยังแสดงให้เราทั้งหลายได้เห็นความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือผลแห่งการปฏิบัติดีของท่านได้ปรากฏขึ้นมา เวลานี้อัฐิของท่านเริ่มกลายเป็นพระธาตุไปโดยลำดับลำดาแล้ว"

    มรณภาพ เมื่อ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๓ เนื่องจากเครื่องบินตก ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

ที่มา http://www24.brinkster.com/thaniyo/archan0445_2.html

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร


วัดป่าแก้วชุมพล
ต.บ้านชุม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร


ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร มีนามเดิมว่า สิงห์ทอง ไชยเสนา เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๗ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด ณ บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอลุมพุก จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน อำเภอลุมพุกเปลี่ยนเป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว ขึ้นกับจังหวัดยโสธร และปัจจุบันบ้านศรีฐานเป็นตำบลศรีฐาน ขึ้นกับอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร)

ท่านมีพี่น้องร่วมมารดา-บิดาเดียวกัน ๕ คน เป็นชาย ๓ เป็นหญิง ๒ บิดาของท่านชื่อ นายบุญจันทร์ ไชยเสนา มารดาชื่อนางอบมา ไชยเสนา ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ พี่ชายของท่านคนหัวปีได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเล็ก

ส่วนพี่ชายคนรองก็ได้เสียชีวิตไปอีกในตอนที่มีครอบครัวและมีลูก ๓ คนแล้ว ยังเหลืออยู่แต่น้องสาวของท่าน ๒ คน ชื่อ นางกรอง จันใด และนางแก้ว ป้องกัน

๏ ปฐมวัย-การศึกษา-อุปสมบท

โยมแม่ของท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะปฏิสนธิ โยมแม่ของท่านฝันว่ามีคนเอาห่อของไปให้ แล้วบอกโยมแม่ของท่านว่านี้เป็นของฝากของเทวดา ให้เก็บรักษาเอาไว้ เมื่อแก้ออกดูเป็นซ้องกับหวี

ต่อมาโยมแม่ของท่านก็ตั้งท้อง เมื่อยังเป็นเด็ก ท่านได้ช่วยพ่อแม่ผู้มีอาชีพทำนาและช่วยในกิจการทุกอย่างเท่าที่จะช่วยได้ เมื่อท่านอายุครบพอเข้าโรงเรียนแล้ว ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนประชาบาลจนจบชั้น ป.๔
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ


พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

ครั้นเรียนจบชั้น ป. ๔ แล้ว ท่านก็ได้ช่วยพ่อแม่ทำนาต่อไป จนอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ก่อนเข้าพรรษา ๗ วัน ณ พัทธสีมาวัดป่าสำราญนิเวศน์ ตำบลบ้านบุ่ง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ท่านพระครูทัศนวิสุทธิ์ (พระมหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์เดียวกันกับ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก) ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย แต่ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองบวชหลัง ๑ พรรษา

ครั้นบวชแล้วได้มาจำพรรษา ณ วัดป่าศรีฐานใน ซึ่งเป็นวัดป่าของหมู่บ้านศรีฐาน โดยมี ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ เป็นพระอาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอนด้านสมาธิภาวนา

ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์องค์นี้บวชที่วัดป่าสาลวัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นลูกศิษย์ของ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านเกิดที่บ้านหัวเมย ทุกวันนี้เข้าใจว่าเป็นอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เดิมท่านเป็นครูประชาบาล ต่อมาท่านได้ลาออก

นิสัยของท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ เป็นคนพูดน้อยและไม่เคยดุใครเลย ท่านขยันทำความเพียรมาก ปกติพอฉันจังหันเสร็จท่านมักจะเข้าที่เดินจงกรม ท่านเดินได้ตลอดวัน ไปเลิกเอาเวลาประมาณบ่าย ๔ โมง ซึ่งเป็นเวลาทำกิจวัตรปัดกวาดลานวัด และตักน้ำใช้ น้ำฉัน เป็นต้น

สมัยที่ท่านยังไม่ได้บวชพระ ยังเป็นตาปะขาวอยู่ ได้ฝึกหัดด้านสมาธิภาวนากับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่วัดป่าสาลวัน ท่านเคยอดอาหารติดต่อกันเป็นเวลา ๑๔ วันเพื่อทำความเพียรให้จิตสงบ

ในช่วงเวลาที่อดอาหารนั้น ท่านได้ทำข้อวัตร คือ ท่านตักน้ำใส่ตุ่ม ใส่โอ่ง ใส่ไหให้ครูบาอาจารย์ในวัดทุกวัน โดยท่านตั้งใจไว้ว่า ตราบใดที่ยังรู้สึกว่าการหาบน้ำยังหนักอยู่จะไม่ยอมหยุด จะทำอยู่อย่างนั้น เมื่อเต็มหมดโอ่ง ตามตุ่ม ตามไหแล้ว ท่านก็รดน้ำต้นไม้ต่อ ทำจนว่าไม่มีความรู้สึกหนัก หาบน้ำข้างละ ๑ ปีบ ท่านว่าเหมือนเดินไปตัวเปล่าแล้วท่านจึงได้หยุด ท่านเป็นคนที่พูดน้อยแต่ทำจริง (อย่างที่ว่าพูดน้อยแต่ต่อยมาก)

ทั้งนี้หมายความว่า การที่ผู้ประสงค์จะบวชเป็นพระกรรมฐาน สมัยก่อนนั้นครูบาอาจารย์จะทดสอบด้านสมาธิภาวนาให้เป็นที่พอใจ แล้วจึงอนุญาตให้บวชเป็นพระได้ บางราย ๓ ปีก็มี
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ อยู่ด้วยพระอาจารย์บุญสิงห์

เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้มาอยู่ในความดูแลของท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ ได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านว่าการทำความเพียรไม่ให้ถือเอาเวลา ให้ถือเอาความสงบเป็นสำคัญ

ให้ทำความเพียรไปจนกระทั่งจิตสงบลงรวมจึงหยุด หมายความว่า ไม่ว่าจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนา จะเป็นเวลากี่ชั่วโมงก็ตาม ถ้าจิตยังไม่สงบแล้วห้ามเลิก คือ ท่านทำของท่านแบบนั้น ถ้าในกรณีจำเป็น เช่น จะต้องไปบิณฑบาต ฉันจังหัน เมื่อเสร็จกิจแล้วให้เข้าที่ภาวนาต่อจนกว่าจิตจะลงรวมได้จึงจะหยุดพักผ่อน

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ข้าพเจ้า (ท่านพระอาจารย์อุ่น ฐิตธมฺโม) ฟังว่า มีคราวหนึ่งท่านพาเดินทางไปธุระ เดินไปตลอดวัน เวลาพักก็พักในโบสถ์ด้วยกัน ท่านเตือนว่า อย่าเพิ่งนอนเลย ให้ทำจิตให้สงบก่อน ถ้านอนเลยมันจะนอนมาก ถ้าได้พักจิตให้สงบก่อนแล้ว นอนหลับนิดเดียวก็อิ่ม

ท่านเตือนอย่างนั้น แล้วต่างองค์ต่างก็ลงเดินจงกรม พอเหนื่อยก็เข้ามาพัก แต่ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ท่านยังไม่เข้ามา ท่านยังเดินจงกรมอยู่ นั่งภาวนาไปพอสมควรแล้วก็ล้มนอนลง เวลาตื่นขึ้นมามองเห็นท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ ท่านนั่งสมาธิอยู่ เลยไม่ทราบว่าท่านนอนเมื่อไร ท่านทำให้เห็นเป็นตัวอย่างอย่างนั้นเสมอๆ


พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต

ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู (ในปัจจุบัน) ได้เคยเล่าให้ฟังครั้งสมัยที่ท่านยังเป็น สามเณรบุญเพ็ง จันใด อยู่ว่า ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ได้ชวนไปภาวนาที่ป่าช้า (ป่าช้าบ้านศรีฐาน) ท่านพาเดินจงกรม

ทีแรกก็คิดในใจว่าจะเดินแข่งกะท่าน ว่าคนแก่จะเดินเก่งขนาดไหน แต่พอเดินไปๆ เจ้าหนุ่มน้อยเหนื่อย สู้ไม่ไหว ก็เลยขึ้นกะแคร่นอน พอตื่นขึ้นมายังมองเห็นท่านยังเดินอยู่ จนจะถึงเวลาปัดกวาด คือ ๔-๕ โมงเย็น ท่านจึงพากลับ บทเวลาท่านนั่ง ท่านก็นั่งได้ทั้งวันอีกแหละ เพราะทำไม่ถอย

ทางเดินจงกรมของท่านพระอาจารย์บุญสิงห์มีอยู่ ๓ เส้น แต่ละเส้นเดินจนเป็นร่องลึก ต้องได้ถมกันอยู่บ่อยๆ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองกล่าวว่า ท่านอยู่ได้เพราะมีอาจารย์ผู้นำดี ท่านปฏิบัติดีให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ทำให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองมีความมานะ พยายามเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนา ตามแบบฉบับของพระอาจารย์ของท่าน เวลากลางคืนเมื่อไปจับเส้นถวายท่าน ถ้าวันไหนจิตไม่สงบ ท่านจะพูดธรรมะในด้านอสุภกรรมฐานให้ฟัง ถ้าวันไหนภาวนาดี จิตสงบ ท่านพระอาจารย์จะนิ่ง ไม่พูดอะไร
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

รวมพระมหาเถราจารย์ บันทึกภาพ ณ โรงพยาบาลสุขุมวิท กรุงเทพฯ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๐

แถวหน้า จากซ้าย : พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ,
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร), หลวงปู่สิม พุทธาจาโร, องค์สุดท้ายไม่ทราบนาม

แถวหลัง จากซ้าย : หลวงปู่แปลง สุนทโร, หลวงพ่อสีทน สีลธโน, หลวงปู่ท่อน ญาณธโร,
พระอาจารย์น้อย (คำพอง) ปญฺญาวุโธ, พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม

รวมพระมหาเถราจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร นั่งอยู่แถวหน้าซ้ายสุด)
บันทึกภาพ ณ โรงพยาบาลสุขุมวิท กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๐


๏ เกิดสุบินนิมิต

การภาวนาของท่านพระอาจารย์สิงห์ทองในพรรษาต้นๆ นั้นง่าย จิตของท่านสงบลงรวมได้ง่าย แม้กระทั่งทำวัตรไหว้พระสวดมนต์อยู่กับหมู่คณะ กำหนดไปตาม จิตของท่านก็สามารถสงบลงรวมได้เป็นบางครั้ง

แต่ความตั้งใจของท่านนั้น ตั้งใจว่าจะลาสิกขา เกรงว่าถ้าทำความเพียรมากแล้วจะเป็นพระอรหันต์ จะไม่ได้สึก ครั้นเมื่อท่านตัดสินใจที่จะไม่สึกแน่นอนแล้ว การภาวนากลับยาก ไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน

ระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรีฐานในนั้น ท่านได้เกิดสุบินนิมิตปรากฏว่ามีพาหนะ ๓ ชนิด คือ ช้างเผือก ม้าขาว และวัวอุสุภราช ท่านมีความรู้สึกในความฝันว่า ท่านได้ขี่พาหนะทั้ง ๓ ตัวนั้น

ท่านองค์เดียวแต่ขี่พาหนะได้ทั้ง ๓ ตัว ในขณะเดียวกัน และได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงออกมาจากหมู่บ้านดังออกมายังศาลาที่วัด คล้ายกับว่าชาวบ้านจะมาทอดผ้าป่าหรือทำการกุศลชนิดใดชนิดหนึ่ง

แต่พอมาถึงปรากฏว่าไม่มีคน มีแต่ดอกไม้นานาชนิดลอยมาสูงระดับหน้าอก แล้วเวียนรอบศาลา ก็พอดีท่านรู้สึกตัวตื่นจากความฝัน นี่เป็นเหตุให้ท่านมีความมั่นใจว่า การบวชของท่านนั้นจะบรรลุผลอันพึงพอใจ

ในช่วงที่อยู่วัดป่าศรีฐานในนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็ได้ศึกษาคือเรียนนักธรรมควบคู่กันไปกับการปฏิบัติภาวนา และท่านก็สอบได้นักธรรมชั้นโท
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์เพียร วิริโย

๏ ในช่วงพรรษาแรก

ในช่วงระหว่างที่ท่านอยู่วัดป่าศรีฐานในนั้น มีชาวบ้านศรีฐานไปติดเชื้อฝีดาษมาจากที่อื่น และมาป่วยตายที่บ้านศรีฐาน ชาวบ้านยังไม่รู้จักก็พากันไปงานศพตามประเพณีของทางอีสาน

คนที่ไปงานศพนั้นติดเชื้อฝีดาษกันทุกคน ฟังว่าเชื้อนี้ไปจากเพชรบูรณ์ คนที่ตายคนแรกเป็นทหารสมัยเพชรบูรณ์ โรคนี้จึงระบาดไปทั่วทั้งหมู่บ้าน มีคนตายวันละ ๗-๘ คนทุกวัน

จนชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพออกจากหมู่บ้านไปอยู่ตามทุ่งตามนา และภายในหมู่บ้านเงียบเหงาวังเวงมาก เมื่อมีคนตาย ชาวบ้านก็มานิมนต์พระไปสวดมาติกาบังสุกุล ทำบุญให้กับผู้ตาย

ระหว่างนี้วันหนึ่งท่านพระอาจารย์สิงห์ทองท่านฝันว่า ท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย สมัยท่านยังเป็นเด็ก เอาพุลูกเหล็ก (ไม้ซาง) มายิงท่าน ท่านห้ามว่าอย่ายิงๆ ก็ไม่ฟัง ก็เลยยิงท่านจริงๆ ท่านว่าเข้าไม่ลึกเท่าไร

และท่านพระอาจารย์เพียรพูดว่า ยิงแค่นี้จะเปื่อยไปทั้งตัวนะ แล้วท่านพระอาจารย์ก็หักพุลูกเหล็ก (ไม้ซาง) แล้วตีท่านพระอาจารย์เพียรจนเลือดอาบทั้งตัว

ท่านพระอาจารย์เพียรนี้ท่านเป็นญาติกับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง คือโยมแม่ของท่านพระอาจารย์เพียรเป็นพี่สาวของโยมพ่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง

พอรู้สึกตัวตื่นขึ้น เมื่อได้โอกาสท่านก็เล่าความฝันนั้นถวายท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ และท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ก็ทำนายความฝันได้อย่างแม่นยำว่า

ท่านจะต้องเป็นฝีดาษกับเขานะ แต่ไม่ตายดอก เพราะท่านได้ชนะเขา พอท่านทราบดังนั้น ท่านจึงได้หลบโรคร้ายนี้ไปพักอยู่ที่วัดป่าหนองไคร้ ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันหนึ่งขณะที่ท่านเดินจงกรมอยู่ ปรากฏว่ามีความรู้สึกเหมือนแผ่นดินหมุนติ้ว จนท่านไม่สามารถยืนอยู่ได้ จึงล้มตัวลง แล้วค่อยพยุงตัวไปยังที่พัก แล้วปรากฏว่าปวดหัวอย่างแรง ท่านจึงลุกขึ้นนั่งภาวนา

โดยตั้งใจว่าถ้าความปวดนี้ไม่หายเมื่อใดจะไม่ยอมเลิก ตั้งใจเสียสละชีวิตต่อสู้ทุกขเวทนา ถึงอย่างไรจะต้องพิจารณาให้รู้จักทุกขเวทนานี้ให้ได้ ท่านได้ต่อสู้ทุกขเวทนาจนจิตของท่านสงบ และปรากฏว่าทุกขเวทนาหายเงียบไปหมด พอทุกขเวทนาหายไปหมดแล้ว ท่านจึงออกจากสมาธิแล้วล้มตัวลงนอน และได้กลิ่นตัวของตัวเองคล้ายๆ กับกลิ่นฝีดาษ จึงทราบว่าท่านได้ติดเชื้อฝีดาษแล้ว ครั้นต่อมาก็มีอาการไข้

เมื่อโยมพ่อของท่านได้ทราบข่าวการป่วยของท่าน โยมพ่อของท่านจึงไปรับท่านกลับมาอยู่ที่วัดป่าศรีฐานใน ท่านพยายามเดินมาจนถึงวัดเพราะสมัยก่อนยังไม่มีรถ ระยะทางก็ประมาณ ๓๐๐ เส้น (๑๒ กิโลเมตร)

ต่อมาตุ่มก็เริ่มออก ตุ่มออกเต็มทั้งตัวจนกระทั่งฝ่ามือฝ่าเท้า ต่อมาพอตุ่มสุกแล้วก็เปื่อย โรคอันนี้เหม็นคาวมาก ท่านพระอาจารย์ถึงต้องนอนใบตองกล้วย เพราะออกแสบออกร้อนสารพัด

ขณะนั้นท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล ยังเป็นสามเณรอยู่ เป็นผู้อุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ แต่ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์สั่งพระเณรที่อุปัฏฐากรักษาว่าอย่าเข้าไปทิศใต้ลม ให้เข้าไปทางทิศเหนือลม ให้สังเกตดูลมเสียก่อน ท่านกลัวว่าเชื้อโรคจะติดพระเณร ในที่สุดท่านก็หายและรอดตายมาได้โดยไม่มีรอยแผลเป็นเหมือนกับคนอื่นที่เคยเป็นโรคนี้แต่ส่วนมากมักจะตายกัน ถ้าลงได้เป็นโรคอันนี้แล้วจะเหลือเพียง ๒๐ % เท่านั้น


พระเทพสังวรญาณ (พระอาจารย์พวง สุขินทริโย)
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ไปบอกลากำนันเหลา

ในช่วงพรรษาที่ ๑-๔ ปี พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๙๐ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองจำพรรษาที่วัดป่าศรีฐานใน ๓ พรรษา และวัดป่าบ้านหนองแสง ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร อีก ๑ พรรษา ครั้นพรรษาที่ ๔ ล่วงไปแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เดือน ๓ (เดือนกุมภาพันธ์) ท่านก็ได้ออกธุดงค์

โดยมุ่งหน้าจะไปไหว้ พระธาตุพนม มีพระเณรติดตามท่านไปด้วย ๓ องค์ ๔ กับองค์ท่าน เป็นสามเณร ๒ องค์ เป็นพระ ๒ องค์ และ ท่านพระอาจารย์พวง สุขินทริโย (สมณศักดิ์สุดท้ายที่ พระเทพสังวรญาณ) วัดศรีธรรมาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร และเจ้าคณะจังหวัดยโสธร (ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว) สมัยนั้นท่านยังเป็น สามเณรพวง ลุล่วง อยู่ ท่านก็ได้ติดตามท่านพระอาจารย์ไปด้วย

ก่อนจะออกเดินทางจากบ้านศรีฐาน ท่านได้ไปบอกลา กำนันเหลา ซึ่งกำนันเหลาคนนี้เคยพูดกับท่านพระอาจารย์เอาไว้สมัยท่านจะบวชว่า “ถ้ามึงบวชอยู่ได้พอพรรษาแล้ว ให้มึงมาขี้ใส่บ้านกูนะ ชอบที่ไหนให้ขี้ใส่เลย ให้เอาหมอนกูนั้นเช็ดก้น” ท่านพระอาจารย์จำได้ไม่ลืม

เวลาท่านจะออกจากบ้านไปเที่ยววิเวก (ธุดงค์) ท่านจึงได้ไปลา พอขึ้นไปบ้าน เขาก็ปูสาดปูเสื่อต้อนรับ พูดคุยหัวเราะกันเพราะออกจะสนิทกันอยู่มาก พอแล้วท่านพระอาจารย์ก็มองโน้นมองนี้แล้วพูดว่า จะให้ขี้ใส่ตรงไหนล่ะ

กำนันเหลาร้องโอ้ย ผมนึกว่าครูบาลืมแล้ว หัวเราะกัน แล้วก็ขอขมาคารวะท่าน อย่าให้โยมเป็นบาปเป็นกรรมเน้อ โยมไม่นึกว่าครูบาจะอยู่ได้ ได้เวลาพอสมควรแล้วท่านพระอาจารย์ก็ลากลับวัด

เหตุใดกำนันจึงพูดอย่างนี้กับท่าน เพราะท่านพระอาจารย์สมัยที่ยังไม่บวชเป็นคนขี้ดื้อ (ซน) ชอบเล่นสนุก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นนักเลงดอกนะ การลักการขโมย การฆ่าการตีคนอื่นนั้น ไม่ใช่ เพียงแต่นิสัยของท่านชอบเล่นสนุก

โยมแม่ของท่านเคยเล่าให้ฟัง แม้กระทั่งวันจะบวช พอโกนผมเสร็จแล้ว ยังไม่ถึงเวลาบวช ท่านก็ยังชวนหมู่ที่เป็นนาคด้วยกันซนกัน ว่าหัวโล้นชนกันเถอะแล้วก็ไล่ชนกันกับหมู่ตามใต้ถุนศาลา

แล้วทำเหมือนควายจะชนกัน พูด แงะ-แงะ แล้วเบิดไล่ชนกัน โยมแม่ของท่านพูด ช่างไม่อายชาวบ้านอื่นเขา เพราะที่ไปบวชนั้นก็มีหลายหมู่บ้าน ท่านขี้ดื้อ (ท่านซน) ไปในลักษณะนี้แหละ
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงพ่อวัน อุตฺตโม-พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ-พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร


พระธาตุพนม (ในปัจจุบัน) ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
บ้านธาตุพนม ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม


๏ ท่านออกเดินทางไปไหว้พระธาตุพนม

สมัยก่อนชาวจังหวัดอุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียง หรืออาจจะกล่าวได้ว่าชาวอีสานส่วนใหญ่แทบทุกจังหวัด นิยมเดินทางไปนมัสการ พระธาตุพนม กันเป็นประจำทุกปี ส่วนใหญ่จะไปกันตอนเดือน ๓ เพ็ญ เพราะมีงานในช่วงนี้ ทางวัดจัดงานไหว้พระธาตุเป็นประจำทุกปี สมัยก่อนที่ไปมาหาสู่กันสะดวก ทางฝั่งลาวก็ข้ามน้ำมาร่วมกันเป็นจำนวนมากเหมือนกัน การเดินทางจะเดินไปด้วยเท้าเพราะสมัยก่อนยังไม่มีรถมาก และถนนหนทางรถก็ไม่ค่อยดี

ตอนหลังๆ มาหน่อย ถึงจะมีรถไปรับ (รถรับเหมา) บางคนบางหมู่ก็จะไม่ยอมขึ้นรถไป เขาพูดกันชวนกันว่า เราเดินไปจึงจะได้บุญมาก ได้บุญทุกก้าวเดิน เห็นพวกโยมแม่เคยไปกัน ถ้าขึ้นรถไปกลัวจะไม่ได้บุญมาก

การเดินทางก็เดินตามทางเกวียน เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน ค่ำไหนนอนนั่น อาหารและน้ำก็อาศัยขอตามหมู่บ้านที่ผ่านไป แต่ชาวอีสานเดิมก็มีดีอยู่อย่าง คือ เวลามีแขกมาพัก ส่วนมากจะพักในวัดกัน

พอตกกลางคืนถึงเวลากินข้าว ชาวบ้านจะพากันเอาข้าวเอาอาหารมาส่ง สุดแล้วแต่เขาจะมีอะไร มีน้ำพริก หรือปลาร้า ผัก เหล่านี้เป็นต้น จะไม่ค่อยได้ซื้อกันเหมือนสมัยทุกวันนี้

พวกหนุ่มสาวก็ลงมาคุยกันก็มี เพราะไปแต่ละหมู่ แต่ละคณะก็มีทั้งหนุ่มทั้งแก่ ถ้าไปอย่างนี้สมัยก่อนจะต้องมีคนแก่ไปด้วย ถ้าไม่มีคนแก่ไปด้วย หญิงสาวจะไม่ยอมไปเด็ดขาด ต้องอาศัยคนแก่

ในระหว่างทางที่เดินไป บางแห่งก็ร่มรื่นด้วยแมกไม้ ทุกคนดูจะมีความสุขที่จะได้ไปไหว้พระธาตุพนม และการเดินทางก็ปลอดภัย ปราศจากอุบัติเหตุและโจรผู้ร้าย บางพวกก็เป่าแคนร้องรำกันไป เป็นที่สนุกสนานตลอดระยะทาง

สำหรับท่านพระอาจารย์นั้นก็ได้เดินทางไปเหมือนกัน พอไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชื่อบ้านตากแดด อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ท่านทราบว่ามีถ้ำที่ภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งเป็นภูเขาที่ไม่ใหญ่เท่าไรนัก ชื่อว่า ภูทอก มีถ้ำ

แล้วเมื่อท่านพระอาจารย์และหมู่ไปถึง ก็คิดอยากจะไปพักในถ้ำ เพราะท่านยังไม่เคยเที่ยวในถ้ำมาก่อนเลย ถามชาวบ้าน ชาวบ้านเขาก็ห้ามว่าครูบาจะอยู่ได้หรือ ถ้ำนี้เข็ดมากนะ (แรงมากนะ)

เมื่อ ๒-๓ วันก็มีพระมาพัก แต่อยู่ไม่ได้ หนีไปกลางคืนเลย ครูบาจะอยู่ได้หรือ ชาวบ้านเขาห้าม แต่ท่านพระอาจารย์ก็อยากจะลองพักดู เลยขอให้ชาวบ้านไปส่ง เมื่อเขาตามไปส่งถึงถ้ำแล้วเขาก็กลับ
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านพระอาจารย์และพระเณรที่ไปด้วยกันก็ทำข้อวัตร ปัดกวาดเสร็จแล้วก็สรงน้ำสรงท่าเสร็จ เป็นเวลาจวนจะมืด ต่างองค์ต่างเดินจงกรม ส่วนท่านพระอาจารย์ท่านเดินอยู่ที่ปากถ้ำ

พอมืดเข้ามาหน่อยก็ได้ยินเสียงดังลงมาจากหลังเขา คล้ายๆ กับเสียงลมพัดหนักๆ พอดีวันนั้นเป็นวัน ๑๔ ค่ำ ไม่ทราบว่าข้างขึ้นหรือข้างแรม จำไม่ได้ เสียงนั้นก็ดังใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามาเรื่อย

แต่เมื่อเสียงนั้นใกล้เข้ามา ปรากฏว่าไม่ใช่เสียงลมเสียแล้ว เป็นเสียงงูเหมือนงูเลื้อยมา เสียงท้องของงูกวาดกับหิน ปรากฏว่าจะตัวใหญ่มากทีเดียว ในความรู้สึกของท่านว่าเหมือนกันกับลากเสื่อหวาย ธรรมดาเสื่อหวายจะกว้างกว่าเสื่อธรรมดาประมาณเมตรห้าสิบหรือสองเมตร ท่านว่าถ้าเป็นงูก็จะตัวใหญ่ขนาดนั้นแหละ

ในภูเขาลูกนี้มีหลวงพ่อองค์หนึ่งท่านประจำมานานแล้ว แต่ท่านเป็นพระมหานิกาย (มหานิกายปฏิบัติ) ท่านได้ยินเสียงด้วย ท่านก็เลยตะโกนบอกว่า ไม่เป็นไรดอก มาเยี่ยมเฉยๆ

แต่ด้วยเหตุที่ท่านพระอาจารย์ไม่เคยประสบมาก่อน และยังไม่เคยออกวิเวกตามถ้ำตามเขามาก่อนเลย ท่านก็อดกลัวไม่ได้ ท่านว่าเมื่อเสียงยังดังอยู่ไกลหน่อย เดินจงกรมก็สุดทางข้างนั้นข้างนี้ เมื่อเสียงนั้นใกล้เข้ามาๆ เดินจงกรมไปได้ครึ่งทางเพราะกลัว

พอใกล้เข้ามาจริงๆ ก็ก้าวขาไม่ออกเลย ท่านว่า นึกจะสวดกรณี ก็ได้แต่ กรณี กรณี ขยายความไปไม่ได้ ท่านว่าคนเราเมื่อกลัวถึงที่แล้วจิตจะไม่ปรุง จิตตั้งอยู่เหมือนกับเทียนอยู่ในโคมไฟ มันปรุงไม่ออก

ท่านว่า จากนั้นเสียงก็ได้เงียบไป ท่านพระอาจารย์และพระเณรก็เข้าที่ของใครของมัน สำหรับท่านพระอาจารย์มีแคร่นอน แต่องค์อื่นนอนกับพื้น

พอขึ้นแคร่แล้วก็ทำวัตร ไหว้พระ สวดมนต์ เสร็จแล้ว ก็นั่งภาวนา เมื่อได้เวลาพอสมควรแล้วก็เลยนึกว่า วันพรุ่งนี้จะต้องเดินทางต่อ จะพักสักหน่อย ถ้าไม่พักนอนเลยก็จะเหนื่อยในการเดินทาง

แล้วก็ล้มตัวลงนอน ภาวนาไปด้วย พอเคลิ้มจะหลับ ก็ได้ยินเสียงขู่ขึ้นมาจากใต้แคร่ ท่านก็รู้สึกตัวว่าเสียงที่ขู่ขึ้นมานั้นเป็นเสียงงู ท่านพระอาจารย์ก็เลยปลุกพระเณรว่า ลุกๆ งูจะกินหัวนะ ท่านเจ้าคุณพวง สุขินทริโย (สมัยนั้นท่านยังเป็น สามเณรพวง ลุล่วง) ท่านว่ายังไม่หลับ

พอหมู่ลุกขึ้นนั่งหมดแล้ว ก็ขู่ขึ้นมาอีก ท่านพระอาจารย์ก็เลยพูดว่าเดี๋ยวนะ ผมจะขีดไม้ขีดเพราะแต่ก่อนท่านไม่มีไฟฉาย มีแต่ไม้ขีดที่ใส่น้ำมันก๊าด ท่านก็ขีดไม้ขีด ยื่นแขนออกมาจากมุ้ง ท่านยังไม่ได้ลุกนะ

แล้วเสียงก็ขู่ดังขึ้นมาอีกเป็น ๓ ครั้ง ส่องดูก็ไม่มีอะไร จากนั้นเสียงก็ดังลงไปข้างล่าง เหมือนกับป่าไม้ป่าไผ่แถวนั้นจะราบไปหมด ในความรู้สึกของท่าน ท่านนอนก็ไม่เป็นหลับเป็นตื่นเพราะกลัว

เวลารุ่งเช้าขึ้นมา ป่าไม้ก็ปกติธรรมดา ท่านพระอาจารย์ก็เลยพูดกับหมู่ว่า ถ้าเราจะเดินทางวันนี้เลยก็กลัวว่าเขาจะตำหนิว่าเรากลัว นอนได้คืนเดียวก็เผ่น ท่านว่าเราพักอีกสักคืนเถอะ ก็เลยได้ค้างที่ถ้ำนั้น ๒ คืน

แต่คืนหลังนี้เงียบ ไม่มีอะไร หลวงพ่อองค์ที่อยู่นั้นเล่าให้ท่านฟังว่า ในเดือนหนึ่งจะมีอยู่ ๔ ครั้ง คือ ขึ้น ๗-๘ ค่ำ, ๑๔-๑๕ ค่ำ และแรม ๗-๘ ค่ำ, ๑๔-๑๕ ค่ำ วันนอกนั้นก็ธรรมดา ไม่มีอะไร

ในบริเวณถ้ำแห่งนี้ คนจะไปทำผิดศีลผิดธรรมไม่ได้ จะมีอันเป็นไปให้เห็น อย่างว่าไปฆ่านก หรือกบเขียด หรืออะไร ในบริเวณนั้น ก้อนหินจะกระโดดปั๊บๆ ร้องเป็นเสียงนก เสียงกบ เสียงเขียด เวลาไปดูแล้วก็เป็นก้อนหิน

ในบริเวณนั้นแต่ก่อนหลวงพ่อองค์นั้นว่า อดน้ำ กันดารน้ำใช้น้ำฉัน ท่านเลยจุดธูปเทียนอธิษฐานขอน้ำ ก็เลยปรากฏว่ามีน้ำไหลออกมาจากแอ่งหิน วันหนึ่งท่านพระอาจารย์ว่าหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า มีแม่ออกคนหนึ่ง (ผู้หญิง) ไปเก็บมะม่วงไข่ตามแถวนั้น หิวน้ำ ก็เลยมากินน้ำ เลยคิดอยากจะอาบน้ำเพราะร้อน ก็เลยอาบน้ำ แต่เข้าใจว่าคงเปลือยกาย อาบ เสร็จแล้วก็กลับบ้าน จากนั้นน้ำนั้นปรากฏว่าน้ำมีกลิ่นเหม็นคลุ้งเหมือนกับซากวัวซากควายตาย

แล้วน้ำนั้นก็ได้แห้งไป จากนั้นหลวงพ่อก็ไม่มีน้ำจะใช้จะดื่ม จึงอธิษฐานขอใหม่ พร้อมกับว่าจะบอกไม่ให้เขาทำอย่างนั้นอีก น้ำนั้นจึงได้ไหลออกมาอีกตามเคย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้