ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4818
ตอบกลับ: 23
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๔ : สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)

[คัดลอกลิงก์]


พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
พุทธศักราช ๒๓๖๓-๒๓๖๕


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


หัวข้อ

•        พระประวัติในเบื้องต้น
•        อุบัติคู่พระบารมี
•        ชีวิตเมื่อทรงพระเยาว์
•        ชีวิตในวัยบวชเรียน
•        ความสำคัญของวัดท่าข่อย (วัดท่าหอย)
•        พระปฏิปทาเมื่อครั้งบรรพชาเป็นสามเณร
•        ทรงลาบรรพชา
•        ทรงอุปสมบท
•        พระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง
•        สมเด็จพระญาณสังวรรูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
•        สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
•        พระอวสานกาล
                                                                                       

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 08:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)  


พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เลื่องลือพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์
ทรงพระคุณพิเศษในด้านวิปัสสนาธุระ
จนมีพระฉายานามอันเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ประชาชนว่า “พระสังฆราชไก่เถื่อน”
เพราะทรงสามารถแผ่เมตตาพรหมวิหารธรรมให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู
จุลศักราช ๑๐๙๕ พุทธศักราช ๒๒๗๖ นับวันเดือนปีตามคัมภีร์จันทรคติ
ประสูติเวลาไก่ขัน (ช่วงไก่กำลังอ้าปาก) การนับเวลาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตรงกับวันศุกร์ที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๒๗๖ นับวันเดือนปีตามคัมภีร์สุริยะยาตร์
ภายนอกกำแพงนอกคูเมือง ด้านเหนือของกรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ณ ตำบลบ้านข่อย

ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า

เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย
ริมคลองคูจาม (ในพระราชพงศาวดาร เรียกว่าคลองตะเคียน) ในแขวงรอบกรุงเก่า
มีพระเกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา ผู้คนนับถือมาก
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เนื่องจาก พระองค์ทรงมีพระวรรณะขาวผ่องใส ไปข้างพระชนก
ซึ่งเป็นชาวจีน  พระชนก-ชนนีจึงขนานพระนามให้พระองค์ท่านว่า
“สุก” มีความหมายว่า ขาว หรือ ใส

ในเวลาที่พระองค์ประสูตินั้น ตรงกับยามที่เก้า เรียกว่ายาม “ไก่ขัน”  
ซึ่งเป็นการนับยามกลางคืน สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งกะเวลาประมาณได้ ๐๕.๔๘ นาที
(เวลาตีห้า สี่สิบแปดนาที) ซึ่งเวลานั้นเป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์ วัดใกล้เคียงบ้านท่าข่อย

เช่น วัดท่าข่อย (ท่าหอย) วัดพุทไธศวรรย์ วัดโรงช้าง
กำลังทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้ามืดอยู่ เสียงสวดมนต์นั้นลอยลมมาถึงบ้านถ้าข่อย
ซึ่งเงียบสงัด กล่าวกันว่า เวลาที่พระอาจารย์สุก ประสูตินั้น พระภิกษุกำลังสวดถึงบท
“ชะยะปริตตัง” ตรงคำว่า ชะยันโต โพธิยา มูเล พอดี
พร้อมกันนั้น ไก่ป่า ไก่วัด ไก่บ้าน ก็ร้องขันขาน รับกันเซ็งแซ่

กล่าวอีกว่า ขณะที่พระองค์ประสูตินั้น ไก่ป่า ไก่บ้าน ไก่วัด
พอถึงเวลาใกล้ยามไก่ขัน (ประมาณ ๐๕.๑๐ น.) ได้โบยบินมาในต้นไม้ใหญ่
ที่ใกล้บ้านมารดา-บิดา ของพระอาจารย์ พอถึงเวลายามไก่ขัน
ไก่ป่า ไก่วัด ไก่บ้านทั้งสิ้น ได้พากันร้องขันขาน กันเซ่งแซ่
กลบเสียงพระสงฆ์สวดมนต์เวลาเช้ามืด แต่วันนี้ ไก่ทั้งสิ้น พากันร้องขานขัน
กันนานกว่าทุกวัน ที่เคยได้ยินมาแต่ก่อน นับเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

พระญาติ ข้างฝ่ายพระชนกของพระองค์ เป็นชนชาวจีน
พำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาสามชั่วอายุคนแล้ว คุณทวดเป็นพนักงานเรือสำเภาหลวง
ตำแหน่งนายสำเภา เรียกเป็นภาษาจีนว่า จุ้นจู๋ มียศเป็น ขุน
เป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดอยู่ในกรมพระคลังสินค้า
พระมหัยยิกาของพระองค์ท่านรับราชการในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น ทางราชสำนักได้จ้างชาวต่างประเทศ
มาเป็นพนักงานเดินเรือสำเภา ค้าขายระหว่างประเทศ มีชนชาวจีน เป็นต้น
มาถึงรุ่นพระมหัยยิกา ของพระองค์ท่าน ก็เข้ารับราชการในกรมพระคลังสินค้าเช่นกัน
มียศเป็นขุน ตำแหน่ง นายอากรปากเรือ ซึ่งเป็นอากรสินค้าขาเข้า อากรสินค้าขาออก
ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่ พระอัยยิกาของพระองค์ท่านรับราชการอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ

พระชนกของพระองค์มีพระนามว่า “เส็ง” เป็นเชื้อสายจีน สืบสายสกุลมาจาก
พระอัยยิกาและพระมหัยยิกาของพระองค์ท่าน พระชนกรับราชการในกรมพระคลังสินค้า
มียศเป็น ขุน ตำแหน่ง นายอากรนา อากรสวน ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
พระชนนีมีพระนามว่า “จีบ” เชื้อสายไทย ญาติทางฝ่ายพระชนนีของพระองค์
รับราชการ มียศเป็น ขุน เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำแหน่ง นายอากรสวน
นายพลากร เก็บค่าสวนผลไม้ ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่

นอกจากรับราชการแล้ว พระชนนีของพระองค์ยังมีอาชีพทำสวน
ทำนา ค้าขายข้าว ส่งให้กับกรมพระคลังสินค้า ส่งขายต่างประเทศอีกด้วย
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑


อุบัติคู่พระบารมี

กล่าวกันว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้อุบัติคนดีของศรีอยุธยาขึ้นสองพระองค์
กาลต่อมาปรากฏมีพระเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังในต้นกรุงรัตน์โกสินทร์
และทรงมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันนี้

พระองค์แรกทรงมีชื่อเสียงในทางราชอาณาจักร คือ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ผู้ทรงสร้างกรุงรัตน์โกสินทร์ ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี

พระองค์ที่สองทรงมีชื่อเสียงในทางพุทธจักร คือ
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) องค์ปฐมพระวิปัสสนาจารย์
ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นพระอาจารย์กัมมัฏฐาน ประจำยุครัตนโกสินทร์
เรื่องราวของพระองค์ท่านนั้นได้รับการเล่าลือสืบขานมานาน สองร้อยปีเศษ ล่วงมาแล้ว
ผ่านมาหลายชั่วอายุคน ทั้งในรูปแบบของ จดหมายเหตุของทางราชการ
และจดหมายเหตุของชาวบ้าน

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าทั้งสองพระองค์นั้น
เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีสร้างสมมาแต่อดีตกาล และต่างทรงเกื้อกูลซึ่งกัน
ด้วยทรงสถาปนาความเจริญให้กับทั้งราชอาณาจักรและพุทธจักร
พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
กับพระประวัติของ สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
และธรรมทายาทของพระองค์ท่านทุกองค์ จึงมีปรากฏเรื่องราวมาจนตราบเท่าถึงทุกวันนี้
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชีวิตเมื่อทรงพระเยาว์

ขณะทรงเจริญพระชันษาได้ประมาณ ๑๒-๑๓ พรรษา
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั้น ทรงมีความสามารถ
ตรัสภาษาจีนได้ เนื่องจากทรงได้ยินพระชนกเจรจากับข้าทาสบริวารทุกวัน
และพระชนกของพระองค์ท่านซึ่งมีเชื้อสายจีน สอนให้พระองค์ท่านด้วย

เมื่อทรงเจริญวัยขึ้นมา พระชนก-ชนนีก็ให้พระองค์ท่านไว้จุก
ต่อมาเมื่อพระองค์ท่าน ทรงมีพระชนมายุย่างเข้า ๑๓ พรรษา
ทางบ้านของพระองค์ท่านก็จัดงาน โสกันต์ คือ งานโกนจุก ตามประเพณีไทย
มีการอาราธนานิมนต์พระสงฆ์ วัดโรงช้าง วัดท่าข่อย (ท่าหอย)
มาเจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเพล พระสังฆเถรผู้ใหญ่ทำพิธีตัดจุก

เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ทรงรักการอ่าน การเขียนทั้งภาษาไทย ภาษาจีน
และทรงมีพระปรกตินิสัย รักความสงบวิเวก พระองค์ท่านไม่ชอบเสียงอึกทึกวุ่นวาย
ทรงมีพระทัยสุขุมเยือกเย็น เป็นคนเจรจาไพเราะ
พูดน้อยอ่อนหวาน แบบคนไทย ติดมาข้างพระชนนี

นอกจากนี้ ยังทรงชอบความสงบสงัดร่มเย็นของป่าดง
บริเวณหลังสวน-ไร่นาของบ้านท่าน ติดกับป่าโปร่ง โล่งตลอดไปไกล
เลยป่าโปร่งออกไป ก็เป็นป่าทึบบ้าง ป่าโปร่งบ้าง เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด

เช่น หมูป่า ลิง ไก่ป่า กระรอก นก หลากหลายพันธุ์
ส่งเสียงร้อง เสียงขัน แข่งขันกันเซ็งแซ่ เป็นธรรมชาติ
เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระปรกตินิสัยเมตตาติดพระพระองค์มาแต่กำเนิด
ตลอดเป็นนิจกาล บรรดานกกา ลิงป่า เห็นพระองค์ท่านเดินมาแล้ว
มักส่งเสียงร้องหันมาทางท่านเหมือนทักทาย

ส่วนบรรดาไก่วัด ไก่บ้าน เห็นพระองค์แล้ว
มักเดินเรียบเคียงร้องเสียงกุ๊กๆ เข้ามาหาพระองค์เสมอ
ด้วยเมตตาจิตของ พระองค์ท่านนั้นเอง
บรรดาไก่ป่าเห็นพระองค์เดินไปป่า มักเดินตามไปบ้าง บินตามไปบ้าง
เมื่อพระองค์ทรงเดินกลับบ้าน ไก่ป่าก็เดินมาส่งท่านบ้าง
บินตามมากับท่านบ้าง ลิงป่า นกป่า ก็ร้องและขันขานเหมือนทักทาย ตามส่งท่าน

ทุกครั้งที่บ้านของพระองค์ มีเสียงอึกกระทึก วุ่นวาย
ที่เกิดขึ้นจากการสั่งงานในบ้านของหัวหน้าบริวาร
พระองค์มักชอบดำเนิน เดินหลบเสียงอึกกระทึก อืออึง
ไปในป่าหลังบ้านแต่ลำพังพระองค์เดียวเสมอ
พระองค์ทรงดำเนินไปเรื่อยๆ ห่างไกลจากที่ไร่ ที่สวน และหมู่บ้าน
เข้าถึงป่าโปร่งอันเป็นที่เงียบสงบ จิตของพระองค์ก็สงบวิเวก

เมื่อจิตของพระองค์สงบวิเวก
พระองค์ก็จะทรงประทับนั่งลงตามโคนไม้ในท่านั่งปรกติ
จิตก็ตั้งมั่น สงบเป็นสมาธิ และทรงแลเห็นรุกขเทวดาที่สิงสถิตตามต้นไม้
จากสมาธิจิตอันบริสุทธิ์ของพระองค์
บางครั้งพระองค์ทรงเห็นว่าองค์เองอยู่ในเพศสามเณรบ้าง อยู่ในเพศบรรพชิตบ้าง
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แต่ครั้งนั้นพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ จึงยังไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ดีนัก
(หรือท่านจะเข้าใจไม่อาจทราบได้ เนื่องจากท่านมีสมาธิจิตสูง)
และเมื่อพระองค์ทรงดำเนินไป หรือทรงดำเนินกลับจากป่า
มักจะมี ไก่ป่า นก กา บินตามพระองค์ท่านไปเสมอๆ
ด้วยได้รับกระแสความเมตตาของพระองค์ท่าน

พระองค์มักจะได้พบกับพระสงฆ์สัญจรจาริกธุดงค์
มาปักกลดพักแรมอยู่ ณ บริเวณป่าโปร่งนั้นเสมอๆ
พระองค์ทรงเห็นภาพนี้จนเคยชิน
รุ่งเช้าพระสงฆ์รุกขมูล จะเดินออกจากชายป่ามารับอาหารบิณฑบาตร
ในหมู่บ้านของพระองค์เสมอๆ ทุกครั้ง

บางทีก็มีพระสงฆ์รุกขมูลมาจากที่อื่น
พระองค์ทรงพบเห็นบ่อยๆ ณ ที่บริเวณแห่งนั้น
ซึ่งเป็นที่เงียบสงบ ห่างไกลผู้คน ไม่พลุกพล่าน และพระสงฆ์รุกขมูล
สามารถเดินมาบิณฑบาตโปรดสัตว์ ในหมู่บ้านท่าข่อย ได้สะดวก
เพราะไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านนัก
ที่บ้านของพระองค์พระชนก-ชนนีของท่าน ออกใส่อาหารบิณฑบาต
ตอนเช้าพระสงฆ์ทุกวัน มิได้ขาด ไม่เลือก ไม่เจาะจงพระสงฆ์
บางครั้งพระองค์ก็ทรงร่วมใส่ อาหารบิณฑบาตรด้วย

วันหนึ่งเมื่อพระองค์ทรงเดินเข้าไปป่าโปร่งหลังสวนของบ้านท่านอย่างที่เคยไปทุกครั้ง
แต่ครั้งนั้น พระองค์โสกันต์ คือโกนจุกแล้ว ณ ที่บริเวณแห่งนั้น
พระองค์ท่านก็ได้พบพระภิกษุเถรผู้เฒ่า เพิ่งกลับมาจากสัญจรจาริกธุดงค์รูปหนึ่ง
มาปักกลดพักผ่อนอยู่ ณ ที่บริเวณนั้น เมื่อท่านเดินมาถึง
พระภิกษุเถรผู้เฒ่านั่งอยู่ในกลดก็กล่าวทักทายขึ้นก่อนว่า

เออข้าฯมานั่งคอยเอ็งที่นี่นานหลายชั่วยามแล้ว
พระองค์เห็นก็จำได้ว่า พระภิกษุเถรผู้เฒ่านั้นคือ
ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) วัดที่อยู่ใกล้หมู่บ้านท่านนั้นเอง
เนื่องจากพระชนก-ชนนีของท่าน ไปทำบุญที่วัดท่าข่อยบ่อยๆ อีกทั้ง
ท่านขรัวตาทองก็มารับอาหารบิณฑบาตที่บ้านท่านเป็นประจำทุกเช้า โดยทางเรือ

ท่านขรัวตาทอง ได้กล่าวกับ พระองค์ต่อไปอีกว่า
ถึงเวลาแล้วที่เจ้าจะต้องไปเรียนหนังสือกับข้าฯ ที่วัด
พระองค์เองก็มีความประสงค์ที่จะไปเรียนหนังสือที่วัดเหมือนกัน
เพราะพระองค์มีความใฝ่ใจในการศึกษาเล่าเรียน
ท่านขรัวตาทอง ได้กล่าวต่อไปอีกว่า
พรุ่งนี้เพลาเช้าข้าฯ เข้าไปบิณฑบาตที่บ้านเจ้า ข้าจะบอกกับพ่อแม่ของเจ้า

เวลานั้น ท่านขรัวตาทอง เพิ่งกลับจากสัญจรจาริกธุดงค์
เพราะเป็นเวลาเกือบจะเข้าพรรษาแล้ว ได้มาปักกลดพักผ่อนอิริยาบทอยู่
ณ ที่บริเวณแห่งนั้น ตั้งใจจะคอยพบพระองค์ (เด็กชายสุก)

กล่าวกันว่า ท่านขรัวตาทอง รูปนี้
ท่านมีความเชี่ยวชาญทางสมถะ-วิปัสสนากัมมัฏฐานมัชฌิมา
แบบลำดับ มีญาณแก่กล้า จึงสามารถที่จะทราบได้ว่าพระองค์
(หมายถึงหลวงปู่สุก เนื่องจากท่านคุ้นเคย กับท่านขรัวตาทอง มานานแล้ว)
มักจะมาที่บริเวณนี้บ่อยๆ ท่านขรัวตาทอง จะมาปักกลดที่นี่ทุกปี
ปีนี้ท่านจึงปักกลดคอยพบพระองค์ท่าน ไม่ไปให้ถึงวัดท่าข่อย (ท่าหอย) เลยทีเดียว

พอรุ่งเช้า ท่านขรัวตาทองก็เข้ามาบิณฑบาตโปรดสัตว์ที่บ้านมารดาบิดาของพระองค์  
มารดาบิดาของท่านเห็นพระภิกษุเถรชราผู้นี้แล้วก็ดีใจ ยกมือขึ้นนมัสการท่าน
เพราะจำได้ว่า คือท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย
ที่เคยเคารพนับถือกันมาก และคุ้นเคยกันมานาน
พระชนก-ชนนีของพระองค์ก็กล่าวกับท่านขรัวตาทองว่า

ท่านกลับมาจากรุกขมูลแล้วหรือ โยมจะนำลูกชายไปฝากเรียนหนังสือกับท่านที่วัด
ท่านขรัวตาทอง กล่าวว่า ข้าก็ตั้งใจจะมาบอกโยมให้นำลูกชายไปเรียนหนังสือที่วัด
เมื่อมีใจตรงกันทั้งสองฝ่าย ก็เป็นอันตกลงที่จะนำลูกชายไปฝากวัด เรียนหนังสือ
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชีวิตในวัยบวชเรียน

สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น วัดคือที่อบรมสั่งสอนกุลบุตร
ครูที่อบรมสั่งสอนคือพระสงฆ์
พระสงฆ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความรู้มากมายหลายด้าน
เด็กที่ได้เล่าเรียนหนังสือก็จะมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้น
ไม่นิยมให้เด็กผู้หญิงไปเรียนหนังสือที่วัด
เพราะครูที่สอนหนังสือเป็นพระสงฆ์ จึงไม่เหมาะที่เด็กผู้หญิงจะไปเรียน

ครั้นเวลา แม่แลง (การนับเวลากรุงศรีอยุธยา)
พระชนก-ชนนี ได้นำดอกไม้ธูปเทียน ตามประเพณีไทย
นำพระองค์ไปฝากตัวกับ ท่านขรัวตาทอง ณ วัดท่าข่อย

ต่อมาพระองค์ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ที่วัดท่าข่อย ริมคลองบ้านข่อย
ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) เป็นพระอุปัชฌาย์
ซึ่งนับเป็นพระอาจารย์ พระองค์แรก ของพระองค์

พระขรัวตา คือพระสงฆ์ที่คงแก่เรียน เรียนรู้วิชาการทุกอย่างไว้มาก
มีพรรษายุกาลมาก  เชี่ยวชาญสมถะวิปัสสนากัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ
มีความรู้ความสามารถ ในการสอน อ่าน-เขียน อักขระขอม-ไทย
ในการบอกหนังสือจินดามณี
ในการบอกหนังสือคัมภีร์มูลกัจจายน์ (หนังสือเรียนไวยากรณ์บาลี) เป็นต้น
เป็นพระสงฆ์ ที่มักน้อย สันโดษไม่มีสมณะศักดิ์
จึงเรียกขานกันว่า “พระขรัวตา”

พระสงฆ์ในสมัยอยุธยาท่านมีความรู้ทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ สม่ำเสมอกัน
สมัยนั้นนิยมเล่าเรียนศึกษาทั้งปริยัติ และปฏิบัติ ควบคู่กันไป
โดยไม่แยกศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน

อนึ่ง ท่านขรัวตาทอง ทางการคณะสงฆ์ เรียกขานท่านว่า
พระอธิการทอง สถิตวัดท่าข่อย (ท่าหอย)
ท่านขรัวตาทองมีชนมายุอยู่มาถึงในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา

ท่านขรัวตาทอง ท่านจึงเป็นพระอุปัชฌาย์
และพระอาจารย์บอกพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับพระองค์แรก
ของพระอาจารย์สุก ครั้งบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดท่าข่อย (ท่าหอย)

ท่านขรัวตาทอง ท่านบรรพชา-อุปสมบทอยู่วัดโรงช้าง
ต่อมาย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าหอย ท่านศึกษาพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ
สืบต่อมาจาก พระครูวินัยธรรมจ้อย วัดท่าเกวียน กรุงศรีอยุธยา
พระครูวินัยธรรมจ้อย ท่านเป็นศิษย์ศึกษาพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ
มาจาก พระพนรัตน (แปร) วัดป่าแก้ว กรุงศรีอยุธยา
พระพนรัตน (แปร) ท่านมีพระชนมชีพอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าเสือ
อยู่มาจนถึงพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ท่านขรัวตาทองท่านเป็นพระอานาคามีบุคคลพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความสำคัญของวัดท่าข่อย (วัดท่าหอย)

วัดท่าข่อย (วัดท่าหอย) นี้เป็นวัดประจำตระกูลของ พระอาจารย์สุก
พระมหัยิกาของพระองค์สร้างไว้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เป็นวัดที่มีแต่เขตสังฆาวาส ไม่มีเขตพุทธาวาส
วัดท่าข่อยจึงเป็นวัดบริวารของวัดพุทไธศวรรย์

นอกจากนี้วัดท่าข่อยยังมีพระเจดีย์ที่เก็บอัฎฐิธาตุของบรรพชนในพระองค์
ซึ่งเป็นประเพณีนิยมในสมัยนั้น นิยมสร้างวัดประจำตระกูล
เพื่อเก็บอัฎฐิของบรรพบุรุษ และไว้ให้ลูกหลานวิ่งเล่นอยู่ใกล้วัดหลวง
วัดไหนก็เป็นบริวารของวัดหลวงนั้น วัดบริวารของวัดหลวงจะไม่สร้างพระอุโบสถ
(ปัจจุบันวัดท่าหอย เป็นวัดร้าง)

วัดท่าข่อยนั้น อยู่ด้านหลังวัดพุทไธศวรรย์ เยื้องไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓ เส้น
อยู่หลังวัดโรงช้าง เยื้องไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓ เส้น

หากมาจากแม่น้ำหน้าวัดพุทไธศวรรย์ ล่องเรือมาทางทิศตะวันตกประมาณ ๑ เส้น
เลี้ยวขวาเข้าคลองบ้านข่อย (คลองคูจาม) ไปประมาณ ๒ เส้น
ก็จะถึงท่าน้ำ วัดท่าข่อย (ท่าหอย)

หากมาจากแม่น้ำหน้าหน้าวัดโรงช้าง
ล่องเรือขึ้นมาทางทิศตะวันออกประมาณ ๑ เส้น
เลี้ยวซ้ายเข้าคลองบ้านข่อย (คลองคูจาม) ไปประมาณ ๒ เส้น
ก็ถึงท่าน้ำ วัดท่าข่อย (ท่าหอย)

วัดท่าข่อย อยู่ห่างจาก วัดพุทไธศวรรย์ และวัดโรงช้าง ระยะเท่าๆ กัน
สองวัดนี้อยู่ริมแม่น้ำทั้งสองวัด
พระอาจารย์สุกบรรพชาเป็นสามเณร อยู่วัดท่าข่อย
เพราะเป็นวัดประจำตระกูล อยู่ไกล้ละแวกบ้าน  
และท่านขรัวตาทองก็สนิทคุ้นเคยกัน

ต่อมาภายหลังมื่อพระองค์ทรงอุปสมบท ไปอุปสมบทที่วัดโรงช้าง
เนื่องเพราะเจ้าอาวาสวัดโรงช้าง องค์ปัจจุบัน
เคยเป็นพระอุปัชฌาย์-อาจารย์ ของคุณปู่ และพระชนกของพระองค์
ซึ่งบวชศึกษาพระกัมมัฎฐานมัชฌิมา อยู่วัดโรงช้าง มาแต่ก่อน

อนึ่ง วัดท่าข่อย นั้น เป็นชื่อเดิมของ วัดท่าหอย
วัดท่าข่อย-วัดท่าหอย จึงเป็นวัดเดียวกัน

แต่สมัยกาลนานมา หลังกรุงศรีอยุธยาล่มสลายแล้ว
จนกระทั่งพระเจ้าตากสินมหาราช มาสร้างกรุงธนบุรี
คนไทยที่เคยตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยใกล้บริเวณวัดท่าข่อย
ครั้งกรุงศรีอยุธยามาแต่เดิมนั้น ได้ล้มหายตายจากไปส่วนมาก
ไม่มีใครได้กลับมาตั้งถิ่นฐานในที่เดิมนี้อีก
มีแต่คนรุ่นใหม่ที่ย้ายมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณวัดท่าข่อย

ต่อมาครั้งกรุงธนบุรีผู้คนแถบนี้ได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งกรุงเก่ากันหมด
ผู้คนทั้งหลายจึงเริ่มลืมเลือน ชื่อเดิมของ วัดท่าหอย  (ท่าข่อย)
เพราะเป็นวัดราษฎรเล็กๆ ไม่มีชื่อเสียง
ต่อมาบริเวณใกล้วัดท่าข่อยกลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของพวกแขกจาม
กล่าวว่าพวกแขกจาม เป็นเชลยศึกครั้งกรุงธนบุรี
สำเนียงพวกแขกจาม ที่เรียกขาน วัดท่าข่อย
จึงเพี้ยนเป็น วัดท่าหอย แต่นั้นมา

จึงกล่าวได้ว่า วัดท่าข่อย นี้เป็นที่เรียนหนังสือครั้งแรกของ พระอาจารย์สุก
เมื่อครั้งบรรพชาเป็นสามเณร
และเป็นที่ฝึกเจริญสมาธิครั้งแรก ของพระอาจารย์สุก
รวมทั้งยังเป็นวัดที่พระอาจารย์สุก ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสครั้งแรก อีกด้วย

วัดท่าข่อย ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีแต่สังฆาวาส คือมีกุฏิสงฆ์ ๕-๖ หลัง
กับศาลาบำเพ็ญกุศลขนาดย่อมๆ ๑ หลังเท่านั้น
ก่อนนั้นเวลาทำสังฆกรรม เช่น อุปสมบท ลงปาฏิโมกข์ ต้องไปลง ไปทำวัดใหญ่ๆ
เช่น วัดโรงช้าง วัดพุทไธศวรรย์ วัดราชาวาส เป็นต้น
ส่วนเขตพุทธาวาส เช่น พระอุโบสถ มาสร้างขึ้นภายหลัง
เมื่อพระอาจารย์สุก มาเป็นพระอธิการ ณ วัดท่าหอย ครั้งที่สอง ครั้งกรุงธนบุรี
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระปฏิปทาเมื่อครั้งบรรพชาเป็นสามเณร

กล่าวกันว่า เมื่อท่านขรัวตาทอง กลับมาจากรุกขมูลครั้งนั้น
อีกทั้งเหลือเวลาอีก เกือบเดือนก็จะเข้าพรรษาแล้ว
ท่านขรัวตาทอง ดำริว่าสังขารชราภาพมากแล้ว จะไม่ออกธุดงค์อีก

เมื่อเด็กชายสุก มาอยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านขรัวตาทอง ครั้งนั้น
ท่านขรัวตาทอง มักเล่าเรื่องราวให้เด็กชายสุกฟัง

ต่อมาเด็กชายสุกอยากจะออกไปธุดงค์บ้างโดยจะขอตามพระอาจารย์ไป
แต่ ท่านขรัวตาทอง ไม่คิดออกธุดงค์แล้ว
แต่ท่านเมตตาตาสงสารเด็กชายสุก อยากออกธุดงค์บ้าง
ท่านขรัวตาทอง ท่านเล็งเห็นอุปนิสัยเด็กชายสุก มีอัธยาศัยทางนี้

อยู่มาวันหนึ่งก่อนเข้าพรรษาประมาณ ๑๐ วัน
ท่านขรัวตาทอง เรียกพระอาจารย์แย้มมาบอก
ฝากวัดไว้สาม-สี่วันแล้วเรียกเด็กชายสุกมา บอกว่าจะพาออกธุดงค์ไปป่าเขาสามสี่วัน
ท่านขรัวตาทอง ท่านมีอภิญญาจิต ชั่วเวลาไม่เท่าไร
ท่านก็พาพระอาจารย์สุกมาถึงกลางป่าแห่งหนึ่ง พักปักกลด และออกเดินอยู่สามสี่วัน
ท่านก็กลับถึงวัดท่าหอย ด้วยเวลาไม่กี่ยาม ด้วยอภิญญาจิต (ย่นระยะทาง)

พระอาจารย์สุก ได้บรรพชาเป็นสามเณรครั้งนั้น
พระองค์ท่านได้ปรนนิบัติรับใช้ท่านขรัวตาทอง ผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์
ซึ่งตอนนั้นท่านทุพพลภาพ ชราลงมากแล้ว

สามเณรสุก ได้ผลัดเปลี่ยนกับสามเณรองค์อื่นๆ คอยดูแลพระอาจารย์ ต้มน้ำร้อน น้ำชา
กลางวัน พระองค์ท่านทรงเล่าเรียนหนังสือภาษาไทย คัมภีร์จินดามณี

ในเวลากลางคืน พระอาจารย์ของพระองค์ได้สอนให้นั่งสมาธิ
โดยการสำรวมจิต สำรวมอินทรีย์   
แต่การนั่งสมาธิเมื่อครั้งพระองค์เป็นสามเณรน้อยๆ นั้น
พระอาจารย์ของพระองค์บอกให้พระองค์นั่งเจริญสมาธิเพื่อเป็นพื้นฐานไว้เท่านั้น
แต่สามเณรน้อยๆ มีนิวรณ์ธรรมน้อย
จิตจึงข่มนิวรณ์ธรรมได้เร็ว จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เร็ว
จึงเป็นเหตุให้ สามเณรสุก ในครั้งนั้นมีพื้นฐานทางสมาธิภาวนาแต่นั้นมา

กล่าวว่า เมื่อพระองค์ทรงสำรวมจิต เจริญสมาธิครั้งนั้น
และด้วยบุญบารมี ของพระองค์ที่ได้สั่งสมมาช้านาน
จิตของพระองค์ท่านก็ บรรลุถึง ปฐมฌาน
ในวิสุทธิธรรมแรกๆ ท่านขรัวตาทองพระอาจารย์ของพระองค์
ตรวจดูเหตุการณ์นี้แล้วก็รู้ว่าพระองค์ท่านเป็นผู้มีบุญบารมีมาเกิด
จะเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปในอนาคต
แต่ท่านขรัวตาทอง ก็ไม่ได้สอนอะไรให้พระองค์เพิ่มเติม เพราะเห็นว่าพระองค์ยังเล็กอยู่
เพียงแต่บอกให้พระองค์ท่านนั่งสำรวมจิต ให้เป็นสมาธิอย่างเดียว
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครั้นเมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุย่างเข้า ๑๖-๑๘ พรรษา
ท่านขรัวตาทอง พระอาจารย์ของพระองค์เห็นว่าพระองค์พอจะรู้เรื่องสมาธิบ้างแล้ว
จึงเริ่มบอกพระปีติ ๕ พระยุคล ๖ พระสุขสมาธิ ๒ ประการ และพระอานาปานสติบ้าง
แต่มิได้ให้เข้าสะกด ตั้งใจไว้ให้ท่านอุปสมบทก่อน
จึงจะให้ปฎิบัติสมาธิเป็นเรื่อง เป็นราวเป็นแแบบแผนที่หลัง
และครั้นเมื่อท่านมีชนมายุได้ ๑๖-๑๘ พรรษา ท่านขรัวตาทอง
ก็สอนให้ท่านอ่าน-เขียน อักษรขอมไทย จนพระองค์ท่านพอมีความรู้บ้าง

ท่านขรัวตาทอง พระอาจารย์ของพระองค์ เล็งเห็นว่า
กาลข้างหน้าเมื่อพระองค์ท่านทรงอุปสมบทแล้ว
เวลานั้นจะมีพระมหาเถราจารย์ชี้แนะพระกัมมัฎฐานมัชฌิมาพระองค์ท่านเอง
และ ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) ก็รู้ว่า
อายุของท่านจะอยู่ไม่ถึงอุปสมบท สามเณรสุก เป็นพระภิกษุ


พระอุโบสถวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) กรุงเทพฯ


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้