ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 12898
ตอบกลับ: 12
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ประวัติ “วัดหนัง ราชวรวิหาร” กรุงเทพมหานคร

[คัดลอกลิงก์]


วัดหนัง ราชวรวิหาร
แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร


นามและที่ตั้งวัด   

วัดหนัง ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๒๐๐ ฝั่งขวาหรือนัยหนึ่งฝั่งเหนือคลองด่าน
ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๕๐
               
เดิมมีสถานะเป็นวัดราษฎร์ มีอาณาบริเวณไม่กว้างขวางนัก
มีสืบมาแต่โบราณ มีนามว่า วัดหนัง มาแต่เดิม
แม้ได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวงแล้ว ก็มิได้พระราชทานนามใหม่
สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
กำหนดอย่างต่ำน่าจะเป็นในรัชกาล สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ)
มิฉะนั้นต้องสูงขึ้นไปกว่านั้น ข้อนี้มีเลขพุทธศักราชจารึกที่ระฆังเป็นสำคัญ
ระฆังใบนี้เป็นของเก่ามีมาก่อน แต่วัดได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวง
ตามจารึกปรากฏว่า สร้างแต่ พ.ศ. ๒๒๖๐
พระมหาพุทธรักขิตกับหมื่นเพ็ชร์พิจิตร เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยภิกษุสามเณร
ทายกทายิกา ตลอดจนมีตาเถรเข้ามาเป็นสมาชิกแห่งสมาคมสร้างระฆังนี้ด้วย

คลองด่านในอดีต ถือว่าเป็นคลองที่มีความสำคัญยิ่งต่อจังหวัดธนบุรี
เพราะเป็นต้นคลองมหาชัย เชื่อมทางคมนาคมระหว่างจังหวัดต่างๆ
ในลุ่มน้ำท่าจีนและในลุ่มน้ำแม่กลองกับจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองนี้
เดิมนั้นลำคลองคงกว้างกว่าในบัดนี้ เรือขนาดใหญ่สัญจรไปมาได้สะดวก
สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) เสด็จประพาสท้องทะเล
ก็เสด็จผ่านทางคลองด่านหลายครั้ง ตามชายฝั่งคลองปรากฏว่า
มีวัดตั้งอยู่เรียงราย ไม่ขาดระยะ บางวัดเคยได้รับราชูปการจากราชสำนักก็มี
เช่น วัดไทร ตรงข้ามปากคลองบางมด
สมเด็จพระสรรเพ็ชญที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักเดิม
ทำนองเป็นที่ประทับแต่ครั้งยังเป็นนายเดื่อหรือหลวงสรศักดิ์ มาปลูกเป็นหอไตรไว้
นี้แสดงว่าคลองด่าน มีวัดมากมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
และวัดหนังนี้ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดมีสีมาชนิดพัทธสีมา ผูกเฉพาะพระอุโบสถ


ศาลาท่าน้ำหน้าวัด ภาพถ่ายเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๑๓
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นามผู้สร้างและปฏิสังขรณ์

วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ ร้างมานาน ๒๐๐ ปีเศษ
จึงไม่ทราบว่าเดิมใครเป็นผู้สร้าง กล่าวเฉพาะยุคเป็นพระอารามหลวงนี้
สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนี
ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม

ด้วยเหตุนี้เองที่วัดแห่งนี้ไม่ได้มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน
ตามแบบพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   
แต่เป็นวัดแบบไทยๆ เพราะพระบรมราชชนนีของพระองค์ทรงสถาปนาขึ้น

มูลเหตุที่ทรงสถาปนาวัดหนังเป็นพระอารามหลวง
น่าจักเนื่องด้วยราชินิกูลสาย พระชนนีเพ็ง พระชนนีสมเด็จพระศรีสุลาลัย
พื้นแพดั่งเดิมเป็นชาวสวนวัดหนัง มีนิวาสถานอยู่แถวย่านนี้
คำเล่าของหม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ ว่าอยู่ที่บางหว้า


ในการเรียบเรียงประวัดหนังนี้ มีเรื่องน่าเสียดายอยู่หลายประการ
เป็นต้นว่าสถาปนาวัดเมื่อไร ไม่มีวันเดือนปีปรากฏ
พระประธานในพระอุโบสถเป็นของสร้างสมัยสุโขทัย แต่ที่มาไม่ปรากฏชัด
เพราะสมุดรายงานหมายสั่งการประจำวันซึ่งบันทึกเหตุการณ์ประจำแต่ละวัน
มีผู้ทำสูญเสียไป นอกจากทำให้สูญเสียเหตุการณ์
เป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติ สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนี แล้ว
ยังทำให้ประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สูญเสียไปด้วยมิใช่น้อย
      
วัดหนังเริ่มสถาปนาเป็นพระอารามหลวงเมื่อไร
อนุมานตามเหตุการณ์ พอจะได้เค้าเงื่อนบ้าง ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พ.ศ. ๒๓๖๗
ระยะกาลตอนนี้นับว่าสมเด็จพระศรีสุลาลัย บรรลุถึงภาวะเป็นอัฉริยนารี
ผู้สูงศักดิ์อย่างสูงสุดในพระชนม์ชีพ เป็นกาลระยะหนึ่งซึ่งพระองค์ควรจะพึงคำนึงถึง
การทรงทำกรณีอะไรสักอย่างหนึ่ง อันเป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติ
ทั้งส่วนพระองค์ ทั้งส่วนราชินิกูล ให้ปรากฏอยู่ชั่วกาลนาน
เรื่องที่นิยมมากที่สุดในยุคนั้น ไม่มีอะไรอื่นดีกว่าการสร้างวัด
สมเด็จพระศรีสุลาลัย สวรรคตเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๐
ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ทำการฉลองวัดหนัง ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ นั่นเอง
การเริ่มสถาปนาคงอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๗ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๘

การสถาปนาวัดหนังคงจะอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
แต่ไม่ทราบว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใครบ้างเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง
แต่มีปรากฏในพงศาวดารภาคที่ ๓๓
บุพภาคพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
เพียงว่า สมเด็จกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ทรงเป็นนายต้นทำการจนแล้วเสร็จ

ปูชณียสถานเสนาสนะต่างๆ ในยุคที่ยังเป็นวัดราษฎร์
เดิมทำอย่างไรและมีอะไรเท่าไรไม่ทราบ
ในยุคสถาปนาพระอารามหลวงนี้
สิ่งก่อสร้างในเขตสถาปนาเป็นของทำใหม่ทั้งสิ้น
สิ่งที่มิได้ทรงสร้างมีปรากฏเพียงพระประธานในพระอุโบสถ
พระพุทธรูปศิลา ๒-๓ องค์ ในพระวิหารตอนหลัง กับระฆังอีก ๑ ระฆัง


พระวิหาร ซึ่งได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2014-5-7 11:24

พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๖
ได้บันทึกความเห็นในเรื่องการสถาปนาพระอารามนี้ มีใจความตอนหนึ่งว่า
               
การสร้างวัดในภูมิลำเนาเดิมนอกจากเป็นการกุศลแล้ว
ยังเป็นเกียรติแก่สกุลวงศ์ด้วย ธรรมดาของสัญชาตญาณของบุคคล  
เมื่อได้บรรลุอิทธิพลในถิ่นอื่น ย่อมจะคำนึงถึงถิ่นเดิมของตน  
เมื่อเป็นโอกาสมักจะประกอบกิจการเป็นพิเศษอะไรขึ้นสักอย่างหนึ่ง
ในภูมิลำเนาเดิมของตนหรือของบรรพบุรุษเพื่อเป็นอนุสรณ์  
หรือเป็นที่ชื่นชมแก่มวลญาติมิตรชาวถิ่นนั้น
               
การสถาปนาพระอารามในครั้งนั้น
ได้ทำการรื้อถอนเสนาสนะและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ดั่งเดิม
ที่อยู่ภายในเขตออกไปทั้งหมด ทดแทนด้วยถาวรวัตถุของใหม่ขึ้นมาแทนที่
มีเพียง พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาในพระวิหารตอนหลัง  
และ ระฆังอีกหนึ่งใบ เท่านั้น ที่เป็นของดั่งเดิมมีมาแต่โบราณ
               
ถาวรวัตถุและเสนาสนะต่างๆ ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ครั้งนั้นประกอบไปด้วย
               
แนวกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออก ความยาวประมาณ ๗๗.๗๐ เมตร
ด้านทิศตะวันตกความยาวประมาณ ๔๗.๒๘ เมตร
และทิศใต้ความยาวประมาณ ๔๗.๒๘ เมตร

แนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก มีศาลาซุ้มประตู  
มีเฉลียงโดยรอบเหนือประตูเดิมเขียนลายรูปพระพุทธบาท
ประกอบด้วยลายลักษณ์ อัตถุตรสตมหามลคล เรียกว่า ศาลาพุทธบาท

ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จประพาสไม่ทรงโปรดลายรูปพระพุทธบาทนี้
ทางวัดจึงใช้ผ้าทายางผลึกเอาไว้ แล้วฉาบปูนเคลือบอีกชั้นหนึ่ง
         
ซึ่งศาลาดังกล่าวนี้ ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง
เช่น ในสมัยหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร เป็นเจ้าอาวาส ๑ ครั้ง
สมัยพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาส ๒ ครั้ง
นอกกำแพงแก้วด้านนี้มี พระเจดีย์คู่
ชั้นประทักษิณสัญฐานแปดเหลี่ยม มีบันไดขึ้นลงเฉพาะด้านหน้า
               
นอกจากนี้แล้ว แนวกำแพงแก้วด้านอื่นๆ  
จะประกอบด้วยศาลาซุ้มประตูมากน้อยแตกต่างกันไปตามขนาด
               
ถาวรวัตถุภายในเขตกำแพงแก้ว   

พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนตามลักษณะศิลปะของยุคนั้นโดยแท้
ด้วยฝีมือของช่างหลวง ประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงามอลังการ
สมดังเป็นพระอารามหลวง โดยเป็นชนิดมุขอัด ๕ ห้อง เฉลียงรอบมีเสาหารรับ
พนักระวาง เสากรุกระเบื้อง ปรุหลังคามุขลดชั้นหนึ่ง ปีกลดชั้นคอสอง
และชั้นเฉลียง รวม ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ (เปลี่ยนตอนหลัง) ช่อฟ้าหน้าบัน
ประดับกระจก พื้นปูหินอ่อน ประตูด้านหน้า ๒ ด้านหลัง ๒ หน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง
กรอบประตูหน้าต่างปั้นลวดลายประกอบ กรอบเช็ดหน้าปิดทองทึบ
ในบานด้านนอก เขียนลายรดน้ำ รูปทรงกระทิน ด้านในลงพื้นฝุ่นน้ำมัน
เขียนลายทองประเภทช่อพะเนียง ผนังด้านในเขียนลายทองประเภทดอกไม้ร่วง
มีลายคอสอง โดยรอบเพดานลงชาดโรยดาวทอง ขื่อเขียนลายตาสมุก
ปลายขื่อ ๒ ข้างเขียนลายกรวยเชิงทับ หลังประตูหน้าต่างประกอบกรอบกระจก
ไม้จำหลัก ลายปิดทองหมู่ ๓ เขียนลายห้อนักโก้ บันไดขึ้นลงต่อกับชาลา
ด้านข้างด้านละ ๒ บันได ซุ้มสีมารอบพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน
ประดิษฐานในสีมาสิลาจำหลักซุ้มละ ๑ คู่
ด้านกว้าง ๑๓.๑๕ เมตร ยาว ๒๐.๔๐ เมตร สูง ๑๖ เมตรเศษ
ชุกชีที่ประดิษฐาน พระประธาน เป็นฐานแว่นฟ้า ๒ ชั้น ฐานพระ ๑ ชั้น
แบบชุกชีในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนฯ
แต่ย่อส่วนให้เล็กลงพอเหมาะแก่ขนาดพระอุโบสถ
ก่อย่อไม้ ๑๒ ปั้นลายปิดทองประดับกระจก
ชั้นต้นประดิษฐานพระสาวก ๓ องค์ ชั้นสอง ๒ องค์

พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโบราณฝีมือช่างยุคสุโขทัย
หล่อด้วยโลหะประเภทสัมฤทธิ์ ประทับนั่งปางมารวิชัย  
ส่วนสูงจากทับเกษตรถึงปลายพระเกศ ๙๘.๔๒ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๗๐.๘๖ นิ้ว
ทำจารึกอักษรไทยโบราณที่ฐาน อ่านโดย นายฉ่ำ ทองคำวรรณ  
ผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณ กรมศิลปากร ได้ความดังนี้

“แต่แรกตั้งพระเจ้าองค์นี้ ศาสนาได้ ๑,๙๖๖ ปี
ในปีเถาะ สามเดือน ในเดือนแก้ว ยี่สิบสี่วัน ในวันอาทิตย์  
พ่อพระยาเจ้าไทย พ่อขุนเมดทาเจ้า

(นายฉ่ำ ทองคำวรรณ ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็น เมธาเจ้า)  
และไว้ให้นายลก คงลำเรอ เป็นข้าพระเจ้านี้
ชั่วลูก ชั่วหลาน แต่สิ้นศาสนาพระเป็นเจ้าแล”

เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า พระประธานในพระอุโบสถ
ซึ่งเป็นปัจจุบันถวายพระนามว่า “พระพุทธปฏิมากร”
สร้างโดย เจ้านายราชวงศ์พระร่วง ในราวปี พ.ศ. ๑๙๖๖ ยุคสุโขทัยตอนปลาย
ได้มีการจัดผู้ดูแลรักษาคือ นายลก คงลำเรอ
และระยะเวลาดังกล่าว อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาได้สถาปนาขึ้นมาแล้ว ๗๓ ปี  
ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช (พ.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๖๗)
แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเดิมองค์พระประธานประดิษฐานที่ใด
ก่อนจะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังพระอารามแห่งนี้
แต่มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปในจำนวน ๑,๒๔๘ องค์
ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
โปรดให้อัญเชิญลงมาจากวัดร้างในเมืองสุโขทัย และได้บูรณะสมบูรณ์งดงามดีแล้ว
จึงได้โปรดพระราชทานมาประดิษฐานยังวัดหนัง แต่เมื่อครั้งยังเป็นวัดราษฎร์


พระวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ
ก่อสร้างด้วยศิลปะตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีขนาดทรงจิตรกรรมอย่างเดียวกับพระอุโบสถ ที่ต่างกันคือมีประตูด้านละ ๑ ประตู
กับภายในก่อเป็นสายบัวกระเบื้องปรุกั้นกลางเป็น ๒ ห้อง เดินถึงกันไม่ได้
ห้องหน้าก่อชุกชียาวเต็มส่วนกว้าง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเรียงเป็นแถว ๕ องค์
ส่วนห้องหลังประดิษฐาน “พระพุทธรูปศิลา” พอกปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัย
สูงสุดพระรัศมี ๒.๖๔ เมตร ขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๑๐ เมตร
พระพุทธรูปศิลา พระประธานองค์นี้สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระประธานของวัด
และพระวิหารก็สันนิษฐานว่าเป็นพระอุโบสถเก่า ก่อนที่จะถูกบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๓

พระปรางค์ ประดิษฐานอยู่ระหว่างกลางพระอุโบสถกับพระวิหาร
มีความสูง ๒๒.๓๐ เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๓.๖๐ เมตร
มีลานประทักษิณ ๓ ชั้นเป็นรูปแปดเหลี่ยม
ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ สามารถมากราบสักการะกันได้
โดยบริเวณหน้าพระปรางค์นั้นมีแท่นหินประกอบเป็นรูปเก้าอี้จีนอยู่ ๑ แท่น
เรือนไฟหิน ๑ คู่ ตุ๊กตาหินนักรบจีนโบราณ ๑ คู่
โดยของเหล่านี้เป็นของพระราชทานจาก รัชกาลที่ ๓ นั่นเอง


พระเจดีย์คู่ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระวิหาร
เป็นทรงย่อไม้สิบสองประดับด้วยกระจกสีทอง

พระเจดีย์สี่มุม บริเวณมุมกำแพงของพระอุโบสถ
และพระวิหารมาบรรจบกันทั้ง ๔ มุม ก่อเป็นฐานประทักษิณสูง
ขั้นถัดไปจึงเป็นองค์พระเจดีย์ทรงย่อไม้สิบสอง

ศาลาราย ตั้งอยู่ในเขตกำแพงแก้ว ด้านทิศเหนือและทิศใต้
มีด้านละ ๒ หลัง ส่วนด้านทิศตะวันออกมี ๔ หลัง
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เสนาสนะอื่น

หอไตร ก่อด้วยอิฐถือถือปูน ระฆังประจำหอ เป็นของเก่ามีมาแต่ดั่งเดิม
ต่อมาเกิดรอยแตกร้าวจึงปลดลงมาเก็บรักษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ และใช้ระฆังใบใหม่แทน

ศาลาการเปรียญ ก่อด้วยอิฐถือปูนจำนวน ๕ ห้อง
อยู่ด้านทิศใต้ของวัด พื้นลาดปูนขาวยกพื้นสูงกว่าระดับพื้นไม่มากนัก  
ชาวบ้านเรียกว่า ศาลาดิน ต่อมาระดับพื้นดินและพื้นศาลาเสมอกันฤดูฝนน้ำท่วมถึง
และทรุดโทรมลงตามลำดับได้รื้อถอนในสมัยพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาส

ศาลาการเปรียญหลังใหม่ สร้างโดยหลวงปู่รอด ครั้งเป็นพระครูธรรมถิดาญาณ  
ออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าไม้และค่าแรง ส่วนค่าอิฐปูนเป็นพระราชทรัพย์ได้รับพระราชทานมา

ศาลาสกัด อยู่ด้านใต้ศาลาการเปรียญหลังเก่า  
ลักษณะเป็นศาลารายหน้าวัด ต่อมาชำรุดผุพังใช้การไม่ได้

ศาลาท่าน้ำ เป็นศาลาท่าน้ำขึ้นลงของศาลาหลังเก่าบริเวณคลองและผุพังไปนานแล้ว

คณะหมู่กุฏิสงฆ์ ในช่วงของการสถาปนาพระอารามขึ้นใหม่นั้น
การสร้างหมู่กุฏิสงฆ์ได้จัดระเบียบให้เป็นสัดส่วน ดังนี้

คณะเหนือ ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือหมู่กุฏิ สร้างด้วยไม้  
แบ่งออกเป็น ๒ หมู่ หมู่หน้าอยู่ด้านทิศตะวันออก
ซึ่งกุฏิเจ้าอาวาสยุคนั้นอยู่ในหมู่นี้ หมู่ ๒ อยู่ถัดไปด้านทิศตะวันตก

คณะใต้ ตั้งอยู่ตอนใต้กำแพงแก้วลงมา เดิมมี ๒ หมู่

คณะสระ เป็นคณะที่สร้างจากการได้รื้อถอน
หมู่เสนาสนะในเขตการสถาปนา มาสร้างขึ้นใหม่  
สมัยหลวงปู่รอด พำนัก ณ วัดหนัง ได้เป็นเจ้าคณะสระ  
ต่อมาได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนางนอง วรวิหาร

นอกจากถาวรวัตถุส่วนต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว  
ยังมีอีกหลายอย่างที่ได้รับการสถาปนาหรือสร้างขึ้นใหม่ในช่วงนี้
กล่าวได้ว่าเป็นพระอารามที่มีความสวยงามมากที่สุดอีกพระอารามหนึ่ง
ภายหลังการบูรณปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง
และจัดงานเฉลิมฉลองสมโภช เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๐

นอกจากนี้บริเวณริมคลองด่านก็ยังมี พระมณฑป ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
ซึ่งจำลองแบบมาจากวัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี




พระปรางค์สีขาวองค์ใหญ่ วัดหนัง ราชวรวิหาร
ประดิษฐานอยู่ระหว่างกลางพระอุโบสถกับพระวิหาร
ภายในบรรจุ “พระบรมสารีริกธาตุ” ไว้

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร   

เจ้าอาวาส ผู้ปกครองดูแลวัดตั้งแต่ดั่งเดิมมานั้น  
ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกไว้ หรืออาจจะชำรุดเสียหายไปตามกาล  
เริ่มปรากฏมีหลักฐานเมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ดังนี้


รูปที่ ๑ พระนิโรธรังสี

ชื่อเดิมว่ากระไร เป็นบุตรใคร ชาติอะไร ภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน ไม่ทราบ
เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกในยุคการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง  
และในช่วงก่อนการสถาปนาท่านก็ดำรงตำแหน่งนี้อยู่แล้ว  
เป็นพระเถระที่เชียวชาญในวิปัสสนากัมมัฏฐาน ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาสูง  
ทำนองจักเป็นที่เคารพนับถือของราชนิกูลสายบ้านวัดหนังมาก่อน
ครั้นเมื่อวัดหนังได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระนิโรธรังสี


รูปที่ ๒ พระโพธิ์วงศาจารย์ (ขาว)

ภูมิลำเนาเดิมอยู่จังหวัดพัทลุง
เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่สำนักวัดหงส์รัตนาราม
ภายหลังมาอยู่วัดราชโอรสาราม  
เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ๖ ประโยค ที่ พระญาณไตรโลก  
ภายหลังจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาครองวัดหนัง
พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระโพธิวงศาจารย์

ยุคพระนิโรธรังสี และพระโพธิ์วงศาจารย์ (ขาว) ครองวัด เป็นเวลากำลังเจริญ
การศึกษายังเป็นไปด้วยดี ปูชนียสถาานแลเสนาสนะ แม้จักชำรุดบ้าง ก็คงไม่มาก
เพราะเป็นของทำใหม่ย่อมมีคุณภาพทนทาน ทั้งทางราชการก็ยังเอาใจใส่ปฏิสังขรณ์อยู่


รูปที่ ๓ พระราชกวี (มุ้ย)

เป็นชาวสมุทรสาคร แต่ได้มาอุปสมบทที่วัดหนัง
ศึกษาพระปริยัติธรรมจากสำนักวัดหงส์รัตนารามบ้าง
และจากสำนักของพระโพธิวงศาจารย์ (ขาว) บ้าง  
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์
เป็นราชาคณะชั้นสามัญที่ พระราชกวี และเป็นเจ้าอาวาส




รูปที่ ๔ พระครูสังวรยุตตินทรีย์ (ทอง)

เป็นบุตรนายแจ่ม นางจีด ชาติไทย
ภูมิลำเนาเดิมอยู่ใน อ.คุ้งเผาถ่าน อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี
อุปสมบท ณ วัดหนัง โดยมี พระราชกวี (มุ้ย) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระวิสุทธิโสภณ (โล้) วัดนางนอง
กับ พระปลัดยา วัดราชโอรส เป็นคู่กรรมวาจาจารย์
เดิมเป็นพระปลัดฐานานุกรมในพระราชกวี (มุ้ย) ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาส
ถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๘




รูปที่ ๕ พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)
พ.ศ. ๒๔๔๒-๒๔๖๙

ประวัติและปฏิปทา
“พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)”
  
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44681

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


รูปที่ ๖ พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ)
พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๕๐๒

เป็นบุตรนายแก้ว นางเคลือบ รอดประพัทธ์
ภูมิลำเนาเดิมอยู่บางประทุน ต.บางประทุน อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี
เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๙
เมื่อเป็นเด็กศึกษาหนังสือไทยกับบิดา จนอ่านออกเขียนได้
เมื่ออายุ ๑๔ ปี ไปอยู่วัดดาวคะนอง ในสำนักพระครูธีรานันทมุนี (ภู)
แต่ในครั้งยังเป็นพระอันดับอยู่วัดดาวคะนอง
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการตั้งโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นที่วัดดาวคะนอง
จึงขออนุญาตต่อครูใหญ่เข้าศึกษาวิชาภาษาไทย เฉพาะเวลาเที่ยงวันล่วงแล้วไป
เพราะเวลาเช้าติดการเรียนมูลกัจจายน์ พ.ศ. ๒๔๔๕ สอบไล่ได้ประโยคหนึ่งประถมศึกษา
ครั้นแล้วลาออกกลับไปอยู่บ้านช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำสวนสืบมา

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดราชโอรสาราม
พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์  
พระครูธีรานันทมุนี (ภู) วัดดาวคะนอง แต่ครั้งยังเป็นพระอธิการ
กับ พระพิมลธรรม (นาค) วัดอรุณราชวาราม
แต่ครั้งยังเป็นพระศรีสมโพธิ อยู่วัดสุทัศเทพวราราม เป็นคู่กรรมวาจาจารย์
บวชแล้วพักอยู่ ณ วัดราชโอรส ชั่วคราว
วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ไปอยู่วัดพระเชตุพน ในสำนักพระวิเชียรกวี (เชย)
แต่ครั้งยังเป็นเปรียญยุคพระธรรมเจดีย์ (แก้ว) เป็นเจ้าอาวาส

ภาษาบาลีนั้นเมื่อยังเป็นเด็กเคยศึกษากับบิดาบ้าง
ครั้นบวชแล้วได้ศึกษากับพระวิเชียรกวี (เชย) แต่ท่านยังเป็นเปรียญบ้าง
พระราชโมลี (บัว) พระวิสุทธิโสภณ (โพ) วัดมหรรพาราม แต่ครั้งยังอยู่วัดพระเชตุพนบ้าง
นายแปลก สิริเดชธรรม แต่ครั้งยังอุปสมบทเป็นภิกษุ อยู่ ณ วัดพระเชตุพนบ้าง
แต่ที่ได้ศึกษาเป็นพื้นแลนานนั้นคือ ในสำนักสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ
พ.ศ. ๒๔๕๓ สอบไล่ได้บาลีประโยค ๓ พ.ศ. ๒๔๕๕ สอบไล่ได้บาลีประโยค ๔
พ.ศ. ๒๔๕๗ สอบไล่ได้ประโยค ๕ ตามลำดับ

ในรัชกาลที่ ๖ ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิเชียรกวี
ในรัชกาลที่ ๗ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้มาอยู่ ณ วัดหนัง หลังจากหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร ถึงแก่มรณภาพได้เพียง ๓ วัน

ยุคแรกที่ท่านมาครองวัดหนัง ปูชนียสถานเสนาสนะและสิ่งอุปกรณ์ของวัด
หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร ได้ปฏิสังขรณ์ก่อสร้างขึ้นไว้สำเร็จบริบูรณ์ดีแล้ว
คอยแต่ระวังรักษาอะไรชำรุดลงเพียงเล็กน้อย ก็รีบซ่อมรีบทำเสียให้กลับคืนดีดังเก่า
เมื่องานบูรณปฏิสังขรณ์ยังไม่เป็นภาระแก่ท่านมากนัก
ท่านก็เริ่มงานการศึกษา มีการเปิดสอนบาลี และนักธรรม เป็นการวางรากฐานการศึกษา
และแก้ไขปรับปรุงระเบียบ แบบแผน กฎข้อบังคับของวัดให้เป็นที่เรียบร้อย
เท่าที่ได้สำเนียกศึกษามาแต่วัดพระเชตุพน โดยที่พระภิกษุสามเณร ทายกทายิกา
ไม่ได้รับความเดือดร้อนแต่ประการใด เพราะค่อยเป็นค่อยไป
คุณงามความดีในเรื่องระเบียบแบบแผนของวัดหนัง
เมื่อมีผู้กล่าวถึง ก็จะต้องกล่าวถึงพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) ด้วยทุกครั้ง

ท่านเป็นพระเถระที่มั่นคงในสมณเพศจนตราบเท่าอายุขัย มีพลานุภาพทางจิตสูง
เมื่อคิดว่าจะทำอะไรจะใช้วิริยะอุตสาหะอันแรงกล้าให้งานนั้นๆ สำเร็จสมความประสงค์

ต่อมาท่านได้ศึกษาค้นคว้าด้านวิปัสสนาธุระ โดยได้ขึ้นวิปัสสนากับอาจารย์ผู้เป็นคฤหัสถ์ผู้หนึ่ง
ตามปกติของท่านจะพูดจริงทำจริง เมื่อได้ขึ้นทางวิปัสสนาธุระมาแล้ว
กลางคืนขึ้นจำวัดประมาณ ๒๓.๐๐ น. เมื่อสวดมนต์ไหว้พระเสร็จแล้ว
ก็จะใช้เวลาที่ยังมิได้จำวัดนั้นฝึกหัดนั่งวิปัสสนาธุระไปจนถึง ๐๑.๐๐ น. หรือ ๐๒.๐๐ น.
ที่ทราบเวลาดังนี้ ก็เพราะคืนหนึ่งท่านได้เรียกผู้รวบรวมประวัติ
เข้าไปในห้องที่ท่านจำวัดในเวลากลางคืน ตามเวลาที่ท่านกล่าวคือ ตีหนึ่ง ตีสอง
ท่านบอกว่า ท่านเป็นลม ยังจำวัดไม่หลับ ถามว่าหลวงพ่อทำไมยังไม่จำวัด
หลวงพ่อบอกว่า พยายามมุ่งศึกษาวิปัสสนาธุระ โดยใช้ความเพียรตลอดมา
ก็เกิดมาเป็นลมขึ้น จนกระทั่งต้องเรียกผู้เขียนประวัตินี้เข้าไปช่วยปฐมพยาบาล
นี่เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นชัดแจ้งว่า หลวงพ่อมิได้ศึกษาแต่พระปริยัติธรรม
และเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแต่ด้านเดียว แต่ท่านยังศึกษาในส่วนปฏิบัติ
เพื่อให้เกิดปฏิเวธ แต่ท่านจะบำเพ็ญได้ถึงขั้นไหนนั้น
เป็นเรื่องปัจจัตตังหลวงพ่อเท่านั้น ที่ท่านจะรู้ได้ดีว่าท่านได้ผลมากน้อยอย่างไร




รูปที่ ๗ พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต)
พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๑๒

นามฉายา คุตฺตจิตฺโต (ฉายาเดิมที่พระอุปัชฌาย์ตั้งไว้ในวันอุปสมบทเป็น “คงฺคสฺโส”)
เจ้าคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ อินทโชตมหาเถร วัดอนงคาราม อดีตเจ้าคณะจังหวัดธนบุรี
ปรารภว่า ที่ประชุมในคราวพิจารณาคัดเลือก พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
คณะสังฆมนตรีพากันหัวเราะเรื่องนามฉายา คงฺคสฺโส มีความหมายไม่เหมาะสม
ขอให้ผู้เขียนประวัติไปเรียนให้พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) ทราบ
และให้เปลี่ยนนามฉายาเสียใหม่
ผู้เขียนกราบเรียนให้ทราบว่า หลวงพ่อเจ้าคุณวิเชียรกวี อาพาธหนัก
ขอให้พระเดชพระคุณอดีตเจ้าคณะจังหวัดธนบุรีเปลี่ยนให้
ท่านจึงเขียนมาให้หลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ คัดเลือกเอาตามใจชอบ
เท่าที่ผู้เขียนจำได้มีอยู่ ๓ ชื่อ หลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ เลือกเอา คุตฺตจิตฺโต
ท่านให้เหตุผลว่าที่เลือกเอาชื่อฉายา เห็นว่าเกี่ยวกับการรักษาจิต
เพราะหลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ สนใจเรื่องทำสมาธิจิตเป็นประจำอยู่แล้ว
      
หลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๗
ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๕๖ ในรัชกาลที่ ๕
ณ บ้านโคกขาม ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เป็นบุตรนายแก้ว นางยิ้ม แก้วเพ็ชร
        
เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ได้มาอยู่วัดหนัง ศึกษาหนังสือไทยในสำนักของพระครูสังวรยุตตินทรีย์ (คำ)
เรียนภาษาบาลี กับนายมิ่ง รักชินวงศ์ อาจารย์สอนบาลีแห่งวัดหนัง
พ.ศ. ๒๔๕๓ เลิกการศึกษากลับไปอยู่บ้านช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ
พ.ศ. ๒๔๕๕ สมัครเข้ารับราชการทหารเรือ
      
วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหนัง
โดยมี พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) วัดหนัง เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการนิ่ม วัดโคกขาม พระปลัดแจ้ง วัดหนัง เป็นคู่กรรมวาจาจารย์
อุปสมบทแล้วจำพรรษา ณ วัดหนัง จนถึงวันมรณภาพ
ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ในสำนักของพระอุปัชฌาย์
และมีความอุตสาหะศึกษาในวิปัสนาธุระ ในสำนักของอุปัชฌาย์เช่นกัน
     
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท ได้เป็นกำลังช่วยบริหารกิจการของวัดตลอดมา
เป็นการแบ่งเบาภาระเจ้าอาวาส จนกระทั่งได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๗
นับแต่สถาปนาเป็นพระอารามหลวง
การปกครองหลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ ได้เคารพต่อพระธรรมวินัย กฎหมาย
กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับระเบียบ และคำสั่งของคณะสงฆ์
ปฏิบัติงานเด็ดขาดเป็นที่เคารพยำเกรงของบุคคล ผู้อยู่ภายใต้การปกครอง และประชาชนทั่วๆ ไป
     
ท่านศึกษาในอักรสมัย (ภาษาขอม) จนเกิดความชำนาญในการอ่านและการเขียนเป็นอย่างดี
และต่อมาได้ค้นคว้าหลักวิชาการ ในแนวทางปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน
จนเป็นผู้ฝึกแนะนำให้กุลบุตรได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกที่ควรดำเนิน เพื่อให้เกิดเป็นสุปฏิบัติ
โดยควรแก่ความรู้ความสามารถของหลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ ที่ท่านได้วิริยะอุตสาหะ
สั่งสมอบรมมา นับว่าเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนาที่จะช่วยกันทำนุบำรุง
พระปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ให้สืบต่อ อายุพระพุทธศาสนาสืบต่อไป
      
หลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ ไม่ใช่นักพูด แต่ท่านเป็นนักทำ
คือทำตนของท่านให้ศิษยานุศิษย์ และสาธุชน ได้เห็นได้ศึกษา
ในการประพฤติปฏิบัติของท่าน นับว่าเป็นผลดีของการปกครองในด้านการเผยแผ่
ก็เท่ากับเป็นการเผยแผ่ตัวอย่างที่ดีให้แก่ชนรุ่นหลังได้เห็นได้รู้เอาเป็นครูในการดำเนินรอยตาม
   
งานบูรณปฏิสังขรณ์ก่อสร้างเสนาสนะนั้น
ท่านได้ทำมาก่อนที่ท่านจักได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส จับงานมาแต่สมัยเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส  
ฉะนั้น งานก่อสร้างปฏิสังขรณ์พระอารามจึงไม่เป็นของแปลก และหนักใจของท่าน
ท่านมิได้ถือว่างานก่อสร้างเป็นเรื่องของสมภารเจ้าวัด เอกลาภเป็นของลูกวัด
ท่านถือเสียว่างานก่อสร้างทุกชิ้นที่เกิดขึ้นในวัดเป็นสมบัติของพระศาสนา
เป็นของส่วนรวม เป็นส่วนกลาง เป็นที่บำเพ็ญกุศลของสาธุชนทั่วไป
ฉะนั้น ในยุคสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จึงได้ก่อสร้างปฏิสังขรณ์ ปรับปรุงเพิ่มเติมกุฏิคณะใต้
ได้บอกบุญปลูกศรัทธาให้นางชิต นุชเนตร คหปตานี นางขุนเทียน
สร้างมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระบาทจำลอง ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองหน้าวัดด้านทิศเหนือ
ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ เปลี่ยนเครื่องบนมุมกระเบื้อง ยกช่อฟ้าใหม่
ซ่อมศาลาพุทธบาท ศาลาราย บอกบุญสร้างเมรุ  ศาลาทึม
และปฏิสังขรณ์เสนาสนะไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้พระอารามเป็นที่เจริญตาเจริญใจ
ของสาธุชนผู้เข้าไปในวัดให้เกิดศรัทธาปสาทะ น้อมใจเข้าสู่แนวทางปฏิบัติ
ให้เกิดปัญญาเห็นชัดตามสภาพธรรมในขั้นต่อไป
   
หลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ตำแหน่งที่การงานโดยลำดับ ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นพระใบฎีกา ฐานานุกรมในพระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)
พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมในพระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)
พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นพระปลัด ฐานานุกรมในพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ)
พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท (ฝ่ายวิปัสสนา)
พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก
พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระสุนทรศีลสมาจาร
พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนัง
พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นเจ้าอาวาสวัดหนัง

ท่านเป็นพระเถระที่ฝักไฝ่อยู่ในวิปัสสนาธุระเท่าที่องค์ปัญญาจะเกิดมีขึ้นแก่ท่าน
และได้แนะนำให้พระภิกษุ ทายกทายิกา ผู้มีศรัทธาปสาทะในแนวทางปฏิบัติ
ให้ได้รับเรียนวิปัสสนาในสำนักของท่าน และต่างสำนัก
กิจวัตรที่ท่านมีพลังศรัทธาอยู่มาก และสนใจอยู่มากนั้นก็คือ ธุดงควัตร
เมื่อเป็นพระอันดับอยู่ ท่านถือการธุดงค์เป็นประจำทุกๆ ปี
มาจนตราบเท่าเจริญพรรษายุกาลมากขึ้นโดยลำดับ
ได้ทราบว่า หลวงพ่อพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนังองค์ที่ ๖
ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ ได้ขอร้องให้อยู่กับวัด โดยมิให้เดินธุดงค์จาริกไปในคามนิคมชนบท
เพราะเห็นความสำคัญในหลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ เกี่ยวกับเรื่องวัดวาอาราม
และการอนุเคราะห์ทายกทายิกาผู้หันหน้ามาพึ่ง เพื่อบำบัดทุกข์โศกโรคภัยนานาประการ
และอีกประการหนึ่งก็เท่ากับว่า หลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ เป็นกำลังเป็นมือขวา
ของหลวงพ่อเจ้าคุณพระวิเชียรกวี เมื่อท่านละทิ้งวัดไปนานๆ ก็เกิดความว้าวุ่นใจ
ของพระเถระผู้ปกครองวัด ขาดผู้แบ่งเบาภาระ ขาดที่ปรึกษากิจการงาน
ด้วยความเคารพและเห็นใจที่หลวงพ่อทั้งสองมีต่อกันเป็นพื้นอยู่แล้ว เมื่อท่านขอร้องเช่นนั้น
ท่านจะไม่ยอมรับเหตุผล ก็เห็นจะผิดวิสัยของท่านผู้ปรารถนาดีต่อกัน จึงจำยอมปฏิบัติตาม
     
หลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มั่นคงอยู่ในเพศพรหมจรรย์ตลอดชีวิต
ความเป็นสมณะของท่านตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม
ให้ความคุ้นเคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบุคคลทุกชั้นทุกวรรณะ
มิได้แสดงอาการอันเป็นเหตุให้อาคันตุกะได้รับความหนักใจ
เพราะความมากไปด้วยเมตตากรุณานั่นเอง ท่านจึงต้องใช้สังขารอย่างกรากกรำ
เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่คนที่หันหน้ามาพึงท่าน มิได้คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย
ไม่ใคร่มีเวลาพักผ่อน เวลาไม่เป็นของท่าน กิจธุระนอกวัดก็มากขึ้นตามลำดับ
เมื่อกลับถึงวัดก็ควรจักได้พักผ่อน ถึงวัดถึงกุฏิก็ต้องแก้ปัญหา บำบัดความทุกข์เวทนาของบุคคล
ผู้มาคอยหวังความอนุเคราะห์อยู่เป็นประจำ เพราะความคุ้นเคยเป็นกันเองนั่นเอง
จึงมีผู้ศรัทธาปสาทะในท่านเป็นจำนวนมาก ท่านได้บำเพ็ญตนอยู่ในลักษณะนี้ชั่วอายุของท่าน
จึงเป็นเหตุให้เราคนวัดเกือบจะไม่ได้ยินใครเรียกว่า พระสุนทรศีลสมาจาร ว่า เจ้าคุณ
มีแต่ใช้คำเรียกท่านว่า “หลวงพ่อ” ทั้งในวัดและนอกวัดในที่ทั่วๆ ไป
เรียกหลวงพ่อกันได้อย่างสนิทใจ เหมือนกับเป็นพ่อของคนเหล่านั้นโดยความรู้สึก
โดยปกติคนเราเมื่อมีทุกข์ภัยเกิดขึ้น ก็ไม่มีคนอื่นจะดีไปกว่า บิดามารดาฉันใด หลวงพ่อก็ฉันนั้น
จึงเปรียบเสมื่อนว่าเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ให้ความร่มเย็นแก่ชาวบ้านชาววัดมาเป็นเวลานานปี

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


รูปที่ ๘ พระธรรมศีลาจารย์ (สุกรี สุตาคโม)
พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๕๓

เป็นบุตรนายพรม นางมะลิ จุไรทอง ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านเลขที่ ๑๐ หมู่ที่ ๗
ต.บางแค อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี เกิดวันศุกร์ แรม ๗ คํ่า เดือนยี่ ปีเถาะ
ตรงกับวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๐
เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี เข้าเรียนหนังสือไทยชั้นประถม
ในโรงเรียนประชาบาลวัดม่วง ต.หลักสอง กิ่ง อ.หนองแขม จ.ธนบุรี
เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔
แล้วศึกษาภาษาบาลีกับหนังสือขอมอยู่กับพระอาจารย์สุวรรณ อมตธมฺโม
ต่อจากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖
ณ วัดม่วง ตำบลหลักสอง กิ่งอำเภอหนองแขม
โดยมี พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) วัดหนัง เป็นพระอุปัชฌาย์
อยู่สำนักวัดม่วง ๑ พรรษา พระอุปัชฌาย์ขอให้มาอยู่วัดหนัง
ได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมและบาลีเป็นเปรียญธรรม ๔ ประโยค
     
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ พัทธสีมาวัดหนัง
โดยมี พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) วัดหนัง เป็นพระอุปัชฌาย์
พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต) วัดหนัง
สมัยยังเป็นพระครูภาวนาภิรัต เป็นพระกรรมวาจาจารย์
และ พระบริหารบรมธาตุ (ประเสริฐ ธมฺมธีโร) วัดนางชี
สมัยยังเป็นพระมหาประเสริฐ ป.ธ.๖ อยู่ที่วัดหนัง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
   
งานปกครอง
พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนัง ร  
พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นเจ้าอาวาสวัดหนัง  
พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นพระอุปัชฌาย์  
พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นเจ้าคณะเขตภาษีเจริญ-หนองแขม
   
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นพระครูสังฆรักษ์
พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระครูปลัด
พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นพระครูพิศาลสุตาคม (ผจล.ชท.)
พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นพระครูพิศาลสุตาคม (ผจล.ชอ.)
พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นพระวิเชียรกวี
พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นพระราชรัตนโมลี
พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นพระเทพวรมุนี
พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นพระธรรมศีลาจารย์




รูปที่ ๙ พระวิเชียรโมลี (ขวัญชัย นิติสาโร ป.ธ. ๙)
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๓-ปัจจุบัน

สถานะเดิม        
ชื่อ ขวัญชัย นามสกุล อเนกา ฉายา นิติสาโร
เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙
ปัจจุบันอายุ ๓๗ ปี พรรษา ๑๖
บิดาชื่อ นายประมวล มารดาชื่อ นางสงวน
เกิด ณ บ้านยางเครือ ต.หัวนา อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

บรรพชา
เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ณ วัดพิชโสภาราม
บ้านแก้งเหนือ ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
โดยมี พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
แต่ครั้งยังเป็นพระครูวิศาลเขมคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท
เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๑ ณ พระอุโบสถวัดหนัง ราชวรวิหาร
โดยมี พระธรรมศีลาจารย์ (สุกรี สุตาคโม)
แต่ครั้งยังเป็นพระราชรัตนโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูวิธานวรกิจ เป็นพระกรรมวาจารย์
พระครูปลัดฉลวย (ปัจจุบันเป็นพระครูปลัดศีลวรวัฒน์) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

วิทยฐานะ
พ.ศ. ๒๕๓๒ ชั้นประถมปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านนางเติ่ง ต.หัวนา อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๔ น.ธ. เอก วัดพิชโสภาราม สำนักเรียนคณะจังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๕ ป.ธ. ๓ วัดพิชโสภาราม สำนักเรียนคณะจังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๘ ป.ธ. ๖ วัดหนัง ราชวรวิหาร สำนักเรียนวัดราชโอรสาราม
พ.ศ. ๒๕๔๔ ป.ธ. ๙ วัดหนัง ราชวรวิหาร สำนักเรียนวัดสร้อยทอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ ปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ)
พ.ศ. ๒๕๔๓ ปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พ.ศ. ๒๕๔๘        ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รม.)
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
   
ตำแหน่งคณะสงฆ์  
พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๑ เป็นเลขานุการเจ้าคณะเขตภาษีเจริญ
พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๕๕๓        เป็นเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร
   
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๕๑        เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระวิเชียรโมลี”  

                                                                                       
.......................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=44689

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วัดหนัง ราชวรวิหาร ในปัจจุบัน  



พระอุโบสถ



พระเจดีย์, พระวิหาร

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระเจดีย์, พระวิหาร, พระปรางค์, พระอุโบสถ
พระปรางค์ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร  




รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร
ภายในพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนัง ราชวรวิหาร

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้




ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้