ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๓ : สมเด็จพระสังฆราช (มี)

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระภิกษุที่เป็นธรรมกถึกจงมีจิตปราศโลภโลกามิสให้ตั้งเมตตาศรัทธาเป็นบุรจาริก  
จงสำแดงธรรมเทศนาให้พระสงฆ์สามเณรและสัปบุรุษ  
ฟังอันควรแก่ราตรีวันนั้นทุกอาราม  
ให้กระตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมานี้เสมอไปทุกปีอย่าให้ขาด  

ถ้าฆราวาสและพระสงฆ์สามเณรรูปใดเป็นพวกทุจริตจิตคะนองหยาบช้า  
หามีศรัทธาไม่กระทำความอันมิชอบ  
ให้เป็นอันตรายแก่ผู้กระทำวิสาขบูชาในวันนักขัตฤกษ์นั้น  
ให้ร้องแขวงนายบ้านนายอำเภอกำชับตรวจตรา
สอดแนมจับกุมเอาตัวผู้กระทำผิดให้จงได้

ถ้าจับคฤหัสถ์ได้ในกรุงฯ  ให้ส่งกรมพระนครบาลนอกกรุงฯ  ให้ส่งเจ้าเมืองกรมการ  
ถ้าจับพระสงฆ์สามเณรได้ในกรุงฯ  ส่งสมเด็จพระสังฆราช  พระพนรัตน์  นอกกรุงฯ  
ส่งเจ้าอธิการให้ไล่เลียงไต่ถามได้ความเห็นสัตย์ให้ลงทัณฑกรรม  ตามอาญาฝ่ายพุทธจักร  
และพระราชอาณาจักรจะได้หลายจำอย่าให้ทำต่อไป  

และให้ประกาศป่าวร้องอาณาประชาราษฎร์  
ลูกค้าวาณิชสมณชีพราหมณ์ให้จง รู้จงทั่ว  
ให้กระทำดังพระราชบัญญัติดังกล่าวมานี้จงทุกประการ  
ถ้าผู้ใดมิได้ฟัง  จะเอาตัวผู้กระทำผิดเป็นโทษโดยโทษานุโทษฯ”

“พิธีวิสาขบูชาทำที่ในกรุงเทพฯ  ในรัชกาลที่  ๒  ปรากฏว่ามีการเหล่านี้  
คือนำโคมปิดกระดาษชักเสาไม้ไผ่ยอดผูกฉัตรกระดาษ  
พระราชทานไปปักจุดเป็นพุทธบูชาตามพระอารามหลวงวัดละ  ๔  เสาอย่าง  ๑  
ให้นายอำเภอกำนันป่าวร้องราษฎรให้จุดโคมตามประทีปตามบ้านเรือนเป็นพุทธบูชาอย่าง  ๑  
หมายแผ่พระราชกุศล  แต่ข้าราชการให้ร้อยดอกไม้แขวน  
เป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง  ๓  วันอย่าง  ๑  

มีดอกไม้เพลิงของหลวงตั้งจุดเป็นพุทธบูชาที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่าง  ๑  
นิมินต์พระสงฆ์ให้อุโบสถศีลและแสดงพระธรรมเทศนาแก่ราษฎร
ตามพระอารามหลวงฝั่งตะวันออก  ๑๐  วัน  ผั่งตะวันตก  ๑๐  วัน  
เครื่องกัณฑ์เป็นของหลวงพระราชทาน

และให้นายอำเภอกำนันร้องป่าวตักเตือนราษฎรให้ไปรักษาศีล  
ฟังธรรม  และห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่าง  ๑  
นำธงจระเข้ไปปักเป็นพุทธบูชา  ตามพระอารามหลวงวัดละต้นอย่าง  ๑  
เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง  พระราชทานสลากภัตแล้ว  แล้วสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ...”

22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม

สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงให้แก้ไขการสอบ
และวางระเบียบแบบเรียนพระปริยัติธรรมเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม  
ซึ่งในสมัยก่อเรียกว่า “บาเรียน” (เปรียญ)  
แต่มาในครั้งนี้ปรับปรุงการเรียนพระปริยัติธรรมให้เป็นหลักสูตรเสียใหม่
ให้เรียกว่า “ประโยค” โดยกำหนดให้เป็นประโยค ๑ เรื่อยๆ  
ไปจนถึงประโยค ๙ ซึ่งสูงสุด  

ณ ที่นี้จะขอนำเอาข้อความของพระราชเวที  วัดทองนพคุณ  
ที่ได้อรรถาธิบายเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาพระพุทธศาสนาในเมืองไทย  
ตอนแก้ไขการสอบพระปริยัติธรรมอย่างละเอียด  ดังความว่า

“...การศึกษาพระปริยัติธรรมและการสอบ  
ซึ่งได้ใช้หนังสือพระไตรปิฎกเป็นแบบเรียนนั้น  

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  
รัชกาลที่  ๒  แห่งบรมราชจักรีวงศ์  ในสมัยสมเด็จพระสังฆราช  (มี)  
เป็นสกลมหาสังฆปริณายก  พระพุทธศักราช  ๒๓๕๙  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ      
ให้แก้ไขวิธีสอบและแบบเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่ให้มีถึง  ๙  ประโยค  
โดยใช้แบบเรียนดังนี้

         ๑.  ประโยค ๑  ประโยค  ๒  ประโยค  ๓  ใช้คัมภีร์  “อรรถกถาธรรมบท”  
เป็นแบบเรียนและต้องสอบแปลให้ได้ในคราวเดียวทั้ง  ๓  ประโยค  จึงนับว่าเป็นบาเรียน

         ๒.  ประโยค  ๔ ใช้คัมภีร์  “มังคลัตถทีปนี”  เบื้องต้น  
ต่อมาเลยใช้ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายรวมเข้าไปด้วย  
แต่ต่อมาภายหลังกลับมาใช้แต่เพียงเบื้องต้นแต่อย่างเดียว

         ๓.  ประโยค  ๕  ได้ยินว่า  แต่เดิมใช้  “บาลีมุตตกะ”  
แล้วเปลี่ยนเป็นคัมภีร์  “สารรัตถสังคหะปกรณ์   วิเสส”  
ภายหลังเปลี่ยนมาใช้คัมภีร์  “บาลีมุตตกะ”  อีก  
ในบัดนี้ใช้หนังสือ  “สมันตปสารทิกาอัฏฐกถาวินัย”  ตติภาค

         ๔.  ประโยค  ๖  ใช้คัมภีร์  “มังคลัตถทีปนี”  บั้นปลาย  
ต่อมาในสมัยแปลใช้เขียนงดใช้ชั่วคราวหนึ่งโดยใช้  “อรรถกถาธรรมบท”  ทั้ง  ๘  ภาค  
เป็นแบบใช้ในวิลาแปลไทยเป็นมคธ  ในบัดนี้กลับใช้ในวิชาแปลมคธเป็นไทยอีก  
ซ้ำเพิ่มหนังสือ  “กังสาวิตรณี”  แก้ปาฏิโมกข์เข้ามาอีกด้วย

23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๕.  ประโยค  ๗  ใช้คัมภีร์  “ปฐมสมันตปสาทิกาอัฏฐกถาวัย”  
ผู้สอบได้ประโยคนี้เป็นบาเรียนเอก  “ส”  คือ  ชั้นเอกสามัญ  
ในบัดนี้ประโยคนี้ใช้  “สมันตปสาทิกา”  ทุติยภาคเพิ่มขึ้นด้วย

         ๖.  ประโยค  ๘  ใช้คัมภีร์  “วิสุทธิมัคค์ปกรณ์วิเสส”  
ผู้สอบได้ประโยคนี้เป็นบาเรียนเอก  “ม”  คือชั้นเอกมัชฌิม

         ๗.  ประโยค  ๙  ใช้คัมภีร์  “ฎีกาสารัตถทีปนี”  ต่อมาเปลี่ยนเป็น  
“ฎีกาอภิธัมมัตถวิภาวินี”  ผู้สอบได้ประโยคนี้  เป็นบาเรียนเอก  “อ”  ชั้นเอกอุดม

         คำว่า  “ประโยค”  นั้น  เข้าใจว่าเรียกตามข้อความที่
ท่านผู้ออกข้อสอบให้นักเรียนแปล  กำหนดไว้เป็นตอนๆ  มากบ้างน้อยบ้าง  
ประโยค  ๓  แต่เดิมท่านกำหนดข้อความ  ๓๐  บรรทัดคือ  สามใบลาน  
เนื่องจากนักเรียนมากและเวลาจำกัด  ต่อมาจึงลดลงเหลือเพียง  ๓  ลาน  คือ  ๑๐  บรรทัด  
เป็นกรณีพิเศษ  ประโยค  ๔-๕-๖-๗-๘  เดิมกำหนด  ๒  ลาน  เหมือนกันหมด  

ต่อมาประโยค  ๗  และ  ๘  ท่านลดลงเหลือ  ๓  หน้าลาน  คือ  ๑๕  บรรทัด  
ส่วนประโยค  ๙  คงกำหนดให้  ๑  ลาน  คือ  ๑๐  บรรทัดตามเดิม  
ประโยคที่ท่านกำหนดนี้  
นับบรรทัดตามหนังสือของที่จารในใบลานหน้าบาน  ๑  จาร  ๕  บรรทัด

“แต่ก่อนแม้พระรามัญที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย  ก็มีการสอบเหมือนกัน  
แต่หลักสูตรการสอบบาเรียนนั้นจะกำหนดขึ้น  
อนุโลมตามหลักสูตรที่เคยใช้อยู่ในรามัญประเทศแต่โบราณ  
หรือมากำหนดใหม่ในเมืองไทยนี้  ข้อนี้ยังไม่ได้หลักฐานแน่นอน  
หนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียนและสอบนั้น  ใช้แต่คัมภีร์พระวินัยปิฎก  

24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เพราะพระสงฆ์รามัญนั้นศึกษาถือพระวินัยเป็นสำคัญสมด้วยคำกลางที่พูดกันว่า  
“มอญวินัย  ไทยพระสูตร  พม่าอภิธรรม”  ได้ยินว่า  
ทางรามัญกำหนดเพียง  ๓  ประโยค  
เป็นจบหลักสูตร  ภายหลังเพิ่มประโยค  ๔  ขึ้นอีกประโยค  ๑  
จึงรวมเป็น  ๔  ประโยค  คือ

         ๑.  ประโยค  ๑  ใช้คัมภีร์บาลีมหาวิภังค์  คือ  อาทิกัมม์หรือปาจิตตีย์  
เป็นบทเรียนและสอบผู้สอบได้ประโยค  ๑  เข้าใจว่า  แต่เดิมคงเป็นบาเรียน  
ครั้งตั้งประโยค  ๔  เพิ่มขึ้นจึงกำหนดว่า  
ต้องสอบประโยค ๒ ได้ด้วย จึงนับว่าเป็นบาเรียน

         ๒.  ประโยค  ๒  ใช้คัมภีร์บาลีมหาวรรค  หรือจุลวรรคอย่างใดอย่างหนึ่ง  
ตามแต่จะเลือกนักเรียนสอบได้ประโยค จึงนับว่าเป็นบาเรียนจัตวา
เทียบบาเรียนไทย ๓ ประโยค

         ๓.  ประโยค ๓  ใช้คัมภีร์มัตตกวินัยวิจิต  ผู้สอบได้ประโยคนี้  
นับเป็นบาเรียนเทียบบาเรียนไทย ๔ ประโยค

         ๔.  ประโยค  ๔  ใช้คัมภีร์ปฐมลมันปสาทิกาอัฏฐกถาวินัย  
เหมือนหลักสูตรประโยค  ๗  ของผู้สอบได้ประโยคนี้นับเป็นบาเรียนโท  
เทียบบาเรียนไทย  ๕ ประโยค

         หลักสูตรและการสอบพระปริยัติธรรมฝ่ายรามัญในเมืองไทย  ตามที่กล่าวมานี้  
เมื่อได้เลิกจากการสอบวิธีแปลปากเปล่ามาเป็นวิธีเขียนแล้วก็เป็นอันยกเลิกไป  
บัดนี้คงใช้วิธีสอบ  และหลักสูตรรวมกับหลักสูตรฝ่ายไทยเราแล้ว”

“เรื่องการสอบปากเปล่า  กล่าวคือการสอบไล่พระปริยัติธรรมในสมัยก่อนนั้น  
มิได้กำหนดแน่นอนลงไปว่าจะสอบกันเมื่อใด  บางทีก็สอบกันในพรรษา  นอกพรรษา  
ทั้งนี้สุดแล้วแต่ว่าคณะกรรมการจะกำหนดแล้วแจ้งไปยังอารามต่างๆ  
ให้เตรียมตัวเข้าสอบและสถานที่สอบนั้น
ก็ได้กำหนดเอาที่วัดสมเด็จพระสังฆราชสถิตอยู่นั้นเป็นหลัก  

และก็มีเป็นบางครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงฟังการแปลด้วย  
ก็ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้เข้าไปสอบในพระราชวัง  
หรือไม่บางทีก็เสด็จไปฟังที่พระอารามสถานที่สอบเลยทีเดียว”


25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
“สำหรับการสอบนั้น  สมเด็จพระสังฆราชจะเป็นผู้กำหนดประโยคสอบเอง  
หรือบางครั้งก็มอบให้พระราชาคณะผู้ใหญ่กำหนดประโยคสอบ  
โดยบรรจุข้อสอบไว้ในซองผนึกเรียบร้อยก่อนนักเรียนเข้าสอบ  
เมื่อนักเรียนคนใดจะถึงเวรสอบเข้าไปจับฉลากต่อคณะกรรมการ  
ผู้ใดจับประโยคข้อสอบใดได้ ก็มีเวลาเตรียมไว้ได้อยู่ในที่พัก  
ผู้อื่นจะเข้าไปแนะนำไม่ได้  จนกว่าจะถึงเวลาที่กรรมการเรียกเข้าไปแปล  

การแปลนั้นก็แปลรวดเดียว  ถ้าเป็นนักเรียนใหม่สอบประโยคต้น
ก็ต้องสอบได้  ๓  ประโยคเลย  จะสอบแต่  ๑  ประโยค  หรือ  ๒  ประโยคไม่ได้  
ถ้าไม่ได้  ๓  ประโยคก็ถือว่าตกหมด  
แต่ในรัชกาลที่  ๓  ถ้าสอบได้  ๒  ประโยคก็เป็นบาเรียนวังหน้า  
ประโยคที่นักเรียนจับฉลากได้นั้นไม่เหมือนกัน  คนหนึ่งได้ประโยค  ๑  

ฉะนั้นเมื่อผู้แปลในวันก่อนๆ  มาแล้ว
ไม่มีโอกาสแนะหรือฝึกซ้อมกับผู้ที่ยังไม่ได้เข้าสอบได้เลย  
เพราะไม่รู้ว่าผู้จะเข้าสอบแปลในวันต่อไปจะจับได้ประโยคอะไร
อนึ่ง  การจับฉลากประโยคสอบนั้น  ถือว่าเป็นการเสี่ยงทายด้วย  
ถ้าจับได้ประโยคดี  ก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองตลอดไป  
ถ้าจับได้ประโยคไม่ดี  ก็จะไม่เป็นมงคลแก่ตัวผู้จับ”

“ส่วนคณะกรรมการสอบนั้น  สมเด็จพระสังฆราชจะทรงเป็นประธานทุกครั้งไป
เว้นแต่อาพาธหรือมีกิจพิธีสำคัญอย่างอื่น  จึงจะมอบหมายให้พระราชาคณะที่อาวุโส
ทำหน้าที่แทน  และกรรมการอื่นฝ่ายคณะสงฆ์ก็มีราว  ๒๕  ถึง  ๓๐  รูป  
ล้วนแต่เป็นพระราชาคณะที่ชำนาญในพระไตรปิฎก  
แต่ทำหน้าที่สอบเพียง  ๓  หรือ  ๔  รูป  

นอกนั้นนิมนต์มานั่งเพื่อดูวิธีสอบแล้วจดจำนำไปสั่งสอนอบรมฝึกหัดนักเรียน  
การสอบครั้งหนึ่งๆ  กินเวลาราว  ๒-๓  เดือน  จึงจะเสร็จที่ต้องใช้เวลานานเช่นนี้  
ก็เพราะนักเรียนต้องสอบด้วยปาก  ต่อหน้าคณะกรรมการทีละองค์เรียงกันไปตามลำดับ  
การสอบก็ไม่ขีดขั้นว่าองค์นั้นองค์นี้  จะต้องสอบเพียงเท่านั้นเท่านี้ประโยค

ถ้านักเรียนองค์ใดมีความรู้ความสามารถ
จะแปลรวดเดียวตั้งแต่ประโยค  ๑  ถึงประโยค  ๙  เลยก็ได้  
และได้เคยมีนักเรียนที่สามารถแปลรวดเดียวได้  ๙  ประโยคมาแล้ว  
แต่ถ้าแปลตกประโยคไหน  ก็ถือว่าสอบได้แค่ประโยคที่แปลผ่านมาได้แล้ว  
เช่น  แปลได้ประโยค  ๕  สมัครสอบประโยค  ๖  ต่อ  แต่แปลประโยค  ๖  ตก  
ก็ถือเอาว่าเป็นบาเรียน  ๕  ประโยคในคราวนั้น”

“สมัยยังไม่มีนาฬิกาใช้  ก็ใช้เทียนจุดตั้งไว้เป็นกำหนดเวลาสอบ  
เมื่อนักเรียนแปลจบเทียนยังไม่หมดก็ถือว่าสอบได้  
แต่ถ้าหมดเทียนก่อนยังแปลไม่จบก็ถือว่าสอบตก  
การจุดเทียนใช้นี้ไม่ได้หมายความว่าใช้แต่ละรูปแต่ใช้รวมกัน  เช่น  
จะมีสอบ  ๓  รูป  แต่รูปที่แปลได้แปลจบก่อนเทียนหมด  

อีก  ๒  รูปที่ยังไม่ได้เข้าแปลเข้าแปลก็ถือว่าตกด้วยต้องถวายคัมภีร์คืน  
ด้วยถือว่าเป็นธรรมเนียมว่าไปไม่ไหว
และการสอบนั้นส่วนมากเริ่มแต่บ่าย  ๓  โมง  เลิกเองประมาณ  ๑ ทุ่ม  หรือ  ๒ ทุ่ม  
แต่วันโกน  วันพระหยุด  เพื่อให้ภิกษุสามเณรทำกิจพระพุทธศาสนา”

“ต่อมาถึงสมัยมีนาฬิกาใช้แล้ว  จึงเอานาฬิกาเป็นเครื่องจับเวลาสอบ  
คือ  ๓  ประโยค  ใช้เวลาสอบ ๑ ชั่วโมง สูงกว่า ๓ ประโยค ใช้เวลาสอบ ๑ ชั่วโมงครึ่ง”

26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระกรณียกิจพิเศษ

พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์
ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์
สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม
เป็นพระอาจารย์ถวายสรณะและศีล
เมื่อทรงผนวชแล้ว เสด็จไปประทับ ณ วัดมหาธาตุ
เป็นเวลา ๑ พรรษา จึงทรงลาผนวช ๑๔ วัน
27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-2 23:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อยู่เพียง ๓ ปี กับ ๑ เดือน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๕๙  ระยะเวลาสั้นๆ ดังกล่าวนี้
ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ขึ้นหลายอย่าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์อันเป็นการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่คณะสงฆ์
ซึ่งทุกเหตุการณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นได้ทรงมีส่วนอย่างสำคัญ
ในการจัดการให้เรื่องนั้นๆ สำเร็จลุล่วง หรือผ่านพ้นไปด้วยดี

สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐
ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับวันที่ ๑๑ กันยายน  พ.ศ. ๒๓๖๒
ในรัชกาลที่ ๒ มีพระชนม์มายุได้ ๗๐ พรรษา

ถึงเดือน ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
โปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง
แล้วชักพระศพสมเด็จพระสังฆราช (มี) เข้าสู่เมรุ มีวารสมโภช ๓ วัน ๓ คืน
พระราชทานเพลิงเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑
ตรงกับวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๖๒

    

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
http://www.dharma-gateway.com/
http://www.mbu.ac.th/
http://mahamakuta.inet.co.th/


กระทู้ในบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13241      
                                                                                 
............................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=44310

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้