ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ เจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ วัดเทพศิรินทร์ ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ดอกมะลิ

ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่ถูกรับรองแล้วว่าเป็นดอกไม้ที่หอมเย็นชื่นใจที่สุด และขาวบริสุทธิ์ที่สุดในบรรดาดอกไม้ทั้งหลาย

ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ก็เช่นเดียวกับการเล่นละคร ขอให้เป็นตัวเอกที่มีชื่อเสียงที่สุด เช่นเดียวหรือลักษณะเดียวกับดอกมะลิ อย่าเป็นตัวผู้ร้ายที่เลวที่สุด และให้เห็นว่าดอกมะลินี้จะบานเต็มที่เพียง 2-3 วัน ก็จะเหี่ยวเฉา

ฉะนั้นขอให้ทำตัวให้ดีที่สุด เมื่อยังชีวิตอยู่ ให้หอมที่สุด เหมือนดอกมะลิที่เริ่มแย้มบานฉะนั้น

“จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีๆ”

ทำดี ดีกว่าขอพร

“จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ”

เตือนให้เตรียมตัวไว้ดำเนินชีวิตต่อไป เป็นคำแทนคำอวยพรอย่างสูงสุด ประกอบด้วยเหตุผล

เมื่อทำกรรมดีแล้ว ไม่ให้พรก็ต้องดี เมื่อทำชั่วแล้วจะมาเสกสรรปั้นแต่งอวยพรอย่างไรก็ดีไม่ได้

ทำชั่วเหมือนโยนหินลงน้ำ หินจะต้องจมทันที ไม่มีผู้วิเศษใด ๆ จะมาเสกจะมาเสกเป่า อวยพร อ้อนวอนขอร้องให้หินลอยขึ้นมาได้ ทำกรรมชั่วจะต้องล่มจม ป่นปี้ เสียราศี เกียรติคุณชื่อเสียงเหมือนก้อนหินหนักจมลงไปอยู่กับโคลนใต้น้ำ

ทำดีเหมือนน้ำมันเบา เมื่อ เทลงน้ำย่อมลอยเป็นประกายมัน ปลาบอยู่เหนือน้ำ

ทำกรรมดีย่อมมีสง่าราศี มีเกียรติดุณชื่อเสียงมีแต่คนเคารพนับถือยกย่องบูชาเฟื่องฟุ้ง ฟูลอย เหมือนน้ำมันลอย

ถึงจะมีศัตรูหมู่ร้ายจงใจ เกลียดชังมุ่งร้าย อิจฉาริษยาแช่ง ด่าให้จมก็ไม่สามารถจะเป็นไปได้ กลับจะแพ้เป็นภัยแก่ตัวเอง

ขอให้จงตั้งใจกล้าหาญพยายามทำแต่กรรมดี ๆ โดยไม่มีความเกรงกลัวหวั่นไหวต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น

ผู้ที่มีความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย ผู้ที่มีโชคดี ผู้ที่มีความสุข และผู้ที่มีความเจริญ ประสงค์ใดสำเร็จสมประสงค์ ก็คือผู้ที่ประกอบกรรม ทำแต่ความดีอย่างเดียวนั่นเอง

ในวันวิสาขบชาวันหนึ่ง หลังจากเวียนเทียนเสร็จ ได้มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งเข้าไปกราบท่านธมฺมวิตกฺโก ขณะที่ท่านเดินอยู่

ท่านได้หยุดและถามว่า มีเรื่องอะไรหรือ หนุ่มสาวคู่นั้นได้เรียนท่านว่า มาขอพรขอให้เกิดมาพบกันอีก

ท่านได้ตอบว่า “มีแต่เขาไม่อยากจะมาเกิด นี่ทำไม่อยากมา เกิดอีก อย่างอาตมาถ้าใครแช่ง ให้ไม่รู้จักผุดจักเกิด อาตมาก็จะขอบใจ เอาละเมื่อมาขอพรก็จะ ให้ แต่จะบอกว่า คนเราไม่ได้อะไรง่าย ๆ ด้วยการร้องขอ อยากได้อะไรต้องทำถึงจะได้”

เรื่องการขอพรนี้ มีคนไปขอพรท่านมาก ใครอยากได้อะไร ก็ไปขอ จนท่านได้เขียนโอวาท เป็นข้อสุดท้าย ลงในหนังสือ สันติวรบทของท่านว่า ทำดี ดีกว่าขอพร ท่านบอกว่าพรเป็นเพียงกำลังใจให้คนประพฤติปฏิบัติเท่านั้น

และพระพุทธศาสนา ก็ไม่ใช่ศาสนาของการสวดอ้อนวอนร้องขออะไร พระบรมศาสดาสอนให้เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้น ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า “ทำดี ดีกว่าขอพร”
22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สบายใจ

คำว่า “ไม่สบายใจ” อย่าใช้ และอย่าให้มีขึ้นในใจต่อไป ก่อน มันจะเกิดต้องปล่อยให้มันผ่านไป อย่ารับเอาความไม่สบายใจไว้

ถ้าเผลอไปมันแอบเข้ามาอยู่ในใจได้ พอมีสติรู้สึกตัวว่าความ ไม่สบายใจเข้ามาแอบอยู่ในใจ ต้องขับมันออกไปทันที อย่าเลี้ยงเอาความไม่สบายใจไว้ไนใจ มันจะเคยตัว ทีหลังจะเป็นคนอ่อนแอ ออดแอด ทำอะไรผิดพลาดนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่สบายใจเคยตัว

เพราะความไม่สบายใจนี้ แหละเป็นศัตรู เป็นมาร ทำให้ใจ ไม่สงบ ประสาทสมองไม่ปกติ เป็นเหตุให้ร่างกายผิดปกติ พลอย ไม่สงบไม่สบายไปด้วย ทำให้สมองทึบ ไม่ปลอดโปร่ง

เป็นความเคยชินที่ไม่ดี เป็น อุปสรรคกีดกันขัดขวางสติปัญญา ไม่ให้ปลอดโปร่งแจ่มใส ต้องฝึกหัดแก้ไขปรับปรุงจิตใจเสียใหม่ ทั้งก่อนที่จะทำอะไร หรือกำลังกระทำอยู่

และเมื่อเวลากระทำเสร็จแล้ว ต้องหัดให้จิตใจแช่มชื่นรื่นเริง เกิดปีติปราโมทย์เป็นสุขสบายอยู่เสมอ สมองจึงจะเบิกบาน จะศึกษาเล่าเรียนก็เข้าใจ จำได้ง่ายเหมือนดอกไม้ที่แย้ม เบิกบานต้องรับหยาดน้ำค้างและอากาศบริสุทธิ์ฉะนั้น


พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตายไม่กลัว


ตึกแม้นนฤมิตก่อนถูกระเบิด

เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนในกรุงเทพฯ ได้อพยพออกไปอยู่บ้านนอกกันเป็นส่วนมาก ไม่ยกเว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า พระในวัดเทพศิรินทร์ก็อพยพ

แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกไม่ได้ไปไหนเลย ท่านที่อยู่กุฏิของท่านตลอดระยะเวลาสงครามครั้งนี้

ท่านได้เล่าเหตุการณ์ว่า ทางด้านหลังวัด ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณสุสานหลวง ได้มีทหารญี่ปุ่นมาพักเต็มไปหมด และอาบน้ำใน สระของวัดซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นสระเต่า ที่หน้ากุฏิของท่านเดิมเป็นศาลาใหญ่ ปัจจุบันได้รื้อออกแล้ว สร้างเป็นโรงเรียนปริยัติธรรม

ที่ศาลานี้ในระหว่างสงครามได้มีญี่ปุ่นเอาเครื่องรับวิทยุมาตั้ง โดยเห็นว่าเป็นวัด ไม่เป็นที่สงสัย และมีเจ้าหน้าที่มาคอยควบคุมเครื่องส่งวิทยุนี้

วันหนึ่งมีผู้มาบอกท่านว่า จะมีเครื่องบินเอาระเบิดมาทิ้งเครื่องวิทยุที่ตั้งอยู่ที่ศาลา ให้ท่านหลบไปเสีย ท่านเล่าว่า ท่านไม่ยอมหลบ แต่กลับนั่งรอคอยอย่างสงบ

เวลาประมาณหลังเที่ยงวัน มีเสียงเครื่องบินผ่านมา ท่านก็เปิดหน้าต่างออกมาดู เห็นเครื่องบินวนอยู่หลายรอบและที่สุดก็ทิ้งระเบิดลงมา

ปรากฏว่าลูกระเบิดได้ผ่านศาลาและกุฏิท่านไป ลูกแรกไปตกข้างโบสถ์ ถัดจากนั้นก็ไปตกถูกตึกโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และตึกที่ทำการของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ผลปรากฏว่าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ คือ ตึกแม้นนฤมิต และตึกของการรถไฟพังพินาศ ส่วนลูกที่ตกข้างโบสถ์นั้นไม่ระเบิด ภายหลังได้ติดต่อเจ้าหน้าที่มาขุดเอาไป

ท่านบอกว่า พระเชียงแสน และพระประธานในโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าลูกระเบิดที่ตกนั่นระเบิดขึ้นมา โบสถ์ก็คงพังเสียหายมาก ท่านผู้อ่านที่นับถืออาจจะคิดว่าที่ลูกระเบิดด้านไปเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของท่านธมฺมวิตกฺโก

สำหรับท่านเอง ท่านไม่กลัวความตาย จึงไม่อพยพหนีไปไหน ท่านบอกว่า ความตายคือมิตรที่ดีที่สุดนำความสงบมาให้ และเป็นมิตรที่ซื่อตรง จะมาถึงทุกคนอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมั่งมี ยากจน ดีหรือชั่ว จะต่างกันก็แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น นอกจากนี้ การระลึกถึงความตายเป็นอนุสติอีกด้วย

ท่านธมฺมวิตกฺโกอยู่ในวัดเทพศิรินทร์ตลอดระยะสงครามโดยปลอดภัย เวลากลางคืนท่านก็ลงจำวัดในหีบศพที่โยมพ่อต่อเอามาให้ แล้วใช้จีวรคลุมหีบศพต่างมุ้ง

ท่านบอกว่าหากพลาดพลั้งระเบิดตกลงมา เวลาคนมาเก็บศพ ก็ไม่ลำบาก


สภาพตึกแม้นนฤมิตหลังถูกระเบิด

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เพ่งวงกลม

ท่านเล่าว่าการทำสมาธิ ท่านได้ฝึกทำมาแต่ครั้งยังเป็น ฆราวาส เมื่อท่านบวชท่านได้ฝึกต่อไป

โดยตัดกระดาษเป็นรูปวงกลมติดไว้ข้างฝาห้องแล้วนั่งเพ่ง จนกระทั่งท่านเห็นภาพนี้ชัด ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เป็นภาพที่ติดอยู่ในจิต เป็นภาพนิมิต

และต่อมาท่านได้ขยายภาพนิมิตนี้ในจิต ให้ใหญ่ให้เล็กได้ตามความประสงค์ หรือจะทำให้ภาพวงกลมนี้ มีมากมายหลายภาพจนนับไม่ถ้วนก็ได้

การที่ท่านเลือกรูปวงกลมมาเป็นภาพสำหรับกำหนดจิต แทนที่จะเป็นพระพุทธรูปหรืออย่างอื่น ก็เพราะว่าท่านเห็นรูปวงกลมนี้เหมือนกับสังสารวัฏที่หมุนเวียนอยู่เสมอ

ต่อมาเมื่อท่านเห็นว่า ท่านมีกำลังจิตแรงกล้าพอแล้ว ท่านได้ ทดลองอำนาจกำลังจิตของท่าน โดยเอากะโหลกผีมาตั้งเรียงไว้ 4 หัว ข้างที่นอนของท่าน

เมื่อเตรียมการเสร็จแล้ว ก็รวบรวมอำนาจจิตนั่งสมาธิ อยู่หน้าหัวกะโหลกผีเหล่านั้น โดยเอาหัวกะโหลกผีเป็นจุดกรรมฐาน

เมื่อนั่งใหม่ ๆ ภาพที่เกิดในนิมิต ปรากฏอย่างแปลกประหลาดพิสดาร โดยหัวกะโหลกเหล่านั้นได้หลอกหลอนท่าน ลอยเข้ามาหาบ้าง ห่างไปบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง

แต่ภายหลังเมื่อท่านได้กำหนดอารมณ์ให้ภาพเหล่านี้ผ่านเลยไป แล้วท่านได้เห็นหัวกะโหลกเหล่านั้นในสภาพที่เป็นจริง ไม่มาหลอกหลอนท่านอีกต่อไป ยังความปลาบปลื้มยินดีให้แก่ท่านมากขึ้น
25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หน่ายกาม

เช่นเดียวกับท่านมหากัสสปเถระในสมัยพุทธกาล ธรรมเทศนาของท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ อยู่ข้างจะหายาก เพราะท่านถนัดในการเทศน์ให้ดู มากกว่าเทศน์ให้ฟัง

ตลอดชีวิตแห่งการเป็นภิกษุของท่าน จึงอุทิศให้กับการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มากกว่าที่จะสนใจในการเป็นพระธรรมกถึก

อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ใคร่จะทราบถึงคำสอนของท่านบ้างพอสมควร จะขอนำโอวาทบางตอนของท่านมาลงไว้พอเป็นตัวอย่างบ้าง

โอวาทเหล่านี้จะเห็นได้ว่า สำนวนฟังง่าย ๆ ประโยคสั้น ๆ แต่มีข้อความลึกซึ้ง เพราะท่านได้จากประสบการณ์

อย่างที่เรียกว่า “สันทิฎฐิ โก” คือเห็นและรู้ด้วยตนเอง อย่างแท้จริง ไม่ได้ลอกมาจากตำรา เหมือนนกแก้ว

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างโอวาท ในเรื่องการหน่ายกาม

กามฉันทะหรือกามตัณหา เกิดจากความไม่ฉลาด หลงคิด เห็นอารมณ์ต่าง ๆ เป็นที่ถูกใจ และน่ายินดี กามฉันทะนั้น ผู้ปฏิบัติสามารถข่มไว้ได้ด้วยวิธี ทั้ง 6 ดังต่อไปนี้

1. เพ่งใจให้เห็นอสุภารมณ์ คืออารมณ์ที่ปฏิกูลน่าเกลียดไม่ งามของสังขารร่างกาย จนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายความใคร่ หายความกำหนัดยินดี

2. เพ่งพินิจพิจารณาความปฏิกูลของร่างกาย แยกออกเป็น อาการ 32 ที่เรียกว่า กายคตาสติภาวนา มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น

3. ใช้สติสำรวมอินทรีย์ เฝ้าระวังทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อได้ประ สบพบเห็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ อย่าให้ความรักใคร่กำหนัดยินดียินร้าย เกิดขึ้นภายในจิตใจ

4. ให้รู้จักประมาณการบริโภคอาหาร อย่าให้อิ่มจนเกินไป จนเป็นเหตุให้เกิดความกำหนัดทางกาย และลุกลามเข้าไปถึงจิตใจ ให้เกิดความเศร้าหมองด้วยฉันทราคะ

5. ทำการวิสาสะ คบหาสมาคม สนทนาปราศรัย สนิทสนมคุ้นเคย กับกัลยาณมิตร เพื่อนผู้ดีงาม ที่จะชักชวนให้สนทนาไปในทางที่จะให้เสื่อมคลายความรักใคร่กำหนัดยินดี และยินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

6. ฝึกฝนตนปฏิบิตในทางที่ถูกต้อง ตรงตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ฯลฯ

กามฉันทะหรือกามตัณหานี้ สลัดกำจัดตัดได้อย่างเด็ดขาด ต่อเมื่อเข้าถึงกระแสพระอนาคามีมรรค บรรลุถึงพระอนาคามีผล
26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมืองเป็นป่า

“พระเดชพระคุณครับ พระอริยบุคคลในปัจจุบันนี้ยังพอมีอยู่ บ้างไหม?” นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์เอ่ยถามท่านขึ้นมาในตอนค่ำวันหนึ่งในพระอุโบสถหลังจากท่านทำวัตรเย็นตามปกติแล้ว

“มี แต่ท่านไม่ค่อยเข้ามาอยู่ในเมือง” ท่านตอบ “ชอบอยู่ตาม ป่าตามเขากัน เพราะท่านเหล่านั้นไม่ชอบความวุ่นวาย”

จากคำตอบของท่านดัง กล่าวเป็นการยืนยันว่า แม้ในยุค ปัจจุบันนี้ที่โลกของเราเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายร้อยแปดพันประการ พระอรหันต์ พระอนาคตมี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน

ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือ ว่าเป็นพระอริยบุคคลบรรลุธรรมชั้นสูงแล้วนั้น ก็ยังมีอยู่คู่พระศาสนา ซึ่งการได้เป็นดังนี้ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย สมดังที่สมเด็จพระบรมศาสดาเคยตรัส ไว้ว่า

“บุคคลใดปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดอยู่โดยชอบแล้ว โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์” แต่ท่านเหล่านั้นจะบำเพ็ญเพียรจนสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงดังกล่าวได้ เกือบทั้งหมดจะต้องทิ้งบ้านทิ้งเมือง หนีจากชุมนุมชน อันเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เข้าอาศัยป่าอันเป็นที่สงบวิเวก เพื่อการบำเพ็ญหรือปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น

ปัญหาที่น่าคิดจึงเกิดขึ้นว่า สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโกหรือ ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ นั้น ทั้ง ๆ ที่ท่านพำนักอยู่ ณ สำนักวัดเทพศิรินทราวาสใจกลางกรุง อยู่ใกล้กับโรงภาพยนตร์ใหญ่หลายโรง แวดล้อมไปด้วยความอึกทึกวุ่นวายนานัปการ แต่ทำไม่ท่านจึงสามารถบำเพ็ญจนสำเร็จธรรมขั้นสูงได้

คำตอบที่ได้มาก็คือ ท่านทำ “เมือง” ให้เป็น “ป่า” สำหรับตัว ท่านนั่นเอง

โดยการ “ตัดโลก” ท่านออกมาจากสังคม ไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับสังคมภายนอกอย่างเด็ดขาด ถึงขนาดโยมบิดามารดาถึงแก่กรรม ก็ยังไม่ไปเผา ได้แต่สั่งการให้น้องรับไปดำเนินการ ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นผู้ที่มีความเคารพและกตัญญูในผู้มีพระคุณอย่างยอด

ท่านไม่ยอมออกจากวัดไปไหนเลย เป็นเวลานานติดต่อกัน ร่วม 40 ปีเต็ม ๆ ท่านไม่เคยไปกุฏิใคร และโดยปกติก็ไม่เคยให้ใครเข้าไปในกุฏิท่าน หากจะออกจากกุฏิก็ตรงมาโบสถ์เลยทีเดียว เพื่อทำวัตรเช้าเย็นวันละสองเวลาเท่านั้น เสร็จธุระแล้วก็กลับ
27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แม้ในสมัยที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) พระอุปัชฌาย์ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เคยไปที่กุฏิสมเด็จเลย สมเด็จฯ จะพบท่านได้ก็เฉพาะแต่ที่พระอุโบสถเท่านั้น เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ๆ ท่านอยู่ของท่านแต่ลำพังโดยโดดเดี่ยวเอกา

ไฟฟ้าเครื่องให้แสงสว่าง และอุปกรณ์ของใช้ต่าง ๆ อย่างที่ เขานิยมใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไปนั้น ท่านก็ไม่มีใช้กับเขาเลย แปลว่า ท่านอยู่ของท่านอย่างเหมือนกับอยู่ในป่าดงตามลำพังจริง ๆ

ใครมีธุระไปพบท่านก็ไป พบได้แต่เวลาที่ท่านลงโบสถ์ ภายในโบสถ์เท่านั้น ไม่ว่าคน สามัญหรือเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ท่านเคยกล่าวว่า

“คนทั้งหลายที่มาพบนี่ เมื่ออาตมากลับกุฏิแล้ว อาตมาทิ้งหมด ไม่ได้นึกถึงเลย ผีทั้งนั้น”

โดยปฏิปทาของท่านดังนี้เอง จึงทำให้ท่านสามารถทำเพ็ญ เพียรจนบรรลุธรรมขั้นสูงได้

ในระยะแรก ๆ นั้น ท่าน เกือบจะไม่รับแขกเลย ทั้งนี้สันนิษฐานว่าท่านกำลังเพ่งเพียร ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่อย่างขะมักเขม้น จึงไม่ยอมรับแขกมาก แม้เฉพาะแต่ในพระอุโบสถ ดังได้กล่าวมาแล้วก็ตาม

ต่อมาในระยะหลัง ๆ ก่อน ท่านสิ้นไม่กี่ปีจึงได้ยอมให้แขก เข้าพบได้มากขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นด้วยท่านได้ความรู้มาก ผ่านประสบการณ์มาก สำเร็จธรรมขั้นสูง มีความมั่นใจได้แล้ว จึงได้ให้โอกาสเพื่อโปรดสัตว์โลกบ้างตามสมควร


กุฏิเก่าเจ้าคุณนรฯ รื้อไปแล้ว
กุฏิใหม่สร้างในที่เดิม

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เจโตปริยญาณ

เมื่อพูดถึง “เจโตปริยญาณ” คือการหยั่งรู้วาระจิตของบุคคล อื่น การทางใจบุคคลอื่นก็ได้ รู้ถึงความปรารถนาและอัธยาศัยของบุคคลอื่น ซึ่งบางท่านกล่าว ว่าเป็นความหยั่งรู้เบื้องต้นของการได้ทิพจักษุในขั้นต่อไปนั้น

ผู้ที่เคยเข้าพบปะสนทนากับ ท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นอันมาก ทั้ง ฆราวาสและบรรพชิตยอมรับกันว่า ท่านมีเจโตปริยญาณเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง

นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์ เล่าว่าได้ทดสอบในเรื่องนี้มาแล้ว กว่า 10 ครั้ง อยากรู้เรื่องอะไร อยากให้ท่านสอนในเรื่องอะไร ท่านก็สอนตามนั้นหมดโดยไม่พัก ต้องเอ่ยปากถาม มีความทุกข์ร้อนขัดข้องสิ่งใดอยู่ในใจท่านรู้หมด พูดออกมาตรงกับที่เรากำลังครุ่นคิดอยู่ได้ถูกต้องอย่างน่าแปลกประหลาด

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คราวหนึ่งนายแพทย์สุพจน์ กำลังนั่งนึกครุ่นคิดอยู่ในใจต่อหน้าท่านในพระอุโบสถว่า ท่านอยู่ของท่านได้อย่างไรหนอ วัน หนึ่ง ๆ เอาแต่ปิดประตูเงียบอยู่แต่ลำพังรูปเดียวในกุฏิ ทันใดนั้นเอง ท่านก็พูดออกมาว่า

“อาตมานี้ กิจวัตรประจำวัน ก็คือเดินจงกรมและนั่งสมาธิสลับกันไป”

พ.อ.จิตต์ ธนะโชติ อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่างที่กำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งในปอด ได้หาโอกาสเข้าพบท่านธมฺมวิตกฺโก เพื่อให้ท่านช่วยรักษาให้เมื่อปลายปี 2513 ได้บันทึกเรื่องราวไว้น่าฟังหลายตอน เช่น ตอนหนึ่งมีว่า

“ข้าพเจ้าได้พบท่านเจ้าคุณนรฯ หลังจากนั้นรวม 4 ครั้ง แล้ว ท่านก็ได้กรุณากรอกน้ำมนต์ให้ทุกครั้ง และก็คุยกันถึงเรื่องต่างๆ

ซึ่งในบางครั้งเมื่อเก็บมาคิดแล้ว ข้าพเจ้าอดสะดุ้งใจไม่ได้ว่า ท่านทำไม่จึงล่วงรู้จิตใจและเรื่องต่าง ๆ ทั้งของข้าพเจ้าและเรื่องในพุทธกาลได้ดีเช่นนั้น

และเป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่าท่านหาใช่เป็นพระภิกษุธรรมดาไม่ ท่านต้องเป็นอริยสงฆ์และถึงขั้นอรหันต์ทีเดียว

จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าท่านธมฺมวิตกฺโกนั้นมีเจโตปริยญาณ สามารถหยั่งรู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้เป็นอย่างดียิ่ง
29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผิดหน้าที่

ในเรื่องอริยสัจสี่นั้น ทุกข์ เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ สมุทัย เป็นธรรมที่ควรละ นิโรธ เป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง และ มรรค เป็นธรรมที่ควรทำให้มาก

ฉะนั้นในเรื่องการปฏิบัติ ธรรมในอริยสัจสี่นั้น จึงไม่เหมือนกันดังหน้าที่แต่ละอย่างดัง กล่าว มา

เมื่อปี 2510 มีภิกษุบวชใหม่ที่วัดเทพศิรินทร์ในพรรษานั้นเกิดเรื่องกลุ้มใจด้วยเหตุบางประการ แม้จะฝึกมากแล้ว ก็จำวัดไม่ได้จึงเดินไปตามบริเวณวัด จนกระทั่งผ่านกุฏิท่านธมฺมวิตกฺโก ขณะนั้นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่พอดี

เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโกเห็นเข้า จึงถามว่า “คุณจะไปไหนยังไม่ นอนอีกหรือ” พระภิกษุรูปนั้นได้ตอบว่า“ ผมกลุ้มใจครับ นอนไม่หลับ” ท่านได้ถามต่อไปว่า แล้วตอนนี้ทำอะไรอยู่ พระภิกษุรูปนั้นตอบว่า ยังคิดเรื่องที่กลุ้มใจอยู่

ท่านธมฺมวิตกฺโกได้พูดขึ้นว่า “คุณปฏิบัติธรรมผิดหน้าที่ คุณทำไม่ถูก” พระภิกษุรูปนั้นนิ่งคิดสักครู่ แล้วตอบว่า “ขอบคุณครับ” แล้วเดินกลับกุฏิมานอน หลับทันที

จากคำพูดของท่านธมฺมวิตกฺโกที่พูดว่า “คุณปฏิบัติธรรมผิดหน้าที่” นี้จะเห็นได้ว่า ท่านเป็นอัจฉริยะอย่างยิ่งในการสอนผู้อื่น

โดยคำพูดเพียงประโยค เดียวที่แทงทะลุไปในจิตใจของผู้ฟัง และผู้ฟังก็เข้าใจแจ่มแจ้งรู้สึกตัวทันที

ในเมื่อสมุทัย คือเหตุแห่ง ทุกข์เป็นธรรมที่ควรละ แต่พระ ภิกษุรูปนั้นกลับครุ่นคิดถึงความทุกข์นั้น ไม่ยอมละจากความคิดนั้น เท่ากับเป็นการทำให้มาก ความทุกข์จะหมดสิ้นไปได้อย่างไร

การปฏิบัติให้มากควรจะ เป็นมรรคหรือทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา ไม่ใช่ทุกขสมุทัย

นับว่าท่านธมฺมวิตกฺโก สั่งสอนธรรมะโดยรู้อุปนิสัยและความคิดของแต่ละบุคคล นับเป็นอัศจรรย์ เป็นปาฏิหาริย์ทางเทศนาโดยแท้
30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กระแสจิต

คราวหนึ่งนายประวิทย์ รุ่งวิทยาธิวัฒน์ ซึ่งเรียนจบคณะรัฐศาสตร์มาแล้ว และขณะกำลังทำปริญญาโทอยู่ ได้ฟังข่าวเล่าลือต่าง ๆ นานา ในการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ของท่านธมฺมวิตกฺโก

ก็อยากจะทราบว่าท่านมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร อาศัยที่เคยฝึกหัดนั่งสมาธิบ้าง จึงลองนั่งดูโดย “ทางใน” เมื่อเห็นแล้ว ทราบแล้ว ก็บังเกิดความปรารถนาจะได้พบท่าน

ราวบ่าย 2 โมง (14 นาฬิกา) ของวันหนึ่ง เขาจึงตรงไปยังวัดเทพศิรินทร์ตามหากุฏิท่านธมฺมวิตกฺโก แล้วก็ไปยืนเตร่ เมียง ๆ มอง ๆ อยู่แถวบริเวณ ข้าง ๆ กุฏิท่านนั้น เป็นเวลานานพอดู

พระที่อยู่บริเวณกุฏิใกล้เคียงกันนั้น อดสงสัยไม่ได้ จึงถามเขาไปว่า

“คุณจะมาหาใครไม่ทราบ

“ผมจะมาหาท่านเจ้าคุณนรฯ ครับ” เขาตอบ

“คุณมาตอนท่านลงโบสถ์ซิ” พระรูปนั้นท่านชี้แจง “ตอนนี้ ท่านไม่รับแขก”

แต่เขาก็ยังไม่ยอมกลับอยู่นั่นเอง คงเฝ้ายืนอยู่ตรงนั้นต่อไป

แล้วเขาก็ถือโอกาสไปนั่งตรงบริเวณฮวงซุ้ยที่อยู่ข้างกุฏิท่าน แล้วก็ทำสมาธิส่งกระแสจิตระลึกถึงท่าน

พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าหากพระอรหันต์ในโลกปัจจุบันยังมีอยู่จริงแล้วไซร้ ก็ขอให้ท่านได้หยั่งรู้จิตใจของเขา และ อนุญาตให้เขาเข้าพบท่านได้

สักครู่ผ่านไป โดยไม่คาดฝัน ท่านก็โผล่หน้าต่างออกมายิ้ม แล้วท่านก็ถามเขาว่า

“คุณมาหาใคร”

“มากราบพระเดชพระคุณ” เขาตอบ

“มีเรื่องอะไรรึ?” ท่านถาม

“ไม่มีเรื่องอะไรหรอกครับ ตั้งใจจะมากราบเท่านั้น”

พอเขาตอบท่านเสร็จ ท่านก็ลงมาที่กฏิชั้นล่าง เปิดประตูหลัง แล้วเรียกให้เข้าไปนั่งคุยกับท่านในกุฏิ ซึ่งไม่เห็นมีอะไรนอกจากโครงกระดูกแขวนต่องแต่ง และโลงตั้งอยู่

เมื่อเข้าไปแล้ว เขาได้เอาภาพถ่ายอธิษฐานขนาดเล็กของท่าน ที่ได้มาจากพระครูปัญญาภรณโสภณ (พระมหาอำพัน บุญ-หลง) ถวายให้ท่านดู พอท่านดูเสร็จแล้ว ท่านก็ส่งคืนพร้อมกับกล่าวว่า

“เอาเก็บไว้เถอะ”
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้