ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ ครูบาอภิชัย (ขาวปี) วัดพระพุทธบาทผาหนาม ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ สร้างวัดพระบาทตะเมาะ

ก็พอดีท่านคิดได้ว่ามีญาติทางพ่อของท่านเป็นกำนันอยู่ที่ตำบลดอยเต่า จึงให้คนไปบอกให้มาพบท่าน เมื่อกำนันมาถึงแล้วท่านก็ถามว่า "อาตมาจะไปอยู่ที่พระบาทตะเมาะได้หรือไม่" กำนันดอยเต่าจึงไปปรึกษากับทางอำเภอ ๆ จึงบอกว่า ดีแล้ว ให้ไปบอกท่านให้มาอยู่เร็วๆ เถิด ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ไปอยู่พระบาทตะเมาะ โดยสร้างอารามขึ้นที่นั้น ด้วยความร่วมมือทั้งฝ่ายนายอำเภอและป่าไม้อำเภอ ไปจองที่กว้าง 500 วา ยาว 500 วา และที่พระบาทตะเมาะนี้เอง ท่านได้สร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทหนึ่งหลัง มีเจดีย์ตั้งอยู่บนวิหารถึง 9 ยอด นับเป็นศิลปะที่งดงาม ปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งท่านจะไปเที่ยวชมได้ นับเป็นวิเวกสถานที่เหมาะกับผู้ใฝ่หาความสงบที่เหมาะมากอีกแห่งหนึ่ง

ในเรื่องการสร้างวัดพระบาทตะเมาะนี้ ครูบาชัยยะวงศา แห่งวัดพระบาทห้วยต้มท่านได้เล่าให้ฟังว่า ครูบาอภิชัยขาวปีเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ และจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2467 รวมเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ 33 ปี คำว่า “ตะเมาะ” นั้น เป็นคำพูดที่เพี้ยนมาจากคำว่า “เต่าหมอบ” เพราะที่วัดมีก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายเต่าหมอบอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อพูดคำว่าเต่าหมอบ นานเข้าจึงเพี้ยนเป็น ตะเมาะ

ครูบาชัยยะวงศาได้บูรณะสถานที่สำคัญหลายแห่งภายในวัด เช่น มณฑป ๙ ยอดครอบรอยพระพุทธบาท ฯลฯ และครูบาชัยยะวงศาได้มาช่วยครูบาอภิชัยขาวปีก่อสร้างเป็นเวลา 5 ปี สิ่งก่อสร้างที่เหลือไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชมอีกอย่างก็คือ กำแพงซึ่งทำจากหินล้วน ไม่มีการใช้ปูนแต่อย่างใด กำแพงหินดังกล่าวเป็นแนวยาว 2 ชั้น แต่ละชั้นยาวประมาณ 100 เมตร

นอกจากแนวกำแพงหินแล้ว ในปี พ.ศ. 2500 ครูบาชัยยะวงศายังได้สร้างมณฑปไม้ไว้ด้วย มณฑปนี้เป็นรูปทรงล้านนา และทำจากไม้ทั้งหลัง ซึ่งปัจจุบันจะหาช่างทำได้ยาก เพราะมณฑปทั้งหลัง ใช้การเข้าลิ่มสลักด้วยไม้ทั้งสิ้น จะใช้นอตเหล็กยึดเพียงไม่กี่ตัว ครูบาชัยยะวงศาเล่าให้ฟังว่า มณฑปนี้เป็นสิ่งก่อสร้างที่ล้ำค่าสำหรับท่าน เพราะต้องผจญกับอุปสรรคต่าง ๆ นานับปการ เนื่องจากเขตวัดพระพุทธบาทตะเมาะขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่ ในขณะนั้นทางการจังหวัดเชียงใหม่เข้มงวดเรื่องป่าไม้มาก แม้จะนำมาสร้างเป็นถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาก็ยังเป็นการลำบาก

ในระหว่างที่ครูบาชัยยะวงศามาทำการก่อสร้างที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะอยู่นั้น ท่านต้องพักผ่อนจำวัดอยู่ที่ห้วยน้ำอุ่น (ปัจจุบันเป็นวัดห้วยน้ำอุ่น มีครูบาบุญยังเป็นเจ้าอาวาส) ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน ห่างจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะ 5 กิโลเมตร

เหตุที่ครูบาชัยยะวงศาไม่สามารถจำวัดและให้คณะศรัทธาพักที่ วัดพระพุทธบาทตะเมาะได้ เนื่องจากขณะนั้นครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่และคณะสงฆ์ของจังหวัดเชียงใหม่มีความเข้มงวด ในระหว่างที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น ศิษย์ของครูบาอภิชัยขาวปีเกิดมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่และคณะสงฆ์ของบ้านเมือง จนกระทั่งพระปันถูกจับสึกให้นุ่งห่มขาว (ครูบาขาวคำปัน) เป็นเหตุให้ครูบาอภิชัยขาวปี ต้องย้ายจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะไปอยู่วัดพระธาตุห้าดวง และ วัดพระพุทธบาทผาหนาม ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และเมื่อสร้างมณฑปเสร็จแล้ว ก็ทำการฉลองกันอย่างรีบเร่ง เมื่อฉลองเสร็จครูบาชัยยะวงศาก็ติดตามครูบาอภิชัยขาวปีไปพำนักยังสถานที่ อื่นเพื่อสร้างบารมีต่อไป

(คัดลอกจาก หนังสือประวัติครูบาชัยยะวงศา ถ่ายทอดโดย สิริวฑฺฒโนภิกขุ )
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พ.ศ. 2470 ครูบาอภิชัยขาวปี ได้บูรณะพระธาตุเมืองเก่าห้วยลึก บ้านท่าสองยาง จังหวัดตาก ขึ้นใหม่ ต่อจากที่ นายพะสุแฮ ที่เป็นศรัทธาชาวกระเหรี่ยงได้บูรณะไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ.2412 โดยในการบูรณะในปี 2470 นี้ ท่านครูบาได้เปลี่ยนรูปทรงทำเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม และในปีเดียวกัน ท่านก็ได้มาเป็นประธานในการบูรณะพระวิหารวัดพระนอนม่อนช้าง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และธรณีพระธาตุโดยรอบแต่ไม่แล้วเสร็จ ต่อมาครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณะและสร้างต่อจนเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2473

๐ ช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ

แต่ด้วยวิญญาณของนักพัฒนา ท่านก็อยู่จำพรรษาที่พระบาทตะเมาะไม่นาน ขณะนั้นครูบาศรีวิชัยกำลังสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ เชียงใหม่อยู่ ซึ่งครูบาศรีวิชัย ได้กำหนดฤกษ์ที่จะลงมือขุดจอบแรกสำหรับการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 ท่านจึงพากะเหรี่ยง 500 คน ขึ้นไปช่วยทำถนนขึ้นดอยสุเทพร่วมกับอาจารย์จนแล้วเสร็จ ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2478 จึงกลับลงมาพักกับอาจารย์ที่วัดพระสิงห์

๐ อุปสมบทครั้งที่ 3

ที่วัดพระสิงห์นี้ ท่านครูบาศรีวิชัยก็อุปสมบทให้ท่านเป็นภิกษุอีกเป็นครั้งที่ 3 แต่กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าท่านไม่มีบุญพอที่จะอยู่ในผ้าเหลืองได้นาน ๆ พอท่านครูบาศรีวิชัยก็เกิดคดีต่าง ๆ นานา ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 คงทิ้งให้ท่านอยู่รักษาวัดพระสิงห์แต่เพียงผู้เดียว

แต่ระหว่างการสอบสวนครูบาศรีวิชัยที่กรุงเทพฯ นั้น คณะสงฆ์เชียงใหม่ก็เปิดการสอบสวนภิกษุเจ้าอาวาสต่างๆ ที่ขอลาออกจากคณะสงฆ์มาขึ้นกับครูบาศรีวิชัยถึงขั้นมีการ "สึก" เจ้าอาวาสหลายต่อหลายวัด การสอบสวนเจ้าอาวาสวัดต่างๆ กว่า ๖๐ วัด ในเชียงใหม่และลำพูนนี้ เป็นเหตุให้มีเจ้าอาวาสหลายวัดถูกจับสึก เพราะไม่ยอมรับที่จะเข้ามาอยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ ยืนยันจะขอขึ้นกับครูบาศรีวิชัยต่อไป

เจ้าอาวาสบางวัดก็หนีไปจากวัดเฉยๆ ไม่ยอมให้การกับคณะสงฆ์เชียงใหม่ นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ระหว่างที่ครูบาศรีวิชัยอยู่ในกรุงเทพฯ อันนับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่คณะสงฆ์เกิดการแตกแยกกันขึ้นอย่างขนาดใหญ่ในหัวเมืองพายัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เชียงใหม่ และลำพูนกันมาอีกหลายเดือน ตลอดระยะเวลาที่ครูบาศรีวิชัยถูกส่งไปอบรมและสอบสวนที่กรุงเทพฯ

จากหนังสือประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย (ฉบับสมบูรณ์)
พระครูบุญญาภินันท์ (บุญชู จันทสิริ) รวบรวม และเรียบเรียง

ด้วยจิตใจที่เป็นห่วงในตัวอาจารย์ของท่านยิ่งนัก แล้วก็มีมารมาผจญอีกจนได้เมื่อ มหาสุดใจ วัดเกตุการามกับท่านพระครูวัดพันอ้นรูปหนึ่งมาหลอกให้ท่านสึกเสีย เพราะมิฉะนั้น ท่านจะเอาครูบาศรีวิชัยจำคุก ท่านจึงสึกเป็นชีปะขาวอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งสุดท้าย แล้วออกจากวัดพระสิงห์กลับไปพักที่วัดบ้านปางด้วยความเหงาใจ แต่ท่านก็ไม่ละทิ้งงานก่อสร้าง จึงได้สร้างกุฏิที่วัดบ้านปางอีก 1 หลัง แล้วกลับไปอยู่ที่พระบาทตะเมาะตามเดิม
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ สูญเสียอาจารย์

ชีวิตท่านช่วงนี้ คงมุ่งอยู่กับงานก่อสร้างไม่หยุดหย่อน จากที่นี่ย้ายไปที่นั่นไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งครูบาศรีวิชัยพ้นจากมลทินที่ถูกกล่าวหา ท่ามกลางความดีใจของสาธุชนทั้งหลาย แต่ความดีใจนั้นคงมีอยู่ได้ไม่นานท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้อาพาธหนัก แล้วถึงแก่มรณภาพลงในที่สุด ในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ยังความโศกาอาดูรให้เกิดแก่มหาชนผู้เลื่อมใสโดยทั่วไป

๐ ที่วัดบ้านปาง ลำพูน

ลานนาไทยได้สูญเสียนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ หากจะเอาเสียงร่ำไห้มารวมกันแล้วไซร้เสียงแห่งความวิปโยคนี้คงได้ยินไปถึงสวรรค์ ท่านเองในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ที่ท่านอาจารย์ได้พร่ำสอนตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ก็มีความเศร้าโศกเสียใจมิใช่น้อย แต่ก็ปลงได้ด้วยธรรมสังเวชโดยอารมณ์กัมมัฏฐาน แล้วทำทุกอย่างในฐานะศิษย์จะพึงมีต่ออาจารย์ด้วยกตเวทิตาธรรม ท่านจึงสร้างเมรุหลังหนึ่งกับปราสาทหลังหนึ่งพร้อมหีบบรรจุศพ เพื่อเก็บไว้รอการฌาปนกิจต่อไปที่วัดบ้านปาง ซึ่งได้มีการฌาปนกิจศพท่านครูบาศรีวิชัยอีก 8 ปีต่อมาหลังจากมรณภาพ ณ เมรุที่ได้สร้างขึ้นที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489

หลังจากงานถวายเพลิงปลงศพท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยเสร็จแล้วในปี 2489 นั้น ท่านได้เชิญอัฐิธาตุของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยส่วนที่เป็นกะโหลกเท่าหัวแม่มือส่วนหนึ่งมาด้วย และครูบาดวงดี สุภัทฺโท ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 32 ปีและได้ติดตามท่านมาตั้งแต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพไป นำมาเก็บรักษาสักการบูชาจนถึงทุกวันนี้ จากนั้นท่านก็มาสร้างอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยทั้งที่วัดสวนดอกและวัดหมื่นสาร โดยครูบาดวงดี สุภัทฺโทได้อยู่ช่วยท่านจนเสร็จงานดังกล่าว

๐ สร้างวัดผาหนาม ที่พำนักในปัจฉิมวัย

วัดคืนยังคงหมุนไป พร้อมกับความเป็นนักก่อสร้างนักพัฒนาของท่านก็ยิ่งลือกระฉ่อนยิ่งขึ้น เมื่อขาดท่านครูบาศรีวิชัย ผู้คนก็หลั่งไหลกันมาหาท่านอย่างมืดฟ้ามัวดิน ในฐานะทายาททางธรรมของครูบาเจ้าศรีวิชัย

ระยะต่อมา เมื่อได้รับพลังอย่างท่วมท้นขึ้น ผลงานจึงยิ่งใหญ่เป็นลำดับ และกว้างขวางหากำหนดมิได้โดยไม่เคยว่างเว้น จนถึงพุทธศักราช 2507 (หมายเหตุ: ตามบทความเดิมเป็นปี 2470 - Webmaster) อายุสังขารของท่านเริ่มชราลงแล้ว คือมีอายุ 76 ปี แต่ท่านยังคงแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งนี้ อาจจะด้วยอำนาจผลบุญที่ได้บำเพ็ญมาก็ได้ จึงสมควรจะสร้างสถานที่สักแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นที่พำนักปฏิบัติธรรมในปัจฉิมวัย

ก็พอดีชาวบ้านผาหนามซึ่งอพยพจาก อ.ฮอด หนีภัยน้ำท่วมมาอยู่ที่บ้านผาหนาม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีพ่อน้อยฝน ตุ่นวงศ์ เป็นประธาน พร้อมกับชาวบ้านได้มานิมนต์ท่านให้ไปสร้างอารามใกล้เชิงดอยผาหนาม เพื่อเป็นที่พึ่งกายใจและประกอบศาสนกิจ

ท่านก็รับนิมนต์ พร้อมกับชอบใจสถานที่ดังกล่าวและ ตั้งใจว่าจะเป็นสถานที่สุดท้ายเพื่อเป็นที่พำนักและปฏิบัติธรรมของท่าน คณะศรัทธาบ้านผาหนามและศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศ จึงพร้อมใจกันก่อสร้างเป็นอารามขึ้นจากนั้น จนมีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมากมายและท่านถือที่แห่งนี้เป็นที่พำนักอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าท่านจะงดมิไปสร้าง หรือพัฒนาที่อื่นอีก แต่ยังคงไปเป็นประธานสร้างสถานที่ต่าง ๆ ควบคู่กับงานสร้างวัดผาหนามอีกตั้งหลาย ๆ แห่ง
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รายนามถาวรวัตถุบางส่วนที่ท่านสร้าง

-พ.ศ. 2483 ได้มาสร้างวัดแม่ต๋ำ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปางขึ้นในช่วงที่ท่านได้พาคณะศิษย์มาขุดภูเขาดอยผาเบ้อ ให้เป็นทางเดินข้ามชายแดนเขตติดต่อระหว่างจังหวัดลำพูน กับจังหวัดลำปาง ระยะทางยาวประมาณ 5 กิโลเมตร

-ปี พ.ศ. 2489 ครูบาผุย มหาชโย เจ้าคณะอำเภอลี้ ครูบาอินต๊ะ วัดพวงคำ ครูบาคำสุข วัดบ้านแวน ได้พิจารณาเห็นว่ามณฑปครอบรอยพระพุทธบาทห้วยต้มและสิ่งก่อสร้างทั้งหลายทั้งปวงในบริเวณวัดพระพุทธบาทห้วยต้มได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปและได้กลายเป็นวัดร้าง สมควรที่จะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เสียใหม่ จึงได้ประชุมคณะศรัทธาทั้งหลาย และตกลงกันนิมนต์ครูบาชัยยะวงศา ซึ่งท่านได้ตอบรับนิมนต์และได้เดินทางมาอยู่จำพรรษาที่วัดดังกล่าวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา เมื่อคณะศรัทธาบ้านผาลาดได้จัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ในการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว จึงได้ไปนิมนต์ครูบาอภิชัยขาวปี วัดพระบาทตะเมาะ มาตรวจและวางแผนสร้างวิหาร จากนั้นครูบาขาวปี จึงกลับไปพระบาทตะเมาะตามเดิม

-พ.ศ. 2491 สร้างวิหารวัดท่าจำปี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีครูบาดวงดี สุภัทโท ติดตามมาด้วย หลังจากนั้นครูบาดวงดีก็ได้อยู่ประจำวัดท่าจำปีตลอดมาจนมรณภาพ

-พ.ศ. 2495 สร้างอาคารโรงเรียนชุมชนศรีจอมทอง ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

-พ.ศ. 2496 ท่านได้เป็นประธานในการสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนบ้านแพะยันต์ดอยแซ่ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ที่ได้สร้างค้างคาเพียงแค่ฐานรากไว้เนื่องจากหมดเงินบริจาค

-พ.ศ. 2499 นายแก้ว เยตาสุข ซึ่งเป็นครูใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านแม่ตืนในขณะนั้น ร่วมกับ กำนันตำบลแม่ตืนพร้อมทั้ง คณะกรรมการสถานศึกษาและราษฎรภายในหมู่บ้าน ร่วมกับผู้บริหารระดับอำเภอ ได้ปรึกษาหารือกันว่า สมควรย้ายโรงเรียนชุมชนบ้านแม่ตืน ซึ่งเดิมตั้งอยู่กลางหมู่บ้านแม่ตืน มาตั้งยังที่ริมถนนตัดใหม่ คือถนนพหลโยธินจะดีกว่า เพราะจะมีความสง่างามมากกว่าที่เดิมและ สะดวกในการติดต่อราชการ และการสัญจรไปมา เมื่อมีความเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงได้ไปอาราธนานิมนต์ท่านครูบาอภิชัย ขาวปี ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของราษฎรภายในหมู่บ้าน และผู้คนทั่วไปมานั่งเป็นประธานในการจัดหาที่ดิน และได้ที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนชุมชนบ้านแม่ตืนในปัจจุบัน

-พ.ศ. 2499 นายสุรินทร์ เดชะวัง ครูใหญ่โรงเรียนบ้านปากเหมือง ตำบลขัวมุง ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้นิมนต์ท่านครูบาอภิชัย ขาวปี มาเป็นประธานร่วมกับ นายอำเภอสารภี ได้ก่อสร้างอาคารเรียน 1 หลัง 4 ห้องเรียน

-ประมาณปี 2499 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บ้านปงแม่ลอบ อ.แม่ทา จ.ลำพูน ได้นิมนต์ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี มาปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับชาวบ้าน ต่อมาในปี 2515 ชาวบ้านร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาจึงได้จัดตั้งเป็นวัดปงแม่ลอบ

-พ.ศ. 2501 ท่าน และครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (วัดพระบาทห้วยต้ม) ได้มาทำการบูรณะวัดพระธาตุห้าดวงตามที่ นาย สนิท จิตวงศ์พันธ์ ซึ่งเป็นนายอำเภอลี้ในขณะนั้น ได้อาราธนาท่านทั้งสองไว้ ซึ่งเป็นการบูรณะอีกครั้ง หลังจากที่พระครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้มาบูรณะวัดนี้ซึ่งในขณะนั้นเป็นวัดร้างไว้ จนสำเร็จ แล้วได้ทำการฉลองสมโภชองค์พระธาตุเมื่อปี พ.ศ. 2468 และเมื่อทำการฉลองสมโภชแล้ว ท่านพระครูบาศรีวิชัยจึงได้เดินทางกลับวัดบ้านปาง (อำเภอลี้) แต่วัดพระธาตุห้าดวงก็กลับร้างอีกหลังจากนั้นไม่นาน

-เมื่อปี 2501 อำเภอเถินประสบภาวะแห้งแล้ง พระธาตุวัดดอยป่าตาล ตำบลเถินบุรี จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นเจดีย์สูง 30 เมตร มีฐานจตุรัส กว้าง 9 เมตร บนยอดฉัตรของเจดีย์ มีลูกแก้วศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานไว้ ในวันขึ้น 15 ค่ำ บางเดือนลูกแก้วบนยอดเจดีย์จะแสดงอภินิหารด้วยการเปล่งแสงเป็นประกายสุกสว่าง ลูกแก้วหลุดจากยอดเจดีย์ มีผู้เก็บกลับมาไว้ เมื่อปี 2502 ครูบาอภิชัยขาวปี มาเป็นประธานยกฉัตรนำลูกแก้วขึ้นประดิษฐานไว้บนยอดเจดีย์ตามเดิม ซึ่งปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้

-ปี พ.ศ. 2497 ครูบาอุ่นเรือน สุภทฺโท วัดบ้านควน ตำบลพรหมหลวง อำเภอสันป่าตอง มาบูรณะวัดหลวงขุนวิน ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เมื่อบูรณะเสร็จได้นิมนต์ครูบาอภิชัย ขาวปี มาเป็นประธานร่วมฉลอง เมื่อปี พ.ศ. 2501
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
-พ.ศ. 2506 ครูบาขาวปีได้มาเป็นประธานในการก่อสร้างพระเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดชลประทานรังสรรค์ ต.บ้านนา อ.สามงา จ.ตาก ซึ่งเป็นวัดที่ทางราชการสร้างขึ้นเพื่อทดแทน (ผาติกรรม) วัดพระบรมธาตุลอย ซึ่งจะถูกน้ำท่วมเมื่อสร้างเขื่อนภูมิพลเสร็จ

๐ วันจากที่ยิ่งใหญ่

แล้วในปี 2514 คณะศรัทธาวัดสันทุ่งฮ่าม แห่งจังหวัดลำปาง ก็ได้มานิมนต์ท่าน เพื่อไปเป็นประธานในการก่อสร้างอีก ซึ่งท่านก็ไม่ขัดข้องด้วยความเมตตาอันมีอยู่อย่างหาขอบเขตไม่ได้ของท่าน แม้ตอนนั้นท่านจะชราภาพมากแล้ว คือมีอายุถึง 83 ปี ก็ตาม ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับตัวของท่านว่า ท่านเหนื่อยอ่อนแค่ไหน แต่ด้วยใจที่แกร่งเหมือนเพชร ท่านคงไม่ปริปากบ่น เป็นประธานให้ที่วัดสันทุ่งฮ่าม

ไม่นานคณะศรัทธาจากวัดท่าต้นธงชัย จ.สุโขทัยก็ได้มานิมนต์ท่านอีก เพื่อเป็นประธานในการสร้างพระวิหาร

วันนั้นเป็นวันที่ 2 มีนาคม 2520 ตอนนั้น ท่านเหนื่อยอ่อนมากแล้ว ท่านได้บอกผู้ใกล้ชิดว่าท่านอยากกลับอารามผาหนาม เหมือนดั่งจะรู้ตัวของท่านว่าไม่มีเวลาในการโปรดที่ไหนอีกต่อไปแล้ว แต่จะมีใครล่วงรู้ถึงข้อนี้ก็หาไม่ คงพาท่านมุ่งสู่สุโขทัยอีกต่อไป และเมื่อถึงวัดท่าต้นธงชัย ได้เพียงวันเดียว ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2520 ซึ่งตรงกับเดือน 6 เหนือ แรม 14 ค่ำ เวลา 16.00 น. ท่านได้จากไปอย่างสงบ

ข่าวการจากไปของท่านกระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ ทุกคนตกตะลึง ต่างพากันช็อกไปชั่วขณะมันเหมือนสายฟ้าที่ฟาดเปรี้ยงลงบนกลางใจของทุกคน ที่เลื่อมใสเคารพรักในตัวท่าน แล้วจากนั้น เสียงร่ำไห้ก็ระงมไปทุกมุมเมืองพวกเขาได้สูญเสียร่มโพธิ์แก้วอันร่มเย็นไพศาลไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ ตั้งแต่นี้จะหาครูบาเจ้าที่มีความเมตตาอันหาของเขตมิได้และยิ่งใหญ่ปานนี้

แต่แรกมีหลายคนไม่เชื่อและตะโกนว่าเป็นไปไม่ได้ ท่านยังอยู่และจะต้องอยู่ต่อไป ต่อเมื่อได้รับการยืนยันว่าท่านสิ้นแล้ว สิ้นแล้วจริง ๆ ก็ทุ่มตัวลงเกลือกกลิ้งร่ำไห้พิลาปรำพันอย่างน่าเวทนายิ่งนัก โอ้...ท่านผู้เป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ ป่านนี้ท่านคงเป็นสุขอยู่ ณ สรวงสวรรค์ที่สะพรั่งพร้อมด้วยทิพยวิมานอันเพริดแพร้วใหญ่โดสุดพรรณนาด้วยผลบุญแห่งการบำเพ็ญมาอย่างใหญ่หลวงเหลือคณา คงเหลือแต่ผลงานและประวัติชีวิตอันบริสุทธิ์ทิ้งไว้แด่อนุชน ได้ชื่นชม และเสวยผลเป็นอมตะชั่วกาลปาวสาน

ที่มา http://www.dharma-gateway.com/mo ... hist-index-page.htm
กราบหลวงปู่ครับ

กราบนมัสการครับ

ขอบพระคุณข้อมูลครับ
การบรรลุธรรม

ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบจริงๆ

สาธุ
   ๆ ๆ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้