ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1552
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

โทษของอุปกิเลส ๑๐

[คัดลอกลิงก์]
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
จากส่วนหนึ่งของ โมกขุบายวิธี
         ลักษณะอาการและการละกิเลส เป็นต้น ของฌานและสมาธิ  ผิดกันดังแสดงมา ฌานมีความน้อมเชื่อมาก วิริยะและปีติแรง กำลังใจกล้า โลดโผนทุกๆ อย่าง สรุปแล้ว เมื่อจิตน้อมไปตามอารมณ์ของฌาน ถ้าผู้ติดฌาน หลงฌานอย่างหนักหน่วงแล้ว จิตของตนแทบจะไม่เป็นตัวของตัวเองเสียเลยก็ว่าได้ ที่จริงฌานเมื่อเกิดขึ้นเป็นของน่าตื่นเต้น ผู้ฝึกหัดใหม่จึงชอบนัก แต่ฌานเป็นของได้ง่ายพลันหาย เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของโลกธรรม๘  ส่วน(สัมมา)สมาธิเมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นไปอย่างเรียบๆ เพราะมีสติรอบคอบตามภูมิของตน และยึดเอาไตรลักษณะเป็นอารมณ์ (webmaster - หมายถึง จิตตั้งมั่นแล้วพิจารณาอยู่ในธรรมดังพระไตรลักษณ์ได้อย่างแนบแน่น) ไม่หลงลืมตัว ค่อยได้ค่อยเป็นไปละเอียดลงโดยลำดับ ได้แล้วไม่ค่อยเสื่อมเป็นโลกุตตรธรรม บางคนจะไม่รู้สึกตื่นเต้นในเมื่อตนได้สมาธิ เพราะไม่ได้คำนึงถึงอาการที่ตนได้มี แต่ตั้งหน้าจะทำสมาธินั้นให้มั่นและละเอียดถ่ายเดียว  ฌานเป็นของน่าสนุกสนาน มีเครื่องเล่นมาก มีเรื่องแปลกๆ ทำให้ผู้ไม่รู้เท่าตามความเป็นจริงหลงติดจมอยู่ในฌาน อาการที่จิตหลงติดจมอยู่นั้นคือโทษ ของอุปกิเลส๑๐ พึงสังเกตต่อไป
[webmaster - สมาธิและฌานต่างเป็นอาการของจิตหรือเจตสิกอย่างหนึ่ง  จึงคล้ายดั่งการกำมือและการแบมือ ต่างล้วนเป็นอาการหรือกริยาของ"มือ"ที่แปรเปลี่ยนไปได้  ดังนั้นจึงควรทำความรู้จักไว้ทั้งสอง เพราะย่อมต้องมีกริยาของการแบมือบ้าง,กำมือบ้างเป็นธรรมดา  กล่าวคือบางครั้ง, บางสถานการณ์จึงมีการสลับเปลี่ยนกันบ้างโดยธรรมคือธรรมชาติได้เป็นธรรมดา
         โอภาส แสงสว่างย่อมปรากฏในมโนทวารวิถี ขณะเมื่อจิตเข้าถึงฌาน (ภวังค์) เมื่อจิตน้อมเชื่อไปตามแสงสว่าง และแสงสว่างนั้นก็ขยายวงกว้างออกไป มีอาการแปลกๆ ต่างๆ เหลือที่จะพรรณา
         ญาณ ความรู้สิ่งต่างๆ บางทีจนกำหนดตามไม่ทัน ไม่ทราบว่ารู้อะไรบ้าง ทั้งสิ่งที่เคยรู้เคยเห็น ทั้งสิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็น มิใช่รู้อยู่กับสิ่งที่รู้ ยังสอดส่ายไปตามอาการตลอดถึงคนอื่น สัตว์อื่น ทีแรกจริงบ้างไม่จริงบ้าง  นานๆ เข้าก็เหลว
         ปีติ ทำให้อิ่มใจจนลืมตัว
        ปัสสัทธิ ทำให้สงบจากอารมณ์ภายนอก กลับเข้ามายุ่งอยู่กับอารมณ์ภายในจนไม่เป็นอันกินอันนอน เมื่อเป็นอย่างนี้นานเข้า ธาตุย่อมกำเริบ จิตก็ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ
        สุข ทำให้สบายอยู่ด้วยอาการทั้งหลายดังกล่าวมา ถึงกับไม่ต้องรับประทานข้าวน้ำก็มี
        อธิโมกข์ ทำให้เกิดจิตน้อมเชื่อไปในนิมิตและแสงสว่าง ความรู้มีมากเท่าไร อุปกิเลสทั้ง ๑๐ ก็ยิ่งมีกำลังรุนแรงทวีขึ้น
        ปัคคาหะ ทำให้เพียรกล้าไม่หยุดหย่อนท้อถอย มีญาณความรู้คอยกระซิบตักเตือนให้ทำอยู่เสมอ
        อุปัฏฐาน ช่วยให้สติแข็งแกร่งอยู่เฉพาะในอารมณ์นั้น แต่ขาดสัมปชัญญะ ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร
        ถ้าอุปกิเลสทั้ง ๘ ตัวดังกล่าวมาหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่งยังเกิดมีอยู่ อุเบกขา(ในวิปัสสนูปกิเลส)ก็จะไม่เกิด ถ้าทั้ง ๘ นั้นสงบลงแม้ชั่วขณะหนึ่ง อุเบกขา และ นิกันติ จึงจะเกิดขึ้น
        อุปกิเลส ๑๐ นี้มิใช่จะเป็นโทษแก่วิปัสสนาเท่านั้น ยังสามารถทำให้เกิดวิปลาสต่างๆ จนต้องเสียผู้เสียคนไปก็ได้ เรื่องทั้งนี้เคยมีมาแล้วในอดีต หากอาจารย์ผู้สอนไม่เข้าใจ มุ่งส่งเสริมศิษย์ให้ยึดเอาเป็นของจริงแล้วก็จะทำให้ศิษย์เสียจนแก้ไม่ตก  เมื่อมีเรื่องวิปลาสเกิดขึ้นเช่นนั้น ผู้รู้เท่าและเคยผ่านมาแล้วจึงจะแก้ได้
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-4-14 13:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วิธีแก้วิปลาส
         อาจารย์ผู้สอนก็ดี ลูกศิษย์ผู้เจริญภาวนาก็ดี เมื่อเข้าใจวิถีจิตที่เข้าเป็นฌานแล้ว จงระวังอุปกิเลส ๑๐ จะเกิดขึ้น ถ้าจิตเข้าถึงฌานแล้ว อุปกิเลสไม่ทั้งหมดก็อย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นสำหรับนิสัยของบางคน แต่บางคนก็ไม่มีเลย(หมายถึงปฏิบัติมาอย่างถูกต้อง - ผู้เขียน) ถ้ามันเกิดขึ้นเราควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
         ๑. เมื่ออุปกิเลสเกิดขึ้นแล้ว พึงทำความรู้เท่าว่า นี่เป็นอุปกิเลสเป็นอุปสรรคแก่วิปัสสนาปัญญา และอุปกิเลสนี้เกิดจากฌานหาใช่อริยมรรคไม่ ถึงแม้วิปัสสนาญาณ ๙ แปดข้อเบื้องต้นก็เช่นเดียวกัน อย่าได้น้อมจิตส่งไปตามด้วยเข้าใจว่าเป็นของจริงของแท้ พึงเข้าใจว่านั่นเป็นแต่เพียงภาพอันเกิดจากมโนสังขาร คือจิตปรุงแต่งขึ้นด้วยอำนาจของฌานเท่านั้น พึงหยิบยกเอาพระไตรลักษณญาณขึ้นมาตัดสินว่า อุปกิเลสทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะฌาน ฌานก็เป็นโลกิยะ อุปกิเลสก็เป็นโลกิยะ โลกิยะทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวรนั้นแหละเป็นทุกข์ เพราะทนต่อความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้ แล้วก็แตกสลายดับไปตามสภาพของมันเอง ซึ่งไม่มีใครจะมีอำนาจห้ามปรามไม่ให้มันเป็นเช่นนั้นได้ ซึ่งเรียกว่า อนัตตา เมื่อยกเอาพระไตรลักษณญาณขึ้นมาตัดสิน ถ้าจิตเกิดปัญญาน้อมลงเห็นตามพระไตรลักษณะแล้ว จิตก็จะถอนออกจากอุปาทานที่เข้าไปยึดอุปกิเลสนั้น แล้วจะเกิดปัญญาญาณเดินตามทางอริยมรรคได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าแก้อย่างนั้นด้วยตนเองไม่ได้ผล คนอื่นช่วยแก้ก็ไม่สำเร็จ เพราะผู้เป็นหลงเข้าไปยึดมั่นสำคัญเอาเป็นจริงเป็นจังเสียแล้ว บางทีจนทำให้ซึมเซ่อมึนงงไปหมดก็ดี จึงควรใช้วิธีที่ ๓ วิธีสุดท้าย
         ๒. เมื่อรู้เท่าทันและเห็นโทษอย่างนั้นแล้ว จงคอยระวังจิตอย่าให้จิตน้อมเข้าสู่ความสุขเอกัคคตารวมเป็นหนึ่งได้ และอย่ายึดเอาอารมณ์ใดๆ อันเป็นความสุขภายในของใจ แล้วจงเปลี่ยนอิริยาบถ ๔ ให้เสมอ อย่ารวมอินทรีย์อันเป็นเหตุจะให้จิตรวม(เป็นสมาธิหรือฌานได้ - webmaster) แต่ให้มีการงานทำเพื่อให้มันลืมอารมณ์ความสุขสงบเสีย (แต่ไม่ควรเป็นแบบซ้ำซ้อนและต่อเนื่อง - webmaster)  แต่ถ้าจิตรวมลงไปจนเกิดวิปลาสขึ้นแล้ว จิตเข้าไปยึดถือจนแน่นแฟ้นจนสำคัญตัวว่าเป็นผู้วิเศษไปต่างๆ นานา มีทิฐิถือรั้นไม่ยอมฟังเสียงใครๆ ทั้งหมด เมื่อถึงขั้นนี้แล้วก็ยากที่จะแก้ตัวเองได้ ถึงแม้อาจารย์หากไม่ชำนาญรู้จักปมด้อยของศิษย์ หรือไม่เคยผ่านเช่นนั้นมาก่อนแล้ว ก็ยากที่จะแก้เขาได้ ฉะนั้น จึงควรใช้...
         วิธีที่ ๓ วิธีสุดท้าย คือใช้วิธีขู่ขนาบให้กลัวหรือให้เกิดความโกรธอย่างสุดขีดเอาจนตั้งตัวไม่ติดยิ่งดี แต่ให้ระวังอย่าให้หนีได้ ถ้าหนีไปแล้วจะไม่มีหนทางแก้ไขเลย เมื่อหายจากวิปลาสแล้วจึงทำความเข้าใจกันใหม่ วิธีสุดท้ายนี้ โดยมากมักใช้กับผู้ที่ติดในภาพนิมิตได้ผลดีเลิศ
         ผู้ที่หลงติดในภาพนิมิต มีหัวรุนแรงกว่าความเห็นวิปลาส ฉะนั้น วิธีแก้จึงไม่ค่อยผิดแผกกันนัก............
.........พระศาสดาได้เสด็จอุบัติขึ้นในภพในขันธ์ และสาวกก็เช่นนั้นเหมือนกัน แต่คำสอนของพระองค์สอนให้ละภพละขันธ์อันเป็นโลกิยะจนเข้าถึงโลกุตตระ ดังนั้นธรรมอุบายที่จะให้ละจึงมีทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ แม้ปัญญาซึ่งเกิดแต่การฝึกหัดนั้นก็มีทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระเหมือนกัน จึงเป็นการยากแก่ผู้ที่มีภูมิ (คือฌานและสมาธิ) ไม่เพียงพอ ปัญญาไม่ละเอียดพอ จะเฟ้นเอาสาระประโยชน์จากชีวิตอันนี้ได้ ถ้าหลงเข้าใจผิดยึดเอาสิ่งที่มิใช่สาระว่าเป็นสาระแล้ว ก็ลงเอวังกันเลย

         ผู้ปฏิบัติพึงระลึกเสมอว่า ภพกายหลงง่ายละยาก  ภพจิตหลงยากละยาก นิมิตและญาณที่เกิดแต่ฌานก็หลงง่ายละยาก  แต่ที่เกิดแต่สมาธิหลงยากละง่าย เพราะเกิดแต่สมาธิเป็นอุบายของปัญญาเพื่อให้ละถอนอุปธิเข้าถึงสารธรรมโดยตรง

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้