ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ประวัติ “วัดหนัง ราชวรวิหาร” กรุงเทพมหานคร

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้




ภายใน “พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา” วัดหนัง ราชวรวิหาร
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภายในวัด ที่มีข้าวของที่น่าสนใจหลากหลาย
ทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างบ้านกับวัดอีกด้วย

12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนัง ราชวรวิหาร

จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมของมีค่าของวัด
และชุมชนในเขตจอมทอง อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
โดยจัดแสดงเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะสภาพความเป็นจริง
ของชาวสวนย่านชุมชนข้าหลวงเดิม
ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์จักรีในอดีต
        
รูปแบบการนำเสนอมุ่งเน้นความเป็นไทยท้องถิ่น
ที่มีการทำอาชีพเกษตรกรรมในเมืองธนบุรี คือการทำสวนผลไม้
ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และในอีกหลายๆ แง่มุม ทั้งความเป็นอยู่
รวมถึงเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าชมสัมผัสและเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นได้
โดยมีวิทยากรเป็นคนท้องถิ่นซึ่งมีความรู้และประสบการณ์
คอยให้คำแนะนำ พร้อมการสาธิตอธิบายอย่างถูกต้อง

ลักษณการจัดแสดง

๑. ประเภทเครื่องใช้ของพระสงฆ์ หรือของที่อุทิศถวายไว้ในพระพุทธศาสนา
เช่น ตู้พระไตรปิฎกในสมัยต่างๆ ตู้พระธรรมที่จัดแสดงอยู่มีหลายประเภท
เช่น ตู้ปิดทองทึบ ตู้ลายเขียนสีจีน ตู้ลายรดน้ำ เป็นต้น

๒. สมุดข่อย สมุดไทย ซึ่งมีการเขียนตำรายา ตำรานวดแผนโบราณ
สมุดพระมาลัย ที่มีคุณค่า และความสวยงามอย่างยิ่ง พระพุทธรูปในสมัยต่างๆ
หนังสือธรรมะที่หายาก รวมทั้งคัมภีร์ใบลาน และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น

๓. ประเภทตำรายา และสิ่งของเครื่องใช้ โดยจะเน้นให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีวิตในอดีต
ที่ต้องพี่งพาอาศัย “หมอพระ” จัดแสดงเครื่องยา ตำรายา เครื่องมือปรุงยา
โดยเฉพาะตำรายาโบราณจากสมุดข่อย ที่มีความสำคัญต่อการรักษาในสมัยโบราณ
สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงถึงการดำรงชีวิตระหว่างชุมชนกับวัดในพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน

๔. ประเภทของใช้ชาวบ้าน กลุ่มนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์
โดยมีการจัดแสดง “ครัวไทยโบราณ” ในสถานที่จริง
สะท้อนได้ถึงกลิ่นควันไฟที่ลังหุงข้าว ต้มแกง
ยังมีห้องเรือนไทยโบราณ ที่จัดประกอบกันเข้ายุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม
เครื่องใช้ เครื่องมือจักสาน เครื่องไม้ใผ่ในยุคเก่าของชาวสวนก็มีอยู่ครบ
ของเล่นเด็ก โต๊ะนักเรียน รวมถึงตำราเรียนในสมัยก่อน ก็ยังมีการรวบรวมมาจัดแสดงไว้เช่นกัน

ประวัติความเป็นมา
      
อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ เดิมเป็นกุฏิที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์อยู่ทางด้านคณะเหนือ
ของวัดหนัง ราชวรวิหาร และได้เป็นกุฎิของพระครูภาวนาภิรัตน์
ก่อนที่ท่านจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๗
ในพระราชทินนามที่ พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต)
ซึ่งท่านได้ใช้กุฏิหลังนี้เป็นสถานที่รักษาผู้คนแบบยาแผนโบราณด้วย
หรือเรียกอีกอย่างว่า หมอพระรับรักษาผู้คนทั่วไป
และเนื่องจากท่านเป็นศิษย์ของ พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)  
เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ของวัดหนัง ราชวรวิหาร ทำให้ท่านมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนาธุระ
ตามแบบของหลวงปู่เอี่ยม จึงทำให้มีคนนับถือมาก อย่างเช่นในช่วงสงครามอินโดจีน
ในแต่ละวันก็มีทหารมากมายเข้ามาขอวัตถุมงคลเพื่อคุ้มครองตัวในการที่จะออกไปรบ
ไม่ว่าจะเป็นผ้ายันต์บ้าง พระปิดตาบ้าง โดยเฉพาะผ้ายันต์มีคนมาขอจำนวนมาก
ทำให้ทำไม่ทันที่จะแจก ท่านจึงต้องทำเป็นตราปั้มรูปตัวยันต์ขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้ทันแจก

ครั้งท่านได้รับตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ก็ได้ย้ายไปอยู่ทางฝั่งคณะใต้ของวัด
เนื่องจากมีโยมมาสร้างกุฏิหลังใหม่ถวายไว้ ข้าวของท่านก็ได้นำไปบางส่วน
ทางด้านกุฎิทางนี้ก็มีลูกศิษย์ของท่านคือ พระครูวิบูลศีลวัตร (ช้วน ปาสาทิโก)
นามสกุลเดิม อ่องสาธร รับดูแลต่อมา และท่านยังให้ความอนุเคราะห์แก่บุคคลทั่วไป
ทั้งด้านการรักษาแบบยาแผนโบราณ และวัตถุมงคล
ในช่วงปลายอายุของท่าน เนื่องจากความชราของท่านทำให้การรับรักษาต้องหยุดลง
ดังนั้น ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ก็ถูกเก็บลงไว้ที่ห้องเก็บของด้านบนและด้านล่างของกุฎิ
โดยที่ท่านสั่งห้ามมิให้ใครเข้าไปยุ่งในบริเวณนั้นเลย
หลังจากที่ท่านมรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ก็ได้มีการจัดทำความสะอาดกุฎิ
โดยมี พระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโร (นามสกุลเดิม สรวยโภค)
รับการดูแลในการทำความสะอาด ก็พบสิ่งของข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จำนวนมาก
ท่านจึงเก็บและรวบรวม เหตุที่มีมากอาจเนื่องจากท่านเป็นพระเถระมีผู้คนนับถือมาก
จึงได้มีการนำข้าวของมาถวายไว้มาก อีกทั้งเคยเป็นแหล่งรวมผู้คนทั้งศิษย์วัด
ผู้คนที่เข้ามารับการรักษา และเป็นกุฏิหลังเก่าที่อยู่กันมาอย่างยาวนาน
        
เมื่อพระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโร ได้รวบรวมแล้วเห็นว่ามีมาก
จึงได้คิดว่าจะจัดเป็นอาคารอนุสรณ์ของพระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต)
เนื่องจากพระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโร เป็นคนที่ชอบเที่ยวดูพิพิธภัณฑ์
ก็เห็นของหลายๆ สิ่งในพิพิธภัณฑ์มีเหมือนกับที่วัด จึงได้คิดริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้น  
โดยออกแบบความคิดของท่านเอง ใช้เวลาจัดในการวางรูปแบบอยู่ประมาณ ๒ ปี
โดยใช้งบส่วนตัว และดำเนินการจัดวาง และทำข้อมูลเองทั้งสิ้น
ด้วยเหตุที่ท่านเป็นคนชาวธนบุรี เขตจอมทองโดยกำเนิด ครอบครัวเป็นชาวสวนลิ้นจี่ในเขตนี้
จึงได้ทันใช้ทันเห็นและใช้ของต่างๆ เหล่านี้ ก็จึงไม่แปลกที่จะจัดวางได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์
และให้คำอธิบายอย่างครบถ้วน อย่างที่ว่านักวิชาการก็สู้ผู้มีประสบการณ์ไม่ได้  
ข้าวของที่จัดแสดงนั้น จะเป็นของวัดอยู่ประมาณเกินครึ่ง
ส่วนอื่นที่เหลือก็มีการจัดหาจัดซื้อเข้ามาบ้าง เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ
เช่น วิถีชีวิตภูมิปัญญาชีวิตชาวสวน เครื่องครัวโบราณ
พิพิธภัณฑ์ได้เปิดให้คนเข้าชมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ แต่ทีแรกยังไม่เป็นที่รู้จัก
จึงมีเพียงแต่นักเรียนโรงเรียนวัดหนัง เข้ามาศึกษาบ้าง
จนมีผู้สนใจเริ่มเข้ามาดูชม เพื่อศึกษาวิถีชีวิตบ้าง การจัดทำบ้าง
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-7 11:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันเวลาเปิดทำการ

เปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ได้ทุกวัน
โดยเปิดให้เข้าชมตามนัดหมายล่วงหน้า

ติดต่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์

โปรดโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ล่วงหน้าทุกครั้ง
- พระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโร โทรศัพท์ ๐๘๙-๗๙๒-๑๑๓๑
- คุณสุรศักดิ์ อุดมหรรษากุล โทรศัพท์ ๐๘๗-๐๐๙-๒๙๐๐  
E-mail : theopium@hotmail.com   

สำหรับการเดินทางมายังวัด มีรถประจำทางสาย ๔๓, ๑๑๑ ผ่าน


รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง “หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร”
ภายในพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนัง ราชวรวิหาร



     ====================   

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก  (๑) http://www.watnang.com/
(๒) http://www.weloveshopping.com/template/ ... qid=120776

ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณน้อมเศียรเกล้า
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=32820

    ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง”     
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44681                                                                                       

...........................................................

ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=44689

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้