ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 7986
ตอบกลับ: 26
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ ครูบาอภิชัย (ขาวปี) วัดพระพุทธบาทผาหนาม ~

[คัดลอกลิงก์]

ครูบาอภิชัย (ขาวปี)
วัดพระพุทธบาทผาหนาม อำเภอลี้ จ.ลำพูน

ประวัติและปฏิปทา

ครูบาเจ้าอภิชัย เดิมชื่อ จำปี เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2443
เป็นบุตรของพ่อเม่า และแม่จันตา ท่านกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ
ต่อมาเมื่ออายุได้ 16 ปี มารดาได้นำไปฝากให้เป็นศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดบ้านปาง
ท่านจึงได้เริ่มเรียนหนังสือ โดยท่านเป็นผู้มีนิสัยขยัน เล่าเรียนอย่างจริงจัง
อ่อนโยน ว่านอนสอนง่าย นอบน้อม
ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงมักใช้เวลาที่ท่านรับใช้ใกล้ชิดอบรมกล่อมเกลา
ถ่ายทอดความรู้ให้ด้วยความเมตตา จนท่านครูบาอภิชัยมีความรู้เป็นลำดับ
สามารถอ่านออกเขียนได้ และสวดมนต์เก่ง

๐ ชีวิตวัยเยาว์

ดังกล่าวแล้วว่า ครอบครัวท่านเป็นครอบครัวชาวบ้านป่า ค่อนข้างยากจน อาหารการกินจึงขาดแคลน มีแต่ผักกับกลอยเป็นอาหารหลัก เด็กชายจำปี จึงมีร่างกายบอบบาง พุงค่อนข้างป่องเพราะโรคขาดอาหาร จึงมักเจ็บออดแอด แต่ก็ไม่ร้ายแรงนัก "จำปี" มีแววฉลาดแต่ยามเล็ก ๆ ว่านอนสอนง่าย และเรียนรู้ประสบการณ์จากป่า ความสงบของธรรมชาติมาตลอดชีวิต แม้จะยากจนแสนเข็ญ ครอบครัวนี้ก็ยังคงมีความสงบสุข ยิ่งมีลูกน้อยเป็นสื่อสายใจ พ่อเม่า แม่จันตา ก็ยิ่งมุมานะทำงานขึ้นอีกเท่าตัว เพื่อสร้างอนาคตให้เด็กน้อยจำปี เด็กชายจำปีคงไม่เข้าใจการต่อสู้ของพ่อแม่นัก คงยังมีความร่าเริงสนุกไปตามประสาเด็ก ๆ และความน่ารักอันไร้เดียงสาของเขา มันหมายถึงความรักของพ่อแม่ที่ทุ่มเทให้ลูกน้อยจนสุดหัวใจ แม้ทั้งสองร่างกายจะเปื้อนเหงื่อ กว่าชีวิตประจำวันจะสิ้นสุด ก็ต่อเมื่อใกล้ค่ำย่ำสนธยา แต่ใบหน้าไม่เคยว่างรอยยิ้มอย่างเป็นสุข เมื่อเห็นลูกน้อยโผผวาเข้าหาอ้อมกอด นี้คือความรักของพ่อแม่ทุกคนในโลกที่มีต่อลูกน้อย

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ การพลัดพรากที่ยิ่งใหญ่

พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่าโลกนี้เป็นอนิจจัง มีความไม่เที่ยงแท้เป็นเครื่องกัดกร่อน ชีวิตมนุษย์ที่อุบัติขึ้นมาหาจุดหมายที่แท้จริงไม่ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว สุขกับโศกมักจะเป็นเครื่องล้อเล่นให้ได้พบเสมอ พบกันเพื่อจะจากกันในที่สุด เป็นอยู่เช่นนี้เหมือนกันทั้งโลก

ครอบครัวของหนุ่มเม่าก็เช่นกัน จากความกรากกรำในงานไร่ และต่อสู้เพื่อเลี้ยงทุกชีวิตที่ตนรับผิดชอบ ทำให้เขาล้มเจ็บลง มันเป็นไข้ป่าที่ร้ายแรง ซึ่งหลายคนเสี่ยงเอา หากว่าเป็นแล้ว ก็พึ่งยากลางบ้านต้มกินกันตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่ หมอกลางบ้านจะแนะนำให้ อยู่หรือตายนั่นแล้วแต่บุญกรรม สำหรับหยูกยาทันสมัยไม่ต้องพูดถึง เพราะไกลความเจริญเหลือเกิน พูดง่าย ๆ ว่าจากลี้ไปเชียงใหม่ในสมัยนั้นต้องเดินกันเป็นสิบ ๆ วัน

สำหรับพ่อเม่าค่อนข้างโชคร้าย ยากลางบ้านประเภทสมุนไพรสกัดโรคร้ายไม่อยู่ อาการมีแต่ทรงกับทรุด แม่จันตาต้องนั่งเฝ้ามิยอมห่าง ด้วยความเป็นห่วงกังวล โดยมีลูกน้อยนั่งอยู่ด้วยนัยน์ตาปริบ ๆ ด้วยคำถามที่ว่า

"พ่อเป็นอะไรทำไมจึงไม่ลุกนั่งหอบอุ้มลูกเหมือนเก่าก่อน"

แม่ก็ได้แต่บอกว่าพ่อไม่สบาย พร้อมกับน้ำตาอาบแก้มกับคำถามสุดท้ายอันไร้เดียงสาของลูก พร้อมกับตั้งความหวังว่าพ่อคงไม่เป็นอะไรมากนัก

แต่อนิจจา ความตายนั้นไม่คำนึงเวลา และความรู้สึกของมนุษย์เลย แล้ววันนั้น วันที่พ่อเม่าต้องจากทุกคนไปอย่างไม่มีวันกลับก็มาถึง ท่ามกลางความเศร้าโศกของแม่จันตา และความอาลัยรักของเพื่อนบ้าน พ่อเม่าทิ้งซากที่ผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกอยู่บนที่นอนเก่า ๆ ให้แม่จันตาได้ร่ำไห้กอดรัดปิ่มว่าจะขาดใจตามไปด้วย เด็กชายจำปียังไร้เดียงสาเกินไปนักที่จะเข้าใจว่าความตายคืออะไร ด้วยวัยเพียง 4 ขวบ ก็ได้แต่พร่ำถามว่า แม่ร้องไห้ทำไม? พ่อเกลียดแม่หรือ? ทำไมพ่อจึงไม่พูด? ทุกคนที่เฝ้าดูอยู่จึงได้แต่เบือนหน้าหนีด้วยความสงสารสะเทือนใจ ความพลัดพรากจากของรักคนรัก นับว่าเป็นความเจ็บปวดรวดร้าวใจอย่างนี้เอง
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ แสงทอง - แสงธรรม

นับจากพ่อเม่าจากไปแล้ว ก็เหลือแต่สองแม่ลูกกัดฟันต่อสู้ ชีวิตท่ามกลางบ้านน้อยในห้อมแหนของดงดิบจึงขาดความอบอุ่นอย่างสิ้นเชิง เมื่อความทะมึนของราตรีมาถึง หลายครั้งที่สองแม่ลูกผวาเข้ากอดกันด้วยใจระทึก เมื่อเสียงนกกลางคืนที่กรีดร้อง เหมือนเสียงสาปแช่งของภูตผี นี่หากพ่อเม่ายังอยู่ พ่อก็คงเป็นที่พึ่งปลอบขวัญเหมือนมีกำแพงเพชรคอยกางกั้น เมื่อขาดพ่อ โลกนี้เหมือนโลกร้าง มีแต่เพียง "จำปี" กับแม่เพียงสองคน

และมาถึงขณะนี้ "จำปี" เริ่มเติบใหญ่ แม้ร่างจะเล็ก แต่เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมก็หล่อหลอมหัวใจเด็กชายจำปีให้แกร่งดังเพชร และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ท่านเป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค เป็นนักสู้ชีวิตที่เข้มแข็งในกาลต่อมา

เด็กชายจำปีกับแม่ช่วยกันต่อสู้ในการดำรงชีพอย่างทรหด จวบจนอายุ 16 ปี แม้จะเป็นวัยรุ่น แต่ความคับแค้นที่ผจญอยู่แทบทุกวันทำให้ "จำปี" ไม่ร่าเริงเหมือนเด็กทั่วไป กลับเป็นอันสงบเสงี่ยมเจียมตัว ชอบอยู่คนเดียวเงียบ ๆ และความคิดเป็นผู้ใหญ่เกินตัว

๐ ฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาศรีวิชัย

สมัยนั้น (พ.ศ. 2447) ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย
ยังอยู่ที่วัดบ้านปาง วันหนึ่ง แม่เรียกเจ้าจำปีเข้ามาถาม

"ลูกอยากบวชไหม"

จำปีตอบว่า “อยากบวช แต่ยังห่วงแม่ เมื่อลูกบวชแล้วใครดูแล"

แม่ตาตอบว่า "อยู่ได้ อย่าห่วงเลย อีกประการหนึ่ง การบวชนี้เป็นการช่วยพ่อแม่ที่ดีที่สุด เพราะเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่อย่างแท้จริง เมื่อเห็นลูกนุ่งเหลือง ก็นับว่าเป็นความสุขชื่นใจอย่างเหลือเกิน"

ในหนังสือ ปถมมูลกรรมฐาน ๔๐ ทัส ครูบาอภิชัยขาวปี
อักษรธรรมล้านนา หน้า ๒ ที่ท่านเรียบเรียงด้วยตัวเอง
ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งนั้นไว้ว่า

เมื่อท่านอายุได้ 14-15 ปี ท่านก็มาขบคิดรำพึงว่า

"พ่อแม่แห่งกูนี้ งัวควายไร่นาก็บ่มี ก็มาเวทนาเป็นทุกข์ด้วยกินกลอยกินมัน บางทีก็ได้กินข้าว ก็มาเวทนาเป็นทุกข์ บ่รู้เสี้ยงรู้เมี้ยนสักเทื่อ อายุกูได้ ๑๔–๑๕ ปีแล้ว กูจักหาอันใดมาเลี้ยงแม่กูก็บ่มี ธรรมดาคนเราถ้าอายุได้ ๑๘–๑๙ ก็จักเอาผัวเอาเมียแล้ว ถ้าอายุกูได้ ๑๘–๑๙ ถ้าไปตกลูกตกเมียเสีย กูก็จักเมาเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียอยู่ ไผจักมาเลี้ยงแม่แห่งกู แม่แห่งกูก็จักมีความเวทนาลำบากด้วยอันกลั้นข้าวอยากน้ำแลอาหารต่างๆ ถ้ากูไปเอาลูกเอาเมียเสีย ก็จักเมาเลี้ยงแต่ลูกแต่เมีย ก็บ่มีประโยชน์กับแม่แห่งกู ก็บ่มีบุญกับแม่แห่งกู ก็บ่มีประโยชน์กับตัวกู ก็บ่มีบุญกับตัวกู กูควรเข้าไปบวชในศาสนา ก็ยังจักมีประโยชน์กับแม่แห่งกู ก็ยังจักมีบุญกับแม่แห่งกู ก็ยังจักมีประโยชน์กับตัวกู ก็ยังจักมีบุญ กับตัวกู ถ้ากูได้บวชเป็นเณรแล้ว ก็ยังจักมีเพื่อนมาทานข้าวสุกข้าวสาร เงินทองอันใดก็ดี กูก็ยังจักได้เอามาเลี้ยงแม่แห่งกู"

และจากคำแนะนำนี้ เด็กชายจำปีจึงถูกแม่พาไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย และในทันทีที่นำไปฝาก เพียงท่านครูบาเห็นลักษณะเด็กชายจำปีท่านก็รับไว้ทันที เหมือนดั่งจะมีตาทิพย์มองเห็นว่าเด็กคนนี้ในอนาคตจะต้องยิ่งใหญ่ ในฐานะนักบุญแทนท่าน และอีกไม่นานหลังจากร่ำเรียนสวดมนต์ อ่านเขียนอักขระทั้งภาษาไทยและพื้นเมืองจบแล้วท่านครูบาศรีวิชัย จึงให้บรรพชาเป็นสามเณร
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ สามเณร "ศรีวิชัย"

ครูบาขาวปีระหว่างเป็นสามเณร ท่านได้ปฏิบัติกิจอันจะพึงมีต่ออาจารย์ คือครูบาศรีวิชัยอย่างครบถ้วน ท่านจึงเป็นที่รักของอาจารย์อย่างยิ่ง ท่านจึงตั้งชื่อให้เหมือนกับอาจารย์ สามเณรศรีวิชัย สามเณรน้อยได้เฝ้าอุปัฏฐากอาจารย์ และร่ำเรียนกัมมัฏฐานฐานและอักษรสมัยจนจบถ้วนด้วยความสนใจ พร้อมกับปฏิบัติตามที่พร่ำสอนจนดวงจิตสงบ พร้อมกันนั้น การถ่ายทอดในเชิงวิชาช่างก่อสร้างจากอาจารย์ จนเกิดความชำนาญและติดตามอาจารย์ครูบาศรีวิชัยไปก่อสร้างวัดวาอารามทุกหนทุกแห่งมิได้ขาด ดังนั้นทางด้านสถาปัตย์ ท่านจึงนับว่าเป็นหนึ่ง ท่านชำนาญจนถึงขนาดว่า เพียงเดินผ่านเสาไม้ต้นไหน ก็สามารถรู้ได้ทันทีว่า เสาต้นไหนกลวงหรือตัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏว่าเสาต้นนั้นจะมีรอยกลวงให้ปรากฏแก่สายตา

๐ ครูบาเจ้าศรีวิชัยอุปสมบทให้

ท่านดำเนินชีวิตทั้งในด้านการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน และด้านพัฒนาก่อสร้างควบคู่กันไป จวบจนอายุได้ 22 ปี (พ.ศ. 2453) เป็นสามเณรได้ 6 ปี ท่านครูบาศรีวิชัยจึงอุปสมบทให้ แต่เพราะเหตุที่ท่านมีชื่อเหมือนกับอาจารย์ เมื่อเป็นภิกษุ อาจารย์จึงได้เปลี่ยนฉายาให้ใหม่ว่า "อภิชัยภิกขุ" (หมายเหตุ: ในต้นฉบับเดิมท่านผู้เรียบเรียงได้เขียนถึงฉายาใหม่ของท่านว่า "อภิชัยขาวปี" ซึ่งน่าจะคลาดเคลื่อน เพราะคำว่า "ขาวปี" น่าจะเป็นฉายาของท่านเมื่อตอนนุ่งขาวห่มขาว ไม่ใช่ฉายาตอนเป็นพระภิกษุ - webmaster)

ท่านอุปสมบทได้เพียง 2 พรรษา ท่านจึงกราบลาพระอาจารย์ เพื่อที่จะแยกไปมุ่งงานก่อสร้างต่อไป ซึ่งงานก่อสร้างโดยตัวของท่านนั้น จะได้เรียบเรียงตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงงานชิ้นสุดท้ายอีกต่างหากใน (คลิกไปดูได้ที่ลิ้งค์ด้านล่าง)

ถาวรวัตถุที่ครูบาขาวปีได้สร้าง
เพื่อศาสนประโยชน์ และสาธารณประโยชน์
จากหนังสือชีวประวัติสมัยสามห้อง ซึ่งครูบาขาวปีบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2496

http://www.dharma-gateway.com/mo ... -kaopee-hist-05.htm
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


๐ ผจญมาร

พระอภิชัย เริ่มงานก่อสร้างในสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 24 จนถึงอายุ 35 ลางร้ายก็เริ่มอุบัติ สมัยนั้นใช้เงินตราปราสาททอง ตรารูปช้างสามหัว และเริ่มมีธนบัตรใช้ควบคู่กันไป ขณะที่กำลังก่อสร้างกุฏิวัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน แต่ยังไม่ทันเสร็จ ปลัดอำเภอลี้สมัยนั้นก็มาสอบถามถึงใบกองเกินการเกณฑ์ทหารจากท่าน แต่ท่านไม่มี ตำรวจจึงคุมตัวไปจังหวัดลำพูนและส่งตัวฟ้องศาล เมื่อถูกศาลไต่สวนถึงใบกองเกิน ว่าทำไมถึงไม่ได้รับ ท่านก็ให้การว่า ขณะที่เริ่มมีการเกณฑ์ทหารนั้น ได้ระบุว่าให้ขึ้นทะเบียนตั้งแต่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ แต่ขณะนั้น อายุอาตมาได้ 25 ปี บัดนี้อายุของอาตมาได้ 35 ปีแล้ว จึงนับว่าพ้นการเกณฑ์แล้ว ศาลจึงพักเรื่องนี้ไว้ก่อน


(หมายเหตุ : พ.ศ. 2448 มีประกาศใช้ "พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124" พระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ แต่ค่อย ๆ ขยายไปเรื่อย ๆ จนถึง พ.ศ. 2459 จึงประกาศบังคับใช้ครบทั่วราชอาณาจักร เข้าใจว่า ในปีที่พรบ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ที่จังหวัดลำพูนนั้น เป็นปีที่ท่านมีอายุ 25 ปี คือในพ.ศ. 2456)

ถูกบังคับให้สึกและครองผ้าขาวครั้งที่สอง หลังจากนั้นอีกไม่นาน ท่านก็ต้องขึ้นศาลอีก และให้ท่านรับใบกองเกิน แต่ท่านก็ไม่ได้ไปแจ้งแก่ทางการให้มีการยกเว้นหรืออย่างไร ฉะนั้นท่านจึงมีความผิดให้จำคุก 6 เดือน แล้วให้จัดการสึกท่านออกจากการเป็นพระภิกษุก่อน แต่ท่านก็ยังยืนยันว่าท่านบริสุทธิ์ ท่านเป็นพระทั้งกายและใจ ชีวิตนี้อุทิศให้กับศาสนาแล้ว ท่านไม่ยอมเปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากกายของท่านด้วยมือของตัวเองเป็นอันขาด

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ นักโทษถูกจองจำในสมัยโบราณ

เมื่อยืนยันอย่างนี้ ศาลจึงให้ตำรวจคุมตัวท่านไปหาเจ้าคณะจังหวัด ให้จัดการสึกตามระเบียบ แม้กระนั้น ท่านก็ยังยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยว ที่จะไม่ยอมสึก และเมื่ออภิชัยภิกษุไม่ยอมสึก เจ้าคณะจังหวัดจึงต้องบังคับ โดยให้ตำรวจจับเปลื้องผ้าเหลืองออกจากตัวท่าน จากนั้นก็ตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจล้นเหลือในสมัยนั้น ก็สวมกุญแจมือท่าน แล้วคุมตัวไปโรงพักเสียคืนหนึ่ง

วันรุ่งขึ้นเวลาบ่าย 4 โมงเย็น ก็ถูกส่งเข้าจองจำในเรือนจำของจังหวัดลำพูนในสมัยนั้นต่อไป ซึ่งในนั้นท่านต้องได้รับทุกข์เวทนาแสนสาหัส

ท่านเล่าถึงชีวิตในคุกตอนนั้นว่า คุกในสมัยนั้นสุดแสนสกปรก ยังเป็นคุกไม้ พื้นปูกระดาน เวลานอนก็นอนทั้ง ๆ ที่ล่ามโซ่ โดยสอดร้อยกับนักโทษคนอื่น คือข้อเท้าทั้งสอง ล่ามโซ่ตรวน มีโซ่เส้นใหญ่ สอดร้อยลอดตะขอพ่วงกับนักโทษคนอื่นอีกที

เรื่องจะนอนหลับสบายนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะพอล้มตัวนอน ฝูงเรือดนับเป็นร้อย ๆ ตัวอ้วนปี๋เป็นต้องรุมกัดดูดเลือดกิน ให้ยุบยิบไปหมด จะถ่ายหนักถ่ายเบา ก็ว่ากันตรงช่องกระดานตรงที่ใครที่มัน เรื่องกลิ่นเหม็นไม่ต้องห่วง คลุ้งไปหมด ตลบอบอวลทั้งเรือนจำทีเดียว

ชีวิตประจำวันในห้องขังก็คือ พอ 7 โมงเช้า เปิดประตูห้องขัง ทำงานไม่ทันไร ถึงเวลา 8 นาฬิกา ผู้คุมเป่านกหวีดเลิกงาน ทานข้าว ซึ่งข้าวนี่ก็อย่าหวังว่าจะกินให้อิ่มหมีพีมัน และเอร็ดอร่อย ไม่มีทาง ข้าวกระติกเล็ก ๆ แกงถ้วยหนึ่ง ต้องกินถึง 4 คน พอหรือไม่พอกิน ก็มีให้เท่านั้น ซึ่งแน่ละเวลากินก็ใช้ความว่องไว ขืนมัวทำสำอาง ค่อยเปิบค่อยกิน เป็นต้องอด คนอื่นที่เขาไว กินเรียบหมด และกับข้าวแต่ละวันนั้นเลือกไม่ได้ จะมีจำพวกผักเสียแหละเป็นส่วนมาก เช่น ยอดฟักทอง ผักตำลึงเป็นต้น แกงใส่ปลาร้า ค้างปี เหม็นหืน หาความอร่อยไม่มีเลย ถ้าเทให้หมูกินยังสงสัยอยู่ว่ามันจะกินหรือไม่ ข้าวนึ่งที่ใช้รับประทานก็เป็นข้าวเก่า แข็งเหมือนกินก้อนกรวด เป็นข้าวแดงใช้แรงนักโทษนั่นเองช่วยกันตำ จึงดีอยู่หน่อยที่มีวิตามิน กินแล้วแรงดี
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ สร้างโรงพยาบาล

ท่านอภิชัยขาวปีทนทุกข์ทรมานอยู่ในคุกไม่นาน ก็ได้ไปเห็นโรงพยาบาลจังหวัดลำพูนในสมัยนั้นชำรุดทรุดโทรมเหลือเกิน ท่านจึงแจ้งให้กับผู้บัญชาการเรือนจำ ๆ ก็ไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ๆ ก็กลัวว่าจะสร้างไม่ทันเสร็จ เพราะท่านอภิชัยขาวปีติดคุกอยู่แค่ 6 เดือนเท่านั้น จึงไม่อนุญาต

ท่านจึงถามว่า "ถ้าสร้างเหมาโรงพยาบาลนี้จะใช้งบประมาณเท่าไร อนึ่งถ้าสร้างภายใน 6 เดือนไม่เสร็จ เมื่อถึงคราวฉลองเมื่อไรก็จะร่วม"

ทางจังหวัดก็บอกว่าถ้ามีเงินถึง 1,600 บาทก็สร้างได้ (ในสมัยนั้นมีค่ามาก) ท่านจึงออกเงินส่วนตัวมอบให้ทางจังหวัดเพื่อเป็นทุนสร้างโรงพยาบาลต่อไป เป็นจำนวนเงิน 1,600 บาท ซึ่งหลังจากได้รับทุนแล้วก็ดำเนินการก่อสร้างทันที

และผลแห่งความดีนั้น ทางจังหวัดก็ส่งให้ทางเรือนจำ ส่งท่านให้ไปพำนักอยู่ในโรงพยาบาลหลังเก่า เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานสร้างโรงพยาบาล พร้อมกันนั้นก็ให้นักโทษชาย 2 คน มาอยู่ด้วยเพื่อปรนนิบัติ ทั้งอาหารการกินก็ถูกกำชับให้ทำอย่างดีและสะอาดเป็นพิเศษกว่านักโทษทั้งหลาย ท่านก็เลยพ้นจากการทรมานเพราะถูกเรือดยุงกัด

นับจากนั้นมา การก่อสร้างก็รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากบรรดาประชาชนทั้งหลายที่เลื่อมใสในตัวท่าน เมื่อทราบข่าวว่าท่านมาเป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาล ก็พากันมาช่วยและทำบุญด้วยอย่างคับคั่งและเงินที่ได้จากการบริจาคครั้งนั้น ยังได้ถึง 2,000 กว่าบาท เกินกว่าที่กำหนดไว้ถึงสี่ร้อยบาท

๐ วันพ้นโทษ

ครั้นถึงเดือน 9 เหนือ แรม 2 ค่ำ ก็เป็นวันที่ท่านพ้นโทษตามคำพิพากษาครบ 6 เดือนและโรงพยาบาลก็แล้วเสร็จก่อนถึง 10 วัน ในวันที่จะออกจากคุกนั้น ท่านก็ได้ให้ทานแก่พวกนักโทษทั้งหลายเป็นขนมส้มหวานทั้งอาหารทั้งหลายอย่างเหลือเฟือ จนพวกเขาอิ่มหมีพีมันไปตามๆ กัน เพราะเมื่อถึงตอนที่ท่านยังถูกจองจำอยู่ในคุกนั้น ระยะหลังพวกนักโทษทั้งหลายก็อยู่กินสบายจากของไทยทานที่ประชาชนผู้เลื่อมใสมาถวายถึงในคุกเป็นประจำทุกวันอย่างมากมาย รวมความว่าผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในเรือนจำทั้งหมด ล้วนแล้วแต่ได้รับความสบายในด้านอาหารการกินไปตาม ๆ กัน

ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดพ้นโทษ วันนั้น นักโทษทั้งหลายต่างพากันปริเวทนา บ่นพร่ำว่า เมื่อท่านอออภิชัยขาวปีพ้นโทษไปแล้ว พวกเราทั้งหลายยังจะได้อยู่กินอิ่มอย่างนี้อีกหรือ แล้วพากันร่ำไห้ ด้วยความอาลัยรักในตัวท่านเสียงระงม เป็นภาพที่สะเทือนใจยิ่งนัก แม้ตัวท่านเองก็แทบกลั้นน้ำไว้ไม่อยู่

พวกเขาพากันมารอที่ประตูคุกเป็นการส่งท่านด้วยใบหน้าที่นองไปด้วยน้ำตา และจากปากประตูคุกจนถึงวัดพระธาตุหริภุญชัยมีประมาณระยะทาง 70 วา ก็มีประชาชนมายืนเรียงรายถวายทานกับท่าน ซึ่งก็ได้เป็นเงินถึง 300 บาท พอดีกับเงินที่ซื้อของถวายทานให้แก่นักโทษ เหมือนกับเป็นการยืนยันว่า การทำบุญสุนทานนั้นไม่หายไปไหน

เมื่อท่านเดินทางไปถึงประตูวัดพระธาตุหริภุญชัย ก็มีพระสงฆ์ 10 รูป มาสวดมนต์เป็นการลดเคราะห์สะเดาะภัยให้ แล้วให้ศีลให้พรให้อยู่ดีมีสุขสืบไป จากนั้นพอถึงเดือน 9 เหนือ แรม 4 ค่ำก็ร่วมฉลองโรงพยาบาลเป็นเวลา 3 วัน
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ อุปสมบทครั้งที่ 2

ในวันที่แล้วเสร็จงานฉลองสมโภช ท่านก็เดินทางไปนมัสการท่านอาจารย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ ในครานั้นท่านครูบาศรีวิชัยจึงอุปสมบทท่านเป็นภิกษุอีก โดยมีครูบาแห่งวัดนั้นเป็นอุปัชฌาย์ หลังจากได้กลับมาสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว ท่านอยู่จำพรรษากับครูบาศรีวิชัยได้ 1 พรรษา ก็ลาอาจารย์จาริกสร้างสถานที่ต่าง ๆ ต่อไปอีกหลายแห่งทั้งวัดและโรงเรียน

๐ ถูกให้สึกและครองผ้าขาวครั้งที่ ๑

อ.แม่ระมาด จ.ตาก เดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2465 ขุนระมาดไมตรี กำนันคนแรกของตำบลแม่ระมาด จังหวัดตาก และชาวบ้านแม่ระมาด มีความปรารถนาจะได้มีพระพุทธรูปไว้กราบสักการบูชาเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ จึงได้ไปติดต่อขอเช่าบูชาพระพุทธรูปแกะสลักจากหินอ่อนทั้งแท่ง มาจากประเทศพม่า นับเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนขนาดใหญ่ ลำดับ 3 ของโลก รองจากองค์ใหญ่ที่สุดในโลกประดิษฐานที่ประเทศอินเดีย และลำดับ 2 ประดิษฐานอยู่ที่ประเทศปากีสถาน และองค์ที่สามคือองค์นี้ ในราคา 800 รูปี มีขนาดหน้าตักกว้าง 1.30 เมตร สูงจากพระแท่นฐานถึงรัศมี 1.60 เมตร

แม้องค์ท่านจะมีน้ำหนักมากแค่ไหน แต่ความศรัทธาที่มี ผู้ไปอัญเชิญต่างก็ไม่ย่อท้อ นำท่านมาทางเรือผ่านเมืองมะละแหม่ง แล้วเดินทางต่อจนถึงท่าเรือจองโต

จากท่าเรือแห่งนี้ท่านครูบาขาวปี ซึ่งเป็นที่เคารพรักของชาวบ้านและชาวภาคเหนือ ได้ไปรับพระพุทธรูปหินอ่อนพร้อมญาติโยม อัญเชิญขึ้นบนเกวียนแล้วเดินทางถึงเมืองกรุกกริก บ้านจ่อแฮ (บ้านกะเหรี่ยง) การเดินทางด้วยความยากลำบากเพราะเป็นภูเขาสูงชันมากจึงล่าช้ามาก ต้องนอนพักแรมระหว่างทางถึง 2 คืน

จากนั้นก็เดินทางมาถึงหมู่บ้านป้างกา การเดินทางรวดเร็วขึ้นเพราะเป็นพื้นที่ราบจนกระทั่งถึงหมู่บ้านเมียวดีริมฝั่งแม่น้ำเมย เขตประเทศพม่า ตรงข้ามบ้านท่าสายลวด อำเภอแม่สอดปัจจุบัน จึงอัญเชิญลงจากเกวียนข้ามแม่น้ำเมยเข้าประเทศไทย ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยพักผ่อนที่บ้านท่าสายลวด 3 คืน แล้วเดินทางเข้าเขตอำเภอแม่ระมาด และอัญเชิญพระพุทธรูปหินอ่อน ประดิษฐาน ณ วัดดอนแก้วแห่งนี้

มีเรื่องเล่ากันว่าตอนที่นำองค์พระพุทธรูปข้ามแม่น้ำด้วยแพนั้น มีช่วงหนึ่งที่น้ำไหลเชี่ยวรุนแรงมาก จนแพพลิกและองค์พระได้เลื่อนหลุดจมลงในน้ำ ชาวบ้านต่างพากันใช้เชือกช่วยกันฉุดรั้งกันอย่างเต็มที่ ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่ว่าจะทำประการใด ก็ไม่เป็นผล จนต้องนิมนต์ขอบารมีท่านครูบาอภิชัยขาวปีช่วย

ครูบาท่านลงแพไม้ไผ่ แล้วใช้ด้ายเส้นเล็กๆ ส่งให้คนดำลงไปคล้ององค์พระพุทธรูป แล้วท่านก็ตั้งจิตอธิษฐานอัญเชิญพระพุทธรูป จบคำอธิษฐาน ท่านครูบาดึงเส้นด้ายที่คล้ององค์พระขึ้นมา องค์พระพุทธรูปที่ปกติต้องใช้คนหามนับสิบคนจึงจะยกไหวก็ได้ลอยขึ้นมาและสามารถอัญเชิญขึ้นฝั่งได้สำเร็จเป็นที่อัศจรรย์มาก รวมเวลาที่ไปอัญเชิญพระพุทธรูปหินอ่อนในครั้งนี้เป็นเวลา 12 วัน

ที่แม่ระมาดนี่เอง ก็มีเรื่องน่าเศร้าใจเกิดขึ้นอีก กล่าวคือ เมื่อสร้างพระวิหารเพื่อประดิษฐานพระหินอ่อนนั้น เงินไม่พอ ยังขาดอยู่อีก 700 บาท เป็นค่าทองคำเปลว 400 บาท กับค่านายช่างอีก 300 บาท ท่านก็ปรึกษาเรี่ยไรเอาจากชาวบ้านจนครบด้วยความเต็มใจของชาวบ้าน แล้วช่วยกันสร้างต่อ จนแล้วเสร็จทันฉลอง (หมายเหตุ: ตามบทความเดิมของผู้เรียบเรียง ระบุว่าเป็นการสร้างโบสถ์ แต่ตามหัวข้อ "บัญชีรายชื่อสถานที่ที่ท่านได้สร้างระหว่าง อายุ 35-42 ปี" ระบุว่าเป็นการสร้างวิหาร)
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อเรื่องการเรี่ยไรนี้ทราบถึงอำเภอ จึงเรียกกำนันไปสอบสวนว่า อภิชัยภิกษุ เรี่ยไรจริงหรือไม่ กำนันก็รับว่าจริงแต่ด้วยความเต็มใจของชาวบ้าน เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้นงานสร้างโบสถ์ก็หยุดชะงัก ทางอำเภอก็ว่าเต็มใจหรือไม่ก็ผิดเพราะเป็นพระเป็นเจ้าจะทำการเรี่ยไรไม่ได้ ผิดระเบียบคณะสงฆ์ แล้วรายงานเรื่องนี้ไปยังเจ้าคณะจังหวัดๆ จึงตัดสินว่าให้สึกพระอภิชัยเสีย ท่านจึงจำยอมสึกจากภาวะความเป็นภิกษุ ท่ามกลางความสลดหดหู่ของผู้คนที่รู้เห็นเป็นอันมาก ที่ท่านครูบาของพวกเขาต้องมารับกรรมเพราะทำความดี อย่างไม่ยุติธรรม

ท่านต้องเปลี่ยนมานุ่งห่มแบบชีปะขาวอยู่ที่ใต้ต้นประดู่แห้งที่ยืนต้นตายซากมานานเป็นแรมปี ซึ่ง ณ ที่นี้ เองจึงเกิดเรื่องที่น่าอัศจรรย์สมควรจะบันทึกไว้คือ พอท่านเปลี่ยนผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากกายมาครองผ้าขาวเท่านั้น ต้นประดู่ที่แห้งโกร๋นปราศจากใบนั้น ก็ผลิตดอกออกใบขึ้นมาอีก ท่ามกลางความอัศจรรย์ใจของบรรดาประชาชนที่ร่วมชุมนุมอยู่เป็นอันมาก ต่างพากันหลั่งน้ำตา ล้มตัวก้มลงกราบโดยพร้อมเพรียงกัน นับเป็นปรากฏการณ์ที่จะไม่เห็นอีกในชีวิต

หลวงปู่ครูบาขาวปีท่านอธิษฐานให้เทวดาฟ้าดินเป็นพยานว่า ถ้าท่านไม่ผิดอย่างที่เขาว่า ขอให้แสดงอะไรเป็นประจักษ์พยานด้วย ท่านถอดสังฆาฏิพาดไว้บนต้นไม้ที่ยืนแห้งตาย ต้นไม้แตกใบใหม่เดี๋ยวนั้นเลย..!

แต่คนก็ยังไม่เชื่อ จับท่านสึกจนได้ เอาผ้าขาวให้ท่านนุ่ง พอท่านนุ่งผ้าขาวเสร็จ กะเหรี่ยงก็เอาช้างมาแห่ท่านไปเลย กะเหรี่ยงบอกว่า "ตุ๊เหลืองตุ๊พวกเจ้า แต่ตุ๊ขาวตุ๊ของเฮา"


จาก เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ครูบาอภิชัยขาวปี โดย
หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ วัดท่าขนุน จ.กาญจนบุรี

๐ มารตามรังควาน

ไม่นานจากนั้น ท่านพร้อมกับผู้ติดตาม ก็มุ่งกลับสู่อำเภอลี้ โดยรอนแรมมาเป็นระยะเวลา 10 วัน 10 คืน ก็เดินทางมาถึง อ.ลี้ พักอยู่ที่กลางทุ่งนาบ้านป่าหก ได้ 4 คืน นายอำเภอลี้ จึงให้ตำรวจมาขับไล่ไม่ให้อยู่โดยไม่มีเหตุผล ด้วยความใจดำเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงมาพักอยู่กลางทุ่งนาบ้านแม่ตืน ณ ที่นี้ก็ถูกทางอำเภอกลั่นแกล้งอีก โดยรายงานไปทางจังหวัดว่า ปะขาวปีนำปืนเถื่อนมาจากแม่สอดมาถึง 1,000 กระบอก

หลังจากรับรายงาน จึงมีบัญชาให้นายร้อยตำรวจ 2 คนกับพระครู 2 รูป ขึ้นมาทำการตรวจค้นไต่สวน ท่านว่า "ไม่เป็นความจริงหรอก อาตมาเดินทางผ่านมาตั้ง 2 จังหวัดแล้ว ยังไม่เห็นมีใครกล่าวหาเช่นนี้เลย ถ้าท่านไม่เชื่อก็เชิญค้นดูเองเถิด"

ตำรวจทั้งสองก็ค้นสัมภาระของคณะติดตามดู ก็พบปืนแก๊ป 1 กระบอก แต่ปรากฏว่าเป็นปืนมีทะเบียนของชาวบ้านผู้ติดตามคนหนึ่ง จึงไม่ว่าอะไร จากนั้นก็ไปค้นจนทั่ว ลามปามเข้าค้นถึงในวัดแม่ตืน จนพระเณรแตกตื่นเป็นโกลาหล แต่ก็ไม่พบอะไรอีก จึงพากันเดินทางกลับด้วยความผิดหวัง

ก่อนกลับก็ไปต่อว่าต่อขานทางอำเภอลี้เสียจนหน้าม้าน หาว่าหลอกให้เดินทางมาเสียเวลาเปล่า เหนื่อยแทบตาย (เพราะสมัยนั้นไม่มีรถยนต์แม้แต่คันเดียว) ทางนายอำเภอจึงจำเป็นต้องออกค่าเดินทาง พร้อมเสบียงอาหารให้คณะนายตำรวจ ดังกล่าวเดินทางกลับ
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-15 13:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เสร็จจากเรื่องที่กล่าวหานั้นแล้ว ท่านพร้อมกับคณะก็เดินทางจากแม่ตืนเพื่อจะไปหาท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่วัดพระนอนปูคา บ้านแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่ ระหว่างทาง พักที่วัดห้วยกานคืนหนึ่ง เมื่อเข้าเขตกิ่งบ้านโฮ่ง ชาวบ้านก็พาตำรวจมาดักจับอีก ด้วยข้อหาอะไรไม่แจ้ง แต่ตำรวจก็จับไม่ไหวเพราะคนตั้งมากมาย ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไรจึงล่าถอยไป ท่านจึงไปพักที่วัดดงฤๅษีคืนหนึ่ง แล้วมุ่งไปทางบ้านหนองล่อง ณ ที่นี้ก็ถูกคณะข้าหลวงดักจับอีก แต่ก็จับไม่ไหวอีกเช่นกัน

ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มาขอพบ
เมื่อถึงวัดท่าลี่ คณะที่พักอยู่ที่ศาลา ในตอนเย็น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จึงเข้าไปสอบถาม

ผู้ว่าฯ "ท่านอยู่บ้านใด เกิดที่ไหน"

ครูบาฯ "เดิมอาตมาอยู่บ้านแม่เทย อ.ลี้ ลำพูนนี่เอง"

ผู้ว่าฯ "อ้อท่านก็เป็นคนเมืองเราเหมือนกัน ก่อนมาถึงที่นี่ท่านไปไหนมา"

ครูบาฯ "อาตมามาจากพม่า"

ผู้ว่าฯ "ไปอยู่นานไหม "

ครูบาฯ "5 ปีแล้ว" (คำตอบของท่านตรงนี้น่าสนใจว่า ท่านไปอยู่ที่พม่าถึง 5 ปี ในช่วงระยะเวลาใด? - Webmaster)

ผู้ว่าฯ "อือม์ ก็ไม่เห็นมีเรื่องอะไรดังเขาเล่าลือ แต่ก็มีอีกอย่าง ขอให้ท่านเสียค่าประถมศึกษา 8 บาท ให้กับทางอำเภอเสีย ตามระเบียบที่ทางการกำหนดไว้ หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไร"

ขณะนั้นกำนันกับชาวบ้านที่ร่วมชุมนุมอยู่ ณ ที่นั้นได้ยินจึงช่วยกันบริจาคให้ท่าน ได้เงิน 15 บาท ท่านจึงมอบให้กับนายตำรวจคนหนึ่งที่มากับผู้ว่าฯ ไป แต่ก็นับว่าเป็นคราวเคราะห์ของตำรวจคนนั้น ซึ่งพอรับเงินไปได้สักครู่ก็ไปทำหายเสีย จึงต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่ายแทนไปตามระเบียบ

หลังจากที่พักที่ท่าลี่คืนหนึ่งแล้ว ท่านพร้อมคณะก็ขนของข้ามแม่น้ำปิงไปขึ้นรถ ไปจนถึงวัดพระนอนปูคา แล้วอยู่ร่วมฉลองวิหารพระนอนปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับท่านครูบาศรีวิชัย ซึ่งท่านมาวัดพระนอนแม่ปูคา เพื่อบูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์ และสร้างวิหารพระนอนแม่ปูคา จนแล้วเสร็จ แล้วก็กลับมา หมายจะมาจำพรรษาที่วัดแม่ตืน อ.ลี้อีก แต่นายอำเภอจอมเหี้ยม ก็สั่งกำนันมาไล่ไม่ให้อยู่เป็นอันขาด ท่านจึงสุดแสนที่อัดอั้นตันใจและรู้สึกสลดใจเป็นอย่างยิ่งที่ถูกจองล้างจองผลาญอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้