|
ตอนที่ 4
-----------~@~-----------
ตลอดเวลา 15 ปีที่หลวงพ่อพิบูลย์ถูกคุมตัวโดยคณะสงฆ์ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี มีศิษย์ของท่านรูปหนึ่งคือ หลวงพ่อโชติ ได้เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างวัดพระแท่นกับวัดโพธิสมภรณ์มิได้ขาด จึงเป็นประหนึ่งสายป่านเชื่อมโยงหลวงพ่อพิบูลย์กับวัดพระแท่น และชาวบ้านแดงไว้ไม่ให้ขาดจากกัน
ปัจจัยทั้งปวงที่หลวงพ่อพิบูลย์ส่งไปช่วยวัดพระแท่นและชาวบ้าน ก็ได้อาศัยหลวงพ่อโชติเป็นผู้นำไปทุกระยะตลอดทั้ง 15 ปี
ในภายหลังหลวงพ่อโชติได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระแท่นสืบต่อจากหลวงพ่อพิบูลย์ และมีสมณศักดิ์เป็น พระครูวิบูลย์สุนทร มีอายุยาวถึง 100 ปีจึงมรณภาพ
ถ้าจะไม่กล่าวถึงหลวงพ่อโชติบ้างเรื่องนี้ก็จะขาดความสมบูรณ์ไป
หลวงพ่อโชติเรียกว่าเป็นศิษย์กตัญญู รู้คุณครูบาอาจารย์อย่างแท้จริง ไม่เคยทอดทิ้งหลวงพ่อพิบูลย์ผู้เป็นอาจารย์ แม้ว่าจะตกระกำลำบากแค่ไหน มีความเสมอต้นเสมอปลายในการอุปถัมภ์อุปัฏฐากครูบาอาจารย์อย่างน่ายกย่อง
หลวงพ่อโชติเดิมชื่อ โชติ ภูเวียงแก้ว เกิดที่บ้านเลิงแฝก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 14 ปี ที่วัดบ้านหนองสิมใหญ่ อ.บรบือ อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดบ้านเลิงแฝกจนอายุ 20 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบ้านเลิงแฝก โดยมีพระอาจารย์ป้องเป็นพระอุปัชฌาย์ อยู่วัดเลิงแฝกอีก 3 ปี จึงย้ายมาอยู่วัดพระแท่นกับหลวงพ่อพิบูลย์
ที่วัดพระแท่นนั้น หลวงพ่อโชติได้รับความไว้วางใจจากหลวงพ่อพิบูลย์เป็นที่สุด ถือเป็นศิษย์ใกล้ชิดตัวหลวงพ่อพิบูลย์มากกว่าคนอื่น และเอาจริงเอาจังกับการประพฤติปฏิบัติ จนหลวงพ่อพิบูลย์ถ่ายทอดวิชาอาคมให้อย่างไม่ปิดบังอำพราง
วันหนึ่งหลวงพ่อโชติได้เข้าไปกราบลาหลวงพ่อพิบูลย์จะออกธุดงค์ ซึ่งหลวงพ่อพิบูลย์ก็ไม่ขัดข้อง อนุญาตให้ไปได้ หลวงพ่อโชติจึงออกเดินทางไปถ้ำเขากวางในประเทศลาว ไปอยู่ศึกษาปฏิบัติกับ ญาคูสายบัว ไม่ทราบว่าอยู่นานแค่ไหน เข้าใจว่าน่าจะนานพอสมควร จึงออกธุดงค์ต่อไป
หลวงพ่อโชติได้เล่าว่า ในระหว่างธุดงค์นั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ถ้าหลับตาลงเมื่อใด มักนิมิตเห็นหลวงพ่อพิบูลย์มาสอนธรรมให้ จนครั้งหนึ่งระหว่างเดินทางออกจากถ้ำเขากวางไปผากาดกูด มีชาวบ้านบอกว่าเห็นพระเดินทางมา 2 รูป ทั้งๆที่หลวงพ่อโชติเดินทางแค่รูปเดียว
ชาวบ้านยืนยันว่า เห็นพระอีกรูปเดินทางร่วมกับหลวงพ่อโชติจริงๆ
พระอีกรูปนั้นเป็นพระผู้เฒ่า มีไม้เท้าในมือ พร้อมทั้งอธิบายรูปลักษณ์ จนหลวงพ่อโชติเกิดสำนึกว่า พระผู้เฒ่านั้นน่าจะเป็นหลวงพ่อพิบูลย์
ระหว่างนั้นหลวงพ่อโชติได้ข่าวว่า ญาคูสายบัวได้เดินทางไปบ้านแดงเพื่อนมัสการหลวงพ่อพิบูลย์ ท่านจึงตัดสินใจเดินทางกลับวัดพระแท่น และได้พบกับญาคูสายบัวพำนักอยู่วัดพระแท่นกับหลวงพ่อพิบูลย์แล้ว จึงเลิกกิจธุดงค์ในครานั้นทันที
เกี่ยวกับเรื่องธุดงค์ของหลวงพ่อโชตินั้น นึกดูแล้วก็จะเห็นแปลก และน่าคิดอยู่ไม่น้อย
ไม่ต้องพูดถึงเรื่องธุดงค์เลย เพราะว่ายังไงก็ควรอยู่ เพราะเป็นการฝึกจิตฝึกกาย ที่พระควรทำอย่างน้อยครั้งหนึ่ง
เรื่องน่าคิดคือ หลวงพ่อโชติมีหลวงพ่อพิบูลย์ที่ถือว่าเป็นยอดครูบาอาจารย์อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องแสวงหาอาจารย์เพิ่มเติมอีก
การเดินทางไปหาญาคูสายบัว อาจเป็นได้ทั้ง 2 อย่าง คือไปแสวงหาครูบาอาจารย์ หรืออาจเพียงถือเป็นที่หมายสุดท้ายปลายทางธุดงค์
แต่ในที่สุดหลวงพ่อโชติก็กลับเป็นเหมือนสะพานเชื่อมโยงให้ญาคูสายบัวเดิน ทางออกจากถ้ำเขากวางมาอยู่กับหลวงพ่อพิบูลย์ที่วัดพระแท่น และกลายเป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับหลวงพ่อพิบูลย์จนตลอดชีวิต
ร่วมทุกข์ร่วมสุขอย่างไร จะกล่าวถึงต่อไปในภายหน้า
ขอให้เข้าใจด้วยว่าเหตุการณ์ในช่วงนี้ เป็นช่วงก่อนที่หลวงพ่อพิบูลย์จะถูกจับครั้งแรกแล้วต้องโทษประหาร คือเป็นช่วงแรกของการสร้างวัดพระแท่น และบุกเบิกพัฒนาบ้านแดง จนเกิดเป็นบ้านใหญ่ ที่ต่อมากลายเป็นเมือง สมดังที่หลวงพ่อพิบูลย์พยากรณ์ไว้
ระหว่างนี้มีลูกศิษย์ลูกหามาอยู่ร่วมกันที่วัดพระแท่นหลายคน เช่น อาจารย์คุ้ม, อาจารย์โชติ( หลวงพ่อโชติ), อาจารย์สายบัว(ญาคูสายบัว), อาจารย์เขียน, อาจารย์ทายกสีสุพันธ์, สามเณรอ่อนสี, ตาปะขาวพรหมา, และพ่อผมยาว
หลวงพ่อโชติเล่าว่า การเป็นอยู่ของพระเณรในวัดพระแท่นสมัยนั้นลำบากมาก ทั้งยุ่งยากใจอย่างที่สุด เนื่องจากทางราชการไม่เข้าใจแนวทางการปฏิบัติและพัฒนาของหลวงพ่อพิบูลย์ จึงเป็นเหตุให้หลวงพ่อพิบูลย์ต้องถูกจับถึง 2 ครั้ง ตัวหลวงพ่อโชติเองก็ต้องหลบไปจำพรรษาที่อื่นบ้างเพื่อให้พ้นภัย
ในบรรดาลูกศิษย์หลวงพ่อพิบูลย์นั้น พ่อผมยาว ออกจะพิสดารที่สุด
ถ้าไม่เล่าเรื่องพ่อผมยาว เรื่องนี้ก็จะขาดความสมบูรณ์เหมือนกัน
พ่อผมยาวท่านนี้เป็นผู้ทึ่มีบุคลิกพิสดาร ไม่ใช่พระภิกษุ ไม่ใช่คนปกติอย่างเราท่าน จะเรียกว่าเป็นคนที่อยู่ในจำพวกฤาษี ก็ดูจะพอเป็นไปได้มาก
พ่อผมยาวมาอยู่กับหลวงพ่อพิบูลย์ในสมัยที่หลวงพ่อพิบูลย์ยังไม่ถูกคุมตัวไป พิจารณาสอบสวนเอาโทษ จะเข้ามาก่อนหรือหลังคนอื่นไม่ทราบ แต่ถือว่าเข้ามาอยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน
พ่อผมยาวมีพฤติกรรมแปลกๆน่าสนใจหลายอย่าง รวมทั้งมีอภินิหารจนชาวบ้านออกจะเกรงใจไม่น้อย การมาอยู่วัดพระแท่นนั้น ปรากฏในหนังสือประวัติว่า หลวงพ่อพิบูลย์ให้คนไปตามตัวมาอยู่ด้วย ดูๆไปคล้ายกับว่าวัดพระแท่นจะเป็นสถานที่อีกแห่งที่รวบรวมเอายอดวิทยายุทธ์ มาอยู่ด้วยกัน
เป็นเสี้ยวลิ้มยี่ในยุคนั้นว่างั้นเถิด
พ่อผมยาวมีนามเดิมว่า ติ่ง อยู่บ้านหนองลี่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี บิดาชื่อแถว มารดาชื่อ คำภา ไม่ทราบนามสกุล ครอบครัวพ่อผมยาวอพยพมาอยู่บ้านตาลศาลจอด ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนครราวๆปี 2450 อยู่ที่นี่ปีเดียวก็ย้ายมาอยู่บ้านเพียปู่ ตำบลไชยวาน อำเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี
บ้านเพียปู่ ปี 2462
พ่อผมยาวอายุ 20 ถ้วน
ระหว่างงานบุญฉลองหมู่บ้าน ทุกคนกำลังมีความสุขสนุกสนานเบิกบานกันเต็มที่
มิคาด, ไฟเกิดลุกไหม้เรือนราษฎรในหมู่บ้านหลังหนึ่ง
ความสุขสนุกสนานของผู้คนมลายพลัน ทุกคนหันหน้าเข้าหาเรือนไฟ และประสานมือกันดับไฟก่อนจะลามไหม้ไปทั้งหมู่บ้าน
ไฟดับแล้ว
ความรื่นเริงย่อมดับไปด้วย
ไฟเกิดขึ้นเองได้หรือไม่
ย่อมไม่
ไฟย่อมมีผู้จุด
ผู้ใดจุดเล่า
บุรุษผู้กำลังเมามายผู้นี้เป็นผู้จุด
บุรุษผู้นี้เป็นผู้ใด
เป็นพ่อผมยาว
หา ! ไอ้บ้านี่อีกเองแล้วหรือ
|
|