ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๑๒ : สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ซุ้มบานประตูพระวิหารหลวง


แนวฝาผนังด้านนอก มีเสานางแนบด้านละ ๖ ต้น
มีบัวหัวเสาเช่นเดียวกับเสานางเรียงหน้าบันพระวิหารหลวงมี ๒ ชั้น
คือ หน้าบันจั่วหลังคาประธาน เป็นไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก
เป็นลายกระหนกเครือวัลย์ออกช่อเทพนม ตรงกลางเป็นกรอบซุ้ม
ภายในกรอบซุ้มมีรูปพระอินทร์ประทับอยู่ในเวชยันตรวิมาน
ประดิษฐานอยู่เหนือกระพองช้างเอราวัณ

หน้าบันมุขมีรูปแบบคล้ายหน้าบันจั่วประธาน
แต่ตรงกลางหน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
ในกรอบชุ้มด้านหน้าและด้านหลังของพระวิหาร
มีประตูทางเข้าด้านละ ๓ ช่อง ด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง
ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างเป็นชุ้มบันแถลงที่ช้อนกัน ๒ ชั้น
เป็นปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสี

บานประตูพระวิหารหลวงเป็นไม้แผ่นเดียวงดงามตลอดทั้งแผ่น
ขนาดกว้าง ๑.๓๐ เมตร สูง ๕.๖๔ เมตร  หนา ๐.๑๖ เมตร
จำหลักลายต้นพฤกษาที่สลักลึกมีกิ่งก้านเกาะเกี่ยวซ้อนกันอย่างงดงาม
เป็นศิลปกรรมฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ที่ทรงกำหนดลักษณะลายแบบวิธีแกะสลัก และทรงเริ่มจำหลักด้วยพระองค์เอง
บานประตูนี้เป็นของเดิมที่ถูกไฟไหม้เสียหายไปส่วนหนึ่ง
ปัจจุบันบานประตูนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ส่วนลายหน้าต่างเดิมเป็นลวดลายจำหลักรูปแก้วชิงดวงปิดทองประดับกระจกสี
ได้รับการแก้ไขในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โดยทำเป็นลวดลายปูนน้ำมันปั้นปิดทองคำเปลว
รูปต้นไม้เขามอและสัตว์ป่าปิดลายแก้วชิงดวง

ผนังด้านในของพระวิหารหลวงเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง
เรื่องอดีตพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ มีศิลาจารึกกล่าวถึงประวัติของ
พระพุทธเจ้าองค์นั้นๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ ส่วนจิตรกรรมที่เสา ๘ ต้น
เป็นภาพเรื่อง ไตรภูมิโลกยสันฐาน มีศิลาจารึกกำกับไว้ทุกต้น
ภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ถือว่างดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เสาพระวิหารหลวงต้นหนึ่ง
เป็นภาพพระอินทร์และหมู่บริวารกลายเป็นอสูรเพราะไปเสพย์สุรา
จึงถูกมาคมานพกับสหาย ๓๒ คนจับพระอินทร์พร้อมบริวาร
ทุ่มลงมายังอสูรพิภพ กลายเป็นอสูร
ส่วนมาคเทวบุตรได้เสวยทิพย์สมบัติในสุทัสสนนครแทน

ฐานประทักษิณ (ฐานไพที) ล้อมพระวิหารหลวงมี ๓ ชั้น คือ
ชั้นบนสุดเริ่มจากฐานปัทม์ของพระวิหารหลวงถึงแนวเสานางเรียง
ฐานประทักษิณชั้นต่อมาเป็นที่ตั้งของถะ (สถูปเจดีย์หิน)
ซึ่งเป็นเครื่องศิลาจีนรายรอบพระวิหารหลวงทั้ง ๔ ด้าน จำนวน ๒๘ ถะ
หมายถึง อดีตพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสรู้ในโลกนี้ ๒๘ พระองค์
ต่อลงมาเป็นลานประทักษิณชั้นล่างที่กว้างที่สุดไปจนถึงพระระเบียงคด
ฐานประทักษิณ (ฐานไพที) แต่ละชั้นจะมีพนักกั้น
มีช่องซุ้มสำหรับตามประทีปตลอดแนวพนักกั้นทุกชั้น
ในเวลามีงานนักขัตฤกษ์ หรือการเฉลิมฉลองตอนกลางคืน
จะตามประทีปเทียนไฟตลอดแนวช่องพนักกั้นพระวิหารหลวง
จะเป็นภาพที่วิจิตรแปลกตาอีกแบบหนึ่ง  

22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระศรีศากยมุนี


พระศรีศากยมุนี : พระประธานในพระวิหารหลวง

นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดที่ใหญ่กว่าพระพุทธรูปหล่อองค์อื่นๆ
ชึ่งปรากฏในประเทศไทย ในยุคก่อน ๒๕ พุทธศตวรรษ
เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย
มีพระพุทธลักษณะงดงาม สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย
ขนาดหน้าตักกว้าง ๖.๒๕ เมตร (หรือ ๓ วา ๑ คืบ)

มีศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวอ้างถึงว่า พระมหาธรรมราชาลิไท
กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๑๙ ปีครองราชย์) แห่งกรุงสุโขทัย
โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้น และทำการฉลองในปีพุทธศักราช ๑๙๑๔

ข้อความในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงเป็นหลักฐานของข้อสันนิษฐาน
ที่ว่าพระศรีศากยมุนีสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ตอนหนึ่งมีว่า
“...กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป
มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม...”
ซึ่งหมายถึงพระศรีศากยมุนีในวัดมหาธาตุซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเดิมนั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงเห็นว่าถ้าทิ้งไว้ที่เดิมก็จะต้องตากแดด ตากฝน ทำให้ชำรุด
จึงให้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ โดยทรงมีพระราชดำริจะสร้างพระอาราม
ที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยประดิษฐานไว้กลางพระนคร เมื่อชลอพระศรีศากยมุนีมาถึงกรุงเทพฯ
แล้วให้ประทับท่าสมโภช ๗ วัน แล้วจึงทรงชักเลื่อนองค์พระทางสถลมารค
และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินตามขบวนแห่พระ
ในรัชสมัยของพระองค์ทำได้เพียงอัญเชิญองค์พระขึ้นตั้งไว้
ตัวพระวิหารได้ลงมือสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


พระศรีศากยมุนีองค์จำลอง ด้านหน้าประตูทางเข้าพระวิหารหลวง
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระพุทธลักษณะพระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ
พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าปางมารวิชัย และพระหัตถ์ช้ายหงายวางบนพระเพลา
ครองจีวรห่มเฉียงชายสังฆาฏิยาวลงมาถึงระดับพระนาภี
มีปลายเป็นสองแฉกเขี้ยวตะขาบ ลักษณะพระองค์ค่อนข้างสั้น
บั้นพระองค์เล็ก พระอังสาใหญ่ หัวพระถันโปน
ลักษณะพระพักตร์และพระเศียรที่ปรากฏ

คือพระรัศมีเป็นเปลวสูงตั้งอยู่บนพระอุษณีษะ
รูปมะนาวตัด เส้นพระศกขมวดเล็กแบบก้นหอย
พระพักตร์รูปไข่เกือบกลม พระขนงโก่งแยกออกจากกัน
ระหว่างพระขนงมีพระอุณาโลมคั่นอยู่
พระนาสิกงุ้มพระโอฐอมยิ้มเล็กน้อย พระหนุกลม

พระศรีศากยมุนีประดิษฐานบนฐานชุกชีแบบฐานลายแข้งสิงห์
ตลอดทั้งฐานชุกชีประดับลายปูนปั้น เป็นลายดอก ลายเถา ลายเทศ
ปิดทองคำเปลวประดับกระจกสีทั้งหลัง

ตรงใต้ฐานพระศรีศากยมุนีที่ผ้าทิพย์ได้บรรจุ พระบรมราชสรีรางคาร
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘

ส่วนด้านหลังบัลลังก์พระศรีศากยมุนีมีแผ่นศิลาสลัก เป็นศิลปะแบบทวารวดี
เป็นรูปสลักปิดทอง ปางยมกปาฏิหาริย์ และปางประทานเทศนาในสวรรค์
เป็นของเก่าและหาดูได้ยาก กล่าวได้ว่าเป็นงานศิลปะที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก

พระราชวิจิตรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม กล่าวว่า
“พระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดที่ใหญ่ที่สุดในสมัยสุโขทัย
มีความงามอย่างน่าอัศจรรย์ ต่อเมื่อผู้ใดมีความทุกข์ใจ
หากได้กราบไหว้ และมองพระพักตร์แล้ว
ความทุกข์ของคนนั้นจะปลาสนาการสิ้นไป เกิดเป็นความสุขอย่างน่าอัศจรรย์
ข้อนี้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเอง”


ถะ (สถูปเจดีย์หิน) รอบพระวิหารหลวงทั้ง ๔ ด้าน  
24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

‘ภาพศิลาสลัก’ ด้านหลังฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี ในกรอบลายใบเทศ  


ภาพศิลาสลักศิลปะแบบทวารวดี

ภาพศิลาสลัก ติดประดับอยู่ ด้านหลังฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี
(หรือด้านหลังบัลลังก์พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง)
เป็นภาพสลักนูนต่ำปิดทอง ขนาดสูง ๒.๔๐ เมตร กว้าง ๐.๙๕ เมตร
อยู่ในกรอบลายใบเทศ ปิดทองประดับกระจกทั้ง ๔ ด้าน
ภาพศิลาสลักแผ่นนี้นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของวัดชิ้นหนึ่ง
มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ศิลปะสมัยทวารวดี
สันนิษฐานว่าอาจย้ายมาจากจังหวัดนครปฐม
การสลักแบ่งภาพพระพุทธประวัติเป็น ๒ ตอน คือปางยมกปาฏิหาริย์
และปางเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ภาพตอนล่างเป็น ภาพพระพุทธประวัติ ปางยมกปาฏิหาริย์
ซึ่งเป็นภาพที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงกลาง
มีพระอินทร์และพระพรหม ยืนถือแส้อยู่ทั้งสองข้าง
ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระพุทธเจ้า มีดอกบัวขนาดใหญ่รองรับ
ดอกบัวนี้ประคองอยู่โดยพระยานาคซึ่งมีร่างกายเป็นมนุษย์
แต่มีเศียร เป็นนาค ๗ เคียรแผ่พังพานอยู่เบื้องหลัง
พระยานาคนี้สมมติว่าอยู่ใต้บาดาลอันเป็นสถานที่
รองรับก้านบัวชึ่งเป็นแกนของมนุษยโลก
ใต้บัลลังก์ด้านหนึ่งของพระองค์มีบรรดาเจ้านาย
ซึ่งเสด็จมาแสดงความชื่นชมในปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์

และอีกด้านหนึ่งก็คือนักบวชที่พ่ายแพ้
นักบวชเหล่านี้ก็คือพวกดาบสเปลือยกายและดาบสเกล้าผมสูง
ชึ่งไม่อาจจะต่อสู้กับอิทธิปาฎิหาริย์ของพระพุทธองค์ได้

เหนือนั้นขื้นไปมีเหล่าเทวดากำลังประนมหัตถ์แสดงคารวะต่อพระพุทธองค์
อยู่ด้วยความเคารพ เบื้องหลังบัลลังค์คือต้นมะม่วงที่เกิดจากปาฏิหาริย์
มีกิ่งก้านรองรับพระพุทธรูปปางต่างๆ
พระพุทธรูปเหล่านี้แสดงปางด้วยพระหัตถ์ขวาหรือพระหัตถ์ซ้าย
เพื่อให้ได้สัดส่วนกันเป็นคู่ๆ

ภาพตอนบนขึ้นไปเป็น ภาพพระพุทธประวัติ
ปางเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ซึ่งเป็นภาพที่พระพุทธเจ้ากำลังประทับบนบัลลังก์ในสวรรค์
มีพระอินทร์และพระพรหม ยืนถือแส้อยู่ทั้งสองข้าง
เบื้องหลังทางด้านขวาของพระพุทธองค์ พระพุทธมารดากำลังประทับอยู่
แวดล้อมด้วยเทวดาองค์อื่นๆ จากสวรรค์ชั้นต่างๆ มาชุมนุมกัน
เพื่อฟังพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแด่พระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์


พระพุทธเสฏฐมุนี
25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญหรือที่โบราณเรียกว่า ศาลาโรงธรรม
สร้างขึ้นเมื่อจุลศักราช ๑๒๑๖ (พ.ศ. ๒๓๙๗) ในสมัยรัชกาลที่ ๓
ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
เป็นศาลาทรงไทยโบราณ มีหลังคา ๒ ชั้น มีเฉลียง ๒ ลด
รอบมุงด้วยกระเบื้องดินเผา หน้าบันปั้นปูนลายดอกไม้
ผนังก่ออิฐถือปูน หน้าบันไดมีสิงโตหินประจำ
รอบศาลาการเปรียญมี ศาลาราย ก่ออิฐถือปูน
หลังคาทรงไทย มีเฉลียงรอบ มุงกระเบื้องดินเผา ๖ หลัง

พระพุทธเสฏฐมุนี : พระประธานในศาลาการเปรียญ

เป็นพระพุทธรูปพระประธานในศาลาการเปรียญ
พุทธลักษณะเป็นศิลปรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย
ขนาดหน้าตัก ๔ ศอก ๔ คืบ ๔ นิ้ว วัสดุทองเหลือง
หล่อในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
เมื่อปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ (พุทธศักราช ๒๓๘๒)

ในยุคสมัยที่สังคมโลกเริ่มตื่นตัวใส่ใจ
กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นปัจจุบัน
การนำวัสดุที่ยังใช้ได้กลับมาใช้อีก
เป็นหนทางหนึ่งที่มีการรณรงค์กันทั่วไปในเมืองไทย
ของเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้วก็มีแนวความคิดในการทำเช่นว่านี้
และปรากฏวัตถุพยานมาจวบจนถึงทุกวันนี้

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีประกาศห้ามสูบฝิ่นและมีการปราบปรามฝิ่นอยู่เนืองๆ
ทรงปราบเรียบตั้งแต่ภาคกลางลงไปจนกระทั่งถึงภาคใต้
ในการปราบปรามครั้งใหญ่ที่สุดคราวหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๒
เป็นการกวาดล้างฝิ่นในภาคใต้ตั้งแต่เมืองปราณบุรีถึงนครศรีธรรมราช
และอีกด้านหนึ่งของฝั่งทะเลคือตะกั่วป่าถึงถลาง
สามารถจับฝิ่นดิบเข้ามาได้ถึง ๓๗๐๐ กว่าหาบ ฝิ่นสุก ๒ หาบ

สำหรับตัวฝิ่นนั้นโปรดฯ ให้เผาทำลายที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์
เหลือแต่กลักฝิ่นซึ่งทำด้วยทองเหลืองอยู่จำนวนมาก
จึงโปรดฯ ให้นำมาหล่อพระพุทธรูปได้พระขนาดหน้าตักถึง ๔ ศอก
นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ วัดสุทัศนเทพวราราม  
ครั้งนั้นพวกขี้ยาได้กลิ่นคงแทบขาดใจตาย
ต่อมารัชกาลที่ ๔ ทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธเสฏฐมุนี”
หรือที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อกลักฝิ่น”

จากบรรจุภัณฑ์ของสิ่งผิดกฎหมายกลายมาเป็นพระพุทธรูป
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดีที่คงอยู่
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชามาเกือบสองร้อยปี
นับว่าเป็นการใช้ประโยชน์วัสดุอย่างคุ้มค่าและยืนยงอย่างแท้จริง


พระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิรอบพระวิหารคดทั้ง ๔
26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระวิหารคด (พระระเบียงคด)

สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ล้อมพระวิหารหลวงทั้ง ๔  ด้าน ความกว้าง ๘๙.๖๐ เมตร ความยาว ๙๘.๘๓ เมตร
ระหว่างกลางพระระเบียงคดแต่ละด้าน มีประตูซุ้มจตุรมุข
หน้าบันลำยองไม้แกะจำหลักลาย ปิดทองประดับกระจกสี
เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ พื้นหลังเป็นลายกนกก้านออกช่อหางโต

บานประตูพระวิหารคดเป็นบานไม้ขนาดใหญ่
มีลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง (ทวารบาล) ยืนบนหลังกิเลน
เชิงบานเป็นภาพสัตว์หิมพานต์ต่างๆ
เช่น นรมฤค กินรี ราชสีห์ คชสีห์ นกหัสดี นกเทศ เหมราช ฯลฯ
ภาพหลังบานประตูเป็นภาพเขียนสีน้ำมันรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์

ด้านนอกเป็นผนังทึบกั้นเป็นกำแพงโดยตลอด
ภายในพระวิหารคดเป็นโถง เสารับจั่วหลังคาเปิดเข้าหาพระวิหาร
ในพระวิหารคดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ๑๕๖ องศ์
ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยบ้างเฉพาะที่มุมของพระวิหารคด

พระพุทธรูปเหล่านี้ประดิษฐานบนฐานชุกชี ปิดทองคำเปลว
ประดับกระจกสีพื้นฝาผนังด้านหลังของพระพุทธรูป
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นเป็นลายดอกไม้ร่วง
หมายถึงดอกมณฑารพหรือดอกมณฑา ดอกไม้ทิพย์แห่งสรวงสวรรค์
ที่ตกมาบูชาเฉพาะพระพุทธเจ้า แทรกภาพดอกไม้ด้วยนก
และสัตว์ปีกบนพื้นแดงคร่ำหรือสีคราม ชุ้มประตูพระวิหารคคทั้ง ๔ ชุ้ม
และมุมพระวิหารคดทั้ง ๔ มุมเป็นหลังคาทรงจตุรมุข
แต่ละจุดจะมีหน้าบัน ๒ ด้าน คือชุ้มประตูจะมีหน้าบันด้านนอกและด้านใน


พระพุทธรูปปางสมาธิรอบพระวิหารคดทั้ง ๔


ส่วนมุมของพระวิหารคดที่มีแนวพุ่งตรงมาชนกันเลยออกไปเป็นรูปกากบาท
มีหน้าบันด้านนอก ๒ บานลายหน้าบันทั้งหมดเป็นรูปเดียวกัน
คือแกะสลักไม้ปิดทอง กลางกรอบแกะเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
พระอินทร์เป็นเทพองค์หนึ่งในบรรดาเทพที่ช่วยปกปักรักษาป้องกันภัย
ประจำทิศทั้ง ๔ เรียกว่า จตุโลกบาล  มีดังนี้ คือ

พระอินทร์    เทพประจำทิศตะวันออก
พระวรุณ      เทพประจำทิศตะวันตก
พระยม         เทพประจำทิคใต้
ท้าวกุเวร       เทพประจำทิศเหนือ

พระอินทร์เป็นเทพที่พิทักษ์รักษาพระพุทธคาสนารักษาคุณงามความดี
ประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ปกครองเมืองสุทัสสนนคร
ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ พระอินทร์มีชื่อเรียกหลายชื่อ
แต่ที่คุ้นเคยกันมาก คือ ท้าวสักกเทวราชพระอินทร์ ท้าวมัฆวาน เป็นต้น

ผิวกายพระอินทร์เป็นสีเขียว มีวัชระและธนูเป็นอาวุธใช้ประหารศัตรู
หรือพวกอสูรที่มาทำลายโลก และมีร่างแหเพื่อเอาไว้ขังศัตรูที่จับมาได้
พระอินทร์มีเทพบริวารองค์หนึ่ง ที่ในเวลาปกติแล้วจะมีร่างเป็นเทพผู้ชาย

แต่ถ้าพระอินทร์จะเสด็จประพาสที่ใดจึงจะแปลงร่างเป็นช้างใหญ่มีสามเศียรเรียกว่า
ช้างเอราวัณ เป็นพาหนะให้ประทับ ศิลาอาสน์ของพระอินทร์มีชื่อเรียกว่า บัณฑุกัมพล
มีความยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๔๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์
ยุบลงเหมือนฟองน้ำขณะประทับนั่งและฟูขึ้นเหมือนเดิมเมื่อลุกขึ้น
แต่ถ้าขณะที่พระอินทร์ประทับอยู่ ศิลาอาสน์ร้อนหรือแข็งกระด้าง
ก็แสดงว่าจะต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ พระอินทร์จะสิ้นอายุ พระอินทร์จะสิ้นบุญ
สัตว์อื่นที่มีอานุภาพกว่าอยู่บริเวณนั้น เพราะเดชแห่งศีลของสมณพราหมณ์
ที่บำเพ็ญตบะเพื่อวัตถุประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือ
มีเหตุการณ์เดือดร้อนเกิดขึ้นในมนุษยโลก ซึ่งพระอินทร์จะต้องเสด็จลงมาแก้ไข
27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ทวารบาลอันสวยงามที่บานประตูพระวิหารคด  


พระนารายณ์หรือพระวิษณุเป็นเทพเทวราชที่ปกป้องคุ้มครองภัยได้ทั้ง ๓ โลก
สามารถปราบยุคเข็นได้ ที่ประทับของพระองค์เรียกว่า ไวกูณฐ์นาถ
อยู่ใต้เกษียรสมุทร เป็นทองทั้งแผ่น มีอาณาเขต แปดหมื่นโยชน์ วิมานเป็นแก้ว
เสาและช่อฟ้าใบระกาเป็นเพชรพลอย ในเวลาปกติพระองค์
จะบรรทมบนบัลลังก์ หลังพญาอนันตนาคราช

ในเวลาเสด็จประพาสที่ใดมีครุฑเป็นพาหนะ พระนารายณ์มี ๔ กร
อาวุธมี ๕ อย่าง คือ สังข์ จักร คฑา ธนู และพระขรรค์
มีสีกายที่เปลี่ยนไปตามความดีและความชั่วของมนุษย์ที่สะท้อนไปหา เช่น

ถ้ามนุษย์ประกอบกรรมดีที่สุดพระองค์มีกายสีขาว
ถ้ามนุษย์มีความดี สามในสี่พระองค์มีกายสีแดง
ถ้ามนุษย์มีความดี สองในสี่พระองค์มีกายสีเหลือง
ถ้ามนุษย์มีความดี หนึ่งในสี่พระองค์มีกายสีดำหรือสีดอกอัญชัน
ในเวลาพระนารายณ์เสด็จไปปราบหมู่มารต่างๆ
พระองค์จะทรงแปลงเพศหรืออวตารเป็นรูปต่างๆ เช่น

มัสยาวตาร       เป็นปลา
กูรมาวตาร       เป็นเต่า
วราหาวตาร      เป็นหมู
นรสิงหาวตาร    เป็นครึ่งคนครึ่งสิงห์
วามนาวตาร      เป็นพราหมณ์วามน
ปรศุรามาวตาร   เป็นปรศุราม
รามจันทราวตาร เป็นพระราม
กฤษณาตาร      เป็นพระกฤษณะ
พุทธาวตาร      เป็นพระพุทธเจ้า
กัลกยาวตาร     เป็นกัลกีในอนาคต


พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ) หลังกลาง


ตำหนักสมเด็จ

อยู่ที่คณะ ๖ ติดกับเขตพุทธาวาสบริเวณพระอุโบสถสร้างเป็นอาคารชั้นเดียว
แต่มีขนาดใหญ่และสูงกว่ากุฏิอื่นๆ ก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม
หลังคามุงกระเบื้อง โครงสร้างภายใน เช่น พื้นเพดาน ประตูหน้าต่างเป็นไม้
ภายในเป็นห้องโถงใหญ่ขนาด ๓ ห้อง ไม่มีผนังกั้น
สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
คราวเดียวกับการสร้างพระอุโบสถ โดยมีหมู่กุฏิล้อมตัวตำหนัก
ด้านทิศตะวันออก ด้านทิศตะวันตก และด้านทิศใต้

ตำหนักสมเด็จนี้มีความสำคัญคือ
เคยเป็นที่ประทับและที่อยู่จำพรรษาของสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะผู้มีชื่อเสียง
จากการกอปรกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ
เป็นอธิบดีสงฆ์ของวัดสุทัศนเทพวนารามมาโดยลำดับ

อนึ่ง ที่วัดสุทัศนเทพวรารามแห่งนี้ยังไม่มีเจดีย์เช่นเดียวกับวัดอื่นๆ
เนื่องจากมี “สัตตมหาสถาน” ซึ่งเป็นอุเทสิกเจดีย์
หรือสถานที่สำคัญ ๗ แห่งที่พระพุทธเจ้าประทับหลังจากตรัสรู้ ประดิษฐานแทน
สถานที่แห่งนี้เคยใช้เป็นที่เวียนเทียนในวันวิสาขบูชาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕
แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปจัดงานรอบพระวิหารหลวงแทน เนื่องจากบริเวณเดิมคับแคบเกินไป


พระอนิมิสเจดีย์

28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สัตตมหาสถาน

เป็นสถานที่เสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้า ๗ แห่ง ก่อนออกเสด็จเผยแผ่ศาสนา
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ประกอบไปด้วย

พระรัตนบัลลังก์ บัลลังก์ใต้ต้นมหาโพธิ์ที่ประทับตรัสรู้
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย แวดล้อมด้วยรูปปั้นหมู่มาร

พระอนิมิสเจดีย์ ที่ประทับรูปเก๋งจีนสำหรับดูต้นมหาโพธิ์
โดยมิได้กะพริบพระเนตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระรัตนจงกรมเจดีย์ สถานที่ที่พระพุทธองค์เสด็จจงกรมบนแผ่นศิลา
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จจงกรม
  
พระรัตนฆรเจดีย์ เรือนแก้วหรือศาลาศิลาสำหรับทรงพิจารณาพระอภิธรรม
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ

พระอชปาลนิโครธ ต้นไทรบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับนั่งยกพระหัตถ์ขวาห้ามธิดาพญามาร

พระมุจลินทพฤษ์ ต้นจิกบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก อีกด้านหนึ่งมีอ่างศิลาจีนปลูกบัว
  
พระราชายตนพฤกษ์ ต้นเกดบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรับผลเสมอ อีกด้านหนึ่งมีศิลาจีนสลักรูปม้าเทียมเกวียน

บริเวณโดยรอบวัดจะมี ตุ๊กตาจีน ที่เคยใช้เป็นอับเฉาเรือในสมัยนั้น
ซึ่งมีให้เห็นหลายแบบทั้งรูปบุคคล ไทย จีน ฝรั่ง เทพเทวดา ทวารบาล
สัตว์ตามธรรมชาติ สัตว์ในหิมพานต์ และสัตว์ตัวละครในวรรณกรรม ฯลฯ
ประดับเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีบอนไซ ต้นไม้ไทยที่หาดูได้ยาก
และต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนา ๗ ชนิด


พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๘


พระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘


ณ ที่วัดแห่งนี้ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
ประดิษฐานไว้บริเวณลานประทักษิณชั้นล่าง
มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระวิหารหลวง

พระบรมรูปหล่อด้วยสำริด ประทับยืน ขนาดเท่าพระองค์จริง
ทรงฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ
แท่นประดิษฐานเป็นหินอ่อนยกแท่นสูงระดับเหนือศีรษะ
โดยตั้งพระบรมรูปและแท่นตั้งพุ่มดอกไม้
ซึ่งหล่อด้วยสำริด อยู่ต่ำลงมาเล็กน้อย

ด้านหน้ามี จารึกแผ่นทองเหลือง
กล่าวถึงกำหนดการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์
เบื้องพระปรัศว์เป็นแผ่นหินอ่อนวงโค้งกั้น เหนือวงโค้งประดิษฐาน
อักษรพระปรมาภิไชย “อปร” ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ
29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 13:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

จารึกแผ่นทองเหลืองด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๘


วัดสุทัศนเทพวรารามนี้ถือเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ ๘
เนื่องจากเมื่อคราวที่พระองค์ท่านได้เสด็จนิวัติพระนครเป็นครั้งแรก
ได้เสด็จมาที่วัดแห่งนี้ และทรงปรารภว่าวัดสุทัศน์นี้ร่มเย็นน่าอยู่
และเมื่อทรงประกอบพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
ทรงเป็นพุทธมามกจารย์และถวายพระโอวาท
อีกทั้ง ยังได้เสด็จมาทำพระสมาธิที่วัดแห่งนี้บ่อยๆ อีกด้วย

ดังนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคตแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
รัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า
ไว้ ณ ผ้าทิพย์ เบื้องหน้าฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี
พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม
ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต


และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ประกอบพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคต
ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
ในวันที่ ๙ มิถุนายนของทุกปี


“ตุ๊กตาจีน” ในบริเวณโดยรอบวัด


    

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หมายเหตุ : โปรดติดตามอ่าน

วัดประจำรัชกาลที่ ๘ : วัดสุทัศนเทพวราราม

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19319

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
วัดสุทัศนเทพวราราม, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
http://www.dharma-gateway.com/
http://www.mahamakuta.inet.co.th/
http://www.mbu.ac.th/
http://www.watsuthat.net/


กระทู้ในบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13695

.......................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20378

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้