ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๓ : สมเด็จพระสังฆราช (มี)

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เกิดธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ

สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก
ที่ทรงตั้งในรัชกาลที่ ๒ และทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก
ที่เมื่อทรงตั้งแล้วโปรดให้แห่จากพระอารามเดิมมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
อันเป็นการเริ่มต้นธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราช
จากพระอารามเดิมมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๒
เมื่อคราวทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (มี) นี้เป็นครั้งแรก
และวัดมหาธาตุก็ได้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนตลอดรัชกาลที่ ๒

การที่สมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาประทับ  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์  นั้น
ถือเป็นสังฆประเพณีว่าสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนและหลังจากนี้  
สมเด็จพระสังฆราชจะต้องเสด็จประทับ  ณ  วัดมหาธาตุฯ  
เนื่องจากเป็นพระอารามหลวงใหญ่ของราชธานี  
เพื่อจะได้เป็นประธานแก่คณะสงฆ์แห่งพุทธจักร  

ก่อนจะเสด็จมาประทับจะต้องโปรดให้ตั้งขบวนแห่งมีฤกษ์  เครื่องพิธี  และสังฆพิธี  
อย่างพร้อมเพรียงนับว่าเป็นพระเพณีในทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่มาก  
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงได้อรรถาธิบายไว้
ในหนังสือ  “ประวัติอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ”   ไว้อย่างละเอียดดังนี้ว่า

“ในรัชกาลที่ ๒ ต้องทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชถึง ๓ พระองค์
ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นต้นมา ล้วนอยู่พระอารามอื่นก่อน
แล้วจึงมาสถิตวัดมหาธาตุทั้งนั้น เมื่อจะเป็นสมเด็จพระสังฆราช
บางพระองค์แห่มาสถิตวัดมหาธาตุก่อนแล้ว จึงรับพระสุพรรณบัตร
บางพระองค์รับพระสุพรรณบัตรก่อนแล้วจึงแห่มาสถิตวัดมหาธาตุ
คงจะเกี่ยวด้วยฤกษ์ทรงสถาปนา

ถ้าฤกษ์อยู่ในเวลาพระศพสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนยังอยู่ที่ตำหนัก
ก็รับพระสุพรรณบัตรก่อน พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน
แล้วจึงแห่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่มาสถิตวัดมหาธาตุ

12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถ้าฤกษ์สถาปนา เป็นเวลาพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนแล้ว
ก็แห่มาสถิตวัดมหาธาตุก่อน แล้วจึงรับพระสุพรรณบัตร
คราวทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (มี) นี้ เห็นได้ชัดโดยวันในจดหมายเหตุว่า
เมี่อทรงตั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) สิ้นพระชนม์ยังไม่ถึง ๓ เดือน
คงยังไม่ได้พระราชทานเพลิงพระศพ

ลักษณะการตั้งสมเด็จพระสังฆราช  ข้าพเจ้าได้เห็นจดหมายเหตุของอาลักษณ์  
จดรายการพิธีคราวตั้ง สมเด็จพระสังฆราช  (นาค)  เมื่อในรัชกาลที่  ๓  
แต่เข้าใจว่า  ตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนๆ  การพิธีก็จะเป็นอย่างเดียวกัน...

เริ่มการพิธีด้วยฤกษ์จารึกพระสุพรรณบัฏ  
จารึกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามจารึกแล้ว  (ม้วนรัดด้วยไหมเบญจพรรณ)  
บรรจุกล่องงาวางบนพานทอง  มีถึงแพรเหลือระบายแดงผูกพานทองชั้น  ๑  
แล้วเอาพานทองนั้นวางบนพาน  ๒  ชั้น  ประดับมุก  
มีถึงแพรเหลืองระบายแดงผูกพานขั้น  ๒  อีกชั้น  ๑  

แล้วจึงปิดคลุมปักหักทองขวางนอกพระสุพรรณบัฏ
ยังมีตราพระมหามณฑปสำหรับตำแหน่งพระสังฆราชใส่ถึงตาด  
ใส่ในหีบขาวกับตลับชาดงา  

หีบนั้นใส่ถุงแพรต่วนเหลืองระบายแดงบนตะลุ่มประดับมุก  
มีถุงแพรเหลือระบายแดงอีกชั้น  ๑  
แล้วเชิญพานพระสุพรรณบัฏและพานตราพระมหามณฑป  
ตั้งบนเตียงพระมหามณฑปในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันก่อนพระฤกษ์สถาปนาเวลาบ่าย  
พระราชาคณะเจริญพระพุทธมนต์ที่ในพระอุโบสถ  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  

ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเข้าเสด็จออกยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  
พระอาลักษณ์นุ่งห่มปักลายทองเชิงกรวย  สวมเสื้อครุย  นั่งบนผ้าขาวพับ  
อ่านประกาศพระนามครั้นประกาศแล้ว  
ทรงประเคนพานพระสุพรรณบัฏและตะลุ่มพระมณฑป  

13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อทรงประเคนแล้วเชิญกลับไปตั้งไว้บนเตียงพระมณฑป  
พระสงฆ์รับพระราชทานอาหารบิณฑบาตฉันเพลแล้ว  
เป็นการเสร็จพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  

มีในหนังสือพระราชพงศาวดารคราวทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช  (ด่อน)  
ในรัชกาลที่  ๒  นั้น  ทำพิธีในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  
เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้ว  มีเวียนเทียนสมโภชสมเด็จพระสังฆราชด้วย

ลักษณะการที่กล่าวมา  ข้าพเจ้าสังสัยว่า  
มีรายการอีกอย่างหนึ่งไม่ปรากฏในจดหมายเหตุอาลักษณ์  
คือเรื่องทรงอภิเษกสมเด็จพระสังฆราช  เพราะอาลักษณ์ไม่มีหน้าที่จึงไม่กล่าวถึง  
ข้าพเจ้าเห็นเมื่อครั้งทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช  (สา)  วัดราชประดิษฐ์   

เมื่อในรัชกาลที่  ๕  ตั้งพระแท่นสรงอันมีไม้อุทุมพรเป็นที่ประทับที่ชาลในกำแพงแก้ว  
ข้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านใต้  
พระครูธรรมวิธานจารย์ก็เล่าว่า  เมื่อครั้งทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช  (นาค)  
ในรัชกาลที่  ๓  ท่านสถิตอยู่วัดราชบูรณะ  แต่มาสรงที่ตำหนักวัดมหาธาตุ  

จึงสันนิษฐานว่า เมื่อแต่ก่อนเห็นจะทำพิธีที่ตำหนักสมเด็จพระสังฆราชด้วยอีกแห่งหนึ่ง  
ตั้งพระแท่นสรงที่นั่นมีสวดมนต์เย็นเหมือนอย่างตั้งกรมเจ้านาย  
สมเด็จพระสังฆราชสรงในตอนเช้าแล้ว  
จึงเข้ามารับพระราชทานพระสุพรรณบัฏในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  
เป็นทำนองพิธีตั้งกรมเจ้านายแต่ก่อน

ได้ความตามจดหมายเหตุของอาลักษณ์ต่อมาว่า  
ในวันตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น  ตอนบ่ายแห่พระสุพรรณบัฏและตรามหามณฑป
ไปส่งยังพระอาราม  มีกระบวนแห่สวมเสื้อครัยและลอมพอกขาว  
ถือดอกบัวสด  ๔๐  กลองชนะ  ๒๐  จ่าปี่  ๑  แตรฝรั่ง  ๔  แตรงอน  ๘  สังข์  ๒  
รวม  ๓๒  คน  สวมเสื้อหมวกแดง  แล้วถึงเครื่องสูงบังแทรกรวม  ๑๘  คน  
นุ่งกางเกงยก  เสื้อมัสรูเกี้ยวผ้าลาย  

แล้วถึงราชยานถุรับพระสุพรรณบัฏและตราพระมหามณฑป  
มีขุนหมื่นอาลักษณ์นุ้งถมปักลาย  สวมเสื้อครุยลอมพอกนั่งประคอง  คน  ๑  
กระบวนหลังมีเครื่องสูงแล้วถึงเกณฑ์แห่มีคู่แห่  ๒๐  และถือธง  ๒๐  เป็นอันหมดกระบวน

14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในค่ำวันนั้นมีจุดดอกไม้เพลิง  ดอกไม้พุ่มเจ็ดชั้น  ๒๐  พุ่ม  ระทาสูง  ๔  สอก  ๑๐  
ระทาพะเนียง ๓๐ กระบอก จุดที่นอกระเบียงข้างหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม...”


อย่างไรก็ตาม วัดมหาธาตุก็ได้เป็นที่สถิตของ
สมเด็จพระสังฆราช ต่อเนื่องกันมาถึง ๔ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช
มาแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงตอนต้นรัชกาลที่ ๒

๒. สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๒

๓. สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระองค์ที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๒

๔. สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๒
ซึ่งมีพระชนม์มาถึงปีที่ ๑๙ ในรัชกาลที่ ๓


จนมาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบุรณะ
เป็นสมเด็จพระสังฆราช สืบต่อจาก สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
วัดมหาธาตุกำลังอยู่ในระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์
สมเด็จพระสังฆราช (นาค) จึงสถิต ณ วัดราชบุรณะ จนถึงสิ้นพระชนม์
ต่อแต่นั้นมา เมื่อทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่
ก็มิได้มีการแห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ อีก
ธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
จึงเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๒
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒    


เกิดอธิกรณ์ครั้งสำคัญ

ในปีแรกที่ทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (มี) นั้นเอง
ก็ได้เกิดอธิกรณ์ซึ่งนับว่าเป็นครั้งสำคัญและครั้งแรกขึ้นในรัชกาล
เพราะมีพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นกำลังของคณะสงฆ์
ต้องอธิกรณ์เมถุนปาราชิกพร้อมกันถึง ๓ รูป
ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

“ในเดือน ๑๒ ปีชวด อัฐศก (พ.ศ. ๒๓๕๙) นั้น มีโจทก์ฟ้องว่า
พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ รูป ๑
พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลาง รูป ๑
พระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุกรุงเก่า รูป ๑ ทั้ง ๓ รูปนี้
ประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติข้อสำคัญ ต้องเมถุนปาราชิกมาช้านาน
จนถึงมีบุตรหลายคน โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ
กับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
ทรงพิจารณาได้ความเป็นสัตย์สมดังฟ้อง จึงมีรับสั่งเอาตัวผู้ผิดไปจำไว้ ณ คุก”

16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตำแหน่งที่ พระพุทธโฆษาจารย์ นั้น เป็นตำแหน่งสำคัญในคณะสงฆ์
รองลงมาจากตำแหน่งที่ สมเด็จพระพนรัตน  
หรือเป็นลำดับที่ ๓ ในสังฆมณฑล นับแต่ สมเด็จพระสังฆราช ลงมา
และพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) รูปนี้
นับว่าเป็นกำลังสำคัญของคณะสงฆ์ในขณะนั้น

เพราะเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
โปรดเกล้าฯ ให้จัดสมณทูตไปลังกาเมื่อต้นรัชกาล
สมเด็จพระสังฆราช (มี) ขณะยังเป็นที่ สมเด็จพระพนรัตน
กับ พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) นี้เอง
ที่เป็นผู้จัดการเรื่องสมณทูตไปลังกา เป็นที่เรียบร้อยสมพระราชประสงค์
จึงนับว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

เมื่อมาเกิดอธิกรณ์ขึ้นเช่นนี้ คงเป็นที่ทรงโทมนัสเป็นอย่างมาก
และก็คงตกเป็นภาระของสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง
ที่จะต้องสะสางและปรับปรุงการคณะสงฆ์ให้ดีขึ้น
ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า

“ที่เกิดเหตุปรากฏว่าพระราชาคณะเป็นปาราชิกหลายรูปคราวนั้น
เห็นจะทรงพระวิตกถึงการฝ่ายพระพุทธจักรมาก
ปรากฏว่าได้ทรงเผดียงสมเด็จพระสังฆราช (มี)
แลสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกษ ให้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนี
แสดงข้อวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่สมณะมณฑล คัดแจกทั่วไปตามพระอาราม
เป็นทำนองสังฆาณัติแลการชำระความปาราชิกก็สืบสวนกวดขันขึ้นแต่ครั้งนั้นมา
จนสิ้นรัชกาลที่ ๒ แลต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ด้วย”


หนังสือโอวาทานุสาสนีดังกล่าวนี้โปรดให้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ นี้
มีสาระสำคัญว่าด้วยเรื่องให้พระอุปัชฌาย์
อาจารย์พระราชาคณะถานานุกรมเอาใจใส่สั่งสอนพระภิกษุสามเณร
ให้อยู่ในจตุปาริสุทธิศีล ๔ ผู้ที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์
จะต้องมีความรู้เรื่องพระวินัยและสังฆกรรมเป็นอย่างดีและปฏิบัติให้ถูกต้อง

แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ต่อมาอีก ๓ ปี สมเด็จพระพนรัตน (อาจ)
ผู้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนีเอง ก็ต้องอธิกรณ์ ด้วยประพฤติต่อศิษย์ผิดสมณสารูป
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดจากสมณศักดิ์
และไล่จากวัดมหาธาตุ จึงไปอยู่ที่วัดไทรทอง
(ซึ่งภายหลังต่อมาได้สร้างเป็นวัดเบญจมบพิตรดังปรากฏอยู่ในบัดนี้)
จนถึงมรณภาพในรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) รูปนี้
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
จะทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชสืบต่อกันมาจาก สมเด็จพระสังฆราช (มี)
ถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้แห่มาอยู่วัดมหาธาตุแล้ว แต่มาเกิดอธิกรณ์เสียก่อนดังกล่าว  
เหตุการณ์ครั้งนี้ คงเป็นเรื่องสะเทือนใจพุทธศาสนิกชน
ยิ่งกว่าเมื่อครั้งพระราชาราชคณะ ๓ รูปต้องอธิกรณ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
เพราะพระเถระที่ต้องอธิกรณ์ครั้งนี้ เป็นถึงว่าที่สมเด็จพระสังฆราช
และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะที่ไม่ห่างกันนัก



18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การทำพิธีวิสาขบูชาครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
มีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้พิเศษยิ่งกว่าที่เคยทรงปฏิบัติมา
จึงทรงมีพระราชราชปุจฉาต่อสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระสังฆราชจึงได้ถวายพระพรให้ทรงกระทำการสักการะบูชาพระศรีรัตนตรัย
ในวันวิสาขบูชาเยี่ยงสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแต่ปางก่อนเคยกระทำมา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้กำหนดพิธีวิสาขบูชาขึ้นเป็นธรรมเนียม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๐ นั้นเป็นต้นมา
นับเป็นการทำพิธีวิสาขบูชาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นเหตุให้มีการทำพิธีวิสาขบูชากันสืบมาจนปัจจุบัน เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้นับว่า
เป็นสิ่งที่เกิดจากพระปรีชาสามารถของ สมเด็จพระสังฆราช (มี) โดยแท้
นับเป็นพระเกียรติประวัติที่สำคัญครั้งหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

อนึ่ง พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา  
ที่ได้กำหนดเป็นพระราชพิธีหลวงเป็นครั้งแรก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ
ให้จัดขึ้นในครั้งนั้น พระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ดังนี้ คือ

“ศุภมัสดุ  ๑๑๗๙  ศกอุศุภสังวัจฉร  เจตมาสกาลปักษ์  ทุติยดฤถีครุวาร  ปริเฉทกาลกำหนด  
พระบาทสมเด็จพระธรรมิกราชรามาธิราช  บรมนาถบพิตร  พระพุทธเจ้าอยู่หัว  
ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ  เสด็จออก  ณ  พระที่นั่งบุษบกมาลา  
มหาจักรพรรดิพิมานพร้อมด้วยอัครมหาเสนามาตยาธิบดี  
มุขมนตรีกระวีชาติราชปโรหิตจารย์  ผู้ทูลละอองพระบาทโดยลำดับ  
ทรงพระราชศรัทธาถวายสังฆภัตทานแก่พระสงฆ์มีองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน  

19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครั้นเสด็จการภุตตกิจ  พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
ทรงพระราชรำพึงถึงสรรพการกุศล  เป็นต้นว่า  บริจาคทานรักษาศีล  เจริญภาวนา  
ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นนิจกาลนั้น  ยังหาเต็มพระราชศรัทธาไม่  
มีพระทัยปรารถนาจะใคร่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้มีผลวิเศษประเสริฐยิ่ง
ที่พระองค์ยังมิได้ทรงกระทำเพื่อจะให้แปลกประหลาด  

จึงมีพระราชปุจฉาถามสมเด็จพระสังฆราช  (มี)  
และพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยถวายพระพรว่า  
แต่ก่อนสมเด็จมหากษัตราธิราชเจ้ากระทำสักการบูชา  
พระศรีรัตนตรัยในวันวิสาขบูรณมี  คือ  วันเดือน  ๖  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  
เป็นวันวิสาขนักขัตฤกษ์มหายัญพิธีบูชาใหม่  
มีผลผลานิสงส์มากยิ่งกว่าตรุษสงกรานต์  

เหตุว่าเป็นวันสมเด็จพระสัพพัญญพุทธเจ้าประสูติ  ได้ตรัสรู้  ปรินิพพาน  
และสมเด็จพระเจ้าภาติกราชวสักราชดิศรมหาราชเคยกระทำสืบพระชนมายุ
เป็นเยี่ยงอย่างโบราณราชประเพณีมาแต่ก่อน  
และพระราชพิธีวิสาขบูชาอันนี้เสื่อมสูญขาดมาช้านานแล้ว  
หามีกษัตริย์องค์ใดกระทำไม่  

ถ้าได้กระทำสักการบูชาพระศรีรัตนตรัยในวันนั้นแล้ว  
ก็จะมีผลานิสงส์มากยิ่งนัก  
อาจสามารถปิดประตูจตุราบายภูมิทั้ง  ๔  
และเป็นที่จะดำเนินไปในสุคติภพเบื่องหน้า  
อาจให้เจริญทฤฆายุสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล  
ระงับทุกข์โทษอุปัทวันตรายภัยต่างๆ  ในปริเฉทกาลปัจจุบัน  
เป็นอนันต์คุณานิสงส์วิเศษนักจะนับประมาณมิได้  

ครั้นได้ทรงฟังเกิดพระราช ปิติโสมนัสตรัส
เห็นว่าวิสาขบูชานี้จะเป็นเนื้อนาบุญราศี  
ประกอบพระราชกุศลเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งเป็นแท้  

จึงทรงพระราชศรัทธาจะยกรื้อวิสาขบูชามหาพิธีอันขาดประเพณีมานั้น  
ให้กลับเจียรฐิติกาลกำหนดปรากฏสำหรับแผ่นดินสืบต่อไป
จะให้เป็นวัตตถประโยชน์และปรมัตถประโยชน์  
ทรงพระราชศรัทธาจะให้สัตว์โลกข้าขอบขัณฑสีมาทั้งปวงเจริญอายุ
และอยู่เป็นสุขปราศจากทุกข์ภัยในชั่วนี้และชั่วหน้า  

จึงมีพระราชโองการมานบัณฑูรสุรสิงหนาท  
ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า  

20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แต่นี้สืบไป  เถิง  ณ  วันเดือน  ๖  ขึ้น  ๑๔  ค่ำ  ๑๕  ค่ำ  แรม  ๑  ค่ำ  
เป็นวันวิสาขบูชานักขัตฤกษ์ใหญ่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
ทรงรักษาอุโบสถศิลปรนิบัติพระสงฆ์  ๓  วัน  ปล่อยสัตว์ ๓ วัน  
ห้ามมิให้ผู้ใดฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  เสพสุราเมรัย  ๓  วัน  
ถวายประทีปตั้งโคมแขวนเครื่องสักการบูชาดอกไม้เพลิง  ๓  วัน  
ให้มีพระธรรมเทศนาในพระอารามหลวงถวายไทยทาน  ๓  วัน

ส่วนพระบรมราชวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท  
ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ลูกค้าวาณิช  สมรชีพราหมณ์ทั้งปวง
จงมีศรัทธาปลงใจในการกุศล  
อุตส่าห์กระทำวิสาขบูชาให้เป็นประเพณียั่งยืนไปทุกปีไปอย่าให้ขาด  

ฝ่ายฆราวาสนั้นจงรักษาอุโบสถศีลถวายบิณฑบาต  
ปล่อยสัตว์ตามศรัทธา  ๓  วัน  ดุจวันตรัษสงกรานต์  
เวลาเพลแล้วมีพระธรรมเทศนาในพระอาราม  

ครั้นเวลาบ่ายให้ตกแต่งเครื่องสักการบูชาพวงดอกไม้มาลากระทำให้วิจิตรต่างๆ  
ธูปเทียนชวาลาธงผ้า  ธงกระดาษออกไปยังอารามบูชาพระรัตนตรัย  
ตั้งพานดอกไม้แขวนพวงไม้ธูปเทียนธงใหญ่ธงน้อยในพระอุโบสถ  
พระวิหารที่ลานพระเจดีย์  พระศรีมหาโพธิ์  
และผู้ใดจะมีเครื่องดุริยางค์ดนตรีมโหรีพิณพาทย์  
เครื่องผสมสมโภชประการใดๆ  ก็ตามแต่ใจศรัทธา  

ครั้นเวลาค่ำให้บูชาพระรัตนตรัยด้วยเครื่องบูชาประทีป  โคมตั้ง  โคมแขวน  
จงทุกหน้าบ้าน  และ  ณ  วันเดือน  ๖  ขึ้น  ๑๕  ค่ำนั้นเป็นวันเพ็ญบุรณมี
ให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระราชวังหลวง  ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  
ประชุมกันถวายสลากภัตแก่พระสงฆ์  และให้มรรคนายกทั้งปวงชักชวนสัปบุรุษทายก  
บรรดาที่อยู่ใกล้เคียงอารามใดๆ  ให้นำสลากภัตถวายพระสงฆ์ในอารามนั้น  

เวลาบ่ายให้เอาหม้อใหญ่ใส่น้ำลอยด้วยดอกอุบลบัวหลวง  
ด้วยสายสิญจน์สำหรับเป็นน้ำปริตรไปตั้งที่พระอุโบสถ  
พระสงฆ์ลงอุโบสถแล้วจะได้สวดพระพุทธมนต์จำเริญพระปริตรธรรม  

ครั้นจบแล้วหม้อน้ำของผู้ใดก็เอาไปกินอาบปะพรมรดเย้าเรือนเคหา  
บำบัดโรคอุปัทวภัยต่างๆ  ฝ่ายพระสงฆ์สมณนั้นให้พระราชาคณะฐานานุกรม  
ประกาศให้ลงพระอุโบสถแต่เพลาเพลแล้วให้พร้อมกัน  
ครั้นเสร็จอุโบสถกรรมแล้วเจริญพระปริตรธรรม
แผ่พระพุทธอาญาในพระราชอาณาเขต  ระงับอุปัทวภัยทั้งปวง  
ครั้นเวลาค่ำเป็นวันโอกาสแห่งพระสงฆ์สามเณรกระทำสักการบูชา  
พระศรีรัตนตรัยที่พระอุโบสถและพระวิหาร
ด้วยธูปเทียน  โคมตั้ง  โคมแขวน  ดอกไม้และประทีป  

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้