ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6091
ตอบกลับ: 28
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๑๒ : สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)

[คัดลอกลิงก์]


พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พุทธศักราช ๒๔๘๑-๒๔๘๗


วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
แขวงราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


หัวข้อ

•        พระประวัติในเบื้องต้น
•        ทรงบรรพชา อุปสมบท และการศึกษา
•        สมณศักดิ์
•        ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ๒ ตำแหน่ง
•        ภาระหน้าที่ในการคณะสงฆ์
•        สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
•        การเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์
•        พระกรณียกิจต่างๆ
•        การแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย
o ประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่องแต่งตั้งกรรมการแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาไทย
•        การพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย
•        มูลเหตุโดยย่อที่ทรงสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์
•        พระอวสานกาล
•        ประวัติและความสำคัญของวัดสุทัศนเทพวราราม
o        ศาสนสถานและศาสนวัตถุอันงดงามล้ำค่า
o        พระอุโบสถ
o        พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ : พระประธานในพระอุโบสถ
o        พระวิหารหลวง
o        พระศรีศากยมุนี : พระประธานในพระวิหารหลวง
o        ภาพศิลาสลักศิลปะแบบทวารวดี
o        ศาลาการเปรียญ
o        พระวิหารคด (พระระเบียงคด)
o        ตำหนักสมเด็จ
o        สัตตมหาสถาน
o        พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
มีพระนามเดิมว่า “แพ พงษ์ปาละ” พระนามฉายาว่า “ติสฺสเทโว”
ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๑๘
ตรงกับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๓๙๙
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โยมบิดามีนามว่า   “นุตร์ พงษ์ปาละ” โยมมารดามีนามว่า “อ้น พงษ์ปาละ”
เป็นชาวสวนตำบลบางลำภูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี

มีพี่น้องชายหญิงร่วมมารดาบิดาเดียวกันรวมทั้งหมด ๗ คน คือ

๑. นางคล้าม พงษ์ปาละ
๒. สมเด็จพระสังฆราช (แพ)
๓. หลวงพุทธพันธพิทักษ์ (อยู่)
๔. นางทองคำ พงษ์ปาละ
๕. นางทองสุข พงษ์ปาละ
๖. นายชื่น พงษ์ปาละ
๗. นายใหญ่ พงษ์ปาละ


พระประธานในพระอุโบสถวัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ


ทรงบรรพชา อุปสมบท และการศึกษา

เมื่อพระชนมายุได้ ๗ ขวบ ได้ไปศึกษาอักขระสมัยอยู่ที่ วัดทองนพคุณ
เนื่องจากท่านบิดาเลื่อมใสใน สมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์)
มาตั้งแต่ท่านยังครองวัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ
ครั้นชนมายุได้ ๑๓ ปี จึงพาไปถวายเป็นศิษย์ สมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์)
เมื่อครั้งยังเป็นพระธรรมวโรดม มาอยู่วัดราชบุรณะ ราชวรวิหาร (วัดเลียบ)

ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑
แล้วกลับไปเล่าเรียนอยู่วัดทองนพคุณตามเดิม
ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระอาจารย์โพ วัดเศวตรฉัตร

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อชนมายุได้ ๑๖ ปี สมเด็จวันรัตน (สมบูรณ์)
ให้ไปรับมาอยู่กับท่านที่วัดพระเชตุพน
เพราะ สมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์) ได้มาอยู่ในวัดนั้น
ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับ สมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์) เป็นพื้น

นอกจากนั้นได้ทรงเล่าเรียนกับเสมียนตาสุขบ้าง
พระโหราธิบดี (ชุ่ม) วัดทองนพคุณ บ้าง พระอาจารย์โพ วัดเศวตรฉัตร บ้าง
ได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรกที่พระที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ แต่แปลตกหาได้เป็นเปรียญในปีนั้นไม่
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระวันรัตน (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศน์
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒



และในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ นั้นเอง พระชนมายุครบอุปสมบท
แต่ประจวบกับ สมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์) พระอาจารย์อาพาธ
ต้องอยู่ประจำเพื่อพยาบาล จึงยังมิได้มีโอกาสอุปสมบท
และเมื่อสมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์) ใกล้ถึงมรณภาพนั้น
ท่านแนะนำให้ไปอยู่เป็นศิษย์ สมเด็จพระวันรัตน (แดง สีลวฑฺฒโน)
วัดสุทัศน์
แต่ครั้งยังเป็นพระเทพกวี

ครั้นสมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์) มรณภาพแล้ว
จึงได้ไปถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตน (แดง)
แล้วอุปสมบทที่วัดเศวตรฉัตร อันเป็นวัดใกล้บ้านเกิดและสำนักเรียนเดิม
เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ โดยมี สมเด็จพระวันรัตน (แดง) วัดสุทัศน์
แต่ครั้งยังเป็นพระธรรมวโรดม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระโหราธิบดี (ชุ่ม) วัดทองนพคุณ และ
พระอาจารย์โพ วัดเศวตรฉัตร เป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์
แล้วมาอยู่ที่วัดสุทัศน์กับสมเด็จพระวันรัตน (แดง)

ต่อมา ในตอนนี้ได้เล่าเรียนกับสมเด็จพระวันรัตน (แดง) เป็นพื้น
และได้ไปเรียนกับ สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์
ตั้งแต่เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ บ้าง

เมื่อ สมเด็จพระวันรัตน (แดง) เมื่อครั้งยังเป็นพระเทพกวี
ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมวโรดม
ได้ตั้งให้ท่านเป็นพระครูใบฎีกาในฐานานุกรมตำแหน่งนั้น
แล้วเลื่อนเป็นพระครูวินัยธรโดยลำดับ
ขณะเมื่อทรงเป็นพระครูวินัยธรได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งที่ ๒
ที่พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๒๘ เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกเป็นครั้งที่ ๓
ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แปลได้อีกประโยค ๑ รวมเป็น ๕ ประโยค


เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สมณศักดิ์

ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
ที่ พระศรีสมโพธิ์ ครั้นถึงปีวอก พุทธศักราช ๒๔๓๙
อันเป็นวันในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครบหมื่นวันแห่งการเสวยราชย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม
พระราชทานตาลิปัตรแฉกประดับพลอย และเพิ่มนิตยภัต
ในคราวเดียวกันกับที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระธรรมวโรดม (แสง)
วัดราชบุรณะ ราชวรวิหาร (วัดเลียบ) เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่
ที่ พระเทพโมลี   ดังมีสำเนาประกาศ ความบางตอน ดังนี้

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน พระศรีสมโพธิ์
เป็น พระเทพโมลี ตรีปฎกธรา
มหาธรรมกถึกคณฤศร บวรสังฆราม คามวาสี     
สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง
มีนิตยภัตเดือนละ ๔ ตำลึงกึ่ง  มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๔ รูป
คือ พระครูปลัด ๑ พระครูสังฆวิชิต ๑  พระครูสมุห์ ๑  พระครูใบฎีกา ๑


ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์
เป็นที่ พระธรรมโกศาจารย์ ดังมีสำเนาประกาศ ความบางตอน ดังนี้

อนึ่ง พระราชาคณะที่มีความรอบรู้ พระปริยัติธรรมปรากฏในสังฆมณฑล
สมควรจะเลื่อนอิศริยยศในสมณศักดิ์
และพระสงฆ์ที่ทรงสมณคุณควรจะเป็นพระครูอีกหลายรูป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน  พระเทพโมลี
เป็น พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณนายกตรีปิฏกมุนี
มหาคณาธิบดีสมณิศร บวรสังฆราม คามวาสี  
สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง
มีนิตยภัตเดือนละ ๕ ตำลึง มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๖ รูป
คือ พระครูปลัด มีนิตยภัตรราราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๑
พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑
พระครูสังฆพินัย ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑



เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกศาจารย์


เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
พระราชทานหิรัญบัฎ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมมุนี
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ดังมีสำเนาประกาศ ความบางตอน ดังนี้

ศุภมัสดุ ฯลฯ (ลงวันอาทิตย์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด
วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๓๑)

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริว่าพระธรรมโกศาจารย์เจ้าคณะมณฑลนครไชยศรีเป็นเปรียญ
ทรงพระปริยัติธรรม มีปฏิบัติอันงาม นำให้เกิดความเลื่อมใสของพุทธบริษัททั่วไป
ได้เป็นภารธุระแก่พระศาสนา เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเจ้าอาวาส
ทำนุบำรุงวัดสุทัศนเทพวรารามให้เจริญโดยลำดับมา
บริหารรักษาพระสงฆ์เรียบร้อยดีในฝ่ายปริยัติ
ได้เป็นผู้จัดการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดสุทัศนเทพวราราม
อันเป็นสถานศึกษาใหญ่ตำบลหนึ่ง

เมื่อถึงคราวสอบพระปริยัติธรรมในสนามหลวงได้เป็นกรรมการสอบด้วยรูปหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงหยั่งทราบคุณสมบัติ
ของพระธรรมโกษาจารย์มาตั้งแต่เดิม
จึงได้ทรงยกย่องในตำแหน่งพิเศษ
พระราชทานตาลิปัตรแฉกประดับพลอยให้ถือมีพระเกียรติยศเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ
แต่ครั้งยังเป็นพระศรีสมโพธิ์ เมื่อครั้งจัดคณะสงฆ์ในมณฑลหัวเมือง
ได้ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครไชยศรี
ก็มีน้ำใจเห็นแก่พระพุทธศาสนา บริหารคณะมณฑลมาด้วยความเรียบร้อยจนทุกวันนี้

ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบันทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เป็นประธานแห่งสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักร
พระธรรมโกศาจารย์ก็ได้เป็นกำลังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอด้วยรูปหนึ่ง
ในการบริหารคณะสงฆ์เมื่อคราวจัดคณะกลางในกรุงเทพฯ
พระธรรมโกศาจารย์ได้รับตำแหน่งในหน้าที่เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะแขวงสำเพ็ง
จัดการปกครองให้เข้าระเบียบเป็นอันดี
พระธรรมโกศาจารย์มีอัธยาศัยเป็นแก่พระพุทธศาสนาเป็นการธุระในกรณียกิจนั้นๆ
โดยลำดับมาฉะนี้ในเวลานี้มีพรรษายุการจัดว่าเป็นผู้ใหญ่
และเป็นหลักอยู่รูปหนึ่งในคณะสงฆ์ สมควรจะสถาปนา พระธรรมโกศาจารย์
เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่เจ้าคณะรอง มีนามจารึกในหิรัญบัฎว่า

พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมมาลังการวิภูษิต
มัชฌิมคณิศร บวรสังฆราม คามวาสี  สังฆนายก เจ้าคณะรองคณะกลาง
สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง   
มีนิตยภัตเดือนละ ๓๒ บาท มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๘ รูป
คือ พระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ
สมบูรณ์สมาจารวัตรมัชฌิมสังฆนายกธุระวาหะ
มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๘ บาท ๑
พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพุทธพากย์ประกาศ ๑
พระครูธรรมสาสน์อุโฆษ ๑ พระครูสังฆบริหาร ๑
พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑



เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์


ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ๒ ตำแหน่ง

ต่อมาถึงปีกุน พุทธศักราช ๒๔๖๖ ได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏเลื่อนสมณศักดิ์
เป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖
ดังมีสำเนาประกาศความบางตอน ดังนี้

อนึ่ง ทรงพระราชดำรห์ว่า พระพรหมมุนีเป็นพระมหาเถระทรงประไตรปิฎกธรรม
แลเปนพูสูตรรัตตัญญุตาธิคุณ กอบด้วยด้วยอุตสาหะวิริยะในสมณปฏิบัติ  
มีศีลจารวัตรเป็นอันงาม นำความเชื่อเลื่อมใสให้เกิดแก่พุทธสาสนิกชนทั่วไป
เป็นปูชนไนยคุรุฐานิยสุตรพุทธมุนีอยู่ในสังฆมณฑลรูปหนึ่ง  
ซึ่งมีความพิสดารอยู่ในประกาศสถาปนาตำแหน่งพระพรหมมุนีนั้นแล้ว  

บัดนี้เจริญด้วยพรรษายุกาล  แลมั่นคงสม่ำเสมอในสัมมาจารีเปนนิจนิรันดร์  
หมั่นเลือกเฟ้าหาสิ่งซึ่งเปนแก่นสารแท้จริงในพระพุทธสาสนา
ด้วยวิจารณญาณมิได้จืดจาง  
เมื่อเห็นว่าเปนทางถูกทางชอบก็ถือเอาเป็นสมสีสีปฏิบัติ อัจฉริยพรหมจารรย์
ควรสักการบูชาและยกย่องฐานันดรศักดิ์  
ให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ เฉลิมพระราชศรัทธา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้สถาปนา พระพรหมมุนี
ไว้ในตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี
มีราชทินนานามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ
นิพัทธนคุณ ศิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก
ตรีปิฎกโกศลวิมลศีลขันธ์สรรพสมณคุณ วิบุลยประสิทธิ์
บวรสังฆราม คามวาสี  อรัญวาสี มหาสังฆนายก
สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง
เจ้าคณะใหญ่ทั้งปวง



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗


ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ได้ทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระวันรัต ดังมีสำเนาประกาศ ความบางตอน ดังนี้  

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๗๒ พรรษาปัจจุบันสมัย
สัปตมสัมพัตสร กุมภาพันธ์มาส จตุรวิงค์สุรทิน จันทรวาร โดยกาลปริเฉก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริว่า ฐานันดรศักดิ์เจ้าคณะใหญ่หนใต้อันเป็นตำแหน่งสำคัญ
ในมหาเถรสมาคมยังว่างอยู่
สมควรจะยกพระมหาเถรเจ้าผู้ถึงพร้อมด้วยสมณคุณขึ้นสถิตในสมณศักดิ์
และสถาปนาสมณฐานันดรเจ้าคณะสงฆ์แทนที่สืบไป

บัดนี้จวนกาลฉัตรมงคลอุดมสมัย ควรจะผดุงอิสริยยศพระมหาเถระไว้ให้บริบูรณ์
โดยอนุกรมตามตำแหน่ง เพื่อจะได้แบ่งภาระช่วยกันประกอบศาสนกิจ
ให้สำเร็จประโยชน์แก่บรรพชิตแลคฤหัสถ์ตามสามารถ

ทรงพระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี
ประกอบด้วยคุณธรรมอันโกศลวิมลปฏิภาณญาณปรีชา ดำเนิรในสัมมาปฏิบัติ
ทรงสมณคุณพหุลกิจปรหิตจรรยา แจ้งอยู่ในประกาศสถาปนา
เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี เมื่อพระพุทธศาสนายุกาล ๒๔๖๖ พรรษานั้นแล้ว

บัดนี้ก็เจริญด้วยชนมายุกาลรัตตัญญุภาพเป็นผู้ทราบประจักษ์แจ้ง
ในธรรมเนียมประเพณีพิธีสงฆ์ทั้งปวงแต่กาลนาน
มีพรหมจริยาวัตรศีลสมาจารย์เรียบร้อยสมบูรณ์บริสุทธิ์
ควรนับเป็นสุตพุทธมุนีศาสนาภิรัต มีอัธยาศัยหนักน้อมไปในทางพระพุทธศาสนา
ยั่งยืนอยู่ในจารีตสมณวงศ์ เป็นหลักเป็นประธานสงฆ์คณะมหานิกายในปัจจุบัน
ยากที่จะมีผู้เสมอเหมือนทั้งตั้งอยู่ตำแหน่งพระราชาคณะมานานถึง ๔๐ ปี
สถิตในมหาเถระธรรมราศีเป็นครุภาวนียสถานแห่งสงฆ์อันพิเศษ
เป็นเหตุให้ถึงอปริหานิยธรรม สมควรเป็นทักษิณมหาคณิศวราจารย์ราชาคณะผู้ใหญ่
ที่อิสริยยศยิ่งกว่าสมณนิกรคามวาสีและอรัญวาสีหนใต้ทั้งปวง

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาท
ดำรัสสั่งให้สถาปนา สมเด็จพระพุฒาจารย์
เป็นสมเด็จพระราชาคณะทักษิณศวราธิบดี
มีพระราชทินนามจารึก ในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระวันรัต ปริยัติพิพัฒนพงศ์ วิสุทธิสงฆปรินายก ตรีปิฎกโกศล
วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาทักษิณคณิศร บวรสังฆราม คามวาสี อรัญวาสี
สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง  
เจ้าคณะใหญ่หนใต้
มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๑๐ รูป  
คือ พระครูปลัดสัมพิพัฒนสุตาจารย์ ญาณโกศลสกลคณินทร
ทักษิณสังฆนายก ปิฏกธรรมรักขิต ๑ พระครูวินัยธร ๑  
พระครูธรรมธร ๑ พระครูพรหมศร พระครูคู่สวด ๑
พระครูอมรศัพท์ พระครูคู่สวด ๑ พระครูธรรมคุต ๑  
พระครูพุทธบาล ๑ พระครูสังฆกิจจารักษ์ ๑  
พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑



สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต



ภาระหน้าที่ในการคณะสงฆ์

ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)  ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ขึ้น
ตามพระราชดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เพื่อจัดการปกครองคณะสงฆ์ให้เรียบร้อย โดยจัดการปกครองเป็น ๔ คณะใหญ่
คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะธรรมยุต
มีเจ้าคณะปกครองลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ
คือ เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง  
โดยมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรสูงสุดทางการปกครอง
เป็นการอนุวัตรตามการปกครองฝ่ายบ้านเมือง

เจ้าประคุณสมเด็จฯ หลังจากที่ได้รับพระสุพรรณบัฏเป็น สมเด็จพระวันรัต
เจ้าคณะใหญ่หนใต้ แต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ มานั้น ก็ได้ทรงปกครองคณะสงฆ์
ให้เจริญเรียบร้อยก้าวหน้ามาโดยลำดับ มิได้ระส่ำระสาย เป็นไปในทางวิวัฒนาการ
ผู้อยู่ในบังคับบัญชาก็ได้รับความสุขสำราญชื่นชมยินดี
ความติดขัดแม้จะมีก็ทรงระงับได้ด้วยความสุขุมปรีชา
เป็นที่พำนักปรึกษาของเจ้าคณะซึ่งมีข้อความข้องใจในการบริหาร
ชี้แจงนโยบายการบริบาลคณะสงฆ์ โดยสันติวิธีเป็นที่นิยมยินดีของพุทธบริษัททั่วไป

การปกครองคณะสงฆ์ร่วมในจังหวัดพระนครนั้นเล่า
ตั้งแต่แรกเริ่มจัดระเบียบเข้าสู่ระบอบใหม่ในทำนองการคณะแขวง
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงดำรงตำแหน่งแต่เดิมมา
ครั้งก่อนเรียกว่าแขวงสำเพ็ง ครั้งยุคต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นแขวงคณะนอก
จังหวัดพระนคร ประจวบกันในคราวที่ฝ่ายอาณาจักรโอนอำเภอพระโขนง
มาขึ้นจังหวัดพระนครพอดี ในคราวที่ฝ่ายอาณาจักรยุบฐานะจังหวัดมีนบุรี
อำเภอต่างๆ ในจังหวัดนั้น คืออำเภอมีนบุรี อำเภอบางกะปิ อำเภอลาดกระบัง
อำเภอหนองจอก ก็โอนมาขึ้นในจังหวัดพระนคร
การคณะสงฆ์ในอำเภอนั้นๆ ทั้งหมดก็โอนมาขึ้นกับคณะแขวงนอก จังหวัดพระนคร
จึงต้องเพิ่มภาระในการปกครองขึ้นอีกมาก
กระนั้นก็ทรงสู้บั่นบากควบคุมการคณะให้เรียบร้อยเจริญดีเป็นลำดับมา

ในด้านการศึกษา ก็ทรงได้แนะนำปลูกภิกษุสามเณรให้เกิดอุตสาหะในการเรียนการสอน
เพื่อการศึกษาแพร่หลายดี จึงได้ขอให้ทางการเปิดสถานที่ทำการสอบความรู้นักธรรมขึ้น
เป็นประจำ ในอำเภอนั้นๆ จนเป็นปึกแผ่นถาวรมาจนถึงยุคนี้ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๙
เมื่อตำแหน่งปลัดแขวงในพระนครว่างลง
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
จึงได้ทรงมีพระบัญชาให้ย้ายท่านเข้ามาเป็นปลัดแขวงในพระนคร
และท่านก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อยตลอดมา

ในส่วนพระปริยัติธรรมนั้น พระองค์ท่านได้รับหน้าที่เป็นแม่กองสนามหลวงฝ่ายบาลี
ทำการสอบความรู้พระปริยัติธรรมพระภิกษุสมเณรในพระราชอาณาจักร
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๔ รวม ๔ ศกการ

ในส่วนมหาเถรสมาคมนั้น ก็ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการด้วยรูปหนึ่งตั้งแต่เดิมมา
ได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ในฐานแห่งกรรมการเป็นอันดีเสมอต้นเสมอปลาย
มิได้บกพร่องอุดมคติเป็นไปในทำนองเยภุยยสิกาวาท มุ่งหมายเป็นสำคัญก็คือ
ถือมติส่วนรวมโดยสมานฉันท์มีใจมั่นอยู่ด้วยสามัคคี
เพราะยึดอุดมคติเช่นนี้จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นที่เคารพในมหาเถรสมาคม

กอปรกับพระองค์ท่านทรงสมบูรณ์ด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิเป็นที่สุดในมหาเถรสมาคม
จึงทรงเป็นที่นิยมนับถือในฐานะเป็นประมุขสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

และในคณะมหานิกายนั้น เมื่อเกิดมีอุปสรรคอันใดเข้ามาขัดขวาง
ก็ได้อาศัยพระองค์เป็นหลักที่ปรึกษาหาทางที่จะหลีกลัดเข้าสู่สันติวิธีโดยมิได้ท้อถอย
และเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ทั้งๆ ที่ทรงพระชราภาพมากแล้ว
หากจะปลีกพระองค์ออกใฝ่สุขแห่งความสงบเฉพาะพระองค์แล้ว
ก็จะเป็นเอกีภาวสุขได้อย่างสมบูรณ์แห่งจิตใจและสังขาร

แต่พระองค์หาได้คิดเช่นนั้น
ด้วยทรงเห็นแก่พระศาสนาและความร่มเย็นของผู้ปฏิบัติธรรม
อันยึดพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นสรณะ
และเพื่อยืนยาวมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาอันเป็นหลักของประชาชนชาวไทยทั้งมวล
มิได้ทรงถือความชราภาพมาเป็นสิ่งกีดขวางการพระศาสนา ปฏิปทา
และคุณูปการของท่านที่ทรงเพียบพร้อมด้วยศาสนกิจดังกล่าวมาแล้ว
จึงเป็นมูลัฏฐาปนีย์ที่เด่นเป็นมิ่งขวัญของคณะสงฆ์ทั่วไป
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (แถวหน้า องค์ที่ ๓ จากซ้าย)
และสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต



ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (แถวหน้า องค์ที่ ๔ จากซ้าย)
และสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต


9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) พร้อมเครื่องประกอบสมณศักดิ์


สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
วัดราชบพิธ สิ้นพระชนม์ ประจวบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
รัชกาลที่ ๘ จะเสด็จนิวัตจากยุโรปสู่พระนคร จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  
ให้สถาปนาสมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเทโว) ขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระราชทานตาลิปัตรแฉกประจำตำแหน่ง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

ประกาศสถาปนาสมเด็จพระวันรัตขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

โดยที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ซึ่งดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีสงฆ์ สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว
เป็นการสมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้นสนองพระองค์ต่อไป
และโดยที่สมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศนเทพวราราม เจ้าคณะใหญ่หนใต้
มีคุณูปการในทางศาสนกิจ สมควรจะดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จึงให้ประกาศสถาปนาสมเด็จพระวันรัตขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดี สงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรสืบไป

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พ.อ. พหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี



พัดตราประจำพระองค์
สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)



ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะต่อประมุขสงฆ์ มีองค์พระสังฆราชเป็นประธาน

ครั้นถึงสมัยมงคลกาลเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒
จึงเป็นพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ดังมีคำประกาศต่อไปนี้

ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)

อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน


โดยที่เห็นว่าสมเด็จพระสังฆราช ทรงสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมเอนกประการ
อาทิ เจริญพรรษายุกาลรัตนมหาเถรธรรม สุขุมคัมภีรญาณปรีชาสามารถ
ถึงพร้อมด้วยสมณคุณพรหมจริยวัตรศีลสมาจารบริสุทธิ์
ประกอบพุทธศาสนกิจ เป็นหิตานุหิต ประโยชน์อันไพศาลแก่พุทธบริษัท
มีคุณสมบัติเป็นเอนกนัย ดังปรากฏเกียรติคุณตามประกาศสถาปนา
เป็นสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒ แล้วนั้น

ครั้นต่อมาก็ยิ่งเจริญด้วยอุสาหวิริยาธิคุณสามารถประกอบการศาสนกิจ
ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา ได้รับภาระปกครองคณะสงฆ์
โดยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวง นอก จังหวัดพระนคร และปลัดคณะแขวงใน
จังหวัดพระนคร บริหารคณะสงฆ์ในการปกครองโดยเรียบร้อยวิวัฒนาการ
ทั้งในการศึกษาและพระปริยัติธรรมก็ได้จัดการให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นถาวร
ด้วยสุขุมปรีชาญาณ มีนโยบายการบริหารด้วยสันติวิธี
เป็นที่นิยมยินดีของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการในมหาเถรสมาคม
ก็ปฏิบัติการในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี มิบกพร่อง
โดยอุดมคติเป็นไปในทำนองเยภุยยสิกา เป็นที่เคารพในมหาเถรสมาคม
ประกอบทั้งสมบูรณ์ด้วยวัยวุฒิคุณวุฒิเป็นที่สุดในมหาเถรสมาคม
จึงเป็นที่นิยมชมชื่นทั้งในฐานที่เป็นพระมหาเถระ
และเป็นประมุขสงฆ์คณะมหานิกาย
ด้วยคุณูปการในทางศาสนกิจอันยิ่งใหญ่เช่นนี้
จึงได้ประกาศสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีสงฆมลฑลทั่วราชอาณาจักร
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ในรัชกาลปัจจุบัน

เมื่อประกอบพระราชพิธีถวายพระองค์เป็นพุทธมามกะ
ก็ได้ทรงเป็นพุทธมามกาจารย์  และถวายโอวาท
เป็นเครื่องเจริญพระราชศรัทธาประสาทเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
บัดนี้จวนมงคลสมัยเฉลิมพระชนพรรษา
สมควรสถาปนาสมณฐานันดรศักดิ์
ให้เต็มตามราชประเพณีเป็นปรากฏเกียรติยศคุณสืบไป

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
จึงให้เฉลิมพระนามสมเด็จพระสังฆราช ตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสุขุมธานธำรง สกลสังฆปรินายก
ตรีปิฎกกลากุศโลภาศ อานันทมหาราชพุทธมามกาจารย์ ติสฺสเทวา
ภิธานสังฆวิสสุต ปาวจนุตตมโศภณ วิมลศีลสมาจารวัตร
พุทธศาสนิกบริษัทคาราวสถาน วิจิตรปฏิภาณ พัฒนคุณ
อดุลคัมภีรญาณสุมทร บวรสังฆราม คามวาสี  
เสด็จสถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง

มีฐานานุศักดิ์ควรทรงตั้งฐานานุกรมได้ ๑๕ รูป คือ
พระครูมหาคณานุสิชฌน์ สังฆอิสริยาลังการ วิจารณโกศล
วิมลสังฆนายก ปิฏกธรรมรักขิต พระครูปลัดขวา ๑
พระครูจุลคณานุสาสน์ วิจารโณถาศภาคยคุณ สุนทรสังฆมนุคุตติ
วิสุทธิสังฆนายก ปิฏกธรรมรักขิต พระครูปลัดซ้าย ๑
พระครูธรรมกถาสุนทร ๑
พระครูวินัยกรณ์โสภณ ๑
พระครูพรหมวิหาร พระครูปริตร ๑
พระครูญาณวิสุทธิ์ พระครูปริตร ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูธรรมธร ๑
พระครูวิมลสรภาณ พระครูคู่สวด ๑
พระครูพิศาลสรคุณ พระครูคู่สวด ๑
พระครูบุลบรรณวัตร ๑
พระครูสังฆบริการ ๑
พระครูสมุห์ ๑
พระครูใบฎีกา ๑

ขออาราธนาพระคุณผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดร
เพิ่มอิศริยยศในครั้งนี้จงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์
และอนุเคราะห์พระภิกษุ สามเณร ในคณะและในพระอาราม
ตามสมควรแก่กำลังและอิศริยยศที่พระราชทานนี้

และขอจง เจริญ อายุ วรรณะ สุขะ พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิจิรัฏฐิติวิรุฬหิ
ไพบูลย์ในรพะพุทธศาสนาเทอญฯ

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม  นายกรัฐมนตรี



พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม


เจ้าพนักงานได้เชิญพระสุพรรณบัฏไปส่งที่วัดสุทัศนเทพวราราม
เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เวลา ๑๔ นาฬิกา กับ ๑๔ นาที
มีพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พร้อมกับยกเศวตรฉัตร
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระสุพรรณบัฎในวันนั้น เวลา ๑๗ นาฬิกา
พระสงฆ์ ๑๐ รูปเจริญพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ

รุ่งขึ้น วันที่ ๒๙ กันยายน เวลา ๑๑ นาฬิกา
พระสังฆ์รับพระราชทานฉันอาหารบิณฑบาต
แล้วเจ้าพนักงานตั้งบายศรีและแว่นเวียนเทียน
สมโภชพระสุพรรณบัฎแล้วเป็นเสร็จการ

จำเดิมแต่พระองค์ได้ดำรงดำแหน่งสกลกสังฆปรินายกสืบสนองพระองค์
จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  
วัดราชบพิธ เป็นต้นมา แม้จะทรงพระชราภาพมากแล้วก็ตาม
ก็ได้ยังความเจริญร่มเย็นเป็นสุข ให้บังเกิดแก่สงฆมณฑลเป็นเอนกประการ

โดยที่ทรงพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีภาพในศาสโนบายวิธี
เมื่อทรงเห็นว่าจะไม่สามารถปกครองสังฆมณฑลให้สัมฤทธิผลได้ดังพระราชประสงค์
จึงทรงพระกรุณาตั้งคณะบัญชาการคณะสงฆ์แทนพระองค์ขึ้นคณะหนึ่ง
เพื่อดำเนินศาสนากิจให้ลุล่วงไป ด้วยความสวัสดีตลอดมา
จวบจนเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔
รัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ออกใช้เป็นกฎหมาย
เพื่อประสานนโยบายฝ่ายพุทธจักรกับอาณาจักรให้อนุรูปกัน
ในฐานแห่งพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายกในระบอบใหม่นี้

จึงมีพระบัญชาให้เปิดประชุมสมัยสามัญแห่งสังฆสภาขึ้น
และได้เสด็จไปเปิดปฐมฤกษ์เมื่อวันวิสาขบุรณมี
วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕
และได้ทรงแต่งตั้งพระมหาเถรานุเถระในสังฆสภาให้ดำรงตำแหน่ง
ตามบทแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
โดยครบถ้วน เพื่อบริหารศาสนกิจให้วัฒนาถาวรสืบไป
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้