ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๑๒ : สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต


การเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์

ใน พ.ศ. ๒๔๘๔  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ขึ้น
แทนพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่นี้
มีจัดการปกครองคณะสงฆ์โดยอนุโลมตามแบบการปกครองฝ่ายบ้านเมือง  
คือ สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญญัติสังฆาณัติ โดยคำแนะนำของสังฆสภา
ทรงบริหารคณะสงฆ์ทางคณะสังฆมนตรี และทรงวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร
จัดระเบียบบริหารคณะสงฆ์ส่วนกลางเป็น ๔ องค์การ คือ

๑. องค์การปกครอง
๒. องค์การศึกษา
๓. องค์การเผยแผ่ และ
๔. องค์การสาธารณูปการ

สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งคณะสังฆมนตรีประกอบด้วยสังฆนายก ๑ รูป
และสังฆมนตรีไม่เกิน ๙ รูป เป็นสงฆ์ผู้รับผิดชอบในการบริหารการคณะสงฆ์
ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์
ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้


สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ทรงฉายร่วมกับคณะกรรมการพุทธสมาคม
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระกรณียกิจต่างๆ

พระกรณียกิจต่างๆ ของสมเด็จพระสังฆราชแพนั้น
ในฐานะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง
ในขณะที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการจัดระเบียบการคณะสงฆ์ให้เข้าสู่รูปสมัยใหม่
ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ดังกล่าวแล้วพอสรุปได้ดังนี้

๑. เสด็จเปิดประชุมสมัยสามัญแห่งสังฆสภา
ที่เปิดครั้งแรกเมื่อวันวิสาขบูชาที่ ๒๙ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๘๕
และได้ทรงตั้งพระมหาเถระในสังฆสภาให้ดำรงตำแหน่งตาม
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยครบถ้วน เพื่อบริหารศาสนกิจต่อไปฯ

๒. ประกาศตั้งเจ้าหน้าที่พิมพ์พระไตรปิฎกสยามรัฐ
เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ฯ

๓. ประกาศเรื่องการโอนวัดมหานิกายเป็นวัดธรรมยุติฯ

๔. เลิกระเบียบการบำรุงการศึกษาปริยัติธรรม โดยจัดเป็นหมวดๆ
และมีรายละเอียดต่างๆ แต่ละหมวดเพื่อเป็นหลักการปฏิบัติฯ

พระอัธยาศัยของพระองค์ท่านนั้น ละมุนละม่อมอ่อนโยนเสวนาสนิทสนมกับคนทุกชั้น
มิได้ถือพระองค์ แม้ว่าจะได้ทรงมีตำแหน่งสูงสุดในทางฝ่ายพุทธจักรก็ตาม
จึงทรงเป็นที่นิยมรักใคร่ของคนทั่วไปทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ และบรรพชิต

ทรงเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจ มีความสม่ำเสมออยู่เป็นนิจ
ทรงดำรัสแต่น้อยคำและตรงไปตรงมา แต่มีความหมายลึกซึ้งและแจ้งชัด
ทรงมีพระเมตตาคุณเป็นที่ตั้งและใฝ่ในทางสันติ
เมื่อมีวิวาทาธิกรณ์เกิดขึ้นทรงหยั่งเอาด้วยเหตุและผลรักษาความเที่ยงธรรม
ไม่โอนเอียงและพร้อมที่จะทรงอภัยให้ทุกเมื่อ
ทรงตรัสสิ่งใดออกไปแล้วย่อมเที่ยงตรง รังเกียจการสู่รู้ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร

กล่าวกันว่า เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
สมัยท่านผู้นำว่าอะไรว่าตามกัน ซึ่งมักจะพัวพันเข้ามาในคณะสงฆ์ด้วย
แม้แต่การแสดงพระธรรมเทศนา ก็จะต้องอยู่ในช่วงที่ทางการจะตั้งหัวข้อ
หรือแนวมาให้แสดง ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะไม่ใช่แสดงธรรมเทศนา
เป็นการแสดงปาฐกถาหรืออะไรทำนองนั้นมากกว่า
หรือไม่ก็ต้องส่งสำเนาเทศนาไปให้ทางการเซ็นเซอร์ ต้องตรวจแก้ไขก่อน

บางครั้งก็มีเสียดสีติเตียนฝ่ายตรงข้าม หรือที่ไม่สบอารมณ์ผู้ใหญ่
และก็เคยมีพระสงฆ์ใหญ่บางองค์ได้ยินยอมเป็นเครื่องมือของนักการเมืองสมัยนั้น
เทศน์ไปตามความต้องการของผู้ยิ่งใหญ่

ครั้งหนึ่งได้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น
ไปแสดงพระธรรมเทศนาทางวิทยุกระจายเสียงของทางราชการ

ระหว่างที่นั่งรถไปกับผู้รับมอบหน้าที่มานิมนต์
และรับนโยบายมาชี้แจงด้วยผู้นั้นได้พร่ำแนะกับพระองค์ท่านไปในรถว่า
ให้เทศน์อย่างนั้นๆ ตามแนวนั้นๆ พระองค์ทรงนิ่งฟังจนจบแล้วกล่าวสั้นๆ ว่า

“นี่มึงเทศน์เองหรือจะให้กูเทศน์”

ทรงตรัสสั้นๆ แต่มีความหมายลึกล้ำ ผู้แนะแนวทางเงียบกริบ
แล้วพระองค์ก็เสด็จไปแสดงตามแนวธรรมของพระองค์
ไม่ใช่แนวที่คนสู่รู้มาอวดสอนและชักจูงไปในทางที่มิชอบด้วยสมณสารูป


ทรงฉายร่วมกับพระภิกษุสามเณรของวัดสุทัศนเทพวราราม
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง


การแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย

การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยนั้น  
ได้มีกระทำกันมาช้านานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ  รัชกาลที่ ๓
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแปลไว้เป็นจำนวนมาก   

ในรัชสมัยต่อๆ มา  การแปลก็ยังคงดำเนินไปเป็นครั้งคราว  
ส่วนใหญ่จะแปลพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกมีน้อย  
สำนวนโวหารในการแปลก็ผิดกันมาก เพราะต่างยุคต่างสมัย

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓  
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงปรารภว่า พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี  
ผู้ใคร่ศึกษาต้องรู้ภาษาบาลีอย่างลึกซึ้ง จึงจะศึกษาได้สมประสงค์
แม้มีผู้รู้แปลสู่ภาษาไทยอยู่บ้าง  
ก็เลือกแปลเฉพาะบางตอน มิได้เป็นการแปลจบทั้งคัมภีร์

หากสามารถแปลจบครบบริบูรณ์
ก็จะเป็นอุปการคุณแก่พุทธบริษัทชาวไทยอย่างใหญ่หลวง  
ในต่างประเทศได้มีนักปราชญ์อุตสาหะแปลบาลีพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
ออกเป็นภาษาของเขาแล้ว  สำหรับฝ่ายมหายานนั้น
ได้มีการแปลพระไตรปิฎกจากฉบับภาษาสันสกฤต
ออกเป็นภาษาของชาวประเทศที่นับถือลัทธิมหายานมาแล้วช้านาน

การที่นักปราชญ์ดังกล่าวจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาของเขา
ก็ด้วยเห็นประโยชน์ที่มหาชนชาวประเทศนั้นๆ
จะพึงได้รับการศึกษาพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ

จึงเป็นการสมควรด้วยประการทั้งปวง  
ที่จะคิดจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยให้ตลอดสาย
จะเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์  
และประเทศไทยให้ปรากฏไปในนานาประเทศ

แต่เนื่องด้วยการนี้เป็นการใหญ่  เกินวิสัยที่เอกชนคนสามัญจะทำให้สำเร็จได้   
จึงขอให้กระทรวงธรรมการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา
ขอพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ   
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  
ให้รับการจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
ถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการนี้  
ให้กรมธรรมการเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคฤหัสถ์ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นสมุดตีพิมพ์
และลงในใบลาน เพื่อเผยแพร่แก่พุทธบริษัทสืบไป

เมื่อได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
รับการจัดแปลพระไตรปิฎกไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
ถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการจัดแปลพระไตรปิฎก
และพระราชทานพระบรมราชานุมัติ
ให้ทรงตั้งพระเถรานุเถระเป็นกรรมการจัดแปลได้ตามสมควรแล้ว  

สมเด็จพระสังฆราชจึงได้ทรงตั้งกรรมการแปลพระไตรปิฏกขึ้นมาคณะหนึ่ง  
ดังมีรายนามปรากฏตามสำเนาประกาศกระทรวงธรรมการ
เรื่องตั้งกรรมการแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาไทย
ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๓ ต่อไปนี้

ประกาศกระทรวงธรรมการ
เรื่องแต่งตั้งกรรมการแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาไทย


ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  
ให้รับการจัดแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการนี้  
พระราชทานพระบรมราชานุมัติให้ทรงแต่งตั้งกรรมการจัดแปลได้ตามสมควร

อาศัยพระบรมราชานุมัตินั้น ในพระนามสมเด็จพระสังฆราช
ประธานพระบัญชาการคณะสงฆ์ฯ ได้กำหนดหน้าที่ในการปฏิบัติงานออกเป็นส่วนฯ
และแต่งตั้งผู้มีรายนามดังต่อไปนี้เป็นกรรมการ คือ

14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการนี้

๑. คณะกรรมาธิการพิจารณาการแปล

๑. พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ) ประธานคณะกรรมการ
๒. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) กรรมาธิการฝ่ายพระวินัย
๓. พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ) กรรมาธิการฝ่ายพระสูตร
๔. พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ช้อย ฐานทตฺโต) กรรมาธิการฝ่ายพระอภิธรรม

๒. กรรมการกองแปล

พระสุธีวรคุณ (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชวาส หัวหน้ากอง

(๑) กรรมการแผนกตรวจสำนวน

๑. พระศรีสุธรรมมุนี (อาจ อาสโภ)   
วัดสุวรรณดาราม พระนครอยุธยา หัวหน้าแผนก
๒. พระปริยัติโสภณ (ฟื้น ชุตินธโร) วัดสามพระยา
๓. พระสุธีวรคุณ (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชวาส
๔. พระมหาทองคำ ป.ธ. ๙ วัดมหาธาตุ
๕. พระมหาวิเชียร ป.ธ.  ๙ วัดมหาธาตุ
๖. พระมหาเกษม ป.ธ.  ๗ วัดมหาธาตุ
๗. พระมหาชอบ ป.ธ. ๖ วัดราษฎร์บำรุง ชลบุรี

(๒) กรรมการแผนกแปลพระวินัย

๑. พระวิสุทธิสมโพธ (เจีย เขมโก)   วัดพระเชตุพน
๒. พระมหาเชื่อม ป.ธ. ๘ วัดพระเชตุพน
๓. พระมหาสง่า ป.ธ.  ๘ วัดพระเชตุพน
๔. พระมหาปุ่น ป.ธ. ๖ วัดพระเชตุพน

(๓) กรรมการแผนกแปลพระสูตร

๑. พระปริยัติโศภน (ฟื้น ชุตินธโร)  วัดสามพระยา หัวหน้าแผนก
๒. พระวินัยกิจโกศล (ตรี จนฺทสโร)  วัดกัลยาณมิตร
๓. พระสุธีวรคุณ (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชาวาส
๔. พระภัทรมุนี (อิ๋น ภัทรมุนี) วัดทองนพคุณ
๕. พระวิเชียรมุนี (พันธ์ จีรวฑฺโฒ) วัดอินทาราม
๖. พระศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์ ยติธโร) วัดสุทัศนเทพวราราม
๗. พระมหาสุรัส ป.ธ. ๙ วัดเบญจมบพิตร
๘. พระมหาปลอด  ป.ธ. ๘ วัดสระเกศ
๙. พระมหาสุด  ป.ธ. ๘ วัดก้าฟ้าล่าง
๑๐. พระมหาเกลี้ยง ป.ธ. ๘ วัดชนะสงคราม
๑๑. พระมหาน้าว ป.ธ. ๘ วัดเบญจมบพิตร
๑๒. พระมหาพุฒ  ป.ธ. ๗ วัดสุทัศนเทพวราราม
๑๓. พระมหาช่วง ป.ธ.  ๗ วัดสุทัศนเทพวราราม
๑๔. พระมหาไสว ป.ธ. ๗ วัดเทพากร

(๔) กรรมการแผนกแปลพระอภิธรรม

๑. พระเมธีวรคณาจารย์ (พาว เมธิโก)  วัดวิเศษการ หัวหน้าแผนก
๒. พระมหาทองคำ  ป.ธ. ๙ วัดมหาธาตุ
๓. พระมหาวิเชียร ป.ธ. ๙   วัดมหาธาตุ
๔. พระมหาถิร ป.ธ. ๘ วัดมหาธาตุ
๕. พระมหาปั่น  ป.ธ. ๘ วัดมหาธาตุ
๖. พระมหาสวัสดิ์  ป.ธ. ๘ วัดมหาธาตุ
๗. พระมหาเกษม ป.ธ. ๗ วัดมหาธาตุ

กรรมการแผนกแปลพระสูตร

๑. พระศรีวิสุทธิโมลี (ฉลาด ปญฺญาทีโป)   วัดเบญจมบพิตร
๒. พระมหาเสถียร ป.ธ. ๙ วัดจักรวรรดิราชาวาส
๓. พระมหากี ป.ธ. ๘ วัดทองนพคุณ

กรรมการแผนกแปลพระอภิธรรม

๑. พระมหาเขียน  ป.ธ. ๙ วัดสุวรรณาราม
๒. พระมหาบุญเลิศ ป.ธ. ๘ วัดมหาธาตุ
๓. พระมหาเกษม ป.ธ. ๗ วัดมหาธาตุ
๔. พระมหาปลั่ง ป.ธ. ๘ วัดมหาธาตุ

กรรมการฝ่ายคฤหัสถ์อุปการะในการตรวจสำนวน

๑. นายสงวน กุลดิลก (ป.ธ. ๗)
๒. นายรัตน์ ปาณะพล ธรรมศาสตรบัณฑิต

ในการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย
คณะกรรมการได้แบ่งการแปลออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑.  แปลโดยอรรถตามความในบาลีพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ  
สำหรับพิมพ์เป็นเล่มสมุด เรียกว่า   “พระไตรปิฎกภาษาไทย”

๒.  แปลโดยสำนวนเทศนา  สำหรับพิมพ์ลงใบลาน เป็นคัมภีร์เทศนา
เรียกว่า   “พระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง”   แบ่งออกเป็น ๑,๒๕๐ กัณฑ์
โดยถือเกณฑ์พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป เมื่อคราวจาตุรงคสันนิบาตในสมัยพุทธกาล
เป็นพระวินัยปิฎก ๑๘๒ กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก ๑,๐๕๔ กัณฑ์   
พระอภิธรรมปิฎก ๑๔ กัณฑ์
พิมพ์ลงใบลานเสร็จเรียบร้อยเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กรรมการฝ่ายคฤหัสถ์  อุปการะในการตรวจสำนวน

๑. นายโชติ ทองประยูร เนติบัณฑิต
๒. นายกมล มลิทอง ธรรมศาสตรบัณฑิต
๓. นายพร มลิทอง ธรรมศาสตรบัณฑิต
๔. นายัญ คงสมจิตต์ (ป.ธ. ๙)

๓. กรรมการกองธุรการ

๑. พระชำนาญอนุศาสน์ อธิบดีกรมศิลปากร
๒. หลวงอาจวิชาสรร     รักษาการในตำแหน่งแลขานุการกรมธรรมการ
๓. นายกมล มลิทอง      ทำการแทนหัวหน้ากองศาสนศึกษา
๔. นายวิชัย  ญสุจินต์    (ป.ธ. ๖) กองศาสนศึกษา
๕. นายทรงวุฒิ วโรภาส  ผู้จัดการโรงพิม์ศาสนศึกษา

ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

สินธุสงครามชัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ


อนึ่ง คณะกรรมการคณะนี้ ได้แบ่งแยกหน้าที่ดำเนินการแปลพระไตรปิฏกโดยลำดับ  
แต่กรรมการบางรูปได้พ้นหน้าที่ไป
และได้มีการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมอีกในเวลาต่อมา


รูปหมู่คณะกรรมการแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์


การพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย

เมื่อคณะกรรมการได้จัดแปลและทำต้นฉบับ
พระไตรปิฏกภาษาไทยฉบับหลวงเสร็จบางส่วน พอจัดพิมพ์ได้  
กรมการศาสนาก็ได้เริ่มจัดพิมพ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นปฐมฤกษ์
เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔  
ได้ปิฎกละเล่ม รวม ๓ เล่ม แล้วจัดพิมพ์ต่อไปอีก  

แต่บังเอิญประจวบกับเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงคราม
วัตถุอุปกรณ์ในการพิมพ์มีราคาแพงมากและหาได้ยาก  
จึงจำเป็นต้องงดการพิมพ์ไว้ชั่วคราว
เวลานี้คณะกรรมการได้จัดแปลและทำต้นฉบับสำหรับพิมพ์ไว้เสร็จแล้ว  
ถ้าวัตถุอุปกรณ์ในการพิมพ์มีราคาพอสมควร
จะได้ดำเนินการพิมพ์ต่อไปอีกโดยลำดับจนจบ
ซึ่งกำหนดไว้ว่า จะพิมพ์เป็นเล่มมีปริมาณถึง ๘๐ เล่ม
ทั้งนี้ต้องแล้วแต่กำลังเงินทุนการแปลพระไตรปิฎก
อันจะพึงได้รับการอุปถัมป์จากท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเป็นสำคัญ

ส่วนพระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง  
คณะกรรมการได้จัดการเรียบเรียงเป็นสำนวนเทศนาตามความในพระบาลี  
แบ่งเป็น ๑,๒๕๐ กัณฑ์ เท่าจำนวนพระอรหันต์พุทธสาวก ๑,๒๕๐ รูป
เมื่อคราวจาตุรงคสันนิบาตรในสมัยพระพุทธกาล คือพระวินัยปิฎก ๑๘๒ กัณฑ์
พระสุตตันปิฎก ๑,๐๕๔ กัณฑ์ พระอภิธรรมปิฎก ๑๔ กัณฑ์

กรมการศาสนาได้จัดพิมพ์ลงในใบลาน
และเดินทองล่องชาดอย่างงดงามถาวร เป็นจำนวนครั้งแรกนี้ ๕๑๕ จบ
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ทรงฉายขณะเสด็จออกจากโบสถ์วัดสุทัศน์ฯ
ในวันที่ทรงเป็นประธานหล่อพระกริ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒



มูลเหตุโดยย่อที่ทรงสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ *  

มูลเหตุที่ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม  
ทรงสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นั้น ทรงเล่าว่า
เมื่อพระองค์ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีสมโพธิ์
ครั้งนั้น สมเด็จพระวันรัต (แดง) พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ยังมีชีวิตอยู่
และครั้งหนึ่งสมเด็จพระวันรัต (แดง) ได้อาพาธเป็นอหิวาตกโรค  

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่น เสด็จมาเยี่ยม  
เมื่อรับสั่งถามถึงอาการของโรคเป็นที่เข้าพระทัยแล้ว รับสั่งว่า

“เคยเห็นกรมพระยาปวเรศฯ เสด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์
อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน  
ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วให้คนไข้เป็นอหิวาตกโรคกินหายเป็นปกติ  
พระองค์จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จไปนำพระกริ่งที่วัดบวรนิเวศ  
แต่สมเด็จฯ ทูลว่าพระกริ่งที่กุฎิมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
จึงรับสั่งให้นำมาแล้วอาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน  
ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง)  
เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์แล้วโรคอหิวาต์ก็บรรเทาหายเป็นปกติ”



สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ขณะทรงทำพิธีพุทธาภิเษก
ประกอบพิธีกรรมขั้นตอนการหล่อพระกริ่งฉลองพระชนม์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓
โดยมีพระครูพุทธบาล (วิเชียร) อุ้มบาตรน้ำพุทธมนต์ตามเสด็จ
  


ข้าพเจ้าทูลถามว่า
พระกริ่งที่อาราธนาขอน้ำพระพุทธมนต์นั้นเป็นพระกริ่งสมัยไหน
พระองค์ท่านรับสั่งว่าจำไม่ได้  
เข้าใจว่าเป็นพระกริ่งเก่าหรือไม่ก็คงเป็นพระกริ่ง
ของสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ องค์ใดองค์หนึ่ง

ตั้งแต่นั้นมา  พระองค์ก็เริ่มสนพระทัยในการสร้างพระกริ่งขึ้นเป็นลำดับ  
ทรงค้นหาประวัติการสร้างพระกริ่งและก็ได้เค้าว่า
การสร้างพระกริ่งนี้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว  เริ่มที่ประเทศทิเบตก่อน  
ต่อมาก็ประเทศจีนและประเทศเขมรเป็นลำดับ

* หมายเหตุ : เรื่องเล่าโดย นายนิรันดร์ แดงวิจิตร
อดีตพระครูฐานานุกรมในเจ้าประคุณสมเด็จ (แพ ติสฺสเทวมหาเถร)
ที่พระครูพิศาลสรคุณ, พระครูญาณวิสุทธิ, พระครูวินัยกรณ์โสภณ
เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดในเจ้าประคุณสมเด็จ สนใจและศึกษาในพิธีกรรม
ตลอดจนการช่างฝีมือในการตกแต่งพระกริ่งทีเยี่ยมยอดที่สุดคนหนึ่งปัจจุบัน



พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
ประดิษฐานในพระตำหนัก วัดสุทัศนเทพวราราม

17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
ทรงประชวรพระโรคชรากระเสาะกระแสะอยู่เรื่อยๆ
แต่เพราะพระองค์มีพระทัยเข้มแข็งยิ่งนัก
ประกอบด้วยได้แพทย์ผู้สามารถถวายการพยาบาล
จึงทรงมีพระอาการคงอยู่ได้ตลอดมาจนถึงวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๗
ได้เริ่มประชวรเพราะโรคเดิมอีก แพทย์ได้ถวายการพยาบาลจนสุดความสามารถ
พระอาการโรคได้ทรุดหนักลงทุกวันจนถึงวันที่ ๒๖ เดือนเดียวกัน
ก็ได้เสด็จดับขันธ์สิ้นพระชนม์ลงเมื่อเวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกา
ที่ตำหนักวัดสุทัศน์เทพวราราม สิริพระชนมายุ ๘๙ โดยมีพระพรรษา ๖๖
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๖  ปี กับ ๑๑ วัน

ได้รับพระราชทานน้ำสรงพระศพและโกศพระลองกุดั่นน้อย
ประดับพุ่มและเฟื่อง เครื่องสูง ๕ ชั้น
เครื่องประโคมสังข์แตร จ่าปี่ จ่ากลอง และกลองชนะ
มีพระพิธีธรรมสวดอภิธรรมประจำพระศพและรับพระราชทานฉัน ๑๕ วัน

ประดิษฐานพระศพ ณ พระตำหนักที่สิ้นพระชนม์
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ ในทุกกระทรวงทบวงกรมมีกำหนด ๑๕ วัน
แล้วทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในสัตตวารที่ ๑
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนพระลองกุดั่นน้อยเป็นพระลองกุดั่นใหญ่
และจัดการพระราชทานเพลิงพระศพเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันพุธที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘
ยงกิญจิ สมุททยธมมํ สพพนตํ นิโรธธมมํ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
สิ่งอันใดที่ได้เกิดกำหนดขึ้น จะยั่งยืนค้ำฟ้าก็หาไม่
เกิดมาแล้วย่อมดับลับลงไป เป็นกฎในธรรมดามาช้านานฯ
  


เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต
18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เสาชิงช้ากับวัดสุทัศนเทพวราราม ความงามที่ยืนอยู่คู่กันมานาน


ประวัติและความสำคัญของวัดสุทัศนเทพวราราม

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสุทัศนเทพวราราม
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ฝ่ายมหานิกาย
ตั้งอยู่ ณ แขวงราชบพิธ เขตพระนคร มีชื่อเรียกกันเป็นสามัญหลายชื่อ
ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาทิเช่น ‘วัดพระใหญ่’ ‘วัดพระโต’
ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะพระพุทธรูปสำคัญของวัดคือพระศรีศากยมุนี
หรือ ‘วัดเสาชิงช้า’ ซึ่งเรียกตามสถานที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับเสาชิงช้า
ด้านหน้าเทวสถานของพราหมณ์บริเวณใจกลางพระนคร

วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
รัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๕๐
เพื่อให้เป็นวัดที่สำคัญที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร
ดังมีปรากฏข้อความอยู่ในบันทึกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี

ที่กล่าวว่า มีพระบรมราชโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร
ให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง โดยให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่
ณ เมืองโศกโขไทย ชลอเลื่อนลงมากรุง ประทับท่าสมโภช ๗ วัน ฯลฯ
โดยเริ่มจากการกำหนดพระฤกษ์ขุดรากพระวิหารหลวง
ในวันจันทร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๓๕๐

เมื่อการก่อสร้างพระวิหารหลวงและสร้างฐานชุกชีเสร็จแล้ว
โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี จากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย
มาประดิษฐานบนฐานชุกชีพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม
และพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส”

กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงตั้งพระทัยให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต)
ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย
แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม
จึงเรียกกันว่า วัดพระโต, วัดพระใหญ่ หรือ วัดเสาชิงช้า บ้าง

จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ
และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง
แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ

การก่อสร้างวัดมาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพธาราม”
ปรากฏในจดหมายเหตุว่า “วัดสุทัศนเทพธาราม”
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ลานประทักษิณชั้นล่างรอบพระวิหารหลวงไปจนถึงพระระเบียงคด  


และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหารหลวง พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ
ให้คล้องกันว่า “พระศรีศากยมุนี” , “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์”
และ “พระพุทธเสฏฐมุนี”
ตามลำดับ

และทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม”
หมายถึง สุทัสสนนครบนเขาพระสุเมรุ
ศูนย์กลางของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ประทับของพระอินทร์


อนึ่ง บริเวณที่ตั้งของวัดสุทัศนเทพวรารามนั้น
อยู่เกือบกึ่งกลางของกรุงเทพมหานคร อันเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ
ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาลและศูนย์รวมของสรรพสิ่งที่น่าสนใจ
รูปแบบการก่อสร้างของศาสนาสถานและศาสนวัตถุภายในวัด
มีทั้งคติธรรมปริศนาธรรมสัญลักษณ์ที่ต้องขบคิดตีปัญหาให้เข้าใจ
การวางผัง การก่อสร้างก็ทำอย่างเป็นระบบเป็นระเบียบสวยงาม
ที่เป็นจุดเด่นและศรีสง่าแก่บ้านเมืองเป็นยิ่งนัก


ม้าหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ตั้งอยู่บริเวณมุมฐานประทักษิณพระวิหารหลวง
รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อระลึกถึงม้ากัณฐกะที่นำเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช



ศาสนสถานและศาสนวัตถุอันงดงามล้ำค่า

กล่าวกันว่าในทางสถาปัตยกรรมนั้น วัดสุทัศนเทพวรารามได้รับคำยกย่องว่า
เป็นวัดที่มีการออกแบบ วางแผนผังกลุ่มอาคารและตัวอาคาร
ได้สัดส่วนงดงามที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ และมีศิลปวัตถุมีค่าอยู่มากมาย อาทิ

พระอุโบสถ

เป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ยาวสวยงามที่สุดในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ สำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๓๘๖
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบสถาปัตยกรรมไทย
ขนาดกว้าง ๒๒.๖๐ เมตร ยาว ๗๒.๒๕ เมตร
เป็นอาคารสูงใหญ่มาก มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับหลังคาทั้งหมด ๖๘ ต้น
หลังคา ๔ ชั้น และขั้นลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวเป็นพื้น คั่นกรอบด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง
หน้าบันมุขหน้าและหลังเป็นไม้แกะสลักลายประดับกระจกสี

ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออก
สลักเป็นรูปพระอาทิตย์ประทับนั่งในบุษบกบนราชรถเทียมราชสีห์
มีคติความเชื่อว่า พระอาทิตย์เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่โลกในเวลากลางวัน
พระวรกายเป็นสีแดงสวมเทริดทรงน้ำเต้ากลม
พระหัตถ์ช้ายถือดอกบัวบาน หมายถึงการห้ามอุปัทวอันตรายทั้งปวง
ส่วนพระหัตถ์ขวาถือดอกบัวตูม หมายถึงการอำนวยพร

ด้านหลังหรือด้านทิคตะวันตก
สลักเป็นรูปพระจันทร์ประทับนั่งในบุษบกบนราชรถเทียมม้า
มีคติความเชื่อว่า พระจันทร์เป็นเทพเจ้าผู้ให้แสงสว่างแก่โลกในเวลาตอนกลางคืน
พระวรกายสีขาว สวมเทริดทรงน้ำเต้ากลม พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์
การสลักหน้าบันเป็นรูปพระอาทิตย์และพระจันทร์ หมายถึงว่า
พระอาทิตย์และพระจันทร์เวียนรอบเขาพระสุเมรุคือพระวิหารหลวง

ผนังพระอุโบสถได้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชั้นครู
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นภาพพระพุทธประวัติของพระสมณโคดม
พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒๘ และภาพพระปัจเจกพระพุทธเจ้า
ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดที่พระพิชัยมหามงกุฎ
ที่มีลักษณะค่อนข้างแปลกและงดงามมาก  

โดยรอบพระอุโบสถมี ‘ซุ้มเสมายอดเจดีย์’ ทั้งหมด ๘ ซุ้ม
คือเป็นซุ้มเสมาที่ทำเรือนซุ้มเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยอดซุ้มทำเป็นรูปทรงอย่างเจดีย์
มีใบเสมา ๒ ใบ เรียกว่าเสมาคู่ เป็นหินสลักรูปช้าง ๓ เศียรชูงวง
แต่ละงวงถือ ดอกบัวตูม ๓ ดอก และดอกบัวบาน ๒ ดอก
เกสรดอกบัวบานเป็นรูปสัตว์ เป็นรูปนกนั้น หมายถึงพระอาทิตย์
และเป็นรูปกระต่ายนั้น หมายถึงพระจันทร์
สันนิษฐานว่า หมายถึงรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว
ส่วนดอกบัวตูม ๓ ดอก หมายถึงสร้างโดยรัชกาลที่ ๓ สมัยยังทรงพระชนม์

บนกำแพงแก้วมีเกยทางทิศเหนือ ๔ เกย ทิศใต้ ๔ เกย
ทำด้วยหินอ่อนสีเทา สำหรับใช้ในงานพระราชพิธี
ประทับโปรยทานแก่พสกนิกร เรียกว่า “เกยโปรยทาน”

สำหรับ ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ
บานประตูด้านนอกเป็นภาพจิตรกรรมรูป “ครุฑยุดนาค”

ซึ่งเป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๒
มาจากพระนามเดิมว่า ฉิม และคำว่าวิมานฉิมพลีเป็นที่พำนักของครุฑ
พญาแห่งนก จึงทรงใช้ครุฑเป็นตราประจำพระองค์แทนพระบรมนามาภิไธย

บ้างก็กล่าวว่า ในเวลานั้นรัชกาลที่ ๒ ทรงนิยมเรื่องรามเกียรติ์
และทรงเทียบพระองค์เป็นพระราม (หรือพระนารายณ์อวตาร)
แม้แต่พระราชโอรสยังพระราชทานนามว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ
(ต่อมาคือรัชกาลที่ ๔) ตามชื่อพระมงกุฎในเรื่องนี้
จึงทรงใช้ครุฑซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์ เป็นตราประจำพระองค์
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระพุทธตรีโลกเชษฐ์


พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ : พระประธานในพระอุโบสถ

หล่อขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐ ศอก ๘ นิ้ว ปางมารวิชัย
ประดิษฐานบนฐานชุกชีสูง ปั้นลายปิดทองคำเปลวประดับกระจกสี

เบื้องหน้าพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานในพระอุโบสถ
ประดิษฐาน พระพุทธรูปปูนปั้นลงสีพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแทนพระศรีศาสดา
ที่อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวรวิหาร
สร้างด้วยปูนปั้นลงสี นั่งพนมมือเหมือนกำลังฟังพระบรมโอวาท
จากพระพุทธองค์ชึ่งประทับเป็นประธานอยู่ตรงกลาง
ส่วนขนาดของรูปหล่อพระอสีติมหาสาวกทั้ง ๘๐ องค์นั้น
เป็นขนาดซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดคำนวณขึ้น


พระวิหารหลวง ในยามราตรี


พระวิหารหลวง

ตั้งอยู่แถบเหนือของเขตพุทธาวาส หันหน้าออกสู่ถนนบำรุงเมือง
เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ สำเร็จเรียบร้อยในรัชกาลที่ ๓
ลักษณะรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
โดยถ่ายทอดแบบมาจากพระวิหารวัดมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด ๕ ห้อง กว้าง ๒๓.๘๔ เมตร ยาว ๒๖.๒๕ เมตร
โครงสร้างหลังคาเป็นจั่วมีหลังคาประธาน ๑ ตับ มีชั้นซ้อน (หลังคามุข)
ทางด้านหน้าและด้านหลังข้างละ ๑ ชั้น
และมีหลังคาปีกนกลาดลงจากหลังคาประธานข้างละ ๓ ตับ  

หลังคามุขทางด้านหน้าและด้านหลัง มืหลังคาปีกนกลาดลงข้างละ ๒ ตับ
มีเสารับมุขเป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน ๑๒ ต้น ทั้งสองด้านรวม ๒๔ ต้น
และเสานางเรียงด้านข้าง ด้านละ ๖ ต้น รวมทั้งหมดจึงเป็นเสา ๓๖ ต้น
เสานางเรียงและเสารับมุขหัวเสาเป็นปูนปั้นรูปบัวแวงปิดทองประดับกระจกสี
ชายคามีคันทวย รับเชิงชายหลังคาหัวเสาละ ๒ ตัว ด้านละ ๖ ตัว
รวมทั้งหมด ๔ ด้าน ๒๔ ตัว
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้