ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ หนูเดินจงกรม

หลวงพ่อพูดต่อไปว่า วันหนึ่งท่านพาชาวบ้านไปนวดดิน ท่านจะทำธาตุ (เจดีย์) นวดดินปั้นอิฐ พอกลับมาเหนื่อย เลยไม่ได้เดินจงกรม พอวันหลังก็พาชาวบ้านไปทำอีกเพราะยังไม่เสร็จ

แต่บังเอิญท่านลืมของใช้ ท่านจึงกลับมาเอาของ แต่ก่อนท่านคงจะพักอยู่ในถ้ำ พอมาถึงถ้ำแล้ว มองเห็นผิดสังเกต คือมองเห็นหนูเดินจงกรมที่ถ้ำนั้นข้างบน มีหินยื่นออกมาประมาณ ๑ คืบ หรือ ๑ ฟุต ยาวไปตามถ้ำ

หนูตัวนั้นเดินไปพอถึงสุดทางด้านนั้น ก็กลับคืน แล้วยืน ๒ ขา เอาขาหน้ากอดอก ยืนอยู่คล้ายกับกำหนดจิต พอสมควรแล้วก็เอาขาหน้าลง แล้วเดินไป พอถึงหัวท้ายข้างนั้นก็กลับหลัง แล้วยืน ๒ ขา เอาขาหน้ากอดอก ยืนอยู่คล้ายกำหนดจิตอีก แล้วเดินกลับไปกลับมาอยู่นั้น

หลวงพ่อท่านเห็นแล้วก็ระลึกได้ว่า นี่หนูมันเดินจงกรม คงจะเป็นเทวดาหรือเจ้าที่แสดงให้เห็น เพราะเมื่อวันก่อนนั้นท่านขาดการเดินจงกรม ต่อมาหลังจากนั้น ท่านจึงไม่เคยขาดการเดินจงกรม นั่งภาวนา ถึงจะเหน็ดเหนื่อยก็ต้องบังคับตัวเองทำ ไม่เคยขาด


พระธาตุพนม (ในปัจจุบัน) ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
พระธาตุศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสูงสุดของชาวอีสานและชาวไทยทั้งประเทศ


๏ ถึงพระธาตุพนม

ท่านพระอาจารย์เมื่อเดินทางถึง พระธาตุพนม แล้ว ก็ได้เข้าไปกราบนมัสการพระธาตุพนม เสร็จแล้วก็ได้ออกไปพักวิเวกแถวบ้านน้ำก่ำและหมู่บ้านริมโขงแถวนั้น หน้าเดือนกุมภาพันธ์ (เดือน ๓ นี้) มะขามหวานกำลังสุก

เขตเมืองมุก เมืองธาตุพนมนั้น มีมะขามหวานมาก เขาเอามะขามหวานมาจังหัน เห็นว่าท่านชอบฉัน เขาก็เอามาไม่ขาด ต่างคนต่างเอามาและจะให้ท่านพระอาจารย์เป็นคนตัดสินว่าของใครจะหวานกว่ากัน

เขาเอามาแข่งกัน ท่านพระอาจารย์ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ถ้าจะบอกว่าของคนนั้นดี ของคนนี้ไม่ดี ก็คงจะกลัวว่าเขาจะเสียใจและไม่เอาไปจังหันอีก ท่านก็เลยตอบเขาไปว่า มันก็หวานดีทุกต้นนะ หวานดีทุกต้นแหละ
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ คุยกันเรื่องผีปอบ

เมื่อท่านพระอาจารย์ฉันเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็เริ่มกินข้าวกัน และพูดคุยกันไป คุยกันไปถึงเรื่องผีปอบในหมู่บ้าน พอท่านพระอาจารย์ได้ยินเรื่องเขาคุยกันเรื่องผีปอบ ท่านก็พูดกับเขาว่าอาตมาก็เป็นปอบเหมือนกันนะโยม

ชาวบ้านเขาก็งงและตกใจว่าพระอะไรจะเป็นปอบ เขาเลยถามท่านว่าเป็นปอบได้อย่างไร ท่านพระอาจารย์ตอบว่า ปอบมะขามหวาน ชาวบ้านก็พากันหัวเราะ ท่านว่ายิ่งหวานเท่าไรยิ่งกินดี ปอบคนอื่นเขากินคน แต่ปอบของท่านพระอาจารย์กินมะขามหวาน


๏ เรื่องของผีปอบ (จะอธิบายเรื่องของผีปอบ)

เรื่องของผีปอบนี้ ทางอีสานโดยเฉพาะบ้านนอกเขาจะรู้กัน แต่ภาคอื่นส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก และบางคนอาจจะไม่เคยได้ยิน คนที่เป็นปอบ (เจ้าของปอบ) นี้เป็นลักษณะผีเทียม เวลาไปกินคนจะบอกชื่อของคนที่เป็นปอบนั้น

ผีปอบนี้เกิดจากคนที่เรียกวิชาบางอย่างมา แล้วรักษาตามคำสั่งของอาจารย์ไม่ได้ หรือเกิดจากการสักว่านกระจายโพงแล้วรักษาไม่ได้ก็มี หรือพวกสบู่เลือด เหล่านี้เป็นต้น มักจะเป็นปอบ

คนที่จะเป็นผีปอบนี้ เริ่มแรกมักจะฝันว่าได้กินของดิบ เช่น เนื้อดิบ ลาบดิบเหล่านี้ ทีแรกก็จะกินเป็ด กินไก่ จากนั้นก็จะกินคน ส่วนมากมักจะกินคนป่วย คนธรรมดาที่ไม่ป่วยก็มีส่วนน้อย

เวลาปอบเข้ากิน ทีแรกคนที่ถูกปอบเข้าจะมึนชาทั้งตัว ต่อไปก็จะไม่รู้สึกตัวทั้งหัวเราะทั้งร้องไห้ และหลบหน้าเป็นไปในลักษณะนี้ ผิดสังเกต ไม่เหมือนคนคนเก่า คล้ายกับผีทรง เวลาผีปอบเข้าแล้ว เขาจะเอาหมอมาขับไล่

ถ้าอยากรู้ว่าเจ้าของผีปอบเป็นใคร เขาก็เสกคาถาใส่ด้าย (ด้าย ๓ สี หรือ ๗ สี) แล้วผูกตามข้อมือ ข้อเท้า และคอ แต่เวลาผูกไม่ให้คนที่ปอบเข้าเห็น รีบผูก แล้วเสกคาถาใส่หัวว่านไฟ (หัวไพร) จี้

หรือบางทีถ้าไม่ยอมบอกชื่อ หรือไม่ยอมออกจากคนไข้ เขาก็จะตีด้วยลำข่า ลำว่านไฟ (ลำไพร) ชนิดตีให้ยอม หรือบางหมอก็จะตีด้วยก้านกล้วย ตีจนยอมบอกชื่อว่าเป็นใคร มาจากไหน เคยกินใครมาบ้าง ในทำนองนี้

เวลาผีบอปบอกว่า คนนั้นกูก็กิน คนนี้กูก็กิน ตับหวานอร่อยดีทำนองนี้แหละ เมื่อเวลาจะให้ออก เขาก็จะแก้ด้ายที่ผูกออก ขับให้ออก เมื่อผีปอบออกแล้วจะไม่รู้จักว่าตัวเป็นอะไร คล้ายๆ กับผีทรง บางทียังถามว่าคนมาทำไมมากอย่างนี้
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ผีปอบบ้านศรีฐาน

ท่านพระอาจารย์เคยเล่าสู่ฟังเรื่องปอบเข้าบ้านศรีฐาน ซึ่งเป็นบ้านเดิมของท่าน ท่านเล่าว่า มีคนคนหนึ่งเขาไปนา ไปทำงานที่นาของเขา เกิดปวดท้องหนักเลยกลับบ้าน คงจะปวดหนักมาก พ่อแม่เห็นผิดสังเกต นึกว่าผีปอบเข้าลูก กินลูก ก็เลยไปตามหมอมาขับไล่ พอหมอมาถึงก็ไม่ได้สังเกตสังกาอะไร เสกคาถาใส่ด้าย แล้วก็ผูกข้อมือ ข้อเท้า และคอ เสร็จแล้วก็หวดด้วยลำข่า หือมึงเป็นใคร มึงมาจากไหน มึงชื่ออะไรหือ มึงจะหนีหรือไม่หนี หือๆ คนที่ปวดท้องก็ร้องไห้ ว่าจะให้ผมหนีไปไหน บ้านผมอยู่นี่

แล้วยังขู่อีกว่า มึงมาจากไหน คนเจ็บก็บอกว่า มาจากนาหนองพอก หือมึงเป็นใคร ก็บอกชื่อ แล้วหมอและคนดูก็ตกใจ พากันหัวเราะกันพักใหญ่ ทั้งสงสารคนป่วย ปวดท้องก็จะตายอยู่แล้ว ยังโดนตีอีก

นี่ปอบบ้านศรีฐาน แต่ส่วนมากหมอเขาจะรู้ ส่วนหมอคนนี้อะไรก็ไม่ทราบ คงจะเรียนมาใหม่แหละดูท่า ท่านเคยเล่าให้ฟังสนุกๆ


พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

๏ พบพระอาจารย์มั่นครั้งแรก

ครั้นเมื่อท่านพระอาจารย์ได้พักกับชาวบ้านแถวริมแม่น้ำโขงพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้เดินทางต่อไปทางจังหวัดสกลนคร โดยมุ่งหน้าจะไปกราบนมัสการและฟังคำอบรมสั่งสอนจาก ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

เนื่องจากวัดป่าบ้านหนองผือนั้นเป็นวัดเล็ก แต่พระเณรมีมากที่ต้องการอบรมศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์จึงไม่อาจจำพรรษาที่นั้นได้ จำเป็นต้องไปจำพรรษาอยู่ที่วัดใกล้ๆ เพราะกุฏิมีจำกัด

ในระยะนั้นเข้าใจว่า ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน คงอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น เมื่อพระที่อยู่เก่าออกวิเวกและมีกุฏิว่าง ท่านจึงมีโอกาสเข้ามาปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น

พอสมควรแก่เวลา แล้วจึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มั่นออกไปวิเวก
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 15:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พรรษาที่ ๕-๖

ในพรรษาที่ ๕ ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านนาหัวช้าง บ้านบะทอง อำเภอพรรณานิคม โดยมี ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นผู้นำ ปัจจุบันวัดป่าบ้านนาหัวช้างนั้นคือ วัดป่าอุดมสมพร

ในพรรษาที่ ๖ นั้น ท่านพระอาจารย์ได้จำพรรษาอยู่กับ ท่านพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ที่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อำเภอพรรณานิคม ในช่วงนี้ท่านเล่าว่า การภาวนาเริ่มจะยาก คือว่าท่านผ่านทุกขเวทนาไม่ได้

พอนั่งภาวนาเป็นเวลานานพอสมควร มักจะเกิดทุกขเวทนาใหญ่คือทุกเวทนากล้ามาก ท่านได้ต่อสู้มาหลายครั้งหลายหนแต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะได้ ท่านจึงได้กราบเรียนถึงประสบการณ์นี้ถวายท่านพระอาจารย์มหาบัวทราบ

พอท่านพระอาจารย์มหาบัวทราบแล้ว ก็แนะนำวิธีการต่อสู้กับทุกขเวทนาให้ฟัง โดยให้ใช้สติปัญญาพิจารณาแยกธาตุขันธ์ ท่านได้นำอุบายที่ได้รับฟังมานั้นมาปฏิบัติ

ด้วยการตั้งสัจจะว่า จะสู้กับทุกขเวทนานี้แบบสละชีวิต เพื่อให้รู้เห็นความจริงของทุกข์ ถึงแม้จะปวดหนักปวดเบาขนาดไหน ก็จะไม่ยอมลุกหนีจะปล่อยให้มันออกเลย


๏ ต่อสู้กับเวทนาใหญ่

เมื่อท่านพระอาจารย์ได้อุบายจากท่านพระอาจารย์มหาบัวแล้ว ได้เวลาท่านก็เตรียมนั่งชนิดว่าแต่งตัวเต็มยศ คือ ห่มจีวร ใส่สังฆาฏิ แล้วนั่ง โดยตั้งใจเอาไว้ว่า ถ้าผ่านทุกขเวทนานี้ไม่ได้แล้ว จะไม่ยอมลุกจากที่เด็ดขาด

เวลาต่อสู้อยู่นั้น มันทุกข์มาก เจ็บปวดมาก ผิดกันกับทุกขเวทนาที่เคยผ่านมา ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจึงได้ตั้งชื่อนี้เอาว่า ทุกขเวทนาใหญ่ ซึ่งไม่มีในตำรา ท่านว่ามันทุกข์จนเหงื่อหรืออะไรภาษาอีสานเขานิยมว่า ยางตาย ออกเปียกหมดทั้งตัว

ท่านว่าเวลายกมือขึ้นดู เหงื่อ (ยางตาย) จะหยดปั๊บๆ ตามนิ้วมือ ท่านว่ามันทุกข์ขนาดนั้นนะ แต่ปรากฏว่าท่านก็ผ่านไปได้ จิตสงบลงรวมผิดปกติเป็นอัศจรรย์ ทำให้ท่านมีกำลังใจในการปฏิบัติมาก

และจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าทุกขเวทนาใหญ่นั้นได้เกิดขึ้นอีกเลย ท่านว่าจิตมันเปลี่ยนไปคนละอย่างกับสมัยที่ยังสู้มันไม่ได้ คือ เวลานั่งไปทุกขเวทนาทำท่าจะเกิดขึ้น จิตมันไม่กลัวเหมือนแต่ก่อน ท่านว่ากลับดีใจว่าเราจะได้กำลังใจอีกแล้ว เพราะการต่อสู้แบบนี้ท่านว่าได้กำลังใจคุ้มค่า จึงเกิดความดีใจ แต่เมื่อเรารับรู้มันแล้ว มันก็ไม่เกิด จะเกิดขึ้นก็ธรรมดา ไม่ใช่เวทนาใหญ่แบบนั้น


หลวงปู่ขาว อนาลโย
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 16:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ เที่ยววิเวกไปทางสว่างแดนดิน ส่องดาว วริชภูมิ

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์ก็ออกวิเวก โดยเดินทางไปทางอำเภอสว่างแดนดิน อำเภอส่องดาว และอำเภอวาริชภูมิ ท่านได้เคยไปพักอยู่กับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งสมัยคราวนั้นท่านพักอยู่ที่หวายสนอย

ท่านเล่าว่า ตอนพักอยู่กับหลวงปู่ขาวนั้น คงจะเป็นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ท่านได้เล่าถึงความอดอยากเพราะฝนแล้ง ชาวบ้านอดข้าวกัน ไปบิณฑบาตไม่พอฉัน ต้องอาศัยแม่ชีและสามเณรหาหัวมันและผักเห็ดมาเสริม พอได้ทำความเพียร แต่อย่างไรก็ตามการพักอยู่กับหลวงปู่ขาวที่หวายสนอย (ภูเหล็ก) อำเภอส่องดาว นั้น ท่านว่าการภาวนาดีมาก นอนนิดเดียวก็อิ่ม จิตสงบละเอียดมาก

ทั้งหลวงปู่ขาวท่านก็ทำความเพียร คือโดยมากท่านจะไม่ค่อยเทศน์ แต่ท่านทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ปกติท่านเป็นคนที่พูดน้อย แต่ทำความเพียร เดินจงกรม นั่งภาวนามาก

สมัยที่ท่านพักอยู่นั้นก็มีเรื่องที่ขบขันอยู่เรื่องหนึ่ง คือ พระเณรไปบิณฑบาต ท่านได้เห็นผักกระโดนอยู่ริมทาง ท่านจึงจำเอาไว้ว่าขากลับจะให้เณรเก็บเอา พอบิณฑบาตกลับ ก็สังเกตมาตามทาง

พอถึงพุ่มผักกระโดนก็ชี้บอกเณรว่า นี่เณรเอาเลยในพุ่มนั้น บังเอิญวันนั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งเขาจะไปไร่ เห็นพระเขาก็หลบเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในพุ่มนั้น พอได้ยินเสียงพระและพูดว่า เณรเอาเลย เขาก็ตกใจ ขยับตัว

ท่านจึงได้เห็น เลยต่างคนต่างอาย ผักกระโดนก็ไม่เอา หัวเราะกันตามทาง องค์ที่พูดนั้นไม่ใช่ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง แต่เป็น ท่านพระอาจารย์สม ซึ่งท่านก็ได้มรณภาพไปแล้ว


พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ กับ หลวงปู่ขาว อนาลโย
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 16:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พรรษาที่ ๗-๘

พรรษาที่ ๗ ไม่ทราบว่าท่านจำพรรษาที่ไหน ที่ถ้ำเป็ดท่านก็เคยพัก พักอยู่กับ ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ (วัดป่านิโครธาราม) บ้านหนองบัวบาน สมัยนั้นท่านอยู่ถ้ำเป็ด ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ที่ถ้ำเป็ดนี้ภาวนาไม่ค่อยจะดี จะเป็นเพราะอากาศหรืออย่างไรไม่ทราบ

ท่านว่าที่ถ้ำเป็ดนี้ง่วงนอนเก่ง นอนไม่รู้จักอิ่ม อาหารการฉันก็อดอยากเหมือนกัน ท่านว่ากล้วยน้ำว้าใบเดียวแบ่งกัน ๔ องค์ ต้องอาศัยปลาร้าที่เตรียมไป ให้เณรเอาออกวันละนิด แบ่งกันฉัน แต่เวลาฉันแล้วง่วงนอนเก่ง


๏ ไปรับโยมพ่อมาบวช

เมื่อพรรษาที่ ๗ ล่วงแล้ว ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็กลับบ้านศรีฐาน เพื่อเยี่ยมโยมพ่อ-โยมแม่ของท่าน และได้นำโยมพ่อของท่านไปด้วย ไปบวชเป็นตาปะขาว แล้วฝากโยมพ่อของท่านไว้กับท่านพระอาจารย์อ่อน ครั้นต่อมาโยมพ่อของท่านก็ได้บวชเป็นพระ


(องค์ยืน) พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 16:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์วัน อุตฺตโม

๏ วิเวกผ่านดงสีชมพู

สำหรับท่านพระอาจารย์ก็ได้เดินทางโดยมุ่งหน้าไปทางจังหวัดอุดธานี และหนองคาย ในระหว่างทางที่จะไปมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าน ดงสีชมพู ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นดงหนามป่าทึบอยู่มาก และเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด

พวกชาวบ้านริมดง เขาพากันห้ามไม่อยากให้ท่านเดินทางไปเพราะท่านไปองค์เดียว เขาเกรงว่าจะหลงทาง ไม่สามารถจะข้ามดงไปได้ในเวลาค่ำมืด ถ้าค้างคืนในดงจะต้องตายแน่ เนื่องจากเสือ ช้าง หมี สัตว์ร้ายเหล่านี้ชุมมาก ท่านหาได้ฟังคำทักท้วงของชาวบ้านซึ่งหวังดีต่อท่านไม่ ด้วยท่านมีความเด็ดเดี่ยวอยู่ว่าตายเป็นตายจะต้องข้ามดงสีชมพูให้ได้ และให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อนตะวันตกดินด้วย

ท่านจึงตัดสินใจเดินเข้าสู่ดงสีชมพูทั้งที่ไม่รู้จักทาง โดยสังเกตดวงอาทิตย์เป็นเข็มทิศในการเดินทาง ท่านได้บริกรรม พุท โธ, พุท โธ ไปตลอดระยะทางที่ท่านเดินไปในดงนั้น

ซึ่งเต็มไปด้วยรอยเท้าช้าง รอยเท้าเสือ และสัตว์ต่างๆ เต็มไปด้วยขี้ช้างและรอยสัตว์ปะปนกัน คล้ายกับสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้าน ท่านเดินมุ่งหน้าไปและระมัดระวังจิตของท่านไม่ให้ส่งออกภายนอกเลย

กำหนดความรู้ พุท โธ ติดแนบแน่นกับจิต เดินทั้งวันตั้งแต่ฉันจังหันเสร็จ ยามเมื่อหิวกระหายน้ำ ก็ได้อาศัยน้ำตามหนองซึ่งสัตว์ป่าลงกิน ทั้งขี้ทั้งเยี่ยวใส่ ฉันพอทาคอท่านว่า

เพราะการเดินทางนั้น ไม่ได้เอาน้ำไปด้วย เอาไปแต่กระบอกกรองน้ำ ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างนั้น ถ้าจะเอาน้ำไปด้วยแล้ว ก็จะฉันแต่น้ำเมื่อหิว แล้วการเดินทางจะไปไม่ได้ไกล น้ำจะลงพื้น เท้าจะพองเดินไม่ได้

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านจึงไม่เอาน้ำติดตัวไปด้วย และจะได้ลดความหนักในการเดินทาง เพราะแต่บริขารที่จำเป็นก็หนักพอแล้ว ผลที่สุดท่านก็ได้เดินทางผ่านดงสีชมพูไปได้ในวันนั้นโดยปลอดภัยเมื่อเวลาพลบค่ำ สังเกตได้จากการเห็นหมู่บ้านซึ่งปลูกอาศัยอยู่ตามริมดง ก็ทราบว่าถึงที่จุดหมายปลายทางแล้ว

18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 16:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แล้วท่านก็พักวิเวกอยู่ในเขตอำเภอผือนั้น ตามถ้ำม่วง ถ้ำจันฑคาด ถ้ำหีบแถวนั้นพอสมควรแล้ว ก็เดินทางต่อไปทางอำเภอท่าบ่อ และบ้านศรีเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่

ท่านได้จำพรรษาที่วัดพระดอย บ้านศรีเชียงใหม่ (ชื่อทุกวันนี้ไม่ทราบ) ในพรรษานั้นท่านป่วยเป็นไข้ เป็นไข้หนัก และพระเณรก็เป็นไข้กันหลายองค์ แต่ท่านพระอาจารย์เล่าว่า มักจะได้กำลังใจเมื่อเวลาป่วยไข้

เพราะสมัยแต่ก่อนไม่ค่อยมีหมอ มีหมอก็หมอชาวบ้าน อาศํยยาต้มและยาฝน ซึ่งบางทีก็ไม่ค่อยจะหายง่าย และมีเณรองค์หนึ่งซึ่งจำพรรษาด้วยกัน เณรองค์นั้นก็ป่วยและหายก่อน

เวลาพอเดินได้เณรนั้นก็เดินไปถามท่านพระอาจารย์ว่า ครูบาเป็นอย่างไร ยังไข้อยู่หรือ ท่านตอบเณรว่า ยังไข้อยู่ แล้วท่านพระอาจารย์ถามเณรว่า เณรล่ะ หายหรือยัง เณรนั้นตอบว่า หายพอเดินได้ เณรเลยพูดต่อไปว่า โอ่ย ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ให้ผมเป็นอีกซักทีก็ได้ครูบา ท่านพระอาจารย์ก็หัวเราะ เณรนั้นออกจะไม่ค่อยเต็มบาทเท่าไร

ตอนที่ไปเที่ยววิเวกด้วยกันก็มีเรื่องขบขันหลายอย่าง ที่พักจำพรรษาอยู่ด้วยกันในปีนั้นก็มี ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ, ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม, ท่านพระอาจารย์สม และท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร มีหลายองค์ด้วยกัน (ปัจจุบันทุกองค์ได้มรณภาพไปหมดแล้ว)

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อของท่านถึงแก่กรรมที่หมู่บ้านกุดสิม อำเภอบัวขาว (อำเภอกุฉินารายณ์) จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ อันเป็นพรรษาที่ ๘ ล่วงแล้ว

ท่านจึงเดินทางกลับบ้านศรีฐานเพื่อทำบุญให้กับหลวงพ่อของท่าน แล้วพักอยู่บ้านนานพอสมควร จึงได้เดินทางออกวิเวกต่อไปทางจังหวัดนครพนม เขตอำเภอมุกดาหาร อำเภอคำชะอี


กองทัพธรรมพระป่ากรรมฐาน สานุศิษย์สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
(จากซ้ายไปขวา) หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ, หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร,
พระอาจารย์กว่า สุมโน, หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์ชม (ไม่ทราบฉายา)
หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ, หลวงปู่อ่อนศรี สุเมโธ, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 16:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พรรษาที่ ๙-๑๑
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านห้วยทราย (วัดป่าวิเวกวัฒนาราม)


ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๗ เป็นพรรษาที่ ๙ ถึงพรรษาที่ ๑๑ ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านห้วยทราย ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดมุกดาหาร โดยมี ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นผู้นำ

ในยุคสมัยนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัวท่านเข้มงวดกวดขันกับพระเณรที่ไปปฏิบัติกับท่านมาก ยามค่ำคืนท่านพระอาจารย์มหาบัวจะลงเดินตรวจพระเณรในวัดโดยไม่ใช้ไฟฉาย ว่าพระเณรองค์ไหนทำความเพียรอยู่หรือเปล่า

ถ้ามองเห็นจุดไฟอยู่ท่านจะไม่เข้าไป ถ้าองค์ไหนดับไฟท่านจะเข้าไป เข้าไปจนใต้ถุนกุฏิแล้วฟังเสียงว่านอนหลับหรือเปล่า หรือนั่งภาวนา เพราะคนที่นอนหลับส่วนมาก เสียงหายใจจะแรงกว่าธรรมดาที่ไม่หลับ

ถ้าหากว่าองค์ไหนนอนหลับก่อน ๔ ทุ่มแล้ว พอตอนเช้าประมาณตี ๔ ท่านจะเดินตรงไปที่กุฏิองค์นั้นแหละ และถ้ายังไม่ตื่น ตอนเช้าลงศาลาจะเตรียมบิณฑบาต ท่านจะเทศน์ว่าให้พระเณรองค์นั้น

ถ้าท่านได้เตือนถึง ๓ ครั้งแล้วไม่ดีขึ้น ท่านจะขับไล่ออกจากวัดให้ไปอยู่วัดอื่น โดยพูดว่า “ผมสอนท่านไม่ได้แล้วนิมนต์ออกไปจากวัดเสีย”

ฉะนั้น พระเณรยุคบ้านห้วยทรายภายใต้การนำของท่านพระอาจารย์มหาบัว จึงมีความพากเพียรในด้านการทำสมาธิภาวนาเป็นอย่างมาก ต่างองค์ต่างหลักกัน (ภาษากลางไม่ทราบ) คือ บางองค์เวลาหมู่เดินจงกรมจะขึ้นกุฏิแล้วไม่จุดไฟ ทำท่าเหมือนว่านอน แต่ความจริงนั่งภาวนา

เวลาหมู่ขึ้นจากทางเดินจงกรมหมดแล้วจึงค่อยลงเดินก็มี ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นเหมือนกับว่า พระเณรในวัดนั้นจะไม่ค้างโลกกัน พอตื่นนอนขึ้นมา มองไปเห็นแต่แสงไฟ (แสงโคมไฟ) สว่างไสวตามกุฏิของพระเณร เหมือนกับไม่นอนกัน

สำหรับท่านพระอาจารย์ ท่านก็เร่งความเพียรเต็มที่จนทางเดินจงกรมลึกเป็นร่อง พระเณรได้ถมทางเดินจงกรมให้บ่อย ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งท่านเดินจงกรมอยู่ ระยะนั้นเป็นหน้าหนาว อากาศหนาวมาก ท่านก็ห่มผ้า ๓-๔ ผืนเดินจงกรม พอเดินไปๆ ดึกเข้ามาท่านก็ง่วงนอนมาก เพราะคราวนั้นท่านอดนอนได้ ๓ คืนแล้ว เดินไปผ้าห่มผืนที่อยู่นอกหลุดออกตกลง ท่านก็ไม่ทราบ พอเดินไปถึงหัวทางเดินจงกรม หันกลับมาเห็นผ้าห่มตัวเองก็ตกใจ ท่านนึกว่าเสือหรืออะไรหนอ
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 16:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เพราะสมัยนั้นยังมี เดือนก็ไม่สว่างเท่าไร ท่านจึงกระทืบเท้าดู มันก็นิ่ง เอ๊ะมันอะไรนา เลยค่อยๆ ขยับเท้าเข้าไปก้มดูใกล้ๆ แล้วเอาเท้าเขี่ยดู ที่ไหนได้ เป็นผ้าห่ม ท่านก็หัวเราะคนเดียวพักใหญ่ เลยหายง่วง

การเป็นอยู่ของพระเณรสมัยนั้นอยู่กันอย่างประหยัด บิณฑบาตแบบธุดงควัตร คือ ชาวบ้านเขาจะหมกห่ออาหารใส่บาตรพร้อมกับข้าวเหนียว ไม่ได้นำอาหารตามมาส่งที่วัด

แต่ว่าศรัทธาของชาวบ้านแถวนั้นเขาดีมากทั้งๆ ที่ยากจน อดอยาก โดยเฉพาะแล้วเรื่องอาหาร เขามีกบหรือเขียดตัวเดียว อย่างนี้เขาก็แบ่งใส่บาตรได้ ๔ บาตร ๔ องค์ก็มี ในคราวที่อดอยาก มะเขือลูกเดียวอย่างนี้ เขาจะผ่าใส่บาตรได้ ๔ องค์ ทั้งนี้ เนื่องจากทางภาคอีสานกันดารน้ำโดยเฉพาะหน้าแล้ง บางแห่งต้องไปกินน้ำในสระ พร้อมทั้งตักไปเอาไกลด้วยเป็นระยะทาง ๒-๓ กิโลเมตรก็มี เพราะขุดบ่อไม่มีน้ำ ถึงจะมีบางแห่งน้ำก็เค็มกินไม่ได้ และทำให้สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือความอดอยากเรื่องอาหารการกิน

ภาคอื่นบางคนมักจะว่าคนอีสานนี้กินไม่เลือก ก็เพราะเหตุว่าความที่มันหาไม่ได้นั้นเอง มีอะไรเขาก็จับกินไป พวกน้ำร้อน น้ำชา โกโก้ กาแฟ และน้ำตาล อย่างนี้ ไม่ต้องถามหา แม้แต่ภาพยังไม่เคยเห็นเลย

อาศัยเอาแก่นไม้ รากไม้ ใบไม้มาต้มฉัน นานๆ จะมีน้ำอ้อยก้อนทีหนึ่ง แต่ก้อนน้ำอ้อยสมัยนั้นอร่อยมาก ก้อนเดียวแบ่งกันฉัน ๓-๔ องค์ก็ยังพอและอร่อยด้วย ไม่เหมือนน้ำอ้อยสมัยทุกวันนี้

บางปีพระเณรป่วยเป็นไข้มาลาเรียเกือบหมดทั้งวัด ยังเหลือแต่ท่านพระอาจารย์มหาบัวและพระอีกองค์หนึ่งก็มี เป็นผู้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ปัดกวาดลานวัด และตักน้ำใช้น้ำฉัน

บางครั้งท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็ป่วยหนัก จนชาวบ้านได้พากันออกมานอนเฝ้ารักษา แต่ท่านพระอาจารย์เคยเล่าว่า ได้กำลังใจดีในเวลาป่วย เพราะไม่มีที่พึ่ง จะพึ่งกายก็ไม่สบายป่วยไข้ ได้มีโอกาสพิจารณามาก

เมื่อพิจารณากันอยู่ไม่หยุดไม่ถอย มันก็รู้ก็เข้าใจในเรื่องของกายและจิต ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านได้กำลังใจเพราะการป่วยไข้นี้มีมากๆ เลย และกำลังใจท่านก็เข้มแข็ง ไม่เหมือนพระนักปฏิบัติทุกวันนี้

เอะอะก็หมอ เอะอะก็หมอ นิโรธของนักปฏิบัติก็เลยอยู่กับหมอ ไม่ได้อยู่กับธรรมะของพระพุทธเจ้า กำลังใจก็อ่อนแอเอามากๆ เลย เห็นแล้วบางทีก็หนหวย (รำคาญ)

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๗ นี้ พอตกหน้าแล้งบางปีท่านจะออกไปเที่ยววิเวกตามที่ต่างๆ เช่น ภูผากูด ภูเก้า ภูจ้อก้อ แถวนั้น ท่านพระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่งว่า ท่านได้ไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองสูง

ปัจจุบันบ้านหนองสูงเป็นกิ่งอำเภอ และชื่อจริงของวัดก็ไม่ทราบ พักอยู่กับ ท่านพระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก มีชาวบ้านหนองแต้ ถ้าจำไม่ผิด เขาไปนิมนต์ให้ท่านไปดูที่ให้เขา (ไปเหยียบที่ให้เขา) เพราะที่หัวนาของเขานั้นแรงมาก (เข็ดมาก) จะไปตัดไม้ตัดฟืนในบริเวณนั้นไม่ได้ จะต้องมีอันเป็นไปให้เห็น จนเป็นที่รู้จักกันว่าที่นั้นมันแรง เขามานิมนต์ท่าน ท่านก็ไป แต่นี่ไม่ทราบว่าท่านไปด้วยกัน ๒ องค์ หรือองค์เดียว จำไม่ได้

พอไปถึงแล้ว เขาก็พาท่านเข้าไปในที่แห่งนั้น ที่นั้นจะทำเป็นหอเล็กๆ ไว้ เมื่อท่านพระอาจารย์ไปถึงแล้ว ท่านก็ว่า ไหนผี มันอยู่ตรงไหน แล้วท่านก็ขี้ใส่นั้น ไม่ทราบว่าท่านปวดขี้มาแต่เมื่อไร เสร็จแล้วออกมา ท่านว่า ทำไปเลย มันไม่มีผีดอกน่า ไม่เห็นอะไรนี่ แล้วท่านก็กลับวัด พอกลับมาถึงวัด ถึงเวลาปัดกวาด ทำข้อวัตรก็ทำ สรงน้ำสรงท่า เดินจงกรม พอค่ำดึกพอสมควรก็ขึ้นกุฏิ ไหว้พระสวดมนต์และนั่งภาวนา แล้วก็พักผ่อนหลับนอน
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้