ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี(วัดภูจ้อก้อ) ~

[คัดลอกลิงก์]
161#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บัดนี้ เราจะดูเราตาย

ย้อนคืนหลังในยุควัดป่าบ้านหนองผือที่อยู่กับหลวงปู่มั่นนั้น ในตอนที่ข้าพเจ้าป่วย ถ่ายเป็นเลือด ก่อนที่ข้าพเจ้าจะป่วยถ่ายเป็นเลือดนั้น ข้าพเจ้าแบกฟืนหนักเกินกำลังไปที่ลานวัด ขณะนั้นเป็นฤดูฝน ข้าพเจ้าหลบขุมปลวกล้มลง คุกเข่าทัน พร้อมทั้งทิ้งฟืนทันด้วย กระทบกระเทือนหัวใจ แต่ก็ไม่ได้รักษาพยาบาลอะไร อยู่มาไม่กี่วันก็หายเจ็บหายปวด

แต่อยู่ต่อมาอีกประมาณกึ่งเดือน ก็ถ่ายเป็นเลือด ออกเป็นลิ่ม ๆ เท่านิ้วมือ ในขณะที่ถ่ายนั้นไม่ได้ปวดท้องอันใดเลย แต่ถ่ายวันหนึ่ง ๆ หลาย ๆ ครั้ง ถ้ารวมการถ่ายเป็นเลือดเป็นแท่งออกนั้น ก็คงจะได้ประมาณครึ่งกระโถน

ข้าพเจ้าก็รู้สึกเหนื่อยมาก ในวันที่ถ่ายนั้นเองก็นอนลงที่กุฏิของตน นอนตะแคงข้างขวาเอาเท้าซ้อนกัน เอามือขวายกขึ้นแนบกับหมอน แล้วเอาแก้มลงทับมือ มือซ้ายเหยียดตรงตามร่างกาย นึกในใจว่าเราเห็นแต่ท่านผู้อื่นตาย เราไม่เคยเห็นเราตาย บัดนี้เราจะจ้องดูเราตาย มันจะตายพร้อมกับลมออกหรือลมเข้า

ข้าพเจ้าจึงตั้งสติไว้ในที่ลมมากระทบออกเข้า แล้วก็บริกรรมพร้อมกับลมออกเข้า บริกรรมว่าตาย ๆ ติดต่ออยู่ไม่ขาดสาย ประมาณ ๑๕ นาที แล้วพลิกจิตว่า ธรรมของพระองค์จะตายไปที่ไหน จะแตกตายเป็นก็แต่สังขารเท่านั้น แล้วก็พลิกบริกรรมใหม่ว่า ไม่ตาย ไม่ตายพร้อมกับลมออกเข้า ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลัง ติดต่ออยู่ไม่ขาดสายประมาณ ๒๐ นาที จิตใจก็รวมพึ่บลง แล้วปรากฏว่าทะลุหลังคากุฏิขึ้นไปบนอากาศสูงแล้วนอนตะแคงข้างขวาอยู่บนอากาศนั้น

ตอบตนเองในขณะนั้นว่า นี่แหละสมาธิ เราไม่ต้องสงสัยดอก จะตั้งอยู่ในที่อากาศนานเท่าใดก็กำหนดไม่ได้ ครั้นหมดกำลังแล้วก็ถอนออกมา การถอนออกมาก็รู้สึกว่าเหมือนกิริยาที่เข้าไป แล้วก็มาเห็นลมออกลมเข้าเบา ๆ ร่างกายก็เบาที่สุดในขณะนั้น การไปถ่ายเป็นเลือดก็จบลงเพียงนั้น และการที่จิตถอนออกมานั้น การนอนตะแคงข้างขวาก็อยู่ตามเดิมหาได้เคลื่อนที่ไม่

ในขณะนั้นเป็นเวลาสายัณห์ตะวันเย็น ประมาณ ๔ โมงกว่า ๆ แล้ว หลวงปู่มั่นกำลังสรงน้ำ และตามธรรมดาก็ไม่ไกลจากกุฏิข้าพเจ้า คงประมาณ ๒๐ วา ธรรมดาองค์หลวงปู่พูดเสียงดัง หลวงปู่ก็พูดขึ้นว่า

“วันนี้ไม่เห็นท่านหล้ามา เธอไปไหนไม่ทราบ”

มีพระองค์หนึ่งตอบขึ้นว่า “ท่านป่วย ถ่ายเป็นเลือดครับ”

พอท่านทราบอย่างนั้น องค์ท่านก็พูดดัง ๆ ขึ้นว่า

“เอา ดูดู๊ ๆ บัดนี้เธอเข้าจนมุมแล้ว จะภาวนาได้ความอย่างไร ก็จะเห็นกันในคราวนี้”

ครั้นต่อมาเป็นวันใหม่ถึงเวลาสรงน้ำข้าพเจ้าก็ไปทำข้อวัตรกับหมู่เพื่อนได้

องค์ท่านและหมู่เพื่อนก็ถามว่า “หายแล้วหรือจึงมา”

ข้าพเจ้าจึงตอบว่า “หายแล้วครับ แต่ว่านอนหลับตาภาวนา ก็ปรากฏว่าเหาะขึ้นไปบนอากาศ นอนตะแคงข้างขวาอยู่บนอากาศ ไม่รู้ว่านานเท่าใดจำไม่ได้ แล้วก็ถอนออกมา เห็นลมหายใจเข้าออกแบบเบา ๆ”

หลวงปู่มั่นตอบว่า “นั้นไม่ใช่นอนหลับดอก จิตร่วมในชั้นอุปจารสมาธิ”

จาระ แปลว่า ไปตามปีติที่ปรากฏว่าเหาะขึ้นกลางอากาศขวางอยู่

ไม่ว่าแต่เท่านี้ ในยุคที่อยู่กับหลวงปู่มั่น นิมิตของข้าพเจ้าโลดโผนมาก บางทีเดินจงกรมในอากาศ บางทีขัดสมาธิในอากาศ บางทีตีลังกาในอากาศ บางทีเหาะไปทางนอน สารพัดจะเป็นไป แต่ก็ไม่สำคัญตัวว่าเป็นผู้ประเสริฐ หมดกำลังแล้วก็ถอนออกมา พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ ก็เห็นประจักษ์แจ้งไม่สงสัย

ในยุคสมัยหลวงปู่มั่น พระภิกษุสามเณรทั้งหลายที่อยู่ในสำนักนั้น ต่างก็พิถีพิถันประชันขันแข่งกันทำความเพียร ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน แม้จะคุยกันซุบ ๆ ซิบ ๆ อยู่ที่ไหน ไม่ใช้เสียงก็ดี ปรารภกันแต่เรื่องภาวนาเป็นส่วนมาก เป็นของหาได้ยากมากในสมัยโลกดาวเทียมปัจจุบันนี้
162#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อนึ่ง ข้อวัตรปฏิบัติขององค์หลวงปู่มั่น เฉพาะส่วนตัวองค์ท่านการบริหารตนเองเป็นขั้นที่ ๑ ลูกศิษย์ที่ขอนิสัยเป็นชั้นที่ ๒ โยมอุบาสิกาเป็นชั้นที่ ๓ องค์ท่านตรงต่อเวลาขององค์ท่านมากในเวลากลางวันและกลางคืน แต่ละมื้อ แต่ละวัน

การที่ข้าพเจ้านำมาเขียนนี้เอง ก็เพราะเกิดสงสัยว่ายังไม่ได้เขียนไว้ในยุคนั้น ๆ หรือหากว่าซ้ำ ๆ ซาก ๆ เบื่อหูก็ขออภัยแก่ท่านผู้อ่านด้วย

อนึ่ง ยุคภูจ้อก้อนี้ให้เข้าใจว่าปรารภแต่เรื่อง ๒๕๒๔ คืนหลังลัก ๆ ลั่น ๆ ไม่พิสดารนัก แต่พอมาเขียนเพิ่มเดี๋ยวนี้มันก็เป็นเวลาพุทธศักราชล่วงมา ๒๕๓๐ นี้

ต่อจาก ๒๕๒๔ มาในยุคภูจ้อก้อบานหน้าขึ้นมาก เพราะมีพระและเณรจำพรรษามาก คำว่ามากก็ ๓๐ กว่า ๆ และก็มีญาติโยมท่านผู้ใจบุญมาจากต่างทิศเช่น พระนครหลวงเป็นต้น มาก่อ ๆ สร้าง ๆ เป็นต้นว่าไฟฟ้า หนทางขึ้นภูเขาและน้ำประปาและศาลาโรงธรรม ตลอดทั้งห้องน้ำคอนกรีตและห้องน้ำไม้บริบูรณ์พอควร จะถือว่าให้ความสะดวกเหนือวาสนาของข้าพเจ้าก็อาจเป็นได้ แต่ไม่ได้ออกชื่อลือนามของท่านเหล่านั้น และก็หวังว่าท่านเหล่านั้นไม่ชอบหน้าชอบตา คงจะชอบแต่กุศลผลบุญเท่านั้น แต่ก็คงจะรู้ได้ดีเพราะความลับไม่มีในโลก จึงขอจบเพียงเท่านี้แล

คำแถลง

อัตตโนประวัติของพระคุณเจ้าหลวงปู่เล่มนี้ ข้าพเจ้าและคณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์ ขอเรียนเพื่อความเข้าใจในการจัดพิมพ์ ต่อท่านผู้อ่านและท่านผู้รู้ว่า มิได้เกิดจากความประสงค์ใด ๆ ของ “องค์หลวงปู่ท่าน” ที่เราทั้งหลายกราบเคารพบูชา ด้วยความเทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้าโดยประการใดทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะองค์ท่านไม่อาจขัดต่อคำรบเร้ากราบวิงวอน ขออนุญาตจัดพิมพ์จากคณะศิษย์

เนื่องจากคณะศิษย์ได้ทราบมาว่า ท่านได้เมตตาเขียนอัตตโนประวัติขึ้น ตามคำเรียนขอ ของท่านอาจารย์อินทร์ถวาย ที่ได้บวชอยู่กับท่านถึง ๙ พรรษา ในช่วงยุคต้นของวัดภูจ้อก้อ ซึ่งได้อ่านแล้วเห็นประโยชน์และคุณธรรมอันวิเศษสุดประมาณ ในแนวทางปฏิบัติและข้อวัตรต่าง ๆ “สมัยถวายการปฏิบัติต่อองค์หลวงปู่มั่น” พร้อมทั้งประวัติการเดินธุดงค์เร่งความเพียร ซึ่งแลกด้วยชีวิต จึงกราบเรียนขอโอกาสพิมพ์ถวาย แต่องค์ท่านไม่ประสงค์จะให้พิมพ์ เพราะพิจารณาแล้ว เกรงว่าจะถูกตำหนิว่า “อวดเด่นและอยากดัง”

ข้าพเจ้าและคณะกราบเรียนวิงวอนท่านว่า

หลวงปู่เจ้าคะ “ ‘อัตตโนประวัติ’ เล่มนี้หลวงปู่เขียนจากประสบการณ์ และความจริงทุกประการใช่ไหมเจ้าคะ”

ท่านเมตตาตอบว่า “ใช่”

ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนท่านว่า

“หลวงปู่เจ้าคะ พระพุทธองค์ท่านทรงยกย่องว่า ให้ธรรมเป็นทาน ชนะทานทั้งปวง ขอโอกาสให้ลูก ๆ ได้จัดพิมพ์เผยแผ่ธรรมนี้ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรรุ่นลูก ๆ หลาน ๆ และผู้ใฝ่ปฏิบัติธรรมทั้งหลายด้วยเถิด

เมื่อท่านได้อ่านแล้ว ธรรมข้อใดเป็นประโยชน์ แนะแนวทางให้เกิดความพากเพียร และมีกำลังใจให้มุ่งเคร่งครัดปฏิบัติธุดงควัตร เพื่อให้พบคุณธรรมอันวิเศษ มีศีลาจารวัตรงดงาม เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป ดังบทธรรมที่ว่า เอหิปัสสิโก ธรรมเป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด”

เมื่อองค์ท่านได้ฟังกราบเรียน และพิจารณาแล้ว จึงย้ำข้าพเจ้าว่า “หนังสือนี้ไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์ในนิตยสารเพื่อการค้านะ ขอสงวนสิทธิ์ให้พิมพ์เพื่อเป็นธรรมหานเท่านั้น”

ฉะนั้นหากเกิดความผิดพลาดประการใดที่มีขึ้นในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าและคณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์ ขอน้อมรับความผิดพลาดทั้งหลายเหล่านั้น ส่วนธรรมทั้งหลายเหล่าใด ที่ดีมีประโยชน์ ข้าพเจ้าขอถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และน้อมถวายบูชาหลวงปู่ท่าน ที่เมตตาอนุญาตให้จัดพิมพ์เผยแผ่ถึงคุณธรรมขององค์ท่าน ซึ่งเปี่ยมล้นด้วยกุศโลบายในหนังสือเล่มนี้

คณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์
163#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คำปรารภ

คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือชีวประวัติครั้งที่ ๑๒ มีความเห็นว่า ควรที่จะแยกเรื่อง ความเป็นมาของการพิมพ์หนังสือจากคณะศิษย์ หรือ คณะศรัทธาในการพิมพ์ ออกมาจากส่วนของเรื่องชีวประวัติที่องค์หลวงปู่เป็นผู้เขียน มาไว้ในส่วนของท้ายเล่ม ต่างหากจากข้อเขียนที่เกิดขึ้นจากองค์หลวงปู่ จะเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะไว้หน้าเล่ม เป็นคำนำ เหนือข้อเขียนองค์หลวงปู่ท่าน ที่ใช้ว่า “คำแถลง” และให้เป็นการสอดคล้องกับข้อเขียนเพิ่มเติมขององค์หลวงปู่ท่านที่เขียนว่า “คำนำเพิ่มเติมใหม่” ซึ่งองค์หลวงปู่ท่านให้เพิ่มลงไปในส่วนของหน้าเล่ม

แต่เหนือเหตุผลอื่นใดก็คือ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านได้ปฏิบัติให้พบให้เห็นอยู่แล้วทุกวัน ว่าควรจะทำเช่นไรที่จะได้บุญอันสมบูรณ์ยิ่ง คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือครั้งนี้ ใคร่กราบขออภัยเป็นอย่างสูง ควรมิควรประการใดก็ขอได้โปรดเมตตาให้อภัย ที่ได้เปลี่ยนแปลงสารบัญ ของคำนำมาเป็นคำแถลง และคำแถลงมาเป็นคำนำ แล้วนำคำแถลงของคณะศิษย์ผู้ที่เป็นเหมือนดวงประทีปส่องนำทางให้คณะผู้จัดพิมพ์เข้าพบพานอันแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา จากปฏิทาข้อวัตรปฏิบัติและพระธรรมอันสูงสุดขององค์หลวงปู่ ยังผลให้เกิดความสุขสงบ โดยเหตุจากท่านและคณะเป็นผู้ริเริ่มอย่างมิหวังชื่อเสียงอื่นใดไปยิ่งกว่า บุญกุศลนี้เกิดขึ้นจากการขออนุญาตองค์หลวงปู่ท่านแล้ว จัดสารบัญรูปเล่ม จนมาพิมพ์เป็นหนังสือชีวประวัติครั้งแรก ประมาณปลายปี ๒๕๓๐ ณ โรงพิมพ์วัดสังฆทาน จำนวน ๕,๐๐๐ เล่มนั้น มาไว้ท้ายเล่มที่เห็นอยู่ในหนังสือเล่มนี้

คณะผู้จัดพิมพ์

http://www.dharma-gateway.com/mo ... /lp-lah-hist-12.htm
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้