ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี(วัดภูจ้อก้อ) ~

[คัดลอกลิงก์]
121#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แล้วจ่าหน้าซองว่า

กราบเรียนพระเถรานุเถระทุกถ้วนหน้า วัดป่าโคกกลอย ตำบลนากลาง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เมื่อได้ทราบแล้ว อ่านแล้ว กรุณาถวายต่อทางวัดป่าเขาโต๊ะแซะ ภูเก็ต ด้วยครับ จะเป็นพระคุณยิ่งอย่างสูง

ส่วนจดหมายไปหาโยมพังงานั้น ลงที่พักอยู่ วันที่...เดือน...พ.ศ.... แล้วกล่าวใน จ.ม.ว่า

เจริญธรรมคณะญาติโยมชาวพังงาที่ร่วมสุขทุกข์กับวัดป่าทุก ๆ ท่านที่นับถือ

อาตมาไปเที่ยววิเวกคงจะไม่ได้กลับเสียแล้ว เมื่อต่างฝ่ายต่างมีพุทธ ธรรม สงฆ์ ประจำใจอยู่ ได้ชื่อว่าอยู่ใกล้กันโดยธรรมแล

ส่งข่าวมาด้วยความนับถือไว้ในพระพุทธศาสนาตลอดกาลนานแล

หล้า เขมปตฺโต


นี้แหละเรื่องสังขารของการวิโยคมันเป็นอย่างนี้ละ

ที่ป่าช้าจังหวัดตรัง

ครั้นพักอยู่ที่นั้นเกือบเดือน แล้วก็ลาเขา ลงเรือข้ามอ่าวลึก ไปพักอยู่หนองจิกคืนหนึ่ง เขาส่งขึ้นรถยางไปจังหวัดกระบี่ พอถึงก็ค่ำมืด เขาเอาไปพักไว้นอกเมือง โรงเครื่องจักรคั่วกาแฟ มีชายโสดอยู่นั้นคนเดียว ที่กว้างขวางหลาย ๆ ห้อง ตื่นเช้าเขาส่งขึ้นรถเถ้าแก่ เขาเอานมมาให้ฉัน ๒ แก้ว ก็เลยฉันแก้วเดียว

๖ โมงเช้ารถก็ออก เดินทางข้ามอำเภอคลองท่อม พอถึงอำเภอห้วยยอดเป็นเวลา ๕ โมงเช้า ชาวรถเขาหยุดอยู่ประมาณ ๓๐ นาที เขาจะจัดเพลถวาย

บอกเขาว่า “อาตมาฉันมื้อเดียว ฉันนมหกโมงเช้าหนึ่งแก้วแล้ว ความหิวไม่รบกวนดอก”

แล้วรถก็ได้เวลาวิ่งต่อไปถึงจังหวัดตรัง ประมาณบ่ายสองกว่า แล้วไปพักที่ป่าช้า ไกลจากสถานีรถไฟประมาณเกือบกิโล มีโยมเอาเสื่อมาปูที่ดินราบใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง และมีน้ำหนึ่งครุ แขวนกลดที่กิ่งไม้ต้นนั้น ผินหัวหนุนหลุมศพ เพราะศพที่เขายังไม่เผาเขาถมดินพูนขึ้นเตียน ๆ เขาไม่เอากิ่งไม้และหนามมาปกไว้เหมือนภาคอีสาน

ด้านภาวนาหนักไปทางบริกรรมเมตตาอยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเป็นส่วนมากมาแต่ถ้ำกรรจ์ จังหวัดพังงาแล้ว แผ่จนถึงอนัตตาจิต อนัตตาธรรมอันไม่มีเวรอันไม่มีภัยไม่มีศัตรู แต่ก็เห็นคุณค่าทันตาเฉพาะตน เพราะกระแสจิตใจไม่นึกเพ่งโทษใคร สติก็ตั้งได้ง่ายไม่โผล่ออกมาหงุดหงิด ตั้งจิตว่าขอโยนิทั้ง ๔ ทุกถ้วนหน้า จงเป็นสุขในพุทธ ธรรม สงฆ์อยู่ทุกเมื่อดังนี้เสมอ ๆ ไม่ได้บังคับยาก ส่วนเวลานอนก่อนหลับ เอาไว้กับลมออกเข้าพร้อมบริกรรมเมตตา

ตื่นเช้าได้เวลาไปบิณฑบาตที่ในเมือง ตอนบ่ายประมาณ ๕ โมง มีจีนคนหนึ่งอายุราว ๓๐ หน้าตาคมตายผ่องใสมากราบ แล้วถามว่า

“ทั่งมาพักที่ลี่ เห็งผีไหมล่ะ”

ตอบ “ไม่เห็นเลย”

ถาม “เห็งงูไหมละ งูกะปะมังมีหลาย”

ตอบ “ไม่เห็น”

ถาม “แล่ว ๆ ทั่งจะไปไหนล่ะ”

ตอบ “จะไปกรุงเทพฯ”

ถาม “ท่าง ๆ จะไปด้วยวิธีไหนล่ะ”

ตอบ “จะเดินไปพอจำพรรษานครศรีธรรมราช ร่อนพิบูษย์ก็จำ”

จีนพูดต่อไปว่า “มัง ๆ ไกลง่ะ”

ตอบ “ไกล ก็ค่อยเดินไป ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั้น”

จีนพูดต่อไปว่า “ถ้า ๆ หยั่งลั้ง ผง ๆ จะเอาเงิงให้ทั่ง”

ตอบ “อาตมารับเงินถือเงินเอาเองไม่ได้”

จีนพูดต่อไปว่า “ถ้า ๆ หยั่งลั้ง เอาใบสุกทิกทั่งมา ผงจะไปชื้อตั๋วรถด่วงมาให้ เขาขาย ล่วงหน้า ๖ โมงเย็ง”
122#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แล้วก็ก้มหน้าพิจารณาอยู่สักครู่ ได้ความว่า คนพอหน้าพอตาเธอคงไม่ต้มเรา แล้วเอาใบสุทธิให้ เขาก็ขี่รถจักรยานไปไม่นานเท่าใดก็กลับมา เอาใบสุทธิและตั๋วรถให้ รถด่วนตู้ชั้น ๒ ๖๒ บาท ๕๐ สตางค์

แล้วเขาถามว่า “ข้าว ๆ จะกิงที่ไหนล่ะ”

ตอบ “อาตมาเคยทนหิวได้”

เขาตอบว่า “ถ้าหยั่งลั้งก็ไม่ยาก พรุ่ง ๆ ลี้ไม่ต้องบิงทะบาก ลกไปแต่เช่า จะไม่ทังลก จงไปรอผงที่สถานี ผง ๆ จะมาลักที่ลั้ง”

จบคำแล้วเขาก็กลับบ้าน

ถามว่า ไฉนจีนคนนั้นจึงไปเยี่ยมป่าช้า

ตอบว่า บิดาเขาถึงแก่กรรมถูกฝังไว้จมดิน เขาเอาธูปเทียนไปจุดบูชาคุณของบิดาเขา และเขากำลังริเริ่มจะโกยขึ้นเผา ธรรมเนียมของชาวจีนเด่นมากในทางเคารพบิดามารดาแห่งพระคุณ ตรงคำสอนของพระพุทธศาสนามากในส่วนนี้ ฉะนั้นจีนจึงไม่ค่อยจะตกต่ำในการครองชีพ และมักจะมีแต่ผู้มีศักดิ์มีศรีเป็นส่วนมาก นักโทษจีนในเรือนจำของประเทศไทยมีน้อยที่สุดนัก

ปรารภเรื่องเดินทางต่อไป ครั้นเป็นวันใหม่ ได้เวลาก็ส่งสาดกับครุเขาแล้ว ก็ลาเขาไปสถานีรถไฟเพื่อรอขึ้นรถ พอไปถึงสถานีก่อน ๑ โมงเช้า นายสถานีมารับเข้าไปไว้ในห้องเสมียน จัดเก้าอี้มาให้นั่ง เจ้านายทางนั้นเคารพพระอย่างไม่เสียธรรม ไม่ให้พระอยู่ข้างนอกปะปนกับโยม อีกสักครู่ จีนสองคนผัวเมียแลเห็น ก็เข้ามาในห้องเสมียนรับเอาบริขารแล้วพูดว่า

“นิมง ๆ นิมง ๆ ผง ๆ ให้ลูกผงไปนั่งจองตู้ชั้น ๒ ไว้แล้ว ลูกผู้ชาย”

ฝ่ายสามีก็สะพายเอาบาตร ภรรยาแบกเอากลด ข้าพเจ้าลาเสมียนย่อ ๆ แล้วก็ไปขึ้นรถไฟ เขาประเคนบริการแล้วเขาก็ประเคนถุงยางใส่ข้าวกับปลาแห้ง ๓ ตัว ไข่๓ ฟอง ยาเกล็ดทอง ๒ ซอง น้ำ ๒ ขวดแก้ว แล้วก็เอาไว้ที่ตะแกรงข้างบนใกล้ที่นั่ง ส่วนน้ำ ๒ ขวดเอาไว้ที่ใต้ม้านั่ง แล้วถามเขาว่า

“ขวดนี้เมื่อฉันน้ำแล้ว จะให้อาตมาปฏิบัติยังไงหนอ”

เขาตอบว่า “กิงแล้วก็ขว้างทิ้งก็ล่าย หรือทิ้งไว้ในลก ถ้าใครอยากล่าย ก็ให้เขา ไม่ต้องเป็นกังวง”

แล้วจีนคนนั้นเขียนชื่อของตนให้เป็นอักษรไทย ซื้อนายดำไช่ จริงจิตร อยู่ถนนราชดำเนิน จ.ตรัง พอพูดกันจบคำไม่ช้าก็ตีระฆังแก๊ง ๆ ๆ รถไฟก็เปิดหวูด ให้พรเขาย่อ ๆ แล้วเขายกมือใส่หัว แล้วก็ลงรถไป

รถไฟก็ออกช้า ๆ ผ่านสถานีแล้วก็เร็วจัด เข้านั่งห้อยเท้าภาวนาในรถไฟ จิตใจก็รู้สึกเบามาก รถไฟสายปักษ์ใต้สมัยนั้นไม่ยัดเยียดคนโดยสารเหมือนสายเชียงใหม่ อุบลฯ อุดรฯ เลย และคนโดยสารก็ไม่ใจจืด เห็นพระมาในรถองค์เดียวไม่มีญาติโยมมาด้วย ก็เลี้ยงอาหาร ไม่ดูดายเลยนา

เวลาประมาณ ๕ โมงเช้าก็ถึง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ต้องลงรถที่นั้น รออยู่ประมาณ ๓๐ นาที เพราะรถคันที่วิ่งขึ้นมาจาก จ.ตรัง จะรอสับหลีกกับรถด่วนที่วิ่งขึ้นมาจากสงขลาเพื่อเข้ากรุงเทพฯ แล้วรถคันมาจาก จ.ตรังจะได้เลี้ยวขวาตรงลงไปทาง จ.สงขลา
123#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รถไฟ รถใจ รถธรรม

ขณะก่อนจะลงรถไปที่ทุ่งสงนั้น ได้เชิญให้คนโดยสารเอาถุงอาหารที่เอาไว้บนตะแกรงนั้น ให้เขาประเคนเตรียมไว้แต่เนิ่น ๆ แล้ว เพราะรู้จักคราวหนทางอยู่ เพราะคราวขาลงไปภูเก็ตก็ได้ผ่านทางสายนั้นแล้ว

ขณะที่ลงพักที่ทุ่งสงรอรถสงขลานั้น ได้รีบฉันอาหาร ๔-๕ คำ เพราะสงสารสองผัวเมียที่จัดแต่งให้แต่ จ.ตรัง เหลือนั้นก็เลยเอาให้นายสถานี มีปัญหาว่ามิได้ตีตั๋วอีกดอกหรือ มิได้ตีดอก เพราะดีจาก จ.ตรังถึงสถานีบางกอกน้อยแล้ว ใคร ๆ มาในรถขบวนนั้นมิได้ตีตั๋วที่ทุ่งสงทั้งนั้น

อีกไม่นานรถไฟด่วนจากสงขลาก็เปิดหวูดโผล่มา ก็รีบขึ้นชั้น ๒ ตามเดิม เขาหยุดอยู่ประมาณ ๑๐ นาทีก็วิ่งขึ้นกรุงเทพฯ รถมาจากตรังก็วิ่งลงสงขลา ผินหลังใส่กัน

เออ รถไฟวิ่งไปตามรางเหล็กภายนอก แต่มีรูปขันธ์นามขันธ์ขับไป รถภาวนาก็วิ่งไปตามภาวนาติดต่อ ไปถึงสถานีต้นทางของโลกุตตระ ก็คือสถานีพระโสดาบัน สถานีที่ ๒ ก็คือสถานีพระสกทาคามี สถานีที่ ๓ ก็คือสถานีพระอนาคามี สถานีที่ ๔ ก็คือสถานีพระอรหันต์ แล้วไม่ตีตั๋วกลับอีก ไม่เหมือนสถานีภายนอกและรถเหล็ก รถไม้ รถดิน รถน้ำ รถไฟ รถลมภายนอก เป็นของที่ควรทบทวนพิจารณาทั้งนั้น มิฉะนั้นแล้วจะเป็นเดรัจฉานกถา เพราะปรารภเรื่องบ้านเรื่องเมืองเรื่องรถเรื่องรา ฯลฯ นักปราชญ์อ่านพบย่อมหัวเราะ เป็นเหตุให้รู้จักภูมิจิตภูมิใจภูมิธรรมวาอยู่ระดับใดด้วย อันนี้ก็น่าคำนึง

การเขียน การอ่าน การพูด การทำ ลืมตน ลืมตัว ลืมใจ ลืมธรรมนี้ เมื่อเขียน อ่าน พูด ทำ น้อยก็ผิดน้อย เมื่อเขียน อ่านพูด ทำมาก ก็ผิดมาก ตรงกันข้ามเมื่อไม่ลืมตัว ไม่ลืมใจ ไม่ลืมธรรมแล้ว เมื่อเขียน อ่าน พูด ทำ น้อยก็ถูกน้อย เมื่อเขียน อ่าน พูด ทำมากก็ถูกมาก

เมืองผิดเมืองถูกทั้งหลายย่อมเป็นเมืองขึ้นอยู่ที่เมืองใจ คือเมืองใจที่ไม่ประกอบด้วยสติปัญญา คือเมืองใจที่ประกอบด้วยสติปัญญา เมืองที่ไม่ผิดไม่ถูก และไม่ติดอยู่ในเงื่อนทั้งสองแห่งความผิดถูกนั้น เป็นเมืองขึ้นพระนิพพาน แต่พระนิพพานมิได้บัญญัติว่าเป็นบ้านเมืองเลย เพราะพระนิพพานมิได้มาเป็นทาสเฝ้าเอาความผิด และเฝ้าเอาความถูก และเฝ้าเอาบ้านเอาเมืองอะไร ๆ ทั้งนั้น

รสกลอยที่จืดเพราะถูกแช่น้ำ พร้อมทั้งล้างเสร็จ จืดชืดแล้ว รสคันและเฝื่อนไม่มีอิสระ(ที่)จะกลับมาเป็นทาสทาโสทาสากับกลอยที่ถูกแช่พร้อมทั้งล้างดีแล้วอีกเลย ข้อนี้ย่อมเป็นของจริงอยู่แต่ไร ๆ ขาดตัว แม้ไม่เขียนอีก ไม่อ่านอีก ไม่พิจารณาอีก ก็เป็นจริงอีกอยู่อย่างนั้น ความจริงไม่หนีจากความจริงในขั้นนี้อีกละ

ความจริงไม่หนีออกจากความจริง ย่นลงสั้นที่ยุคก็มี ๒

ความจริงในโลกีย์ ๑ ความจริงในทางโลกุตตระ ๑

ในทางโลกุตตระ ขยายออกก็เป็น ๘ ตามชั้นของมรรคและผล

ความจริงไม่หนีจากความจริงทางโลกีย์ ในส่วนทางดีขยายออกเป็น ๔ ประเภท คือ มนุษย์ที่เต็มภูมิ ไม่บ้าใบ้เสียจริตผิดธรรมดา สวรรค์ เทวโลก พรหมโลก (แต่อย่าลืมว่าพระอริยเจ้าปนอยู่บ้างก็มี เว้นอนุปาทิเสสนิพพานเสีย)

ส่วนความจริงไม่หนีจากความจริงของฝ่ายโลกีย์ไปทางต่ำ คือ มนุษย์ที่บ้าใบ้เสียจริต สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก เปรตทุกจำพวก แต่อย่าลืมว่าจำพวกเหล่านี้สร้างบารมีสูงต่ำกว่ากัน เช่น พระเทวทัตจะได้เป็นพระปัจเจก ช้างปาลิไลยก์จะได้เป็นพระปัจเจก เพราะได้รับลัทธพยากรณ์แล้วจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าจะกล่าวตู่ว่าผู้เขียนเป็นบ้าอารมณ์ก็ดี แต่ผู้ที่บ้าแล้งก็ยังมีอีก ถ้าจะกล่าวเรื่องบ้าแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับกิเลสน้อยมาก ถ้าจะว่าขึ้นอยู่กับจิตกับใจหน้าเดียวก็มิได้ความชัด ใจที่ไม่มีกิเลสจะว่าบ้าย่อมไม่ถูกธรรมแท้ (เว้นพระอรหันต์เสีย เพราะหายหลง หายบ้าโดยสิ้นเชิงแล้ว ปราศจากธรรมเมาธรรมมัวไปแล้ว) แต่ก็ไม่ควรกล่าวคู่ว่าพระอริยเจ้าเป็นบ้า จะเป็นบาปหนักเพราะเป็นคำหยาบโลน นับแต่พระโสดาขึ้นไป เพราะการกำหนดว่าบ้าต้องมีขอบเขต จะผิดสัมมาวาจาไปไม่รู้ตัว

เวลา ๕ โมงเช้า ขึ้นรถไฟสถานีทุ่งสง พอมาถึงสถานีบางกอกน้อยก็ ๔ โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น ลงจากรถไฟ ถามตำรวจที่ท่าน้ำ ตำรวจส่งข้ามเรือไปท่าพระจันทร์ สามล้อได้จูงรถมารับ
124#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บอกว่า “ขอบพระคุณอยู่ แต่ไม่มีมูลค่าให้ เพราะถือมูลค่าไม่ได้”

เขาตอบ “ไม่มีมูลค่าก็ตาม กระผมจะไปส่ง กระผมก็ถือศาสนาพุทธ กระผมอยู่อยุธยา ชื่อศรี บุญเรือง บิดามารดาของกระผมก็ศาสนาพุทธ แล้วจะไปพักวัดไหน”

ตอบเขาว่า “ไปพักวัดบรมนิวาส”

ขึ้นรถแล้วก็สนทนากันไปตามทาง เขาพูดว่า “ไปพักวัดดวงแขเป็นยังไง”

ตอบเขาว่า “วัดดวงแขนั้นไม่รู้จักกับท่านผู้ใด วัดบรมนิวาสนั้นรู้จักพระมาก มาพักแล้ว ๒ ครั้ง”

เขาถามว่า “จะไปทางไหน”

ตอบว่า “จะไปทางสะพานยศเส แล้วแวะซ้ายวัดสามง่ามพักกุฏิสระเต่า”

แล้วเขาสังสรรค์ต่อไปว่า “ท่านอาจารย์มาจากไหน”

ตอบว่า “ภูเก็ต พังงา ไม่ได้มารวดเดียว วิเวกพักที่นั้นที่นี่มาเป็นเวลาสองเดือนแล้ว พอมาถึง จ.ตรัง โยมผู้ใจบุญส่งขึ้นรถไฟด่วน ก็มาตกรถที่สถานีบางกอกน้อย ตำรวจส่งขึ้นเรือข้ามฟากมา ก็บันดาลมาเจอคุณผู้ใจบุญอีก”

สามล้อพูดต่อไปว่า “ที่ว่าพระไม่มีเงินในกระเป๋าติดตัวนี้ ขนของกระผมชูขึ้น น่าสังเวชมากนัก กระผมเห็นแต่พระมีเงินในกระเป๋าเยอะแยะกัน”

พอถึงสะพานยศเสเจ้าตัวก็ลงเดิน เพราะสังเวชเขาเข็นรถขึ้นมอสูง เขาบอกว่า ไม่ต้องครับ สักเพียงไรก็ฝืนลง แล้วตอบเขาว่า “อาตมานึกเกรงใจมาก เมื่อคุณลึกซึ้ง อาตมาก็ต้องลึกตามบ้าง มิฉะนั้นแล้วอาตมาก็ไม่เป็นธรรม”

ขณะนั้น บังเอิญมิได้มีรถคันใดผ่านมาในที่นั้นเลย พอถึงหลังมอสูงจึงนั่งรถไปอีกสักครู่ก็แวะซ้ายไปถึงกุฏิสระเต่า เธอยกมือใส่หัว ให้พรเธอย่อ ๆ แล้วก็กลับไปตามวิสัยของเธอแล

ขณะนั้นพระหมู่เพื่อนแลเห็น ก็ร้องถามว่า “มาแต่ไหน สายนัก ฉันเช้าที่ไหน”

ตอบว่า “คนโดยสารรถไฟเขาเลี้ยงในรถ”

ถาม “เอาเงินที่ไหนให้เขา”

ตอบ “ตกรถท่าพระจันทร์ บอกเขาว่าไม่มีมูลค่าให้ เขาก็มาส่งฟรีตามทุกข์ ๆ ยาก ๆ อย่างนี้แหละ”

พวกพระมหาว่า “เออ ดีละ มาแบบนี้ก็ดี”

แล้วก็กราบไหว้ถามไถ่กัน จบเรื่องแล้วจัดที่พักให้ แล้วก็จบกัน ต่างคนก็ต่างพักตามอิสระ

พักอยู่นั้นประมาณ ๖ วัน ไปบิณฑบาตทางหลังวังสระปทุมและถนนเพชรบุรี ไปองค์เดียวและตามตรอกตามซอย เวลาฉันก็ฉันพร้อมกันกับพวกมหานั้น แต่เราฉันมื้อเดียว ข้าวในบาตรก็เหลืออยู่มาก ไว้ให้เด็กนักเรียนเขา พูดกับพวกท่านมหานั้นว่า

“ผมมันเคยในบาตรแล้ว ก็ต้องเอาตามเรื่องของใคร ของมัน ผมไม่ให้ข้าวและกับเหลือในบาตรพอฟองไข่เป็ดดอก พวกคุณมหาใช้ช้อนกลางก็เป็นทางสะดวกดี เพราะมิได้เปื้อนน้ำลายกัน ผมเอาช้อนกลางตักใส่บาตรผมแล้ว ก็เป็น(อัน)แล้วกัน พวกเรามาพบกันก็ภาคอีสาน บิดามารดาของพวกเราเลี้ยงมา ก็ข้าวเหนียวนึ่งกับปลาร้านั้นแหละเป็นหลักส่วนมาก”

การปรารภกันง่าย เพราะพระกุฏิสระเต่านั้นมีแต่พระอายุพรรษาน้อยกว่าเราเว้นมหาไผทเสีย แต่มหาไผทก็คุ้นเชื่องกันแต่คราวอยู่อุดรฯ ๒๔๘๘ นั้นแล้ว เท่าที่สังเกตดูพฤติการณ์มารยาท ก็ดูว่า ไม่ขัดข้องกับเจ้าตัวในเวลาพักอยู่ เพราะมารยาทไม่พิรุธ

เรื่องพิเศษเมื่อระลึกได้ก็ควรเขียนแทรกลงอีกคือ หลวงปู่มั่นย่อมเคารพปริยัติ และพระเถรานุเถระฝ่ายปริยัติธรรมมากนัก องค์ท่านเคยปรารภให้ฟังในยุคบ้านหนองผือ สกลนคร ว่า

“องค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้านี้ พระองค์ท่านแตกฉานในธรรมในพระวินัยมากมายนักหนาแท้ ๆ แม้พระองค์เจ้าอื่น ๆ ก็แตกฉานเหมือนกัน ถ้าหากว่า ฝ่ายปริยัติธรรมไม่แปลออกเป็นภาษาไทยไว้ พวกเราผู้เรียนน้อย ก็ไม่รู้จักความหมายแต่ละชั้น ๆ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธจะแยกกันไม่ได้ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น สัทธรรม ๓ อย่างนี้จะแยกกันไม่ได้เลย ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ อุดรธานี มีนิสัยทางเรียน เราก็ปล่อยให้เรียน แต่ก่อนลูก ๆ หลาน ๆ เราว่าอยากจะเรียนก็มี เราได้ซื้อหนังสือให้ครบ แต่เรียนไปแล้วไม่ตั้งใจ ไม่เป็นท่า จะเอาปฏิบัติก็ไม่ได้ จะเรียนก็ไม่ได้ เลยลาสิกขาไปเสียหลายราย”
125#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แต่ก็กรรมนิยมกรรมบันดาลของใครของมัน กรรมและผลของกรรม ย่อมเป็นเงาตามตัว ของผู้ยังท่องเที่ยวในสงสาร เว้นพระนิพพานเสีย เพราะพระนิพพานไม่ได้มาเป็นทาสกรรมและผลของกรรมเหมือนคนคุมนักโทษ พระนิพพานเป็นธรรมอันเหนือเหตุผลไปแล้ว ไม่ได้เป็นนายยาม มาคอยเฝ้าเหตุเฝ้าผล พระนิพพานไม่ได้เกี่ยวกับรูปขันธ์ นามขันธ์ เพราะรูปขันธ์ นามขันธ์เป็นฝ่ายสังขาร ผ่านพ้นสังขารไปแล้ว แม้จะบัญญัติว่าธาตุ ว่าธรรม ว่าอายตนะ ว่าอินทรีย์ก็ตาม แต่ไม่ทรงอยู่ในกองนามรูป ฉะนั้นจึงหาพระอรหันต์ในกองนามรูปที่เรียกว่าขันธ์ ๕ ไม่ได้ กองนามรูปเป็นหนทางเดินเพื่อให้พิจารณาให้ถึงความเบื่อหน่ายคลายหลง

กลับอีสาน

ครั้นพักอยู่วัดบรมนิวาส พระมหาวิชัยจะส่งค่ารถให้ถึงอุดรฯ แต่เจ้าตัวขอไว้ว่า ส่งถึงอยุธยาก็พอแล้ว เพราะนึกจะไปเที่ยววัดป่าท่านฉลวยบ้าง ไปรถไฟธรรมดาก็พอแล้ว ไม่จำเป็นจะไปรถด่วนเลย ท่านให้เด็กไปส่งขึ้นรถไฟสินค้าตู้ชั้น ๓ ค่ารถ ๒ บาท ๕๐ สตางค์

ไปถึงอยุธยา พักอยู่ที่อยุธยา ๓ วัน พักอยู่วัดป่าท่านฉลวยบ้าง เขาเอาไปพักกระต๊อบเล็ก ๆ บ้าง เขาพาไปดูพิพิธภัณฑ์ในพระบรมราชวังเก่า อันมีพระพุทธรูปทำด้วยหิน วัดผ่าศูนย์กลางตรงหน้าอกคงได้ประมาณ ๔๐ เซ็นต์ พระศอขาดราบ ๆ ไปเกลื่อนกลาดอยู่ ตั้งแต่สงครามโบราณ เป็นอนุสรณ์ที่น่าสังเวชมาก นึกระอาในสงสารเพิ่มขึ้น ๆ

มนุษย์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ใจถึงทั้งนั้น ย่นใจถึงลงมาเป็น๒ ทาง คือใจถึงไปทางก่อเวรก่อภัยหนึ่ง ใจถึงไปทางไม่ก่อเวรไม่ก่อภัยหนึ่ง พระอริยเจ้าใจถึงไปทางโลกุตตระ ต่ำกว่านั้นลงมาการอวดว่าใจถึงเอาเป็นประมาณไม่ได้

ผลของกรรมที่ใจถึง ย่อมตามผู้ใจถึงอยู่ทุก ๆ ขั้น ให้ผลต่าง ๆ กันตามลำดับของตัวเหตุ ตัวกรรม ตัวพืช ตัวกิริยาที่หว่านไว้ ที่ปลูกไว้ ที่สร้างไว้ ด้วยความที่ว่าข้าใจถึงไม่ต้องปฏิเสธและไม่ต้องสงสัยเลย แม้จะมีผู้เชื่อกรรมและผลของกรรมหรือไม่ก็ตาม จะมีผู้ถือพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม ในโลกยุคไหน ๆ ก็ตาม กรรมและผลของกรรมก็นำสนองกรรมอยู่อย่างนั้น เพราะมโนกรรมเป็นต้นสาย

เหตุของกรรมทั้งหลาย ย่อมให้ผลในภพนี้บ้าง ภพหน้าบ้าง เป็นลำดับบ้าง ตามกิจที่ทำบ้าง ในชาติในภพสืบ ๆ บ้างตามส่วนควรค่าของเหตุที่สร้างขึ้นน้อยและมาก ไม่ว่าทางดีและทางชั่ว ขึ้นอยู่กับเหตุ ใจที่เป็นนายหน้าสร้างขึ้นเสมอ ๆ ใจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ตาม ไม่เป็นปัญหา ถ้าใจและผลของใจไม่มีแล้ว ก็ไม่มีใครจะสงวนใจที่จะปฏิบัติใจ

ผู้ปฏิเสธกรรมและผลของกรรมในภพนี้และภพหน้าและภพสืบ ๆ นั้น (เหมือน)คนตาบอดมาอวดดีสนเข็มกับคนตาดี ก็มีความหมายและรสชาติอันเดียวกัน

ผู้ที่เชื่อกรรมและผลของกรรมลงได้สนิทก็คือผู้มีตาปัญญาไม่บอด จะแลดูข้างหน้าข้างหลังซ้ายขวาก็เห็นชัดได้ถนัดไม่มีเมฆหมอกบัง เป็นสัมมาทิฏฐิเห็นชอบในชั้นนี้ได้ เขานับวันจะก้าวหน้าในปัญญาชั้นสูง ทุกข์ใจในขันธสันดานก็นับวันจะลดลงได้ จะไม่เป็นทาสของความหลงของเจ้าตัวอยู่นานเนิ่นช้า เป็นสติปัญญาทำลายมืดไปแบบก้าวหน้า

ครั้นพักอยู่อยุธยา ๓ วันแล้ว โยมเถ้าแก่ส่งขึ้นรถด่วน เป็นเวลา ๕ โมงเช้า ตู้ชั้น ๒ ราคาโดยสารลดลงครึ่งค่าแล้ว ๔๘ บาท ปลายกี่สตางค์ก็ลืมไป ตู้รถเกาะกันเป็นทิวแถว

พอถึงสถานีอุดรฯ ก็ประมาณ ๒ โมงเช้ากว่า ๆ ได้ยืนมาแต่อยุธยาจนถึงอุดรฯ ยัดเยียดมาก เรียกว่ายืนภาวนามาก็ได้ ตาใสแจ๋ว ลงจากสถานีอุดรฯ แล้วก็เดินสะพายบาตร ลัดใส่บ้านเดื่อ เดินไกลประมาณ ๔ กิโลก็ถึงบ้านเดื่อ พวกลูก ๆ หลาน ๆ เขามาใส่บาตรที่วัดบ้านเดื่อ พักฉันที่นั้น เป็นวัดของหลวงปู่อ่อนตา (ไม่ใช่หลวงปู่อ่อนตา วัดกรมทหาร)

ฉันอาหารเสร็จแล้ว ก็ลาท่านไปพักวัดป่าโนนนิเวศน์ พักอยู่คืนหนึ่ง ฉันเช้าเสร็จก็ลาหลวงปู่พรหมมี ไปพักบ้านกุดสระและบ้านขมิ้นบ้านละคืน ก็กลับพักวัดป่าโนนนิเวศน์อีก

รุ่งเช้าหลวงปู่พรหมมี ใช้ให้ไปรับนิมนต์ เขาทำบุญใกล้วัดโพธิสมภรณ์ ส่วนหลวงพ่อหลวงปู่พรหมมีไปรับนิมนต์สายถนนหมากแข้ง เขาทำบุญเรือนใกล้โรงพยาบาลเก่า เพราะวันนั้นเขานิมนต์ ๒ แห่งจุกจิก
126#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เมตตา

พอข้าพเจ้าไปถึงที่นิมนต์ตอนเช้า เข้าไปในที่ปะรำพิธี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ทอดสายตาเห็น องค์ท่านกวักมือให้ไปนั่งหัวแถวหักมุมตรงหน้าขององค์ท่าน แล้วผินหลังใส่โยม แล้วองค์ท่านถามว่า “เธอไปพักอยู่ที่ไหน”

เรียนตอบ “วัดป่าโนนนิเวศน์ครับผม”

ถาม “ได้กี่คืนแล้ว”

เรียนตอบ “ได้สองคืนแล้วครับผม”

ถาม “เธอมาจากภูเก็ต พังงาหรือ”

เรียนตอบ “ครับผม”

ถาม “ทำไมเจ้าจึงมาเสีย”

เรียนตอบ “เพราะสถานที่ไม่ค่อยจะสะดวก แผ่นดินคับแคบครับผม”

ถาม “ทำไมเธอจึงไม่มาพักกับข้าเล่า”

ตอบ “เพราะเวลายุ่ง จุก ๆ จิก ๆ ในการเยี่ยมญาติ”

องค์ท่านกรุณาว่า “เออ เราจะให้เด็กวัดตามไปพร้อมในเวลาเสร็จนี้ ให้เขาช่วยเอาบริขารมา มาพักกับข้าฯ” แล้วก็หยุดถาม แล้วองค์ท่านบอกว่า

“นี้ช้อน เธอจงตักเอาใส่บาตรเธอทั้งข้าวทั้งกับ เธอฉันในบาตรตามเคย ไม่ต้องเกรงใจข้า พระธุดงค์ไม่ยินดีฉันในบาตร ข้าเบื่อมาก”

ข้าพเจ้าตักเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นน้ำทั้งข้าวทั้งอาหาร ก็ขนาดกำปั้น ก็ไม่พอไม่เท่าเพราะตั้งใจว่าจะมิให้บาตรเปื้อนเลอะเทอะ จะให้เหลืออยู่เพียงคำเดียวเท่านั้น

พระเถระมีแต่หัววัดทั้งนั้นประมาณสิบกว่าองค์ ท่านเจ้าคุณหนองคายก็มา เจ้าตัวไม่เคยนั่งหักมุมอยู่หัวแถวกับเจ้าฟ้าเจ้าคุณก็ว่าขัน ๆ แปลก ๆ ดูว่าไม่มีการสวดพาหุงและให้พร ชะรอยเราจะไปสาย ท่านทำเสร็จแล้วก็อาจเป็นได้

ญาติโยมอยู่ที่นั้นประมาณ ๗๐ คน เมื่อองค์ท่านบอกลงมือฉัน ก็ตั้งใจฉัน เสร็จแล้วองค์ท่านก็ให้เด็กตามไปพร้อม เพื่อช่วยเอาบริขารมาวัดองค์ท่าน

นึกในใจว่าพ่ออุปัชฌาย์ของเรานี้ รู้จักนิสัยของลูก ๆ แล้วให้ความอบอุ่นไม่มีอุบายขู่เข็ญแต่ประการใดเลย พูดเหมือนอย่างพ่อกับลูก ๆ หลาน ๆ อย่างกันเองแบบคุ้นเชื่องมาแล้วหลาย ๆ ชาติ

แต่เรามิได้ลืมตัวว่าจะคุ้นเชื่องจนเลยเถิดไม่เคารพ เพราะธรรมดาผู้ปฏิบัติ จะคุ้นเชื่องกับพระเถระเพียงใดก็ตาม หน้าที่ของการเคารพก็ต้องคงที่ จะเลียสบเลียปากเหมือนสุนัขเลียปากเจ้าของก็ไม่ได้ ธรรมอันนี้เป็นธรรมทรงตัวมาแต่ดึกดำบรรพ์ ตลอดอนาคตไม่เปลี่ยนแปลงไปไหนได้ ท่านผู้ใดเอาออกใช้ก็ต้องถูกทั้งนั้น เป็นธรรมอันไม่ล้าสมัยอยู่ทุกกาล

แต่นักปฏิบัติมักอยากจะลืมตัวลืมใจลืมธรรม เมื่อคุ้นเชื่องกับบิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย และอุปัชฌาย์อาจารย์เข้าบ้างแล้ว มักจะตีเสมอ ขาดคารวะ เห็นมีอยู่ดาษดื่นเต็มโลก ขายไม่ออก บอกไม่ได้ใช้ไม่ฟัง

หลวงปู่มหาได้เตือนข้าพเจ้าไว้เสมอ ๆ ในคราวหนองผือ หลวงปู่มั่น ข้าพเจ้าจำไว้ได้ไม่ยอมลืมเลยจึงได้เขียนไว้เป็นมรดกของลูก ๆ หลาน ๆ ผู้หวังคนอนาคต มิฉะนั้นคำสอนตอนนี้อันเป็นเนื้อธรรมล้วนไม่มีกระดูกและก้างปนเจือ ก็จะอันตรธานหายไปจากโลก จะมีแต่กุลบุตรกุลธิดาสะสมความเย่อหยิ่งจองหองอวดดี
127#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

พักอยู่วัดโพธิสมภรณ์คืนหนึ่งแล้วท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ส่งขึ้นรถยนต์มาลงสกลนคร พักอยู่สุทธาวาส ๑ คืนก็เดินทางด้วยฝีเท้ามาพักวัดป่าบ้านโคกกับพระอาจารย์อุ่นหนึ่งคืน แล้วไปพักวัดดอยธรรมเจดีย์ประมาณ ๗ วัน เอาฟืนช่วยหลวงปู่กงมาอยู่บ้าง

ลาออกจากนั้นก็ไปพักวัดป่าบ้านนาโสก อยู่ประมาณ ๗ วันมีเณรโส บ้านนาโสก อยากจะไปห้วยทรายด้วย จึงพูดกับเณรว่า

“ถ้าเณรอยากไปจงไปทีหลัง อย่าได้ไปพร้อมกัน เพราะจะทับถมข้า คล้ายกับข้ามายักยอกเอาเณรไปด้วย”

เณรกล่าว “อยากจะไปศึกษากับพระอาจารย์มหาบัวที่วัดป่าห้วยทราย ได้ยินแต่กิตติศัพท์มาหลายปีแล้ว อยากเห็นอยากรู้”

วัดบ้านนาโสกสมัยนั้น มีหลวงพ่อมิ่งอยู่นั้นกับเณรสององค์ คือ เณรตา เณรโส จึงปรารภกับหลวงพ่อว่า

“หลวงพ่อ ผมมาพักทีนี้เป็นกรรมอันไม่ดีแล้ว เณรโสจะไปกับผม จงห้ามเณรโสช่วยกัน ผมมิได้ชวน มิได้มีนโยบายนอกในลึกตื้นอันใดกับเณรโส เพื่อแยกแยะให้เณรโสไปด้วย

ผมรู้เห็นและปฏิบัติตามคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคอยู่ว่า ไม่ควรไปเกลี้ยกล่อมเอาภิกษุสามเณรของท่านผู้อื่นไปตามตน และไปปฏิบัติตน จะเป็นอาบัติทุกกฎหลาย ๆ ตัว ต่อเมื่อส่งภิกษุสามเณรนั้นคืนให้อาจารย์เดิมของเขาแล้ว จึงแสดงอาบัติทุกกฎในส่วนนี้ตก ผมย่อมเคารพพระวินัยส่วนนี้อยู่นะครับ ไม่ว่าไปพักสำนักใด ๆ ผมย่อมระลึกเห็นและปฏิบัติพระวินัยส่วนนี้อยู่ ไม่ทำแบบปากว่าตาขยิบเลย

ขณะผมขึ้นรถไฟ มีคนโดยสารมากก็จริง ก็เรียกว่าคนเดียว พระบรมศาสดากล่าวยืนยันแล้วว่า การเดินทางไกลคนเดียว ถ้ามีหมู่ในรถในเรือมากก็ตาม ถ้าไม่คุ้นเชื่องกับใคร พอที่จะฝากศพฝากไข้ได้ ก็เรียกว่าไปคนเดียวมาคนเดียวทั้งนั้น

ฉะนั้น วิสาสา ปรมา ญาติ ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง จะเป็นเครือญาติสักปานใดก็ตาม ถ้าไม่คุ้นเคยกัน ต่างคนก็ต่างอยู่ ไม่สนิทชิดเชื้อแล้ว ความอุ่นอกอุ่นใจในระหว่างทั้งสองฝ่ายก็กลายเป็นโมฆะ ก็เท่ากับว่าไร้ญาติไร้มิตรไร้ความอุ่นใจ แต่ทางปรมัตถ์ก็ให้หวังพึ่งตนเองเสมอ ๆ”

เณรโสตอบว่า “ครูบาอาจารย์มิได้ล่อลวงผมไปด้วยประการใด ถ้าหากว่าครูบาอาจารย์ล่อลวงผมไปด้วยแล้ว ผมก็เห็นความไม่เป็นธรรมของครูบาอาจารย์อีก ผมก็ถอนศรัทธา ไม่อยากไปอีก แม้ตัวของผมก็อายุ ๑๙ แล้ว ย่อมสนใจพิจารณาอยู่ทุก ๆ ด้านบ้าง แล้วผมก็บอกตรงอยู่แล้วว่า อยากจะไปเรียนปฏิบัติอยู่กับครูบาอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง คุณพ่อมิ่งจะถือว่าข้ามกรายอิดหนาระอาใจก็ดูว่าจะไม่สมเหตุผล” หลวงพ่อมิ่งก็เลยอนุโมทนาเพราะได้พูดถึงธรรมอันมีเหตุผล

http://www.dharma-gateway.com/mo ... /lp-lah-hist-10.htm
128#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถึงห้วยทรายกราบหลวงปู่มหา

ตื่นขึ้นเป็นวันใหม่ฉันเสร็จเรียบร้อยก็กราบลาหลวงพ่อเตรียมเดินทาง โยมจะส่งขึ้นรถมุกฯ ก็ไม่ยอมไป เพราะกว่าจะเดินทางถึงบ้านต้องจึงจะได้ขึ้นรถสายอุบลฯ แล้วไปลงมุกดาหาร แล้วจะเดินแต่มุกดาหารถึงห้วยทรายยิ่งเป็นเรื่องใหญ่โตนัก เดินลัดไปทางบ้านดงมอน-ก้านเหลืองเสียดีกว่า

แล้วโยมก็ไปส่งสองคน ไปส่งถึงแจ้งตะวัน (แจ้งตะวันเป็นชื่อสถานที่) แล้วก็กลับ ต่อแต่นั้นก็ตั้งหน้าเดินตรงข้ามบ้านโพนแดง ข้ามบ้านดงมอน-ก้านเหลือง ข้ามห้วยบางทราย ไปพักใกล้บ้านสงเปือย ที่ทุ่งนาแห่งหนึ่ง อยู่กลางดง มีเถียงนาว่าง ๆ อยู่หลังหนึ่ง ก็พอดีกับค่ำ พักนอนที่นั้น และมีเถียงนาอีกหลังหนึ่งอยู่ไกลกันประมาณ ๑๐ เส้น เจ้าของเขานอนประจำอยู่ เขานอนเฝ้าของเขา ไปขอตักน้ำที่บ่อของเขามาไว้ล้างหน้า ส่วนสรงน้ำนั้นสรงแต่ห้วยบางทรายแล้ว

เขาเล่าว่า “เถียงนาหลังที่พระคุณเจ้าพักนั้น ๒-๓ วันมานี้เขาปล้นกันที่นั้น เขาถูกปล้นแล้วเขาก็ย้ายเข้าบ้านเดิมบ้านสงเปือย ส่วนพวกข้าน้อยก็จะย้ายเข้าบ้านเดิมเหมือนกัน”

พักอยู่ที่นั้นภาวนาก็สงบเงียบ คงหลับนิดเดียวก็สว่าง เป็นวันใหม่ ไปบิณฑบาตที่เถียงนานั้น ได้ข้าวคนละปั้น กับอาหารพอดีกับข้าว ความจริงแล้วข้าวก็ดี อาหารก็ดี เขาก็ตามไปส่งอีกอยู่ สงสารเขา ไม่เอาของเขาไว้มากเลย เพราะสังเกตเขามิใช่คนรวย หาเช้ากินค่ำ เอาไว้ปั้นเดียวใหญ่กว่าไข่เป็ดบ้าง ก็เป็นบุญอันมากแล้ว ให้พรเขาย่อ ๆ แล้วก็ฉัน เสร็จเรียบร้อยแล้วทุกประการก็ลา

เขาบอกทางแล้ว ก็ตั้งหน้าภาวนาเดิน ข้ามบ้านนาคำ บ้านตากแดดเข้าบ้านหนองเอี่ยนทุ่ง แล้วเดินทางตามทางหลวง พอถึงห้วยทรายก็มืดพอดีจุดไฟ องค์หลวงปู่มหาก็อยู่ในศาลากำลังเทศน์พระและแม่ชีอยู่

ท่านทักว่า “ท่านหล้ามาแล้ว”

ท่านประกาศว่า “นี้แหละเขียงเช็ดเท้าพระอาจารย์ใหญ่มั่นองค์หนึ่ง”

กราบนมัสการแล้วองค์ท่านก็ถามไถ่ทุกประการ ตกลงได้นอนอยู่ที่ศาลาเพราะกุฏิเต็ม ได้เรียนองค์ท่านว่า

“กระผมจับไข้มาแต่บ้านหนองเอี่ยนทุ่ง เพราะกรำแดดมาร้อน ๆ แล้วฝนตกลงมา ลมจัด เปียกตัวหมด แล้วจับไข้ขึ้นทันที ทั้งเดินทั้งไข้ ผ้าเปียกจนแห้งกับตัว เดียวนี้ก็ไข้อยู่ขอรับ”

ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันใหม่ก็ขอนิสัย รู้สึกเบาใจที่ได้มาอยู่กับองค์ท่าน
129#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ได้พบกัลยาณมิตรอีก

ย้อนคืนหลังมาปรารภ คุณเพ็ง คุณสีหาที่ได้เคยอยู่ด้วยกันในยุคหนองผือ พอข้าพเจ้ามาพักวัดป่าสุทธาวาส คุณเพ็ง คุณสีหาพอได้รับทราบข่าวว่า ข้าพเจ้ามาถึงวัดป่าสุทธาวาสจะไปหาพระอาจารย์มหาบัว ขณะนั้นคุณเพ็งคงอยู่กับหลวงปู่ฝั้น คุณสีหาคงอยู่กับพระอาจารย์วัน ก็พากันชวนกันไปหาพระอาจารย์มหาบัวเพื่อจะได้จำพรรษารวมกันหมู่เก่าอีก เพราะเคยได้อยู่ร่วมกันมาแล้วในยุคหนองผือ รู้จักนิสัยใจคอกันแล้ว จะปฏิบัติสะดวก

สมัยนั้นเป็นเวลาฤดูเดือนพฤษภาคมข้างแรม หลังวิสาขบูชา ๒๔๙๖ แล้ว พระอาจารย์มหาได้ปรารภลับหลังกับหมู่ว่า

“ผมไปอยู่กับหลวงปู่มั่น เสนาสนะเต็มหมด องค์ท่านได้พาหมู่ทำกุฏิให้ผมอยู่ มาบัดนี้ผมจะได้ทำกุฏิให้ท่านหล้าอยู่ละ ผมเป็นเวรกับองค์หลวงปู่ในตอนนี้อีกแล้ว ใช้เวรไปเสีย”

แล้วได้รีบทำกุฏิมุงหญ้าปูฟากอีกหลังก็เสร็จไปโดยเร็ว ได้ให้อาจารย์สิงห์ทองไปอยู่ แล้วได้สับเปลี่ยนหลังอื่นให้ข้าพเจ้าไปอยู่ แต่อยู่ใกล้พระอาจารย์มหาทางทิศเหนือนั้น กุฏิที่ปลูกใหม่อยู่ใกล้พระอาจารย์มหาทางทิศใต้ สามเณรโสให้อยู่ข้างใกล้โรงไฟ ปีนั้นมีพระ ๑๑ รูป สามเณร ๔ องค์ คือ

๑. พระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้า ๒. พระอาจารย์สม ๓. พระอาจารย์สิงห์ทอง ๔. หลวงพ่อนิล ๕. ข้าพเจ้า ๖. คุณเพียร ๗. คุณสุพัฒน์ ๘. คุณเพ็ง ๙. คุณสีหา ๑๐. คุณลี ๑๑. คุณสวาส

เณร ๔ องค์ (คือ)

๑. เณรน้อย ๒. เณรน้อยอีก ๓. เณรบุญยัง ๔. เณรโส

ปฏิปทาของหลวงปู่มหาพาทำเหมือนสมัยยุคหนองผือ หลวงปู่มั่น เพราะสมัยห้วยทรายแขก โยมยังไม่มาก การบวชพระบวชเณร ถ้ามีขึ้น ก็เดินด้วยฝีเท้า ไปบวชมุกดาหาร ต้องนอน(กลาง)ทางคืนหนึ่ง (วัน)ที่สองไปนอนมุกฯ เช้าฉันเสร็จก็บรรพชาและอุปสมบท เสร็จแล้วออกเดินทางด้วยฝีเท้า นอนค้างคืนกลางทางอีก บิณฑบาตเช้าเสร็จ ฉันเสร็จ เดินทางต่อจึงถึงวัดป่าบ้านห้วยทราย

กองทุกข์เดินทั้งที่เป็นอย่างนี้ ทุกวันนี้ไปไหน ๆ ก็มิได้เดินด้วยฝีเท้าพอ ๕, ๖, ๗, ๘ กิโลอะไรเลย แต่ด้านข้อวัตรปฏิบัติชุดเก่ากับชุดหลังนี้พร้อมทั้งจิตใจจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ของใครของมันตามธรรมชาติ จะตัดสินลำเอียงเข้าข้างตัวเลยก็ไม่ได้

และประวัติยุคห้วยทรายก็เป็นยุคที่พระอาจารย์มหา ตีและเข่นพระเณรโดยมิได้เลือกหน้าเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าสมัยบ้านห้วยทราย ในยุคนั้น ในศาลาโรงฉันยังได้ใช้กระโถนกระบอกไม้ไผ่บ้านอยู่นะ แม้อยู่ตามกุฏิเป็นส่วนมากก็เหมือนกัน น้ำมันก๊าดก็มีเพียงปีละ ๒ ปี๊บ ผ้าที่จะทำไตรจีวรก็เหลืออยู่หมดวัดเพียงปีละไม้สองไม้เท่านั้น มูลค่าในวัดทั้งหมดรวมกันในวัด บางทีก็ ๑๐๐-๒๐๐ เท่านั้น บิณฑบาตก็มีแต่หมกห่อตกลงในบาตรเป็นส่วนมาก ฉันในบาตรทั้งหวานทั้งคาวพร้อม ไม่ได้ขโมยน้ำแกงใสโจกแก้วเลย เว้นแต่น้ำมะพร้าวเป็นบางคราวเท่านั้น นม โกโก้ กาแฟมาห่าง ๆ บุหรี่ขาวมาห่าง ๆ

ปรารภมาทำไม จะเอาไปพระนิพพานด้วยหรือ

ปรารภไว้เพื่อให้กุลบุตรสุดท้ายคำนึง จะได้ไม่ลืมตัว ในสมัยวัตถุนิยมหรูหรา เพราะเกรงกิเลสจะหรูหราขึ้น ด้านเสนาสนะก็กั้นใบตองและฟางเป็นส่วนมาก พระอาจารย์มหาก็ยังอยู่กุฏิฟากและมุงหญ้า ประตูหน้าต่างก็ทำเป็นงวง ฝาแถบตอง ผลักไปมา หรือเวิกออกแล้วก็ค้ำเอา

ด้านทำความเพียร มีเวลามากกว่าทุกวันนี้ คราวหนุ่มอยู่ หลวงปู่มหายิ่งประเปรียวกว่านี้มาก พวกลูกศิษย์ที่ได้ไปหุ้มหลวงปู่บ้านตาดในยุคปัจจุบันนั้น องค์ท่านอนุโลมที่สุด อย่าว่าองค์ท่านดุเลย เพราะวัตถุอะไรก็บริบูรณ์หมดแล้ว ล้างมือเปิบเอาเท่านั้น เพียงลงทุนรับแขกไปมาเท่านั้น ถ้าหากว่าแขกไม่มาหาครูบาอาจารย์ชุดเก่าแล้ว จะให้แขกไปหาผีที่ไหนอีกก็ไม่ได้

น้ำห้วยหนองคลองบึงบาง ไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ก็มีทั้งน้ำใสและน้ำขุ่น ทั้งสกปรกและสะอาด ตลอดถึงหมู่สัตว์น้ำนานาอเนก ตลอดเพชรพลอยที่อยู่ในท้องมหาสมุทร ทองแดง ทองเหลือง ดีบุก ตะกั่ว ทองคำ เป็นต้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับท่านผู้มีวิชาปัญญาจะเลือกเอาได้ใช้ประโยชน์ จะไปเพ่งโทษทะเลและมหาสมุทรก็ไม่ได้อีกละ
130#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กรรมจุดป่าตักนก

ในสมัยนั้นบันดาลวันหนึ่ง ตกกลางฤดูเดือน ๔ ลมพัดตึง ๆ ใกล้จะหมดฤดูหนาว ข้าพเจ้าไปบิณฑบาต กุฏิเป็นกุฏิฟาง มุงหญ้ากั้นฟาก ปูฟาก จุดตะเกียงเล็ก ๆ ไว้ เป็นตะเกียงโป๊ะเล็ก ๆ ลมมันก็พัดเข้ามาที่ตรงตะเกียงนั่นเอง

ข้าพเจ้าไปบิณฑบาตกับหมู่เพื่อนกลับคืนมา เอาผ้าไปตากไว้ข้างกุฏิ แล้วก็ห่มผ้ามาฉันจังหัน ลมมันจัด ชะรอยตะเกียงมันจะล้ม เราลืมดับมัน แล้วมันไหม้กุฏิลุกขึ้นพรึบเดียวอย่างรวดเร็ว ผ้าที่ตากอยู่นั้นไหม้หมด มุ้งก็ไหม้หมดกลดก็ไหม้หมด ใบสุทธิก็ไหม้หมด มีดโกน มีดพับไหม้เสร็จเรียบ ไปเอาก็ไม่ทันไม่มีเวลาที่จะทันลุกขึ้นรวดเร็วทีเดียว

หลวงปู่มหาหัวเราะแล้วท่านพูดว่า “บุพกรรมของคนเรานี้ผิดกันแท้ ๆ เหลือแต่ผ้าติดตัว นอกนั้นไหม้หมด”

เจ้าของนึกขึ้นได้เลย เลยไม่พูดให้ท่านฟัง นึกเห็นตัวเองไปจุดป่าดักตังบาน (เครื่องมือจับนกชนิดหนึ่ง) ในสมัยนั้นอายุ ๑๕ ปี ไปจุดป่ากลางโคกกลางโรง ไปดักตังบาน(ใน)วันไหน(ที่)ไม่ได้เข้าโรงเรียน เมื่อก่อนเขาหยุดเรียนตามวันพระ เพราะไปเข้าโรงเรียนในโรงธรรมที่เรียกว่าหัวแจก โรงธรรมนั้นน่ะ เรียกตามภาษาบ้านนอก โรงเรียนจึงหยุดวันพระ ไม่ได้หยุดตามวันเสาร์อาทิตย์ แล้วก็ไปจุดป่า ถ้าวันไหนไม่ไปวิดน้ำเอาปลา ก็ไปจุดป่าดักนกตามโคกตามโรง พอจุดป่าแล้วนกขาบมันร้องแจ๊ว ๆ แล้วก็บินมา จุดเวียนที่ดักตังบานไว้ (คาดเอาว่า)มันคงจะมาจับไม้ต้นนี้กระมัง ก็ต้องไปดักไว้ตรงนั้น

บางศีล (บางวันพระ) ก็ได้ ๔ ตัว ๕ ตัว บางศีลก็มามือเปล่า บางศีลก็ไฟไหม้ถูกตังบาน ไฟมันไหม้ไปตามโคกตามนาทั่วที่ทั่วแดน ใหม่ตามโคกตามโรง เพราะเมื่อก่อนมันห่าง ๆ ทางวันสองวันถึงจะมีโรงนาสักหลังหนึ่ง ดีไม่ดี ไม่มีด้วยซ้ำ เพราะโคกมันกว้าง ทุกวันนี้ไปจุดอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ถ้าหากไปจุดอย่างนั้น ก็คงมีหวังได้เข้าตะรางเพราะทุกวันนี้ที่ไหน ๆ ก็มีแต่บ้านแต่เรือน มีแต่ไร่นาเขาหมด

ข้าพเจ้ามาคิดเห็นบุพกรรม วันที่จุดป่านั้นมันตามมากับชาติ


แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ

อยู่มาอยู่มา คุณแม่แก้ว (แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ) ท่านเห็นไฟไหม้ ท่านก็หาอุบายเอาบริขารมาบังสุกุล ชวนญาติพี่น้องของท่านมาบังสุกุล หลวงปู่มหาก็เห็นว่า มันได้วาระของข้าพเจ้าบริขารนั้นขาด คุณแม่แก้วคงจะหาอุบายถ่ายให้ จึงได้มาบังสุกุลให้เรา ผ้าไม้หนึ่ง ตลอดถึงมีดโกนพร้อม ส่วนใบสุทธินั้นได้ไปเปลี่ยนใหม่ ได้ไปเอากับเจ้าคุณมุกดาหารโมลี หลวงปู่มหาเซ็นรับรองให้ ท่านก็เลยมาตัดจีวรและสบงให้

หมู่ทั้งหลายที่เห็นเหตุการณ์ก็เกิดสลดสังเวชก็มี หลวงปู่มหาหัวเราะแล้วท่านว่า “บุพกรรมของคนเรานั้นต่างกัน ของใครของมัน ถึงคราวมาถึงแล้วต้องสู้เอา”

ท่านก็พูดเป็นธรรมอยู่เท่าที่สังเกตดูมันเป็นบุพกรรมของเจ้าของเคยได้จุดป่ามา มันเห็นกับชาติมันตามนำมา การจุดป่านี้ถึงแม้จะไม่ให้ไหม้เถียงไร่เถียงนาใครก็ตาม มดตัวแดงแมลงตัวน้อยมันก็ตายกันเป็นทิวแถวไป

พอถึง ๒๔๙๘ ออกพรรษาแล้ว จีวรกาลเสร็จ องค์ท่านจะได้ไปเอามารดาบวชขาว องค์ท่านก็คิดละหวนทวนไปมาว่าถ้าบวชแล้วจะเอาโยมมารดามาอยู่ห้วยทราย คุณชีแก่ ๆ อายุมากตลอดทั้งหนุ่มก็มีอยู่มากแล้ว เกรงจะมาทับถมให้ภาระหนักขึ้นแก่ผู้ที่ท่านบวชก่อน เพราะเป็นโยมมารดาของผู้เป็นเจ้าอาวาส ก็ต้องจะได้ให้เกียรติให้คุณเป็นพิเศษ เกรงจะหนักใจแก่ท่านผู้มีอายุมาก และพร้อมทั้งบวชก่อน

จึงตกลงใจว่าบวชโยมมารดาแล้ว จำจะหาที่อยู่ใหม่ องค์ท่านจึงปรึกษากับคณะสงฆ์ว่า

“ผมจะได้ไปบวชโยมมารดา ส่วนจะกลับนั้นบอกไม่ถูกเสียแล้ว ส่วนที่จะไปกับผมนั้น จะไปหมดก็ไม่ถูก เวลาอยู่ เราก็แย่งกันอยู่ เวลาไปเราก็แย่งกัน มันเป็นเรื่องไม่งามแก่ฝ่ายปฏิบัติ จะเสียวงศ์ตระกูลฝ่ายปฏิบัติ ฉะนั้นขอให้คุณสม โกกนุทฺโท จงพาหมู่อยู่นี้บ้าง ในพรรษาต่อไปนี้ ทีนี้ส่วนผู้ที่จะไปกับผมคนนั้นคนนี้ผมก็ไม่ว่า ส่วนจะอยู่นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไปกับผมมากก็ลำบากอีก เพราะไม่ทราบว่าจะได้อยู่ที่ใดแน่”

จึงเป็นของน่าควรคิดมากแท้ ๆ ในเรื่องนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้