ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ~

[คัดลอกลิงก์]
61#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชีวิตที่เวียนว่ายวนอยู่ในกองทุกข์ ตามอำนาจกรรมที่กระทำมานี้ แต่บางทีภพชาตินั้นก็ยืดยาวต่อไปด้วยอำนาจกิเลสตัณหา ยกตัวอย่างเช่น ตอนท่านเกิดเป็นไก่ ใจนึกปฎิพัทธ์รักใคร่นางแม่ไก่ ชื่นชอบภพชาติที่เป็นไก่ของตน ปรารถนาขอให้ได้พบนางแม่ไก่อีก ท่านก็ต้องวนเวียนกลับมาเกิดเป็นไก่อยู่เช่นนั้น ท่านเล่าว่า แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง เมื่อท่านระลึกชาติได้เห็นภพชาติที่เวียนวนกลับไปเกิดเป็นสุนัขถึงหมื่นชาติ ท่านบังเกิดความสังเวชถึงกับขออธิษฐาน เลิกปรารถนาพุทธภูมิ เพราะการจะบำเพ็ญบารมีเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตนั้น ท่านจะต้องบำเพ็ญต่อไปอีกเป็นแสนกัปแสนกัลป์ และหากเกิดกิเลสตัณหา ติดข้อง ผูกพันรักใคร่ปรารถนาพบรัก พบทุกข์อยู่นั่นแล้ว การเดินทางในภพชาติก็จะยืดเยื้อเยิ่นยาวต่อไปเป็นอนันตกาล เคราะห์ดีที่ท่านเกิดสลดสังเวชคิดได้ ขอตัดขาด ไม่ปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงสามารถดำเนินความเพียรเร่งรัดตัดตรงเข้าสู่พระนิพพานเป็นผลสำเร็จได้

พร้อมกับที่เล่าให้ศิษย์ฟังเรื่องการระลึกชาติ ท่านจะชี้ภัยของการท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปในภพชาติต่าง ๆ ให้ฟังเสมอ

ท่านเตือนย้ำว่า การกำหนดระลึกรู้ได้เหล่านี้ เป็นเพียง ผลพลอยได้ จากการบำเพ็ญเพียรภาวนาให้จิตสงบ หากเกิดขึ้นก็รับรู้ นำมาพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ ถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเจ้าของฟาดฟันกิเลสให้ย่อยยับอัปราไปโดยเร็ว

ไม่ใช่ มัวนึกหลง นึกดีใจ เกิดมานะ ว่าเราเก่งกล้าสามารถกว่าคนอื่น

นั่นเป็นทางหายนะ....!

เพราะปุพเพนิวาสานุสติญาณ เป็นเพียงโลกียญาณ ไม่ใช่โลกุตรญาณ...! ถ้าเจ้าของไม่เร่งดำเนินเข้าสู่ทางไปสู่อาสวักขยญาณ หรือญาณซึ่งถอดถอนอาสวกิเลสให้สิ้นไปดับไป แม้ญาณระลึกรู้อดีตชาติ ซึ่งเป็นโลกียญาณก็ย่อมจะเสื่อมได้

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-25.htm
62#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๖. สายน้ำผุดบนภูพาน

ดังได้กล่าวแล้วว่า หลวงปู่และหลวงปู่ขาว เป็นสหธรรมิกที่ถูกอัธยาศัยซึ่งกันและกัน ต่างนับถือกันในในความเด็ดเดี่ยวอาจหาญไม่หวาดหวั่นภยันตราย ต่างยกย่องกันในด้านการภาวนากล้าสละตาย ต่างเคารพกัน ในเชิงภูมิจิต ภูมิธรรมของกันและกัน

ต่างเคยประกาศ...ใครสละตายได้ ไปกับเรา

ปกติเมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านทั้งสองก็จะออกวิเวกไปหาที่เงียบสงัดบำเพ็ญความเพียร บางครั้งท่านก็จะแยกย้ายกันไปหาป่าดงพงชัฏ เงื้อมหินผา หรือถ้ำในเขาลึก ด้วยรู้ดีว่า ต่างองค์ต่างมุ่งธรรมแดนพ้นทุกข์ด้วยกัน ทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญเช่นไรก็มิได้หวั่นเกรง ด้วยยอมมอบกายถวายชีวิตสละตาย เพื่อธรรมด้วยกัน ความเพียรก็ดี ความอาจหาญเด็ดเดี่ยวก็ดี ท่านเชื่อว่าเป็นสหมิตรเสมอกัน ไม่มีความอ่อนแอท้อแท้ กลัวทุกข์ กลัวยาก กลัวภัย กลัวเจ็บกลัวตาย ให้เพื่อนอีกคนจะต้องห่วงกังวล เสียเวลาทำความเพียรของอีกฝ่ายไป

ท่านชี้แจงว่า ในการเดินธุดงค์นี้ หากได้หมู่พวกที่ใจไม่ถึง “ยอ ๆ แย ๆ หรือ ย็อก ๆ แย็ก ๆ” ตามสำนวนของท่าน...หวาดนั่น กลัวนี่ ก็ลำบากเหมือนกัน โดยเฉพาะถ้ากำลังอยู่บนยอดเขาสูง หรือในป่าลึก เกิดมีใครใจไม่สู้ขึ้นมา กลัวตาย กลัวเจ็บ จะอุ้มหามแบกบ่ากลับมากันอย่างไร...ผู้หนึ่งจะอยู่ ผู้หนึ่งจะไป ผู้หนึ่งจะสู้ภาวนาด้วยจิตกล้า อีกผู้หนึ่งจะลี้หนีด้วยจิตกลัว ท่านจึงมักพอใจจะไปแต่ผู้เดียว ด้วยท่านเป็นผู้อยู่ง่าย มาง่าย ไปง่าย ไม่ต้องกังวลใคร ดังนั้นถ้าจะมีหมู่เพื่อน ท่านก็ต้องเลือกเฉพาะผู้มีจริตนิสัยคล้ายกัน มีธรรมเสมอกัน ดังที่ท่านมักจะไปกับหลวงปู่ขาวบ่อยครั้ง

ครั้งที่ทำให้เกิดเรื่องเล่าขานกันต่อ ๆ มา จนฟังดูประหนึ่งเทพนิยาย ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริง ๆ ในโลกมนุษย์ นี่ก็เป็นการเดินธุดงค์ของท่านครั้งหนึ่งที่ท่านไปกับหลวงปู่ขาวเหมือนกัน

ท่านเล่าว่า ท่านมีอายุ ๒๗ ปีเท่านั้น

ออกพรรษาแล้ว ท่านก็ชวนหลวงปู่ขาว ออกจากวัด วิเวกไปทางป่าลึกหลังเทือกเขาภูพาน

ป่าลึกบนเทือกเขาภูพานก็เช่นเดียวกันกับป่าเขาแถบอื่นในเมืองไทย ที่ระยะกว่าเจ็ดสิบปีที่ผ่านมาแล้วนั้น ทั้งรกชัฏ และเปรียบเสมือนป่าดงดิบ ยังไม่มีความเจริญ ยังไม่มีถนนตัดผ่านไปใกล้ เป็นที่อยู่ของสัตว์ทวิบาทจตุบาท นานาชนิด ทั้งน่าหวาดกลัวภัย เช่น งู เสือ ช้าง หมี เม่น หมูป่า กระทิง...หรือทั้งน่ารัก น่าสงสาร อย่างเช่น...นกยูง นกเงือก เก้ง ไก่ฟ้า ลิง ค่าง บ่าง ชะนี เลียงผา จะมีให้ได้เห็น หรือได้ยินเสียงโกญจนาทร้องก้องป่าอยู่เสมอ ให้ความรู้สึกว่า “ป่า” หรือ “ถิ่นบริเวณ” นั้นเป็นบ้านเมืองของบรรดาพวกสิงสาราสัตว์เหล่านั้น... มนุษย์ต่างหากที่เป็น “ผู้บุกรุก” ล่วงล้ำก้ำเกินเข้าไปในดินแดนที่อยู่ของเขา...!

ปกติในการเดินธุดงค์ ท่านจะต่างองค์กำหนดจิตภาวนาไปตลอดเวลา ถ้าเดินทางทั้งวัน ก็เท่ากับเดินจงกรมทั้งวัน ถ้าเดินทางตลอดคืน ก็เท่ากับเดินจงกรมตลอดคืน จิตที่ภาวนาจนเป็นสมาธิ ย่อมมีแต่ความสงบเยือกเย็น จิตวิเวก กายวิเวก จิตเบา กายเบา จิตสงบ กายสงบ จิตและกายต่างสงบอยู่ในตัวของตัวเอง

แม้ท่านจะได้ชื่อว่า เดินธุดงค์ไปด้วยกัน แต่ระหว่างที่จิตเร่งทำความเพียรอย่างประชิดติดพัน ประหนึ่งกำลังรุกไล่ข้าศึกให้หมอบราบลงนั้น ท่านก็แทบจะมิได้รู้สึกถึง “ใครอื่น” ที่อยู่ใกล้ พระพุทธองค์เคยทรงพระพุทธพจน์ระหว่างประทับอยู่เชตวันว่า

เอกาสนํ เอกเสยฺยํ

เอโก จร อตนฺทิโต

เอโก ทมยมตฺตานํ

วนนฺเต รมิโต สิยา

63#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ภิกษุพึงเสพที่นั่งคนเดียว ที่นอนคนเดียว พึงเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน ด้วยการเที่ยวไปแต่ผู้เดียวในทุกอิริยาบถ เป็นผู้เดียวที่ทรมานตน เป็นผู้ยินดียิ่งในราวป่า

เอกาสนํ เอกเสยฺยํ ผู้บำเพ็ญภาวนา ไม่ละมูลกรรมฐาน แม้นั่งในหมู่ภิกษุตั้งพัน แต่หากทำใจวิเวกเหมือนนั่งอยู่แต่ผู้เดียว แม้อยู่ในที่นอนอันวิจิตร ท่ามกลางภิกษุตั้งพันรูป แต่หากจิตตั้งมั่นอยู่ในข้อกรรมฐาน ก็ชื่อว่าอยู่ในที่นอนคนเดียวเหมือนกัน

เอโก จร อตนฺทิโต เป็นผู้เที่ยวไปแต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่เกียจคร้านในทุกอิริยาบถ

เอโก ทมยมตฺตานํ เป็นผู้เดียวเท่านั้น สามารถทรมานตนประกอบกรรมฐานทั้งหลายได้ในที่พักทุกที่

วนนฺเต รมิโต สิยา เมื่อทรมานตนอย่างนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ยินดียิ่ง ในราวป่า อันสงัดจากเสียงทั้งหลาย

จิตของท่านวิเวก กายของท่านวิเวก จิตของท่านเปลี่ยว กายของท่านเปลี่ยว มีความรู้สึกว่าอยู่แต่ผู้เดียวตลอด

อย่างไรก็ดี แม้จิตของท่านทั้งสอง จะมีแต่ความสงบ เยือกเย็น เบิกบานในธรรมอย่างไร ธาตุขันธ์ก็ย่อมต้องการพักผ่อนบ้าง ท่านเล่าว่า การเดินธุดงค์ครั้งนั้น ผ่านเข้าไปในป่าลึกหลังเทือกเขาเป็นวัน ๆ แล้ว ยังไม่ได้พบหมู่บ้านคนเลย อาหารก็ไม่ได้ฉัน แต่นั่นยังพอทำเนา แต่สิ่งที่ธาตุขันธ์ของท่านทั้งสองต้องการอย่างยิ่งคือ  น้ำ...!

น้ำในกระติกของหลวงปู่ขาวและท่าน หมดไปตั้งแต่ตอนกลางคืน เดินทางมาคิดว่าจะพอพบบ่อน้ำลำธารให้ได้ดื่มกินก็ไม่มี หรือแม้แต่แอ่งน้ำในรอยเท้าเสือ รอยเท้าช้าง ที่พระธุดงค์เคยได้อาศัย ค่อย ๆ ตักกรอง ก็ไม่พบพานเลย

ทั้งสององค์ทั้งเหนื่อย ทั้งหิว กระหาย อากาศก็เพิ่มความร้อนขึ้น จากเช้าเป็นสาย เป็นบ่าย ก็ยังไม่ได้พบน้ำ ร่างกายขาดอาหารได้เป็นวัน ๆ แต่ขาดน้ำในยามหน้าแล้ง ในป่าบนยอดเขานั้น เป็นภาวะที่ธาตุขันธ์ของท่านจะต้องอุทธรณ์ต่อเจ้าของมาก

แต่ท่านก็ต่างมีความอดทน มิได้ปริปากบ่น สุดท้ายก็ชวนกันนั่งพักใต้ร่มไม้

ดูเหมือนจะไม่ต้องอธิบาย ว่าเมื่อท่านต่างนั่งพัก ท่านจะต่างทำเช่นไร

แน่ที่สุด...ท่านก็ต้องนั่งภาวนา อันเป็นปกติวิสัย ที่ท่านมักจะภาวนาทั้งอิริยาบถ ๔ ...นั่ง ยืน เดิน นอน ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม...

ท่านนั่งพัก...ท่านก็เลยภาวนาไปด้วย

ท่านเล่าว่า นั่งได้ไม่นาน ก็ได้ยินเวียงดังกรอบแกรบ ๆ ใกล้เข้ามา

เสียงนั้น ดังใกล้เข้ามา...ดังมาก จนท่านต้องลืมตาดู
64#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เห็นน้ำไหลมาจากโคกข้างหน้า เป็นทางน้ำกว้างประมาณศอกหนึ่ง ไหลผ่านใบไม้ที่ร่วงทับถมกันอยู่ในราวป่า เป็นใบไม้สีเหลืองบ้าง แดงบ้าง น้ำตาลบ้าง ถมซับซ้อนกันด้วยเป็นเวลาฤดูใบไม้ร่วง เสียงที่ดังจนรบกวนสมาธิให้ท่านลืมตาขึ้นดูนั้น ก็เป็น เสียงน้ำที่ไหลผ่านใบไม้กรอบแห้งเหล่านั้นนั่นเอง...!!

ท่านได้แหวกใบไม้ออก เห็นน้ำใสสะอาดไหลเอื่อยมา เหมือนเป็นลำธารเล็ก ๆ ได้กรองใส่กระติก ล้างหน้า ล้างตา ได้อาบ ได้ดื่ม ได้กินจนอิ่มเสร็จเรียบร้อย สายน้ำนั้นก็แห้งลงเฉย ๆ เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก...!!!

เกิดขึ้นได้อย่างไร...!

น้ำผุดขึ้นจากกลางโคก ไหลมาเพียงให้ท่านได้ดื่มกิน อาบน้ำ ล้างหน้าล้างตา ให้คลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กรองใส่กระติกน้ำเสร็จเรียบร้อย ก็แห้งลงในดินทรายทันที...!

เกิดขึ้นได้อย่างไร...! อย่างน้อยบุคคลหนึ่งในที่นั้นก็คิดเช่นนี้ ดังนั้นหลวงปู่ขาวจึงได้ซักสหายของท่าน

“ท่านชอบละซี..!  ท่านชอบอธิษฐานอย่างไร”

หลวงปู่ปฏิเสธ “ผมไม่ได้อธิษฐานอะไร ผมเพียงแต่คิดเท่านี้ว่า เทวดาฟ้าดินจะไม่สงสารพระบ้างหรือ เทวดาจะปล่อยให้พระอดตายหรือ”

ท่านว่า ท่านก็คิดเพียงเท่านั้นเอง....!


เรื่องนี้แพร่หลายขึ้นมาก็เนื่องด้วยหลวงปู่ขาวนำมาเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังอยู่เสมอ ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ได้ฟังกระเส็นกระสายปลายเหตุด้วย ฟังครั้งแรกว่าท่านไปกันกับหมู่พวกกลุ่มใหญ่ แต่ภายหลังเมื่อจะบันทึกทำประวัติของท่านนี้ ได้โอกาสกราบเรียนถาม หลวงปู่ยืนยันว่า ท่านไปกับหลวงปู่ขาวเพียง ๒ องค์เท่านั้น และระยะนั้น ท่านอายุเพียง ๒๗ ปี

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-26.htm
65#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๗. มาณพน้อยผู้มานิมนต์ข้ามโขง

ครั้งหนึ่ง สมัยท่านออกปฏิบัติใหม่ ๆ เดินรุกขมูลไปอยู่แถวท่าลี่ จังหวัดเลย ท่านรำพึง ตรึกในใจว่า เราได้มาจนถึงที่นี้ ใกล้ฝั่งดินแดนประเทศลาวเต็มทีแล้ว ถ้าหากจะข้ามแม่น้ำโขงไปเที่ยวฝั่งลาว ไม่ทราบว่าจะมีข้อขัดข้องหรืออุปสรรคใดหรือไม่

ตามปกติพระกรรมฐานเมื่อท่านจะทำอะไร ท่านมักจะต้องเข้าที่พิจารณาความเป็นไปได้ก่อนเสมอ ครั้งนี้ท่านยังมิได้พิจารณาอะไร ด้วยความคิดที่จะข้ามไปฝั่งลาวยังไม่ทันแน่นแฟ้นเท่าไร เพียงแต่คิดผ่านไปเท่านั้น อย่างไรก็ดี คืนนั้นเอง ระหว่างภาวนา ก็เกิดนิมิตเห็นมาณพหนุ่มน้อยผู้หนึ่งมากราบท่านด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กล่าวว่า

ทราบว่าพระคุณเจ้าปรารถนาจะไปวิเวกที่ฝั่งลาว ปวงข้าน้อยรู้สึกปีติเป็นอย่างยิ่ง จึงใคร่ขอมานิมนต์พระคุณเจ้าไปโปรดบรรดาพวกเรา สัตว์ผู้มีวาสนาน้อยทางดินแดนฝั่งโน้นด้วยเถิด

ในนิมิตนั้น ท่านรับนิมนต์เขาด้วยอาการดุษณีภาพ

รุ่งเช้า ฉันจังหันเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ก็แต่งบริขารทั้งปวงไปที่ฝั่งแม่น้ำเหียง ซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำโขง เห็นมีเรือลำหนึ่ง วาดเข้ามาจากกลางลำน้ำ มาจอดอยู่ที่ท่า คนเรือก็ตะโกนขึ้นมานิมนต์พระคุณเจ้าให้ขึ้นเรือ ท่านถามว่า เรือจะไปที่ใด ท่านจะไปฝั่งลาว เขาก็บอกว่า ยินดีจะไปส่งให้ท่าน ท่านจึงลงเรือนั้นไป คนเรือมีสีหน้ายิ้มละไม และมีกิริยานอบน้อมต่อท่านอย่างผิดสังเกต เมื่อเรือออกจากปากแม่น้ำเหียง ก็ข้ามแม่น้ำโขงมุ่งตรงไปฝั่งลาว แล้วก็จอดเทียบท่านิมนต์ให้ท่านขึ้นฝั่ง

หลวงปู่ประคองบาตรและบริขารขึ้นฝั่งเรียบร้อยแล้ว ก็เหลียวมาเพื่อจะขอบใจและให้พรที่คนเรือนั้นได้กรุณานำพระข้ามเรือมา แต่ท่านก็ต้องประหลาดใจ ด้วยปรากฏว่า มองไปมิได้เห็นเรือลำนั้นเลย และความจริงแม้แต่เรือลำใด...ไม่ว่าเล็กใหญ่ประการใดก็ไม่มีปรากฏในสายตาของท่าน !

...ทั้งลำน้ำโขง มีจะเข้ขนาดมหึมาตัวหนึ่ง ลอยฟ่องอยู่กลางลำน้ำแต่เพียงตัวเดียว...!!

หลวงปู่กำหนดจิตพิจารณา...จึงทราบว่า นั่นคือพญานาคเขามานิมนต์ท่านในนิมิต และแปลงกายเป็นเรือและคนเรือมารับ เมื่อส่งท่านแล้วเขาก็แปลงเพศเป็นจระเข้ให้ท่านได้เห็นเป็นอัศจรรย์ ท่านจึงแผ่เมตตาให้ จะเข้นั้นลอยตัวนิ่งอยู่ราวกับสงบกิริยาอาลัย จึงนึกบอกในจิตว่า

เอาละ...เราขอบใจเธอมาก ที่ช่วยเป็นธุระให้เราข้ามน้ำมาครั้งนี้ เราขออนุโมทนาด้วย เราเดินทางต่อไปได้แล้ว ไม่ต้องห่วงใยอะไรเราหรอก

บอกลาครั้งหลังนี้ จะเข้นั้นจึงได้ผงกหัวลาและจมลงไปในท้องน้ำ

หลวงปู่ดูจะมีข้อเกี่ยวข้องกับพญานาคเป็นพิเศษ ท่านไปที่ใดก็มักจะมีพญานาคมาอารักขาให้ความสะดวกอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นปกติ

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-27.htm
66#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๘. บุรุษผู้มาใส่บาตรที่วัดห้วยน้ำริน

ครั้งหนึ่งท่านพักอยู่ที่ วัดห้วยน้ำริน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สังเกตเห็นว่า ในบรรดาทายกทายิกาที่มาฟังเทศน์หรือใส่บาตรถวายจังหันทุกวันนั้น มีชายคนหนึ่งที่ดูแปลกกว่าคนอื่น คือถึงจะนุ่งห่มแต่งกายอย่างชาวบ้านธรรมดา แต่ก็ดูภูมิฐานและสำรวมกว่าคนทั่วไป มีดอกไม้กับอาหารคาวหวานมาใส่บาตรทุกวัน สำหรับอาหารทุกชนิดที่เขานำมานั้น แม้จะมองดูเป็นอาหารพื้นเมืองทั่วไป มีปลา มีผัก น้ำพริก หรือแกง ตามปกติ แต่สังเกตว่า ระยะนี้อาหารที่ท่านฉันนั้นมีรสชาติพิเศษ อย่างไรก็ดีท่านก็ไม่แน่ใจว่า อาหารที่มีรสชาติพิเศษนั้นจะเป็นอาหารจากที่ชายผู้นั้นถวายหรือไม่ เพราะเมื่อพระรับถวายจังหันแล้ว ท่านก็จัดลงบาตรรวม ๆ กันไป จะเป็นอาหารจากสำรับใด ถ้วยใด ของโยมคนไหนก็ไม่ได้จดจำไว้

ธรรมดาพระธุดงคกรรมฐาน ท่านจะมีโอภาปราศรัยกับญาติโยมเป็นปกติ ครั้งนี้ ท่านพูดคุยธรรมดา แล้วก็ถามถึงโยมคนที่ว่านี้ เออ...เป็นใคร อยู่บ้านไหน เป็นญาติของใคร ท่านมาคราวก่อน ๆ ไม่เคยเห็น

ชาวบ้านแถบนั้นซึ่งคุ้นเคยกับท่าน เคยปรนนิบัติพระธุดงค์มานาน ต่างก็นึกขึ้นได้ว่า หลวงปู่หมายถึงผู้ใด แต่ก็ไม่อาจจะตอบท่านได้ว่าเป็นใคร มาแต่ไหน ได้แต่พูดกันว่า เออ...จริงซี นึกได้แล้ว เห็น ๆ เหมือนกัน นึกว่าเป็นญาติกับคนนั้น คนนั้นก็ว่า นึกว่าเป็นญาติกับคนโน้น คนโน้นก็คิดว่ามากับคนนี้

รวมความว่า ไม่เคยเห็นกันมาก่อน เห็น ๆ อยู่ แต่เวลากลับ ไม่ทราบว่ากลับไปบ้านที่ไหน กับใคร และเมื่อไร

วันสุดท้าย หลวงปู่ปะหน้าชายแปลกหน้านั้น นำดอกไม้และอาหารมาถวายจังหันเช่นเคย ท่านถาม เขาก็ตอบว่า บ้านโยมอยู่แถวนี้เอง ตอบยิ้ม ๆ แล้วก็ถอยไปนั่งรอระหว่างท่านฉันอย่างสงบเสงี่ยม ปกติระหว่างพระป่าฉันจังหันนี้ ชาวบ้านก็มักจะนำอาหารที่ถวายแล้วและเหลือจากที่พระนำลงบาตรแล้ว มาตักแบ่งแจกกันรับประทานเป็นกลุ่ม ๆ แต่ชายผู้นั้นมิได้ร่วมวงรับประทานกับกลุ่มใคร เขาคงนั่งอยู่คนเดียวอย่างสำรวมอาการ วันนั้นหลวงปู่ก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ คอยสังเกตอาการของเขาอยู่เงียบ ๆ

ท่านฉันเสร็จ ให้พร เมื่อเห็นเขาเก็บของ กราบลา ท่านรออยู่พอไม่ให้น่าเกลียด แล้วก็ลุกตามไป ดูว่าเขาจะกลับไปทางใด

ปรากฏว่า พอลับจากศาลา เขาก็เดินหายลงไปในสระน้ำหน้าวัด..!!

ชายคนนั้นคือ นาคมาณพ นั่นเอง.....!

ท่านเล่าว่า พญานาคนั้นมีฤทธิ์มาก เป็นเทวดาจำพวกหนึ่ง เขาสามารถเนรมิตกายได้ต่าง ๆ กัน

ท่านเคยถามเขาว่า ต้องการอะไร

เขาก็เรียนท่านว่า

วิสัยพญานาคนั้นมีความเคารพผู้ทรงศีลผู้ทรงคุณธรรม มนุษย์ผู้เป็นกัลยาณชน ปรารถนาในการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เช่นไร พญานาคก็ปรารถนาในการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เช่นนั้นเหมือนกัน ในกาลก่อน พระพุทธเจ้าสมัยเสวยพระชาติเป็นนาค มีนามว่า พระภูริทัตต์ ก็ยังสู้บำเพ็ญบารมี รักษาศีล บำเพ็ญทานภาวนาจนตัวตาย ในกาลปัจจุบัน กลิ่นศีลอันบริสุทธิ์ของพระคุณเจ้าหอมนัก หอมทั้งใกล้ หอมทั้งไกล หอมทวนลม หอมไปไกล พวกเขาก็ขอโอกาสมาทำบุญถวายทานแด่พระคุณเจ้า เพื่อเป็นการเพิ่มพูนบารมีของตนสืบไปบ้าง

ท่านถามถึงการเนรมิตกาย เพราะเคยเห็นพญานาคในรูปจำแลงต่าง ๆ หลายครั้งหลายหนแล้ว

เขากราบเรียนว่า การเนรมิตกายของพญานาคนั้นง่ายดายมาก จะให้เป็นอย่างไรก็ทำได้ทั้งนั้น

เขาก็เลยเนรมิตกายถวายให้ท่านดู โดยเตือนว่า นี่เป็นภาพนิมิตทั้งนั้น...

เขาหายตัวไปจากที่นั้น ครู่เดียวก็กลายเป็นมาณพหนุ่มน้อยเข้ามาหา ประเดี๋ยวก็เป็นชายชราเดินงก ๆ เงิ่น ๆ เข้ามาหา บัดเดี๋ยวก็หายไป แล้วกลับเป็นหญิงสาวสวย หายไปอีกครู่หนึ่ง ปรากฏว่า กลับมาเป็นเสือใหญ่น่าเกรงขาม กำลังเยื้องย่างเข้ามา จากร่างเสือกลายเป็นพรานขมังธนู ถืออาวุธเข้ามา
67#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พญานาคเรียนท่านว่า

การเนรมิตกายนั้นไม่ยากเย็นอะไร เพียงคิดก็เปลี่ยนไปได้ตามต้องการ จะเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ถ้าเป็นมนุษย์ จะเป็นคนเดียวหรือหลายคน แต่ละคนต่างแสดงอากัปกิริยาต่างกันก็ได้ ถ้าเป็นสัตว์ อาจเป็นตัวเดียว หรือหลายตัว ทั้งอาจเป็นสัตว์ต่างชนิดกันก็ได้ เช่น เห็นเป็นภาพ ทั้งช้าง ทั้งเสือพร้อม ๆ กัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นนาค ๒ ตัว หากเป็นพญานาคตัวเดียว จำแลงกายเป็นสัตว์ ๒ อย่าง ๒ ร่างกัน

เขาสามารถเนรมิตกายได้อย่างน่าพิศวง และรวดเร็วทันใจมาก

ท่านเล่าถึงการแปลงกายของพญานาคว่า เราได้ปะมาแล้วทุกอย่าง...เป็นงูตัวน้อย ๆ ผ้าขาว ผู้หญิง เสือ มนุษย์ ...กษัตริย์...สารพัด

ท่านเล่าว่า

สำหรับรูปกายที่เป็นพญานาคจริง ๆ นั้น ท่านก็เคยเห็นอยู่ รูปร่างเหมือนกับที่เขาทำไว้ตามโบสถ์ตามวิหารนั้นเช่นเดียวกัน มีหงอน สามหงอนบ้าง ห้าหงอนบ้าง เจ็ดหงอนบ้าง ครั้งหนึ่งท่านเคยเห็นมาด้วยกันคู่สองผัวเมีย ทั้งพญานาคและนางนาคผู้เป็นภริยา แต่บางทีเขาก็เข้ามาหาท่านในร่างของมนุษย์ แต่งตัวด้วยเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ มีข้าราชบริพารเฝ้าแหนแวดล้อมมาดังขบวนเสด็จของพระราชา

เคยเรียนถามท่านว่า “พญานาคตัวจริงใหญ่ขนาดไหน”

ท่านตอบว่า “ใหญ่มาก”

ขณะนั้นเรากำลังอยู่กันหน้าโรงครัว จึงเรียนถามว่า “ใหญ่เท่าโรงครัวนี้ไหม”

ท่านว่า “ใหญ่กว่าอีก”

พวกเราอีกคนถามเสริมว่า “ใหญ่เท่าศาลานี้ไหม”

ท่านบอกยิ้ม ๆ ว่า “ใหญ่มากกว่าก็ได้ เล็กกว่าก็ได้ แล้วแต่เขาจะแสดงให้เห็น”

“ลำตัวเล่าเจ้าคะ ยาวแค่ไหน”

“ยาวปานภูเขา”


http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-28.htm
68#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๙. พญานาคในแม่น้ำโขง

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ชอบไปวิเวกที่ฝั่งลาวกับหมู่หลายองค์ พร้อมทั้งได้มีโยมตามไปเที่ยวด้วย วันนั้น ญาติโยมทางฝั่งลาวได้ถวายจังหันคณะของท่านที่ริมฝั่งโขงนั้นเอง หลังฉันเสร็จ โยมช่วยกันเอาบาตรไปล้างที่ฝั่งแม่น้ำโขง โดยเทเศษข้าวและอาหารที่เหลือในบาตรลงในน้ำโขง เกิดอัศจรรย์ที่น้ำในแม่น้ำที่ไหลสะอาดนั้นกลับขุ่นหมด

“ขุ่นหมดทั้งวังน้ำหันตาไก่” ท่านเล่า “วังน้ำหันตาไก่” แปลว่า น้ำหมุนวนอย่างแรง

นอกจากจะน้ำทั้งขุ่นข้นและทั้งหมุนเป็นวังวนอย่างแรงแล้ว ยังมีเสียงสะเทือนเลื่อนลั่น พร้อมกับตลิ่งพังอย่างรุนแรง ดินเคลื่อนลงน้ำด้วยความรวดเร็ว จนโยมที่ไปล้างบาตรแทบจะกระโดดหนีขึ้นตลิ่งไปเกือบไม่ทัน

ต่างคนต่างตัวสั่นงันงกด้วยความตกใจ ไม่ทราบว่าเหตุผลกลใด ธรรมชาติจึงเล่นบทพิสดารให้ดูเช่นนั้น จู่ ๆ น้ำในแม่น้ำโขงที่ใสสะอาด ไหลเอื่อยอย่างสงบ ก็กลับกลายเป็นขุ่นข้น...ตลิ่งพัง แผ่นดินถล่ม น้ำหมุนวนเป็นเกลียว

หากหนีไม่ทัน ตกลงไปกลางน้ำวน จะเป็นอย่างไร...บรื๊อว์...ทุกคนแทบไม่อยากคิด

ต่างใจสั่นขวัญแขวน รีบไปกราบหลวงปู่ขออาศัยบารมีท่านเป็นที่พึ่ง เพราะเสียงน้ำ เสียงตลิ่งพังยังไม่สงบดี

หลวงปู่พิจารณาแล้วก็อธิบายว่า
เป็นเพราะพญานาคเขาโกรธ ว่าเทน้ำพริกน้ำเกลือลงไปถูกเขา

ท่านจึงตักเตือนหมู่คณะมิให้ประมาท สิ่งที่ไม่รู้ไม่เห็นนั้นยังมีอีกมาก โดยเฉพาะที่แม่น้ำโขงนี้ ท่านห้ามศิษย์ของท่านมิให้เทเศษอาหารหรือสาดน้ำล้างถ้วยชามลงไปอีกเลย ด้วยเกรงว่าจะเป็นการทำความขุ่นเคืองให้แก่สิ่งลึกลับที่อยู่ในน้ำ ท่านแนะให้ใช้วิธีตักน้ำขึ้นมาล้างจานชาม และเทน้ำลงบนตลิ่ง มิใช่สาดลงไปในน้ำ
69#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อย่างไรก็ดี แม้แรก ๆ จะมีผู้เชื่อฟังท่าน แต่ภายหลัง ได้มีพระรูปหนึ่ง ยังสงสัย ไม่ยอมเชื่อ ได้เทเศษอาหารลงไปในน้ำ และก็เกิดอาเพศ น้ำหมุนวน ตลิ่งพัง ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง พระดื้อรูปนั้นกระโจนหนีแทบจะไม่ทัน จากนั้นมา ในบรรดาคณะศิษย์ผู้ติดตามหลวงปู่ก็บอกเล่าต่อ ๆ กันมา และเชื่อฟังกันเป็นอันดี

พญานาคในแม่น้ำโขงนี้ เมื่อขึ้นมาคารวะท่าน ท่านบอกว่า

ตัวใหญ่โตมาก ระหว่างที่หัวมากราบคารวะท่านที่ถ้ำ แต่ส่วนหางยังอยู่ที่ฝั่งน้ำ ห่างกันเป็นกิโลเมตร บุพกรรมของเขาเคยเกิดเป็นมนุษย์ รักษาศีล อุปัฏฐากพระเจ้าพระสงฆ์เป็นอันดี แต่กรรมบัง ถือสนิทว่าตนเป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดพระ ไม่สำรวมระวัง เอามีดของพระไปใช้เป็นส่วนตัว จึงมาเกิดเป็นพญานาคเช่นนี้ แม้จะเป็นผู้มีฤทธิ์แต่ก็ยังอาภัพอับวาสนา เป็นสัตว์เดรัจฉาน

ท่านเลยเทศนาสั่งสอนพญานาคนั้นให้ยึดยั่นในศีลห้า และไตรสรณาคมน์

เรื่องกรรมเล็กกรรมน้อยนี้ หลวงปู่จะเตือนศิษย์เสมอมิให้ประมาท โดยเฉพาะผู้ที่ปรนนิบัติพระเจ้าพระสงฆ์ จะเป็นฆราวาสก็ดี ภิกษุด้วยกันก็ดี พึงระมัดระวังให้จงดี โดยเฉพาะพระภิกษุ อย่าละเมิดธรรมวินัยได้ แม้การใช้สอยบริขารของสงฆ์เช่นกัน จะต้องเก็บงำรักษาเป็นอันดี ท่านยกว่า แม้แต่ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังทรงตำหนิตักเตือนพระ อย่าเห็นเป็นบาปเล็ก กรรมน้อย

ขึ้นชื่อว่าบาปกรรม นรชนไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย เปรียบเหมือนภาชนะที่เขาเปิดปากตั้งไว้กลางแจ้ง เมื่อฝนตก น้ำฝนหยาดเดียวไม่ทำให้ภาชนะเต็มก็จริงอยู่ แต่เมื่อฝนตกอยู่บ่อย ๆ ภาชนะนั้นย่อมเต็มได้แน่ ๆ ฉันใด ผู้ทำบาปอยู่ แม้ทีละน้อย ๆ ย่อมทำกองบาปให้ใหญ่โตขึ้นโดยลำดับได้ฉันนั้นเหมือนกัน

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-29.htm
70#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๓๐. พญานาคผู้มิจฉาทิฏฐิ

เรื่องพญานาคทั้งหลายที่นำมาเล่านี้ ดูจะเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาต่อพระเจ้าพระสงฆ์ทั้งนั้น แต่ความจริง มีพวกพญานาคที่ท่านพบ เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่เคารพเลื่อมใสในพระกรรมฐาน ก็มีเหมือนกัน

เช่นครั้งหนึ่ง สมัยท่านติดตามพระอาจารย์มั่นไปวิเวกแถบฝั่งแม่น้ำโขงเช่นกัน

ขณะนั้นท่านได้พาคณะไปพักอยู่ในเขตป่าร่มรื่นแห่งหนึ่ง บริเวณใกล้เคียงนั้นมีบึงน้ำกว้างใหญ่ น้ำเปี่ยมตลิ่งใสสะอาด ระหว่างที่หมู่เพื่อนเตรียมจะสรงน้ำ และตักน้ำมาสำหรับดื่มกินและใช้สอย แต่หลวงปู่ก็สังเกตว่า บริเวณโดยรอบบึงนั้นสงัดเงียบเกินไป ไม่มีนกกาเกาะอยู่บนต้นไม้ใกล้เคียง หรือรอยเท้าของสัตว์ชนิดใดก็ไม่มีโดยรอบบึงน้ำ อันดูเป็นการผิดวิสัย เพราะหนองน้ำ หรือบึงใหญ่ ย่อมเป็นที่พึ่งพิงอาศัยของส่ำสัตว์มีชีวิตจะใช้เพื่ออาบกินทั้งนั้น ท่านสงสัยว่าจะเป็นที่ไม่ชอบมาพากล

จึงพิจารณาดู ก็รู้ว่า เป็นที่ซึ่งพญานาคผู้มีมิจฉาทิฏฐิมาพ่นพิษใส่ในน้ำนั้นไว้ หากพระเณรลงอาบน้ำหรือตักมาใช้สอยดื่มกิน ก็คงจะเกิดอันตรายเจ็บไข้ได้ป่วยกันให้เป็นที่ยากลำบาก

ท่านจึงรีบห้ามหมู่เพื่อนไว้ บอกสั้น ๆ ว่าอย่าเพิ่งใช้น้ำเหล่านี้ แล้วท่านก็รีบไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่น ถึงข้อที่ท่านสงสัยและได้พิจารณาดู ท่านพระอาจารย์มั่นก็ยืนยันความรู้เห็นของหลวงปู่ว่าถูกต้องแล้ว และว่าท่านก็พิจารณาอยู่แล้ว รู้ว่าพญานาคพวกนี้ยังไม่มีความเคารพเลื่อมใสในศาสนา เห็นพวกเราเป็นศัตรู เข้าใจว่าที่พวกเรามา ณ ที่นี้นั้นจะลองดีแข่งกับพวกเขา และขับไล่ให้พวกเขาต้องระเหเร่ร่อนจากถิ่นที่อยู่ไป  เขาจึงได้แกล้งพ่นพิษใส่ในน้ำไว้  ดูทีหรือพวกเราจะทำประการใด หากประมาทมาใช้อาบกินเข้าก็คงจะเจ็บไข้ ต้องหนีจากไป

ท่านชมเชยความรู้เห็นของหลวงปู่มาก และสั่งยืนยันมิให้พระไปลงอาบน้ำ หรือตักน้ำอันมีพิษนั้น มาดื่มกินหรือใช้สอย ท่านว่าเราจะต้องไม่สนใจกับปฏิกิริยาอันไม่ถูกต้องของพญานาคเหล่านั้น ให้พวกเราเจริญเมตตาแผ่ให้เขา ในไม่ช้าเขาก็คงจะต้องละทิฏฐิมานะเป็นแน่แท้ เพราะเมตตาธรรมเป็นธรรมอันเยือกเย็น สามารถดับความร้อนรุ่มกระวนกระวายของจิตที่หลงผิดริษยาอาฆาตได้เป็นอย่างดี
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้