|
อาถรรพ์หม้อดินเผา
ดิฉันเป็นเด็ก อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ได้ฟังผู้เฒ่าผู้แก่เล่าเรื่องราวน่าสยดสยองเกี่ยวกับสมบัติโบราณ จดจำได้อย่างฝังใจตั้งแต่เล็กจนโต จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ค่ะ
เมื่อเดือนมกราคม ปี 2513 นายนุ่ม อยู่ในธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร และหัวหน้ากองโบราณคดี ได้ไปตรวจแหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียงพร้อมคณะใหญ่ อยู่ที่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี
ที่บริเวณวัดโพธิ์ศรีใน มีหลุมที่ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และเครื่องปั้นดินเผาที่ฝังรวมกับศพ ซึ่งเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ 6,500-7,000 ปี นับเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งแรกในประเทศไทย
ต่อมาองค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้เป็นมรดกโลก!
ตอนบ่ายวันเดียวกัน ได้ไปแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านแวง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
บรรยากาศของโบราณสถานโดยทั่วไปมักจะร่มครึ้ม เยือกเย็น ทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นหวนนึกไปถึงอดีตกาล…สมัยที่ยังรุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่นั้น ผู้คนย่อมคึกคักขวักไขว่ ทักทายและพูดคุยหัวเราะต่อกระซิกกันอย่างเบิกบาน…ราวกับจะปรากฏกายขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยมิได้ดับสูญไปกับกาลเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนาน
ขณะนั้นเองหญิงวัยกลางคนผู้หนึ่งก็ประคองหม้อดินเผาขนาดย่อมๆ ใบหนึ่งมาส่งให้สตรีในคณะ มีนามว่าพาณี พลางกล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม สุ้มเสียงออกแปร่งตามประสาคนท้องถิ่น
“ขอมอบให้คุณนายเป็นที่ระลึก โปรดรับไว้เถอะจ้ะ”
คุณพาณีเล่าภายหลังว่า น้ำเสียงกับนัยน์ตาคู่นั้นทำให้รู้สึกพร่ามึนอย่างไรชอบกล แต่ยังมีสติบอกปัดไป โดยอ้างว่าเป็นของมีค่าเกินกว่าจะรับได้ แต่หญิงแปลกหน้า ผู้มีลักษณะเป็นคนพื้นบ้าน พูดจาไพเราะน่าฟังก็คะยั้นคะยอให้รับไว้ เพราะนำมาให้ด้วยความเคารพนับถืออย่างจริงใจ
ในที่สุด คุณพาณีเกรงว่าฝ่ายนั้นจะเสียน้ำใจ หรือไม่ก็หาว่าถือตัว จึงจำใจรับไว้ แล้วหันไปทางชาวคณะพลางบอกกล่าวเรื่องราวให้ฟัง
“ไหน? ไม่เห็นมีใครซักคน!”
ใครคนหนึ่งโพล่งขึ้นอย่างมั่นใจ เล่นเอาคุณพาณีใจหาย หันขวับไปก็พอดีมองเห็นหญิงกลางคนนุ่งซิ่นดำ สวมเสื้อแขนกระบอกสีขาว กำลังจะเดินลับกองอิฐสีแดงใกล้ต้นใหญ่อยู่แล้ว เธอจึงชี้ให้คนอื่นๆ ดู
“ไหนกัน…ทำไมไม่เห็นล่ะ?”
“แปลก! ไม่เห็นมีใครนี่! อ้อ…นั่นไง! แกเดินเหมือนลอยไปเฉยๆ อ้าว? หายไปแล้ว”
สตรีผู้ได้รับหม้อดินเผาเก่าแก่เป็นของกำนัลจากหญิงแปลกหน้า ถึงกับขนลุกซู่ซ่าไปทั้งตัว…พอดีมีคนอื่นๆ มาดูหม้อใบนั้น พลางพูดจาชมเชยความสวยงาม ดูโบร่ำโบราณหายาก มีค่าควรแก่การสะสมไว้ชื่นชมยิ่งนัก
|
|