ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๑. พระนางมัทรีเสด็จมาในกลางป่า

ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าหนองวัวซอนี้ ได้มีเหตุการณ์ที่น่าจะบันทึกไว้อย่างหนึ่ง คือ

เวลากลางวันวันหนึ่ง หลังจากที่หลวงปู่ได้ทำความเพียรอย่างเต็มที่แล้ว ท่านก็พักจำวัดอยู่ในกุฏิ เผอิญวันนั้นโยมมารดาของท่านที่บวชเป็นชี และยังอยู่ที่วัดป่าหนองบัวบาน ได้มาเยี่ยมท่านที่วัด

ท่านเล่าว่า

กำลังจำวัดอยู่เพลิน ๆ  เพราะเพิ่งจะพักจากการทำความเพียรอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง อากาศก็เป็นใจด้วยฝนกำลังตกอยู่ ตกใจตื่นด้วยเสียงโยมมาเรียกท่าน

เร็ว ๆ เข้า รีบไปศาลาโดยด่วนเถอะ คุณลูก นิมนต์ไปศาลา พระนางมัทรีมาอยู่ที่ศาลาแน่ะ...!

เร็วเถอะท่าน พระนางมัทรีมา
โยมเร่ง

ท่านบอกว่า ตื่นขึ้นด้วยเสียงเรียกของโยมมารดา ทั้งเร่งเร้า ทั้งทุบประตูกุฎี เสียงโยมว่า มีคนมา นิมนต์ให้ไปศาลา ท่านรีบครองผ้าแล้วก็ลงมาจากกุฎีมาทันที เพื่อตามใจโยม ไม่ทันคิดว่าเป็นใคร มาทำไม ธุระอะไร โยมให้รีบไป ท่านก็ตามใจโยม

“พระนางมัทรีมาที่ศาลา” โยมแม่กล่าวย้ำ เมื่อเห็นท่านลงมาจากกุฎีแล้ว

ท่านว่า

ท่านยังไม่ทันจะคิดอย่างไร สงสัยหรือค้านว่า พระนางมัทรี ที่ไหน อย่างไร พระนางมัทรีจะมาที่ศาลาได้อย่างไร อย่าว่าแต่จะซักหรือคาดคั้นถามโยมเลย แม้แต่จะคิดพิจารณาอะไร ก็ไม่ทันได้กระทำ

พอท่านก้าวลงจากกุฎีมาพ้นได้อึดใจเดียว เสียงไม้ลั่นเอี๊ยดสนั่นพร้อมกับเสียงดังโครมใหญ่ก็บังเกิดขึ้น

กล่าวคือ ต้นไม้ใหญ่หน้ากุฏิท่าน หักโค่นล้มลงทับกุฎีของท่านแหลกละเอียดเป็นจุณไปต่อหน้าต่อตาท่าน และโยมมารดาท่าน ที่ยืนตะลึงอยู่ตรงนั้น ถ้าหากท่านยังนอนหลับอยู่ในกุฏิ...ท่านเล่าว่า ไม่อยากจะคิดเลย ว่าร่างกายจะแหลกเหลวไปฉันใด

ได้ความว่า ฝนตกหนักมากตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ตลอดทั้งวันทั้งคืน น้ำฝนคงจะเซาะรากไม้ใหญ่ทีละน้อย จนถึงกาลเวลาที่มันไม่อาจจะยืนต้นต่อไปได้ ก็หักโค่นล้มลง

แต่อัศจรรย์ว่า เมื่อจะต้องหักโค่นลงมาทับกุฎีของท่าน ก็ให้เกิดเรื่อง มาทำให้ท่านแคล้วคลาดพ้นมาจากที่นั้นเสียได้

โยมมารดา เล่าว่า

วันนั้นคิดอย่างไรไม่ทราบ ตั้งใจมาเยี่ยมพระลูกชาย แวะไปพักที่ศาลาก่อน ก็ได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ที่ศาลา แต่งตัวอย่างนางกษัตริย์ สวยงามมาก นางบอกว่า นางชื่อ พระนางมัทรี โยมแม่เล่าว่า ทั้งประหลาดใจและดีใจมาก

...ประหลาดใจว่า พระนางมัทรีนั้นมีชื่ออยู่ในเวสสันดรชาดก ไม่คิดว่า จะมีตัวมีตนจริง ๆ

... ดีใจว่า ได้เห็นพระนางมัทรีเสด็จมาหาถึงบนศาลาในกลางป่า ทั้งสวยงาม ทั้งแย้มยิ้มพริ้มพราย งามจับตาเสียเหลือเกิน จึงอยากให้พระลูกชายรีบไปศาลา ได้ดูนางมัทรีให้เป็นบุญตา

โยมยืนยันว่า เห็นพระนางมัทรีมาที่ศาลาจริง ๆ ถามชื่อนางกษัตริย์คนงาม นางก็บอกประกาศว่า ตนคือพระนางมัทรี โยมบอกว่า เกิดมาไม่เคยเห็นผู้หญิงคนไหนที่สวยงามอย่างนั้นเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้วโยมมารดานำท่านไปที่ศาลา ก็ไม่ปรากฏว่ามีพระนางมัทรี หรือผู้หญิงคนใดอยู่ที่นั่นเลย ความจริง...ไม่มีใครบนศาลาเลยด้วยซ้ำ ! เห็นแต่ภาพพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ที่ติดประดับอยู่บนศาลามาแต่ก่อนเท่านั้น...!!

ถ้าไม่กล่าวว่า เป็นเพราะเหตุอัศจรรย์ก็ไม่รู้ว่าจะกล่าวอย่างไร ...เทวดาจึงได้บันดาลนิมิตเพศเป็นพระนางมัทรีมาให้โยมมารดาเห็น และไปเรียกท่านให้พ้นภัยที่จะต้องถูกต้นไม้ใหญ่โค่นล้มลงทับกุฎีที่ท่านจำวัดอยู่...!

เป็นธรรมดาของศาลาวัดป่าทั่วไป ที่จะมีผู้ถวายรูปพระพุทธเจ้า หรือรูปตามเรื่องในชาดกต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อ สมเด็จพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติในชาติสำคัญ ๑๐ ชาติ ที่เรียกกันว่า ทศชาติ อันเริ่มแต่พระสุวรรณสาม พระเตมีย์ พระมโหสถ.... กระทั่งพระเวสสันดรเป็นชาติสุดท้าย ทางวัดก็มักจะนำภาพเหล่านั้นใส่กรอบประดิษฐานไว้บนศาลา ให้ญาติโยมได้เคารพบูชา รูปพระเวสสันดรและพระนางมัทรีก็เป็นภาพหนึ่งที่ติดอยู่บนศาลาเช่นภาพในชาดกทั้งหลาย
22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลังจากที่ได้พิมพ์หนังสือ “ชีวประวัติ พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม” แจกไปสำหรับการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ แล้ว พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทะสาโร ได้อ่านความในหนังสือดังกล่าว มาถึงเหตุการณ์ตอนนี้ ท่านก็กล่าวยืนยันเรื่องราวซ้ำให้ผู้เขียนฟังอีกครั้งหนึ่ง

หลวงปู่หลุยท่านเล่าว่า

ปีนั้นเป็นปีที่ท่านจำพรรษาอยู่ด้วย ณ วัดป่าหนองวัวซอ โดยมีทั้งหลวงปู่ชอบ ฐานสโม และ หลวงปู่ขาว อนาลโย จำพรรษาอยู่พร้อมกันทั้งสามองค์ ณ วัดป่าหนองวัวซอนี้ เป็นที่ซึ่งท่านประจักษ์ในบุญญาบารมีในกัลยาณมิตรทั้งสองของท่านเป็นอย่างดี โดยมีเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นทั้งในกรณีของหลวงปู่ชอบ และกรณีของหลวงปู่ขาว โดยหลวงปู่หลุยท่านว่า “อัศจรรย์...อัศจรรย์จริง”

ต่อมาเมื่อพระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย มรณภาพในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ผู้เขียนได้รับฉันทานุมัติจากคณะศิษยานุศิษย์ของท่าน ...ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ให้เป็นผู้เรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือประวัติของท่าน เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ผู้เขียนจึงได้บันทึกความตอนนี้ที่หลวงปู่หลุยท่านเมตตาเล่าให้ฟัง ลงไว้ในหนังสือ “จันทสาโรบูชา” ด้วย ดังมีความละเอียด ซึ่งขอนำมารวมไว้ในหนังสือ “ชีวประวัติของพระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม” ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วย ดังนี้

จากหนังสือ “จันทสาโรบูชา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ในงานพระราชทานเพลิงศพ “พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร” ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๓ หน้า ๒๖ – ๒๗

“...ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนี้ เป็นที่หลวงปู่หลุยเล่าเสมอว่า ท่านได้ประจักษ์ในบุญญาบารมีในกัลยาณมิตรทั้งสองของท่าน กล่าวคือ ระหว่างจำพรรษาด้วยกัน คืนหนึ่งเกิดฝนตกหนัก ลมพายุพัดรุนแรง ฝนตกหนักตลอดทั้งวันทั้งคืน ครั้นถึงเวลากลางวัน ขณะที่หลวงปู่ชอบกำลังจำวัด ก็ต้องสะดุ้งตื่นด้วยได้ยินสียงโยมมารดามาร้องเรียก ให้ออกไปรับเสด็จพระนางมัทรี พอท่านออกมานอกกุฏิ ตามเสียงเรียกของโยมมารดา ต้นไม้ใหญ่ก็หักโค่นลงทับกุฏิของหลวงปู่ชอบพังเป็นจุณไป ทำให้หลวงปู่ชอบพ้นอันตรายไปอย่างน่าอัศจรรย์”

“ความจริงที่ว่า โยมมารดาเห็นพระนางมัทรีนั้น เมื่อหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว ก็พาหลวงปู่ไปที่ศาลาที่ว่าพระนางมัทรีมารออยู่ โยมมารดาเล่าว่า ได้เห็นพระนางมัทรีลงมาหา เป็นหญิงที่สวยงามที่สุด ครั้งแรกยังไม่รู้จักชื่อ พอถาม นางก็บอกว่า นางเองคือพระนางมัทรี โยมมารดาเห็นหญิงนั้นงามเหลือที่จะประมาณ งามยิ่งกว่านางฟ้าที่เคยเห็นในรูป รู้สึกตื่นเต้น จึงวิ่งไปตามพระลูกชายดังกล่าว แต่เมื่อมาถึงศาลา ไม่มีใครเห็นหญิงที่โยมมารดากล่าวอ้างเลย คงเห็นแต่รูปพระนางมัทรี ติดอยู่บนศาลาเท่านั้น น่าคิดว่า นางฟ้าหรือเทพยดาอารักษ์ เทพธิดาองค์ใดไปช่วยปรากฏกายให้โยมมารดาไปเรียกหลวงปู่ชอบออกมาได้ เพราะถ้าท่านยังคงจำวัดอยู่ ท่านต้องมรณภาพแน่”

“สำหรับกรณีหลวงปู่ขาวนั้น หลวงปู่หลุยท่านเล่าว่า ต้นไม้หักโค่นลงมาเหมือนกัน แต่ต้นที่ล้มระเนระนาดลงมานั้นมีจำนวนมาก แต่ละต้นต่างล้อมกุฏิหลวงปู่ขาวไว้โดยรอบเป็นวงกลม ไม่มีแม้แต่ต้นเดียว กิ่งเดียวที่จะหักมาทับหรือก่ายกุฏิหลวงปู่ขาวเลย เป็นประหนึ่งเทวดาช่วยจับเวียนต้นไม้ล้อมรอบกุฏิหลวงปู่ขาวเอาไว้ฉะนั้น”

“เป็นเรื่องที่หลวงปู่หลุยมักจะเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเสมอ ว่าบุญบารมีที่แต่ละคนสร้างสม อบรมมานั้น โดยเฉพาะท่านผู้จะเดินไปสู่มรรคผลนิพพานนั้น จะต้องมีเทพยดาอารักษ์มาบำรุงรักษาปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายเสมอ”

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-11.htm
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๒. คำพยากรณ์ของท่านพระอาจารย์มั่น

ในบรรดาศิษย์รุ่นใหญ่ของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตมหาเถระ หลวงปู่ดูเหมือนจะมีประสบการณ์คล้ายกับบูรพาจารย์ของท่านมากที่สุด โดยเฉพาะด้านการรู้เห็น ติดต่อกับสิ่งลึกลับ ที่อยู่ต่างภพต่างภูมิ มาขอความอนุเคราะห์จากท่าน... ขอสร้างบุญ สร้างกุศล ทำบุญกับท่าน ขอฟังธรรมให้ท่านเทศน์โปรด

ความอันนี้ ดูจะเป็นที่สังเกตและทราบตั้งแต่เมื่อท่านเป็นพระผู้น้อย เข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นใหม่ ๆ

เวลาที่ท่านภาวนา...ทุกคืน ได้เห็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ปรากฏซ้ำคล้ายกันแทบทุกคืน วันหนึ่งอดใจไม่ได้ ก็คลานเข้าไปกราบเรียนถามข้อสงสัย

กล่าวคือ ท่านภาวนาเห็นพระอาจารย์มั่นถือไม้เท้าไปเคาะดูตามกุฏิลูกศิษย์หลังโน้นหลังนี้ทุกคืน ท่านพระอาจารย์มั่น ดู ๆ แล้วก็กลับ ไม่ทราบว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ไปด้วยเหตุผลกลใด

ท่านพระอาจารย์มั่น ฟังแล้วแล้วก็นิ่ง มองพระน้อยองค์นี้ แทนที่จะตอบคำถาม ท่านกลับปรารภออกมาดัง ๆ ต่อหน้าพระเณรทุกองค์ว่า

“เออ..ให้ทุกองค์ภาวนาให้ได้เหมือนท่านชอบซิ   !”

ได้ความว่า ระยะนี้ทุกคืน ท่านพระอาจารย์มั่นต้องการจะตรวจดูว่า พระเณรได้มีการทำความเพียรภาวนากันอย่างเต็มที่ สมกับที่เป็นพระธุดงค์ กรรมฐาน ศิษย์ของท่านหรือไม่... หรือจะมีใครง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจภาวนา แอบเป็นจระเข้ ยึดถือหมอนเป็นหลัก หรือว่ามีจิตส่งออก คิดไปในทางไม่ถูก ไม่ควรบ้าง...

ท่านจึงคอยไปตรวจดู...เคาะกุฏิดู...!

และความจริงท่านก็มิได้ออกเดินไปดูจริง ๆ... ท่านเพียงแต่ส่งจิตออกไปดูเท่านั้น...!

แต่พระน้อยองค์นี้ ก็สามารถมองเห็นกายทิพย์ของท่านได้...!

นับแต่นั้น ท่านพระอาจารย์มั่นก็ให้ความเมตตาท่านมากขึ้น ไม่ว่าจะแนะอุบาย ข้อปฏิบัติเช่นไร ท่านก็พยายามทำตามอย่างไม่ลดละ เช่น ควรจะไปอยู่ป่านั้น ถ้ำนั้น ภูเขาลูกนั้น ตำบลนั้น ข่าวว่าลำบากยากแค้นกันดารอย่างไร ท่านจะไม่ลังเลสงสัยเลย ท่านจะตรงไปอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจทำความเพียรในป่านั้น ถ้ำนั้น ภูเขาลูกนั้น ตำบลนั้น อย่างไม่หวั่นกลัวหรือหวาดเกรงภัยใด ๆ และเมื่อไปแล้วแระสบผลอย่างไร มีอุบายพาดำเนินข้อขัดข้องไปได้เช่นไร ก็จะกลับมาเรียนชี้แจง ขอสอบทานความคิดเห็น หรือยังมีปัญหาใดค้างคาอยู่ ก็จะมาเรียนขอให้ท่านอนุเคราะห์ให้ความสว่างแก่ศิษย์

ครูบาอาจารย์ในสมัยก่อนนั้น ท่านดูแลขัดเกลานิสัยศิษย์อย่างเอาใจใส่ ทั้งจริตนิสัยภายนอก ทั้งจิตภายในที่จะต้องกล่อมเกลาให้สำรวมระวัง ดูแลทุกข์สุข....

เป็นทั้ง พ่อ

เป็นทั้ง แม่

เป็นทั้ง ครูบา

เป็นทั้ง อาจารย์

ของศิษย์จริง ๆ ท่านจึงใช้คำแทนชื่อ เรียกว่า “พ่อแม่ครูบาอาจารย์” หรือเรียก “พ่อแม่ครูจารย์” สั้น ๆ
24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านเคารพเชื่อฟังท่านพระอาจารย์มั่นมาก และท่านพระอาจารย์มั่น ก็คงจะเฝ้าสังเกตความก้าวหน้าในการบำเพ็ญภาวนา ของศิษย์ผู้นี้อยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งท่านจึงออกปากพยากรณ์...

“ไปไกลลิบเลย พระน้อยองค์นี้”

ในประวัติบางแห่ง กล่าวว่า เมื่อหลวงปู่พบท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ในพรรษานั้น ก็ได้จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น หากเรื่องนี้ หลวงปู่ปฏิเสธว่า ท่านไม่เคยจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่นเลย แต่ออกพรรษาแล้ว เมื่อมีโอกาสครั้งใด ท่านก็จะกลับมากราบครูบาอาจารย์ของท่านเสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องการอุบายธรรม ที่จะส่งเสริมการปฏิบัติให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

อันที่จริง บางครั้ง บางเวลา ที่ท่านไปอยู่โดดเดี่ยวในกลางป่าดงพงลึก หรือในถ้ำอันลี้ลับ บนยอดเขาสูง หากการภาวนาเกิดติดขัดอย่างไร ท่านพระอาจารย์มั่นก็จะไปปรากฏร่างในนิมิตภาวนา แสดงบอกอุบายวิธีแก้ไข อาจจะเป็นโดยย่อ เพียงให้ท่านได้อุบายใช้สติปัญญาของตน คิดแยกแยะให้กว้างขวาง แตกฉานออกไป ...หรืออาจจะเป็นธรรมโดยละเอียด ที่ควรแจกแจงให้พิสดารออกไป จนแจ่มแจ้งก็ได้ โดยที่หลวงปู่มีนิสัยในทาง “ออกรู้” สิ่งต่าง ๆ ดีอยู่แล้ว จึงสามารถมีทางรับรู้ธรรมจากครูบาอาจารย์ทางได้เป็นอย่างดี

แต่ถึงท่านจะมีโอกาส “รับฟัง” ธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นได้ในทางนิมิตภาวนา ง่ายกว่าศิษย์คนอื่น ท่านก็ยังปรารถนาจะหาโอกาสกลับมากราบองค์จริงอยู่บ่อย ๆ

คืนหนึ่ง ท่านไปทำความเพียรอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลจากวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่นัก

ท่านเล่าว่า

คืนวันนั้น จิตสงบภาวนาได้ดีมาก แต่ใจหนึ่งก็สงสารสังขาร คิดจะให้ได้พักผ่อนสักหน่อย เพราะท่านใช้เวลาภาวนาติดต่อกันมาหลายคืนแล้ว พอตกลงใจคิดเอนหลังลงจะนอน ก็ได้ยินเสียงดังลั่นเหมือนเสียงฟ้าผ่า เสียงนั้นดังสนั่นมากจนท่านประหลาดใจ คิดว่าพรุ่งนี้จะหาโอกาสไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์

พอไปถึงวัดท่านพระอาจารย์มั่น เห็นเสื่อปูรอไว้แล้ว พร้อมทั้งมีขวดน้ำแก้วน้ำตั้งรอรับเสร็จสรรพ ท่านก็ก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง ยังไม่ทันจะเปิดปากเลย ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวออกมาดัง ๆ ว่า

“อ้ายคนเราน่ะนะ ถ้าจะภาวนาให้ดีแล้ว พอนึกง่วงนอน จะนอนแล้ว จะเกิดเสียงดังยังกับฟ้าผ่า !”

ท่านได้ฟังก็เลยไม่ถามอะไรสักคำ กราบลาแล้วก็กลับไป...!

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-12.htm
25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๓. เทวดามาขอฟังธรรม

ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ก็ออกจากวัดป่าบ้านหนองวัวซอ จาริกไปหาป่าหาเขาอันสงัดวิเวกที่ถูกกับจริตนิสัย ท่านชอบเที่ยวอยู่ในป่าในเขาเป็นปกติ ถึงเวลาเข้าพรรษาก็กลับเข้าบ้านเมืองสักครั้งหนึ่ง ท่านออกพรรษาแล้ว ก็ออกจาริกธุดงค์ต่อไป

พรรษาที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้านเหล่างา หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า วัดป่าวิเวกธรรม อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น พรรษาที่ ๘ และ ๙ พ.ศ. ๒๔๗๕- ๒๔๗๖ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสาละวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ระยะนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ศิษย์รุ่นผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น กำลังตั้งกองทัพธรรมสั่งสอนประชาชนทางภาคอีสานให้รู้จักหลักพุทธศาสนาที่แท้จริง ให้เลิกนับถือผีไท้ ผีฟ้า ผีปู่ตา กลับมารับพระไตรสรณาคมน์ มีพระกรรมฐานมาชุมนุมอยู่ที่วัดป่าสาละวันและวัดป่าวิเวกธรรมมาก นอกจากองค์ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แล้วก็มี ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นต้น

วัดป่าสาละวันนี้ มีกำเนิดมาจาก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ปธ. ๕) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ได้มีบัญชาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ให้พระกรรมฐานที่มีอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ไปรวมกันที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่ออบรมเทศนาสั่งสอนประชาชนร่วมกับข้าราชการ

พระคณะกรรมฐาน ซึ่งมีท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นหัวหน้า จึงพาหมู่พวกเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเผยแพร่หลักธรรมทางพุทธศาสนา และใน พ.ศ. ๒๔๗๕ นี้เอง ที่ พ.ต.ต. หลวงชาญนิยมเขต ได้ถวายที่ดินหลังสถานีรถไฟ จำนวน ๘๐ ไร่เศษ ให้สร้างเป็นวัด ท่านพระอาจารย์สิงห์ จึงได้สร้างวัดขึ้น ตั้งชื่อว่า วัดป่าสาละวัน ให้เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับการอบรมกรรมฐาน

ระหว่างที่หมู่พวกกระจายกันไปตั้งวัดโดยรอบวัดป่าสาละวัน เช่นสร้างวัดศรัทธาวนาราม ข้างกรมทหาร ตำบลหัวทะเล สร้างวัดป่าคีรีวัลย์ อำเภอท่าช้าง วัดป่าอำเภอกระโทก วัดป่าอำเภอจักราช วัดป่าสะแกราช อำเภอปักธงไชย วัดป่าบ้าใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว วัดป่าบ้านมะรุม อำเภอโนนสูง ฯลฯ ... เป็นกองทัพธรรม กระจายแยกย้ายกันไปเทศนาอบรมประชาชน หลวงปู่ก็แยกจากหมู่พวกเข้าไปในป่าลึกอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย
26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
โดยที่ ท่านนิสัยขรึม พูดน้อย ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยพระเณรและประชาชนจำนวนมาก ท่านจึงเห็นประโยชน์ของการเข้าไปอยู่ในป่าเขาอันสงัดเงียบ ประโยชน์นี้ทั้งสำหรับองค์ท่านเองและประโยชน์ของผู้ที่อยู่ในภพภูมิอื่น อันสายตามนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะมองเห็นได้

พูดง่าย ๆ ขณะที่หมู่พวกเมตตาเทศนาอบรมมนุษย์ในหมู่บ้าน หลวงปู่ก็ได้ช่วยเมตตาอนุเคราะห์เทศนาอบรมเทวดาในป่าลึก...

ท่านเล่าว่า ระหว่างที่ท่านธุดงค์เข้าไปในป่าลึก จะมีพวกกายทิพย์เข้ามาอาราธนาให้อยู่โปรดพวกเขา แม้แต่เสียงที่ท่านสวดมนต์ภาวนา ก็ทำความชุ่มชื่นรื่นรมย์ให้แก่สัตว์โลกไปทั่วทั้งปฐพี

แทบไม่เว้นแต่ละคืน จะมีพวกมาจากภพภูมิอื่นเป็นเทวดา นาค มากราบไหว้ขอฟังธรรม

ท่านเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า เทวดามาเยี่ยมฟังธรรมจากท่านเกือบทุกคืน มีจำนวนมากบ้าง น้อยบ้าง บางครั้งมีจำนวนเป็นหลักสิบ เช่น ๕๐ – ๖๐ องค์ บางทีก็เป็นจำนวนร้อย ๑๐๐ –๒๐๐ หรือ ๖๐๐ –๗๐๐ บางครั้งก็ถึงจำนวนพัน ๆ เครื่องนุ่งห่มของเทวดาก็เป็นไปอย่างมีระเบียบงามตา เป็นสีเดียวกันหมด ประหนึ่งเครื่องแบบ เช่น ถ้าคณะนี้แต่งกายสีแดง...ก็แดงเหมือนกัน ถ้าเป็นเป็นสีขาว ก็ขาวเหมือนกันหมด หรือจะเป็นสีเหลือง สีเขียว ก็เหมือนกันเช่นกัน มีที่น่าสังเกต คือ เวลาเข้ามาฟังธรรม เทวดาจะไม่ตกแต่งเครื่องประดับอลังการ มีกิริยามรรยาทเรียบร้อย นอบน้อมพระผู้เป็นเจ้า อย่างน่าชม

ธรรมะที่ท่านแสดงโปรดเทวดานั้น มักเป็นหัวข้อธรรมที่เขาขอร้อง เช่น ขอฟัง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร บ้าง กรณียเมตตสูตร บ้าง เมตตาพรหมวิหาร บ้าง ท่านก็อนุโลมเทศน์ไปตามที่เขาอาราธนา แต่บางครั้งเขาก็ไม่จำเพาะเจาะจงแต่อย่างใด ขอแต่ให้ท่านจะพิจารณาเห็นสมควรเอง

การแสดงธรรมท่านก็แสดงจากใจ ไม่ต้องใช้เสียงแต่อย่างใด ผู้ฟังก็ฟังด้วยใจ บางครั้งก็มีการถามปัญหาธรรม เช่นเดียวกับมนุษย์ก็มีข้อสงสัยในทางธรรม ท่านก็อนุเคราะห์เขาไปตามควร

การที่หลวงปู่เมตตาสัตว์ไม่มีประมาณ ทั้งเทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค มนุษย์ ท่านเทศน์โปรดเขาเป็นปกติ แต่ความจริงตามที่กราบเรียนถาม หลวงปู่ได้เทศน์โปรดเทวดามาแต่เมื่อสมัยท่านยังเป็นสามเณรแล้ว ฉะนั้น พวกที่ได้รับความเมตตาความกรุณาจากท่าน จึงมีจิตใจตอบ ทั้งด้วยความเลื่อมใส ศรัทธา เคารพ รัก เทิดทูน บูชา เมื่อยามที่ท่านติดขัด มีอุปสรรคอันใด เทวดาผู้ห้อมล้อมอารักขาท่าน จึงคอยดูแลพยายามปัดเป่า คลี่คลายปัญหาถวายให้ท่านอย่างน่าอัศจรรย์ ดังจะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-13.htm
27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๔. จำพรรษาที่ถ้ำนายม เทวดามาอารักขาและถวายอาหารทิพย์

ในพรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำนายม จังหวัดเพชรบูรณ์ ถ้ำนี้เป็นถ้ำที่ปรากฏให้ท่านเห็นในนิมิต ตั้งแต่ท่านยังอยู่ที่วัดป่าบ้านเหล่างา จังหวัดนครราชสีมา กับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เมื่อท่านล่วงรู้อนาคตถึงถ้ำที่ท่านจะต้องไปอยู่ ท่านก็เดินทางจากนครราชสีมา บุกป่ามุ่งไปทางเพชรบูรณ์ เพื่อสืบหาถ้ำนายมที่เห็นในนิมิต

ท่านเดินทางมากับผ้าขาวคนหนึ่ง เป็นคนบ้านนอก รักษาศีล ๘ ไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ ถามหาถ้ำนายม แต่ก็ไม่มีผู้ใดรู้จัก จนสุดท้ายจึงมาพบเข้า เป็นถ้ำที่ซอกซอนอยู่ในป่าลึก จากบ้านชาวป่าที่ใกล้ที่สุด ต้องบุกป่าไม้ไผ่อันหนาทึบเข้าไปถึง ๕ กิโลเมตร จึงจะถึงถ้ำนายม

ท่านเล่าว่า

ตั้งแต่เห็นถ้ำมา ท่านไม่เคยเห็นถ้ำที่ไหนจะใหญ่โตและงดงามเท่าถ้ำนายมนี้ ภายในถ้ำมีบริเวณอันกว้างใหญ่ เป็นหลืบเขา เป็นชั้นช่องปล่องเปลว เพดานเป็นหินระย้าย้อยงดงาม บางตอนก็เลื่อมพรายระยิบระยับประดุจแก้วมุกดา แต่ละห้องคูหาล้วนใหญ่โตมโหฬาร ต่อเนื่องกันไปดุจท้องพระโรง และห้องหอในปราสาทราชวัง บางตอนที่แยกออกไปเป็นซอกเล็ก คูหาน้อย แม้จะขาดแสงดูทึบมืดมาก แต่ก็ไม่มีอับชื้น อากาศโปร่งเย็นสบาย มีลมพัดโกรกตลอดเวลา ชวนให้นั่งภาวนาเป็นอย่างมาก

ท่านว่า เป็นถ้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีมด ไม่มีแมลงปรากฏ พระเณรหรือใครก็ตามจะไปทำความสกปรกในนั้นไม่ได้เลย และถ้าขี้เกียจภาวนา เห็นแก่หลับแก่นอน ก็จะถูกปลุก ถูกเตือน ดึงแขน ดึงขา เพื่อไม่ให้ประมาทในการภาวนา

ท่านบอกว่า พิจารณาแล้ว เคยเป็นถ้ำอยู่ใต้ทะเลมาก่อน จนเดี๋ยวนี้พื้นถ้ำก็ยังคงเป็นทรายทะเลอยู่ แต่ก็น่าประหลาด ดังที่กล่าวมาแล้ว ว่าแม้พื้นถ้ำจะเป็นทราย แต่มิได้มีมดมีแมลงเล็กน้อยอาศัยอยู่ในพื้นทราย ดังที่เคยพบในพื้นทรายแถบอื่นเลยสักตัวเดียว ดูราวกับมีผู้มาปัดกวาดทำความสะอาดให้ดูราบเรี่ยมเอี่ยมสำอางอยู่ตลอดเวลา

บริเวณหน้าถ้ำ มีกระทะเหล็กใหญ่ ๆ หม้อ ไห มากมาย ถามดูก็ไม่ทราบว่าเป็นของใคร ชาวบ้านบอกว่า ได้ยินปู่ย่าตายายเล่าสืบ ๆ กันมาว่า เคยเห็นข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้อยู่หน้าถ้ำนี้มานานนักหนาแล้ว เวลาชาวบ้านจะมีงานฉลองปีหนึ่ง ก็ได้ใช้ ถ้วยชาม หม้อ ไห กระทะเหล่านี้ครั้งหนึ่ง ใช้แล้วก็เก็บล้างนำมาคืนที่หน้าถ้ำ วางไว้เฉย ๆ ไม่ต้องเก็บงำซุกซ่อนอะไร ไม่มีใครกล้าไปฉกลัก ยึดเอามาเป็นสมบัติส่วนตัวสักราย

ท่านกล่าวชมเชยผ้าขาวที่ไปอยู่ด้วยกับท่านมาก ว่าปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรได้อย่างน่าสรรเสริญ วันหนึ่งระหว่างนั่งภาวนา ท่านเห็นเทวดาองค์หนึ่งเหาะลอยมา แต่ผ่านท่านไปอย่างไม่สนใจ และไปกระซิบอะไรไม่ทราบใส่หูผ้าขาวนั้น พอเสร็จภาวนาแล้ว โยมผ้าขาวก็มาถามท่านว่า

“ถึงขั้นอะไรแล้ว”

ท่านก็เลยปรามว่า

“อย่าไปยุ่งกับมันเลย ขั้นเคิ่นอะไรกัน เราภาวนาต่อไปเถอะ”

ท่านอธิบายว่า ความจริง โยมผ้าขาวผู้นั้นได้เป็นอนาคามีแล้ว ออกพรรษาแล้ว เมื่อท่านจะไปจากถ้ำนายม โยมผ้าขาวก็ยังดื่มด่ำในการภาวนามาก ไม่ยอมตามท่านไป ขออยู่ที่ถ้ำนายมต่อ พวกลูกหลานของแกเป็นห่วง อ้อนวอนให้ไป เพราะในนั้นอดอยากมาก ไม่มีอาหารกิน แต่โยมผ้าขาวก็ไม่ยอมกลับบ้านกับลูก ลูกชายลูกสาวจึงออกอุบายชวนให้ออกจากถ้ำไปดูห้วยซึ่งอยู่ใกล้ถ้ำ แล้วก็จับเอาตัวพ่อเฒ่ากลับไปบ้าน ผ้าขาวกลับบ้าน ก็ไม่สนใจงานการอะไร คงแต่ภาวนาและเดินจงกรมลูกเดียว

หลวงปู่เล่าว่า แกเป็นอนาคาแล้ว กำหนดรู้วันตายล่วงหน้า และเมื่อถึงวันที่แกบอกล่วงหน้าไว้ว่าจะเป็นวันตาย ลูกหลานก็ว่า ไม่เห็นพ่อเฒ่าเจ็บไข้ได้ป่วยแต่อย่างไร คงเดินจงกรมเป็นปกติ แต่ในวันนั้นเอง ระหว่างเดินจงกรม แกตกนอกชาน ซี่โครงไปโดนล้อเกวียนหัก ตายตรงตามเวลาที่บอกลูกชายลูกสาวไว้พอดี
28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ที่ถ้ำนายมนี้มีเทพมาก และมักจะอาราธนาให้ท่านแสดงธรรมโปรดพวกเขาเสมอ ชาวบ้านป่าที่อยู่ใกล้ถ้ำนายมที่สุดนั้น มีเพียงสองสามครอบครัว มีฐานะแบบหาเช้ากินค่ำ ที่พยายามถวายอาหารพระก็ด้วยใจเคารพเลื่อมใส แต่ความที่เขาเองก็ลำบากแทบไม่มีจะกิน ท่านจึงไม่ค่อยจะออกมาบิณฑบาตนัก เว้นสี่ซ้าห้าวันจึงจะออกมาบิณฑบาตสักหนหนึ่ง หรือบางทีการภาวนาดื่มด่ำมาก ท่านก็จะเว้นการบิณฑบาตนานมากขึ้น ทำสมาธิทั้งกลางวัน กลางคืน เวลา เช้า – สาย – บ่าย – เย็น มืดหรือสว่างแทบไม่มีความหมาย จิตสว่างโพลง ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน

จิตลงได้สนิทเต็มที่ถึงฐานสมาธิ ได้ครั้งละหลาย ๆ ชั่วโมง กว่าจะถอนขึ้นมา เมื่อถอนขึ้นมาแล้ว ก็พิจารณาด้านปัญญา จนกว่าปัญญาจะฟาดฟันกิเลสดับสิ้นลง เวลาเข้าสมาธินั้นประมาณแน่นอนไม่ได้ ถ้าเป็นเวลากลางวัน ซึ่งอากาศมักจะร้อนสักหน่อย ก็จะอยู่ในราวสอง หรือ สาม หรือ สี่ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเวลากลางคืน อากาศเย็นโปร่งสบาย ก็สี่ถึงห้าชั่วโมงเป็นประจำ แต่ก็บ่อยครั้งที่จิตอาจจะถอน ต่อเมื่อถึงเวลารุ่งเช้าสว่างแล้ว หลังจากทำสมาธิแล้ว เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ท่านก็จะเดินจงกรมต่อไป

จิตดื่มด่ำในธรรมที่ผุดขึ้น ธรรมก็แนบกับจิตไม่เสื่อมคลาย ท่านไม่ได้สนใจกับเวลาทีผ่านไป หรืออาหารที่ไม่ได้ตกถึงท้องเป็นวัน ๆ เป็นอาทิตย์ ๆ ผ้าขาวที่อยู่ด้วย ท่านก็ไม่ได้ห่วงใยอาลัยอาหารเช่นเดียวกัน จึงต่างคนต่างทำความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ ท่านเล่าให้ศิษย์ผู้หนึ่ง คือ พระอาจารย์บุญญฤทธิ์ ปัณฑิโต ฟังในภายหลังว่า



ตอนที่ท่านนั่งภาวนา และเห็นเทวดาองค์หนึ่งเหาะผ่านท่านไปโดยไม่สนใจ แต่ไปกระซิบหูผ้าขาวนั้น ท่านรู้สึกอายใจอย่างบอกไม่ถูก

“แหม...เราบวชมา ๑๐ ปี แล้ว ยังสู้เขาไม่ได้ ! ผ้าขาวนั้นได้อนาคามีแล้ว !”

เรื่องในสมัยพุทธกาลก็เคยมี ที่ภิกษุบำเพ็ญภาวนาแล้วสู้อุบาสกอุบาสิกาไม่ได้ อุบาสิกานางหนึ่ง พิจารณาแล้วได้อนาคามี นางมีใจเมตตา เห็นแก่หมู่ภิกษุยังไม่บรรลุธรรม พิจารณารู้ว่า ยังติดขัดอาหารไม่สัปปายะ เป็นที่สบายแก่จิต ก็พยายามจัดหาปรุงอาหารที่ถูกแก่จริตถวาย ภิกษุเหล่านั้นนึกอาย ที่อุบาสิกาได้บรรลุธรรมถึงอนาคามีแล้ว แต่ท่านทุกองค์ยังเป็นปุถุชน ท่านพยายามเร่งความเพียรอย่างหนัก และสุดท้ายก็ได้สำเร็จอรหัตผลกันทุกองค์ ขณะมี่โยมอุปัฏฐากของท่านก็ยังเป็นพระอนาคามีเช่นเดิม

อย่างไรก็ดี สำหรับเรื่องของหลวงปู่นี้ เราไม่กล้าอาจเอื้อม จะคิด จะวิจารณ์เช่นไร เทวดาองค์นั้นไปกระซิบให้ผ้าขาวมาเรียนถามหลวงปู่เป็นเชิงสัพยอก หรือ ให้อุบายหรือเปล่า ที่ว่า

“ถึงขั้นอะไรแล้ว ถึงขั้นอะไรแล้ว”

แต่ก็ทำให้ท่านเร่งความเพียรหนักขึ้น จนไม่ได้เป็นอันนึกถึงการบิณฑบาตหรือฉันอาหาร ด้วยใจนั้นประชิดติดพันรุกไล่อยู่กับการห้ำหั่นกิเลสอย่างไม่ลดละ ท่านไม่ได้นึกถึงเดือน นึกถึงตะวัน เพลินด้วยการภาวนาทั้งอิริยาบถ ๔ จนไม่ได้นึกถึงสังขารร่างกายเลยว่า ซูบผอมอ่อนเพลียไปเช่นไร

ออกประหลาดใจที่วันหนึ่งได้เห็น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามากราบคารวะขออนุญาตถวายอาหารทิพย์

เทวดากราบเรียนท่านว่า

ที่ท่านมาบำเพ็ญความเพียรอยู่ ณ ที่นี้ เทวดาได้เป็นผู้มาคอยอารักขาท่านตลอดเวลา ด้วยความเคารพเลื่อมใส ศรัทธาอย่างสูงยิ่ง เหล่าเทพบริเวณนี้มีความสุขสงบร่มเย็นโดยทั่วกัน ด้วยกระแสธรรมและเมตตาที่ท่านแผ่ไปให้โดยไม่มีประมาณ เทวดาทั้งหลายขออนุโมทนาด้วยพระคุณเจ้า แต่ระยะนี้พระคุณเจ้าเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ ไม่บิณฑบาต ไม่ฉันอาหาร ธาตุขันธ์ขาดอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายมาหลายเพลาแล้ว แม้ใจของท่านจะผ่องใส อาจหาญ ร่าเริงในธรรม แต่ร่างกายที่อ่อนเพลีย อาจจะเป็นอุปสรรคให้ท่านล้มเจ็บลงได้ เทวดาสงสาร ทนดูอยู่หลายวันแล้ว อดไม่ได้ วันนี้ต้องขออนุญาตถวายท่านด้วยอาหารทิพย์

ท่านว่า อาหารทิพย์เป็นอย่างไร และนี่ก็ตกบ่ายแล้ว ฉันไม่ได้ เป็นอาบัติ

เทวดา ก็แสดงอาหารทิพย์ในมือถวายให้ท่านดู ลักษณะเป็นแท่งเหมือนดินสอพอง
29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เทวดาอธิบายว่า

ไม่ใช่อาหารธรรมดาที่จะฉัน จะเคี้ยว จะกลืนดังอาหารธรรมดา อาหารทิพย์นี้ เป็นเพียงโอชารสที่จะซึมซาบเข้าไปในร่างกายเท่านั้น เปรียบเหมือนยา หรือน้ำเกลือ น้ำหวานที่พระอาจฉันได้หลังเพลาเพลแล้ว เพียงใช้ถูเบา ๆ ความเป็นทิพย์ก็จะซึมซาบเข้าไปตามส่วนของร่างกาย เหมือนฉีดยาบำรุงกำลังนั่นเทียว

ระยะแรก ท่านค้านมาก เหตุผลที่สำคัญที่สุด ก็คือ เทวดานั้นเป็นผู้หญิง ท่านเกรงว่าจะเกิดอาบัติ และถึงว่ากายทิพย์ของเทวดาจะไม่เป็นที่รู้เห็นของคนทั่วไป แต่สำหรับตัวท่านเองนั้น หลับตาก็มองเห็นเทวดา ลืมตาก็มองเห็นเทวดา แม้ทางพระวินัยจะไม่มีความเสียหาย แต่ถ้าเผื่อผู้มีสายตาดี มีญาณผ่านมาเห็นเข้า ก็จะเป็นที่ครหาว่า พระอยู่ลำพังกับสตรี

เทวดากราบเรียนว่า

อาหารที่ท่านเห็นนั้น ท่านเห็นได้จากใจทิพย์ เทวดาเพียงจะนำอาหารทิพย์มาถวายทางกายทิพย์ ไม่ใช่กายเนื้อ ที่ท่านว่า ลืมตาก็เห็นหรือตาเนื้อมองเห็นด้วยนั้น แท้จริงเป็นเพราะญาณภายในของพระคุณเจ้าสนับสนุนให้เห็นดอก เทวดาเป็นผู้รักและเทิดทูนท่านผู้มีศีลธรรม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อย่างพระคุณเจ้า เทวดาก็อยากได้บุญได้กุศลเช่นกัน จึงขอถวายอาหารทิพย์บ้าง พระคุณเจ้ายังออกบิณฑบาตโปรดให้มนุษย์ได้ใส่บาตร ได้บุญ ได้กุศล เทวดาทำไมจึงอาภัพอับวาสนา ไม่มีสิทธิ์ถวายอาหาร หรือยาบำรุงกำลัง เพื่อส่วนบุญกุศลส่วนกุศลของตนบ้างบ้าง

ท่านเล่าว่า การคิด การโต้ตอบนี้ เป็นไปในสมาธิภาวนาตลอด ดังนั้น เวลาเพียงไม่กี่วินาที ถ้อยคำ กระแส ความคิดของมนุษย์หรือเทวดาจะปรากฏไปได้ยืดยาวมาก

ปรากฏว่า หลังจากที่เทวดามาถวายอาหารทิพย์ ถูให้ท่านทางกายทิพย์แล้ว พอท่านออกจากสมาธิ ก็รู้สึกว่า ร่างกายมีกำลังสดชื่นราวกับได้ฉันอาหารตลอดเวลาหลาย ๆ วันที่ผ่านมา

เทวดาองค์นี้ได้เล่าถวายถึงบุพเพนิวาสที่ได้เคยมีต่อหลวงปู่อย่างละเอียด และแม้จะอยู่คนละภพและภูมิ แต่ก็ปวารณาขอถวายอารักขา แม้ท่านจะปฏิเสธว่า องค์ท่านมิได้ลำบาก ติดขัด หรือขาดแคลนสิ่งใด ความเป็น ความอยู่ ก็พอเป็นไปตามอัตภาพของพระธุดงคกรรมฐาน ผู้ฉันน้อย อยู่น้อย ใจมุ่งต่ออรรถต่อธรรมเป็นส่วนใหญ่ ที่เทวดาว่า ท่านจะหิว จะไม่มีกำลัง ท่านก็มิได้รู้สึกเลย

อย่างไรก็ดี แม้ท่านจะปฏิเสธอย่างไร เทวดาองค์นั้นก็คอยมาดูแล อารักขาท่านอยู่เสมอ บางครั้งท่านมองไปจะเห็นเทวดานั่งเรียบร้อยอยู่บนโขดหิน ห่างท่านสัก ๔ – ๕ วา ราวกับจะเป็นยามมิให้พระต้องอนาทรร้อนใจ

ท่านว่า เป็นเหตุการณ์ที่แปลกอย่างหนึ่ง อันปรากฏกับท่านระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำนายม จังหวัดเพชรบูรณ์

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-14.htm
30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๕. สถานที่ซึ่งมีบุญคุณที่สุด

ปกติหลวงปู่มีนิสัยเด็ดเดี่ยว อาจหาญ ชอบไปและอยู่ตามลำพังองค์เดียว นาน ๆ จะชวนเพื่อนชวนหมู่ไปด้วยสักครั้งหนึ่ง แต่ก็จะเลือกเฉพาะผู้ที่ใจเด็ด ใจถึง ตายเป็นตาย เท่านั้น ท่านอธิบายว่า การไปคนเดียว อยู่คนเดียว ทำให้มีสติรู้ตัว สังวรระวังอยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาทมัวแต่จะนึกอาศัยเพื่อนหรือผู้อื่น ทั้งไม่ต้องมีเรื่องมาก ต้องคอยพูดคุยสนทนากันในบางโอกาสบางเวลา ไปคนเดียว ไม่ต้องรั้งรอกัน คิดจะไป เพียงเก็บบริขารใส่บาตร คว้ากลดร่มก็ไปได้แล้ว ไม่ต้องเสียเวลารอโน่นรอนี่ หรือคำท้วงติง....

“อย่าเพิ่งไปเลย กำลังอยู่สบาย”

“ไปทำไม ญาติโยมเพิ่งทำแคร่ ที่มุงบังถวายเสร็จ ไม่อยู่ต่อไปหรือท่าน...”
จะได้ไม่ต้องได้ยินคำทัดทาน เหนี่ยวรั้งเหล่านี้

มีผู้เคยเรียนถามท่านว่า ไปองค์เดียว เจ็บจะทำอย่างไร ตายจะทำอย่างไร ท่านก็จะยิ้มและตอบเรียบ ๆ ว่า “เจ็บก็รักษาธาตุขันธ์ไปตามมีตามเกิด หายก็หาย ตายก็ตาย”

นั่นซี...ตายจะทำอย่างไร  ผู้สงสัยเร่งถาม

ท่านตอบง่าย ๆ ว่า “ก็ปล่อยไปตามคติธรรมดา”

ถามซ้ำกันอีกว่า คติธรรมดาเป็นอย่างไร ท่านจึงต้องอธิบายเพิ่มขึ้น ธาตุทั้ง ๔ เขาก็กลับคืนไปสู่สภาพเดิมของเขา ที่เป็นลม เป็นไฟ ก็หยุด แล้วเมื่อพอหมดลมหายใจ ที่เป็นน้ำและดิน ก็กลับสู่น้ำและดินน่ะซี

ออกพรรษาแล้ว ท่านก็จะจากวัดที่พัก ไปแสวงหาที่วิเวกอยู่เสมอ พรรษา ๑๐ นี้ แม้ท่านจะจำพรรษาในถ้ำนายม ซึ่งอยู่กลางป่าลึก เป็นที่สงัดวิเวกอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่วิสัยของท่าน ไม่ชอบการอยู่ในที่ซ้ำซาก จำเจ ไม่ติดถิ่น ไม่ลังเลอาลัย เทวดาผู้อารักขาท่าน และเทวดาที่อยู่โดยรอบบริเวณ จะพยายามอาราธนา ขอให้ท่านอยู่ต่อไปเพื่อให้ความสงบร่มเย็น เป็นที่พึ่งพักพิงทางใจของบรรดากายทิพย์เหล่านั้น แต่ท่านก็ต้องปฏิเสธว่า ท่านมีความจำเป็นต้องจากไป ท่านเห็นประจักษ์ในพระพุทธภาษิต

อุยฺยุญฺชนฺติ สติมนฺโต             น นิเก เต รมนฺติ เต

หํสาว ปลฺลํ หิตฺวา                  โอกโมกํ ชหนฺติ เต ฯ

ผู้มีสติ ย่อมหลีกออก                      ท่านไม่ยินดีในที่อยู่

ท่านย่อมละอาลัย (ที่อยู่) เสียได้   ดุจพญาหงส์ละเปือกตมไปฉะนั้น


ท่านออกวิเวกต่อไป ในเขตต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย ซึ่งท่านเคยท่องเที่ยวหาความสงบตลอดมา...ทางภูเขียว ภูเรือ ภูหลวง... ท่านว่า เวลาอยู่ในวัดหรือที่เป็นป่าธรรมดา ไม่ใช่ป่าดงพงลึกนั้น ใจท่านมักจะอึดอัด อ่อนล้าไปในทางขี้เกียจ ประมาท นอนใจ ไม่กระฉับกระฉงว่องไว ดังที่ไปทรมานตนในป่าลึกเขาสูง สติปัญญาก็ล่าช้า ดุจจะเสื่อม ถอยหลัง ไม่องอาจแกล้วกล้า ดั่งเวลาเผชิญภัยในป่าเขา

ป่าเขา...สำหรับท่าน... เป็นประดุจหินกล้าที่ลับมีดให้คมกริบ พร้อมที่จะตัดฟันกิเลสที่จะเผยอตัวขึ้นมา ให้ขาดกระเด็นไป

ป่าเขา...สำหรับท่าน...เป็นประดุจครูที่ให้อุบายทรมานกิเลสให้สยบราบคาบ


การทำความเพียรของท่าน สามารถกระทำต่อเนื่องกันไปโดยไม่หยุดยั้ง หรือต้องถูกเหนี่ยวรั้งกังวลเพราะหมู่พวก สติปัญญาก็เกิดขึ้น งอกงามคู่เคียงกับความเพียร และในขณะเดียวกัน ระหว่างที่ทำความเพียร ก็ยังพอมีเวลาให้ความอนุเคราะห์แก่พวกสิ่งลึกลับกายทิพย์เขาได้ด้วย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้