ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๔ : สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทรงลาบรรพชา

กาลเวลาผ่านไป พระองค์ก็สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้
จนจบตามหลักของคัมภีร์จินดามณี และอักขระขอม
พระอาจารย์ของ พระองค์ท่าน ก็สอนให้พระองค์
เมื่อทรงมีชนมายุย่างเข้าได้ ๑๖-๑๘ พรรษานี่เอง

หลายปีต่อมาที่บ้านของพระองค์ บรรดาพี่น้องได้ออกเรือนไป (แต่งงาน)
ท่านมีความสงสารพระชนก-ชนนี เป็นยิ่งนัก
เนื่องจากท่านแก่ชราลงแล้ว ยังต้องมาดูแลกิจการเลือกสวนไร่นาอีก
พระองค์จึงมีความดำริที่จะขอลาบรรพชา ออกมาจากสามเณร
มาช่วยพระชนก-ชนนีของพระองค์ท่าน ดูแลกิจการเลือกสวนไร่นา คนงานข้าทาสบริวาร
เพื่อตอบแทนพระคุณพระชนก-ชนนี เพราะไม่อยากเห็นท่านลำบากกาย ลำบากใจ

ถึงปีพระพุทธศักราช ๒๒๙๔ พระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา
พระองค์จึงไปขออนุญาต ท่านขรัวตาทอง องค์พระอุปัชฌาย์
ขอลาบรรพชาจากสามเณร เพื่อออกไปช่วยพระชนก-ชนนี
ดูแลกิจการเลือกสวนไร่นา ควบคุมคนงานข้าทาสบริวาร  
พระอุปัชฌาย์เห็นว่าพระองค์มีความกตัญญูต่อพระชนก-ชนนี
ก็อนุญาตให้พระองค์ท่านลาบรรพชาไป

เมื่อพระองค์ลาบรรพชาไปนั้น เมื่อว่างจากกิจการงาน
พระองค์ท่านมักหลบไปเจริญสมาธิในป่าหลังบ้านเสมอๆ
บางครั้งก็ไปวัดท่าหอยนั่งเจริญสมาธิบ่อยครั้ง
และทรงเข้าหาพระอาจารย์ ท่านขรัวตาทอง เพื่อสอบอารมณ์
จนพระองค์สามารถเห็นรูปทิพย์ได้ ฟังเสียงทิพย์ได้
เรียกว่า ทรงเจริญกัมมัฎฐานสองส่วนได้ เห็นรูปทิพย์ และฟังเสียงทิพย์
ต่อมาพระองค์ทรงสามารถกระทบจิตได้อีกด้วย

เมื่อพระองค์ทรงลาบรรพชาไปช่วยพระชนก-ชนนีดูแลกิจการได้ประมาณ ๒ ปีเศษ
ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย)  ก็ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบลงด้วยโรคชรา

เมื่อครบร้อยวันการทำบุญสรีระสังขารของท่านขรัวตาทอง
พระองค์ และชนก-ชนนีของพระองค์ท่าน
ก็ไปช่วยงานปลงศพ ท่านขรัวตาทอง ณ ที่วัดท่าหอย

เสร็จงานปลงศพท่านขรัวตาทอง วัดท่าหอย แล้วชาวบ้านทั้งหลายในวัดท่าหอย
ได้ยกให้ พระอาจารย์แย้ม วัดท่าหอย ศิษย์ท่านขรัวตาทอง
ขึ้นเป็นพระอธิการ วัดท่าหอย เป็นองค์ต่อมา
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ทรงอุปสมบท

ถึงปีพระพุทธศักราช ๒๒๙๗ พระชนก-ชนนีของพระองค์ท่าน ชราภาพลงมากแล้ว
พวกลูกๆ ต่างก็พากันมาคอยปรนนิบัติรับใช้
และช่วยดูแลกิจการ การทำสวนไร่นา ควบคุมข้าทาสบริวาร
เป็นการแสดงความกตัญญู อันเป็นคุณธรรมที่บุตรพึงมีแก่มารดาบิดา

ครั้งนั้นพระชนก-ชนนีของพระองค์ท่าน ต้องการที่จะให้พระองค์ท่านอุปสมบท
บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ตัวพระองค์เองก็มีความประสงค์ที่จะอุปสมบท
บวชเรียน เพื่อทดแทนบุญคุณพระชนก-ชนนีด้วย
ซึ่งเวลานั้นพระชนก-ชนนีของท่านก็มีความสุขสบายดีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
จากการได้พักผ่อน จากการทำมาหาเลี้ยงชีพ
เนื่องจากมีพวกลูกๆ มาคอยดูแลปรนนิบัติรับใช้ และช่วยดูแลกิจการต่างๆ

ครั้น เวลาใกล้เข้าพรรษาในปีนั้นประมาณต้นเดือนแปด
พระชนก-ชนนีได้นำพระองค์ไปฝากตัวเป็นศิษย์บวชเรียนกับ
ท่านพระครูเถรผู้เฒ่า วัดโรงช้าง ซึ่งเป็นวัดใหญ่ อยู่นอกกำแพงเมือง
ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแนวเดียวกันกับวัดพุทไธศวรรย์
ห่างไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓-๔ เส้น ฝังตรงข้ามกับวัดโรงช้าง
เลยคูเมืองไปทางทิศใต้เป็นประตูเมือง ชั้นนอก
วัดโรงช้าง เป็นวัดใหญ่ เคยเป็นที่เลี้ยงช้างหลวง มาแต่โบราณกาล
ท่านพระครูเถรผู้เฒ่า วัดโรงช้าง ท่านเคยเป็นอุปัชฌาย์-อาจารย์
ของพระมหัยิกา และพระบิดาของพระองค์ท่านมาแต่กาลก่อน

ท่านพระครูเถรผู้เฒ่า ท่านมีนามเดิมว่า “สี”
ชาวบ้านเรียกขานนามท่านว่า หลวงปู่สี เป็นพระครูฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ในราชทินนามที่ พระครูรักขิตญาณ สถิตวัดโรงช้าง
พระครูรักขิตญาณ (สี) ท่านศึกษาพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ
สืบต่อมาจาก พระครูวินัยธรรม (จ้อย) วัดท่าเกวียน อยุธยา
พระครูวินัยธรรม (จ้อย) เป็นศิษย์ พระพนรัต (แปร)  วัดป่าแก้ว ในรัชสมัยพระเจ้าเสือ
กล่าวกันว่า ท่านพระครูรักขิตญาณ (สี) ท่านเป็นพระอานาคามีบุคคล

พระครูรักขิตญาณ (สี) นั้นท่านเป็นพระอุปัชฌาย์
บรรพชาอุปสมบท พระอาจารย์สุก
และเป็นพระอาจารย์บอกพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ เบื้องต้น องค์ที่สอง
(เป็นการทบทวน) และสอนบาลี คัมภีร์พระบาลีมูลกัจจายน์เบื้องต้น
ให้กับ พระอาจารย์สุก เมื่ออุปสมบทบวชเรียนในพรรษาต้นๆ ณ วัดโรงช้าง
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มีเรื่องเล่าว่า ในวันที่พระอาจารย์สุก บรรพชา-อุปสมบทที่วัดโรงช้างนั้น
เมื่อพระสงฆ์ทำยัตติกรรมเสร็จลง ก็บังเกิดอัศจรรย์
ปรากฎมีแสงสว่าง เหลืองอร่ามพุ่งออกมาทางช่องประตูพระอุโบสถที่เจาะช่องไว้
พร้อมกันนั้นก็มีเสียงไก่ป่า ไก่บ้าน ไก่วัด ร้องกันระงมเซงแซ่ไปหมด
คล้ายเสียงอนุโมทนาสาธุการบุญกุศล ผู้คนที่มาในงานบรรพชา-อุปสมบท
เห็นอัศจรรย์ดังนั้น ก็ยกมือขึ้นอนุโมทนา สาธุการ กันทั่วหน้าทุกตัวตนด้วยความปีติใจ

กล่าวว่าแสงสว่างนั้น เป็นแสงของ เทวดา และพรหมทั้งหลาย
มาแสดงอนุโมทนายินดีที่พระอาจารย์สุก ได้บรรพชา-อุปสมบทในครั้งนั้น

พระอาจารย์สุก บรรพชา-อุปสมบทแล้ว
ทรงได้รับพระฉายานามทางพระพุทธศาสนาว่า “พระปุณณะปัญญา”
อุปสมบทแล้วในพรรษานั้นพระองค์ท่านได้ศึกษาการอ่าน เขียน อักขระขอมไทย
เพื่อเป็นการทบทวน และเตรียมพระองค์ ในการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และศึกษา
พระคัมภีร์บาลีมูลกัจจายน์ ซึ่งจารึกพระคัมภีร์ด้วยอักขระขอม ไทย

การศึกษาภาษาบาลี คัมภีร์มูลกัจจายน์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่โบราณกาลนั้น
กุลบุตรผู้บวชเรียน มีความประสงค์ที่จะศึกษา พระธรรม หรือพระบาลีคัมภีร์มูลกัจจายน์
ต้องเริ่มต้นด้วยการหัดเขียน หัดอ่าน อักษร ขอม ก่อน เพราะพระคัมภีร์พระธรรม
และคัมภีร์บาลีจารไว้ด้วยอักษร ขอม กุลบุตรผู้บวชเรียน จะศึกษาพระคัมภีร์มูลกัจจายน์
หรือคัมภีร์พระบาลีใหญ่ ต้องท่องจำหลักไวยากรณ์ รากศัพท์อันเป็นสูตรมูล
ทั้งภาคมคธ และภาคไทย ล้วนจารึกด้วยอักษรขอมทั้งนั้น

ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อได้ทรงจัดการข้างฝ่ายอาณาจักรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ก็ได้ทรงพระราชดำริจัดการข้างฝ่ายพุทธจักรเพื่อทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา
ซึ่งเสื่อมโทรมเศร้าหมองเพราะการจลาจลวุ่นวายในบ้านเมือง
จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระราชาคณะในตำแหน่งต่างๆตามโบราณราชประเพณี
และได้ทรงแสวงหาพระเถระผู้ทรงคุณพิเศษจากที่ต่างๆ มาตั้งไว้ในตำแหน่งที่สมควร
เพื่อช่วยรับภาระ ธุระทางพระพุทธศาสนาสืบไป และก็ในคราวนี้เองที่ได้ทรง

“โปรดให้นิมนต์พระอาจารย์วัดท่าหอย คลองตะเคียน แขวงกรุงเก่า
มาอยู่วัดพลับ ให้เป็นพระญาณสังวรเถร
”  

พระอาจารย์วัดท่าหอยดังกล่าวนี้ก็คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั่นเอง

ครั้นถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร
ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
“ศรีศยุภมัศดุ ฯลฯ ลงวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ
(ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙) ให้พระญาณสังวรขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร
อดิสรสังฆเถรา สัตวิสุทธิจริยาปรินายก สปิฎกธรามหาอุดมศีลอนันต์
อรัญวาสี  สถิตย์ในราชสิทธาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง
ให้จาฤกกฤตฤกาลอวยผลพระชนมายุศม ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล
วิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนาเถิด”


สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
ในปีเดียวกันกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
และนั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช

ด้วยได้เห็นบัญชีนิมนต์พระสวดมนต์ในสวนขวา มีนามสมเด็จพระญาณสังวร
อยู่หน้าสมเด็จพระสังฆราช เห็นจะเป็นด้วยมีพรรษาอายุมากกว่า

สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับพระราชทานพัดงาสาน
ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทำวิจิตรกว่าพัดสำหรับพระราชาคณะสมถะสามัญ

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้ทรงเป็นพระอาจารย์ของ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
แต่ครั้งยังทรงเป็น พระอาจารย์สุก วัดท่าหอย กรุงเก่า
ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์มาอยู่ในกรุงเทพฯ
และทรงตั้งเป็นราชาคณะที่ พระญาณสังวรเถร ดังกล่าวแล้ว

เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระฝ่ายอรัญวาสีนิยมความสงบวิเวก
จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มาอยู่ “วัดพลับ”
อันเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของธนบุรีครั้งนั้น
คู่กับวัดรัชฎาธิษฐาน และอยู่ไม่ไกลจากพระนคร  

นอกจากนี้ เพื่อให้สมพระเกียรติที่เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
จึงได้โปรดเกล้าฯ  ให้สร้างวัดพระราชทานใหม่ในที่ติดกับวัดพลับนั่นเอง
เมื่อสร้างพระอารามใหม่เสร็จแล้ว
ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมวัดพลับเข้าไว้ในเขตของพระอารามใหม่นั้นด้วย
แต่ยังคงใช้ชื่อว่าวัดพลับดังเดิม
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓


ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จึงได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า
วัดราชสิทธาราม ดังที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้
บริเวณอันเป็นวัดพลับเดิมนั้นอยู่ด้านตะวันตกของวัดราชสิทธารามปัจจุบันนี้

อนึ่ง สำหรับวัดพลับ หรือวัดราชสิทธาราม นั้น นับแต่สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
ได้มาอยู่ครองแต่ครั้งยังทรงเป็นที่ พระญาณสังวรเถร แล้ว
ก็ได้กลายเป็นสำนักปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระที่สำคัญ
ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่องประวัติวัดมหาธาตุว่า

“ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ วัดอรัญวาสีที่สำคัญ ก็คือ
วัดสมอราย ๑ กับ วัดราชสิทธาราม ๑”


และพระเกียรติคุณในทางวิปัสสนาธุระของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั้น
คงเป็นที่เคารพนับถือทั้งในฝ่ายเจ้านายในพระบรมราชวงศ์และในหมู่ประชาชนทั่วไป
จึงได้ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์และเป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์
และเจ้านายชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์หลายพระองศ์ ดังได้กล่าวมาแล้ว

อนึ่ง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๑
ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ก็ได้เสด็จมาประทับทรงบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติ
และทรงศึกษาวิปัสสนาธุระในสำนัก สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณสังวรเถร ณ วัดราชสิทธาราม นี้เป็นเวลา ๑ พรรษา
โดยมีพระตำหนักสำหรับทรงบำเพ็ญสมาธิกรรมฐานโดยเฉพาะเรียกว่า
พระตำหนักจันทน์   ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ คือ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ได้ทรงสร้างถวาย ยังคงมีอยู่สืบมาจนบัดนี้
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นอกจากนี้  เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในรัชกาลที่ ๒ ก็ได้เสด็จไปประทับศึกษาวิปัสสนาธุระ
ในสำนัก สมเด็จพระสังฆราช (สุก) แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่
พระญาณสังวรเถร  ณ  วัดราชสิทธาราม เช่นกัน

ดังที่พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชาธิบาย
ไว้ในเรื่องวัดสมอรายอันมีนามว่า “ราชาธิวาส” ว่า

“ได้ทรงประทับศึกษาอาจาริยสมัยในสำนักวัดราชาธิวาส
ทรงทราบเสร็จสิ้นจนสุดทางที่จะศึกษาต่อไปอีกได้
จึงได้เสด็จย้ายไปประทับอยู่ ณ วัดราชสิทธาราม คือ วัดพลับ
ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญเชี่ยวชาญในการวิปัสสนาอีกแห่งหนึ่ง
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงผนวชในที่นั้น
แต่หาได้ประทับประจำอยู่เสมอ ไม่เสด็จไปอยู่วัดพลับบ้าง กลับมาอยู่สมอรายบ้าง

เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว
จึงทรงสร้างพระศิรจุมภฏเจดีย์ไว้เป็นคู่กันกับพระศิราศนเจดีย์
ที่ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสำคัญว่า
เคยเสด็จประทับศึกษา ณ สำนักอาจารย์เดียวกัน”


เกี่ยวกับราชประเพณีนิยมทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ
ของเจ้านายในพระบรมราชวงศ์ที่ทรงผนวชนั้น
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบายไว้ว่า

“อนุโลมตามราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ดังเช่น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
ทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดประดู่นั้นเป็นตัวอย่าง ด้วยเป็นวัดอรัญวาสี
อยู่ที่สงัดนอกพระนคร เพราะการศึกษาธุระในพระศาสนามีเป็น ๒ ฝ่าย
ฝ่ายคันถธุระต้องเล่าเรียนพระปริยัติธรรมโดยมคธภาษา อันต้องใช้เวลาช้านานหลายปี
ไม่ใช่วิสัยผู้ที่บวชอยู่ชั่วพรรษาเดียวจะเรียนให้ตลอดได้

แต่วิปัสสนาธุระอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นการฝึกหัดใจในทางสมถภาวนา
อาจเรียนได้ในเวลาไม่ช้านัก และถือกันอีกอย่างหนึ่งว่า
ถ้าชำนิชำนาญในทางสมถภาวนาแล้ว
อาจจะนำคุณวิเศษอันนั้นมาใช้ในการปลุกเศกเพื่อประโยชน์อย่างอื่น
ตลอดจนในวิชาพิไชยสงครามได้ในภายหลัง
ด้วยเหตุนี้ เจ้านายที่ทรงผนวชมาแต่ก่อนจึงมักเสด็จไปประทับอยู่
ณ วัดอรัญวาสี เพื่อทรงศึกษาภาวนาวิธี”


นัยว่าการศึกษาวิปัสสนาธุระ ของสำนักวัดราชสิทธาราม
ในสมัยที่ สมเด็จพระสังฆราช (สุก)  ทรงครองวัดอยู่นั้นเจริญรุ่งเรืองมาก
เพราะผู้ครองวัดทรงเชี่ยวชาญและมีกิตติคุณในด้านนี้เป็นที่เลื่องลือ.
ครั้น สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
และเสด็จมาสถิต ณ วัดมหาธาตุแล้ว การศึกษาวิปัสสนาธุระแม้จะยังมีอยู่
แม้จะไม่รุ่งเรืองเท่ากับสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ยังทรงครองวัดนั้นอยู่ก็ตาม

17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)  


พระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือเป็นอันมาก
ของพระบรมราชวงศ์ มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒
ปรากฏนาม พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์แทบทุกพระองค์
นับแต่คราวทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
แต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร เป็นต้นมา
ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

(๑) พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร
ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ทรงผนวชแล้ว
วันแรกเสด็จประทับที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการฉลองเสร็จแล้ว
จึงเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน)

(๒) พ.ศ. ๒๓๓๗ สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๒
แต่ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์
ในรัชกาลที่ ๑ (พระนามเดิม จุ้ย) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

(๓) พ.ศ. ๒๓๓๘ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
(พระนามเดิม บุญมา) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร วัดพลับ
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมกิตติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(๔) พ.ศ. ๒๓๔๕ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมพระราชวังหลัง ในรัชกาลที่ ๑
(เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระนามเดิม ทองอิน) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

(๕) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ในรัชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
พระญาณสังวรเถร (สุก) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน)
วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์

(๖) พ.ศ. ๒๓๖๐ ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ
ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์


แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ว่า
สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์
สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นพระอาจารย์  
ซึ่งกลับกันเป็นตรงกันข้าม

ในเรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์เรื่องความทรงจำ ว่า

“พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ น่าจะกลับกันกับที่กล่าว (ในพระราชพงศาวดาร)
คือสมเด็จพระญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์
และสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอาจารย์ถวายศีล
เพราะสมเด็จพระญาณสังวร เป็นผู้มีอายุพรรษามาก นั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช (มี)
ทั้งเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์มาแต่ในรัชกาลที่ ๑
แม้สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็เป็นศิษย์ของสมเด็จพระญาณสังวรมาแต่ก่อน น่าจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์”


นอกจากนี้ยังมีหลักฐานประกอบอีกอย่างหนึ่ง กล่าวว่า

“ด้วยถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ๒ องค์ เป็นคู่กัน อยู่ที่ลานหน้าวัดราชสิทธาราม
(อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระญาณสังวร) องค์หนึ่งขนานนามว่า ‘พระศิราศนเจดีย์’
ทรงอุทิศในพระนามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกองค์หนึ่งมีนามว่า
‘พระศิรจุมภฏเจดีย์’ เป็นพระบรมราชูทิศในพระนามของพระองค์เองยังปรากฏอยู่
ตรัสว่าเพราะได้เคยเป็นศิษย์สมเด็จพระญาณสังวรมาด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์”

19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สมเด็จพระญาณสังวรรูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร นั้น
นับว่าเป็นตำแหน่งพิเศษในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นตำแหน่งที่พระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ
ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงตั้ง พระอาจารย์สุก วัดท่าข่อย (ท่าหอย)
ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณพิเศษในทางวิปัสสนาธุระ เป็นที่พระราชาคณะนั้น
ก็ทรงตั้งในราชทินนามว่า พระญาณสังวรเถร
อันเป็นราชทินนามที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ

ครั้นมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระญาณสังวรเถร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
ก็โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาในราชทินนามว่า สมเด็จพระญาณสังวร
ตามราชทินนามเดิม ที่ได้รับพระราชทานแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑

ครั้น สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ในเวลาต่อมา ราชทินนามตำแหน่งที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ไม่ได้โปรดเกล้าฯ
พระราชทานสถาปนาพระเถระรูปใดอีกเลยนับแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา  

กระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา
พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร) วัดบวรนิเวศวิหาร
ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร
ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
นับเป็นสมเด็จพระญาณสังวร รูปที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

นับแต่ปีที่ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕
ในรัชกาลที่ ๒ มาจนถึงปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร)
ขึ้นเป็น สมเด็จพระญาณสังวร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ นั้น นับเป็นเวลา ๑๕๒ ปี
ซึ่งเป็นเวลายาวนานถึง ๖ รัชกาลที่ว่างเว้นมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาพระเถระรูปใดในราชทินนามตำแหน่งนี้  
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 09:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ราชทินนามตำแหน่งที่ สมเด็จพระญาณสังวร
ตามพระนาม หมายถึง ผู้มีความสำรวมในความรู้อย่างยิ่ง  
(“ญาณ” หมายถึง ความรู้ และ “สังวร” หมายถึง สำรวม)


หรือหากอ้างถึงพระอรรถกถา ความหมายของ “ญาณสังวร”
จะเป็นหัวข้อหนึ่งใน สังวรวินัย ๕ คือ
สีลสังวร สติสังวร ญาณสังวร ขันติสังวร และวิริยสังวร
และดังได้มีอรรถาธิบายความหมายของ “ญาณสังวร” ว่า

สังวรที่ตรัสไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“ดูก่อนอชิตะ กระแส (ตัณหา) เหล่าใดในโลกมีอยู่
สติย่อมเป็นเครื่องห้ามกระแสเหล่านั้น
เราตถาคตกล่าวสติว่าเป็นเครื่องระวังกระแสทั้งหลาย
กระแสเหล่านั้น อันบุคคลย่อมละด้วยปัญญานี้เรียกว่า ญาณสังวร”

ขุ.สุ. ๒๕/๔๒๕/๕๓๐


เพราะฉะนั้นราชทินนามตำแหน่งที่ สมเด็จพระญาณสังวร นี้ จึงกล่าวได้ว่า
เป็นตำแหน่งที่มีความหมายสำคัญในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ไทยตำแหน่งหนึ่ง
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้